เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๖ มี.ค. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เรื่องธรรมะ การฟังธรรม ธรรมะจะเข้าใจได้ไม่เข้าใจได้มันอยู่ที่ความเข้าใจเหมือนกันนะ ความเข้าใจของเรา เราเข้าใจว่าเข้าใจธรรมะ แต่ความจริงมันไม่เข้าใจ นักวิทยาศาสตร์การพิสูจน์ความเป็นจริง เราจะพิสูจน์กันทางโลก เราติดในความโลกเรา เราติดในความโลกเขา แล้วเราจะเอาโลกนั้นมาจับธรรมไง เอาความโลกเอาความเข้าใจมาจับธรรม พยายามจะศึกษาศึกษาให้เข้าใจ ถ้าเราจะพยายามศึกษาให้เข้าใจด้วยความเข้าใจของวิทยาศาสตร์ มันเข้าใจได้ระดับหนึ่ง เห็นไหม มันไม่ใช่ว่าไม่เข้าใจเลยนะ

นี่ธรรมะ การจะเข้าศึกษาธรรมแล้วได้ผลของการปฏิบัติธรรมนี่ มันยากอยู่ตรงนี้ไง ยากอยู่ตรงว่า เราจะปล่อยวางตรงไหน เราควรจะจับต้องตรงไหน การปฏิบัติธรรมมันต้องมีหนักและมีเบา เวลาเบาทำความสงบของใจ ทำสมาธินี่ต้องทำให้เบาใจ ให้ใจนี้เบาปลอดโปร่งเข้าไป เวลาหนักใช้วิปัสสนาหนัก เวลาหนักในความคิดเราต้องหนัก แต่เวลามันเบานี่เราเบาไม่ได้ เพราะเราจะเอาหนักตลอดไป เราจะเอาหนัก เราหยิบ เราจับต้อง เราพยายามจะให้ได้ผลไง เราพยายามจะหยิบจับต้องให้ได้ผล

ความจับต้องได้ผลนี่เราไม่ปล่อยวางก่อน ถ้าเราไม่ปล่อยวางก่อน เห็นไหม มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด นี่หลวงตาพูดบ่อย มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด ถ้าเรามีความคิดอย่างหยาบๆ ความคิดแบบทางโลกเขา ความคิดอยากจะให้เข้าใจธรรมนี่มันจะไม่เข้าใจ มันจะเข้าใจได้ระดับความเห็นของเราเท่านั้นล่ะ

ปัญญาในศาสนาถึงแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา สุตมยปัญญาคือการศึกษา การใคร่ครวญ ถ้าการใคร่ครวญ การจินตนาการไป มันก็กลายเป็นจินตมยปัญญา แล้วภาวนามยปัญญามันไม่เกิดขึ้นเพราะอะไร ถ้าเราไม่กล้าปล่อยวาง เหมือนกับเราเข้าสมาธินี่ เวลาเราทำความสงบเข้าไปนี่มันจะเวิ้งว้าง มันจะตกไปในที่ว่ามันเป็นหลุมเป็นบ่อเข้าไป อาการของจิตมันตกเข้าไป เห็นไหม มันผ่านขันธ์เข้าไป ผ่านความรู้สึกเข้าไป อาการที่จะผ่านเข้าไปเป็นอาการของใจทั้งหมด อาการของใจไม่ใช่เป็นตัวใจ อาการของใจต้องผ่านใจเข้าไป เพราะเราสื่อความหมายกันนี่เราสื่อความหมายด้วยอาการของใจทั้งหมด อาการของมันเป็นขันธ์ ๕ เป็นความสืบต่อเข้าไป แต่ถ้ามันสงบเข้าไป มันต้องผ่านตรงนี้เข้าไป แต่เราสื่อด้วยความหมาย เห็นไหม พอเราสื่อความหมายมันจะตกวูบเข้าไป เราก็ไม่กล้าปล่อยเข้าไป

ความคิดก็เหมือนกัน ภาวนามยปัญญามันจะเกิดขึ้น มันต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของมัน ถ้าไม่เกิดขึ้นธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของมันนะ แต่ธรรมชาตินี้จะเกิดขึ้นโดยลอยลมมาไม่ได้ ธรรมชาตินี้จะเกิดขึ้นด้วยเราพยายามจะสืบต่อเข้าไป ด้วยความคิดความเห็นของเรานี่เข้าไป แต่ความคิดความเห็นเข้าไปนี่มันปล่อยวางได้มันต้องปล่อยวาง ไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่นความคิดความเห็นของตัว

ถ้ายึดมั่นความคิดความเห็นของตัวว่า ความคิดความเห็นของตัวเป็นวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่เชื่อได้ เป็นสิ่งที่เราควรจะยึดถือได้นี่ นั่นน่ะมรรคมันหยาบ เห็นไหม มรรคหยาบไม่สามารถชำระกิเลสได้ ต้องมรรคละเอียดเข้าไปๆ เวลาเราปล่อยวางเราต้องปล่อยวาง เราปล่อยวางนี่มันปล่อยวางไปแล้วมันจะเป็นสมถกรรมฐาน พอเป็นสมถกรรมฐานมันเข้าไปถึงเนื้อของใจ เห็นไหม เน้นเนื้อของใจ ถ้าเนื้อของใจนี่ ใจมันเข้าไปชำระกิเลส ถ้าเข้าไปชำระกิเลสก็เข้าถึงธรรมะ

ธรรมนี้มันถึงมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด เราเข้าถึงกันความหยาบๆ ของธรรม ถ้าเราเข้าถึงความหยาบๆ ของธรรม สิ่งใดมันเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมาเกี่ยวกับความรู้สึก เกี่ยวกับความเห็นนี่ เราจะคอยฟังเลยว่า คนที่ว่าได้อภิญญามา ได้ความเห็นมา ได้รู้อดีตอนาคตมานี่ เราจะตื่นเต้นกับสิ่งนั้นไง ตื่นเต้นกับความรู้ความเห็นที่แปลกไปจากโลก แต่ความรู้ความเห็นที่แปลกไปจากโลกมันก็ไม่แปลกไปจากโลก ในความเป็นจริงมันเป็นโลกียะ แต่มันเป็นโลกียะที่ว่ามันเป็นเรื่องของโลกไง

บ่วงของมาร เห็นไหม บ่วงที่ว่ามันเป็นบ่วงหยาบๆ ของโลกเขา กับบ่วงที่เป็นทิพย์ไง บ่วงที่เป็นทิพย์ เห็นไหม เข้าไปติดในความเห็นอันละเอียดอ่อนเข้าไป นึกว่ามันจะเป็นการชำระกิเลส นั่นมันก็เป็นบ่วงที่ติดเกี่ยวไป มันจะให้ใจนี่ติดเกี่ยวไป มันเป็นเรื่องของโลก แต่เราไม่เข้าใจไง เราว่าความเห็นนี้เป็นความเห็นที่แปลกๆ มันแปลกจากโลก แต่มันเป็นบ่วงอันเป็นทิพย์ไง บ่วงที่ว่าเป็นอาการของใจ ถ้าอาการของใจเกิดขึ้นมามันก็จะติดบ่วงอันนี้ไป ถ้าติดบ่วงนี้ไปเราก็ตื่นเต้นกับบ่วงอันนี้

นั่นน่ะถึงว่ามันจินตนาการขนาดไหน มันเป็นวัวพันหลัก ถ้าจิตเราไม่เดินเข้าไปตามมรรคนี่ มันจะเป็นวัวพันหลัก มันจะพันอารมณ์ของตัวเอง พันอาการของใจ ใจนี้มันเกี่ยวพันกันไปตลอด แล้วมันจะหมุนเวียนไปอยู่อย่างนี้ มันจะเวียนไปในทางโลก แล้วมันจะวนไปไม่ได้ เห็นไหม

นี่เราไปห่วงตรงนั้นกัน เราห่วงความเห็นของเรา เรากลัวว่าเราจะไม่รู้ เราเลยไม่รู้อะไรเลย ถ้าเรากลัวว่าเราจะไม่รู้นะ เราทำเข้าไป เพราะมันจะปล่อยวางไง ปล่อยวางความรู้อันหยาบนี่ ถ้าความรู้อันหยาบมันปล่อยวางไม่ได้ ใจมันละเอียดเข้าไปไม่ได้ ถ้าใจมันละเอียดเข้าไปไม่ได้ เราจะไม่เห็นการพัฒนาของใจ ใจเราไม่พัฒนาไปเลย แล้วก็วนเวียน วัวพันหลักแล้วปลดเปลื้องความคิดความเห็นของตัวไม่ได้นะ

ถึงว่าถ้าทำความสงบของใจ อย่าไปอาลัยอาวรณ์นะ เราเห็นเขาทำความสงบของใจเรามาใช้ปัญญา วิปัสสนาคือปัญญาการชำระกิเลส ถ้ามีวิปัสสนามันจะเป็นการงานของเรา ถ้าเราไม่มีวิปัสสนามันจะไม่เป็นการงานของเรา ก็ไปห่วงตรงนั้นไง พอจะทำความสงบของใจนี่ว่าเราจะช้า จะเนิ่นจะนาน เราทำความสงบของใจนี่มันจะไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา เราจะทำไปทำไม

เพราะไม่มีความสงบของใจ เพราะใจที่มันไม่สงบ มันถึงไม่ละเอียดเข้าไปได้ ถ้าความสงบของใจ เห็นไหม พื้นฐานของเรา ความเห็นของเรา ดูสิคนที่ไม่มีความรู้นี่ เขาก็จะไม่รู้สิ่งใดเลย คนที่ไม่มีความรู้เห็นไหม มีความรู้ต่างๆ ขึ้นมาที่เราศึกษาเล่าเรียนเป็นวิชาชีพ อะไรกระทบขึ้นมานี่เราจะนิ่ง เราจะเข้าใจตามสิ่งนั้น คนที่รู้อยู่แล้ว สิ่งที่เข้ามารับรู้นี่มันจะไม่ตื่นเต้นไปกับเขา มันจะนิ่ง เห็นไหม แต่ถ้าคนไม่รู้นี่มันจะเกิดอาการที่ว่าเราฟุ้งซ่าน ความคิดมันต้องจินตนาการออกไปว่ามันเป็นสิ่งใด นี่ความเห็นมันเป็นอย่างนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าใจมันสงบขึ้นมานี่ เห็นไหม มันรู้อยู่ ความสงบของใจเป็นอย่างนั้น ความสงบของใจแล้วปัญญามันจะเกิดขึ้นมา ความรู้ของใจมันพัฒนาขึ้นไป พัฒนาขึ้นไปมันก็ชำระกิเลสขึ้นไป ถ้ามันพัฒนาอย่างนี้ได้มันถึงจะเป็นความจริง เป็นมัคคอริยสัจจังไง มรรคคือปัญญา ภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นด้วยการเราภาวนาขึ้นไป แล้วเรายกขึ้นไป มันเป็นสิ่งที่ไม่เคยเดิน มันเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนนะ มันจะยากมาก ยากตรงที่ว่าเราจินตนาการก็ไม่ได้ เราทำไม่ได้ เห็นไหม

ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันจะสมควรแก่ธรรมต่อเมื่อมันวิปัสสนาเข้าไป ถ้ามันวิปัสสนาเข้าไปงานของเราต้องวัวพันหลัก วัวพันหลักอยู่อย่างนั้น ถึงว่าห่วงสิ่งใดไม่ได้ ห่วงก็ไม่ได้ จินตนาการก็ไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไรขึ้นไป จะทำเข้าไปให้ถึงธรรม ถึงว่าต้องทำอินทรีย์ให้แก่กล้า ทำความสงบของใจ ทำให้อินทรีย์แก่กล้าขึ้นมา อินทรีย์แก่กล้าขึ้นมาแล้วมันจะเข้าไปเห็นแล้วมันจับต้องนะ เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม เห็นสิ่งที่ว่ามันจะแปรสภาพ เห็นสิ่งที่ว่าไม่ใช่ความเป็นจริง แต่เดิมเราไม่เห็น เราเห็นแต่รูปกระทบภายนอก เราจะจินตนาการไปภายนอก เราจะห่วงไปภายนอก เห็นไหม สิ่งใดๆ ก็แล้วแต่เราจะห่วง เราจะแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้เลย อย่างของที่สกปรกภายนอกเราจะชำระสะอาดมันก็ทำได้ง่าย แต่เวลามันสกปรกในใจทำไมมันทำได้ยากล่ะ

มันทำได้ยากเพราะว่ามันเป็นสิ่งที่อยู่ภายใน ถ้าเราทำความสงบเข้าไป มันจะถึงสิ่งที่ภายในนั้น ถ้าถึงสิ่งที่ภายในนั้นมันจะแก้ไขตรงนี้ได้ ถ้าแก้ไขตรงนี้ได้มันก็จะวิปัสสนาไปตามความเป็นจริง เป็นมรรคไง สิ่งที่ทำยากๆ ขึ้นมานี่ เริ่มต้นมันทำยากเพราะไม่เคยทำ แต่ถ้าเคยทำขึ้นไปแล้ว จับต้องได้แล้ว มันจะมีความชำนาญ นี่ชำนาญในวสีไง

การประพฤติปฏิบัตินี่ชำนาญในวสี การฝึกฝนบ่อยครั้งเข้า แล้วมันชำระกิเลสเฉพาะใจดวงนั้น ใจดวงนั้นชำระกิเลสไปได้ ใจดวงนั้นเป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นผู้ชี้ทางได้ แต่คนถ้าไม่ผ่านตรงนี้เข้าไปนี่มันลังเลสงสัย แล้วแต่ละดวงใจมันแปลกตรงนี้ไง ตรงที่ว่าไม่มีใครสามารถทำแทนกันได้ ต้องทำด้วยตัวเอง แล้วพอรู้แล้วก็จบสิ้นกับใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเข้าใจความเป็นธรรมแล้วจะจบสิ้นกับใจดวงที่เป็นธรรมนั้น มันจะปล่อยวาง มันชำระกิเลสขาดออกไปจากใจ แล้วมันรับรู้สิ่งนั้นในหัวใจนั้น มันถึงเข้าใจ เห็นไหม พอเข้าใจก็เข้าใจเฉพาะใจดวงนั้นไง

มันถึงว่าเป็นเรื่องปัจจัตตัง สิ่งที่เป็นปัจจัตตังรู้เฉพาะใจดวงนั้น แต่สืบต่อกันได้ ครูบาอาจารย์สามารถควักออกมาจากหัวใจ เป็นมรรคฝ่ายเหตุนะ เป็นธรรมฝ่ายเหตุ เป็นธรรมฝ่ายมรรค มรรคเท่านั้นที่จะเป็นประโยชน์ ถ้าเป็นผลแล้วผลนั้นมันเป็นผลของใจดวงนั้น มันไม่เป็นของใจดวงอื่น เอามาอวดกันมันก็เท่านั้นน่ะ มันเป็นการอวดกัน มันเป็นสิ่งที่ว่าไม่มีประโยชน์กับใจดวงนั้น มันจะเป็นประโยชน์ต่อเมื่อให้เห็นว่ามรรคผลนั้นมีจริง การประพฤติปฏิบัตินั้นมีจริง แล้วทำได้สมกับความเป็นจริงนั้น

นี้ปัญญาของเรานี่ เราอย่าไปติดของมันมากนัก เราติดปัญญาอันหยาบเกินไป เราเข้าใจเองว่ามันเป็นปัญญาที่ว่านี่คือปัญญาในการประพฤติปฏิบัติ อันนี้คือปัญญาในทางโลกนะ ถ้าปัญญาในทางโลกนี่เราเดินแล้วเราจะงง เราจะงงไง วัวพันหลักแล้วงงในความคิดของตัวเอง ทำไมความคิดของตัวเองมันเป็นแบบนี้ แล้วมันก็คิด จินตนาการไป แล้วก็เกิดความลังเลสงสัย มันจะลังเลสงสัยตลอดไปๆ แล้วก็ทำให้เราหมดกำลังใจด้วย เราต้องวางสิ่งนี้ คิดได้เวลาเราจะคิด คิดได้เป็นครั้งเป็นคราว เห็นไหม ถ้าเราคิดแล้วฟุ้งซ่านเราต้องไม่คิดมัน เราจะไม่คิดมัน เราจะให้เกิดปัญญาอันละเอียดขึ้นไป ปัญญาที่จะชำระกิเลสมันต้องทำความสงบของใจ นี่ทำความสงบของใจ ใจสงบเข้ามา

ใจสงบมันก็ต้องใช้ปัญญาใช่ไหม ปัญญาในความใคร่ครวญเข้ามาๆ ปัญญาในการปลดเปลื้องอันนั้น แล้วเราจะไปเห็นสิ่งข้างหน้าไง มันไม่ยอมไปข้างหน้า เพราะว่ามันไปแล้วมันไม่เห็นทาง สิ่งที่ไม่เห็นทางเหมือนกับที่ว่ามันตกลงจากที่สูงมานี่อาการวูบของใจ

นี่ก็เหมือนกัน มันจะตกเข้าไปข้างใน ปัญญาจะเกิดขึ้นภายใน ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติของมัน ให้มันเป็นไปตามความเป็นจริง เห็นไหม ตามความเป็นจริงแล้วเราจะสัมผัสกับธรรมอันนั้นไป นี่ปัจจัตตังเป็นแบบนี้ ปัจจัตตังรู้เฉพาะใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเข้าใจดวงนั้น นี่ปฏิบัติธรรมแล้วมันจะได้ผลไง มันจะได้ผลของการประพฤติปฏิบัติ มันอ่อนนะ หัวใจมันอ่อนมันล้า มันว่าทำแล้วเราทำก็ไม่ได้ผล เราประพฤติปฏิบัติแล้วก็ไม่ได้ผล ทำขนาดไหนก็ไม่ได้ผล แล้วธรรมะมีอยู่มีอยู่ที่ไหน

มันเป็นผลไง ทุกข์เกิดขึ้นมันทำให้ใจฟุ้งซ่าน ทุกข์ดับไปมันเป็นผลใช่ไหม นี่มันอยู่ที่ตรงนั้น มีอยู่ที่ทุกข์เกิดขึ้นน่ะมันทำให้เราทุกข์มาก แล้วถ้าทุกข์มันไม่ดับมันก็ทำให้เราฟุ้งซ่านตลอดไป

แต่ถ้าทุกข์มันดับล่ะ อ้าว ทุกข์มันดับมันก็อยู่ตรงนั้นไง ที่หากันเราหาตรงนั้น หาตรงที่ว่าทุกข์เกิดขึ้นที่ไหน ทุกข์ดับที่ตรงนั้น ทุกข์เกิดขึ้นที่ในหัวใจ ทุกข์ต้องดับที่หัวใจ สิ่งต่างๆ ในโลกนี้เป็นแค่สื่ออาศัย เป็นแค่สื่อความหมาย แต่ความเป็นจริงคือหัวใจที่ว่าสืบต่อกันไม่ได้ เห็นไหม ตามองตา ตานี่เป็นประตูของใจ แค่มองตาว่าความสัมผัสมันมีอารมณ์ความรู้สึกขนาดไหน แสดงออกทางตา แต่ในหัวใจมันแสดงออกได้อย่างไร

แต่ถ้าทุกข์มันเกิดขึ้นมันเร่าร้อนในหัวใจ เราจะมีความประณีตขนาดไหน เราจะมีความสงบเสงี่ยมขนาดไหน แต่มันเกิดขึ้นมันปั่นป่วนในหัวใจของสัตว์โลกตัวนั้น แล้วมันดับตรงนั้น นี่ธรรมอยู่ตรงนั้น ธรรมอยู่ที่หัวใจ หัวใจนี้สัมผัสธรรมด้วยความเป็นจริง เห็นไหม ธรรมที่เป็นความทุกข์เป็นอกุศล มันเกิดในหัวใจ แล้วเป็นกุศลขึ้นมานี่มันจะต่อสู้กัน กุศลกับอกุศลต่อสู้กัน จนถึงที่สุดแล้วมันปล่อยวางทั้งบุญและบาป ข้ามพ้นไป อันนั้นมันเป็นผลเกิดขึ้นในการประพฤติปฏิบัติ ที่ประพฤติปฏิบัติจริงไง ทำให้จริง ต้องเป็นไปได้ในหัวใจเรามีอยู่ ในหัวใจสิ่งที่สัมผัสธรรม เป็นภาชนะที่ใส่ธรรม มีอยู่แล้วในใจนั้น เกิดขึ้นที่ใจแล้วดับลงที่ใจ เป็นแบบนั้น เอวัง