เทศน์พระ

งานธรรม

๑๓ เม.ย. ๒๕๕๓

 

งานธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์พระ วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ตั้งใจฟังเทศน์ก่อน ถ้าลงอุโบสถนะ อุโบสถกรรมนะมันมีคุณประโยชน์มาก อันนั้นสูงส่งมาก แต่เวลาฟังเทศน์มันเป็นสัจธรรมเพื่อเตือนสติเรา ถ้าขาดสติแม้แต่วินาทีเดียว คนแม้แต่ชีวิตทั้งร้อยปีนะ มีสติแป๊บเดียวยังดีกว่า

เตือนสติ ! เตือนสติให้รำลึกถึงตัวเอง ถ้ารำลึกถึงตัวเองเพื่อประโยชน์กับตัวเองนะ เราบวชเป็นพระ การแสวงหา ผู้ที่อยู่ทางฆราวาสคิดว่าธรรมะ.. สัจธรรม ถ้าบวชเป็นพระจะมีโอกาส จะได้ปฏิบัติธรรมให้สิ้นสุดแห่งทุกข์ เขาอยากจะได้เพศของพระแบบเรานี้มาก

แต่เราบวชเป็นพระแล้ว เราได้ขวนขวายของเรามากน้อยขนาดไหน ถ้าเราได้ขวนขวายของเรา มันสมไง สมฐานะของบริษัท ๔ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

เราเป็นภิกษุบริษัท ภิกษุณีบริษัท อุบาสก อุบาสิกาบริษัท อุบาสก อุบาสิกา เขาก็ไขว่คว้าของเขา เขาพยายามหาที่พึ่งของเขา เขาพยายามของเขา เวลาปฏิบัติถ้าไม่ได้ผล เขาจะบอกว่าฐานของศีล ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗

ถ้าสถานะของศีลมีมั่นคงกว่า การประพฤติปฏิบัติก็ต้องง่ายกว่า ถ้าการประพฤติปฏิบัติง่ายกว่า เหมือนกับคนมีทุนมากกว่า คนมีทุน ๕ บาท คนมีทุน ๘ บาท ๑๐ บาท ๒๒๗ บาท

๒๒๗ ทุนก็ต้องมีมากกว่า การทำสิ่งใดก็ต้องได้ประโยชน์มากกว่า แต่ในความเป็นจริงของเรานะ เราก็มีศีล ๒๒๗ พระก็มาจากคน คนเขามีศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เราบวชเป็นพระแล้วมีศีล ๒๒๗ ศีลจะต่ำกว่านั้นไม่ได้

แต่ขณะที่บวชเป็นพระ ศีล ๒๒๗ มันได้มาจากอุปัชฌายะ ญัตติจตุตถกรรม.... เราได้สถานะของภิกษุมาแล้ว เรามีทุนมากกว่า การประพฤติปฏิบัติเราเป็นตามจริงนั้นไหม

งานของธรรมนะ งานของพระ ถ้างานของพระนะอุปัชฌาย์ให้ไปแล้ว “เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ” ทีนี้เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ เราก็ว่าเราปฏิบัติทำงานของพระอยู่แล้วนะ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ มันเป็นงานของพระไหม มันเป็นงานของโลก เป็นงานของโลกเพราะอะไร เพราะความคิดของเราเป็นโลก

เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อุปัชฌาย์ท่านก็ท่องให้เราอยู่ ...ท่านนำให้เราด้วย เราก็ท่องตามอุปัชฌาย์ด้วย แล้วอุปัชฌาย์ก็เป็นสมมุติสงฆ์นะ สิ่งที่อุปัชฌาย์อาจารย์ของเรา ตามธรรมวินัย

แล้วธรรมนี้นะ ภิกษุเวลาอยู่กับอุปัชฌาย์ มีนิสสัยโดยการญัตติจตุตถกรรม แต่ถ้าอุปัชฌาย์ตายไปแล้วนะ ให้ถือนิสสัยอาจารย์

ถ้าเราอยู่กับอาจารย์ ถ้าไปเจออุปัชฌาย์ล่ะ ?

ถ้าเราอยู่กับอาจารย์ เราละจากอุปัชฌาย์มาอยู่กับอาจารย์ ถ้าเรากลับไปอยู่กับอุปัชฌาย์ นิสสัยจะขาดจากอาจารย์ไปอยู่กับอุปัชฌาย์ทันทีเลย ..มันมีความสำคัญ มันมีความจริง จริงตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เวลาหลวงตาท่านเทศน์ ท่านบอกเลย “เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปแสดงธรรม” เหยียบหัวพระพุทธเจ้าไปคือทำผิดธรรมวินัย แต่แสดงธรรม คุณธรรมมันออกมาจากความเป็นจริงไหม นี่ก็เหมือนกัน สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ เราเป็นสัทธิวิหาริก พอเราไปเจออุปัชฌาย์ นิสัยขาดจากอาจารย์ไปอยู่กับอุปัชฌาย์ทันทีเลย

ถ้าออกจากอุปัชฌาย์ไปหาอาจารย์ก็ต้องขอนิสสัยใหม่ มันเป็นไปตามธรรมวินัย วินัยบัญญัติไว้ไปตามจริงตามวินัยนั้น ถ้าตามวินัยนั้น พอเราบวชแล้ว มีศีล ๒๒๗ ต้นทุนเรามีมากแล้ว เราก็ปฏิบัติเป็นความจริงไหม ทำไมเป็นโลกล่ะ มันเป็นโลกเพราะอะไร เพราะอุปัชฌาย์ยังเป็นโลกเลย

ทั้งที่ธรรมวินัยเห็นไหม ภิกษุบริษัท สิ่งใดเป็นภิกษุบริษัทล่ะ ข้อวัตรปฏิบัติ วัดคืออะไร.. ศาสนวัตถุ ศาสนบุคคล ศาสนธรรม

วัดคืออะไร ? วัตถุเหรอ วัตถุสิ่งปลูกสร้างที่อื่นเขาดีกว่าวัดอีก เขาสร้างได้สวยงามกว่าวัดนัก ฉะนั้นถ้าเป็นพระเป็นที่ไหน ? ถ้าเป็นพระ เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นที่ไหน ? จนชาวโลกเขานินทานะว่า “ไหว้พระก็ไหว้ลูกชาวบ้าน” เขาว่ากันอย่างนั้นนะ แล้วเขาพูดกันบอกว่า “ไหว้พระก็ไว้ลูกชาวบ้าน” อ้าว...เอ็งก็เป็นลูกชาวบ้านเอ็งก็ไหว้พระสิ เอ็งไหว้ลูกชาวบ้านซะ แล้วก็ไปไหว้ผ้าเหลืองที่เสาชิงช้ามันก็จบ

ไหว้พระก็ลูกชาวบ้าน เพราะอะไร เพราะความรับรู้ของเขา ไหว้พระก็ไหว้ลูกชาวบ้าน ลูกชาวบ้านไม่มี ! เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส ในเมื่อเราบวชเป็นพระแล้วก็คือเป็นพระ แต่ความเห็นของเขาเป็นลูกชาวบ้านเพราะอะไร เพราะชาวบ้านเขาเห็นว่าเด็กๆ ลูกชาวบ้าน รู้ว่าเขาเป็นผู้ใหญ่ เขามีอายุมาก ...เขาเห็นว่าเป็นเด็ก เป็นเด็กน้อย เป็นต่างๆ

นี่ก็เหมือนกัน เห็นพระเด็กน้อย พระหนุ่มพระน้อยก็ว่า นี่เป็นลูกชาวบ้าน เป็นลูกยายนั่น ลูกยายนี่มาบวชเป็นพระ แต่เขาไม่ได้บอกว่านี่เป็นพระมาบวชญัตติจตุตถกรรม นี่เป็นลูกพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ลูก นาย ก. นาย ข. นาย ง. ไม่ใช่อีกแล้ว เพราะบวชเป็นพระแล้ว เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส แต่เวลาบอกก็ว่า “ไหว้พระก็ไหว้ลูกชาวบ้าน”

แล้วลูกชาวบ้านเป็นพระมาจากไหน.. เป็นมาจากญัตติจตุตถกรรม เป็นมาจากธรรมวินัย ถ้าเป็นมาจากธรรมวินัย เราเป็นพระสมกับที่เขายกมือไหว้ไหมล่ะ ถ้าเขายกมือไหว้นะ มันต้องมีข้อวัตรปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัติมันแสดงตนว่าเราเป็นพระจริง

ถ้าเป็นพระจริงนะ เวลาเราบวชจากพระอุปัชฌาย์อาจารย์มาแล้ว เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ก็ท่องนะเกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่องกันอยู่อย่างนี้ มันเป็นคำบริกรรม ถ้าเป็นคำบริกรรมนะ งานทางโลกกับงานทางธรรม

ถ้างานทางโลกความคิดที่มันเกิดขึ้นมันยังเป็นโลกอยู่ มันก็เป็นงานทางโลกทั้งนั้น จะคิดธรรมะมันก็เป็นเรื่องโลก เพราะเอาจิตที่เป็นอวิชชานี้คิด ถ้าเอาจิตที่เป็นอวิชชาคิดนะ งานโลกหรืองานธรรม

ถ้างานธรรม งานของพระคืองานอะไร งานของพระเห็นไหม ข้อวัตรปฏิบัตินะ งานของพระนะ พระห้ามทำงานโลกเลย แล้วเวลาเขาทำข้อวัตรปฏิบัติ เวลากวาดลานวัด ทำลานเจดีย์ เป็นงานของโลกไหม ดูสิ เทศกิจเขายังเก็บกวาดทุกวันเลย ในกรุงเทพฯน่ะ เขาเก็บสะอาดหมดเลย เทศกิจเขามีเงินเดือนกินด้วย

แล้วพระต้องมากวาดวัด กวาดลานวัดมันก็เป็นงานเทศกิจ มันไม่ใช่ !! นี่มันเป็นกิจของสงฆ์ กิจ ๑๐ อย่างของสงฆ์ กวาดลานเจดีย์ต่างๆ เป็นกิจของสงฆ์ เราต้องแยกให้ออก ในเมื่อสงฆ์ทำก็เป็นกิจของสงฆ์ เทศกิจทำมันก็เป็นหน้าที่ของเทศกิจเขา เทศกิจเขาทำเพื่ออาชีพของเขา อันนี่เราไม่ได้ทำเพื่ออาชีพ

ศากยบุตรพุทธชิโนรสทำตามธรรมวินัย ตามกิจของสงฆ์ กิจของสงฆ์เพราะว่า..นกมันยังมีรวงมีรัง มันอยู่ของมันในรวงในรังในที่อาศัยของมัน พระก็มีกุฏิมีวิหาร วัจกุฎีวัตร วัตรต่างๆ ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ วัตรในโรงฉัน วัตรในโรงธรรม มันเป็นข้อวัตรปฏิบัติของสงฆ์

ดูสิ...ผู้ที่มีคุณธรรมเขาไปในวัด เขาไม่กล้าใช้ของ เขาบอกว่า พระทำๆ “อ้าว...พระทำก็เป็นหน้าที่ของพระ” พระก็ทำ พระก็เป็นบริษัท ๔

มันเป็นการอุปโลกน์ ตั้งแต่เถระ ตั้งแต่ภิกษุ ตั้งแต่สามเณร ตั้งแต่คฤหัสถ์ เจือจานแค่อาศัยกัน มีคุณธรรม มีหัวใจเป็นทิศเป็นธรรมต่อกัน สิ่งนี้เป็นที่พึ่งพิงอาศัย ปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าปัจจัยเครื่องอาศัย กิจของสงฆ์ในเมื่อสงฆ์ทำขึ้นมาแล้ว ถ้ามีคุณธรรมนะ...

ไหว้พระก็ไหว้ลูกชาวบ้าน.. ลูกชาวบ้านก็ไปไหว้ลูกชาวบ้านที่โรงเรียนสิ ที่โรงเรียนมีลูกชาวบ้านเยอะแยะเลย

อันนี้บวชมาเป็นพระ ศากบุตรพุทธชิโนรส ไม่ใช่ลูกชาวบ้าน นี่ลูกของพระพุทธเจ้า นี่ศากยบุตรพุทธชิโนรส

ทางเข้าวัดเขากวาดกัน เราก็กวาด ในเมื่อเรามองว่าเป็นของต่ำต้อย ถ้ามองว่าเป็นของต่ำต้อย เพราะคนทำต่ำต้อยมันก็ต่ำต้อยทั้งนั้น แต่ถ้าคนทำมีคุณธรรม พระมีคุณธรรมในหัวใจ เขาซื่อสัตย์ของเขา เขาทำตามหน้าที่ของเขา เขามีคุณธรรมของเขามันก็เป็นกิจของสงฆ์

ถ้าเป็นกิจของสงฆ์ นี่วัตรปฏิบัติ มันเป็นเครื่องแสดงออก ถ้าเป็นเครื่องแสดงออกของพระ ถ้าพระแสดงออกนั่นก็คือพระ นี่เป็นงานธรรมหรือยัง นี่เป็นงานตามธรรมวินัย แต่ยังไม่ได้เป็นงานรื้อวัฏฏะ

ถ้าเป็นงานรื้อวัฏฏะ ถ้าเป็นความคิดๆ มาจากไหน ถ้าจิตมันคิดออกมา เป็นความคิดออกมาจากโลก ทั้งๆ ที่ทำกิจของสงฆ์นี่แหละ เราก็เป็นสงฆ์นี่แหละ สมมุติสงฆ์ ในเมื่อเป็นสมมุติสงฆ์ มันยังไม่เป็นอริยสงฆ์

ถ้ามันเป็นอริยสงฆ์ขึ้นมา จิตมันเป็นอริยสงฆ์ จิตมันเป็นอย่างไร ถ้าจิตมันเป็นอริยสงฆ์ สงฆ์มันเกิดขึ้นมาจากไหน เวลาบวชพระ นี่ลงสังฆกรรม ถ้าเป็นบุคคลอุโบสถ คณะอุโบสถ สังฆอุโบสถ... สังฆอุโบสถต้องมี ๔ องค์ขึ้นไปเป็นสังฆอุโบสถ ถ้า ๓ องค์เป็นคณะอุโบสถ บุคคลเป็นบุคคลอุโบสถ

สงฆ์มันเกิดขึ้นมาจากไหน.. สงฆ์เกิดขึ้นมาจากพระ ๔ องค์ไปทำสังฆกรรม ตั้งแต่ ๔ องค์หรือ ๕ องค์ขึ้นไปนะเป็นสงฆ์ เป็นสังฆะ ถ้าเป็นสังฆะขึ้นมา นี่เราเป็นสงฆ์นะ สมมุติสงฆ์ แล้วอริยสงฆ์มันอยู่ที่ไหน แล้วสงฆ์มันอยู่ที่ไหน งานของพระมันอยู่ที่ไหน งานของธรรมมันอยู่ที่ไหน

งานของธรรมมันต้องตั้งใจ ถ้ามันทำใจของเราให้มันสงบเข้ามา งานของธรรมมันจะเกิด ถ้างานธรรมมันเกิดเพราะมันเป็นงานของธรรม ถ้างานธรรมเกิด เราก็เกิดมีคุณธรรม ถ้างานของโลกเกิดเราก็มีแต่ความคิดในทางโลกๆ ถ้างานของโลก เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ

เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่องเพราะเป็นคำบริกรรม เพราะมีการประพฤติปฏิบัติ บางสายเขาให้ท่องเกสาๆๆ โลมา นขา ทันตา ตโจ เขาให้ท่องเอา ท่องเอาก็เหมือนกับพุทโธๆ เราก็ท่องเอา

เราท่องเอาเพราะอะไร เพราะมันไปเป็นการระลึกเห็นไหม วิตก วิจารขึ้นมา ถ้าวิตก วิจารขึ้นมานะ มันก็มีวิตก วิจาร ปิติ สุข เอกัคคตารมณ์ จิตที่มันสงบเข้ามา จิตตั้งมั่น ถ้าจิตตั้งมั่น พอจิตตั้งมั่น จิตออกทำงาน งานธรรมมันจะเกิดตั้งแต่ตอนนั้น ตอนที่มีจิตตั้งมั่น

แต่นี่จิตเราไม่ตั้งมั่น เราเป็นสัตตะ เป็นผู้ข้อง เป็นสัตว์โลก ความคิดก็เกิดจากสัตว์โลก เกิดจากสัตว์ เกิดสัตตะ ผู้ข้อง ผู้แสวงหา ผู้ยึดเหนี่ยว ผู้ที่ไม่เป็นเอกภาพ ผู้ที่ต้องการพึ่งพาอาศัยคนอื่น ในเมื่อทุกคนเกิดมาเพื่อพึ่งพาอาศัย ต้องมีรัฐสวัสดิการ รัฐบาลต้องดูแลรักษา ต้องมีการดูแลบำรุงรักษา เราเป็นมนุษย์ เราเป็นประชากรเราต้องมีสิทธิ ว่าไปนู้นเลยนะ

ในเมื่อมันคิดแบบโลกๆ เพราะมันพึ่งตัวเองไม่ได้ ในเมื่อจิตพึ่งตัวเองไม่ได้ มันจะเอาความเป็นเอกภาพ เอาความถอดถอนกิเลสออกมาจากตัวเองได้อย่างไร

โลกไง โลกคือหมู่สัตว์ สัตตะผู้ข้อง เราเป็นสัตตะ เราเป็นผู้ข้องอยู่กับโลก เราทำงานของโลกๆ ไป แต่ถ้าเรากำหนดคำบริกรรมของเรา จิตเราสงบเข้ามา ถ้าจิตมันมีหลักมีเกณฑ์ของมันเข้ามา เห็นไหม งานธรรมมันจะเกิด

เกิดที่ไหน ?...เกิดที่จิต เพราะจิตเป็นเอกภาพ จิตเป็นตัวของเราเอง จิตเราเองไม่เกี่ยวข้องกับใคร เราไม่เกี่ยวข้องกับโลกนี้ เราเป็นตัวของเราเอง เราเป็นอิสรภาพ เป็นตัวเราเอง ถ้าเราเป็นอิสรภาพเป็นตัวเราเอง เวลาจิตมันออกมา เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เหมือนกัน

แต่จิตเวลาจิตมันสงบ เกสามันก็ได้เกสาจริงๆ เห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังจริงๆ ถ้ามันเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนังจริงๆ มันเห็นอย่างไร เห็นจากจิตเห็นอย่างไร วิภาคะมันขยายส่วนอย่างไร

ครูบาอาจารย์ท่านบอก “เส้นผมเส้นหนึ่ง เวลาขยายส่วนออกไปนะ อย่างกับท่อนซุง ในท่อนซุงนั้น เหมือนหลอดกาแฟ พอเป็นหลอดกาแฟ ตรงกลางหลอดกาแฟมันดูดกาแฟได้”

นี่ก็เหมือนกัน เส้นผมมันมีสารอาหารของมัน ออกจากรากผมขึ้นไปอยู่ที่ปลายเส้นผม เส้นผมนั้นมันเป็นอย่างไร ถ้าจิตมันเห็นๆ อย่างไร

ถ้าจิตมันเห็นขึ้นมา ดูสิ...เส้นผมเส้นเล็กๆ ทำไมเราขยายออกมาใหญ่โตได้ขนาดนั้น วิภาคะแยกส่วนออกมาได้ขนาดนั้น

กระดูก ! กระดูกมันแยกออกไปอย่างไร เนื้อหนังมังสา มันแยกออกไปอย่างไร นี่ไง ถ้าเป็นงานธรรม มันมีเนื้อหาสาระ มันมีความเข้าใจ มีความเห็น มีความสะเทือนในหัวใจ มันมีธรรมสังเวช

แต่ท่องพุทโธๆ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ ท่องปากเปียกปากแฉะ เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อัดเทปไว้ แล้วเปิดเทปแทนก็ได้ เปิดเทปเลย เกสาๆ ก็เปิดเทปไว้แล้วก็นั่งฟังมัน ดูสิ ถ้าสักแต่ว่าท่อง สักแต่ว่าทำ มันก็เป็นธรรมอย่างนั้น ธรรมแบบโลกๆ นี่เป็นงานของโลกไม่ใช่งานของธรรม

ถ้างานของธรรม เราต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเรา ทั้งๆ ที่เราเป็นพระขึ้นมา ถ้างานของธรรมนะ ไม่ให้ขยับทำอะไรเลย งานของธรรมก็ต้องวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นตลอดเวลา มันก็ไม่ใช่ !! มันไม่ใช่เพราะอะไร มันไม่ใช่เพราะว่าสรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจัง

สิ่งใดเป็นอนิจจัง....สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์....สิ่งนั้นเป็นอนัตตา

นี่ความเป็นไปของชีวิต ชีวิตมันต้องมีอาหารของมัน ชีวิตเป็นสัตตะ ผู้ข้อง ในเมื่อสัตว์โลกมันต้องสืบต่อของมัน มีสันตติ เวลาความคิดมันยังเกิดดับ เกิดดับในหัวใจโดยธรรมชาติของมันนะ แต่หูเราดับ เรารับรู้ดับ เราไม่รู้เรื่องอะไรหรอก

เกิดดับ เกิดดับ ก็ว่ากันไป ปากเปียกปากแฉะตามนกแก้วนกขุนทอง เพราะพระพุทธเจ้าพูด ครูบาอาจารย์พูด ก็พูดตามไปอย่างนั้น เห็นจริงไหม.. ไม่เห็นมีเนื้อหาสาระความจริงของเราขึ้นมาเลย

แต่ถ้ามันเป็นวิปัสสนาญาณ มันเกิดงานธรรมขึ้นมา มันรู้มันเห็นของมันนะ มันชัดมันเจนของมัน เพราะมันรู้มันเห็นของมันใช่ไหม มันมีเนื้อหาสาระ มันมีข้อเท็จจริง มันไม่มีแต่ชื่อของมัน เอาชื่อของมันมาอ้างต่อ ก็อ้างกันไป ชื่อเป็นอย่างนั้น ชื่อเป็นอย่างนี้ แล้วก็ว่ากันไป “ฉันรู้ๆๆ” มันก็นกแก้วนกขุนทอง รู้อะไร ? นี่เป็นงานโลกๆ

งานโลกกับงานธรรมนะ ถ้างานธรรมมันเกิดขึ้นมา เราถึงจะเป็นพระขึ้นมา เห็นไหมบอกว่า “กราบพระทำไม กราบลูกชาวบ้าน” อ้าว...เอ็งก็ไปกราบลูกชาวบ้านสิในเมื่อเอ็งมีความคิดอย่างนั้น.. มันเป็นความคิดเห็นของคน ในเมื่อกิเลสในหัวใจของเขา เขามีความคิดของเขาอย่างนั้น ถ้ามีความคิดอย่างนั้นมันเป็นเรื่องใจของเขา

เราเป็นอย่างที่เขาว่าไหม เราเป็นพระจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นพระจริงขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญา ของเราเกิดขึ้นมาบ้างหรือเปล่า ถ้าเรามีศีล สมาธิ ปัญญา เราเป็นพระจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นพระจริงขึ้นมานะ ใครจะว่าอย่างไรก็ให้มันว่าไป

โลกธรรม ๘ ! ในเมื่อมีเสียงติฉินนินทาขนาดไหน ถ้าจิตใจเราไม่วอกแวก คลอนแคลนไปกับเขา จิตใจเรามั่นคงขึ้นมา มันเป็นจิตใจของเรานะ ถ้าจิตใจของเรามั่นคงขึ้นมา ดูสิ...ครูบาอาจารย์ที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เหมือนกับเสาหลัก ๘ ศอก ปักลงไปในดิน ๔ ศอก จะฝนตกแดดออกขนาดไหน มันไม่หวั่นไหวหรอก

โลกธรรมก็คือโลกธรรม แดด ฟ้า ลมมันก็มีเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น เสียงติฉินนินทามันมีประจำโลกอยู่แล้ว ! เราเกิดมาหรือไม่เกิดมาก็เป็นอย่างนั้น เราไม่เกิดมาเขาก็นินทากันอยู่อย่างนี้ พอเกิดมาก็เจอคำติฉินนินทาอยู่ ตายไปแล้วมันก็มีอยู่อย่างนี้ เพราะธรรมดาของสัตว์โลกมันเป็นอย่างนี้ โดยธรรมชาติของมัน นี่ธรรมะเก่าแก่ ธรรมะมีอยู่โดยดั้งเดิม แต่ธรรมะอย่างนี้แก้กิเลสไม่ได้ !

เราจะแก้กิเลสของเรา เราจะมีงานของเรา เราเกิดมาเป็นพระ เตือนสติ นี่ฟังธรรม ! เราก็ฟังอยู่ตลอดเวลา อย่างสิ่งที่พูดนี้เราก็คิดขึ้นมาได้ เราคิดเองก็ได้ แต่เราคิดขึ้นเองแล้วกิเลสมันหัวเราะเยาะไง

กิเลสมันขึ้นมา ดูสิ ของสิ่งใดถ้าเป็นของๆ เรานะ ไม่มีคุณค่าเลย เรามองไปของคนอื่นสิ ของคนโน้นสวยหมดเลย ถึงแม้ของมันจะเปื่อยเน่าอยู่แล้วนะ เขาจะสละทิ้งอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้เรื่องขึ้นมา เราเห็น โอ้โฮ...โน่นก็ดี นี่ก็ดี เพราะไม่ใช่ของเราเห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาพูดธรรมะนี่พูดปากเปียกปากแฉะ แต่ไม่ใช่ของเรานะ ไม่ใช่ของเรามันไม่สะเทือนใจหรอก

แต่ถ้าเป็นของเราล่ะ เป็นของเรานะ อะไรเสียหายหน่อยเราก็มีความรับรู้เสียใจนะ เราได้สิ่งใดขึ้นมาเราก็ดีใจนะ

จิตก็เหมือนกัน ! จิตที่มันปฏิบัติ มันมีเนื้อหาสาระขึ้นมา มันจะรับรู้ของมัน มันไม่ได้พูดแบบนกแก้วนกขุนทอง พูดแบบเหมือนของคนอื่นที่ไม่ใช่ของๆ เรา พูดไปเรื่อยๆ สัญญาจำมามันก็เป็นอย่างนั้น สิ่งใดฟังมามันก็พูดไปตามแต่สังคมเขาบัญญัติกันไว้อย่างนั้น เราก็ว่ากันไปตามอย่างนั้น ทั้งๆ ที่เราก็รู้เห็นของเรา แต่มันไม่ได้กินใจ มันไม่ได้กินกิเลสหรอก แต่ถ้าได้กินกิเลส เราทำใจของเราให้สงบเข้ามานะ งานธรรมมันจะเกิดนะ เราต้องมีงานธรรม

เราเป็นพระนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรม เราเป็นภิกษุ ดูสิ พระอัญญาโกณฑัญญะเวลาดวงตาเห็นธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดีใจมาก “อัญญะโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ.. อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ..” เปล่งอุทานนะ

เวลามีพระองค์ใดประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแห่งทุกข์ พระพุทธเจ้าจะเปล่งอุทาน โอ้...อุทานนะ มีความสุขใจ มีความสุขใจ โลกนี้เร่าร้อนนัก

ผู้มีคุณธรรมในหัวใจขึ้นมานะ มันจะเปรียบเทียบกันว่า มันจะไม่เร่าร้อนแบบโลก ถ้าจิตไม่เร่าร้อนแบบโลก เขาก็มีใจเหมือนกัน เขาก็มีความรู้สึกเหมือนกัน แต่รู้สึกอันนี้เขามีชีวิตสืบต่อต่างๆ เขาเป็นประโยชน์กับโลกได้เห็นไหม สิ่งนี้ต่างหากที่มีคุณธรรม เราแสวงหากัน เราปฏิบัติกัน เราพยายามกันก็เพราะเหตุนี้ไง เราแสวงหา เราปฏิบัติกันก็เพื่อใจของเรา เพื่อคุณธรรมของเรา

ถ้าใจเป็นธรรมขึ้นมา เวลาใจเป็นธรรมขึ้นมามันไม่ลอยมาจากฟ้านะ มันไม่มีสิ่งใดหรอก ไม่มีสิ่งใดจะเกิดขึ้นมาได้เอง..ไม่มี ! มันต้องมีสติ มันต้องมีปัญญาของเราขึ้นมา มีสัมมาสมาธิขึ้นมา มันจะเกิดขึ้นมา

ฉะนั้นนักกีฬานะ เวลาเขาฝึกซ้อมของเขา เขาเสียเหงื่อเสียไคลขนาดไหน เขาได้กำลังของเขามา ร่างกายเขาแข็งแรงมาก เพราะเขาเอาไว้แข่งขันของเขาไป นั่นเขาอุตส่าห์ฝึกซ้อมของเขานะ นักกีฬาเขาเป็นอาชีพทางโลกเขานะ

เราเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เราก็ต้องขยันหมั่นเพียรของเรา ตั้งสติ พุทโธๆ มันจะเฉา มันจะเหงา มันหงอย มันจะดื้อ มันจะไม่เอาใจขนาดไหน เราก็ต้องมีเหตุมีผลควบคุมนะ เราต้องเตือนใจเราได้ เวลาจิตใจถ้ามันเข้มแข็ง เวลากิเลสมันมีอำนาจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่าเหมือนช้างสารที่ตกมัน

ดูช้างตกมันสิ ใครควบคุมมันได้ เข้าไปใกล้มันนะ แม้แต่ควาญช้างมันยังเหยียบตายเลย เวลามันไม่ตกมันนะ มันรู้จักควาญช้าง มันยอมรับควาญช้างของมันนะ เพราะว่าควาญช้างให้อาหารมัน แต่เวลามันตกมันขึ้นมามันเหยียบหมดเลย

จิตของเรา เวลามันดื้อขึ้นมาเหมือนช้างสารที่ตกมัน ช้างสาร.. เราเห็นช้าง เขาบอก “ช้างตกมันนะ ไปให้พ้นอย่าเข้ามาใกล้ เดี๋ยวตายนะ” เรายังหลบได้เลย แต่นี่มันจิตตกมัน เราก็ไม่รู้ใครตกมันหรือไม่ตกมัน มันก็อยู่กับเรา ถึงเวลามันฟาดงวงฟาดงาขึ้นมาไม่รู้ว่าช้างหรือไม่ช้างนะ นี่หัวหกก้นขวิดเลย

จิตใจเรามันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราไม่มีสติปัญญาขึ้นมา ถ้ามีสติปัญญา เราจะเอามันไว้ในอำนาจของเรา ถ้าเราจะเอามันไว้ในอำนาจของเรา ถามสิว่าชีวิตนี้ทุกข์ไหม ? เกิดมาทำไม ? คนมั่งมีศรีสุข ทุกข์จนเข็ญใจขนาดไหน เกิดขึ้นมาแล้วก็ต้องมีชีวิตหนึ่งเหมือนกัน เป็นหวัด คัดจมูก หายใจไม่ออก มันก็ทุกข์แล้ว..

เวลาเป็นหวัด หายใจไม่ออก โอ้โฮย...ฮึดฮัดๆ เลยนะ ในชีวิตมันเป็นอย่างนี้ ถ้ามันดูชีวิตแล้วย้อนกลับมา แล้วจะไปเพลิดเพลินอะไรกับเขา

ดูสิ ในสโมสรสันนิบาตทุกชีวิต ทุกดวงใจนี้ว้าเหว่ ทางโลกเขาจะมีความสุขแค่ไหนก็แล้วแต่ เวลาอยู่กับโลกเราก็เห็นว่ามันทุกข์ เราก็สละโลกมา เวลาสละโลกมาบวช เป็นพระเป็นเจ้าขึ้นมา เห็นโลกเขาครึกครื้น.. ครึกครื้นนะมันเป็นฉากหน้า !

มันเป็นฉากหน้า.. แล้วฉากหลังล่ะ ฉากหลังทุกข์ทั้งนั้นนะ ! ฉากหน้ามีแต่ความสุข อะไรมันเป็นความสุข มันไม่มีหรอก !

ทุกข์เป็นอริยสัจ ทุกข์เป็นความจริง ! แต่ในเมื่ออยู่กับโลก มหรสพสมโภช เวลาเขามีงานสมโภช มีมหรสพกัน มีความรื่นเริงกัน ไปกันยังกับไก่..

ไก่เวลาออกจากคอน เวลากลับเหมือนกับไก่มันเหงา ไปสนุกครึกครื้นกันทั้งคืนไง ขากลับเดินไม่ไหวก็นอนมันกลางทางนั่นเลย นี่มหรสพสมโภช เขาว่ามีความสุขไง

ถ้าทางธรรมมันเสียเวลา เสียพลังงาน เสียทุกอย่างไปหมดเลย ถ้าเรามีสติของเรานะ เราเดินจงกรมของเราดีกว่า เราเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาของเรา ถ้าจิตใจมันมีสติ มีปัญญาขึ้นมามันจะเตือนตัวเองได้อย่างนี้ไง ถ้ามันเตือนตัวเองได้อย่างนี้ เอาช้างสารที่ตกมันมาไว้ในอำนาจของเราไง

เวลาช้างสาร ดูสิ ดูลูกบอลลูน เวลามีฟองอากาศขึ้นมา ความร้อนมันก็จะลอยขึ้นไปเลย เวลามันรั่วนะมันไปไม่ได้ มันแฟบ มันตกนะ นี่ก็เหมือนกัน ช้างสารที่ตกมันนะ กำลังของมัน มันฟาดงวงฟาดงาไปล่ะ

เวลาเรามีปัญญาขึ้นมา ไตร่ตรองขึ้นมา ทิ่มแทงหัวใจมัน ทิ่มแทงช้างสารนั่น ให้ลูกบอลลูนนั่น ให้อากาศที่มันร้อน ที่มันเผาให้มันรั่วไหลออกไป นี่ก็เหมือนกัน กำลังของมันที่มันฟาดงวงฟาดงา ฟาดในหัวใจเรา เรามีสติปัญญายับยั้งมัน

อะไรเป็นสุข อะไรเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่เคยเหรอ ใครไม่เคยบ้าง ตั้งแต่เกิดมาใครไม่เคยดูมหรสพสมโภช.. ทุกคนมันก็เห็นมาหมดแล้วล่ะ มันก็มีอย่างนั้น เวลาพอมันจืดชืดขึ้นมา มันจางไป มันก็เงียบไปทีหนึ่ง เดี๋ยวก็ออกเวอร์ชันใหม่มา โอ้โฮ... มันส์อีกแล้ว !!

เหมือนเด็กๆ ให้เขาหลอก.. เดี๋ยวก็หลอกกันรอบหนึ่ง เดี๋ยวก็หลอกกันอีกรอบหนึ่ง หลอกแล้วหลอกเล่า ก็เอาตังค์ให้เขาแล้ว เอาตังค์ให้เขาเล่า โลกมันก็เป็นอย่างนั้น แล้วเราจะไปตื่นเต้นอะไรกับเขา

ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา เราไม่ใช่ผู้เล่นกับเขา เราอยู่ข้างนอกนะ เราเป็นผู้ดูอยู่ สังคม วัฏฏะ มันหมุนไปอย่างนั้น เราเป็นผู้ดูเขา ดูแล้วให้มันเตือนตัวเอง ไม่ใช่ดูแล้วอยากไปลองกับเขา “โอ๊ย...ดูแล้วนะ มันน่าทดลอง มันน่าทดสอบนะ” ยิ่งดูยิ่งตาย !

แต่ถ้าเราสังเกตโลก เราเอามาควบคุมใจเรา ถ้าเราควบคุมใจได้ จะเป็นประโยชน์กับเรานะ นี่เห็นไหมเป็นงานธรรม งานธรรมกับงานโลกมันก็คืองาน ดูสิ เวลาเขาทำงาน ดูกรรมกรท่าเรือมันแบกข้าวสารนะ แบกขึ้นแบกลงทั้งวันทั้งคืนนะ นั่นก็งานของเขา อาบเหงื่อต่างน้ำ

งานของเรามีสติ นั่งสมาธิภาวนา มันก็งานของเรา งานก็เกิดจากกายกับใจนี่แหละ แล้วเวลาเขาอาบเหงื่อต่างน้ำไม่ใช่งานเหรอ นี่ก็งานเหมือนกัน งานเขาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เวลางานของเรา ดูสิ...เราอาบเหงื่อต่างน้ำ เราทำงานกัน รักษาข้อวัตรปฏิบัติกัน

หนึ่ง...เหงื่อไหลไคลย้อย มันก็อาศัยกายนี่แหละ เพราะมันก็มีกายกับใจนี่แหละ กายกับใจทำงานเพื่ออะไร ถ้าทำงานเพื่อโลกมันก็โลกล้วนๆ ถ้าเอากายกับใจทำงานเพื่อธรรมมันก็จะกลับมาที่ธรรม แล้วที่ทำเป็นพระก็เป็นธรรมอยู่แล้วนะ ก็เป็นพระอยู่แล้ว ทำงานเป็นธรรม แต่ถ้าจิตไม่สงบเข้ามามันเป็นงานธรรมไหม

เป็นพระแต่ทำไมจิตใจมันดิ้นโครมๆ อยู่ในอก เป็นพระนะ.. ถ้างานธรรม จิตใจมันก็ต้องเป็นงานธรรม นั่งสมาธิมันก็ต้องสงบสิ ปัญญาก็ต้องเกิดสิ นี่ภาวนาอยู่ทำไมมันไม่เกิดสักทีล่ะ เพราะมันเป็นงานโลกไง ทั้งๆ ที่เราบวชเป็นพระแต่ทำงานโลก ทำไมเราขี้ตู่ ทำไมไปเอางานมาทำแทนโลกเขา

โลกก็เป็นโลกนะ ถ้าเป็นงานของเรา เราต้องตั้งสติสัมปชัญญะให้ได้ ถ้าตั้งสติสัมปชัญญะให้จิตมันสงบขึ้นมา เวลามันเห็น มันเห็นแตกต่างนะ เวลาเห็นแตกต่าง แล้วเห็นคุณค่า

หลวงตาท่านหาเงินเข้าประเทศชาติเป็นหมื่นๆ ล้าน แต่เวลาท่านเดินตรวจวัดนะ ท่านไปเก็บจานกระเบื้อง จานแตกๆ ท่านไปเก็บมานะ แล้วเอามาให้พระดู

“ดูสิ ชาวบ้านเขามากินมาใช้กันแล้วก็ทิ้งอย่างนี้ ไม่เก็บรักษา ถ้วยจานใบหนึ่งเท่าไหร่”

ท่านเดินเก็บนะ ตามวัดตามวา หลวงตาท่านเดินไปเก็บ เราเห็นเดินเก็บมา แล้วก็มาบอก “ดูซิ ใช้สอยกันแล้วไม่รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ ใช้สอยกันแล้วไม่รู้จักเก็บ ถ้วยจานกินแล้วก็ทิ้ง” ไอ้คนกินก็ทิ้งไปแล้วนะ หลวงตาท่านเดินตรวจวัด ท่านไปเก็บมาแล้วท่านก็เอามาประจานกับพระ พระหน้าจ๋อยเลย แล้วไอ้เงินหมื่นกว่าล้านมันซื้อถ้วยจานได้ทั่วโลกเลย !

เราจะบอกว่า เงินส่วนเงิน ! เงินที่หาเข้าเพื่อสังคม เพื่อโลกนะ มันก็เรื่องของเขา ไอ้ถ้วยจานของใช้มันอันหนึ่งกี่บาท แล้วเขาเอามาถวายวัดมันเป็นของฟรีด้วย ทำไมต้องเก็บมารักษาล่ะ ทำไมต้องเก็บมาล้างล่ะ

ดูสิ ดูบริขาร ๘ ของเราสิ ภิกษุขนาดว่าแม้แต่ผ้าเปื่อย แม้แต่หลังเลือดเม็ดถั่วเขียวผ่านได้ ถ้าวันนั้นเห็นแล้วไม่ปะไม่ชุนเป็นนิสสัคคีย์ปาจิตตีย์ ของๆ เรานี่แหละ เวลามันเปื่อยมันขาด มันทะลุ เราต้องปะต้องชุนเพราะอะไร เพราะฝึกนิสัยไง ฝึกนิสัยให้เรารู้จัก ของใช้ของสอยของเรา ไม่ใช่วัดกันด้วยค่าของเงิน

“โอ๊ย...ผ้าฉันผ้าไหมนะ โอ้โฮ..อันนั้นผ้าฝ้าย โอ๊ย..ของฉันดีกว่า”

ไม่จริง !! ผ้าไหม.. ถ้าผ้าคุณดี คุณห่อคุณธรรมในหัวใจผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินั้นมันก็มีคุณงาม.. ถ้าผ้าไหมมันห่อขี้มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร

แต่ผ้าที่มันเป็นผ้าฝ้าย ผ้าไม่มีคุณค่า แต่มันห่อหัวใจที่มีคุณธรรม จีวรเป็นธงชัยพระอรหันต์นะ ! แล้วเราห่ออะไรกันอยู่ ? เราห่มธงชัยพระอรหันต์นะ

ธงชัยมันเป็นเครื่องหมาย เครื่องคำนวณว่าเราเป็นพระภิกษุ เป็นนักรบ ถ้าเป็นนักรบมันห่ออะไรไว้ มันห่อร่างกายนี้ไว้ ร่างกายนี้มีแต่ขี้หรือมีแต่คุณธรรม ถ้ามีงานธรรมขึ้นมา มันมีคุณธรรมของเราขึ้นมาเห็นไหม มันเห็นได้ อย่างเช่นว่า เงินเป็นหมื่นๆ ล้าน หลวงตาท่านเสียสละได้หมดเลย แต่เวลาถ้วยจาน ท่านยังเก็บมา ท่านยังมาติเตียนว่า

“ทำไมใช้สอยกันแล้วไม่รู้จักเก็บ ไม่รู้จักรักษา”

ไม่รู้จักเก็บรักษาเพื่อประโยชน์ต่อไป สิ่งต่างๆ มันเป็นจริตนิสัย ! มันเป็นความรับรู้จากภายใน มันไม่ใช่มีคุณค่าด้วยตัวเลขมีคุณค่าด้วยคุณสมบัติข้างนอกนั้นหรอก มันมีคุณค่าที่หัวใจ ถ้าหัวใจมีคุณค่าขึ้นมามันมองเห็นอะไรมีคุณค่าไปหมดเลย

แม้แต่ถ้วยจานเก่าๆ ท่านยังเก็บ ท่านเก็บแล้วถือมาเองเลยนะ เพราะคนมันกินกันแล้วไปแอบไปทิ้งซ่อนไว้ ท่านเดินไปตรวจ ท่านไปเจอ ท่านก็ไปหยิบมา แล้วบอก

“ดูสิ..ดูทำกันอย่างนี้ ดูทำกันอย่างนี้” แล้วยังบอกว่า

“โอ๊ย...แหมจานใบเดียวก็ยังไปติด” คนคิดทางโลกไง

“โอ๊ย...เขาเสียสละ เขาไม่สนใจหรอกของอย่างนี้ เขาเสียสละหมด”

เสียสละเงินเป็นหมื่นๆ ล้านท่านยังเสียสละได้เลย ท่านเอาเข้าคลังหลวงไปหมดเลย ทองคำ ๑๐ กว่าตันนะ นั่นนะเสียสละ เสียสละจริงๆ

แต่ไอ้นี่มันไม่ได้เสียสละ ไอ้นี่มันมักง่าย !! ไอ้นี่มันคนเห็นแก่ตัว ไอ้นี่มันกินเหมือนหมา กินเสร็จแล้วถลกตูดไปไง เวลาเอามากินเอามาได้ กินเสร็จเอาซ่อนไว้ ทิ้งไว้ แล้วตัวเองไป ตัวมันนิสัยใจคอมันเป็นอย่างไร

การฝึกความดีความชั่วมันอยู่ที่นั่น มันอยู่ที่พฤติกรรม ไม่ใช่อยู่ที่ราคาของ ของ มันอยู่ที่คนที่มีคุณค่า ถ้าคนมีคุณค่า ดูสิ การกระทำของเรานี่แหละ ถ้าเรามีการกระทำที่ดี การกระทำจากจิตใจที่มันดี มันทำในสิ่งที่ดีๆ ขึ้นมา

ช้างสารที่ตกมัน เราเอามันไว้ คุณค่าของงานธรรม ถ้าใจเป็นธรรมขึ้นมานะ มันขยับเขยื้อน มันเป็นคุณธรรม มันเป็นธรรมเพื่อประโยชน์กับเรา ประโยชน์กับการฝึกฝนพระใหม่

พระใหม่ๆ ได้ฝึกได้ฝนนะ สิ่งใดมีข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมา เขาจะรู้ว่าอะไรผิดหรืออะไรถูก ไม่ใช่ ! เขาสอนไม่ให้ติด สอนให้สละ กินแล้วก็ทิ้งไปเลย อะไรใช้สอยเราก็โยนทิ้งหมดเลย ไม่ติด ...ไอ้นี่มันขี้เกียจ ไอ้นี่มันสันหลังยาว คนเขาไม่ติดนะ เขารู้จักเก็บ รู้จักรักษา ใช้ประโยชน์กับคนอื่นต่อๆ ไป

ของของสงฆ์นะ ภิกษุเอาของของสงฆ์ไปใช้นะ หมอน มุ้งต่างๆ ใช้แล้วไม่เก็บไม่รักษา จากไปโดยไม่ได้บอกกล่าวใครเป็นปาจิตตีย์ เพราะเป็นของของสงฆ์ นี่ไง ไหว้พระมันลูกชาวบ้านไง เวลาคนเขาไปเขามา ดูสิ ดูพระมันยิ่งกว่าโจรอีก

โจรนะ ไปไหนเขากลัวตำรวจจะจับนะ เขาจะซ่อนให้ดี เขาไม่ให้เห็นที่หลบที่ซ่อนของเขา ไอ้นี่...พระแท้ๆ เอาของสงฆ์มาใช้ เวลาขยับไป เปลี่ยนไป ไม่เอาของเขาไปคืน ทิ้งไว้เป็นอย่างนั้น

ผู้ถือปฏิบัติ ถ้าเป็นอาบัติมันก็เป็นอาบัติอยู่แล้ว แต่ถ้าจิตใจมันไม่คิด มันก็ไม่คิดของมันหรอก แต่ถ้าพูดถึงเราทำมามันเป็นธรรมวินัย มันเป็นกฎกติกา เป็นความเห็นของสงฆ์ ถ้าสงฆ์หมู่มากเห็นไหม แล้วสิ่งต่างๆ ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกข้อ บัญญัติไว้เพื่อบัญญัติให้คนที่หยาบ ที่เก้อเขิน ที่ทำลายคนอื่น บัญญัติเพื่อบังคับคนนั้น

บัญญัติขึ้นมาเพื่อให้คนที่มีคุณธรรมให้อยู่สุขสบาย ผู้ที่จิตใจคนที่ละเอียดอ่อน เห็นว่าสิ่งของที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ แล้วคนเอาไปใช้โดยฟุ่มเฟือย สุรุ่ยสุร่าย เห็นแล้วมันก็สะเทือนใจ

บัญญัติให้คนที่สุรุ่ยสุร่ายให้รู้จักประหยัดมัธยัสถ์ แล้วบัญญัติให้คนที่ประหยัดมัธยัสถ์อยู่ด้วยความร่มเย็นเป็นสุข เพราะเห็นว่าถ้าพระพุทธเจ้าบัญญัติแล้วให้มันมีความถูกต้อง

ธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เพื่อข่มขี่พวกหน้าด้าน แต่ส่งเสริมพวกที่มีคุณธรรม เพื่อให้ร่มเย็นเป็นสุข ธรรมวินัยที่บัญญัติไว้ บัญญัติไว้เพื่อสงฆ์ แล้วสงฆ์อยู่ร่วมกัน สงฆ์หมู่มาก

เวลามาบวชในพระธรรมวินัยแล้ว เป็นภิกษุเหมือนกัน เป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสเหมือนกัน มีศักยภาพเท่ากัน มีศีล ๒๒๗ เหมือนกัน มีคุณธรรมเหมือนกัน

คำว่าเหมือนกัน ถ้าเหมือนกันต้องมีหัวใจเหมือนกัน ถ้าใจเป็นธรรม ทิฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน มันอยู่ร่วมกันแล้วร่มเย็นเป็นสุข ทิฐิเสมอกัน ความเห็นเสมอกัน สิ่งต่างๆ ทำให้เสมอกัน

ถ้าไม่เสมอกันมันก็พยายามฝึกหัดนะ เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ท่านพูดประจำ เรามีหู มีตา อะไรผิดหรืออะไรถูกสำนึกได้นะ สัตว์มันยังรู้ได้เลย เวลาเราเอาของให้สัตว์มันกิน สัตว์มันยังมองตา มันยังรู้นะ

ดูสิ พระไปอยู่ที่ไหน สัตว์มันยังไว้เนื้อเชื่อใจ เพศของพระเป็นเพศของความร่มเย็นเป็นสุข เขาจะมาอาศัยความร่มเย็นเป็นสุข เพราะยังไงพระก็ฆ่าเขาไม่ได้ ฆ่าเขาไม่ได้ด้วยธรรมวินัยนะ แต่ฤๅษีกินเหี้ยนั่นนะ มันทำสงบเสงี่ยมนะ เวลาเหี้ยมันเข้ามาใกล้ๆ นะ มันจะฆ่าเหี้ยเอามาย่างกินเลย ฤๅษีกินเหี้ยมันก็มี

แต่ถ้าเราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรสโดยเนื้อแท้ เพราะอะไร เพราะศีล ๕ เขาก็ทำไม่ได้อยู่แล้ว ไอ้นี่ยิ่งศีล ๒๒๗ ต้นทุนเราสูงกว่าเขาอยู่แล้ว ฉะนั้นสัตว์มันถึงไว้เนื้อเชื่อใจ มันถึงมาพึ่งพาอาศัย ถ้ามันพึ่งพาอาศัย เห็นไหม นี่ร่มเย็นเป็นสุข การเสียสละเจือจานต่อกัน

แล้วถ้าเป็นมนุษย์ล่ะ ขนาดสัตว์มันยังรู้ที่ไหนร่มเย็นเป็นสุข แล้วมนุษย์จะรู้ความร่มเย็นเป็นสุขไหม แต่ถ้ามนุษย์มีกิเลสมันก็คาดหวังของมันไง จะต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องมีการอำนวยความสะดวกอย่างนั้นๆ นี่มันเรื่องของกิเลส

แต่ถ้าเราจะเอาชนะใจของเรา เรื่องธรรมวินัยเราก็รู้อยู่ เปิดตำราสิ อะไรสมควร สมควรขนาดไหน ใครมีสิทธิอย่างไร

ในธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกแล้ว คฤหัสถ์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา มันก็เป็นธรรมวินัยอยู่แล้ว แล้วธรรมวินัยมันเป็นสากล มันเป็นสิ่งที่รับรู้กันอยู่ได้

ถ้าคนศึกษามาแล้วมีความเข้าใจ มันก็ทำตามนั้นสิ ลักษณะฐานะของคนแต่ละบุคคล สิทธิและโอกาส แล้วมันพัฒนาของมันขึ้นไปนะ ดูสิ เราบวชไปแล้วนะ ถ้าเราไม่สึก อายุพรรษา ๕๐- ๖๐ เราเป็นอาจารย์แน่นอน ! สิทธิเราได้ก่อนเพื่อนอยู่แล้วเพราะอาวุโส เวลาแจกของเราเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว !

แต่ผู้บวชใหม่มันก็เรียงมาตามนั้น สิทธิศึกษามันเท่ากันไง คือมันมีค่าเท่ากัน คือทุกคนมีโอกาสเหมือนกัน เพราะกาลเวลามันหมุนตลอดไป คนเรามันต้องพัฒนามันไป บวชอยู่นี่ เวลามันพัฒนาอยู่แล้ว มันเป็นผู้อาวุโสแน่นอน อาวุโสไปข้างหน้าอยู่แล้ว

ฉะนั้นเวลาศึกษาธรรมวินัย มันมีสิทธิเท่ากันนะ ไม่มีใครมีโอกาสได้มากกว่ากัน เพราะวันเวลามันหมุนไป ทุกคนมี ๒๔ ชั่วโมงเท่ากัน ทุกคนมีชีวิตเหมือนกัน แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ให้มันมีความจริงขึ้นมา ให้เป็นงานธรรม

งานโลกนะที่เขาอาบเหงื่อต่างน้ำก็เป็นโลก งานที่เราทำดูเหมือนโลก คล้ายโลก แต่เราเป็นพระ เป็นภิกษุ เรารู้ถึงว่าเป็นสิทธิหน้าที่เป็นกิจของสงฆ์ อาคันตุกวัตร อาจริยวัตร วัจกุฎีวัตร ในห้องน้ำ ในห้องส้วม การทำความสะอาด มันเป็นข้อวัตรปฏิบัติทั้งนั้น ไม่ใช่งานต่ำต้อย มันเป็นกิจของสงฆ์

คำว่ากิจของสงฆ์สิ เพราะว่ากิจของสงฆ์ เราทำเพื่อสงฆ์ เราทำเพื่อความสะอาด เวลาเราทำสิ่งต่างๆ ในวัดในวาของเรา มันเป็นธรรมวินัยทั้งหมด เทวดา อินทร์ พรหม เห็นก็ชื่นชมนะ ใครเข้าวัดเข้าวามาเห็นก็สาธุ เขาจะมาพูดไม่ได้ว่า

“กราบพระ กราบลูกชาวบ้าน” เขาจะพูดไม่ได้

เขาบอกว่า “เข้าวัดจริงๆ”

วัดมีพระสงฆ์อยู่ มีข้อวัตรปฏิบัติโดยตามความเป็นจริง เขาจะพูดสบประมาทไม่ได้ เพราะ ! เพราะเราเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราทำตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราเคารพบูชาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางหลักวางเกณฑ์เอาไว้แล้ว เราจะทำตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อใคร เพื่อศากยบุตรพุทธชิโนรส เพื่อส่งเสริม เพื่อเชิดชูศาสดา เชิดชูธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า บัญญัติเอาไว้ ๒,๐๐๐ กว่าปีแล้ว มันก็ยังเป็นความทันสมัย สามารถแก้กิเลสของทุกๆ คนได้

ถ้าทุกๆ คน ยิ่งเป็นพระด้วย เราเป็นนักรบด้วย เราจะแก้กิเลสของเรา ถ้าแก้กิเลสของเราๆ ต้องมีความตั้งใจ มีความจริงใจของเรา ถ้าจริงใจของเรา เขากราบไหว้ได้ตามความสนิทใจของเขา เขาทำบุญกุศลได้ด้วยความเต็มใจของเขา

ความเต็มใจของเขาไม่ระแคะระคายในหัวใจ ถ้าไม่ระแคะระคายในหัวใจ เหมือนเรานะ เราแสวงหาครูบาอาจารย์กัน ถ้าเรามีครูบาอาจารย์ที่เราลงใจได้นะ มันไว้เนื้อเชื่อใจนะ ถ้าอาจารย์ของเราไม่น่าเชื่อใจนะ เราก็ลังเล

ลังเลคืออะไร ? นิวรณธรรม.. นิวรณธรรมปิดกั้นแม้แต่สมาธินะ เวลาทำสมาธิอยู่ เวลาทำความสงบของใจ ใจก็เรรวน จริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ เราทำได้หรือไม่ได้ คนสอนเราจะพาเราไปรอดหรือไม่รอด โอ๊ย...กิเลสมันกระทืบตายเลย

แต่ถ้ามันเป็นความจริง มันลงใจนะ รอดหรือไม่รอดนะ ถ้าลงสมาธิเดี๋ยวจะไปรายงานเลย เดี๋ยวรู้กัน อาจารย์กับเราเดี๋ยวได้โต้กัน ถ้าใครผิดหรือใครถูก เดี๋ยวรู้.. เดี๋ยวรู้.. ขอให้จริงเถอะ เพราะจิตมันลงได้ ความจริงมันลงได้ ภูมิอากาศมันเปลี่ยนแปลงได้

ครูบาอาจารย์ถ้าเราลงใจ ความนิวรณ์ลังเลมันไม่มี การประพฤติปฏิบัติมันก็ง่าย.. มันง่าย ในคำว่าง่ายนะ แต่จริงๆ มันก็ต้องเอาจริงเอาจังกับเรานั้นแหละ ถ้าความจริงความจังเราเกิดขึ้นมา

งานโลกกับงานธรรม เราพยายามทำงานธรรม ทั้งๆ ที่เรามองเหมือนโลกนะ โลกก็ทำกันเหมือนกัน อาบเหงื่อต่างน้ำเหมือนกัน เราทำนะ ดูสิ เว้นไว้แต่เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา โลกเขาไม่ทำกัน แต่งานอื่นๆ นะ งานในการบำรุงรักษา ดูแลของของ สงฆ์ ทุกอย่างมันเป็นงานบำรุงรักษา อย่างนี้มันเป็นกิจกรรม เป็นวินัยกรรม

ดูสิ เป็นวินัยกรรม นวกรรม ภิกษุอยู่ชนบทประเทศไม่ถึง ๑๕ วันอาบน้ำได้ ภิกษุในมัชฌิมาประเทศ ในชมพูทวีป ถ้าไม่ถึง ๑๕ วันอาบน้ำเป็นอาบัติ เป็นจิตตีย์ เว้นไว้แต่ ! เว้นไว้แต่ทำนวกรรม

นวกรรม การทำข้อวัตร ถ้าทำข้อวัตรมีเหงื่อมีไคล อาบน้ำได้หมด เพราะว่าธรรมข้อนี้พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติมาเพื่อไม่ให้อาบน้ำ แต่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เพื่อไอ้พวกสนุกสนานอยู่กับการเล่นน้ำ

เพราะอะไร เพราะสมัยพุทธกาล มันเป็นโบราณ มีพระไปอาบน้ำ กษัตริย์จะไปอาบน้ำแล้วอาบน้ำไม่ได้ เพราะว่าเขาเคารพบูชาของเขา จนกว่าพระเพลิดเพลิน อาบน้ำจนสบายอกสบายใจกว่าจะสรงน้ำเสร็จ

เวลากษัตริย์จะอาบน้ำ กลับพระราชวังเขาปิดประตูแล้วไง ชาวบ้านเขาติเตียน เอาไปฟ้ององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงบัญญัติ

“ห้ามอาบน้ำ !!” เพราะมันไปเล่นกัน สนุกกัน เพลิดเพลินกัน !!

“แต่เราตถาคตอนุญาต แม้แต่นวกรรม แม้แต่การทำข้อวัตรแล้วมันมีเหงื่อมีไคล เราตถาคตอนุญาต”

นี่ธรรมวินัยไม่ได้บัญญัติไว้เพื่อคนหน้าด้าน คนเห็นแก่ตัว แต่บัญญัติไว้เพื่อสงฆ์ เพื่อประโยชน์กับพวกเรานะ ประโยชน์กับการกระทำ นี่เราชนบทประเทศ อาบได้เลย วันละ ๕ ครั้งก็ได้ ยิ่งอากาศร้อนนะ สบายมาก...

สิ่งต่างๆ อย่างนี้ มันเป็นการศึกษา แล้วเราทดสอบของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา จะบอกว่าเวลาปฏิบัติไปแล้ว เดี๋ยวเราจะรู้ได้ เรารู้ได้นะ เวลาปฏิบัติขึ้นไปแล้วไม่มีใครสูงกว่าใคร

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสิ้นกิเลสแล้วนะ ครูบาอาจารย์ท่านสิ้นกิเลสแล้ว พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รู้เท่าทันกันหมดเลย ขนาดพระสารีบุตรยังไม่เชื่อเลย ไม่เชื่อธรรมของใครทั้งสิ้น แต่เชื่อธรรมในหัวใจของพระสารีบุตรเอง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสาธุๆ ทั้งนั้น เพราะมันถึงที่สุดทุกข์มันเหมือนกันหมด

นี่การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน มันเท่าทันกัน มันรู้กัน ครูบาอาจารย์ยิ่งรู้กันนะ แล้วเราได้มาอย่างไร ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยกระตุก คอยเชิด คอยดึง คอยสั่งสอนเรา เราจะตะแบงไปตามทิฐิมานะของเราทั้งนั้นนะ เวลาปฏิบัติไป สิ่งที่รู้ๆ ด้วยกิเลสตัณหาความทะยานอยากทั้งนั้นเลย

รู้หมด เพราะจิตมันออกรู้ ไม่ใช่ธรรมออกรู้ ถ้าธรรมออกรู้นะ โอ้โฮ...มันสยดสยอง ธรรมออกรู้มันจะสลดสังเวช มันขนพองสยองเกล้า

แต่ถ้ากิเลสออกรู้นะ แหม...มันวิจิตรพิสดาร โอ้โฮ...ออกไปเต็มที่ แต่ถ้าธรรมออกรู้นะ มันจะสะท้อนออกมา

“ทำไมมึงโง่ขนาดนี้...ของมันก็มีอยู่อย่างนี้ ทำไมไม่รู้...ทำไมไม่เห็น”

ถ้าธรรมออกรู้ อู๊ย.. มันถอดมันถอนนะ มันธรรมสังเวช มันไม่เหมือนกิเลสออกรู้ กิเลสออกรู้นะ อีโก้มันตัวใหญ่ๆ “โอ้...ฉันแน่ ผู้วิเศษนา”

แต่ถ้าธรรมออกรู้ งานธรรม งานพระ ถ้าธรรมออกรู้ พูดได้ รู้ได้ แล้วพิสูจน์ได้กับผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง ส่วนที่เป็นจริงนะ ฟังธรรม แล้วเตือนสติเรา เราเป็นพระนะ ศากยบุตรพุทธชิโนรส เราเป็นพระให้สังคม ภิกษุเป็นผู้นำ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

อุบาสก อุบาสิกา เขาจะได้ไว้เนื้อเชื่อใจได้ ไม่ให้แบบเขาที่นินทากาเลกัน ไหว้พระก็ไหว้ลูกชาวบ้าน ให้เขาไหว้พระได้เป็นพระจริงๆ ไหว้พระก็ไหว้ศากยบุตรพุทธชิโนรส ไหว้พระขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เอวัง