เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๗ ก.ย. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันเป็นวันทำบุญหมดน่ะ เห็นไหม เราเกิดมาจากไหน? รากเหง้าของเราเราเกิดมาจากไหน? แล้วเราเกิดมาจากไหน? เราสร้างบุญกุศลของเรามาจากไหน? ทำไมเราปรารถนาเกิดเป็นคนดี เกิดอยากให้เป็นคนดี เกิดอยากให้ประสบความสำเร็จ พอประสบความสำเร็จแต่บางทีมันก็ทุกข์มันก็ยากไป เพราะมันไม่ประสบความสำเร็จของมัน

แต่มันเป็นไปได้ เป็นไปได้แบบว่ามันมีคนอย่างสูง อย่างกลาง อย่างหยาบไง ถ้าอย่างสูงเขาก็มีความสุขของเขาตามอัตภาพของเขา อย่างของเรานี่อย่างชนชั้นกลางนี่ดิ้นรนไป ตามดิ้นรนประสาเรา ปากกัดตีนถีบเพื่อดำรงชีวิตอยู่ของเรา แล้วคนอย่างต่ำชั้นต่ำ คนที่ว่าทุกข์ยากตลอดเลยนี่เขาไม่ได้ทำของเขามา เพราะในพระไตรปิฎกนะคนจนจนมาก แล้วเวลาไปตามทางน่ะ ไปเห็นสุนัขของบ้านที่ว่าเขาเลี้ยงหมาคนรวยน่ะ เห็นแล้ว เอ๊! เขามีความสุขกว่าเรา

ความคิดเห็นไหม มันคิดแปลก จะทุกข์จะยากก็แล้วแต่ สถานะของเราดีกว่า เรามีโอกาสมากกว่า แต่คิดอย่างนั้นนะเวลาตายไปนี่ในพระไตรปิฎกไง เพราะเขาเดินทางมา เขาเปิดโรงทานอยู่ ก็ไปกินข้าวกับเขา พอกินข้าวกับเขา มา ๒ คนสามีภรรยาได้มาคนละชุด ภรรยาเห็นสามีเป็นผู้นำให้กิน ๒ ชุดเลยเพราะหิวมาก ด้วยความหิวมากกินเข้าไปมันจุก ตายเดี๋ยวนั้น เข้าเดี๋ยวนั้น เกิดในท้องหมาเดี๋ยวนั้นเลย เข้าในท้องของสุนัขทันทีเลย นั่นความเห็นเวลาคนทุกข์ยากไง

เวลาทุกข์ยากเพราะอะไร? เพราะว่ามันกรรมการกระทำมา ถ้าการกระทำมานี่มันจะทำกรรมนั้นตลอดไปเหรอ อย่างที่ว่าคนตาบอดที่ว่านี่เห็นไหม ว่าศาสนาพุทธสอนแต่เรื่องกรรม ถ้าเรื่องกรรมแล้วเป็นว่าคนตาบอดนี่มาจากกรรม คนตาบอดบอดแต่ตานะ แต่ถ้าศึกษาธรรมะแล้วปฏิบัติธรรมจนหัวใจมันเปิดขึ้นมา ตามันบอดแต่ใจมันสว่างขึ้นมา ไอ้ตาบอดมันเป็นกรรมข้างนอก

มันมีสองอย่าง อย่างหนึ่งคือว่าความเห็น ถ้าเรามีความเห็น กรรมของเรามันจะปล่อยวางลงไปเรื่อย มันทุกข์เพราะอะไร? ทุกข์เพราะเรายึดของเรา เรายึดว่าสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นความยึดมั่นถือมั่น เป็นความทุกข์ของเรา เรายึดสิ่งนั้นเป็นความขัดเคืองใจของเรา มันถึงได้เป็นกรรม แต่ถ้าวันไหนกรรมมันถึงวาระมันปล่อยวาง มันปล่อยวางสิ่งนั้นไป

ความเป็นอยู่นะ คนเขาจะกินดีขนาดไหนเขาก็อิ่มหนึ่งเหมือนกัน เรากินของเราก็อิ่มหนึ่งเหมือนกัน ความกินของเรามันก็อิ่มหนึ่ง แต่อิ่มหนึ่งนั้นมีความสุขไม่มีความสุข กินด้วยความทุกข์ยาก กินแล้วมีความวิตกกังวล อันนั้นมันเป็นความสุขของใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเน้นแต่เรื่องของใจมาก ความบุญกุศลคือในครอบครัวของเรานี่ยิ้มแย้มแจ่มใสกัน มีความสัมพันธ์กันความอบอุ่นในครอบครัว นั้นคือบุญกุศล บุญกุศลเห็นไหม ระหว่างความรักของพ่อแม่กับลูกนี่ มันจะเป็นความกังวลมาก ถึงเวลาแล้วต้องไปรับไปส่ง ถึงเวลาแล้วต้องหาให้ ใครอื่นจะเรียกร้องอย่างไรเรายังผัดผ่อนได้นะ

แต่ลูกเรานี่เรียกร้องปั๊บเราจะต้องหาให้ ถึงไม่เรียกร้องเราก็เตรียมเอาไว้ให้ เตรียมเอาไว้ให้ในชีวิตนี้นะ วางโครงการอนาคตไว้เลย วางไว้อย่างนั้น นั่นน่ะมันเป็นกระแสของกรรม กระแสของกรรมมันผูกพันกันไป ความผูกพันของใจ พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” นี่เรื่องของจริง ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ เพราะความรักแล้วมันต้องมีการสงวนรักษา ต้องมีการแสวงหา ต้องมีการพยายามรักษาไป

แต่มันเป็นว่าทางโลกเรานี่เวลาเกิดมาโซ่ทองคล้องใจ มีโซ่ทองคล้องใจเรา มีลูกขึ้นมานี่เป็นโซ่ทองคล้องครอบครัวไว้ในหัวใจไว้ มันก็มีความสุข มีความสุขมันเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าว่าไว้ “มันเหมือนกับปลาติดเหยื่อ” โลกนี้ความเป็นอยู่อย่างนั้น ให้มีความสุขไง เหยื่อคือความสุข ความสุขคือความรักลูก นี่คือเหยื่อของมัน แต่ที่ว่าความทุกข์ยากที่ต้องแสวงหา มีลูกคนหนึ่งจนไป ๗ ปีว่าอย่างนั้นเลยนะ จนไป ๗ ปี แต่เราก็พอใจมี พอใจกัน เพราะเราติดในความรักอันนั้น ที่ไหนมีรัก ที่นั่นมีทุกข์

นี่เหยื่อของสังคม เหยื่อของโลกเขา เขาเกี่ยวเบ็ดไว้ใจแล้วใจมันก็ไม่มี ใจมันไม่เข้าใจมันก็ติดกับโลกนั้นไป พอติดโลกนั้นไปมันก็หมุนเวียนไปตามกระแสโลกเขา เรามาทำกัน เราศึกษาธรรมกันมา เรามี เราก็มีหน้าที่ของเราถ้าเป็นหน้าที่ ความมีนี้ไม่ใช่ปฏิเสธว่ามันไม่มี มันไม่สมควรมี มีตามประสาโลกเพราะมันเป็นธรรมชาติที่ว่าต้องเป็นไป

แต่มีแล้วเราต้องเข้าใจสิ่งนี้ด้วย ถ้าเราเข้าใจสิ่งนี้ด้วยเราไม่ตกเป็นทาสของเขา เราปกครองเขา เราบริหารเขา ไม่ใช่เขาบริหารเรา ถ้าเขาบริหารเรานี่ความทุกข์ของเรา ความทุกข์ความลำบากมันบริหารเรา มันมีอำนาจเหนือใจของเรา มันเป็นนามธรรมทั้งหมด สิ่งที่เป็นวัตถุนี่เวลามันจับต้องมันเก็บของ มันเก็บเข้ารักษานี่มันรักษายาก

แต่ถ้าเป็นนามธรรม มันเกิดคิดได้ฟุ้งซ่านได้ขนาดไหนคิดได้มากมาย แล้วหัวใจนี่มันก็ฟุ้งซ่าน มันก็สับสนลงไปที่ใจ แล้วมันก็ซับทับถมไปที่ใจ มันคิดได้ตลอด ถ้ามันปล่อยวางชิ้นนี้ได้มันถึงปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ ได้ ถ้ามันปล่อยวางที่หัวใจไม่ได้ มันจะติดพันจากใจของเราไป แล้วจะติดพันสิ่งต่าง ๆ ไป แล้วก็เกิดเป็นทุกข์ นี่เหยื่อของโลกเป็นแบบนั้น

ถ้าเราเข้าใจของเหยื่อ ปลาที่ฉลาดมันกินเหยื่อแต่มันไม่ติดเบ็ด มันตอดกินแต่เหยื่อมันไม่กินเบ็ดด้วย นี่ถ้าเรามีความเข้าใจเรื่องของธรรม ประสาโลกเราก็อยู่ประสาโลก ลืมตาสองข้าง โลกเราก็อยู่ได้ เราอยู่ในโลกของเขาไป มีเหยื่อมีอาหารกิน แต่เราก็ไม่ทุกข์ไม่ร้อนไป เพราะเราศึกษาเรื่องธรรม ศึกษาเรื่องธรรมเพราะเรื่องธรรมนั้นมันเข้าไปเยียวยาเรื่องของใจ

เยียวยาเรื่องของใจ ใจมันเข้าใจสิ่งนั้นแล้วมันพอใจกับสิ่งนั้น มันเข้าใจสิ่งนั้น พอเข้าใจสิ่งนั้นมันไม่เดือดร้อนไปกับสิ่งนั้น จะเกิดจะมีอยู่นี่ หลวงพ่อชาบอกไว้ในหนังสือว่า “แก้วใบหนึ่งต้องเข้าใจว่ามันแตกอยู่แล้ว พอมันแตกขึ้นไปเราจะได้ไม่เสียใจ” สิ่งที่เราใช้อยู่นี่มันแตกของมันอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่แตก แต่ถ้าเราไม่ได้คิดอย่างนั้นเลยเวลามันแตกไปมันจะเสียใจ

นี่อยู่กับเขากินเหยื่อแต่ไม่กินเบ็ด เวลามันแตกขึ้นไปมันก็ไม่เสียใจ มันไม่กินเบ็ด ถ้ามันไม่ได้เข้าใจไว้นี่เวลาแตกไปมันจะเสียใจ มันจะกินเบ็ด กินเบ็ดมันจะเสียใจมันจะทุกข์ร้อนเข้าไป มันก็วนกลับมาที่เรา ศึกษาธรรมเพื่อเหตุนั้น ไม่ใช่ศึกษาธรรมว่าทุกอย่างว่าโลกนี้เป็นของที่น่าเกลียด โลกนี้เป็นของที่ไม่จำเป็น คือว่าเป็นคนขวางโลก ไม่เข้าใจเรื่องโลก ธรรมะไม่เป็นอย่างนั้นหรอก เห็นไหม ทำไมพระต้องบิณฑบาต? ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องไปหาหมอ?

เพราะเรื่องของขันธ์เรื่องของโลกมันเป็นเครื่องอยู่อาศัย เรื่องของรถของเรือนี่มันทำให้เราไปถึงจุดหมายปลายทาง เราก็ต้องอาศัยมันไป เรื่องของร่างกายนี่อาศัยกันชีวิตหนึ่ง เราก็ชีวิตหนึ่ง ถ้ามันทำถึงที่สุดก่อน มันก็ทำถึงใจได้ มันสิ่งที่เครื่องอยู่อาศัย มันจริงตามสมมุติ ความจริงทั้งหมดเป็นอริยสัจทั้งหมด จริงขนาดไหน จริงสมมุติ จริงในอริยสัจ สัจจะความจริงกับอริยสัจความจริงเป็นความจริงต่างกันเข้าไปภายใน

แต่ผู้ที่รู้นี่มันถึงว่าใจของใครรู้นี่ปัจจัตตัง รู้จำเพาะหัวใจ แล้วมันปล่อยวางของใจของแต่ละบุคคลได้ พอมันปล่อยวางขึ้นมามันก็ว่า “ทำไมคนนั้นคิดอย่างเราไม่ได้?” นั่นน่ะมันเป็นความติดข้องของใจ วุฒิภาวะของใจ ใจถ้ามันยังไม่เข้าใจสิ่งนั้นมันก็ติดสิ่งนั้น พอเข้าใจสิ่งนั้นเห็นตามสิ่งนั้น เห็นไหม ตามธรรมะหยาบ ๆ คือความเข้าใจ พอความเข้าใจนี่มันอ๋อ! มันอ๋อขึ้นมามันก็ปล่อยวาง มันก็มีความโล่งในหัวใจ โล่งในใจเข้ามา ๆ นี่ศึกษาธรรมเพื่อเหตุนั้น

บุญกุศลเรื่องของทานอามิสนี่มันให้ เป็นการให้เฉย ๆ การให้ทานสะสมบารมีขึ้นมา ความเป็นคนให้ ผู้ให้ให้ด้วยความสุข ผู้รับก็มีความสุข ความสุขอันนี้มันสะสมเข้ามาในหัวใจของเรา หัวใจของเรามันก็พัฒนาขึ้นไป ๆ เพราะมันฝึกฝน สิ่งที่ฝึกฝนออกมาจากเจตนา ไม่มีเจตนาไม่มีความคิดมาไม่ได้หรอก การบุญกุศลนี่ไม่เกิดเจตนา ไม่เกิดความริเริ่ม ไม่เกิดความคิดเลย มันเป็นไปไม่ได้อย่างไร มันทำไม่ได้อย่างไร มันต้องมีความเจตนามีความริเริ่มออกมาจากใจ

นี่ฝึกฝนใจของเรา ใครจะเป็นอย่างไรเรื่องของเขา หน้าที่ของเราหน้าที่ฝึกฝนใจของเรา ฝึกฝนใจของเราเพื่อให้มันมีความสุข ให้มันมีความเข้าใจเรื่องของโลก ให้มันหัดกินเหยื่อเป็นแต่ไม่กินเบ็ด แต่ถ้าเป็นโลกเขาเราไม่เข้าใจ มันจะฮุบหมดเลย ฮุบหมดเพราะมันคิดว่าเบ็ดมันฝังอยู่ในเหยื่อมันไม่เห็นเบ็ดนั้น มันจะกินเบ็ดนั้นเข้าไปแล้วจะกินเบ็ดนั้น ดิ้นรนขนาดไหนมันยิ่งเกี่ยว แต่ถ้ามันไม่ดิ้นรนเราอยู่เฉยนี่เบ็ดมันจะไม่เกี่ยวแรง แล้วเราฝึกไปเรื่อย ๆ ตอนหลังเราก็จะไม่กินเบ็ดนั้นเลย

เราจะอยู่ในโลกเขาพอความเป็นไป เกิดให้เกิดดี ความเกิดนี้มันปฏิเสธไม่ได้หรอก สิ่งที่มันเป็นสสารเป็นหัวใจเป็นอวิชชานี่มันต้องเกิดอยู่ตลอดไป จิตนี้ต้องเวียนตายเวียนเกิดไปธรรมชาติของเขา ใครจะปฏิเสธไม่ปฏิเสธมันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน ถ้าไม่มีโดยธรรมชาติของมันเรามานั่งกันอยู่นี่ไม่ได้หรอก เรานี่มาจากไหน? คนที่เกิดตามกันมานี่มาจากไหน?

แล้วทุกคนก็รู้ว่าเกิดมาแล้วต้องตายหมดเลย แต่เสบียงคลังของตัวเองใครจะหาไว้ได้ เสบียงกรังของเราเราหาไว้ได้เราก็เป็นประโยชน์ของเรา จากเรื่องของโลก ๆ เรื่องของความอยู่วนในวัฏฏะจนเรื่องของความหลุดพ้นออกไปจากใจ ใจจะหลุดพ้นออกไปได้จากเราศึกษาธรรม แล้วเราปฏิบัติธรรมของเรา เราแสวงหาของเรา โลกเขามีความสุขขนาดไหน เขาจะมีความรื่นเริงขนาดไหนเรื่องของเขา อันนั้นความเห็นของเขา ความเห็นของเขาวางไว้ของเขา เราอย่าเอามาเป็นกังวลกับเรา เราต้องเป็นความเห็นของเรา เราต้องดัดแปลงเรา แล้วเราพยายามดัดแปลงเราให้เข้ามาให้ได้

ถ้าเราดัดแปลงเราได้ เห็นไหม ศาสนาเจริญในหัวใจของเรา เจริญรุ่งเรืองในหัวใจของผู้ที่เห็นถูกต้อง เจริญรุ่งเรืองในหัวใจผู้ที่ทำถูกต้อง คนที่เขาจะหกคะเมนตีลังกาขนาดไหนเรื่องของโลก เขาก็อยู่อย่างนั้นนะ จะไม่เจริญรุ่งเรืองขนาดไหนหรอก ใช้บุญกุศลหมดไป บุญกุศลนี้ใช้ไปแล้ว มันต้องเกิดบาปอกุศล เพราะคนเคยทำความดีความชั่วมาทุกคน มันต้องเป็นไปตามกระแสของกรรม

กรรมให้ผลอย่างนั้น กรรมคือการกระทำของเรา กรรมนั้นไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนจนจะเข้าใจไม่ได้ ลึกลับคือการกระทำของเรา เราทำสิ่งนั้นขึ้นมามันถึงเกิดผลสิ่งนั้นขึ้นมา ถ้าเราหมดกรรมมันก็ปล่อยวางได้ นี่เรื่องของกรรม แต่กรรมอยู่ที่การกระทำของเรา แล้วเราทำคุณงามความดี ทำความดีสร้างสมความดี พยายามดัดแปลงใจนี่ไม่ให้ไปเสวยกรรม ไม่ให้กินเหยื่อ ไม่ให้กินอารมณ์ พยายามทำใจให้สงบ มันเริ่มปล่อยวางกรรมเข้ามา ๆ จนมันปล่อยวางได้โดยสมุจเฉทปหานในหัวใจขึ้นมา

อันนั้นถึงยอดเยี่ยมในหัวใจ แล้วหัวใจมันจะรู้จักความเป็นจริง มันจะเห็นศาสนาตามความเป็นจริง ถ้าศาสนาอย่างนี้มันถึงเป็นศาสนาที่สัจธรรมในหัวใจ ถ้าสัจธรรมในหัวใจเกิดขึ้นมา ใจนั้นประเสริฐ ใจนั้นเข้าใจตามหลักความจริง เอวัง