เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๘ เม.ย. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อ้าว! เวลามาที่นี่เราจะให้มันกระฉับกระเฉง ไม่ให้มันอืดอาดเหนื่อยหน่าย ถ้าอืดอาดเหนื่อยหน่ายแล้วมัน... แต่ก็ชอบ อืดอาดเหนื่อยหน่ายแล้วมันเหมือนกับดินพอกหางหมู กิเลสมันก็กระโดดเกาะ

นี้อยู่กับครูบาอาจารย์ท่านฝึกมาอย่างนี้ เราก็ต้องกระฉับกระเฉง แต่! แต่ถ้ากระฉับกระเฉง จนแบบว่ามันไร้สาระนี่นะ อยู่บ้านตาด เวลาพระพอเรารับบาตรแล้วจะรีบ.. รีบด่วนเกินไป ท่านบอกว่า “หมา! หมา!” วิ่งแบบหมาไง คือไม่มีสาระก็ไม่ได้

ไม่ใช่ว่ากระฉับกระเฉงจนไม่มีแก่นมีสาร อะไรก็ผลุบผลับ ๆ มันก็ไม่ถูก อืดอาดเหนื่อยหน่ายเกินไปก็ไม่ถูก เห็นไหม เวลาธรรมะบอกว่าให้นุ่มนวล แต่เวลาหลวงตาท่านพูดนะ ถ้ามันเป็นเหมือนคนไข้ล่ะ ภิกษุไม่ใช่ภิกษุไข้เว้ย ภิกษุอ่อนแอจนกระทั่งเหมือนภิกษุไข้ แต่ถ้าภิกษุมันเข้มแข็งขึ้นมา มันก็ต้องมีสติปัญญา

เวลาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกไว้แล้ว “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เราก็เอากิเลสเรานี่ศึกษาธรรมะขึ้นมา แล้วเราว่าเราก็รู้แล้ว แล้วเราพึ่งตนเองได้ไหม ทุกคนศึกษาทางพระไตรปิฎก อ่านหมดล่ะ ๙ ประโยค ๑๐ ประโยค รู้กันหมดล่ะ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แล้วรู้แล้วพึ่งตนเองได้ไหม... พึ่งไม่ได้หรอก! ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน มันต้องมีการประพฤติปฏิบัติ มีการแสวงหาของเรา

เหมือนในสมัยปัจจุบันนี้ การศึกษานี้บอกต้องเอาเด็กเป็นศูนย์กลาง ใช่! เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง เพราะเราต้องการให้เด็กนี้เจริญเติบโตขึ้นมา ให้เด็กนี้มีทางวิชาการ ให้เด็กนี้มันพึ่งตัวเองมันได้ แต่ถ้าเด็กเป็นศูนย์กลาง เราไม่สั่งสอนเลย เด็กมันก็นอนกอดขวดนมอยู่นั่นนะ มันโตขึ้นมาไม่ได้หรอก

เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง แต่อาจารย์ที่สอนเด็กต้องมีวุฒิภาวะ ต้องมีว่า เราจะให้วิชาการอะไรเขา เราจะมีอะไรสอนให้เด็กมันโตขึ้นมา เอาเด็กเป็นศูนย์กลาง เด็กเป็นศูนย์กลาง แต่แตะไม่ได้เลย ตีไม่ได้เลย อะไรไม่ได้เลย เรายังเชื่อมั่นอยู่นะ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”

รักวัวให้ผูก ถ้าเรารักวัวของเรา เราผูกวัวของเรา เราก็ดูแลวัวของเรา วัวของเรา จะไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ไม่ไปทำร้ายใคร รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แต่เราไม่ได้ตี แต่ธรรมดาคนเรามันโกรธก็ตีด้วยอารมณ์ จริงไหม แต่เราอารมณ์ขนาดไหน เราก็มีความรักของเราจริงไหม เราไม่ได้ต้องการให้ลูกของเราเป็นคนเสีย เราต้องการให้ลูกของเราเป็นคนดี

แต่เวลาเขาทำผิดมา เราเอาอารมณ์บวกเข้าไปด้วย อันนั้นก็ผิด แต่ว่าคำว่าเอาอารมณ์บวกเข้าไป ถ้ามีสติสัมปชัญญะต่างๆ เห็นไหม เราก็ตี พ่อแม่บางคนสอนลูกของเขานะ พูดกัน ตกลงกติกาไว้นะ ถ้าผิดต้องตีนะ เวลาลูกทำผิดกลับมา ถามลูกเลย ลูกให้ตีกี่ที ลูกก็จะบอกว่า ๒ ทีพอ บ้างก็ว่า ๓ ทีพอ

นี่มีครอบครัวหลายครอบครัวเขาเลี้ยงมา แล้วเขามาเล่าให้ฟัง บอกว่าเราจะคุยกันระหว่างพ่อแม่กับลูก ถ้าทำผิดอย่างนี้ต้องลงโทษนะ ลูกกับพ่อแม่ รับกันว่าต้องลงโทษ แล้วเวลาผิดมานี่ ลูกว่าอย่างไร ให้ตีกี่ที แม่บอก ๔ ที ลูกบอกขอ ๒ ที อ้าว.. ๒ ทีก็ ๒ ที เพราะเขารู้ว่าเขาผิดเห็นไหม รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรา อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่ตนน่ะมีกิเลสเต็มหัว การศึกษาธรรมะของเราน่ะ ศึกษาด้วยกิเลสตัณหาทะยานอยากกันทั้งนั้น พอกิเลสตัณหาทะยานอยาก เห็นไหม ว่าเรารู้ไปทุกอย่างเลย แต่เรารู้สึกตัวเราเองไหม เพราะเราทำออกไปด้วยความไม่รู้ อวิชชามันไม่รู้ เราถึงต้องทำความสงบของใจเราเข้ามา เราทำความสงบของใจ ให้พุทโธๆ ให้จิตสงบเข้ามา

ถ้าจิตสงบเข้ามานะ พอจิตสงบเหมือนกับเด็ก พ่อแม่กับลูกตกลงกันน่ะ ถ้าผิดต้องตีนะ ถ้าผิดต้องตี อ้าว! ถ้าผิดต้องตี ผิดมาแล้ว ลูกก็รู้ว่าผิดมาแล้ว มันแบบว่า.. เด็กมันทนความเร้าไม่ไหว มันก็ทำของมันมาน่ะ ก็สำนึกว่าผิดน่ะ แล้วตกลงว่าจะให้ตีกี่ที แม่บอก ๔ ที ลูกบอก ๒ ทีนะ อ้าว! ๒ ทีก็ ๒ ที เพราะเด็กมันสำนึก

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าจิตมันไม่มีความสุข ไม่มีรากฐานเลย มันไม่รู้ว่าเราผิดหรือเราถูกหรอก มันไม่รู้ตัวเราหรอก ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไรหรอก นี่รู้ไปหมด ธรรมะรู้ไปหมด ว่าง! ว่าง! ว่าง! โอ๊ย.. รู้ไปหมด ปากเปียกปากแฉะ ธรรมะพูดได้ทุกคำเลยนะ แต่ในหัวใจมันรู้อะไร ถ้าหัวใจมันไม่รู้นี่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ จริงหรือเปล่า

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ นี่สำคัญมากนะ สำคัญที่ว่าเราพึ่งเราได้ เห็นไหม เวลาครูบาอาจารย์ท่านสอน หลวงตาท่านสอนประจำ “ให้ดูใจตัวเองนะ ทุกคนให้ดูใจตัวเอง” แต่เราดูใจเราไหม เราจะมองเลยว่าคนอื่นทำไม่ดีกับเราทั้งนั้นเลย เราไม่เคยมองเห็นใจของเราเลย เราไม่เคยเห็นความผิดของเราเลยนะ

แต่ถ้าให้มันจริง มันก็เป็นความจริงอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้น เราสัตว์สังคมอยู่ด้วยกันก็กระทบกระเทือนกันเป็นธรรมดา พอธรรมดานั่นล่ะ ถ้าเขาทำนะ ครูบาอาจารย์เห็นไหม ดูสิ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ ท่านคอยเคาะ คอยบอก คอยต่างๆ เห็นไหม

แล้วเวลาหลวงปู่มั่นท่านพูด เวลาครูบาอาจารย์ถามท่านว่า “ลูกศิษย์ จะดูแลเหมือนกันเหรอ”

ท่านบอก “ไม่ใช่! ถ้าคนไหนพอภาวนามีเนื้อหาสาระ เหมือนกับเรานี่ เวลาคนป่วยไปโรงพยาบาลใช่ไหม ก็บอกอาการไข้ให้หมอหมดเลย ถ้าไม่บอกอาการไข้ หมอรักษาเราไม่ถูกหรอก”

นี่ก็เหมือนกัน เวลาครูบาอาจารย์ท่านสนทนาธรรมกันน่ะ ภาวนาแล้วสติเป็นอย่างไร สมาธิเป็นอย่างไร ปัญญาเป็นอย่างไร อาการไข้อยู่ที่หมอหมดแล้ว อยู่ที่ครูบาอาจารย์หมดแล้ว แล้วมันเป็นไข้จริงไหม

คนเราเป็นไข้ รู้จักว่าเป็นไข้ ถ้าให้ร่วมมือกันรักษานะ คนไข้ร่วมมือกันกับหมอ คนไข้นี่ก็จะหายได้เร็ว บางคนเป็นไข้ แต่ไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นไข้ หมอจะให้ยาขนาดไหนเขาไม่ฟังหรอก เขาไม่ฟังด้วย เขาดื้อด้วย แล้วเขาหาแต่ของแสลงกินเข้าไปด้วย แล้วบอกว่า “หมอไม่ดี.. หมอไม่ดี”

หลวงปู่มั่น ท่านเป็นพระอรหันต์ ต้องรื้อสัตว์ขนสัตว์ ต้องเอาพระทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ให้หมดสิ ทำไมหลวงปู่มั่นถึงบอกว่า ท่านจะดูลูกศิษย์ ลูกศิษย์คนไหนเห็นไหม ถ้าเขามีหลักฐานของเขา อาการไข้ บอกอาการไข้ และเขายอมรับว่าเขาเป็นไข้ ของเขานะ คอยเคาะ คอยบอก

ถ้าคนไหนนะเป็นไข้.. เป็นไข้หมด เพราะเราเกิดมาเรามีอวิชชาหมดนะ เวลาไปหาครูบาอาจารย์เห็นไหม เรารับรู้ไม่ได้ เรารับรู้ไม่ได้ ท่านบอกว่า ท่านก็ดูแลอยู่ห่างๆ เหมือนเด็กที่มันไม่รับรู้สิ่งต่างๆ ก็ดูแลอยู่ห่างๆ นะ ไม่ให้เสียหายไป แต่จะให้เขาพัฒนาขึ้นมา เขาพัฒนาขึ้นมาไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นท่านไม่ค่อยพูดด้วยเท่าไรนะ ท่านดูแลอยู่ห่างๆ

แต่ถ้าองค์ไหนภาวนาแล้วมีหลักมีเกณฑ์ ท่านจะจี้เลย! จี้เลย! หมายถึงว่า มันจะตรวจสอบตลอดเวลา เช้าเย็น เช้าเย็น ขึ้นไป เพราะเช้าเย็นจะขึ้นไปนวดเส้นท่าน เข้าไปหาท่าน ท่านจะคอยบอกเวลา..

นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อลูกหลานของเรา เด็กของเรานี่เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าตนเป็นที่พึ่งตน ตนรู้จักสำนึกตน ตนมีความปรารถนาดี ความมีน้ำใจ สิ่งต่างๆ ในทางวิทยาศาสตร์ก็บอกเลยนะ ใครชี้ความผิดพลาดของเรานะ ได้ชี้ขุมทรัพย์ให้เรา แต่ความจริงเราชี้ความผิดคนอื่นจะมีปัญหากันไหม ฉะนั้น เราต้องชี้ความผิดของเราเองให้ได้ก่อน

หลวงตาท่านสอนอีกแหละ ท่านบอกเลยนะ “เราพยายามค้นหาดูความผิดของเรา ความนึกคิดของเรา ความตั้งใจของเรา ถ้าเราเห็นความผิดของเราได้ คนอื่นเห็นความผิดของเราได้แน่นอน”

เพราะการแสดงออกไปจะไม่รู้ตัวหรอก เรายิ่งแสดงออกไปเขาต้องจับความผิดของเราได้แน่นอน แต่ถ้าเรารื้อค้นพยายามหาความบกพร่องของเรา ถ้าเราหาความบกพร่องของเราไม่ได้ สิ่งต่างๆ ไม่มีความบกพร่องสิ่งใดๆ เลย เราค้นหาไม่ได้นะ คนอื่นหาไม่เจอหรอก คนอื่นเขาไม่เห็นความผิดของเราแน่นอน

แต่! แต่โลกธรรมเห็นไหม โลกธรรม ความไม่พอใจ ความผิดหูผิดตา มันต้องมีการกระทบกระทั่งเป็นธรรมดา ฉะนั้น มันก็เป็นเรื่องของธรรมะเก่าแก่ โลกธรรม ๘ แล้ว ติฉินนินทา สรรเสริญ นินทา มันเป็นของประจำโลก สรรเสริญเราก็พอใจ ติฉินเราก็ไม่พอใจ

แต่ถ้าเราดูใจของเรา เราค้นคว้าใจของเรา เรามีความสุข มีความผิด มีความบกพร่องไหม มีความเข้าใจผิดไหม เราต้องค้นของเราเห็นไหม นี่ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เพราะถ้าตนเห็นความผิดพลาดของตน มันจะซาบซึ้งมากนะ

คนอื่นบอกนะ “ขี้บนหัวนั่นนะ! นกมันขี้ใส่หัวนะ!” ไม่มีทางล่ะ โอ้โฮ! ออกจากบ้านมาพึ่งแต่งมาสวยมากเลย นกมาขี้บนหัวนะ ไม่เชื่อใครหรอก ทั้งๆ ที่ขี้บนหัวกองเบ้อเร่อเลย ไม่มีเชื่อใครหรอก เพราะอะไร เพราะมันไม่เชื่อใครหรอก แต่ถ้าเราเอามือไปจับต้อง อืม... ขี้นกจริงๆ เนาะ แล้วเหม็นด้วย

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราจับผิดเราได้ เราดูแลตัวเราได้นะ มันประเสริฐ คนอื่นบอกมันเถียงตลอดเวลา มันไม่เข้าใจหรอก แต่ถ้าเราเข้าใจได้ แต่ในเมื่อ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนยังพึ่งตนไม่ได้ ตนก็ต้องพึ่งครูบาอาจารย์ไปก่อนนะ

ในธรรมะนี่มันแบบว่า มรรคหยาบ มรรคละเอียด เห็นไหม “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีบุคคลเป็นที่พึ่งเลย” เราก็มองครูบาอาจารย์เป็นบุคคลไปหมดเลย ถ้าครูบาอาจารย์ของเรา ถ้าไม่มีธรรมในหัวใจ ใช่! เป็นบุคคล เป็นปุถุชน ปุถุชนเป็นบุคคล เป็นสิ่งที่มีกิเลสตัณหาทะยานอยาก

แต่ในเมื่อครูบาอาจารย์ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจนมีธรรมในหัวใจแล้วนี่ ธรรมะ.. ธรรมะ “เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด! เธอจงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด!” แล้วธรรมมันอยู่ไหน เราก็แสวงหากันใช่ไหม ธรรมอยู่ในพระไตรปิฎก ธรรมอยู่ในหนังสือ ในตำรับตำรา หาเท่าไร ยิ่งหาก็ยิ่งงง ใช่ไหม

แต่ครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ธรรมอยู่ในหัวใจของครูบาอาจารย์เราเห็นไหม ท่านบอกเรา ท่านแยกแยะได้ว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูกไง นี่สัมมาสมาธิเป็นอย่างไร สัมมาสมาธิขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นสัมมาสมาธิที่สะอาดบริสุทธิ์

สัมมาสมาธิของเรานี่ เรานึกเอา วิปัสสนึก สัมมาสมาธิของเรา ว่างๆ มันเจือไปด้วยตัณหาความทะยานอยาก มันเจือไปด้วยสมุทัย มันเจือไปด้วยความไม่รู้ของเรา เราก็นี่ สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนเห็นไหม แล้วมันพึ่งได้ไหม มันก็กอดอวิชชามันเต็มหัวมันนั่นแหละ นี่ สมาธิๆ ไง นี่มีปัญญาๆ ไง

ในเมื่อตนเป็นที่พึ่งแห่งตน แต่ตนนั้นต้องมีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา มันถึงจะพึ่งตัวมันได้ ถ้าตนยังเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนมีกิเลสตัณหาทะยานอยาก ตนมีแต่อวิชชา แล้วศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้ามาน่ะ มานึกเอา คาดเอา หมายเอา แล้วมันยึดเอา แล้วไม่ฟังใครนะ

พอไม่ฟังใครสิ่งนั้นมันจะระรานเขาไปโดยตัวเองไม่รู้ตัว เวลาระรานคนอื่นเพราะเราถือว่าถูกใช่ไหม นี่ธรรมะพระพุทธเจ้าชัดเจน พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ พึ่งเอาออกจากพระไตรปิฎกมาสดๆ ร้อนๆ เลย พึ่งอ่านมาเดี๋ยวนี้ พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้..อย่างนี้ จับผิดเขาทั่วบ้านทั่วเมืองนะ แล้วเอาความผิดพลาดนี้ไปทำลายคนอื่นนะ

แต่เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ไปจับผิดเขาไหม มันไม่จับผิดนะ มันพูดถึงธรรมะ กิริยาของธรรม ในเมื่อความสกปรก มันมีความสกปรกมาในภาชนะอันใดก็แล้วแต่ ภาชนะนั้นมันต้องทำความสะอาดของมัน เราพูดถึงถ้าภาชนะนั้นมันสกปรกแล้วการทำลายภาชนะนั้น มันจะต้องมีกิริยา ต้องมีการกระทำ มันต้องแสวงหา การแสวงหาการกระทำนั้น

เขาบอก โอ๋ย.. ไอ้นั่นโกรธนะนั่น นั่นระรานเขานะนั่น อันนั้นมันจะทำลายเขานะ เวลาสิ่งที่เป็นมรรค เป็นธรรมที่จะทำลายกิเลสเรา กิเลสมันขัดแย้ง อันนี้ไฟ อันนี้ไฟ แต่เวลาไฟจากเราไปทำลายเขา ไม่เห็น โอ้..ไฟอันนี้มันดี ไฟอันนี้ประเสริฐ

แต่เวลาไฟมันดับไฟ การดับไฟป่าเห็นไหม เขาต้องจุดไฟเพื่อเข้าไปให้มันถึงจุดไฟแล้วดับนั้น เพราะมันจุดเชื้อเข้าไป เชื้อมันไม่มีแล้ว แล้วพอมันถึงตรงนั้นมันก็จะดับของมัน นี่ธรรมะเห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันไฟอันเดียวกันนั่นแหละ แต่ไฟอันนี้เพื่อจะดับไฟป่า ที่มันลุกลามมา

แต่ถ้าเราไม่จุดนะ เราหวงของเรานะ โอ้โฮ.. นี่มันต้นไม้นะ นี่มันสิ่งดีงามทั้งหมดเลย นี่เราไม่ยอมทำลายนะ มันจะไหม้ไปเรื่อยๆ ไฟมันจะลามไปเรื่อยๆ การดับไฟเห็นไหม ดูสิ เวลาไฟไหม้บ้าน ไฟไหม้ในเมือง เขาต้องเอาแทรกเตอร์ เอารถไถดันบ้านทั้งหลังทิ้งหมดเลย เพื่อให้ไฟมันดับตรงนั้น ไม่ให้มีเชื้อต่อไป

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะแสดงออก โอ้โฮ.. นี่ก็ไฟนะ มันก็ช่วยอะไรไม่ได้หรอกในเมื่อไม่มีการสื่อสารออกไป ธรรมะมันจะเอาอะไรเป็นเครื่องแสดงออก ธรรมะมันก็อาศัยขันธ์ อาศัยเสียง อาศัยวาจานี่แหละ อาศัยการกระทำนี่ที่แสดงออกไป แต่มันเป็นธรรมจากใจในครูบาอาจารย์ของเรา

แต่ถ้ากิเลสเต็มหัว กิเลสตัณหาทะยานอยากมันอยู่ในหัวใจนะ มันทำออกไปนะ คนทำนะ คิดดูสิ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนกิเลสทั้งตัว ตนนี้ไม่รู้สิ่งใดเลย แล้วจำธรรมะพระพุทธเจ้าไป แล้วแสดงออกไป มันก็คือไฟอ่ะ มันก็คือไฟโทสะ ไฟโมหะ ไฟหลงตัวเองนั่นน่ะ แล้วมันก็ไปเผาคนอื่น มันจะจบไหม

แต่ถ้าเป็นไฟธรรมนะ เพราะอะไร เพราะมันเป็นไฟ ไฟมันจะดับด้วยไฟ ถ้าไฟนี้มันดับ อันนั้นมันจะดับ ถ้าจะดับๆ อย่างไร จะมีสติปัญญาอย่างไร เห็นไหม อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ถ้าเราคิดธรรมะ ถ้าเราตีความของเรา เราก็พึ่งตัวเอง เราก็รู้แล้ว จะโทสะอะไรนี่ก็ไฟเหมือนกัน อาจารย์ว่าไฟนี้ก็ไฟไง ไฟเหมือนกัน เพราะมันไม่เข้าใจตัวมันเอง นี่ไง เราถึงต้องพึ่งครูบาอาจารย์ เรามีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่งนะ

หลวงตาท่านพูดซึ้งมาก “ถ้าหลวงปู่มั่นอยู่ เราจับจิตและต่อมของจิตได้ เราจะไม่ติดอีกเลย ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นจะชี้ทีเดียวแล้วจะทะลุผ่านไปเลย แต่นี่เพราะหลวงปู่มั่นท่านสิ้นไปแล้ว พอจับกิเลสได้นี่ ยังต้องหันรีหันขวางอยู่อีก ๘ เดือน ต้องหันรีหันขวางอยู่คนเดียว จะไปถามใครนะเขาก็ว่าเราเป็นคนบ้า”

เพราะว่า แบบว่าหมอกับคนไข้ คนไข้ประจำหมอนี่ หมอกับคนไข้รักษามาด้วยกัน รู้ว่าอาการเป็นอย่างไร หมอกับคนไข้จะเชื่อใจกัน เวลาคนไข้ไปหาหมอใหม่ หมอคนนั้นบอกว่าต้องเริ่มต้นใหม่ หมอคนนั้นไม่เชื่อว่ารักษามานี้จะถูกต้อง หมอคนนั้นจะเป็นหมอได้ไหม ถึงบอกว่าพอหลวงปู่มั่นนิพพานไปแล้วนะ มันละล้าละลังเลย พอตัวเองไปเห็นจุดและต่อมขึ้นมา

ท่านพูดนะ ละล้าละลัง จะไปปรึกษาใครก็ไม่ได้ เพราะใจดวงนี้มันก็ไม่เชื่อใครอยู่แล้ว เพราะเขาพูดมานี่ มันไปไหนมาสามวาสองศอก เขาพูดไปคนละเรื่องคนละทางเลย นี่ไง เรามีอาจารย์เป็นที่พึ่งเถิด แต่อาจารย์แบบไหนล่ะ อาจารย์แบบไหน ถ้าอาจารย์เป็นที่พึ่งเถิด ความในใจของเราบอกอาจารย์ อาจารย์ตีผลัวะ ๆๆ ไม่พลาดเลย!!

แต่ถ้าเราไปหาอาจารย์นะ พอบอกปัญหาไปนะ นู่น ตกแม่น้ำไปนู่น กลับไปไหนมาไม่ถูก วิ่งไปหาพระไตรปิฎก วิ่งกลับมา ไอ้เราจนรำคาญ ไอ้คนถามมันจะรำคาญนะ เวลาจะมีครูบาอาจารย์เป็นที่พึ่ง ก็ต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นธรรม ธรรมที่อยู่ในใจครูบาอาจารย์เรา อันนั้นจะพึ่งได้ มันแสดงออกได้ไง มันแสดงออกได้ ของมันมีอยู่กับเรา ถ้าเราพูดไปท่านไม่รู้ แล้วท่านแก้ไขเราไม่ได้ ไม่ใช่หรอก แต่ถ้าใช่เพราะอะไร

ถ้าใช่นะ เพราะสิ่งที่อยู่ในใจเรานี่ ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติมา ท่านต้องผ่านอาการอย่างนี้มาก่อนเรา ถ้าไม่ผ่านอาการอย่างนี้ ไม่มีการแก้ไขอย่างนี้ ท่านจะผ่านไปอย่างนี้ไม่ได้!! ท่านจะผ่านจุดของกิเลสไปอย่างนี้ไม่ได้!! ในเมื่อเราเข้าไปค้นของเราเจอ ถ้าท่านไม่เคยเจออย่างนั้น ท่านจะชำระกิเลสได้อย่างไร ท่านไม่เคยชำระกิเลส ถ้าเราเจอของเรา แล้วท่านตอบมาถูกต้อง นี่มันซึ้งใจนะ มันตีลงกลางหัวใจ!! ตีลงกลางหัวใจ!! แล้วไม่มีปัญญาโต้เถียงเลย แล้วหมอบเลย แล้วต้องแก้ไขเลย แล้วเราจะประสบความสำเร็จตามนั้นไป

นี่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ มันเป็นที่ใจเราเข้มแข็ง ใจเรามีโอกาสยืนได้แล้ว มันถึงจะเป็นอตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ได้ แต่ถ้ายังล้มลุกคลุกคลานอยู่นี่ นี่ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ มันก็ อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ของอวิชชา ของกิเลสตัณหาความทะยานอยาก แต่เราเอามาสดๆ ร้อนๆ จากพระไตรปิฎก โอย.. กอดไว้แน่นเลย นี่ธรรมะพระพุทธเจ้านะ... ธรรมะพระพุทธเจ้านะ... แต่กิเลสเต็มหัว!! เอวัง