เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๘ ธ.ค. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เห็นหลายคนเลยนะที่ว่าเมื่อก่อนความเห็นของเขาไปอีกอย่างหนึ่ง แล้วเขาพลิกกลับ เวลาเขาพลิกกลับขึ้นมา ดูอย่างพระกัสสปะสิ ว่าศาสนานี้มันเสื่อมเพราะอะไร? พระพุทธเจ้าบอกเลยศาสนาจะเสื่อม เสื่อมเพราะว่าเหมือนกับเงิน ถ้าเงินจริงอยู่มันไม่มีวันเสื่อม แต่ถ้าเงินปลอมเข้ามาบ่อยครั้งเข้า เงินปลอม เห็นไหม สัจธรรมปฏิรูป ถ้ามันมีสิ่งปนปลอมเข้ามานี่ศาสนาจะเสื่อม เสื่อมเพราะเหตุนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาเราปฏิบัติไป สมัยหลวงปู่มั่นนะ อาจารย์มหาบัวอยู่กับหลวงปู่มั่น บอกหลวงปู่มั่นเวลาเทศน์ท่านจะบอกแต่เหตุ สร้างเหตุอย่างนั้นๆ ท่านไม่บอกผล แต่พอครูบาอาจารย์เรามาขยายผล ขยายผลออกไปไง เวลาผลต้องเป็นอย่างนั้น ทำไมเวลาพูดอย่างพวกเรานี่เราเป็นนักศึกษา วิชาการเราศึกษาเล่าเรียนมา ถ้ามีเหตุมันต้องมีผลสิ ผลต้องเป็นอย่างไรก็ศึกษาผล นี่ถึงบอกว่าต้องบอกผล ถ้าไม่บอกผลเขาก็ไม่เชื่อ

มีหลายคนนะ มีมากมายเลย โยมมากมายที่ไปถามอาจารย์มหาบัว เราอยู่กับท่าน ถามเรื่องมรรคผลมีจริงหรือไม่มีจริง ท่านเคลียร์ให้ฟังแล้ว บอกว่า เออ ตั้งแต่ศึกษามาก็มีความลังเลสงสัย พอครูบาอาจารย์พูดให้ฟังนี่ลงใจ ตั้งแต่นี้ไปลงใจว่าศาสนามีผลจริง ทำแล้วจะได้ผลจริง เราจะทำอย่างจริงจัง พวกนี้จะเริ่มปฏิบัติ จะเริ่มเอาจริงเอาจังไง ไม่อย่างนั้นมันทำไปแล้วใจมันลังเลสงสัย มันมีความลังเลสงสัย นี่ถึงต้องบอกผล เวลาบอกผลขึ้นไปเราก็คาดผล พอเราคาดผลขึ้นมา เราทำปฏิบัติขึ้นมาเราก็คาดผลเข้าไปๆ

ผลของมันจะเป็นอย่างไรช่างหัวมัน ความคาดความหมายมันต้องมีการลองผิดลองถูก ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติจะเข้าใจสิ่งนี้ จะต้องผิดไปเรื่อยๆ ผิดไปจนซ้ำซาก ผิดไปจนปล่อยว่าฉันไม่ต้องการสิ่งใดเลย แล้วมันจะเป็นไป แต่ถ้าการคาดการหมายนะ มันจะคาดหมายว่าสิ่งนี้ต้องเป็นอย่างนี้ อย่างนี้ต้องเป็นอย่างนั้น แล้วพูดไปนะ นี่วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ เป็นองค์ของฌาน แล้วละปีติ ละวิตกวิจารเป็นฌานที่ ๑ ฌานที่ ๒ ฌานที่ ๓ ฌานที่ ๔ นี่คิดไปนะ แล้วก็ละไป ความเห็นว่าละไปๆ ละของเราไป นี่มันเป็นการคาดการหมาย การคาดการหมายตามตำรา

ไปหาครูบาอาจารย์ ครูบาอาจารย์บอกปล่อยวาง เวิ้งว้าง ว่างขนาดไหน มันก็ปล่อยวางเวิ้งว้าง จิตมันจะปล่อยไปอย่างนั้น นั่นล่ะเวลาเป็นไปมันเป็นไปประสาอย่างนั้น แต่มันไม่เป็นความจริงเพราะอะไร? เพราะไม่เคยเห็นมรรค ถ้าไม่เคยเห็นมรรค ความเป็นมรรคของมัน มัคคาขึ้นมาในหัวใจ เวลาปัญญามันเกิดขึ้นมา เวลาปัญญาเกิด ปัญญาเราเกิดขึ้นมา เราเชื่อได้อย่างไรว่าปัญญานี้เป็นปัญญาถูกต้อง ปัญญาของเรามันเป็นปัญญาธรรมก็ได้ เป็นปัญญากิเลสก็ได้ เพราะกิเลสมันอยู่กับเรา

สิ่งที่อยู่กับเราคือกิเลสในหัวใจ มันคาดมันหมาย มันจินตนาการไป มันความมุ่งหมายว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องว่างอย่างนั้น ต้องปล่อยวางอย่างนั้น นั่นแหละมันเป็นเรื่องกิเลสไป นี่ปัญญาอบรมสมาธิ ถึงว่าครูบาอาจารย์ไม่ได้สอนกัน สอนแต่น้อยมาก เพราะอะไร? เพราะมันจะฟั่นเฝือง่าย เวลาคิดจินตนาการไปมันจะเป็นความจินตนาการไป เห็นตามจินตนาการ เห็นตามโลกียะไง แต่ไม่รู้จักโลกียะและโลกุตตระ คนถ้าไม่เคยประพฤติปฏิบัติจะไม่รู้จักโลกียะ โลกุตตระเป็นอย่างไร โลกียะก็เป็นโลกียะ เป็นความคิดของเรา เราคิดว่าสิ่งนี้เป็นโลกียะ ฌานโลกีย์ เห็นไหม แม้แต่เป็นฌาน เป็นสมาบัติก็ยังเป็นโลกียะ สิ่งที่เป็นฌานสมาบัติ การปล่อยวาง

ฌานสมาบัติ ฟังสิ เห็นไหม รูปฌาน อรูปฌาน มันไม่มีรูป มันเวิ้งว้าง มันปล่อยวางหมดนะ นั่นก็เป็นฌานโลกีย์ มันเป็นอรูปฌานเพราะมันเป็นความว่าง จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ สัญญาก็ไม่ใช่ ไม่ใช่สัญญาก็ไม่ใช่ ปล่อยวางเวิ้งว้างหมดเลย นั้นก็เป็นความว่าง แต่เราเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นผล คนไม่เคยเข้าถึงสิ่งนั้น จะไม่เข้าใจว่ามันเป็นฌานโลกีย์

สิ่งที่เป็นฌานโลกีย์ ฌานโลกีย์เป็นเรื่องของโลกทั้งหมด ฌานโลกีย์เป็นเรื่องของความคิดของโลก แล้วมันเวิ้งว้างขนาดไหน ใจมันเวิ้งว้างมันจะเป็นโลกไหม? มันไม่เป็นมรรคไง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ไปศึกษามาขนาดไหน ได้ฌานสมาบัติ ๘ มานี่ว่างหมด ปล่อยวางหมด แต่เวลามันเสื่อมออกไปมันจะเข้าใจ เห็นความทุกข์มา ความทุกข์ของเราคือเราเห็นความแปลกประหลาดในหัวใจ ติดในตัวเราเองก่อน ถ้าเราค้นคว้าในตัวเราเอง เราศึกษาเข้ามาในตัวเราเอง ความวิตกกังวล ความลังเลสงสัยมันเป็นอะไร?

ถ้าสิ่งนี้ติดอยู่มันยังค้นคว้าได้ มันจับต้องได้ เรายังเห็น แล้วทำไมคนอื่นจะไม่เห็น เรานี่มันปล่อยวาง มันเวิ้งว้าง เราเข้าใจว่าอันนี้สิ้นแล้วต้องรักษาไว้ ถ้ามีการรักษาใจของตัวเองไว้ นี่ธรรมะปฏิรูป สิ่งที่ว่าความเป็นไป เป็นธรรม มันเป็นธรรมมันต้องไปรักษา สิ่งที่เป็นธรรมมันจะไม่ติดตัวเอง อย่างที่ครูบาอาจารย์พูด เห็นไหม จะไม่ติดตัวเอง จะค้นคว้าสิ่งนี้ไม่ได้ สิ่งนี้จะไม่มีหมด จะทำลายหมด ทำลายไปด้วยอะไร? ถ้าคนนี่สัจธรรมจริงมันจะมีมรรคขึ้นมา มรรคขึ้นมามันทำลายที่ใจของเรา นี้เราไม่ทำลายใจของเรา เราไปทำลายสิ่งต่างๆ ทั้งหมด เห็นสิ่งใดขัดหูขัดตา นี่ส่งออกไปข้างนอก สิ่งต่างๆ ผิดทั้งหมดเลย

หลวงปู่สุวัจน์บอกไว้ เห็นไหม “เราคนเดียวเที่ยวโกรธ เที่ยวรักเขา”

ใจนี้ดวงเดียวเที่ยวโกรธเที่ยวชังเขาทั้งหมดเลย เที่ยวโกรธ เที่ยวชัง เที่ยวผูกโกรธ ใจเราดวงเดียว แล้วก็ต้องแก้ใจเราดวงเดียว ย้อนกลับมาแก้ที่ใจเรา ย้อนกลับมาแก้ที่ใจ นี่ติดข้องที่ใจ สิ่งที่เป็นใจยังค้นคว้ายังหาได้ สิ่งนี้อยู่ที่ใจ ย้อนกลับมานี่ไง ธรรมะสอนอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนกลับมาที่ว่าเราค้นคว้าเรา เราชำระกิเลสของเรา

นี่เราค้นคว้าของเรา เราชำระกิเลสของเรา มันเป็นความสุขของเรา เราถึงว่าเห็นมรรคเกิดขึ้นอย่างนี้ไง เจ้าชายสิทธัตถะค้นคว้าขึ้นมาก็ค้นคว้าอย่างนี้ขึ้นมา อาสวักขยญาณนะ บุพเพนิวาสานุสติญาณรู้อดีตชาติไปขนาดไหน มันเป็นไปขนาดไหน แต่พวกเราประพฤติปฏิบัติอยากรู้อดีต อยากเห็นนรกสวรรค์ อยากเห็นต่างๆ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนที่ประพฤติปฏิบัติเห็นอยู่ เห็นบุพเพนิวาสานุสติญาณสาวไปไม่มีที่สิ้นสุด อันนี้ไม่ใช่ นี่เพราะอะไร? เพราะ ๖ ปีได้ประสบมากับความคลาดเคลื่อนไปนี่มันสอนใจ ถ้าประพฤติปฏิบัติมันมีความผิดพลาดขึ้นมา มันจะเป็นหลักใจขึ้นมา ให้มันสอนกลับขึ้นมา ให้เป็นหลักใจขึ้นมา

พอมัชฌิมยาม จุตูปปาตญาณ รู้ว่าตายแล้วไปเกิดที่ไหน สัตว์ตายแล้วไปเกิดที่ไหน มันก็ไม่ใช่อีก นี่รู้สิ่งต่างๆ มันมหัศจรรย์ ไม่ใช่เลย แต่ย้อนกลับมา ย้อนกลับมาถึงอาสวักขยญาณชำระกิเลส ชำระกิเลสในหัวใจของเรา ชำระกิเลสในหัวใจเรา นี่สิ้นจากกิเลส แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถ้ารื้อสัตว์ขนสัตว์ รื้อสัตว์ขนสัตว์ด้วยสัจธรรม ด้วยสัจธรรมในหัวใจของสัตว์โลกที่สัตว์โลกนั้นสร้างสัจธรรมขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่สามารถแบกหามสัตว์โลกไปได้ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมไว้ให้เราปฏิบัติของเรา

เราปฏิบัติของเรา นี่ธรรมอยู่ข้างใน ธรรมจริงมันยากยากตรงนี้ ยากตรงอยู่ในหัวใจของเรา เราต้องย้อนกลับเข้ามาพิจารณาของเราแล้วแยกแยะของเรา แยกแยะนี้เป็นปัญญา สิ่งที่เป็นปัญญา ปัญญาการแยกแยะ การขุดคุ้ย ปัญญาอย่างนี้เกิดขึ้นมาเพราะเราต้องวิปัสสนา สิ่งที่วิปัสสนาจะเกิดขึ้นจากปัญญาอันนี้แล้วแยกเข้าไป นี่ถ้าแยกอย่างนี้มันก็ทำลายความลังเลสงสัย ถ้าไม่แยกออกมานะ มันว่างเฉยๆ มันปล่อยวางเฉยๆ มันเวิ้งว้างเฉยๆ เวิ้งว้างเฉยๆ โดยไม่มีเหตุ ไม่มีผล ถ้าไม่มีเหตุไม่มีผลมันก็ต้องย้อนกลับได้ มันต้องพลิกกลับได้ เพราะมันพลิกกลับได้ สิ่งที่พลิกกลับมันถึงได้เป็นความผิดพลาดไง

เราสร้างสมขึ้นมา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา แต่เราไม่ประพฤติปฏิบัติโดยเป็นชาวพุทธ เราประพฤติปฏิบัติโดยลัทธิในศาสนาต่างๆ ในลัทธิของเขาตามความว่างของใจนี่ลัทธิของเขา แต่ในศาสนาพุทธสอนนี้เรื่องปัญญา สิ่งที่เป็นปัญญาต้องมีสมาธิหนุน ต้องมีสมาธิหนุนขึ้นมามันถึงเป็นโลกุตตระ สิ่งที่เป็นโลกุตตระย้อนกลับมา ธรรมจริงเกิดขึ้นจากหัวใจของเรา ใจนี้สัมผัสธรรม ความทุกข์เกิดขึ้นที่ใจ ติดข้องที่ใจ แล้วก็ลังเลสงสัยที่ใจ ใจจะมาลังเลสงสัยอย่างนี้ แล้วมันจะลังเลสงสัยไป ว่างขนาดไหนก็ลังเลสงสัยไป แล้วไม่สามารถบอกวิธีการได้ ให้ทำประสาความคิดของเราไป

แต่ถ้าพูดถึงผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ผู้ที่ตัดกิเลสออกไปจากใจมันจะมีมรรค พอมรรคเกิดขึ้นมา ขณะจิตที่มันพลิกนี่มันพลิกอย่างไร มันบอกได้หมด แต่เพราะเรานี่ เราเป็นผู้ที่ว่าเรายังไม่เข้าใจ ผู้ที่อยู่สูงกว่า เห็นไหม จะต้องดึงเราจากที่ต่ำให้ขึ้นที่สูง ไอ้นี่ใจเราต่ำกว่า คนที่อยู่บนที่สูงกว่าบอกว่าต้องเป็นอย่างนั้น ต้องเป็นอย่างนั้น เราก็คาดหมายไป การคาดหมายอย่างนี้ คาดหมายผลอันนั้นมาในหัวใจ คาดหมายผลก็ได้ผลเป็นการคาดหมาย

นี่ปฏิรูปไปอย่างนั้น ปฏิรูปในหัวใจของตัว ปฏิรูปจนกว่าเราจะหลงใหลไปตามความเห็นของเรา แล้วมันก็เจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อม แล้วต้องทุกข์ไปข้างหน้า ข้างหน้าจะทุกข์แน่นอน ทุกข์เพราะเวลาจิตมันเสื่อมขึ้นไปมันจะเสื่อม มันเสื่อมเพราะมันเป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจังนี้มันเสื่อมสภาพไป สิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นอนิจจังมันต้องเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์มันต้องเป็นอนัตตา มันต้องทุกข์แน่นอนพอมันเสื่อมสภาพไป ทุกข์แน่ๆ ถ้าไม่ตามความเป็นจริง

ถ้าตามความเป็นจริง วิปัสสนาขึ้นมา เวลาเราถึงว่าต้องเชื่อธรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจริงตามสัจธรรม ตามอริยสัจจะ วิปัสสนาคือการสังเกตว่ามันออกไปรับรู้สิ่งใด รับรู้สิ่งใด นี่ให้มันปล่อยวางสิ่งนั้นเข้ามา แล้วสังเกตบ่อยๆ ครั้งเข้า เพราะอาการของขันธ์ ขันธ์คือความสัญญาจำได้หมายรู้ มันเกิดขึ้นมาจากใจแล้วมันไปยึดหมายต่างๆ มันยึดเพราะเหตุใด? ยึดเพราะมันมีกิเลส นี่จับขันธ์ตัวนั้นมันเป็นอาการ มันเป็นสัจจะ มันเป็นธรรมชาติตามความเป็นจริง แล้วตรงนี้จับว่าแล้วมันแยกอย่างไร? มันติดเขาอย่างไร? แยกออกไปนี้คือปัญญา ปัญญาใคร่ครวญข้างนอก ปัญญาร่นเข้ามานะ เราพิจารณาต่างๆ

สิ่งนี้เปรียบเหมือนสิ่งต่างๆ เทียบเคียง นี่ปล่อยวางเข้ามาได้ ปล่อยวางเข้ามาได้จนกว่ามันจะถึงภายใน ถ้าถึงภายในนั้นเป็นปัญญาจริง ปัญญาของเราคือปัญญาเห็นการติดของใจ การเกิดของใจ การดับของใจ แต่เราเห็นอาการเกิดดับ อาการเกิดดับนั้นเป็นผลของใจ เพราะขันธ์ไม่ใช่จิต จิตไม่ใช่ขันธ์ มันเป็นอาการเกิดดับตามกิเลสบอก นี่มันจะปล่อยวางอย่างนั้น ดูอาการเกิดดับ มันเกิดดับเข้ามา มันปล่อยวางๆ แล้วมันจะว่างเข้าไปๆ

นี่มันไม่มีเหตุผล เห็นไหม เพราะเราดูว่าอาการเกิดดับเฉยๆ แต่พอเราจับเห็นอาการเกิดดับ แล้วพอมันจับเขา อะไรไปจับ? จับเกิดดับ นี่เกิดเพราะเหตุใด? แล้วจะดับเพราะเหตุใด? เกิดดับธรรมชาติของมัน เพราะมันเป็นอย่างนั้นโดยธรรมชาติ พระอาทิตย์ขึ้นแล้วต้องตก สิ่งใดเกิดขึ้นแล้วมันต้องดับเป็นธรรมชาติของมัน ไม่มีสิ่งใดคงที่ ต้องแปรสภาพตลอดเวลา นั้นมันแปรสภาพตามความเห็นตามความจริงของเขา แล้วเราเดินตามหลังเขาไปไม่เป็นปัจจุบันธรรม แต่ถ้าเป็นปัจจุบันธรรมนี่เกิดเพราะเหตุใด? อะไรพาเกิด?

เหตุเพราะสัญญาเริ่มรับรู้ก่อนพาเกิด สังขารปรุงแต่งขึ้นไปถึงจะเป็นสร้างรูปขึ้นมา เป็นตัวอาการของจิตขึ้นไป เป็นอารมณ์ออกไป พอเป็นอารมณ์ออกไปนี่ย้อนกลับเข้ามา ปัญญาจะแยกกลับเข้ามา นั่นแหละเพราะปัญญามันแยกแยะ เห็นไหม แยกแยะว่าการเกิดดับเพราะมีเหตุมีผล เหตุผลของการเกิดก็มี เหตุผลของการดับเพราะปัญญารู้เท่าทันก็มี นั่นแหละเหตุผลของปัญญาแยกเข้าไป ปัญญาชะล้างเข้าไป พอชะล้างเข้าไปมันจะเห็นอาการความจริง แล้วมันจะปล่อยอีกชั้นหนึ่ง ถ้าปล่อยชั้นนี้มันปล่อยด้วยอริยสัจ ปล่อยด้วยมัคคอริยสัจจัง ไม่ได้ปล่อยด้วยความเห็นของเรา ปล่อยด้วยอริยสัจต้องเห็นปัญญานี้เข้าไปแยกแยะ มันปล่อยอริยสัจ พอมันปล่อยบ่อยครั้งเข้าๆ จนมันขาด พอมันขาดสังโยชน์ต้องขาดออกไปจากใจ

นี่ธรรมเกิดขึ้นมาอย่างนี้ในหัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เกิดขึ้นมาจากเห็นเราก้าวเดินตามไป เป็นอดีตอนาคตในใจ แล้วเราจะไม่ตามสิ่งนั้นทัน นี่ศึกษามาก็ศึกษามาเป็นธรรม ศึกษามาเพื่อจะควบคุมตัวนี้เป็นประโยชน์ส่วนหนึ่ง แต่ถ้าศึกษามาแล้วเราไม่ได้ผลของเราขึ้นมา เราก็ต้องตายไปในวัฏฏะ แต่ถ้าเราศึกษาธรรมขึ้นมาเราก็ต้องตายไปในวัฏฏะ แต่ถ้าเห็นอาการแบบนี้แล้ว ๗ ชาติเท่านั้น จิตนี้ต้องถึงที่สุด จิตนี้เข้าถึงกระแสแล้วจะต้องเป็นไป ถ้าจิตนี้ไม่เข้ากระแส ศึกษามามันก็เป็นบุญกุศล เป็นอามิส แล้วหมุนเวียนตายเวียนเกิดเป็นธรรมชาติอย่างนี้ ตายในวัฏฏะต่างๆ ตลอดไป แต่ถ้าศึกษาเข้ามาถึงแล้วมันจะปล่อยวาง

นี้เป็นธรรมจริง ธรรมจริงเกิดขึ้นมาจากใจ นั้นคือดวงตาเห็นธรรม ดวงตาเห็นธรรม เห็นไหม ดวงตาของใจเห็นธรรมแล้วปล่อยวางตามความเป็นจริง นั้นเป็นผลของใจดวงนั้น เอวัง