เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒๗ พ.ค. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เกิดมาเป็นคนน่ะมีความสุขตอนเด็กนี่ ตอนเป็นเด็กนี่มีความสุข แต่เด็กไม่รู้ตัวเองนะ เหมือนคนเลยล่ะ คนเราเกิดมาชาตินี้มีโอกาสมากแต่ไม่รู้สึกตัวเองเลย ไม่รู้ตัวเองว่าตัวเองทำอะไรบ้าง มันลืมไง มันลืมไป ศาสนามันสอนทวนกระแสตรงนั้น ทวนกระแสตรงที่เราลืม เราลืมตัวเราเอง เราถึงมองสิ่งอื่นเป็นที่มีความสำคัญ

ถ้ามองสิ่งอื่นสำคัญ ความสำคัญ เห็นไหม เด็กมันสำคัญกับสิ่งนั้นมันก็ยึดสิ่งนั้น เราสำคัญกับสิ่งใดเราก็ยึดสิ่งนั้น สิ่งนั้นต้องยึด ความยึดกับความจำเป็นต่างกันนะ ฟังให้ดีนะ ความยึดถือนี่เป็นตัณหาความทะยานอยาก เวลาทุกข์นี่สิ่งที่ไม่สมความปรารถนาของเราแล้วเราดิ้นรน อันนั้นเป็นตัณหาความทะยานอยาก แต่หน้าที่การงานนี้ไม่ใช่นะ หน้าที่การงานนี้เป็นมรรค

ความอยาก เห็นไหม การประพฤติปฏิบัติบางฝ่ายก็บอกว่าต้องไม่ให้มีความอยากเลย แล้วค่อยมาประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่มีความอยากเลยก็พระอรหันต์แล้วสิ แล้วมาประพฤติปฏิบัติเพื่ออะไร? ประพฤติปฏิบัติก็เพื่อจะละกิเลส ในเมื่อกิเลสมันมีความอยาก อยากนี่เป็นมรรค ความเป็นมรรค

นี่ก็เหมือนกัน สัมมาอาชีวะ อาชีวะการทำงานการประกอบอาชีพนี้เป็นหน้าที่จำเป็น คนเราหน้าที่การงานมีความจำเป็นมาก แต่หน้าที่การงานแล้วมันเลยเถิดจากหน้าที่การงานไป มันเป็นการคาดหมายการคาดหวัง อันนั้นน่ะเป็นทุกข์ อันนั้นคือตัณหาความทะยานอยาก แต่ถ้าว่าศาสนาสอนให้คนไม่ขยันหมั่นเพียร ...ไม่จริงนะ ถ้าสอนให้คนไม่ขยันหมั่นเพียร ทำไมมีความเพียรชอบ

ดูอย่างพระจักขุบาลสิ อธิษฐานไม่นอนตลอดพรรษา เวลาถึงในพรรษาหมอมาตรวจแล้วนี่ ถ้าไม่นอนตาต้องบอด ตาบอดนี่ความเพียรชอบไหม? สละแม้แต่ร่างกาย สละแม้แต่ลูกตา สละแม้แต่ความมืดบอดไง สละออกไปเลย สู้กับมัน

แล้วอย่างการประพฤติปฏิบัติของคนก็เหมือนกัน เวลาปฏิบัติไปนี่ มันจะหลอกกันนะ อุ๊ย! ถ้าอดอาหารแล้วจะตายนะ ทำความเพียรไปนี่ อย่างเช่นแค่เราบวชนั้นน่ะ ว่าฉันอาหารมื้อเดียวนี่จะได้เป็นโรคกระเพาะอาหาร พระเป็น มีเป็นก็มี ยอมรับว่าเป็น ถ้าเขาจะเป็น แต่คนเรากิน ๓ มื้อ ๔ มื้อมันก็เป็นโรคกระเพาะอาหารเหมือนกัน โรคมันจะเป็นมันจะเป็นไปตามประสาโลกมัน

แต่เวลาคนอดอาหาร อดเพื่ออะไร? อดเพื่อให้มันความเพียร อดเพื่อเป็นอุบายวิธีการ เรากินมากนอนมาก เป็นความกังวลว่าร่างกายนี่มันจะไม่มีพลังงานใช้ แต่แล้วมันสะสมจนเหลือเฟือ เวลาเรานั่งภาวนามันจะง่วงนอน มันจะทำให้เราหนักหน่วง ความหนักหน่วงถึงต้องผ่อนอาหารเป็นอุบายไง

การผ่อนอาหาร การกินน้อยฉันน้อยนี่ นอนน้อยกินน้อยเพื่ออะไร? เพื่อให้ร่างกายมันเบา เพื่อเราจะเอาความจริงอีกอันหนึ่ง ความจริงอีกอันหนึ่งที่ว่ามันไปยึดเขา อะไรมันไปยึดเขา ถ้าเราไม่เห็นตัวเราเองเราจะไม่รู้อะไรไปยึดเลย ความยึดของเราคือใจของเราไปยึด ถ้าใจของเราไปยึดนี่ศาสนาสอนอย่างนั้น สอนเห็นไหม สโมสรสันนิบาตของสงฆ์ สโมสรสันนิบาตของชาวพุทธเรานี่ นั่งเงียบ ๆ ทำความสงบของใจ สโมสรสันนิบาตอย่างนี้มันถึงว่าโลกเขาไม่ชอบกัน

โลกเขาชอบต้องมีการเครื่องประโคม มีการละเล่นกัน สโมสรของเขาต้องเป็นแบบนั้น สโมสรของเขาว้าเหว่ พระพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “ในสโมสรสันนิบาตนั้น ทุกดวงใจว้าเหว่” ทุกดวงใจนะมีแต่ความทุกข์ เพราะสิ้นจากการสโมสรสันนิบาตไปต่างคนต้องกลับไปที่อยู่อาศัยของตัว ไปอยู่คนเดียวมันก็ว้าเหว่

แต่สโมสรสันนิบาตของสงฆ์เงียบสงบ ต่างคนต่างนั่งนะ แต่ต่างคนต่างหาหลักใจของใจเจอ ต่างคนต่างหาหลักของใจเจอ ต่างคนต่างไม่ว้าเหว่ ต่างคนต่างมีที่พึ่ง ต่างคนต่างมีความสุขของตัว นี่ความสงบของใจ ความจริงนี่ความสุขหาได้ด้วยร่างกายนี้ ความสุขหาได้ในหัวใจเรานี้ นี่การพักผ่อนการอะไรของเรา นั่นก็เป็นความสุขอย่างหนึ่ง

แต่มันไม่สมความปรารถนาของตัวเอง ไม่สมความปรารถนาของกิเลส มันถึงต้องเวียนไปข้างนอกไง การพักผ่อนต้องไปหาที่ที่มันตื่นตาตื่นใจ ให้หัวใจมันฟู ให้หัวใจมันอย่างนั้นนะ ให้มันพอใจกับมัน นั่นน่ะอามิสทั้งหมด สิ่งที่เป็นอามิสโลกอาศัยกันอยู่ เราไม่ปฏิเสธนะ ธรรมะนี่ไม่ปฏิเสธโลกหรอก เพราะมันเกิดมาจากโลก

ธรรมนี้เกิดมาจากในโลกนี่อยู่กับโลกเขา แต่เข้าใจโลกตามความเป็นจริง แล้วไม่ตื่นไปตามกระแส ไม่เป็นผู้ที่ตื่นไปตามกระแส ไม่เป็นผู้ที่หลอกลวงได้ มันจะหลอกลวงคนที่มีหลักใจไม่ได้ คนที่จะหลอกลวงได้ก็เพราะเราไม่มีหลักของใจ อะไรตื่นขึ้นมาเราจะเป็นไปกับเขา เราไปกับเขา นี่ความตื่นขึ้นมาคือความเห็นชอบ เห็นดีเห็นงามไปกับเขา มันเป็นไป เห็นไหม อันนั้นมันเป็นไป

แต่ถ้าเราไม่เห็นดีเห็นงามกับเขา เราต้องคิดก่อน ใช้ปัญญาใคร่ครวญก่อนว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ไม่เป็นประโยชน์ นั่นน่ะมันจะมีหลักของตัวเองขึ้นมา หลักของใจ พุทธศาสนาสอนสอนเรื่องปัจจัตตัง เรื่องอัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าสังคมไหนเราว่าสังคมนั้นไม่ดีเลย แต่บุคคลดีหรือไม่ดีนี่ ถ้าบุคคลดีบุคคลรวมกันเป็นสังคมสังคมต้องดี บุคคลดี เห็นไหม นี่อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนจับเข้ามาที่ตน

แล้วเรื่องของเราอีกล่ะ พอเรื่องของเรามาถึงเรานี่ แล้วตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เรามีข้าวของเงินทองทุกอย่าง เราหาให้พร้อมเลย แล้วหัวใจเราพร้อมไหม? หัวใจพร้อมเป็นไปไม่ได้เลย ไม่ต้องมาโกหกเลยนะ เป็นไปไม่ได้ที่หัวใจมันจะอยู่มีความพอใจในสิ่งที่เราแสวงหามา มันแสวงหามาขนาดไหนนะ มันพอใจชั่วคราวเดี๋ยวมันก็ต้องอยากให้มากไปกว่านั้น เดี๋ยวมันต้องปรารถนาไปมากกว่านั้น มันไม่พอใจหรอก ถ้ามันเอาวัตถุมาเป็นที่อยู่อาศัยของมัน

ถ้ามันจะพอใจของมัน มันต้องหาหลักของใจ เราถึงต้องพยายามกำหนดตั้งสติยับยั้งมันก่อน เริ่มต้นจากยับยั้งมันไว้ ยับยั้งไม่ให้มันไปตามประสามัน เริ่มยับยั้งมันได้ก็เริ่มมีอำนาจเหนือมัน เรามีอำนาจเหนือเรา พอเรามีอำนาจเหนือเรา เราจะมีความสุขไม่มีความสุขเราคิดเอาเองสิ ว่าเราไม่ต้องการสิ่งใดเลย สิ่งใด ๆ ในโลกนี้มันอยู่เกิดมาเป็นที่อาศัยกัน เก้อ ๆ เขิน ๆ นะ อยู่ประสาของเขาอย่างนั้น หน้าที่ของเขาเป็นอย่างนั้น

เราหน้าที่เกิดมา เกิดมาก็ต้องมีการกินการอยู่ตามธรรมชาติของมัน เราก็อาศัยสิ่งนั้นไป แต่เรายังมีอีกอันหนึ่ง ยังมีความรู้สึกอีกอันหนึ่งว่าเรามีความรู้สึกพออยู่ในตัวของเรา มันพออยู่แล้วมันไม่ไปดิ้นรนไปกับเขา สิ่งที่ไม่ดิ้นรนไปกับเขามันก็ไม่ไปยึด ความไม่ไปยึด นี่ไงที่จะยึด เมื่อก่อนมันยึดเพราะมันไม่เห็นตัวตน มันไม่เห็นตัวเราเอง มันจับต้องตัวเองไม่ได้ มันไม่สามารถทำได้ ศาสนาสอนเรื่องหัวใจ เรื่องศาสนาของใจ แล้วเรื่องของการเปิบอาหาร เห็นไหม ใจต้องเปิบอาหารเข้าใจของตัวเอง ใจต้องหยิบขึ้นมา

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่มีการเข้าใจ เราไม่มีการเจาะจง เราไม่มีการเริ่มต้นว่า เราอยากจะทำอะไรนี่เราจะเอาอะไรทำ เราไม่มีการเริ่มต้น ถ้าเรามีการเริ่มต้นขึ้นมานี่ เราจะเริ่มต้นนับหนึ่งจากตรงนี้ จากตรงที่ว่าความคิดที่มันฟุ้งซ่านนี่ ความคิดที่มันเป็นไปนี่ เราจะนับหนึ่งจากตรงนี้ แล้วถึงสงบตัวมันลง มันจะทุกข์ยากมันจะลำบากขนาดไหนเราก็ต้องฝืนทำ เพราะมันเป็นเรื่องของเรา มันเป็นเรื่องของคนที่ต้องทำนั้น

ถ้าคนที่ทำนั้นได้ทำเอาชนะตนเองได้ มันชนะของเราไป พอมันชนะของเราไป เห็นไหม นี่ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วมันเป็นปัจจัตตัง เวลากราบพระพุทธเจ้ากันนี่ เรากราบถึงทองเหลืองกัน เวลาเรากราบพระ กราบถึงทองเหลืองเพราะอะไร? เพราะเรากราบแค่นั้น ความคิดเรามืดบอด

คนที่มีปัญญา พอใจมันประสบความกระทบกระเทือนกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นธรรมไว้นี่ มันซึ้งใจมากนะ เวลากราบพระพุทธเจ้า กราบพระพุทธรูป กราบถึงพระพุทธเจ้า เห็นไหม การกราบพระพุทธรูปนี้ พระพุทธรูปนี้เป็นองค์แทนเฉย ๆ แต่เรากราบคุณไง กราบคุณงามความดี กราบปัญญาคุณ กราบเมตตาคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างหาก แต่มันต้องมีสมมุติ

นี่โลก โลกคือสิ่งที่สมมุติขึ้นมา สมมุติขึ้นมาว่า สิ่งนี้เป็นตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เราไม่ได้กราบทองเหลืองนี่ เรากราบคุณงามความดี เรากราบความจงใจ เรากราบความที่พระพุทธเจ้าเมตตาสั่งสอนเรา เรากราบอย่างนั้น กราบถึงพระพุทธเจ้า ถ้าใจมันถึงแล้ว ใจมันตั้งมั่นแล้วมันเป็นไปนะ

ไม่กราบ... เขาว่า “กราบพระกราบทองเหลือง ๆ” นั้นเป็นความคิดหยาบ ๆ ความคิดของโลกเขา เขาคิดกันได้ขนาดนั้นเองเหรอ? นี่เราว่าคนมีปัญญา เขาเป็นตัวแทน กระดาษ เห็นไหม พ่อแม่ของเรานี่ เป็นรูปพ่อแม่ของเรา เรากราบรูปพ่อแม่เราทำไมเรากราบได้ล่ะ? เรากราบคุณพ่อแม่ของเรา เรากราบถึงพ่อแม่ของเรา เราระลึกถึงพ่อแม่ของเรา ไอ้รูปนี้เป็นตัวแทน

พระพุทธรูปก็เหมือนกัน พระพุทธรูปนี่เป็นแค่ตัวแทนเฉย ๆ เป็นแค่ตัวแทนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เรากราบ กราบถึงธรรม กราบถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี่ กราบถึงใจ กราบถึงใจเพราะอะไร? เพราะใจเราสัมผัส ใจเรารู้ ใจเราสัมผัสว่า เออ! มันสัมผัสได้จริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนแล้วเราทำได้จริง มันจะซึ้งใจมาก

ความซึ้งใจมาก นึกถึงคุณว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? สิ่งนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร? ลองปฏิบัติไปสิ ปฏิบัติไปปัญญามันเกิด สิ่งนี้มหัศจรรย์ความมหัศจรรย์มันเกิดจากในหัวใจนี่ มันลึกลับซับซ้อนมาก แล้วทำไมมันทำได้อย่างไร? พระพุทธเจ้าทำได้อย่างไร? แล้วพระพุทธเจ้าสอนไว้ แล้วเรามารู้ได้นี่ เรามารู้ได้อย่างไร?

แล้วมันลึกลับว่าเหมือนกับพระพุทธเจ้าที่ว่าตรัสรู้แล้วไม่อยากสอนคนเลย มันเป็นสิ่งที่ว่าใครจะรู้ได้อย่างไร? มันเป็นไปไม่ได้ แต่! แต่ถนนหนทาง มันมีเส้นทางเดินอยู่นี่ มันต้องไปถึงจุดหมายได้ ถ้ามีวัตรมีปฏิปทาเครื่องดำเนิน เห็นไหม ธุดงควัตร การกล่อมเกลาจิตใจ การดัดแปลงตน ตนมันจะหยาบขนาดไหน มันต้องการขนาดไหนนี่ ดัดแปลงให้มันพอดีกับมันขนาดนั้นน่ะ

ความพอดีของมันนี่ข้อวัตรปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติเพื่อจับต้องสิ่งนี้ได้ จับต้องสิ่งนี้ได้มันก็เกิดขึ้นมาได้ นี่วัตรปฏิบัติมันถึงเป็นไป ข้อวัตรปฏิบัติสามารถทำให้เข้าถึงได้ พระพุทธเจ้าถึงวางมรรคไว้ไง มรรคนี้เป็นสิ่งที่ปฏิบัตินะ แต่ผลไม่ต้องพูดถึง ในพระไตรปิฎกนี่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของเหตุ เรื่องของมรรคอริยสัจจัง

แต่ผลของมัน มันเกิดจากใจที่เป็นประสบการณ์ของใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นประสบการณ์ขึ้นมาใจดวงนั้นจะได้ผลประโยชน์จากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นถึงว่าเป็นพยานกับใจดวงนั้นเอง แล้วยังเป็นที่พึ่งกับใจของเรา นี่มันถึงกราบถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลากราบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ กราบด้วยหัวใจไง หัวใจมันถึงกัน มันกราบด้วยคุณงามความดี สิ่งนั้นเป็นประโยชน์ นั่นน่ะสุขเกิดอย่างนั้น

แต่ถ้าคนทุกข์ ทุกข์ก็ทุกข์ไปขนาดนั้น แล้วเวลากราบก็กราบทองเหลืองบ้าง ว่าไปนะมันไม่อยากทำ มันไม่ต้องการทำ มันอยาก มันมักใหญ่ใฝ่สูง มันใหญ่ มันกระด้าง ใจมันกระด้างแล้วมันคิดอย่างนั้นนะ แล้วคิดว่าตัวเองมีปัญญาด้วยนะ ทั้ง ๆ ที่ว่าตัวเองน่ะโง่เง่าเต่าตุ่น ไม่รู้สึกว่าอะไรจะเป็นประโยชน์กับหัวใจเลย คือเห็นแต่เรื่องของประโยชน์ของกายเป็นประโยชน์ แต่เห็นกับประโยชน์ของใจนี่มองไม่เห็น

พอมองไม่เห็น คนอื่นเขาทำมันก็ขัดตาของตัวเอง แล้วโง่เง่าขนาดนั้น แล้วตัวเองไม่เป็นประโยชน์แล้ว ยังจะไม่ให้คนอื่นได้รับประโยชน์จากสิ่งนี้อีก ถ้ามันเป็นประโยชน์ของใจดวงไหนเราทำได้มันเป็นเรื่องของเรา นั่นน่ะประโยชน์เกิดขึ้นมาจากการเปิดตา

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเวลาเทศน์สอนผู้ที่ไปฟังนะ เหมือนหยิบของคว่ำหงายขึ้นไง อย่างภาชนะที่คว่ำไว้พระพุทธเจ้าหยิบเปิดหงายใจ หงายความรู้สึกขึ้นมา เราก็พยายามหงายความรู้สึกของเราขึ้นมา เพื่อจะรับสิ่งเป็นประโยชน์กับเราให้ได้ ถ้ารับสิ่งเป็นประโยชน์ของเราได้ มันจะเป็นประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับเราประโยชน์กับบุคคลคนนั้น เอวัง