เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๓ พ.ย. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เพราะ! เพราะ “มีศาสนา” เราถึงได้มาทำบุญกุศลกัน เพราะมีศาสนา ศาสนาสอนให้เรื่องสละ เรื่องจาคะ เรื่องความสละออกเพื่อฝึกฝนใจ ตัวศาสนาคือตัวธรรมะ คือพระไตรปิฎก การศึกษาพระไตรปิฎกนี้แล้วแต่ใครศึกษา ศึกษาแล้วก็ตีความพระไตรปิฎก ต่างคนต่างศึกษาแล้วตีความแล้วแต่คนตีความ

คนตีความได้ลึกซึ้ง คนนั้นก็ได้ผลประโยชน์กับคนนั้น ถ้าคนตีความไม่ลึกซึ้ง อันนั้นก็ไม่ได้ผลประโยชน์ตรงนั้น ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่กับเราตลอดไป แต่อยู่ที่การตีความ

การตีความมาก เห็นไหม ตีได้ลึกซึ้ง เราก็จะเข้าถึงธรรม ถ้าตีความได้ไม่ลึกซึ้งแล้วไม่เชื่อเลย คนที่ไม่เชื่อเรื่องศาสนาก็มีมาก ไม่เชื่อว่าการเกิดและการตายนี้มันจะมีเวียนตายเวียนเกิดไม่มี คือว่าตายแล้วสูญไป เกิดมาก็เกิดมาเฉพาะสภาวะแบบนี้ นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ด้วยสายตา

เชื่อมั่นตนเองไง ถ้าเชื่อมั่นตนเองมากก็เชื่อมั่นกิเลสมาก เชื่อมั่นความเห็น มันปิดบังไปหมด เรามาอยู่ในวันนี้ เมื่อวานนี้มาจากไหน แล้วพรุ่งนี้ไปจากไหน ก็ไปจากวันนี้ วันนี้ปัจจุบันนี้มี แต่เราอยู่ในปัจจุบันนี้ เราปฏิเสธเมื่อวานนี้ แล้วก็ปฏิเสธพรุ่งนี้เป็นไปไม่ได้ มันหมุนเวียนไป แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ว่าพิสูจน์กันได้แล้วเข้าใจกัน แต่เรื่องภพชาติมันเป็นเรื่องยาวไกลมาก เราถึงปฏิเสธกัน ถ้าตีความโดยไม่เชื่อก็ไม่ได้ประโยชน์ ถ้าตีความเชื่อมันก็ได้ประโยชน์กับผู้นั้น

พอความเชื่อเกิดขึ้นจะมีความศรัทธา มีความศรัทธาก็มีเรื่องการสละจาคะ ถ้าเราสละจาคะออกไป ฝึกฝนใจให้ใจมันหัดสละออกไป สละเรื่องเป็นทานออกไปแล้วมันจะสละเรื่องความที่ว่าเวลาทุกข์ยากในหัวใจมันสละออกไม่ได้ สิ่งนี้เป็นความยึดติด

พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์และการดับทุกข์ นี้คือหัวใจ แต่การจะเข้าถึงทุกข์และการดับทุกข์นี้เป็นเรื่องที่แสนยากมาก เพราะมันเป็นอยู่กับเรา เราต้องแก้ไขเรา ผงเข้าตานี่เราจะบ่งออก เราจะเอาผงออกจากตา เราทำได้ยากมากเลย ต้องให้คนอื่นเขี่ยผงออกจากตาเรา เพราะมันอยู่ในตาเรา

แต่เรื่องกิเลสมันอยู่ลึกซึ้งกว่านั้นอีก มันอยู่ในหัวใจของเรา แล้วเราเชื่อของเราตลอดไป แล้วมันมีความพอใจของเรา แล้วมันพยายามพลิกแพลงของมัน ให้มันทรงตัวอยู่ในหัวใจของเรา นี่มันถึงว่าเป็นเรื่องที่ว่าลึกซึ้งที่การทำได้ยาก

ถึงต้องย้อนกลับมาถึงว่าเริ่มสละทานออกไป ฝึกฝนใจขึ้นมา ฝึกฝนใจขึ้นมา แล้วคนฝึกฝนได้ขนาดไหน คนตีความได้ขนาดไหน มันก็จะได้ประโยชน์กับหัวใจดวงนั้น ดวงนั้นนะหัวใจดวงนั้น เพราะหัวใจดวงนั้นเวียนตายเวียนเกิด ชาตินี้เราไม่ประสบความสำเร็จ เราสะสมของเราไป มันจะมีจริตนิสัย มีความเชื่อ มีความอ่อนน้อมไปในธรรมนะ

การอ่อนน้อมถ่อมตน เห็นไหม ปัญญาเกิดขึ้นขนาดไหน เรามีปัญญาขึ้นมา แล้วเราพยายามศึกษาของเราขึ้นมา ปัญญาเราศึกษาขึ้นมา ศึกษาเพื่อเอาตน เอาเราของเราไว้ให้อยู่ได้ เอาความคิดของเรา หัวใจนี้เหมือนช้างตกมัน มันสลัด มันเบียดเบียน มันพยายามจะคิดไปประสามัน เราหักห้ามมันไม่ได้เลย ทานขึ้นมาก็ฝึกฝนตรงนี้ คือว่าสละออกไปสิ่งนั้น สละคือว่าสละตรงนั้นมันก็เริ่มกระเทือนหัวใจ เพราะหัวใจมันต้องยึดมั่นถือมั่น

ของเราแสวงหามา มันต้องยึดเป็นของเรา สรรพสิ่งนี้เป็นของเราทั้งหมดเลย สิ่งต่างๆ ก็เป็นของเรา อันนั้นเป็นความเห็นของกิเลส มันเห็นว่าเป็นของเรา ถ้าหยิบอยู่ที่มือนั้นเป็นของเรา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “สละไปถึงเป็นของเรา” ท่านเปรียบเหมือน คนเราเปรียบเหมือนกับบ้านโดนไฟไหม้ เรานี่ต้องตายไปตลอด เราต้องดับขันธ์ไป ชีวิตนี้มีการพลัดพรากเป็นที่สุด แล้วชีวิตนี้มีอะไรเป็นสิ่งที่ว่าเป็นประกันกับหลักชีวิตกันไป?

การสละออก เห็นไหม เวลาเราสละสิ่งต่างๆ ออกไป เราสละออกไปแล้วมันฝังอยู่ที่ใจ แต่ว่ามันเกิดความตระหนี่ถี่เหนียวนี่มันคิดเสียดาย ปฏิคาหก ผู้ให้ให้ด้วยความบริสุทธิ์ เห็นไหม เวลาให้มีเจตนาให้ ขณะที่ให้ให้แล้วไม่คิดไม่เสียดาย ผู้รับด้วยความบริสุทธิ์ ปฏิคาหกอันนี้สมบูรณ์มาก แล้วเราจะเป็นบุญกุศลของเรา บุญกุศลเกิดจากตรงนี้แล้วมันฝังลงที่ใจ ฝังลงที่ใจ จริตนิสัยเกิดขึ้นอย่างนั้นแล้วมันฝังใจ มันเกิดตายเกิดตายไป สิ่งนี้..

เกิดตายไปเป็นเราเหรอ? ปฏิเสธกันนะว่าเราเกิดมาชาตินี้ แล้วชาติที่แล้วมันเป็นเราเหรอ?

ไม่ใช่เรา.. สิ่งที่ว่าชาติที่แล้วก็เป็นชาติที่แล้ว ชาติปัจจุบันนี้ก็เป็นชาติปัจจุบันนี้ แต่หัวใจที่มันเกี่ยวข้องกัน มันมาเกิดมาตาย คนแต่ละคนแน่นอน ไม่ใช่คนเดียวกัน แต่สิ่งต่างๆ คือบัญชีใหญ่อยู่ที่หัวใจดวงนั้น ความจริตนิสัยอยู่ที่ใจดวงนั้น นี้คือการตีความจากหยาบๆ

แล้วจะตีความในเรื่องการปฏิบัติ เวลาเราศึกษาธรรมขึ้นมา อ่านพระไตรปิฎกขึ้นมา มีความเข้าใจ มีความปล่อยวาง มีความเวิ้งว้าง มันลึกซึ้งมาก เราอยู่ในประเพณีวัฒนธรรม จะเห็นว่าพระเวลาเทศน์ขึ้นมา เทศน์แต่เรื่องนิทานเรื่องชาดก แต่ไม่มีเห็นว่าพระเทศน์ถึงเรื่องอาการของใจ ใจมันแปรสภาพอย่างไร มันเปลี่ยนสภาพอย่างไร

พอเราศึกษาพระไตรปิฎกขึ้นมา เราจะซึ้งมาก โอ๋.. อาการของใจ ทุกข์เกิดที่ใจ เวลาดับดับที่ใจ แล้วทุกข์เกิดที่ใจดับที่ใจ แล้วดับอย่างไร จะทำอย่างไร ถ้าตีความต่างกันไปก็ตีความต่างกันไป ตีความต่างๆ กันไปแล้วทำถูกต้องไม่ถูกต้องบ้าง

พระกัสสปะถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ศาสนานี่จะเสื่อม เสื่อมเพราะเหตุไร?”

พระพุทธเจ้าบอกว่า “จะเสื่อมเหมือนกับเงินนี่ ถ้าเงินเป็นเงินบริสุทธิ์อยู่ มันจะไม่เสื่อม แต่ถ้ามีเงินปลอมขึ้นมา เงินเทียมขึ้นมา ศาสนาจะเสื่อม เสื่อมตรงนั้นไง เสื่อมตรงที่ว่ามีเงินปลอมขึ้นมาเทียบเคียงขึ้นมา ค่าของมันคนเริ่มลังเล คนเริ่มสงสัยว่าอันใดจริงอันใดเท็จ”

นี่ตีความตีความอย่างนี้ เริ่มการตีความทุกคนมีกิเลส ทุกคนมีความผูกพัน ทุกคนมีมุมมอง ตีด้วยมุมมองของตัวเองว่าตัวเองมีมุมมองอย่างใดก็ตีความแบบนั้น แล้วก็ทำไป แล้วมันสร้างอาการของใจ ใจนี้มันสิ่งที่มหัศจรรย์ เรื่องของนามธรรม สถานะมันสร้างได้ มันคิดได้ มันจินตนาการได้ คาดหมายคาดเดาได้

การคาดเดา เราว่าเราไม่ได้คาดเดา แต่จิตใต้สำนึกเราไม่สามารถควบคุมได้ มันจะคาดเดา อย่างครูบาอาจารย์ เวลาครูบาอาจารย์บัญญัติไว้ ครูบาอาจารย์ปฏิบัติไว้ เช่น หลวงปู่ดูลย์บอกว่า “จิตส่งออกนี้เป็นสมุทัย คิดเท่าไหร่แล้ว จิตยิ่งคิดนี้มันจะยิ่งมีความทุกข์ ต้องหยุดคิด” นี่ต้องหยุดคิด เราก็จะหยุดคิดกัน ตีความกันไป ตีความไปว่าต้องหยุดคิด ถ้าหยุดคิดแล้วจะเป็นมรรค

“แต่สิ่งที่มันจะหยุดคิด มันก็ต้องใช้ความคิด”

สิ่งที่จะใช้ความคิดอันนี้ตัดทิ้งไปไหน เวลาคิดออกไป สิ่งใช้ความคิดนี่มันเป็นทุกข์ ต้องหยุดคิดให้ได้ แต่สิ่งที่ว่าจะหยุดคิดได้ก็ต้องใช้ความคิด ต้องใช้ความคิดเพื่อจะไปหยุดคิดอันนั้น ถ้าใช้ความคิดนั้นมันก็ต้องเป็นปัญญา

แต่เวลาหลวงปู่ดูลย์บอกว่า “ถ้าจิตคิดออกไปนี่มันเป็นทุกข์หมดเลย”

ถูกต้อง! แล้วต้องหยุดคิด เห็นไหม ทุกข์เกิดขึ้น พระพุทธเจ้าสอนว่า “เวลาทุกข์อยู่กับเรา หัวใจเกิดขึ้น การเกิดเป็นชาติ มีชาติขึ้นมา เราต้องมีความทุกข์อยู่แล้ว”

การเกิดนี้เป็นสภาวะรับรู้สิ่งต่างๆ การเกิดไปภพใดก็รับสภาวะนั้น การเกิดมานี่มันรับสภาวะ รับความทุกข์แน่นอน แล้วจะให้มันดับ เวลามันจะดับทุกข์ต้องดับที่ไหน ต้องดับที่ใจนั้น เวลาดับทุกข์แล้ว ใจนี้กิเลสมันขาดออกไป แต่ใจไม่ได้ดับด้วย ใจเสวยความวิมุตติสุขอันนี้ต่างหาก

ถึงว่าเวลาคิดมันเป็นสิ่งที่ว่ามันเป็นความทุกข์ ต้องหยุดคิด แต่หยุดคิดต้องใช้ความคิด เวลาใช้ความคิดนี้ไม่ได้เอานี้มาร่วมด้วยว่าต้องใช้ความคิด ต้องใช้ปัญญา ต้องใช้การใคร่ครวญ ต้องใช้การกระทำออกไป มันต้องก้าวเดินออกไป

สิ่งที่ก้าวเดินออกไป นี่การตีความของเรา เห็นไหม “ให้ดูจิต ให้รู้จิต” ให้รู้จิตฉันก็รู้จิตแล้ว ฉันก็ดูจิตแล้ว พอฉันดูจิตแล้ว ฉันก็พอใจในความดูจิตของฉัน ถ้าฉันดูจิต ฉันปล่อยวางจิต เห็นไหม ถ้าปล่อยวางขึ้นมา มันปล่อยวางขึ้นมา มันเป็นการว่าจินตนาการไป

นี่คนตีความหมาย ตีได้มากก็คนนั้นได้มาก คนตีได้น้อยก็ได้น้อย แล้วได้ผลนะ คำว่า “ได้ผล” ได้ผลที่ว่าเงินเทียมหรือเงินปลอม ถ้าได้ผลของความปลอม อาการของใจ อกุปปะ-กุปปะก็ไม่รู้ การปล่อยวางก็ไม่รู้ การปล่อยวางนะ การที่ว่ามันปล่อยวางสมุจเฉทปหานอย่างไรก็ไม่รู้ แต่รู้ว่ามันปล่อยวาง

อาการปล่อยวาง สัมมาสมาธิ เวลาจิตมันสงบขึ้นมามันจะปล่อยวางกายได้ เวลาใจมันปล่อยวาง มันสามารถปล่อยวาง มันปล่อยวางหมดเลย มันว่างหมดๆ ว่างด้วยความปล่อยวางของใจ สัมมาสมาธิกดอันนี้ได้นี่มันปล่อยวางกาย ถ้ามันปล่อยวางกาย แล้วมันปล่อยวางตรงไหน? เออ.. อันนี้สงสัย มันปล่อยวางตรงไหน? ปล่อยวางขนาดไหน..ไม่รู้ สิ่งที่ไม่รู้ นี่มันปล่อยวาง

แต่ถ้าใช้ปัญญาพิจารณาไป มันปล่อยวางเข้ามาเรื่อย ปล่อยวางเข้ามาเรื่อย พิจารณาซ้ำเข้าไปนะ ปล่อยวางถึงที่สุดแล้วมันต้องขาดออกไป สิ่งที่ขาดออกไปคือสังโยชน์ขาดออกไปจากใจ นี่มันต้องซ้ำ ซ้ำตรงนี้ที่ว่าดูจิตๆ จิตมันเกาะเกี่ยวกับสิ่งใด จิตเกาะเกี่ยวกับธาตุกับขันธ์นี้ ถ้าพิจารณาจิต นี้ต้องใช้ปัญญา ถ้าไม่เกิดปัญญาขึ้นมา มัคคะไม่สามัคคี มัคคะไม่รวมตัว การดูจิตแล้วปล่อยวาง ปล่อยวางธรรมดา

นี่มันถึงว่า “ต้องใช้ความคิด” ใช้ความคิดเพื่อจะใช้ปัญญา เพื่อจะให้มันหยุดคิด “สิ่งที่หยุดคิด” ถูกต้อง ถ้ามันคิดออกไปนี้มันเป็นสมุทัย ย้อนกลับเข้ามานี้เป็นมรรค สิ่งที่เป็นมรรค เห็นไหม จิตส่งเข้ามานี้เป็นมรรค สิ่งที่เป็นมรรคนี้เกิดขึ้นไม่ได้เหรอ ทำขึ้นไม่ได้เหรอ

ถ้าทำขึ้นได้ มันจะเป็นความเห็นคือว่าเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตนในใจดวงนั้น นั่นน่ะมรรคมันเดินตัวอย่างนี้ ถ้ามรรคเดินตัว กิเลสมันขาดขาดเพราะปัญญา นี้เป็นการตีความไง ตีความพระไตรปิฎกนี้ก็เป็นตีความตามพระไตรปิฎก

ครูบาอาจารย์นี้เป็นที่พึ่งของเรา เป็นที่ว่าเราเชื่อใจแล้ว เราจะเอาทางลัดไง ชุบมือเปิบ ครูบาอาจารย์นะ เวลาเข้าป่ากัน เวลาปฏิบัติมา ทั้งชีวิต ใช้ชีวิตทุ่มออกไป กว่าจะได้ปัจจัตตังอันนั้น ได้ความเห็นอันนั้นเอามา แล้วก็มาบอกเราว่าให้เราเข้าใจเข้ามา แล้วให้เราประพฤติปฏิบัติเข้ามา

ถึงว่าการส่งออกไป การคิดออกไปมันเป็นความฟุ้งซ่าน มันเป็นบ่วงของมาร สิ่งที่เป็นบ่วงของมาร จิตนี้มันจะออกไปเป็นบ่วงของมารทั้งหมด แต่จะปล่อยเข้ามานี้ก็ต้องใช้ปัญญาปล่อยเข้ามา ปล่อยบ่วงของมารเข้ามา จนมันเป็นอิสระของมันขึ้นมา เห็นไหม เป็นกัลยาณปุถุชน

สิ่งนี้เป็นสัมมาสมาธิ แล้วสัมมาสมาธิถึงจะยกขึ้นวิปัสสนาย้อนกลับเข้ามาภายในขึ้นมา มรรคมันจะเกิดๆ อย่างนี้ มรรคเกิดจากภายใน แล้วมันจะชำระออกไปเป็นชั้นๆ จะชำระจนกว่ามันจะเห็นสิ่งนี้ขาดออกไปจากใจ ปล่อยวางออกไปจากใจ

ถึงว่าเกิด.. เกิดอย่างนี้ ดับ.. ดับอย่างนี้ ขาด.. ขาดอย่างนี้ ขาดออกไป ความลังเลสงสัยไม่มี ในหัวใจนั้นปล่อยวางสิ้นออกไปจากใจ นี่ตัวตนขาด.. ขาดอย่างนี้ ขาดออกไป ต้องรับรู้สิ่งต่างๆ ทั้งหมด

แล้วจิตนี้รับรู้หมด ยถาภูตํ เห็นไหม เวลามันเป็นไป เรากินข้าวอยู่มันอิ่มไหม อิ่ม.. ขณะที่เรากินข้าวอยู่ เรารู้ว่าเรากินข้าวมันต้องอิ่มแน่นอน ใส่อยากกินเข้าไปเป็นคำๆ เข้าไป จนถึงที่สุดพอมันอิ่มขึ้นมา ญาณทสฺสนํ อิ่มแล้วเลิกวางไว้ สุดท้าย.. แล้วมันทรงตัวไป แต่การกินของเรา กินแล้วอิ่ม อิ่มแล้วหิวต่อไป ต้องกินบ่อยครั้งเข้า แต่ถ้ามันสมุจเฉทปหานแล้วมันเป็นอกุปปธรรม มันจะต้องไม่มีการคืนกลับตัว มันจะอิ่มตัวมันตลอดไป สิ่งนั้นเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น

การตีความเป็นการตีความอย่างหนึ่ง การประพฤติปฏิบัติเข้าเห็นจริงแล้วทำสภาวะความเป็นจริงจากใจดวงนั้นเป็นอีกส่วนหนึ่ง ส่วนของผู้ที่ประพฤติปฏิบัติในใจนั้น การตีความนะ ศึกษานะ เราตีความ ถ้าเราเป็นปริยัติ เราปริยัติกัน เราศึกษากันมา จะจบพระไตรปิฎก จะจบขนาดไหน รู้หมด บรรทัดไหนข้อไหนรู้หมด แต่ความลังเลสงสัยเราก็มีอยู่ ความลังเลสงสัย ความนั้นเป็นไป

แต่ถ้ามันขาดแล้วนะ จะรู้พระไตรปิฎกไม่รู้พระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา แล้ววางพระไตรปิฎกไว้นี่มาจากไหน ก็มาจากใจดวงนี้ แล้วยังบอกด้วยว่า

“ความเห็นต่างๆ ที่ว่าไม่มีในพระไตรปิฎก เหมือนกับไม้ในป่ากับไม้ในกำมือ ตู้พระไตรปิฎกนี้เหมือนกับไม้ในกำมือเท่านั้น แต่ส่วนที่ว่าปลีกย่อยออกไปนี้เหมือนไม้ในป่า ความเห็นต่างๆ ออกไปมันจะมีเห็นออกไปมาก”

แล้วมีการสืบต่อกันมา ครูบาอาจารย์สืบต่อกันมา ผู้ที่ว่าการประพฤติปฏิบัติ มันจะมีแขนงต่างๆ ออกไป ออกไปตามแต่จริตนิสัยที่ผู้จะเป็นไป แต่เราจะถูกต้อง เราพยายามตีความขึ้นมาให้มันเป็นมรรคขึ้นมาให้ได้ เกิดขึ้นมาให้เป็นปัจจัตตังขึ้นมาให้ได้ อย่าคาดอย่าหมาย ปล่อยวางให้หมด ให้มันเป็นไปตามสัจจะความจริง

“อริยสัจจะ” สัจจะนี้เป็นความจริงอันหนึ่ง อริยสัจจะ สมุจเฉทปหานชำระกิเลสได้อันหนึ่ง จะเกิดขึ้นกับใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้น นั้นตีความสมประโยชน์กับใจดวงนั้น เอวัง