เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๔๗
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาโลกมันเจริญนะ เครื่องเสียงเครื่องต่างๆ มันเจริญ ทุกอย่างมันเจริญขึ้นมาแล้วมันทำได้มากกว่าคน เวลาอุตสาหกรรมเวลาการผลิตๆ ได้มาก แต่การผลิตมันเพื่อความสะดวกเพื่อความสบาย เพื่อความสะดวกความสบายของร่างกายไง แล้วเรื่องการตลาดมันจะเป็นการตลาดไป รุกการตลาดไปทั้งหมด แล้วเราก็ว่าอยู่โดยความสะดวกสบาย เมื่อก่อนเราเห็นคนโบราณมีแต่ความทุกข์ยากมาก แต่ประสาเรา รุ่นของเรานี่มีแต่ความสะดวกมากขึ้น แต่ความทุกข์ก็อันเดียวกันนะ
เวลามองเรื่องศาสนาก็เหมือนกัน ว่าศาสนาเป็นเรื่องครึเรื่องล้าสมัย เรื่องที่ว่าความไม่จำเป็น เราต้องหาความสะดวกสบายของร่างกายให้ได้ ความสะดวกสบายเราก็คิดว่ามันจะเป็นความสะดวกสบาย แต่หัวใจมันไม่ยอมรับความสะดวกสบายอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะมันเป็นตัณหาไง ตัณหาความทะยานอยากมันไม่มีวันพอหรอก มันต้องการหาสิ่งที่ดีขึ้นไปๆ ดีขึ้นไปกว่านั้นไง แล้วดีขึ้นไปกว่านั้นมันจะเป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อใจมันไม่เคยพอ
สิ่งที่ใจไม่เคยพอ เห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรมมันเป็นแค่เครื่องดำเนินชี้ทางไป เหมือนกับดอกไม้ ดอกไม้ถ้าเราเอามาร้อยเป็นพวงมาลัย มันจะมีความสวยงามมาก นี่ก็เหมือนกัน วัฒนธรรมประเพณีเพื่อจะให้เราก้าวเดินไป นี่คนเกิดมาชาติหนึ่งได้บวชหนหนึ่ง เห็นไหม ชีวิตหนึ่งได้ทำหนหนึ่งก็ทำกันไปๆ เป็นประเพณี ใครได้ทำคนนั้นก็ว่าได้บุญกุศล
แต่บุญกุศลในการบวช เวลาเราบวชออกมาจากโบสถ์ พ่อแม่ได้ ๑๖ กัป สิ่งนี้เป็นว่าพ่อแม่นี่สายเลือดเข้าไปค้ำศาสนา แต่ผู้ที่บวชผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันจะได้ของเราหรือไม่ได้ของเราอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ นี่คนดิบคนสุก ว่ากันว่าคนดิบคนสุก คนยังไม่ได้บวชเป็นคนดิบ คนบวชแล้วจะเป็นคนสุก แต่มันไม่ได้ศึกษา เห็นไหม บัณฑิต ทิศ บริหารทิศทั้งหมด บัณฑิตคือทิศ คือบัณฑิต สิ่งต่างๆ เราเข้าใจไหมว่าครูบาอาจารย์อยู่ทิศข้างบน พ่อแม่เราอยู่ทิศข้างหน้า แล้วบ่าวไพร่อยู่ทิศเบื้องล่าง เราจะบริหารทิศอย่างไร สิ่งที่การบริหารทิศอย่างนี้ เราจะเป็นคนสุกขึ้นมา สุกขึ้นมาเพราะว่าเราเข้าใจตามสภาวะแบบนั้น แต่หัวใจมันก็ดิ้นรนตามอำนาจของมัน
ถ้าหัวใจดิ้นรนตามอำนาจของมันนะ เวลาเราไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์จะชี้นำสิ่งนี้ไง ถ้ามันสะกิดใจได้นะ ให้มันถามตัวเองไง ถ้าเราถามตัวเองได้ ความคุ้นความชินมันเป็นความคุ้นความชิน มันเรื่องของกิเลสออก โลกเขาต้องการปรารถนากัน ถ้ามีพวกมากมีหมู่คณะมากพึ่งพาอาศัยกัน นั่นเป็นเรื่องของโลกนะ
แต่เวลาเรื่องของการปฏิบัติ ครูบาอาจารย์สอนให้ไปแบบหนอแรด ถ้าไปแบบหนอแรด ไปหนึ่งเดียวไง ถ้าไปสองมันเริ่มต่ำลงเพราะอะไร เพราะมันเป็นความกังวล สิ่งต่างๆ มันต้องคิดถึงกัน มันต้องกังวลต่อกัน แต่โลกเขาถ้ามีเพื่อนมีฝูงจะเป็นสภาวะแบบนั้น นี่ย้อนกลับมาที่ใจ ถ้าใจย้อนกลับมาที่เรา เราต้องออกประพฤติปฏิบัติ เราต้องพยายามถามตัวเองไง ถามตัวเองว่าสิ่งนี้มันถูกหรือมันผิด ถ้าเรามีโจทย์เราถามตัวเอง เห็นไหม
ความคุ้นชินกับใจของตัวเอง ถ้าเราคุ้นชินกับใจของตัวเอง ความเกิดดับอันนี้เราจะชินชากับมัน ถ้าความเกิดดับชินชากับมัน เราจะไปตามอำนาจของมันว่าสิ่งนี้เป็นเรา เพราะยิ่งมันเป็นความคิดด้วย ยิ่งเป็นความลับ ความลึกลับในหัวใจของเรา ไม่มีใครรู้ความคิดของเรา แต่ครูบาอาจารย์สามารถรู้ความคิดของเราได้ ครูบาอาจารย์สามารถรู้นะ เทวดาฟ้าดินเขาจะรู้ได้
รู้ความคิดของเรา เพราะอะไร เพราะขนาดที่ว่าพระนาคิตะเดินจงกรมอยู่ในป่า คิดถึงเห็นว่า ชาวบ้านเขาไปเที่ยวกัน เขาไปสนุกสนานกัน เราต้องมาประพฤติปฏิบัติอยู่ในป่า เราเป็นคนทุกข์คนยาก นี่เทวดารู้ความคิดอันนั้น ลอยมากลางอากาศ หยุดอยู่กลางอากาศแล้วบอกเลย บอกพระนาคิตะว่า พระคุณเจ้าต่างหาก พระคุณเจ้ากำลังจะเป็นผู้ที่พ้นออกจากโลก เป็นผู้ที่ค้นคว้าตัวเอง สิ่งที่เขาไปสนุกเพลิดเพลินตามประเพณี ตามมหรสพต่างๆ นั้น เขาเวียนตายเวียนเกิดอยู่ในโลกของเขา ความเวียนตายเวียนเกิดในโลกของเขา เขาคิดว่าอันนี้เป็นความสุข เขาติดข้องอยู่กับอันนั้น เขาติดข้องไป แล้วเขาก็เวียนตาย เขายึดมั่น เขามีความสุขของเขาไป สุขส่งออกจากข้างนอก รับออกจากข้างนอก แต่พระนาคิตะได้เทวดามาเตือนสติคืนนั้น ย้อนกลับมาพิจารณาคืนนั้นพระนาคิตะเป็นพระอรหันต์ขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติคืนนั้นเลย
ความคิดของเราไม่เป็นความลับสำหรับพวกจิตวิญญาณ แต่เป็นความลับสำหรับมนุษย์ ความลับสำหรับเรา นี่มันต้องไม่คุ้นชินกับตัวเอง ถ้าไม่คุ้นชินกับตัวเอง เห็นไหม วัตรปฏิบัติ ถ้าเรามีวัตรปฏิบัติ เราต้องตามวัตรปฏิบัตินั้น เพื่อวัตรปฏิบัตินั้นเป็นการดึงใจออกมาไง ทุกคนอยากสะดวกอยากสบาย เวลามีกิจ เวลาเราไปเที่ยวเรามีความสุขของเรา เราพอใจ แต่เราทำงานของเรามันก็เป็นกิจเหมือนกัน กรรมดีกรรมชั่วไง ถ้าเราทำคุณงามความดี ความดีอย่างหยาบๆ ทาน ศีล ภาวนา
เวลาเราให้ทาน คนที่ไม่เคยทำก็ยังทำได้แสนยาก เพราะอะไร เพราะเป็นของเป็นวัตถุที่เราสละออกไปได้อยาก ถ้ามีศีล เห็นไหม เราพยายามฝืนตัวเอง ศีลมันบังคับตัวเอง ถ้าศีล ๘ ไม่ดูมหรสพ ไม่ดูการฟ้อนรำการละเล่น ศีล ๘ ต้องขนาดนั้น ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ถ้าเราฟังการละเล่น เราเป็นอาบัติ แต่ขณะนี้เขามีงานอยู่ข้างๆ นี่แล้วเสียงมามันเป็นอาบัติไหม? ไม่เป็นอาบัติ เพราะอะไร เพราะสิ่งนี้เป็นสุดวิสัย มันเกิดขึ้นมามันก็กระทบหู เสียงมันเกิดขึ้นมาเราก็ได้ยิน นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นความผิดขึ้นมาจากเรา เราทำความผิดอันนี้เป็นอาบัติ แต่สิ่งที่มันสุดวิสัยไม่เป็นอาบัติ เพราะเราห้ามสิ่งนั้นไม่ได้ สิ่งนั้นเป็นเรื่องของโลก
โลกก็เหมือนกัน โลกนี่เราจะไปฝืนใจเขาไม่ได้ ความคิด เห็นไหม ความคิดคนจะคิดดีคิดชั่วเรื่องของเขา เรื่องของเราเราต้องดูความคิดของเรา ถ้าดูความคิดของเราขึ้นมา นี่เริ่มมีศีลขึ้นมา เห็นไหม มโนกรรม ถ้าคิดดีเป็นกรรมดี คิดชั่วเป็นกรรมชั่ว ถ้าคิดชั่วนี่มโนกรรม อธิศีลเกิดจากตรงนี้ ถ้าอธิศีลเกิดจากตรงนี้เจตนามันจะมีไหม เจตนาความผิดไป ถ้าเจตนาในการทำคุณงามความดี ต้องมีคันเร่งไง เวลาเราประพฤติปฏิบัติต้องมีคันเร่งและมีเบรก คนต้องมีเบรก เห็นไหม
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ ภิกษุทั้งหลาย เธอจงพิจารณาสังขารด้วยความไม่ประมาทเถิด สิ่งที่ความไม่ประมาทเป็นปัจฉิมโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ให้มีความประมาทนะ แล้วถ้าจิตของเรา เรามีความคิดของเรา เราเจตนาของเรา มีเบรกห้ามล้อ เบรกห้ามล้อคือศีลควบคุมใจ แต่เวลาเราจะประพฤติปฏิบัติเราต้องมีคันเร่งไง ถ้าเรามีศีล เห็นไหม มันเหมือนกับสิ่งที่ไม่มีชีวิต เขาก็ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย เขาอยู่ของเขาเฉยๆ นี่สิ่งที่มีศีล มีศีลต้องมีธรรมด้วย คุณธรรมไง
ศีล การไม่ทำลายเขา เราต้องมีความเมตตา เห็นไหม เมตตาเขา พอเมตตาเขาขึ้นมา ใจของเราเกิดขึ้นมาอย่างไร นี่ให้ทาน พอมีให้ทานนี่มีศีล แล้วก็มีสมาธิ แล้วก็เริ่มภาวนา บุญกุศลมันจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ เกิดขึ้นละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ จากหยาบๆ เข้ามามาหาภายใน แล้วคันเร่งเรามีไหม ถ้าเรามีคันเร่งนะ คนทำความสงบได้ทำสมาธิได้จะอยากได้ความสุขอันนี้มาก ถ้ามันมีคันเร่งขึ้นมา เร่งขึ้นมา ตัณหาความทะยานอยาก ถ้าอยากในผลนั้น เราจะไม่ได้ผลอันนั้น ถ้าเราอยากในเหตุ เราพยายามทำความเพียรของเรา กิเลสมันต้องมีความทำลายของมันธรรมชาติของมัน มันจะทำลายความเพียรของเรา ทำลายสิ่งต่างๆ ตลอดไป
เราถึงต้องไม่คุ้นชินกับภายนอก แล้วก็ไม่คุ้นชินจากภายใน เราต้องให้มันเกิดเป็นสัจธรรมของเขาขึ้นมาเอง ถ้าสัจธรรมขึ้นมาอย่างนี้ นี่สภาวธรรมเกิดขึ้นมาจากภาวนามยปัญญา ปัญญามันจะเกิดมันจะใคร่ครวญขึ้นมา มันจะเป็นความมหัศจรรย์นะ แล้วจะซึ้งใจมากว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมแล้วไม่อยากจะสอนใคร ใครมันจะรู้ได้อย่างนี้ ใครจะรู้ได้อย่างนี้ ธรรมละเอียดอ่อนขนาดนี้ๆ แต่เวลาเปิดพระไตรปิฎกเราก็เห็นมาตรงๆ หน้า ก็ว่าสิ่งนี้เราก็รู้แล้วๆ นี่มันรู้โดยสัญญา เห็นไหม สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา นี่เราไม่เข้าใจ ถ้าเราเข้าใจนะ เราจะเห็นว่าความละเอียดอ่อนเข้าไป เราก็ว่าการจินตนาการความเห็นของเราเป็นภาวนามยปัญญา มันปล่อยวางเหมือนกันๆ มันละเอียดขนาดนั้น กิเลสมันก็ละเอียดขนาดนั้น มันก็สวมรอยตลอดไป แง่มุมของมันมันจะบังเงาอยู่ตลอดไป
เวลาประพฤติปฏิบัตินะ ครูบาอาจารย์พิจารณากามราคะ พิจารณาอสุภะจะเห็นเลยอสุภะนี่จะสะอิดสะเอียนนะ มันจะปล่อยวางนะ นี่ปล่อยวางนึกว่ามันเป็นความจริงไง สุดท้ายแล้วมันก็เสื่อม พอเสื่อมไปนี่มันก็ไปเสียผู้เสียคนกับสภาวะแบบนั้น เพราะอะไร เพราะมีความประมาทไง มีความประมาทในการประพฤติปฏิบัติของเรา เราประพฤติปฏิบัติเราว่าเป็นความจริงของเรา เราว่าเป็นความจริงของเรา กิเลสมันก็ว่าไปกับเรา
ถ้ามีเราขึ้นมา นี่มรรคะไม่สามัคคี ไม่มัชฌิมาปฏิปทาไง ถ้าสัจธรรมอันนี้ เวลาธรรมมันเกิดมรรคสามัคคี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอาสวักขยญาณก็เกิดอย่างนี้ ครูบาอาจารย์ที่เกิดมาก็เกิดอย่างนี้ ถ้าเราเกิดขึ้นมาอย่างนี้มันจะปล่อยวางตามความเป็นจริง มันจะเห็นนะ เวลาพระไตรปิฎกว่าไว้มันซึ้งใจมากนะ ว่ากิเลสขาดนี่ดังแขนขาด มันจะเห็นความขาดออกไป ความขาดออกไปขันธ์กับจิตจะขาดออกจากกัน ถ้าพิจารณากายนี่กายหลุดออกไป เพราะขันธ์มันก็เกาะอยู่ที่กายนั้น มันจะขาดออกไป สังโยชน์ที่เกาะเกี่ยวนี่หลุดออกไปโดยธรรมชาติเลย เห็นชัดๆ ขึ้นมาเลย นี่ดังแขนขาด
เวลาเราปล่อยวางมันไม่มีเหตุไม่มีผล มันไม่ดั่งแขนขาด สิ่งที่แขนขาดมันก็ลูบๆ คลำๆ กันไปไง ความที่ลูบๆ คลำๆ กันไปมันเป็นจินตมยปัญญา แล้วมันจะไม่ได้ผลไง แล้วเราว่าอันนี้เป็นธรรมๆ แต่มันเสื่อมมันเสื่อมได้ธรรมชาติของมัน แต่ถ้าเป็นธรรมจริงนะ ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะเราไม่คุ้นชินกับสิ่งนี้ เราพลิกแพลงตลอดไป สิ่งนี้ถ้าจับต้องได้ มันหาค้นเจอ นี่มันยังมีอยู่ สิ่งที่มีอยู่เราค้นคว้าต้องเจอ ของที่เราซ่อนไว้ ของที่เราเก็บไว้ เราจะลืมไปขนาดไหน ถ้าเราไปทำความสะอาดเราไปเปิดเจอเราก็เจอ
นี่ก็เหมือนกัน เวลามันว่างขนาดไหน ถ้าความรู้สึกความคิดอันนี้มันเกิดขึ้นมาได้ นี่มันไม่ว่างหรอก มันมีสิ่งนี้ แต่ถ้าทำลายสิ่งนี้เป็นขั้นตอนไปนะ มันว่างมันปล่อยวางหมด ค้นหาเท่าไหร่มันก็ไม่เจอ ไม่เจอจนมันติดไง ติดเพราะอะไร เพราะไม่มีแล้ว สิ่งนี้เป็นนิพพานๆ สิ่งที่เป็นนิพพานเพราะอะไร เพราะค้นคว้าแล้วมันไม่มี มันว่างหมดเลย แต่ถ้าเราทำมรรคที่ละเอียดเข้าไป มันจะไปค้นเจอไง
การขุดคุ้ย การค้นคว้าหาจำเลย การที่จะยกขึ้นวิปัสสนานี้อันหนึ่ง เวลาวิปัสสนาอันหนึ่ง แล้วขณะวิปัสสนาไปมันก็ยังหลอกไปอันหนึ่ง เพราะอะไร เพราะเราไปคุ้นชินกับมันไง การคุ้นชินนี้เป็นกิเลสตัวหนึ่ง แต่การคุ้นชินของครูบาอาจารย์ที่พ้นจากกิเลส เช่น หลวงตาบอกว่าท่านเป็นเพื่อนกับสมเด็จญาณฯ นี่ความคุ้นชิน ถึงจะอยู่ห่างไกลกัน ถึงจะไม่ได้วิสาสะกันไป แต่ความคุ้นชินนี้มันผูกพันใจอันนั้นออกมา
เวลากตัญญูกตเวที เวลาเรากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต เราเห็นธรรมในหัวใจของเรานะ หัวใจของเราเป็นธรรม ถ้าผู้ที่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ธรรมอันนี้จะเป็นในหัวใจ แล้วเราก็เอาธรรมอันนี้กราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะอะไร เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้วางอันนี้ไว้ไง ความกตัญญูกตเวทีสองพันห้าร้อยปีนี้ไม่ใช่กาลเวลาที่ห่างไกลเลย มันเหมือนกับสดๆ ร้อนๆ ไง เพราะผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต
เราก็เห็นธรรมของเราในหัวใจของเรา แล้วเราก็ซึ้งเห็นคุณงามความดีปัญญาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางไว้ ถ้าเราเข้าถึงคุณอันนี้ กราบโดยสนิทใจ กาลเวลาไม่ใช่มาเกี่ยวมาปิดกั้นสิ่งนี้ มันจะเหมือนกับสดๆ ร้อนๆ กับใจของเรา ถ้าสดๆ ร้อนๆ กับใจของเรา ความคุ้นชินอย่างนั้นมันเป็นความคุ้นชินของธรรม แต่ความคุ้นชินของกิเลสเรา เป็นความคุ้นชินแล้วมันต้องการเกาะเกี่ยว ต้องการพึ่งพาอาศัย ต้องการไง พึ่งพาอาศัยนะ
ในกาลามาสูตร ไม่เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูด ไม่เชื่อธรรม ไม่เชื่อครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอน ต้องให้เห็นการปฏิบัติเกิดขึ้นมา นี่กาลามสูตร แล้วถ้ามันเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาอันนั้นมันเป็นความจริงอันนั้น มันถึงว่าไม่ต้องเชื่อไง มันเป็นความจริงอันหนึ่งที่เกิดขึ้นมาจากเรา แต่ถ้าไม่เป็นความจริงของเราขึ้นมา มันจะมีความลังเลสงสัยนะ น่าจะเป็นอย่างนั้น ถ้าใจของเราเป็นสภาวะแบบนั้นมันจะเข้ากับธรรมบทนั้นๆ มันจะเป็นความลังเลสงสัยของใจดวงนั้นไป แต่ถ้ามันขาดออกไปแล้วมันจะไม่มีความลังเลสงสัย มันจะไม่มีความเป็นไปอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าเป็นไปอย่างนั้น นี่มีความคุ้นชินแล้ว แล้วกิเลสมันพลิกแพลงให้เราเชื่อมั่นในความเห็นของเราแล้ว มันไม่เป็นธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าธรรมสมควรแก่ธรรมแล้วจะไม่มีส่วนต่างๆ ที่กระดิกกระเดี้ยขึ้นมาอีกเลย ตายสนิทนะ
เวลากิเลสตายเห็นศพกิเลส เห็นความพลิกแพลงของกิเลส เวลาตายพลิกศพมันได้ เพราะขาดออกไปโดยความเป็นจริง ตรวจสอบขนาดไหน ค้นคว้าขนาดไหน มันก็ต้องเป็นแบบนั้น เหมือนวิทยาศาสตร์ การทดลองวิทยาศาสตร์ถ้าทดลองถูกต้องแล้ว ทดลองกี่ครั้งๆ ก็ต้องเป็นแบบนั้น แต่ทางวิทยาศาสตร์ทดลองขนาดนั้นแล้วก็ยังไม่ได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะอะไร เพราะการกระทำมันไม่เหมือน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทดลองแล้ว ๒๕ เปอร์เซ็นต์อันนั้นใช้ได้ ถือว่าใช้ได้ไง แต่ถ้าเป็นธรรม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่มีคำว่า ๙๙ เปอร์เซ็นต์ จะต้องเป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน ถ้าไม่เป็น ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แม้แต่มีกิเลสเหลืออยู่เปอร์เซ็นต์เดียว กิเลสนั้นมันก็จะเจริญงอกงามขึ้นมาได้ แล้วมันจะทำให้เราเสื่อมสภาพไปได้ มันถึงเป็นกุปปธรรม คือเจริญแล้วเสื่อม สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวธรรมจะเป็นแบบนั้นไปตลอด ถ้าเราคุ้นชินกับเราโทษของมันเป็นขนาดนี้นะ
แต่ถ้าเป็นทางโลก หมู่คณะเพื่อนฝูงพึ่งพาอาศัยกัน ถูกต้อง นี่ก็เหมือนกัน สังฆะ สงฆ์ หมู่สงฆ์ เห็นไหม มหาปวารณา วันออกพรรษาปวารณากับสงฆ์ ให้สงฆ์ตักเตือนกัน ให้สงฆ์ติเตียนกัน ให้สงฆ์คอยชี้ทางผิดทางถูกให้กัน นี่การปวารณานี้เพื่อเป็นหมู่สงฆ์ สงฆ์นี้จะมีตลอดไปจนกว่าศาสนาจะเสื่อมไปๆ เสื่อมไปจากหัวใจของสงฆ์นั้นล่ะ สงฆ์ที่ประพฤติปฏิบัตินั้นจะไม่เชื่อทำสิ่งนี้ ถ้าไม่เชื่อทำสิ่งนี้ ความไม่เชื่อไง ความไม่เชื่อการประพฤติปฏิบัติไปจะไม่ได้ผล มันต้องเปิดใจก่อน ถ้ามีความเชื่อ เหมือนเราปฏิบัติต้องหวังผล
ถ้าเราหวังผล เห็นไหม เวลาเขาว่ากัน ตักบาตรทัพพีเดียวก็ปรารถนานิพพาน เป็นการค้ากำไรเกินควร ถ้าไปคิดทางวัตถุ ถูกต้อง แต่คิดเป็นทางธรรมไม่ต้อง เราไม่ต้องตักบาตรแม้แต่ทัพพีเดียวเราก็ปรารถนานิพพานได้ เราเห็นคนทำบุญกุศลอยู่ เราอนุโมทนาทานไปกับเขา เราก็ทำได้ เพราะมันเป็นเรื่องของนามธรรม เป็นเรื่องของใจ ตักบาตรทัพพีเดียวก็ปรารถนานิพพาน ปรารถนาพ้นจากทุกข์ไป มันเป็นอธิษฐานบารมี บารมี ๑๐ ทัศขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ปรารถนาให้ถึงใจดวงนั้น
ถ้าเราตั้งปรารถนาไว้สิ่งนั้น มันถึงมีความศรัทธามีความเชื่อ ถ้ามีความศรัทธามันความเชื่อ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเทศน์สอนในเวไนยสัตว์ เวลาเทศน์สอนใครก็แล้วแต่เหมือนกับหงายภาชนะที่มันคว่ำอยู่ให้มันหงายขึ้น ภาชนะคือความปิดของใจ ถ้าใจไม่เชื่อเหมือนกับภาชนะที่มันคว่ำอยู่ ถ้าภาชนะคว่ำอยู่เราปฏิบัติไปเหมือนกับเราตักน้ำรดตุ่มที่คว่ำอยู่ น้ำนั้นจะไม่มีในตุ่มนั้นเลย ถ้าเราหงายตุ่มเราขึ้นมา เราตักนำใส่ในตุ่มจะมากจะน้อยก็แล้วแต่ มันจะขังน้ำไว้ในตุ่มนั้น
เราหงายภาชนะของใจเราขึ้นมา เราต้องมีความเชื่อ เราต้องมีความมั่นคงในศาสนา ถ้ามีศรัทธา มีศรัทธามีความเชื่อแล้วเราจะประพฤติปฏิบัติสมควรแก่ธรรม แล้วมันจะเปิดสิ่งนั้นเข้ามา แต่ไม่มีความเชื่อ เราปฏิบัติไปมันก็ปฏิบัติไปเพื่อลอง เห็นไหม แต่ถ้าจิตมันสงบเข้ามามันหวั่นไหวใจดวงนั้น มีคนที่ปฏิบัติไม่เชื่อก็มี ถ้าจิตมันสงบขึ้นมามันเริ่มสงบไง พอสงบขึ้นมามันก็ อ๋อ มีจริง ถ้ามีจริงมันก็เปิดกว้าง ถ้าเปิดกว้างมันก็เป็นไป ถ้าไม่มีจริงนะ ไม่เชื่อ มันภาวนาไปสักแต่ว่าภาวนา มันได้แค่เรื่องหลักของสมาธิ ถ้าเรื่องของหลักสมาธิ เวลามันก้าวเดินไปทำไมจิตมันติดได้ล่ะ
ถ้าคนเรามันพัฒนาไปได้เอง พระปฏิบัติจะไม่ติดในสมาธิหรอก เพราะสมาธิแล้วมันต้องเป็นปัญญาไปโดยอัตโนมัติ แต่ทำไมครูบาอาจารย์เราติดในสมาธิล่ะ ติดในสมาธิมันสมควรติด เพราะมันลึกลับมหัศจรรย์มาก มันติด แต่ติดขนาดไหนถ้าเราไม่คุ้นชินกับมัน สิ่งที่ไม่คุ้นชินกับมันเราต้องตรวจสอบ สิ่งที่ตรวจสอบใจเราเอง เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เราจะแก้ไขเราตลอดไป ถ้าใจเราพลิกแพลง เราแก้ไขของเราคืนมา นี่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ เป็นที่พึ่งแห่งตน ตนมันจะพลิกแพลงสิ่งนี้ออกไป แล้วมันจะเห็น เห็นไหม
ความไม่คุ้นชินของมัน มันก็เกิดศีล สมาธิ ปัญญา สมาธิไม่ใช่ปัญญา ปัญญาก็ไม่ใช่สมาธิ มันเป็นคนละอันกัน แต่มันเกื้อกูลกัน ถ้ามันมีสมาธิขึ้นมามันจะเป็นภาวนามยปัญญา ถ้าไม่มีสมาธิมาเป็นโลกียปัญญา ปัญญาของเราคิดใคร่ครวญขนาดไหน เก่งมากขนาดไหน จะปกครองโลกทั้งโลก ปกครองวัฏจักรเหมือนกับพญามาร มันก็เป็นโลกียะ มันก็เป็นการเกิดดับ เป็นการสร้างสมขึ้นมา แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญาเป็นโลกุตตรธรรมขึ้นมา มันจะทำลาย เห็นไหม ทำลายสิ่งนี้เป็นโลกุตตระ เป็นธรรมที่เหนือโลกแล้วพ้นจากโลกไปได้
มันถึงว่าสมาธิไม่ใช่ปัญญา ปัญญาไม่ใช่สมาธิ แต่ต้องเกื้อกูลกัน ถ้าไม่มีสมาธิมรรคมันสมดุลไม่ได้ ถ้ามรรคไม่มีสมาธิมันจะเป็นมรรค ๘ ได้อย่างไร มรรค ๘ มันสามัคคีได้อย่างไร ถ้ามรรคไม่สามัคคี เห็นไหม สัมมาสมาธิ สัมมาสติ แล้วความดำริชอบคือปัญญาชอบต้องสมดุลกัน มันถึงสามัคคีกัน มันถึงทำลายกัน เพราะความไม่คุ้นชินกับมัน การตรวจสอบใจบ่อยๆ การพิจารณาบ่อยๆ แล้วจะเป็นผลกับใจดวงนั้น เอวัง