เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๕ เม.ย. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เมื่อวานนี้เขาถามปัญหา เขาถือศีล ๘ แล้วเขามาอยู่ที่นี่ เวลาเขาไปตักอาหาร เขาไปกระทบกระเทือนกับผู้ชาย ศีลเขาขาดไหม เราตอบเขาบอกว่ามันเป็นความบกพร่องของหัวหน้า ในเมื่อหัวหน้าเป็นผู้ดูแล แต่เมื่อหัวหน้าเป็นผู้ดูแลอยู่...

เวลาเราอยู่กับครูบาอาจารย์เห็นไหม หลวงปู่มั่น หลวงปู่เสาร์ ครูบาอาจารย์ท่านอยู่ในป่าในเขา พวกคฤหัสถ์จะน้อย มีแต่พระด้วยกัน แต่เวลามาอยู่กับหลวงตาโยมมีมากขึ้นมา โยมก็ต้องการทำบุญของเขา ท่านบอกว่าท่านเป็นหัวหน้า ท่านต้องรับผิดชอบ

รับผิดชอบ หมายถึงว่า พระก็ต้องได้ของพระ หมายถึงพระนี่คือผู้ที่เสียสละทางฆราวาสมาแล้ว บวชเป็นพระมา มีเป้าหมายคืออยากจะสิ้นสุดแห่งทุกข์ เขาก็ต้องมีเวลาของเขา ต้องมีโอกาสปฏิบัติของเขา โยมที่เขามาทำบุญทำกุศล เขาก็ต้องได้บุญกุศลของเขา

ดังนั้นผู้ที่มาอยู่อาศัยวัด ก็เป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติเหมือนกัน ฉะนั้นถ้าจะให้จัด การให้เรียบร้อยไป พระก็ต้องจัดให้ต่างคนต่างมีอาหารได้ทานพร้อมกัน แต่ที่นี้เราคิดว่าของเรานี่เวลามันมีมากมีน้อยใช่ไหม พระของเรานี่เวลาตักอาหารใส่บาตรก็ต้องมีสติสัมปชัญญะ เพื่อรักษาบาตรของตัว เพื่อเกี่ยวกับธาตุขันธ์ของตัว ความเป็นไปของตัวว่าตัวเองฉันแล้วมันจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกายมากน้อยแค่ไหน มันจะเป็นโอกาสของการปฏิบัติมากน้อยแค่ไหนเห็นไหม พระก็ต้องดูแลรักษาของพระ

แล้วถ้าพระจัดแล้ว พระต้องจัดของโยมด้วยนี่ คือว่ามันเสียเวลาของพระไปพอสมควร ฉะนั้นเราถึงบอกว่าให้ออกจากพระไปแล้ว ก็เป็นของผู้ที่ทรงศีล ผู้ที่มาทำบุญกุศลได้ทานอาหารกัน ฉะนั้นความเป็นไปที่ว่ากระทบกระเทือนกันบ้าง อะไรบ้าง มันเป็นความรับผิดชอบของ.. ต้องบอกว่าเป็นความบกพร่องของหัวหน้า หัวหน้าเป็นผู้ดูแล หัวหน้าต้องเป็นผู้จัดการให้เรียบร้อยไปให้ได้

แต่นี่มันจัดการให้เรียบร้อยไม่ได้เพราะอะไร เพราะคนมันมาก เวลาคนมันมากขึ้นมาเห็นไหม อย่างวันนักขัตฤกษ์เห็นไหม นี่วันสงกรานต์ วันนี้ประเพณีวัฒนธรรม คนเรานี่ถ้าจิตใจอ่อนแอ ต้องอาศัยประเพณีวัฒนธรรมเป็นที่อาศัย เวลาความคิดของเราเห็นไหม ความคิดไม่ใช่จิต เวลาความคิดเกิดขึ้นมานี่ แสดงอาการของจิต จิตได้แสดงออกมาผ่านจากความคิด ถ้ามีความคิดจิตมันอยู่ที่ไหน เราจะรู้ได้ว่าเรามีความคิด เรามีความทุกข์ความยาก เพราะเรามีความคิดเห็นไหม จิตมันถึงแสดงตัวออกมา

นี่เหมือนกัน คนเราถ้าอ่อนแอขึ้นมา มันจะทรงตัวด้วยตนเอง ด้วยการเสียสละ ด้วยการทำบุญกุศล ด้วยการทำคุณงามความดีของตัว มันก็ทำได้ยากเพราะตัวเองคิดด้วยตัวเองไม่ได้ ก็อาศัยประเพณีวัฒนธรรม

ในเมื่อมีประเพณีวัฒนธรรมเห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรมก็บอกว่า วันสำคัญทางศาสนา ให้ประชาชนได้ทำบุญกุศล เพราะทำบุญกุศลเห็นไหม กฎหมายบังคับได้ บังคับคนเพื่อไม่ให้ทำความผิดตามกฎหมาย แต่ศีลธรรมจริยธรรมนี่ให้มันมีความละอาย ความเกรงกลัวกับใจ ถ้าใจมีความละอายขึ้นมานี่ ความผิดต่างๆ ที่ทำขึ้นมามันจะน้อยลงเห็นไหม

ศีลธรรมจริยธรรมนี่มันมีผล มีคุณค่ายิ่งกว่ากฎหมาย แต่มันไม่ได้เขียนเป็นกฏตายตัวว่าจะต้องทำอย่างไร ถึงจะเป็นว่าผิดกฎหมายหรือไม่ผิดกฎหมาย แต่กฎหมายถ้าทำครบองค์ประกอบมันคือความผิดกฎหมายใช่ไหม แต่ศีลธรรมจริยธรรมนี่ต้องจิตใจมีความละอาย ละอายในอะไร ละอายในสิ่งที่มันเป็นสิ่งอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดีงามเห็นไหม เวลาจิตของเรานี่ถ้ามันมีความเกรงกลัว ความละอาย ศีลธรรมจริยธรรม มีการฝึกฝนขึ้นมา

ดังนั้น ประเพณีวัฒนธรรม ผู้ที่อ่อนแอต้องอาศัยประเพณีวัฒนธรรมเป็นเครื่องแสดงออกในการทำคุณงามความดี แต่ถ้าคนเรามีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เราทำความดีทุกวัน

อย่างเช่น การกตัญญูกตเวทีเห็นไหม วันนี้วันครอบครัว วันสงกรานต์ วันครอบครัวต้องดูแลพ่อแม่ของเรา แต่เราดูแลพ่อแม่กันทุกวันเลย เราดูมาทุกวันอยู่แล้ว พ่อแม่ของเราอยู่ในบ้านเรา เราดูแลรักษามาตลอด ก็สงกรานต์ทุกวันเลย มีวันสงกรานต์ทุกวันเลย เราไม่ต้องให้มันมีวันสงกรานต์ เราถึงมาคอยดูแลพ่อแม่ของเราเห็นไหม

เพราะเราเป็นคนดี.. เพราะเราเป็นคนดี เพราะเรามีศีลธรรมจริยธรรมพอสมควรแล้วเห็นไหม เรายืนของตัวเราเองได้ เราจะไม่ตื่นกับกระแสของสังคม ดูสิ เขาไปเที่ยวสงกรานต์เห็นไหม ดูสิ วัฒนธรรมประเพณีเขาเอาไว้ขายให้พวกตะวันตก เขามาเล่นสงกรานต์ เขาก็สนุกครึกครื้น เขามาเที่ยววัดทางประเพณี เขามาเที่ยวทางวัฒนธรรมแต่เขาเข้าถึงทางวัฒนธรรมสิ่งนั้นได้ไหม แต่ของเรานี้เขาเอาไว้ขาย

แต่เราไม่ได้เอาไว้ขาย เพราะไม่ได้เอาผลประโยชน์ แต่เราเอาคุณงามความดีของเรา เราเข้าใจถึงคุณงามความดีของเราเห็นไหม เรามีวันสงกรานต์ทุกวันเลย เราจะดูแลพ่อแม่ของเราทุกวันเลย เราทำของเราทุกวันเลย และทำดีมีความเข้มแข็งขึ้นมา

เขาไปเที่ยวกัน มีความสนุกสนานกัน ทำไมเราไปจำศีล เราไปวัดไปวากันเพื่อขัดเกลาใจของเราเพื่อเหตุใด เพราะการขัดเกลาใจของเรา ขัดเกลากิเลสของเรา ขัดเกลาหัวใจของเรา มันเป็นความดีที่ละเอียด ละเอียดขึ้นไป

แต่ความดีเห็นไหม เวลาพูดถึงความดีขึ้นมา คนก็ต้องมีศักยภาพ ต้องมีอำนาจ ต้องมีแก้วแหวนเงินทอง ต้องมีศักยภาพ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อยู่ในป่าอยู่โคนต้นโพธิ์องค์เดียวไม่มีใครรู้เรื่องเลย ทำไมมีศักยภาพสอนเทวดา มนุษย์สานัง สอนได้หมดเลยเห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราบอกว่าต้องมีความเจริญรุ่งเรือง วัดต้องจัดประเพณีวัฒนธรรม ต้องให้คนมีมหรสพสมโภช พอมีมหรสพสมโภชมีคนเข้ามาวุ่นวายเต็มไปหมดเลย แต่เขาก็มีความสุขว่านี่เป็นประเพณี นี่เป็นวัฒนธรรม นี่เป็นวัดที่เจริญ แต่เวลาเสร็จงานแล้วนะทุกคนนอนแผ่เลย..

แต่ครูบาอาจารย์เรานี่ มีมหรสพสมโภชขนาดไหน จะมีประเพณีวัฒนธรรมขนาดไหน แต่เวลาภาวนา ทำไมไปอยู่คนเดียวล่ะ เวลาเราภาวนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสำเร็จอยู่ในป่า ถึงที่สุดเห็นไหม เนกขัมมะบารมี ถือเนกขัมมะ ถืออยู่ผู้เดียวเป็นวัตร ถึงได้รักษาใจของตัว ถ้าประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันจะเห็นนะ

ประเพณีวัฒนธรรมมันปฏิเสธไม่ได้ เพราะเราอยู่ในสังคมโลก โลกเป็นอย่างนี้ โลกคือสัตตะ โลกคือสังคม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราอยู่กับโลก อยู่กับมนุษย์ มันต้องมี สัตว์สังคม มันมีสังคมอยู่แล้วล่ะ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมปฏิเสธสังคมไม่ได้หรอก แต่ปฏิเสธสังคมแล้ว จิตใจเราจะมีความเข้มแข็งขนาดไหน ขีดของสังคมขนาดไหน

อย่างที่เราพูดเห็นไหม เวลาเขาบอกว่า เขาทำผิดพลาด อย่างนี้เป็นความผิดของหัวหน้า เป็นความผิดของผู้นำ เป็นความผิดของผู้รับผิดชอบ มันเป็นความผิดของเราเพราะเราจัดการให้เขาไม่กระทบกระเทือนกันไม่ได้ ให้เขาแบบว่าไม่กระเทือนใครเลยอยู่ศีล ๘ ต้องสะอาดบริสุทธิ์หมดเลย เราทำอย่างนั้นให้ไม่ได้ ให้ไม่ได้เพราะอะไร เพราะคนมันเยอะ พอคนมันเยอะเพราะมันเป็นสังคม

แต่นี้เราจะหลบหลีกของเราอย่างไรล่ะ ถ้าจะหลบหลีกของเรา ถึงเวลาเราจะไม่เข้าไปกับเขาก็ได้ เวลาเขาตักเสร็จแล้ว จนไม่มีใครแล้ว เราก็ไปตักคนเดียวก็ได้ ไม่ต้องกระทบกระเทือนต่อใครเลย

ถ้าถึงเวลาแล้วนี่ จิตใจของเรามีความเข้มแข็ง จิตใจของเรามีจุดยืนของเราได้ อาหารของกาย อาหารของใจ เวลาอาหารของใจนะ เวลาเราธุดงค์ไปในป่าในเขาเห็นไหม จะมีใครใส่บาตรหรือไม่มีใครใส่บาตรยังไม่รู้เลย แล้วถ้าบิณฑบาตแล้วไม่ได้สิ่งใดเลยก็ไม่สำคัญ

แต่ถ้าเราไปห่วงปากห่วงท้องนะ เราจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะเราเหมือนเอากติกา เอากฎหมายเป็นที่ตั้ง กฎหมายเขาเอาไว้บังคับคนทำผิดพลาดนะ ถ้าคนทำไม่ผิดไปทำดีกว่ากฎหมายอีก จิตใจของเราเหมือนกันเห็นไหม ถ้ามันกระทบกระเทือนกัน เราไม่ฉันอาหารก็ได้ เราไม่กินเลยก็ได้ หรือเรากินที่เขาตักเสร็จแล้ว เหลือสิ่งใดเรากินสิ่งนั้นก็ได้ มันอยู่ที่เราจะหลบหลีก

ถ้าจิตใจของเรามีหลักมีเกณฑ์ เราจะหลบหลีกของเราเอง เพราะถ้าเราห่วงเห็นไหม อันนี้บอกจะต้องไปในสโมสรสันนิบาต จะต้องไปในที่มีมหรสพสมโภช แต่ก็ต้องไม่กระทบกระเทือนสิ่งใดเลยเห็นไหม เราจะเลือกอะไรล่ะ มันอยู่ที่ผู้เลือกนะ.. อยู่ที่ผู้เลือก ถ้าผู้จิตใจมีหลักมีเกณฑ์ มันจะเลือก มันจะแยกแยะได้ว่า อันนี้ความดีระดับนี้ เขามาทำบุญกุศลของเขานี่ เป็นความดีของเขา เป็นความดีของคฤหัสถ์เขา เขาแสวงหาคุณงามความดีของเขา

แล้วผู้ที่จำศีลอยู่ในวัด เขาต้องการความสงบสงัด มีแต่ความดีละเอียดขึ้นมาเห็นไหม ถึงสงบสงัดขนาดไหนแต่เขาเป็นคฤหัสถ์ เขามาจำศีลอยู่ในวัดนี่ เขาก็มีนิสัยของฆราวาส นิสัยของคฤหัสถ์ไง เขายังไม่ได้นิสัยของสมณะ

ถ้านิสัยสมณะเห็นไหม สมณะอยู่ที่ไหน สมณะเป็นผู้มีความสงบสงัดในหัวใจ ถ้ามีความสงบสงัดในหัวใจเห็นไหม พอมีความสงบสงัด เราก็ไม่ต้องกระทบกระเทือนสิ่งใดเลย อะไรที่กระทบกระเทือนแก่เราเห็นไหม มันไม่เป็นสัปปายะ ไม่เป็นสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ

แต่เวลาเราปฏิบัติขึ้นมา เราก็ต้องการความสงบสงัด เราต้องการสิ่งใดทุกๆ อย่าง แต่เวลาปัจจัยเครื่องอาศัยเราก็สะดวกสบายไปหมด มันขัดแย้งกันเห็นไหม ความดีอย่างหยาบ ความดีอย่างกลาง ความดีอย่างละเอียด เราจะเอาความดีอย่างใด ถ้าเราจะเอาความดีอย่างใดนี่ เราจะมีจุดยืนของเรา เราจะเลือกของเรา เราจะปล่อยวาง

ใช่! เพราะมนุษย์เราก็มีผิวหนัง มีเลือดเนื้อเชื้อไข มีความรู้สึก มันก็มีทุกๆ อย่างเพราะมีหยาบ มีละเอียด สังคมก็เป็นแบบนั้น ถ้าสังคมแบบนั้น เราควรจะจบสิ้นขนาดไหน

เวลาครูอาจารย์ท่านพูด จิตใจที่สูงกว่าจะดึงจิตใจที่ต่ำกว่าขึ้นมา ถ้าจิตใจเราสูงกว่านี่ เราสามารถประคับประคองเขาขึ้นมาได้ทั้งนั้น เราจะดึงเขาขึ้นมาได้ แต่ถ้าจิตใจเราไม่สูงกว่าเขาเห็นไหม เห็นคนตกน้ำ เห็นคนจมน้ำตาย โห.. มีความเมตตามากกระโดดตูมลงไปช่วยคนจมน้ำ ก็ตายไปด้วยกันหมดเลย คนไปช่วยก็ตาย ไอ้คนจมน้ำก็ตาย เพราะอะไร..

เพราะว่าจิตใจไม่สูงกว่า ถ้าสูงกว่านี่ เห็นคนตกน้ำ เห็นคนจมน้ำไหม เขาจะกระเสือกกระสนไปไหน เพราะเขาก็กลัวตายของเขา ถ้าเราละล้าละลังอยู่ เราจะช่วยเขาไม่ได้เลย ถ้าเรามีสติเห็นไหม เราจะไปเอาเชือก เอาสิ่งใดที่เป็นวัตถุยื่นให้เขาจับ แล้วเราดึงเขาขึ้นมาเห็นไหม

แต่ขณะที่เรามีสติสัมปชัญญะจะควบคุมความรู้สึกเราได้แค่ไหน มันตื่นไง แต่ถ้าเราไม่ตื่น มีจุดยืนของเรา เขาจมน้ำ ใช่! เขาจมน้ำ เขาจะตายอยู่แล้ว แล้วเราจะช่วยเขาอย่างไร แต่ถ้ามันเป็นเด็ก เป็นอะไรต่างๆ แต่ถ้าผู้ใหญ่ที่มีกำลังที่มากกว่า โดดลงไปอุ้มขึ้นมาได้ ได้! ถ้ามันทำได้ มันก็ทำได้

แต่ถ้าเขาตัวใหญ่กว่า เราทำไม่ได้หรอก.. เราทำไม่ได้หรอก เราลงไปเราก็ตายด้วย ถ้าเราตายด้วย เราพยายามช่วยเขาด้วยสุดความสามารถ แต่ถึงที่สุดถ้าเราช่วยเขาไม่ได้ มันก็เวรกรรมของสัตว์นะ แต่ถ้าเราโดดลงไปก็ตายทั้งคู่

ถ้าตายเห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์เขาปฏิบัติขึ้นมา ถ้ายังไม่พ้นกิเลสยังไม่อยากตาย นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรายังปฏิบัติอยู่ เรายังต้องการชีวิตนี้อยู่เพื่อปฏิบัติ แต่ถ้ามันถึงที่สุดแล้วนะตายได้

ดูสิ ในพระไตรปิฎกเห็นไหม ภิกษุไปฉันของบ้านนายช่างทอง เขาเป็นช่างเจียระไน นิมนต์ไปฉันทุกวันเลย เวลาไปฉันพอไปทุกวันเห็นไหม วันนั้นกษัตริย์เขาเอาแก้วเจียระไนมาให้ เขากำลังจะทำอาหาร มือมันเปื้อนเลือดเนื้อสัตว์เห็นไหม เขาสับเนื้อสัตว์อยู่ มือมันเปื้อนเลือดก็จับแก้วนั้น รับแก้วนั้นแล้ววางไว้ แล้วกลับมาทำอาหารต่อ

นกกระเรียนมันมาเห็นเลือดเปื้อนอยู่บนแก้วเม็ดนั้น คิดว่าเป็นเนื้อไง มันก็กินไปเลย มันกินไปเลย เพราะมันเป็นเนื้อใช่ไหม พอนายช่างเจียระไนเขาทำอาหารเสร็จถวายพระ พอกลับมาหาแก้วไม่เจอ ไม่เจอนี่มันเป็นของกษัตริย์ ถ้าของกษัตริย์นี่ไม่อย่างนั้นเราต้องตาย กษัตริย์ต้องประหารแน่นอน

แล้วมันมีอยู่สองคน มีพระภิกษุองค์นั้น กับอาจารย์ของเขา กับตัวเขาเอง ไปปรึกษาภรรยานะ “มีพระกับเราสองคนเท่านั้น แก้วนี้เอามาแล้ว แล้ววางไว้นี่ แล้วมันหายไป ก็มีพระกับเราเท่านั้น ต้องมีคนลักไปแน่นอน”

ภรรยาไม่เชื่อ .. ภรรยาบอก “เป็นไปไม่ได้! อาจารย์ของเราเป็นพระโพธิสัตว์ที่เราเชื่อ เราลงใจ เราเคารพศรัทธา ท่านจะมาหยิบฉวยน่ะ มันเป็นไปไม่ได้.. สิ่งนี้เป็นไปไม่ได้”

แต่สามีบอกว่า “มันจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ก็แล้วแต่..”

นี่คือหัวใจที่มันแตกต่างกันเห็นไหม มันเกี่ยวกับชีวิตไง เราต้องตาย จะต้องเอาแก้วนี้คืนมาให้ได้ เพราะกลัวตาย ถ้าไม่อย่างนั้นถูกประหารชีวิต

ก็ไปถามพระว่า “เห็นแก้วนั้นไหม”

ท่านบอก “ไม่เห็น.. ไม่เห็น..” อย่างไรก็ไม่เห็น

“ไม่เห็นได้อย่างไร ในเมื่อมี ๒ คน”

สุดท้ายด้วยความกลัวตายเห็นไหม เอาเชือกรัดคอเลย รัดคอดึง “บอกหรือไม่บอก.. แก้วอยู่ไหน?” จนอาเจียนเป็นโลหิตนะ เพราะมันโดนรัดคอ เลือดมันกระเด็นมา นกกระเรียนนั้นเห็นเลือดก็มากินเลือดอีก ด้วยความโมโหช่างนั้นก็เตะนกกระเรียนตายเลย ไล่นกกระเรียนไป

พระเห็นก็เลยถาม “นกกระเรียนตายหรือยัง.. ตายหรือยัง” ถามนายช่าง

นายช่างบอกว่า “มันตายแล้ว”

พอตายแล้วบอก “หยุด!เราจะบอกแล้ว เพราะนกกระเรียนกินไป”

ท่านก็นั่งดูอยู่ ท่านเห็น แต่ถ้าพูดกับคนที่ไม่มีสติสัมปชัญญะ เขาจะไปฆ่านกตัวนั้น เสียสละชีวิตเพื่อรักษาชีวิตของสัตว์ตัวนั้น ทั้งๆ ที่ก็เห็นอยู่ว่านกมันกินไปนะ แต่ไม่บอกว่านกกินไป ทั้งๆ ที่เขาเอาเชือกรัดคอตาย ก็ยอมตายเพื่อรักษาชีวิตเขา

แล้วภรรยาก็บอกว่าไม่เชื่อว่าพระนั้นเอาไป แต่ผู้ที่กลัวตายโดยที่ไม่มีสติปัญญา ไม่ได้คิดอะไรเลย จะเอาแต่เอามาให้ได้เห็นไหม สุดท้ายแล้วนะ เวลาพวกนี้ตายหมด พระได้ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ท่านเป็นอย่างนั้นเอง”

พระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ตายแล้วก็ไปนิพพาน ภรรยาเป็นผู้มีบุญกุศลตายแล้วก็ไปสวรรค์ นายช่างนั้นเป็นผู้ที่มีบาปอกุศล เป็นผู้มีจิตใจต่ำช้า ตายแล้วก็ลงนรกอเวจี ในเหตุการณ์ๆ หนึ่ง คนอยู่ในเหตุการณ์หนึ่งเวลาตายไปแล้ว ไปต่างคนต่างละที่

พระอรหันต์องค์นั้นเห็นแก่ชีวิตของสัตว์ แม้แต่ชีวิตสัตว์ก็ทำไม่ได้ เวลาสิ้นชีวิตแล้วเพราะท่านเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว ท่านนิพพานอยู่แล้ว ท่านไปนิพพานของท่าน แต่คนที่วินิจฉัย คือนายช่างนั้น ตกนรกอเวจี แต่ภรรยาเป็นผู้ที่เตือนอยู่ตลอดเวลา ไปสวรรค์

นี่มันบ่งบอกถึงวุฒิภาวะของจิตต่างๆ มันแตกต่าง มันหลากหลาย ในสัตว์สังคม เราอยู่ในสังคม ใช่! เราอยู่ในสังคม แต่สังคมเป็นอย่างไร ถ้ามีวุฒิภาวะเราจะแก้ไขของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ

เราเกิดมาเห็นไหม มันผ่านพ้นไปแล้ว สงกรานต์ผ่านพ้นไปแล้ว เวลาสงกรานต์เห็นไหม คนไปสงกรานต์ โห..เป็นคนดี โอ้โฮ.. กลับบ้านไปดูแลพ่อดูแลแม่ ไอ้เราดูแลทั้งปีเลย เราเป็นคนไม่ดีหรือ เราต้องไปตื่นเต้นกับสงกรานต์ไหม

สงกรานต์นั้นไม่ต้องตื่นเต้นกับเขาเลย มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม เราอยู่กับสังคมเขา ถ้าเขามีการรื่นเริง ถ้าเราจะรื่นเริงกับเขา เราก็รื่นเริง ถ้าไม่รื่นเริงกับเขา เราก็รักษาใจของเรา แต่เราทำคุณงามความดีมากกว่านั้น เพราะนี่เป็นประเพณี มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม ไม่ใช่ตัวจริง

ตัวจริงคือความรู้สึกของเรา ตัวจริงคือใจของเรา ใจเรานี่มีคุณงามความดีอยู่แล้ว ดีกว่าประเพณีวัฒนธรรมนั้นอีก ถ้าเราดีกับประเพณีวัฒนธรรมนั้น แล้วความดีที่ดีขึ้นไปกว่านี้ล่ะ เห็นไหมถ้าเราทำความดีตลอด ถามตัวเองว่าตายแล้วไปไหน ชีวิตนี้มาจากไหน แล้วจะทำอย่างไรต่อไป นี่ความดีกว่านี้ยังมีอีกนะ

แม้แต่ชีวิตนี้ที่เกิดมา เกิดมาเพราะเหตุใด เกิดมามีอะไรพามาเกิด เกิดมาแล้วนี่ เรามีทุกข์มียากขนาดไหนในชีวิตนี้ แล้วชีวิตนี้ถ้าสิ้นสุดประพฤติปฏิบัติแล้ว ถ้ามันไม่ถึงที่สุด มันตายแล้วมันไปไหน เรารู้ตัวเองหมด นี่ สันทิฏฐิโก ปัจจัตตัง เรารู้หมด เราทำดีเราก็รู้ว่าเราทำดี ทำความผิดพลาดเราก็รู้ว่าเราทำความผิดพลาด ทำความชั่วเราก็รู้ว่าเราทำความชั่ว

แต่ความดีของเรานี่ ความดีแค่ไหน เพราะความดียังไม่ดีกว่าธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกดีแค่ไหนเห็นไหม ถึงที่สุด ความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ ทิ้งทั้งความดีและความชั่ว ไอ้ความดีของเรากอดไว้เลยนะ โอ้โฮ.. มันทำอะไรแล้วจะเอาสายสะพายนะ จะมีความดีมาก แล้วต้องโฆษณาถึงความดีของเรานะ

แต่ถ้าความดีของพระพุทธเจ้านะ ความดีเห็นไหม พอเขาบอกว่าเราไม่ดี.. ทุกข์แล้ว! นี่ทำความดีตลอดเวลาเลย แต่พอเขาติหน่อยเดียว โฮ.. ทำความดีมาขนาดนี้ โฮ.. ทุกข์น่าดู ทำความดีก็ทุกข์ เพราะเขาติว่าไม่ดี

แต่ถ้าความดีพ้นทั้งความดีและชั่ว ทำดีแล้วความดีของเราก็คือความดี ความชั่วของเรา เราไม่ทำ แล้วเขาจะติเตียนอย่างไร มันโลกธรรม ๘ มันเป็นธรรมะเก่าแก่ คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก ครูบาอาจารย์ท่านสอนบ่อย เวลาโลกธรรม กระแสมันเกิดขึ้นมานะ กระแสของคนโง่นะ เวลาเกิดขึ้นมานะเรารับรู้เฉยๆ แต่เราไม่ไปตื่นเต้นกับเขา

แต่ถ้ากระแสของคนดีสิ หลวงตาท่านสอนประจำ ผู้ที่มีปัญญาพูดคนเดียวก็ต้องฟังนะ แต่ถ้าคนโง่พูดเป็นแสนๆ คน อย่าไปฟังมัน เพราะเรารู้อยู่เขาพูดมาจากอะไร เขาไม่ได้พูดมาจากสมองของเขาหรอก เขาพูดเหมือนกับหุ่นยนต์ พูดตามๆ กันมา มันไม่มีคุณค่าอะไรเลย

แต่ถ้าคนดีพูดคนหนึ่งนะ มันสะเทือนใจเรานะ เพราะพูดถึงชี้ถึงความผิดนะมันผิดจริงๆ น่ะ เขาเห็นจริงๆ เขาผิดจริงๆ แล้วเราก็แก้ไขจริงๆ เห็นไหม สิ่งนี้มันเป็นประโยชน์กับเรา ถ้ามันเป็นกระแส คนโง่ติเตียนขนาดไหน เราก็จะไม่เชื่อฟังเขาไป เราจะไม่ตามเขาไป แต่ถ้าคนดี คนที่มีปัญญาติเตียนเรา เราจะต้องฟัง ฟังแล้วเราเอาสิ่งนี้มาแก้ไขเรา ถ้าแก้ไขมันจะเป็นประโยชน์เห็นไหม แล้วโลกคนดีมากหรือคนโง่มาก

เราจะบอกว่าเราต้องมีจุดยืนของเราด้วย ไม่ใช่ใครพูดอย่างไรก็เชื่อเขาไปหมด นี่กระแสมันเกิดขึ้นมานี่ คนโง่พูด เราจะเชื่อเขาได้อย่างไร ถ้าเราเชื่อเขาเราก็เป็นเหยื่อเหมือนกันนะ ถ้าเราไม่เชื่อเขา เรามีจุดยืนอย่างไรถึงไม่เชื่อเขาล่ะ

ถ้าไม่เชื่อเขาเราก็ต้องศึกษาสิ นั่งสมาธิภาวนาสิ มันจะรู้ขึ้นมาเอง มันเห็นขึ้นมาเอง ร้อนก็รู้ว่าร้อน หนาวก็รู้ว่าหนาว เรามีความร่มเย็นในใจ เราบอกเขาร้อนๆ เราร้อนเกือบตาย ก็บอกโฮ..นี่เย็นนะ คนที่มีความสงบ เราร้อนเกือบตาย เขาจะบอก โอ้โฮ..คนนี้ใจเย็นนะ คนนี้คนดีนะ ไอ้คำพูดของเขากับใจของเรามันคนละเรื่อง

แต่ถ้าเราปฏิบัติไป ร้อนเราก็รู้ว่าร้อน เย็นเราก็รู้ว่าเย็น ผิดก็รู้ว่าผิด ถูกก็รู้ว่าถูกเห็นไหม นี่ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก มันพิสูจน์ได้ มันพิสูจน์กับใจของเรานะ มันพิสูจน์กับความเป็นไปของเรา นี้เป็นความจริงของเราขึ้นมา

เวลามันผ่านพ้นไปแล้ว เวลาเราตื่นเต้นกับเขา เวลากาลเวลายังไม่ถึงที่เห็นไหม อนาคตเห็นไหม สิ่งที่จะเกิดขึ้นมา เราก็ตื่นเต้นไปกับเขา เราผ่านไปกาลเวลาก็ผ่านไปแล้ว เราก็ยังเป็นเราอยู่อย่างนี้

ถ้าจิตของเรา เรารักษาจิตของเราเห็นไหม กาลเวลามันจะผ่านไปแล้ว เราก็เป็นเรา แต่เรามีความรู้จริงขึ้นมา สันทิฏฐิโก จิตได้สัมผัส จิตมันรู้ จิตมีจุดยืนของเราเห็นไหม จุดยืนของเรา เรามองสังคม เห็นสังคม แล้วเราจะยืนในจุดของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ เอวัง