เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๗ ธ.ค. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันจะใกล้ปีใหม่เนาะ มันจะใกล้สิ้นปี จะสิ้นปีอยู่แล้ว ชีวิตเกิดมาต้องมีการศึกษาตลอด เราศึกษาเล่าเรียน เห็นไหม เราศึกษาชีวิตเราเพื่อให้ชีวิตนี่มันเข้าใจโลก แล้วอยู่กับโลกด้วยความเป็นสุข แต่เราศึกษาจนวันตายเราก็ต้องศึกษาจนถึงวันตาย แล้วมันก็ไม่ประสบความสุขตามความปรารถนา การศึกษานะ เด็กศึกษาเล่าเรียน เข้าโรงเรียนนี่แสนทุกข์แสนยากเลยนะ มันต้องพยายามจดต้องพยายามจำ การศึกษาขึ้นมาเพื่อการจดจำมาจากตำรับตำรามันก็เป็นความทุกข์ยาก เป็นความทุกข์ยาก แล้วประสบการณ์ชีวิตของเราก็เป็นความทุกข์ยากอีกอย่างหนึ่ง

ประสบการณ์ชีวิต เห็นไหม ในตำราบอกไว้อย่างหนึ่ง คนจบการศึกษามาประสบความสำเร็จในชีวิตหรือไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นอำนาจวาสนาของแต่ละบุคคล การสร้างสมมา ชีวิตนี้สร้างสมมาต่างกัน ความสุขความพอใจของใจก็ต่างกัน ถ้าคนเราไม่ยึดมั่นถือมั่นจนเกินไป สิ่งใดเกิดขึ้นมา ประสบในชีวิตขึ้นมาเราพอรับสิ่งนั้นได้

ชีวิตเป็นแบบนี้ นี่การเกิดการตาย เวียนเกิดเวียนตายไม่มีที่สิ้นสุด องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารู้เรื่องนี้เพราะเรื่องปฐมยาม บุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณอดีตชาติ เวลาจิตมันสงบขึ้นมาย้อนไปอดีตชาติ นี้เป็นเรื่องการยืนยันมาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วิชชา ๓ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมขึ้นมา ตรัสรู้เรื่องนี้ขึ้นมาก่อน เรื่องบุพเพนิวาสานุสติญาณ ญาณเรื่องอดีตชาติต่างๆ แต่ละชาติที่เกิดมาๆ มันเป็นแบบนี้ แล้วมันก็ทุกข์ยากประสาเราแบบนี้ นี้คือชีวิตเราเกิดมาในชีวิตแล้ว สิ้นปีไป ใกล้สิ้นไปเวลาก็หมดไป

ชีวิตของเราก็เหมือนกัน เราเกิดมาตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมา เราศึกษาชีวิตของเราขนาดไหน เราศึกษาตามตำรับตำรามา ความรู้ต้องตามตำรับตำรา การศึกษามาทางโลกก็ต้องยืนยันอย่างนั้น วิชาการต้องออกมามีที่อ้างอิงได้ ตำรับตำราเป็นที่อ้างอิงได้ การศึกษาต้องอ้างอิงได้ตามตำรับตำรามา แต่มันก็เป็นวิชาชีพ วิชาทางโลกนี้ เห็นไหม วิชาที่เราศึกษามาเดี๋ยวมันก็ลืม มันเป็นสัญญา พอสัญญานี่เราต้องไปรื้อค้นขึ้นมามันเป็นวิชาชีพ เป็นการศึกษามา ศึกษาทั้งชีวิตก็ไม่หมด

ดูอย่างการศึกษาแต่ละแขนงๆ แต่ละสาขา สาขาหนึ่งๆ ศึกษาไปความรู้ก็ต่างกัน นักกฎหมายก็เก่งทางกฎหมาย นักวิชาการต่างๆ ก็เก่งไปตามวิชาการต่างๆ ที่ศึกษาเล่าเรียนมา มันก็เป็นสิ่งที่ศึกษามา มันศึกษาไม่จบสิ้นไง มันจบสิ้นไม่ได้ ความรู้ที่ออกจากตำรับตำราเป็นส่วนหนึ่ง ความรู้ที่ออกจากใจเป็นส่วนหนึ่ง ความรู้ที่ออกจากใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ความรู้ออกจากใจ เราก็ยึดว่าความรู้ออกจากใจนี้มันจะเป็นความถูกต้อง แต่เพราะความรู้ออกจากใจ การประพฤติปฏิบัติมันถึงได้ไขว้เขว หละหลวมกันไป ผิดพลาดกันไปตลอด เพราะนี่ความรู้ออกจากใจ

ถ้าความรู้ออกจากใจ เราเข้าใจว่าความรู้ออกจากใจแล้วเราเป็นจริง เราก็ยึดความรู้ออกจากใจ ความรู้ออกจากใจมันยังแบ่งออกไปว่าความรู้ที่เป็นโลกียะ ความรู้ที่เป็นโลกุตตระ ความรู้ที่เป็นโลกียะนี่เราศึกษาตำรามา เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาก่อน ออกจากใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็วางธรรมคือศึกษามา จดจารึกมาเป็นตำรับตำรา

เราศึกษาตำรับตำรามานั้นเป็นที่อ้างอิงถูกต้อง อ้างอิงถึงที่มาเลยว่ามาจากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสออกมาอย่างนี้ สอนมาเป็นอย่างนี้ เป็นความถูกต้องที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้มา สอนมา นั่นแหละเป็นวิชาการ วิชาการเราก็ศึกษากันไป แต่วิชาการศึกษาไปเพื่อจะรู้ความจริง เราก็รู้ตามความรู้สึกของเรา เราอ่านเรารู้สึกขึ้นมา

มาภาวนาก็เหมือนกัน ถ้าลองเราภาวนาขึ้นมา จิตสงบขึ้นไปมันจะเห็นนิมิตต่างๆ เห็นความรู้ต่างๆ เห็นไหม นี่ความรู้เกิดจากใจเหมือนกัน แล้วมันทำไมไม่เป็นตามความเป็นจริงล่ะ? ความรู้เกิดจากใจ นี่รู้เกิดจากใจคือรู้การชำระกิเลส นี้มันรู้เกิดจากใจมันก็ปล่อยวาง ความรู้ความเข้าใจมันก็ปล่อยวาง เพราะมันรู้

นี่เราศึกษา เราอ่านตำรับตำรา มีความซึ้งใจเรายังมีความสุขใจ เรายังขนพองได้ อ่านตำรับตำราไปนะ โอ้โฮ อย่างนี้หรือ? รู้อย่างนี้หรือ? พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้หรือ? เราไม่เคยศึกษาเลย เราจะขนพองสยองเกล้า มีความรู้สึกตื่นเต้นในหัวใจ เรามีความซาบซึ้งใจนะ มันก็มีความสุขใจพักหนึ่ง เดี๋ยวมันก็วนกลับไปอันเก่า เพราะกิเลสมันอยู่ที่หัวใจ เชื้อไขมันยังมีอยู่ เดี๋ยวมันก็แสดงตัวออกมา พอแสดงตัวออกมามันก็เป็นแบบนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน รู้ออกจากใจ ถ้ารู้ในวงของขันธ์ รู้ในวงของสมมุติ รู้ในวงของโลกียะมันก็เป็นความรู้ที่ว่ามันยังเชื่อไม่ได้ ความรู้ออกจากใจต้องเป็นความรู้ออกจากภาวนามยปัญญา ความรู้ที่ออกจากใจ การชำระกิเลส การสะสมกิเลส สะสมกิเลส เห็นไหม การปฏิบัติเรานี่สะสมกิเลส สะสมความรู้ไง เวลาธรรมมันเกิด ที่ว่าธรรมมันเกิด เวลาภาวนาไปมันรู้ต่างๆ มันมีความรู้ต่างๆ นี่ธรรมมันเกิด พอเกิดแล้วเราก็อยากรู้ พออยากรู้นี่ทำเป็นปีๆ เลยก็ไม่ได้ความรู้อย่างนี้อีก เพราะอะไร? เพราะเรามีความอยาก

นี่การปฏิบัติเพื่อยึดกิเลส เราไม่รู้จักว่าอันนี้เป็นกิเลส เราอยากได้ ตัณหาความทะยานอยากมันเป็นกิเลสโดยธรรมชาติของมัน มันเป็นความยึดมั่นถือมั่นโดยธรรมชาติของมัน นี้เป็นความรู้ที่ออกจากใจเหมือนกัน แต่ออกจากใจด้วยกิเลสหลอกใช้ กิเลสพาใช้ กิเลสในหัวใจพาใช้ขึ้นมา เราถึงต้องทำความสงบเข้าไปให้ลึกกว่านั้น ลึกเข้าไปถึงความรู้ที่ว่ามันเป็นจิต

จิตนี้เป็นเอกัคคตารมณ์ จิตนี้เป็นหนึ่งเดียว ความสงบของใจเข้าไป ความประพฤติปฏิบัติของเราต้องการตรงนี้ก่อน ต้องการบาทฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา เรามีศีลขึ้นมา เรามีความปกติของใจ ใจคิดวอกแวกออกไปมันผิดมโนกรรม ความคิดที่ผิดนี่เราผิดแล้ว ถ้าเราเกิดความคิดต่างๆ ที่มันคิดเบียดเบียนเขาเป็นความผิด นี่ศีลเกิดขึ้นแบบนั้น มีศีล มีสมาธิ สมาธิพยายามทำใจสงบของเราขึ้นมา นี่กำหนดพุทโธ กำหนดพุทโธ พุทธานุสติ ธัมมานุสติ สังฆานุสติ มรณานุสติ

มีคนพูดมากเลยว่ากำหนดมรณานุสติแล้วจะมีความสลดสังเวช มีความแบบว่าเฉา ไม่อยากทำ มันสลดสังเวชมาก นี่มันเป็นสิ่งที่ดีมาก เราคิดกันต่างๆ คิดไปตามประสาเรา เราคิดว่าเราพอใจสิ่งใด เราแสวงหาสิ่งนั้น แล้วมันจะสมความปรารถนาไป ไม่เคยคิดถึงวันตายไง พอคิดถึงวันตาย ถ้าตายแล้วสิ่งใดๆ ในโลกนี้ก็ต้องอยู่ในโลกนี้ นี่จิตมันก็ต้องไปตามอำนาจของจิตอันนั้น วิญญาณต้องไปตามอำนาจของวิญญาณ สิ่งที่มันกระทบกระทั่งไป

ถ้าเราระลึกถึงสิ่งนี้มันจะสลดสังเวช มันจะปล่อยวางที่ว่าเราจะฮึกเหิมต่างๆ มันก็เท่านี้ โลกก็มีเท่านี้ เราจะเอาสิ่งใดๆ จะเกินกว่านี้ไปไม่ได้ มันจะถอยกลับมากับความรู้สึกของเรา ถอยกลับมา ปล่อยวางสิ่งนั้น ไม่ให้สิ่งนั้นทำให้เราทุกข์ยากมากจนเกินไป ปรารถนาสิ่งใด แสวงหาสิ่งใด เราต้องแสวงหานี่เราทุกข์ยากมาก ทุกข์ยากให้มันพอใจกับเรา

นี่มรณานุสติกำหนดตรงนี้ สิ่งนี้เป็นคำบริกรรม สิ่งที่บริกรรมขึ้นมาเพื่อจิตสงบเข้ามา จิตสงบเข้ามา สงบเข้ามาเพื่อความรู้ออกจากใจ ต้องรู้ออกจากใจตรงนี้ ตรงนี้เป็นสัมมาสมาธิแล้วยกขึ้นวิปัสสนา มันจะเข้าไปแยกแยะพิจารณากาย พิจารณาสิ่งต่างๆ มันเป็นอีกชั้นหนึ่ง แต่เราทำเป็นชั้นปกติไง เราทำเป็นชั้นว่าพอเราเริ่มทำความสงบเข้ามา เราเห็นสิ่งนี้เราว่ามันออกมาจากใจแล้ว นี่มันเป็นการที่เรารวบรัดเกินไป เราประมาทในความเห็นของเราเกินไป เราประมาทกิเลสเกินไป กิเลสในหัวใจเรานี่มันเกิดจากใจ ความรู้วิชาการต่างๆ เกิดขึ้นมาเรายึดว่าเรารู้ๆ เดี๋ยวมันก็ลืมเราต้องไปเปิดตำรับตำราทบทวนตลอดเวลา ต้องทบทวนความรู้นั้นตลอด

สังขารก็เหมือนกัน สัญญาก็เหมือนกัน มันปรุง มันแต่ง มันจำได้หมายรู้ เดี๋ยวมันก็เกิดดับๆ นี่เพราะมันเกิดดับ มันไม่สมุจเฉทปหาน เห็นไหม มันเกิดดับๆ เวลามันปล่อยวางมันก็ปล่อยวางตามประสาของมัน มันปล่อยวางตามธรรมชาติของมัน เรายึดติดสิ่งใด อย่างเช่นคนเรามีความทุกข์ ทุกข์มากขนาดไหนก็แล้วแต่ เดี๋ยวนี้ความทุกข์หายไปไหน? เพราะมันปล่อยวางได้ชั่วครั้งชั่วคราว ทุกข์ถึงที่สุดแล้วมันก็จะปล่อยวางโดยธรรมชาติของมัน ถ้าทุกข์ขึ้นมานะ แล้วเราแก้ไขตามทันมัน มันก็จะปล่อยวางตามปัญญาแก้ไข ถ้าเป็นปัญญาแก้ไขมันจะเป็นประโยชน์ตรงนี้

นี่คือการฝึก การฝึกความเห็นของเรา การฝึกให้ความรู้ออกจากใจ ฝึกความรู้เห็นว่ามันยึดมั่น มันทุกข์เพราะเหตุใด ถ้ามันทุกข์เพราะเหตุใด? ทุกข์เพราะสังขารไม่รู้แล้วปรุงแต่ง เรายึดสิ่งนั้น สภาวะสิ่งนั้นต้องให้เป็นความพอใจของเรา มันเป็นความพอใจของเราไม่ได้ มันต้องเป็นไปตามประสาโลกเขา โลกเป็นแบบนี้ สรรพสิ่งต้องแปรสภาพไปตลอด ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด แต่ก่อนจะถึงที่สุดเราต้องพยายามศึกษาขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ของเราเกิดขึ้น แล้วให้พยายามประพฤติปฏิบัติ

นี่มันยากมันยากตรงนี้ไง ยากตรงสุตมยปัญญาก็ว่าแสนยากแล้วนะ การศึกษาเล่าเรียน จะจบนักธรรมเอก จบเปรียญธรรมประโยคนี่แสนทุกข์แสนยาก ต้องท่องจำ ต้องพยายามศึกษาขึ้นมา เป็นการศึกษาจำตามตำราก็ว่าทุกข์ว่ายากแล้ว จินตมยปัญญาใคร่ครวญว่าเราจะทำหรือไม่ทำนั่นเป็นความทุกข์ยากอีก นี่ปริยัติ ปฏิบัติ การปฏิบัติมันปฏิบัติเพื่อจะใคร่ครวญความรู้จริงออกมาจากใจ ความรู้จากตำรารู้แล้ววางไว้อย่างหนึ่ง โลกคิดอย่างนั้น

โลกกับธรรมไม่เหมือนกัน ความรู้ประสบการณ์ของธรรม ธรรมที่ออกมาจากใจ เพราะใจตัวนี้เป็นตัวขับเคลื่อน ตัวเกิด ตัวตาย นี่รถที่จะมาต่างๆ มันมาจากใคร? มาจากคนขับนะ รถนี่ไปไหนไม่ได้เลยถ้าไม่มีคนขับไปขับมัน ต่อไปคอมพิวเตอร์จะขับมันก็เป็นความคิดของเขา นี่รถมันจะเป็นไปได้ก็เป็นไป ร่างกายของเราก็เหมือนกัน ชีวิตของเราก็เหมือนกัน จะไปไหนได้เกิดจากความคิด เกิดจากหัวใจของเรา พลังงานตัวนี้มันมีความปรารถนา มีศรัทธาก็อยากจะไปทำบุญทำทาน

ถ้ามีความคิดอย่างโลกเขา ปีใหม่เที่ยวไปประสาโลกเขา โลกเขาเที่ยวไปนะสิ้นเปลืองทุกๆ อย่าง สิ้นเปลืองไปหมด ไปประสาโลกมันก็เป็นไปประสาของเขา นั่นน่ะมันขับเคลื่อนไปด้วยจิตตัวนี้ แล้วจิตตัวนี้มันขับเคลื่อนอยู่ภายใน ขับเคลื่อนจากความรู้ในขันธ์ ความรู้ในขันธ์มันก็ยึดมั่นถือมั่น นี่มันก็ขับเคลื่อนออกมา ยึดมั่นถือมั่นความเห็นของตัว ยึดมั่นถือมั่นความปรารถนาของตัว แล้วยึดมั่นถือมั่นความปรารถนาของตัวมันไม่มีอะไรมายับยั้งมันได้

นี่ภาวนามยปัญญารู้ออกจากใจยับยั้งมันได้ นี่การใคร่ครวญฝึกฝนการปฏิบัติ คือฝึกฝนการปล่อยวางจากใจ ถ้าเราปล่อยวางอย่างนี้บ่อยๆ เข้า บ่อยๆ เข้า เห็นไหม ปล่อยวางเข้ามาจนเป็นเอกัคคตารมณ์ จนกว่ามันจับใหม่ พอมันจับใหม่ อันนั้นแหละเป็นวิปัสสนา ถ้าเป็นวิปัสสนา นี่เห็นการทำงานของใจ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ ฟังครูบาอาจารย์พูดแต่ละองค์

เวลาประพฤติปฏิบัติมันสนุกสนานมาก อาจารย์เจี๊ยะบอกว่า “มันมาก” เวลาวิปัสสนานี่มันจะมันมากเลย มันตรงไหน? มันตรงที่ว่าเดี๋ยวกิเลสมันก็นั่งบนหัวใจเราก็แพ้มัน พยายามสู้ขนาดไหนก็แพ้มัน ต้องกลับมาทำความสงบของใจ พอมีกำลังขึ้นไปมันเข้าไปต่อสู้ เหมือนกับงานทางโลกเลย เวลาสงครามธาตุสงครามขันธ์ ผู้ชนะตนเองทำสงครามกับความคิดของตัวเอง ทำสงครามขึ้นมา เวลาสงครามมันชนะขึ้นมา ธรรมได้นั่งในหัวใจจะมีความสุขมาก เพราะเห็นว่ามันเจริญแล้วเสื่อมๆ พอเป็นความสุขมากมันก็ต้องเสื่อมไปโดยธรรมชาติของ พอเสื่อมสภาพของมันก็พยายามรื้อค้นขึ้นมาเพื่อทำสิ่งนี้อีก ทำสิ่งนี้ต่อสู้กัน งานมันจะเกิดขึ้นอย่างนี้

มันต้องมีงาน ถ้าไม่มีงานขึ้นมาเรารู้จากใจ รู้จากธาตุจากขันธ์ รู้จากจินตนาการ รู้จากการปล่อยวางนิมิต อันนั้นมันจะรู้จากใจไม่ได้ รู้จากขันธ์ต่างหาก รู้จากสังขารขันธ์ รู้จากความปรุง ความแต่ง รู้จากอาการของใจ มันเป็นเรื่องของโลกเขา ถ้ารู้จากสภาวะของใจตามความเป็นจริง รู้จักวิปัสสนานี่งานเกิดขึ้น เห็นตามความเป็นจริงเลย แล้วจะเห็นว่า อ๋อ นี้คือมัคคะเกิดขึ้นจากใจของเรา งานของใจเป็นอย่างนี้ เหนื่อยมาก เวลาเหนื่อยนะ เวลาเหนื่อยก็เหนื่อยเพราะต้องกลับมาพักทำความสงบเพื่อให้มีพลังงานขึ้นมา แล้วก็ซ้ำไปอย่างนั้น ซ้ำไปอย่างนั้น จนถึงที่สุดแล้วความรู้จากใจ เห็นไหม อริยสัจ

ในมิลินทปัญหาถามพระอรหันต์ไง

“พระอรหันต์หลงในอะไร?”

“หลงในสมมุติ”

สมมุติโลกที่พูดกันอยู่นี่หลง จำไม่ได้หรอก เรื่องสมมุติมันสมมุติ มันเปลี่ยนแปลงไปตลอด หลงในบัญญัติ บัญญัติที่ว่าสวดมนต์ บัญญัติในพระพุทธเจ้านี่หลง แต่ไม่หลงในอะไร? ไม่หลงในอริยสัจไง รู้ออกจากใจตรงนี้ไง สิ่งที่รู้ออกจากใจมันปล่อยวางกิเลส มันจะขาดออกไปจากใจ นี่มันจะเป็นเนื้อเดียวกับใจ เป็นสิ่งที่เป็นอริยสัจ เป็นความจริงของใจ สิ่งนี้จะไม่หลง หลงไม่ได้เลยเพราะมันเป็นอกุปปธรรม มันจะฝังไปกับใจ สิ่งนี้รู้มาจากใจ

รู้จากตำราเป็นอย่างหนึ่ง รู้จากใจเป็นอย่างหนึ่ง แต่รู้จากใจ ถ้าเราไม่รื้อออกจากความเป็นจริง มันก็รู้ออกมาจากสังขาร รู้ออกมาจากโลก แล้วมันก็ทำให้เราหลงกันไป ไขว้เขวกันไป ไขว้เขวกันมาก ตามประสาว่ารู้จากใจๆ เพราะไม่มีใครพยายามดึงไง ดึงความเห็นของเรา พยายามเข้าถึงจุดกลางของใจให้ได้ ดึงความเห็นของเราเข้าไปถึงใจของเรา มันเป็นสมบัติของบุคคลนั้นนะ ถ้าบุคคลนั้นเป็นตามความเป็นจริงจะมีความ...จากบุคคลนั้น

เวียนตายเวียนเกิดนี้เป็นเรื่องของอดีต เห็นสภาวะมันสลดสังเวช สลดสังเวชมันเป็นไปอย่างนั้น แล้วมันแก้ไขไม่ได้มันจะเป็นสภาวะอย่างนั้นตลอดเลย ถึงที่สุดแล้วแก้ไขได้ สิ้นสุดกับใจดวงนั้น นี่รู้ออกมาจากใจตามความเป็นจริง เอวัง