ธรรมะตัวเป็นๆ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์พระ วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาพูดทางโลกมันก็เป็นโลก เวลาพูดมันเป็นโลก แต่ถ้ามันเป็นธรรมล่ะ เวลาพูดเป็นธรรมนะ เวลาพูดสื่อออกมา มันก็เป็นโลกทั้งนั้นล่ะ เพราะมันเป็นสมมุติ แต่ธรรมมะล่ะ ธรรมะมันเป็นความจริงในหัวใจ
เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดนะ ท่านบอกว่า ธรรมแท้ๆ มันสื่อออกมาไม่ได้ ธรรมแท้ๆ ความรู้สึกที่เรารู้สึกอันนั้นมันละเอียดอ่อน ความรู้สึกที่เราอยากแสดงออก เราพูดออกมาเป็นคำพูดไม่ได้
นี่พูดถึงเวลาปฏิบัตินะ แต่เวลามันเป็นสัจธรรมขึ้นมามันละเอียดกว่านั้น มันดีกว่านั้น มันลึกซึ้งกว่านั้น ฉะนั้นบอกว่า คำว่า โลก เห็นไหม โลกคือสมมุติบัญญัติ ฉะนั้นธรรมะมันแสดงออก มันอาศัยสื่อ อาศัยสมมุติบัญญัตินี้แสดงออก
การแสดงออกของธรรม มันอาศัยสมมุติบัญญัตินั้นแสดงออก หลวงตาท่านถึงบอกว่า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ หัวใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่โคนต้นโพธิ์นั้น ในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระไตรปิฎกที่ท่านสื่อออกมานั้นเป็นกิริยา ! เป็นสมมุติบัญญัติ สมมุติออกมาแล้ว พระไตรปิฎกน่ะ...สมมุติแล้ว สมมุติคือกิริยาออกมาใช่ไหม แต่ความรู้สึกในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นธรรมแท้ ธรรมแท้ๆ อยู่ในกลางอกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เวลาครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติจริงแล้ว ความรู้สึก ฟังธรรมในหัวใจนั้นคือตัวธรรม สิ่งที่สื่อสารออกมามันเป็นสมมุติแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงทางธรรม เขาเรียกกิริยา อาการของใจ
ความคิดเห็นไหม ความคิด ภาษาพูดเนี่ย... ภาษาพูดกับความรู้สึกที่เราต้องสื่อสารออกมา ความรู้สึกกับคำพูดมันต่างกันไหม แต่เมื่อมันเป็นภาษาพูดเขาเรียกกันว่าสมมุติไง เห็นไหม สมมุติบัญญัติ สมมุติบัญญัติเขาถือว่าเป็นเรื่องโลก แล้วเรื่องโลกเวลาเราศึกษาธรรมขึ้นมาสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตนะ ดูสิ ตัวอักษรมันมีชีวิตไหม.. มันไม่มีชีวิตนะ เราบอกธรรมะที่ตายแล้วไง
ธรรมะในตัวหนังสือนั้นเป็นธรรมะที่ตายแล้ว มันพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือนะ มันตายแล้ว มันไม่มีชีวิต มันไม่มีความรู้สึก แต่คนที่ไปอ่านมันต่างหากล่ะ จิตใจที่มีความรู้สึกไปอ่านหนังสือ แล้วเราศึกษาธรรม นี่เราศึกษาปริยัติ
พอศึกษาปริยัติ ขนลุกขนพองไหม.. ขนลุกขนพองนะ เพราะอะไร เพราะความรู้สึกของเรา โอ้โฮ....พระพุทธเจ้าพูดละเอียดขนาดนั้น พระพุทธเจ้าพูดถึงธรรมะ พระพุทธเจ้าพูดถึงความทุกข์ของเรา โอ้โฮ...มันซึ้งใจมาก มันซึ้งใจมากไง นี่ไงปัจจุบันธรรม มันมีชีวิตขึ้นมาไง มันมีชีวิตขึ้นมา มันมีความรู้สึกขึ้นมา นี่คือธรรมะเป็นๆ !
ธรรมะเป็นๆ คือความรู้สึกของเราสัมผัสขึ้นมา สติก็เป็นชื่อของสติ สมาธิก็เป็นชื่อของสมาธิ ปัญญามันก็เป็นชื่อของปัญญา แล้วปัญญาที่เป็นความจริงกับเราล่ะ สิ่งที่มันเกิดขึ้นกับเราเห็นไหม เราเป็นคนนะ เราเกิดมา เรามีชีวิต เรามีความรู้สึกเห็นไหม เรามีความคิด พอมีความคิดขึ้นมานี่เป็นสัญชาตญาณ เพราะมันเป็นสถานะของมนุษย์
มนุษย์มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ เทวดามีธาตุ ๔ ดูสิ ดูพรหมมีขันธ์ ๑ เห็นไหม ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๑ ขันธ์ ๕ เห็นไหม มีขันธ์ ๕ ของเรา สิ่งนี้เป็นสัญชาตญาณ เป็นสามัญสำนึก เป็นความคิด แล้วมันมีอวิชชาครอบงำมันไว้ไง อวิชชาครอบงำธรรมชาตินะ ครอบงำความรู้สึกนะ ไม่ใช่ความคิดนะ ความคิดเป็นความคิด
แต่เวลามันครอบงำ อวิชชามันครอบงำความรู้สึก ความรู้สึกออกมาเห็นไหมความรู้สึกกับความคิด ความรู้สึก พลังงานกับความคิด อวิชชามันครอบงำอยู่ที่พลังงานนั้น
ฉะนั้นพลังงานนั้นแสดงออกมาโดยสัญชาตญาณ มันเลยเป็นอวิชชาหมดไง มันเลยเป็นโลกหมดไง พอเป็นโลกขึ้นมา แล้วไปศึกษาธรรมะก็เลยไปศึกษาเรื่องโลกๆ มาไง ไปศึกษามานี้มันเป็นความจำทั้งนั้น นี่คือธรรมะที่ตายแล้ว
ธรรมะที่ตายแล้วคือธรรมะที่มันไม่มีชีวิต ธรรมะที่มันเป็นตำรับตำราเห็นไหม นี่คือปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ มันเป็นวิชาการ มันเป็นทฤษฎี มันตายแล้ว มันไม่มีชีวิต มันไม่มีความรู้สึก แต่พอเราตั้งสติขึ้นมา สติเกิดนะ ธรรมะเป็นขึ้นมานะ มันเป็นขึ้นมาที่ไหน มันเป็นขึ้นมา มันเป็นสติจริงๆ
สติคืออะไร ?...มีสติแล้วยังถามว่าสติคืออะไร เรามีสติอย่างไร สติคืออะไร สติคือความระลึกรู้ รู้สึกตัว ความรู้สึกตัวนี้คือสติ เรารู้สึกตัวไหม เรามีสติไหม ดูสิ...เวลาคนเดินนะเห็นไหม เวลาคนเดินเหม่อลอยเห็นไหม เขามีความรู้สึกไหม...มี !...แต่เขาขาดสติ
นี่ไง ดูในธรรมชาติเห็นไหม เวลาคนเขาเหม่อลอย เขาเดินไปด้วยความเหม่อลอย ของเขา ตกร่อง ตกคู ตกทะเล เดินสะดุดล้มหัวกลิ้งไปเลยนะ นี่เขาเดินไปโดยสัญชาตญาณเห็นไหม สติระลึกรู้ ความระวังตัวเขาไม่มี สติมันมาจากจิตไหม.. มันไม่ใช่จิต
สติมันมาจากไหน.. ถ้าเราระลึกรู้ตัวอยู่ เราตั้งสติอยู่ เราจะทำผิดพลาดน้อยลง ความผิดพลาดน้อยลง มีสติเห็นไหม ดูสิ เวลาครูบาอาจารย์เรามีสติเห็นไหม
เราอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะนะ หลวงปู่เจี๊ยะมาเยี่ยมเราที่โพธาราม เวลาท่านสรงน้ำเสร็จ เราจะถ่ายผ้าให้ท่าน หงบเว้ย...ล้ม ! ล้ม ! ล้มตึงเลย มีสติไหม...มีนะ ถ้าไม่มีจะบอกเหรอว่า หงบ...ล้มนะ หงบ..ล้มนะ
ท่านถ่ายผ้าเมื่ออาบน้ำเสร็จ อาบน้ำเสร็จเราก็เปลี่ยนผ้าให้ท่าน พอเปลี่ยนผ้านะ ถ่ายผ้าเปียกใช่ไหม ก็เอาผ้าไปถ่าย ท่านยืนอยู่ เราก็ไปถ่ายผ้าให้ท่าน ล้มอ่ะ! ล้มอ่ะ! ล้มอ่ะ!
เราจะบอกสติมันพร้อมเห็นไหม เราบอกนี้สติมันก็ผิดพลาดได้ แต่มันไม่ใช่ผิดพลาด จิตมันมีสติพร้อมนะ ล้มก็จะรู้ว่าล้ม แต่ช่วยตัวเองไม่ได้ เพราะว่าช่วงล่างของท่านตั้งแต่สะโพกลงมาท่านไม่มีกำลัง แล้วมันจะล้ม ท่านก็รู้ว่าท่านจะล้ม แต่ท่านช่วยตัวท่านเองไม่ได้ เพราะร่างกายท่านป่วยไข้ หงบล้ม.. หงบล้ม เราก็คว้าเลยนะ เต็มที่เลยนะ หงายหลังเลย
มีสติก็รู้ว่าจะล้ม แต่เพราะว่าร่างกายเรามันเจ็บไข้ได้ป่วย ร่างกายสภาพท่อนล่างท่านไม่แข็งแรง ท่านยืนอยู่นะ แต่ท่อนบนของท่านแข็งแรงมาก ตั้งแต่เอวขึ้นมานะ ตีเหล็กนี่สบายมากเลย ตั้งแต่ช่วงเอวไปถึงเท้าเหมือนกับเราเป็นเหน็บชา มันควบคุมไม่ได้ ล้มว่ะ! ล้มว่ะ! ล้มว่ะ! หงายหลังตึงเลย ถ้าเราจะล้มเรายอมให้ล้มไหม เพราะล้มไปมันเจ็บอ่ะ
นี่พูดถึงสติเห็นไหม สติมันเกิดจากจิต นี่ถ้าเกิดจากจิต ธรรมะเป็นๆ เป็นๆ เพราะอะไร เป็นๆ เพราะสติมันเป็นสติจริงๆ ไง มันไม่ใช่ตำรา ในตำรานะ สตินะ... มหาสตินะ...
กูก็เขียนเป็น แต่กูไม่รู้จัก นี่ไง คือธรรมะตายแล้ว
แต่ธรรมะเป็นๆ ธรรมะที่เรารู้สึกขึ้นมาเห็นไหม ถ้ามีสติ มันต้องสติเป็นเรา ความระลึกรู้เรานี่ แล้วสติเห็นไหม ดูนามธรรมสิ ดูความเร็วของคลื่น ความเร็วของแสง ความเร็วต่างๆ สิ แล้วความเร็วของใจล่ะ ใจเวลามันเกิดขึ้นมา แล้วสติเวลามันเกิดขึ้นมา วั๊บ...วั๊บ...วั๊บ ...วั๊บนะ
แต่ถ้าเรามีสติต่อเนื่อง ความต่อเนื่องคือสันตติ คำว่าสันตติ คือเกิดดับ เกิดดับ ความเกิดดับของเขานั้นมันเป็นความคิดของเขา แต่ความเกิดดับของเรา สิ่งใดก็แล้วแต่ ถ้ามีสติปัญญาอยู่นี้ ทุกอย่างที่มันเกิดมันเร็วขนาดไหน เราก็จะมีสติตามของเราไป พอสติตามของเราไปเห็นไหม เราฝึกไว้ไง เรามีสติตลอดไปเห็นไหม
เวลาหลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์ท่านฝึกฝนขึ้นมา จะมีพุทโธตลอดเวลา จะเคลื่อนไหวอย่างไร จะมีพุทโธตลอด จะเหยียด จะคู้ จะหยิบ จะดื่ม จะหยิบ พุทโธ พุทโธ มีสติ ถ้าเผลอก็จะตั้งสติใหม่ เผลอก็จะตั้งสติใหม่ เราก็ฝึกมาอย่างนี้
บวชใหม่ๆ นะ ด้วยการหักดิบมา เที่ยวมาอยู่กับเพื่อนนะ จะไปบวชยังไปเที่ยวอยู่เลย พรุ่งนี้เช้าจะบวชแล้วยังเที่ยวอยู่เลย เวลาบวชมาเลยนะ โอ๊ย...ความผูกพันเห็นไหม มันอึดอัดมาก
พุทโธ พุทโธ พุทโธ มันเหมือนคนหักดิบ คนหักดิบคิดดูสิ หักดิบมา กิเลสมันจะต้านแรงขนาดไหน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธทั้งวันเลย
นี้พอพุทโธนะ สมัยนั้นนะ สมัยที่บวชใหม่ๆ นะ ตำรับตำราก็ยังไม่ได้ค้นคว้า ก็ไม่เข้าใจทั้งนั้นน่ะ พอปฏิบัติไปแล้ว ปฏิบัติได้ด้วยแล้วไปดูครูบาอาจารย์ท่านสอนด้วย หลวงปู่มั่นเห็นไหม พุทโธตลอดเวลา
เช่น หลวงตาท่านไปอยู่กับหลวงปู่มั่นใหม่ๆ แล้วท่านบอกว่าจิตมันเสื่อมหมดเลยนะ ขึ้นไปกราบหลวงปู่มั่นน่ะ หมดเลย.. ทุกข์มาก
หลวงปู่มั่นท่านสอนนะ จิตมันเหมือนเด็กๆ มันต้องมีอาหารกินอยู่ของมัน เด็กมันมีขนมเห็นไหม มีขนมล่อเด็ก เด็กมันจะกินขนมของมัน จิตนี้มันเหมือนเด็ก มันต้องกินอาหารของมัน ฉะนั้นมันจะไปเที่ยวไหนปล่อยมันไป อย่าไปกังวลกับมัน รักษาอาหารไว้ กำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธไว้
เด็กมันไปถึงที่สุดแล้วนะ มันหิวของมัน มันไม่มีอาหารกินนะ มันต้องกลับมาหาผู้ใหญ่เพื่ออาหารนั้น พุทโธ พุทโธ พุทโธไปนะ
หลวงตาท่านเล่าเอง พอ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ไปเรื่อยนะ เพราะจิตมันเสื่อมหมด ตอนนั้นจิตท่านเสื่อมหมดเลย เพราะท่านดูจิต ดูจิตนี่แหละ เสื่อมไป ๑ ปีกับ ๖ เดือน ไปหาหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นสอนนะ แล้วพอ พุทโธ พุทโธ พุทโธ ๓ วันแรก...
เพราะคนเรามันเคยปล่อยใจตามสบาย คำว่าดูจิตมันปล่อยตามสบาย ตั้งสติไว้กับผู้รู้ แล้วให้ผู้รู้มันจะเป็นอย่างไรก็ได้ แล้วดูตามมันไป ถ้ามันควบคุมได้ มันก็ได้ชั่วครั้งชั่วคราว เพราะอะไรรู้ไหม เพราะมันไม่มีจุดยืน ไม่มีแก่น ไม่มีสถานที่ ไม่มีการยึดไว้ ท่านก็เคยทำได้ แล้วมันเสื่อมไป
พอมาบอกว่า เด็กมันต้องกินอาหารนะ ถ้าเด็กมันจะเที่ยว มันจะเสื่อมไป มันจะเร่ร่อนไปขนาดไหนช่างหัวมัน ควบคุมอาหารไว้ ดูแลอาหารนี้ไว้
หลวงตาท่านบอกว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ ๓ วันแรกอกแทบระเบิด เพราะมันเคยตัว นี่เวลาดูจิต ดูจิต ปล่อยจิตตามสบาย ปล่อยให้มันไป โอ๊ย...ว่าง สะดวกสบาย นั่นแหละมันเป็นทำทางกิเลสไง ธรรมะในตำรามันเป็นธรรมะที่ตาย
แต่เรามาปฏิบัติเราเหมือนคนตาย เพราะอะไร เพราะมันไม่ศึกษาดูแล มันปล่อยตามอารมณ์ความรู้สึกไง ปล่อยตามกิเลส กิเลสมันโดนอวิชชาครอบงำอยู่แล้ว ศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้ามา แล้วมาปฏิบัตินั่นล่ะคนตาย คนตายก็ไม่มีสติไง คนตายก็ปล่อยมันตามสะดวกสบายไง
แต่นี่ปล่อยเหมือนคนตายใช่ไหม ดูสิ คนตายทั้งเป็นน่ะ คนตายทั้งเป็นเขายังไม่ตายนะ เขายังมีชีวิตอยู่นะ แต่เขาเหมือนคนตายทั้งเป็นเพราะอะไร เพราะเขาไม่มีแก่นสารในตัวเขา เพราะเขาไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์กับเขาเลย เพราะเขาเหมือนคนตายแล้ว
นี่ก็เหมือนกัน ดูไปเฉยๆ มันเหมือนคนตายแล้ว คนตายแล้วเพราะไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ใช่ไหม ก็ปล่อยมันไปตามอำนาจของมัน ปล่อยไปตามธรรมชาติของมัน ปล่อยตามกิเลสมัน กิเลสมันชักนำไปก็เหมือนคนตายแล้ว นี่ไง...ทั้งๆ ที่มีชีวิตอยู่ เหมือนคนตาย ! ธรรมะในตำราคือ ธรรมะที่ตายแล้ว คนที่ปฏิบัติตามกิเลสคือคนมันตายทั้งเป็น !
แต่พอท่านบอกว่า พุทโธ ๓ วันแล้วอกแทบระเบิดเลย สุดท้ายแล้วพอ พุทโธ พุทโธ พุทโธไป เพราะพุทโธคืออาหารของมัน พอเป็นอาหารของมัน นี่ไงเราปล่อยจิตไปตามธรรมชาติของมัน ปล่อยตามสบายของมัน มันก็ไปตามธรรมชาติของมัน แล้วเราก็ตามมันไป เพราะจิตกับเราก็เป็นอันเดียวกัน เพราะเราไม่เข้าใจ เพราะเราเหมือนคนตาย ทั้งๆ ที่มีชีวิต ทั้งๆ ที่มีสติ ทั้งๆ ที่ยังปฏิบัติอยู่ เหมือนคนตาย ! มันไปตามความรู้สึกหมด แต่สติอยู่ไหนไม่รู้ ตัวเองอยู่ที่ไหนไม่รู้
พอไม่รู้ขึ้นมา พุทโธ พุทโธ พุทโธ ไปเรื่อยๆ พอพุธโธไปเรื่อยๆ จิตมันเริ่มสงบตัวลงมา เพราะอะไร เพราะมันมีที่เกาะ
มีที่เกาะหมายถึงว่า มันจะไปไหนก็แล้วแต่ เราพุทโธไว้ เพราะเราเคยดูจิตมาก่อน มันก็ไปตามแต่ความรู้สึก
พุทโธ พุทโธ พุทโธ ใหม่ๆ ก็สักแต่ว่า แต่บังคับไว้ด้วยสติ บังคับ พุทโธ พุทโธ พุทโธ
ถ้ามันหายไป.. พุทโธใหม่ พุทโธใหม่ พุทโธใหม่
พอพุทโธ พุทโธ พุทโธ มันก็เริ่มมีหลักมีเกณฑ์เห็นไหม เริ่มมีที่เกาะเห็นไหม พอจิตมันเริ่มมีที่เกาะขึ้นมา นี่ไง...สิ่งที่ว่ามันเที่ยวไปตามธรรมชาติของมัน
หลวงปู่มั่นบอกว่าถ้ามันขาดอาหารนะ เด็กมันไปเที่ยวของมันตามแต่ความไม่เข้าใจของมัน ตามการเร่ร่อนของมัน ถ้ามันหิวกระหายไม่มีอาหารมันก็ต้องกลับมาหาเรา ท่านก็พุทโธ พุทโธ พุทโธไปเรื่อย พุทโธมันเป็นอาหารของใจ
พุทโธ พุทโธ พุทโธไป พอจิตมันเริ่มสงบเข้ามามันเป็นฐานของมัน นี่ไง...พอท่านภาวนาได้ ท่านเข้าใจได้ เห็นได้เห็นไหม แล้วท่านมาเล่าให้พระฟัง
หลวงตาเวลาท่านปฏิบัติ ท่านก็เอาประสบการณ์ของท่านมาเล่า ท่านบอกว่า ตอนไปปฏิบัติใหม่ๆ เราก็ปฏิบัติไม่เป็น พอไปหาหลวงปู่มั่น พอจิตเสื่อมก็ขึ้นไปหาท่าน
ท่านก็บอกว่า จิตนี้เหมือนเด็ก ธรรมชาติของเด็ก มันต้องมีอาหารของมัน แต่นี่เด็กมันเร่ร่อน มันเที่ยวของมัน เรารักษาอาหารไว้ ถ้าเด็กไม่มีอาหารมันต้องกลับมาหาอาหาร โดยธรรมชาตินะ ถ้าเด็กหลงก็หลงไปเลย นี่การเปรียบเทียบ
แต่ใจเหมือนเด็กใช่ไหม มันก็คือความรู้สึกเรานี่แหละ เวลามันคิดออกไป มันคิดออกไปจากเรานี่แหละ แต่เวลามันไปจนถึงที่สุดแล้ว ไปโดยที่ไม่มีแก่นสาร ไปโดยที่ไม่มีจุดยืนแล้วมันจะไปไหนล่ะ มันก็ต้องกลับมาสู่ใจเรานี่แหละ
เราไปพุทโธ พุทโธ พุทโธไว้ มันมีแก่นของมันใช่ไหม เวลามันกลับมา เวลามันสงบเข้ามา มันกลับมาที่ใจนี่ มันก็จะ..อ๋อ.. เพราะจิตมันสงบๆ อย่างนี้เอง ท่านถึงบอกเลยนะ เวลาท่านภาวนาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป ท่านกลับมาพูดให้ลูกศิษย์ท่านฟังไง
บอกว่า พอเราคิดถึงย้อนหลังแล้วนะ เวลาหลวงปู่มั่นท่านสอน เราภาวนาไม่เป็น มันเหมือนกับทารกเลย เรานี่มันเหมือนกับเด็กอ่อน เหมือนกับคนไร้เดียงสาจริงๆ เลย แต่พอเราภาวนาเข้าไป มันเห็นเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา ทำตามนั้นขึ้นมาจนเราภาวนาเป็นแล้ว เราจะมองกลับไปดูตรงนั้น มันจะเห็นสภาพของมัน
แต่นี่ของเราปฏิบัติกัน เรายังจับต้นชนปลายอะไรไม่ได้เลย แล้วเราก็ไปยึดเอาธรรมะที่ตายแล้วไง สติต้องยังเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็ไปสร้างภูเขาไว้ลูกหนึ่ง สร้างสถานที่ไว้สถานที่หนึ่ง สติเป็นสถานที่อย่างนั้น ไอ้ใจที่แห้งแล้งอยู่นี่ไง ไอ้ธรรมะนะ ปัญญาก็เป็นภูเขาอีกลูกหนึ่งกองอยู่ข้างหน้าโน้นนะ นี่ถ้าเป็นสติก็เป็นภูเขาบรรทัด เวลาปัญญาก็เป็นภูพานโน่น มันก็อยู่นอกกายหมด นอกจิตหมดเลย ไปอยู่ในตำราหมดไง นี่ธรรมะที่ตายแล้ว
แต่ถ้าธรรมะที่มันไม่ตาย มันจะเกิดขึ้นมาจากเรา ภูเขามันก็เกิดที่ในหัวใจเรานี่แหละ มันเป็นความรู้สึกที่เราสร้างขึ้นมา สติของเราก็สร้างของเราขึ้นมา ปัญญาเราก็สร้างของเราขึ้นมา ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมา ความเป็นจริงของเรามันจะเกิดที่ไหน ความเป็นจริงเกิดมาอย่างนี้
ธรรมะที่เป็นๆ ธรรมะที่มีความรู้สึก ธรรมะที่เราจับต้องเป็นสันทิฏฐิโก นี่สันทิฏฐิโกเห็นไหม สิ่งที่เป็นทฤษฎีมันเป็นตำรานะ ถ้าเราบอกว่าธรรมวินัยเป็นศาสดาของเรา เราก็เคารพนะ
เวลากรรมฐานครูบาอาจารย์ของเรานะ หลวงปู่มั่น หลวงตา ท่านบอกเลย เวลาธุดงค์ไปในป่าเห็นไหม ระลึกขึ้นมา สมมุติขึ้นมาด้วยความรู้สึก พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วกราบ.. กราบด้วยหัวใจ.. กราบด้วยความเคารพนบนอบ
แต่พวกเราเป็นปุถุชน พวกเราเป็นคนที่จิตใจเร่ร่อน จิตใจที่ไม่มีจุดยืน ต้องสร้างพระพุทธรูปขึ้นมา สมมุติเป็นองค์สมเด็จพระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กราบพระต้องมีรูปสมมุติ รูปเคารพให้กราบ เห็นไหม จิตใจมันต่างกัน
แต่ถ้าจิตใจมันมีหลักมีเกณฑ์ นึกขึ้นมาเลย จะกราบที่ไหนก็ได้ จะทำอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าเราไม่มีหลักมีเกณฑ์ขึ้นมา เราต้องมีรูปเคารพ ต้องมีวัตถุที่เราเห็นซึ่งหน้า จิตใจเราถึงจะยอมกราบ เราไม่กล้ากราบเลย พอกราบขึ้นไปนะ คนบ้าเหรอ กราบอากาศ ไม่มีอะไรก็กราบได้
กราบ.. กราบพระพุทธเจ้าเว้ย...กราบจากหัวใจเว้ย...กราบจากความรู้สึกจากภายใน
นี่ไง..ถ้าธรรมมันมีขึ้นมาจากภายใน ธรรมะเป็นๆ มันทำให้เราเข้มแข็งขึ้นมา ทำให้เรามีจุดยืนขึ้นมา ฉะนั้นกรรมฐานเราไม่ใช่ลบหลู่ เห็นไหม...เวลาบอกกรรมฐานนี่ลบหลู่ บอกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าเห็นไหม ธรรมของพระพุทธเจ้า พุทธพจน์.. พุทธพจน์..
พุทธพจน์ก็เคารพนะ ธรรมและวินัย ถ้าไม่มีพระพุทธเจ้า เราจะมาเป็นภิกษุ เราจะมาบวชพระกันมาไม่ได้หรอก ที่เราบวชพระขึ้นมาก็ธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ
ญัตติจตุตถกรรม วิธีการบวชพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ พระพุทธเจ้าบังคับไว้ พระพุทธเจ้าทำเป็นตำรามา ถ้าปฏิเสธตำราเลย เราจะมานั่งเป็นพระอยู่นี่กันได้ไหม ที่เรามานั่งเป็นพระอยู่นี้ เรามาจากไหน เราก็มาจากตำรานั่นล่ะ เรามาจากตำรานะ เรามาจากธรรมะที่ตายๆ นั่นล่ะ
เพราะธรรมะที่ตายๆ พระพุทธเจ้าวางเป็นพระธรรมและวินัยไว้ เป็นศาสดาของเรา เป็นสิ่งที่บังคับเรา แต่สิ่งที่จะเป็นความจริงเป็นๆ น่ะ มันต้องเป็นความรู้สึกของเราขึ้นมา มันจะเป็นคุณสมบัติของเรา มันจะแก้กิเลสของเรา ศาสนทายาทมันเกิดที่นี่
ถ้ามันเกิดที่นี่ขึ้นมาเห็นไหม เราถึงต้องทำความจริงกันขึ้นมา ถ้าทำความจริงขึ้นมาเห็นไหม สาธุ ! ศึกษาไหม ? ก็ต้องศึกษา ศึกษาแล้ววางไว้ อย่ายึดมัน !
เวลาหลวงตาท่านไปหาหลวงปู่มั่น ท่านเป็นมหาเห็นไหม หลวงปู่มั่นบอกเลย มหา...มหาเรียนมาจนเป็นมหานี่ความรู้ก็มากนะ สิ่งที่เรียนมาเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะประพฤติปฏิบัตินะ ให้เอาความรู้ ทฤษฎีที่เราเรียนมาทั้งหมด ใส่ลิ้นชักเอาไว้นะ ใส่ลิ้นชักในสมองเนี่ย แล้วลั่นกุญแจไว้ด้วย อย่าให้มันออกมา เพราะถ้าอย่างนั้นเวลาเราปฏิบัติไปเห็นไหม ธรรมะในตำราเป็นธรรมะที่มันตายแล้ว เวลาปฏิบัติขึ้นมาโดยที่ยังปฏิบัติไม่ได้ ก็ครึ่งเป็นครึ่งตาย
อย่างคนที่กำลังจะตายอยู่เนี่ย คนพลั้งเผลออยู่เหมือนคนตายทั้งเป็น แล้วความจริงมันจะเกิดอย่างไร ไอ้ธรรมะก็ธรรมะตายๆ ไอ้ปฏิบัติก็ครึ่งเป็นครึ่งตาย แล้วเวลาปฏิบัติจริงๆ ขึ้นมามันไม่เกิดขึ้น แต่พอเวลาปฏิบัติจริงๆ เกิดขึ้นมา นี่ธรรมะเป็นๆ สติก็เป็นสติของเรา ปัญญาก็เป็นปัญญาของเรา ไม่ใช่ปัญญาภูเขาลูกหนึ่ง ไปสมมุติเป็นปัญญาอยู่โน่น..
อาการความคิดมันไม่ใช่จิตนะ อาการความคิด ดูสิ อาการความคิดอาการของจิต เวลามีความคิดขึ้นมามันเป็นอาการของจิตทั้งนั้น แล้วตัวจิตล่ะ นี่ไง เราถึงบอกว่า สมมุติเป็นภูเขาไว้ลูกหนึ่ง แล้วเวลาปัญญามันเกิดล่ะ เวลาปัญญาของเรามันเกิดขึ้นมาน่ะ มันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เห็นไหม โลกุตตรปัญญา
ฉะนั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นมา มันเกิดขึ้นมาจากการประพฤติปฏิบัติ มันเกิดขึ้นมาจากความจริง ถ้าความจริงอย่างนี้เกิดขึ้นมา มันถึงเป็นสมบัติของเรา ถ้าเป็นสมบัติของเรานะ เรารู้จริงขึ้นมานะ ครูบาอาจารย์ถึงว่า...สาธุ ครูบาอาจารย์มีความสำคัญมาก สำคัญตอนชี้นำ ตอนชักนำ
ดูสิ...เวลานักมวยที่เขาขึ้นเวที เขาชกกันน่ะ ใครเป็นคนชก นักมวยเป็นคนชกใช่ไหม แต่เวลาเข้าไปมุมนี่ พี่เลี้ยงสำคัญไหม พี่เลี้ยงเขาแก้ทางมวยให้นะ
ยกที่ ๑ เวลาเข้าไปต่อยเขานะ โดนเขาต่อยหน้าหงายทั้งหมดเลย
ยกที่ ๒ เข้าไปพี่เลี้ยงเขาให้น้ำแล้วนะ ถ้าออกมาแล้วยังต่อยเหมือนเดิมนะ แสดงว่าพี่เลี้ยงโง่น่าดูเลย แก้ทางไม่เป็น
ยกที่ ๑ ออกมาชกกับเขา เขาสวนหมัดมาทีไรหน้าหงายตลอด แล้วยกที่ ๒ ออกมานะ ถ้าเขาป้องกัน เขายกมือให้สูงขึ้นใช่ไหม เขาใช้ทางหลบหลีกขึ้นมาได้นะ พี่เลี้ยงคนนั้นใช้ได้ พี่เลี้ยงนั้นแก้ทางมวยให้ เวลาเข้ามุมเห็นไหม...พี่เลี้ยงเขาให้น้ำด้วย เขาต้องแก้ทางมวยให้ด้วย ! ถ้าเขาไม่ได้แก้ทางมวยให้ด้วย เขาไม่ควรมาเป็นพี่เลี้ยง
นี่ขนาดเป็นพี่เลี้ยงนะ แล้วนี่เป็นครูบาอาจารย์ของเราที่จะบอกวิธีการในการประพฤติปฏิบัติของเรา ให้หลบหลีกกับกิเลสในหัวใจของเรานะ ไอ้ความที่เกิดขึ้นมาในใจของเรานี้เป็นกิเลสของเราล้วนๆ นะ เรายังไม่รู้ว่าเป็นกิเลสของเราเลย
แล้วครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติมา ท่านแนะนำเรา ท่านรู้ได้อย่างไรว่า สิ่งที่ทำอยู่นี้มันต้องหลบหลีกอย่างไร เราจะต้องหลบหลีกมันไป ! เพื่อให้มันมีกำลังขึ้นมาเห็นไหม ถ้าหลบหลีกมันไปเพื่อเอากำลังขึ้นมาแล้วนะ เดี๋ยวเราจะค่อยกลับมารื้อฟื้นทำลายมัน
แต่ถ้ายังไม่ทันไรเกิดขึ้นมาเห็นไหม จะย้ายภูเขานะ ภูเขาน่ะขวางทาง จะย้ายภูเขาทั้งลูกเลย ภูเขาทั้งลูกนี้ย้ายมันไม่ได้หรอก เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเขาเจริญนะ เขาไปตามไหล่เขาเห็นไหม ถนนนี้เขาตัดไปตามไหล่เขา อ้อมขึ้นภูเขา ข้ามภูเขาไปโดยการวนภูเขาลงไปอีกฟากหนึ่งของภูเขาได้สบายๆ เลย นี่ก็เหมือนกันนะ ดูสิ เขาไม่ได้ย้ายภูเขานะ เขาตัดถนนขึ้นไปบนภูเขานั้น แล้วก็ข้ามภูเขานั้นไป เขาได้ประโยชน์ของเขา
นี่ก็เหมือนกัน ทิฐิมานะในความเห็นของตัวน่ะ มันขวางอยู่ ! มันขวางอยู่ ! แล้วเราก็ปฏิบัติน่ะ พุทโธ พุทโธ จะเอาสติ จะเอาสมาธินะ แต่ที่ยึดมั่นถือมั่นอยู่นั้นนะมันขวางอยู่ ภูเขาทั้งลูกน่ะเห็นไหม ถ้าภูเขาทั้งลูกมันขวางอยู่อย่างนี้ แล้วจะปฏิบัติอะไร ปฏิบัติแล้วทำไมไม่ได้ผล ก็คนตายน่ะ !
ธรรมะที่จำมามันก็ตายอยู่แล้ว มันเป็นทฤษฎี สติก็เป็นสติ สมาธิก็เป็นสมาธิ ปัญญาก็เป็นปัญญาของพระพุทธเจ้า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรามันเป็นสมมุติทั้งหมด มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาโดยโลก ปัญญาโดยทิฐิมานะ ปัญญาโดยการจำมา
ตัวเองสกปรกโสโครกเลย แล้วไปจำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาน่ะ ธรรมะของพระพุทธเจ้ามันสะอาด พอมารวมกับความสกปรก รวมกับกิเลสของตัวเราเอง มันแก้กิเลสได้ไหม ธรรมะของพระพุทธเจ้านั่นนะ
คนป่ามีปืน โจรนะมันมีปืนเอ็มสิบหกเลย ไอ้เรานะมีแต่มือเปล่า นี่ไง กิเลส ทิฐิมานะมาจำธรรมะของพระพุทธเจ้ามาไง มันบอกว่านี่คือธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วมันก็ใช้เป็นปืนยิงตัวเองไง ธรรมะเป็นอย่างนั้น สติเป็นอย่างนั้น ปัญญาเป็นอย่างนั้น อู๊ย.. เพราะยึดมันถึงมีกิเลส พอปล่อยมันไม่มีกิเลสเลย ไม่มีอะไรเลย มันยิงเข้าแสกหน้าน่ะ ล้มลงตายต่อหน้ามันนะ ยังไม่รู้เลยว่าตายแล้วนั่นน่ะ
นี่ไง...ปฏิบัติโดยกิเลส โดยศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้าโดยกิเลสไง โดยความยึดมั่นถือมั่นของตัว นี่ไงมันเลยได้ธรรมะตายๆ มา ธรรมะตายๆ ยังพอแรงนะ นี่ธรรมะแบบว่ามันเหมือนม้าไม้ ชักม้าเข้าไปในเมือง พอเขาเปิดมาเขาก็ทำลายเมืองนั้นหมดเลย
นี่ก็เหมือนกัน เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาทำลายตัวเอง คิดว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นสะอาดบริสุทธิ์ไง ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสุดยอด แต่มันเป็นการสุดยอดในการจำ
ถ้าจำมาเห็นไหม ดูสิ...ดูทางโลกเขาเห็นไหม ที่เขาจำมา เขาศึกษาศาสนาในวันอาทิตย์ นักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก เขาศึกษาแล้ว เขารู้จักธรรมะ เขารู้ธรรมะเป็นชีวิตประจำวันของเขา เขาใช้ในชีวิตประจำวันของเขา นี่เป็นเรื่องโลกนะ
นี่เราศึกษาธรรมของพระพุทธเจ้ามา แต่เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมาน่ะ ปริยัติ เราต้องปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติขึ้นมานะ ศึกษามาแล้วนะ ธรรมของพระพุทธเจ้าจำมา
แล้วปฏิบัติล่ะ ปฏิบัติถ้าเป็นคนดีมันต้องดีด้วยเนื้อหาสาระ เราเป็นคนดีจริงหรือเปล่า เรามีศีลจริงหรือ เรามีสมาธิจริงไหม เรามีปัญญาขึ้นมาจะชำระกิเลสได้จริงหรือ แล้วปัญญาที่ชำระกิเลสกับปัญญาที่ศึกษามากับปัญญาทางโลกน่ะ มันต่างกันอย่างไร
ปัญญาทางโลกน่ะ มันปัญญาจากสมอง ปัญญาจากภพ ปัญญาจากจิต มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาอย่างนี้คอมพิวเตอร์ดีกว่ามึงอีก คอมพิวเตอร์เดี๋ยวนี้เขา...ข้อมูลในคอมพิวเตอร์น่ะมึงจำสู้เขาไม่ได้นะ ข้อมูลคอมพิวเตอร์มึงจำไม่ทันหรอก มันอยู่ในคอมพิวเตอร์เยอะแยะไปหมด มึงจะจำได้อย่างไร
แล้วไปจำธรรมะมาบอกว่าเรารู้ธรรมะๆ มันจริงหรือเปล่า ถ้ารู้ธรรมะทำไมสงสัย ถ้ามันรู้ธรรมะขึ้นมาทำไมเรางง ถ้ามันรู้ธรรมะทำไมเราทุกข์ ถ้ามันรู้ธรรมะขึ้นมาทำไมเราแก้กิเลสไม่ได้ ทำไมเราต้องเกิดต้องตายอยู่อย่างนี้
แต่ถ้ามันรู้จริงขึ้นมา ถ้าจิตมันสงบเข้ามานะ มันจะเข้ามาสู่ตัวมันเอง ถ้าเข้าสู่ตัวมันเอง นี่ไงธรรมะมันเริ่มเป็นขึ้นมา เพราะมีสติ มีสมาธิ ถ้ามีสมาธิขึ้นมา จิตน่ะมีสมาธิขึ้นมา จิตมันสงบเข้ามา มันเห็นตัวของมันเอง
ถ้ามันเห็นตัวของมันเองเห็นไหม มันรู้แจ้ง มันรู้มันแจ่มแจ้งนะ สติเราก็รู้ว่าสติ พอเกิดสมาธิเราก็รู้ว่าสมาธิแล้ว แต่ปัญญายังเกิดไม่เป็น เพราะปัญญามันเกิดเองไม่ได้ เห็นไหม นี่ศีล สมาธิ ปัญญา
เวลาเราศึกษาธรรมมะนะ นักธรรมโท นักธรรมเอก โอ้โฮ...ไปเรียนธรรมร้อยประโยคเลย โอ๊ย...ปัญญารอบรู้เลย ปัญญารอบฝั่ง ทั่วโลกจักรวาลเข้าใจหมดเลย แล้วแก้กิเลสได้ไหม มันเป็นไปไม่ได้เห็นไหม...มันเป็นไปไม่ได้ !
ปัญญาจะเกิดเองไม่ได้ ถ้าปัญญาไม่เกิดจากการฝึกฝน แล้วฝึกฝน ฝึกฝนอย่างไร นี่ไง...ธรรมและวินัยเห็นไหม ครูบาอาจารย์สำคัญตรงนี้
สำคัญตรงที่ครูบาอาจารย์จะจุดประเด็นให้เราว่า สิ่งที่เป็นความรู้ ความรู้สึกความสุข ความสุขที่เป็นสัมมาสมาธิน่ะ มันเป็นความสุขที่จริงหรือ ความสุขอย่างนี้ มันอยู่ใต้กฎของอนิจจังไหม ความสุขอย่างนี้มันแปรปรวนจริงหรือเปล่า
ถ้าความสุขจริง ความสุขในการคายสำรอกกิเลสออก มันเป็นความสุขอย่างไร ถ้าสำรอกคายกิเลสออก มันมีเหตุผลอย่างไรมันถึงสำรอกคายกิเลสออกไป ถ้ามันไม่มีเหตุผลสำรอกคายกิเลสออกไป มันจะเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร
เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้านะ ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาเห็นไหม ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนัง... ยะถาภูตังฆ่ากิเลสตายไปแล้ว ยะถาภูตัง ญาณะทัสสะนะ จะรู้ว่าสิ่งที่ชำระกิเลสนั้น ชำระอย่างไร
ถ้าชำระอย่างไรเห็นไหม สิ่งที่ชำระแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงธรรมจักรขึ้นมา พอแสดงธรรมจักรขึ้นมานะ พระปัญจวัคคีย์ขนาดใช้ปัญญาตรองตามนะ พระปัญจวัคคีย์ทำสมาธิกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ๕ ปี มันมีพื้นฐานอยู่แล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจักรขึ้นไปนะ แสดงธรรมจักรได้เลย
ญาณัง อุทะปาทิ ปัญญา อุทะปาทิ วิชชา อุทะปาทิ เวลาญาณมันเกิด ความสงบเกิดขึ้น ปัญญาเกิดขึ้น ญาณเกิดขึ้น ความรู้เกิดขึ้น ความรู้แจ้งเกิดขึ้น มันเกิดขึ้นเพราะอะไร เพราะมันมีพลังงาน มันมีกำลังสมาธิ กำลังมรรคของใจในปัญจวัคคีย์ ในใจของพระอัญญาโกณฑัญญะ ท่านทำสมาธิอยู่แล้วเห็นไหม ญาณเกิดขึ้น พลังงานเกิดขึ้น ต่างๆ เกิดขึ้น ญาณเกิดขึ้น วิชชาเกิดขึ้น ความรู้เกิดขึ้น มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
เราจะไปขอทานนะ เรายังไม่มีกะลาเลย ไอ้คนที่มีเมตตาจะให้เศษตังค์น่ะ ไม่รู้จะให้ได้อย่างไร เพราะเราไม่มีกะลาใส่เศษสตางค์นั้น นี่ก็เหมือนกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศนาว่าการ ก็จะให้ธรรมะน่ะ เรายังไม่มีกะลารองรับเลย ถ้ามีกะลารองรับมันจะได้ธรรมะนั้นมา ขอทานยังมีกะลานะโว้ย !!
แล้วปฏิบัติกันน่ะ ธรรมะตายๆ ธรรมะไม่มีหลักมีเกณฑ์ในหัวใจ แล้วมึงจะเอาอะไรเป็นความจริงล่ะ ถ้ามันเอาความจริงขึ้นมาเห็นไหม มีกะลาไหม ดูสิ ภพไง ปัญจวัคคีย์ พระอัญญาโกณฑัญญะ พระอัสสชิ ท่านมีภพของท่าน ท่านมีสมาธิของท่าน ท่านมีฐานรับของท่าน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมขึ้นมาเห็นไหม ดูสิ เวลาเขาให้ทานกัน เขาให้เศษตังค์ เอากะลารองรับ แต่นี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม เอาภพของเรา เอาจิตของเรารองรับ มันมีความรู้สึก มันมีความรับรู้ขึ้นมา นี่ไงธรรมะเป็นๆ มันเกิดอย่างนี้
มันไม่ใช่ธรรมะตายๆไปศึกษามาเป็นธรรมะที่ตายแล้ว นี่บอกธรรมของพระพุทธเจ้าๆ พุทธพจน์นะ อย่าเถียงนะ พุทธพจน์นะ นั่นเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า
แม้แต่เราปฏิบัติเราก็ไม่ได้ปฏิเสธกัน ในการปฏิบัติไม่มีใครปฏิเสธธรรมะ พระพุทธเจ้าหรอก แต่ดูสิ ดูทางวิชาการ ทางเทคโนโลยี ทางต่างๆ ก็แล้วแต่ เด็กที่เข้ามาศึกษาจบแล้ว เขาต้องมาฝึกงาน เขาต้องมาทำการวิจัย เขาจะทำงานวิจัยจนเขามีทางวิชาการ เขาได้หลักวิชาการเป็นศาสตราจารย์ เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ต่างๆ ของเขาขึ้นมา เขาต้องฝึก เขาต้องทำวิจัยของเขา เขาถึงจะมีความรู้ของเขาขึ้นมา นี่ก็เหมือนกัน เราศึกษามาแล้วเห็นไหม เราศึกษาของเรามันก็ทางวิชาการ
การปฏิบัติของเรามันเป็นความจริงขึ้นมาไหม แต่ถ้าการปฏิบัติขึ้นมา เวลาเราปฏิบัติขึ้นมามันสวมรอยทั้งนั้น มันบังเงา มันเป็นทิฐิมานะเพราะอะไร เพราะมันพูดธรรมะแบบนกแก้วนกขุนทอง มันไม่ใช่ธรรมะจากความรู้สึก มันไม่ใช่ธรรมะจากที่เราทำการวิจัยมา ทางวิชาการที่เรารู้จริงขึ้นมา มันมีหลักวิชาการ มีองค์ความรู้ขึ้นมา เพื่อจะเสนองาน งานอย่างนั้นสังคมตรวจสอบแล้วจะเป็นความจริง
นี่ก็เหมือนกัน เวลาผู้ที่ปฏิบัติขึ้นมา มันมีมรรคญาณ มันมีความจริงขึ้นมา นั่นคือการวิจัยของจิตดวงนั้น ถ้าจิตดวงนั้นมันมีการวิจัยตรงนั้น จนการถอดถอนทำลายกิเลส ชำระกิเลสออกมาตามการปฏิบัติ ตามมรรคญาณ ตามปัจจัตตัง ตามสันทิฏฐิโกของใจดวงนั้นที่ปฏิบัติมา เวลามันแสดงออกมาโดยทางวิชาการ ไม่มีใครจะค้านได้เลยนะ ความจริงนี่โลกค้านไม่ได้เลย !
ถ้าธรรมะเป็นๆ ขึ้นมา มันไม่ต้องเอาธรรมะตายๆ มาค้านเลย ธรรมะที่ตายแล้ว ธรรมะของคนครึ่งเป็นครึ่งตายเอามาค้านความจริงไม่ได้เลย เพราะความจริงมันพ้นจากการเกิดและการตาย มันพ้นออกไปทั้งหมด แม้แต่ที่เป็นครึ่งเป็นครึ่งตายก็จะไม่รู้หรอก ว่าธรรมะความจริงเป็นอย่างใด
ถ้าธรรมะเป็นความจริงขึ้นมา มันเป็นจริงมาจากไหน ? มันจริงจากเราล้มลุกคลุกคลานเนี่ย ไม่มีใครหรอกที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมาแล้วจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ จะเดินมาบนพรมแดงมา ไม่มีหรอก !
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๖ ปีนะ หลวงปู่มั่นท่านสมบุกสมบั่นมาแค่ไหน ? สมบุกสมบั่นมาเพื่ออะไร ? สมบุกสมบั่นมาเพื่อเอาชนะตนเอง เวลาประพฤติปฏิบัติ สมาธิลงไม่ได้เพราะตัณหามันล้นฝั่ง ปัญญาไม่เกิดขึ้นเลย เพราะสมาธิมันตบตา กิเลสมันตบตาหัวใจอยู่อย่างนั้น สมาธิเป็นสมาธิ แต่ปัญญากิเลสมันตบตามาตลอด
นี้ตบตามาตลอด เวลาศึกษาขึ้นมาก็รื้อค้นธรรมะของพระพุทธเจ้า นี่ธรรมะๆ ถ้ามีปัญญาขึ้นมา มีสมาธิขึ้นมา โอ๊ย... เวลาพิจารณามันจะบรรเจิดมาก ปัญญามันจะหมุน มันจะเป็นไปของมันเลย สิ่งนั้นมันเป็นโลกียปัญญา
ถ้ามันพิจาณาขึ้นไปแล้ว มันจะเป็นเรื่องตทังคปหาน มันปล่อยวางชั่วคราว การปล่อยวางอย่างนั้นมันไม่ถึงกับชำระกิเลส แต่มันพิจารณาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ถ้าโดยการประพฤติปฏิบัติ โดยการตรวจสอบไปตลอดเวลา ถึงที่สุดแล้วมันจะสมุจเฉทปหาน เวลามันฆ่ากิเลสนะ สังโยชน์ขาด !
เวลามันขาด มันขาดอย่างไร สักกายทิฏฐิมันขาดออกไปอย่างไร เวลาธรรมชำระกิเลสออกไปขาดเห็นไหม.. เห็นไหม...ธรรมะตัวเป็นๆ เลย ! เพราะผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต ! มันเป็นๆ อยู่กลางหัวใจ มันเป็นธรรมะเป็นๆ ไม่ใช่ธรรมะที่ตายแล้ว !
ฉะนั้นธรรมะที่ตายแล้ว มันศึกษาก็ศึกษานะ นี่พูดถึงไม่ใช่ว่าไม่ให้ค้นคว้าไม่ให้ศึกษา ถ้าเราไม่ค้นคว้าไม่ศึกษาแล้วเรามีตู้พระไตรปิฎกไว้ทำไมล่ะ ทุกวัดมีตู้พระไตรปิฎกหมด แล้วถ้าไม่เคารพมีไว้ทำไม มันก็มีไว้ค้นคว้ามีไว้ศึกษา แต่มันเป็นคนละขั้นตอนกัน
ปริยัติมันเป็นปริยัติใช่ไหม ตำรับตำรา ธรรมและวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นศาสดาของเรา เอาไว้รื้อค้น เอาไว้ตรวจสอบ
แต่เอาไว้ตรวจสอบแล้วเราเป็นจริงหรือเปล่าล่ะ อันนี้ไม่ได้ตรวจสอบ เราเองต่างหากไปสอบมาเป็นสมบัติของเรา ไปจำมาหมดเลย ไปค้นคว้ามาหมดเลย มันต้องให้เป็นอย่างนั้นเลย คลาดเคลื่อนอย่างนั้นไม่ได้เลย มันเป็นกรอบเห็นไหม
วิทยาศาสตร์มันเป็นทฤษฎี มันเป็นกรอบ เป็นทฤษฎีที่ต้องทำความเข้าใจ รู้กันให้เหมือนกัน นี่คือวิทยาศาสตร์ แล้วถ้ามันฆ่ากิเลสได้ กิเลสมันก็ต้องเป็นอย่างนี้หมด แล้วจับมันมาเชือดให้หมดเลย
กิเลสมันไม่เป็นอย่างนี้ กิเลสมันเป็นนามธรรม สิ่งที่จะชำระกิเลสได้มันต้องเป็น มรรคญาณ มันต้องเป็นสัจธรรม มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์มันเป็นวิทยาศาสตร์อันหนึ่ง
แต่เวลาธรรมะ ธรรมะเพราะอะไร เพราะธรรมะมันมีเรื่องของเวรของกรรม เรื่องของจริตนิสัย เรื่องของนามธรรมที่มันละเอียดลึกซึ้ง เพราะมันเป็นเรื่องของความรู้สึก มันเป็นความรู้สึกจากภายใน ความรู้สึกอย่างนี้มันมีหยาบ มีละเอียดนะ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ แม้แต่ขั้นของสมาธิ มันก็แตกต่างหลากหลายขนาดไหน
เวลาเกิดปัญญาขึ้นมา ปัญญามันชำระล้างขึ้นมา มันละเอียดอ่อนลึกซึ้งเข้าไปอีกขนาดไหน ถ้าปัญญามันเหมือนกัน ทำไมมีโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตตมรรค แล้วมรรคแต่ละขั้นแต่ละตอนมันต่างกันอย่างไร
มันเหมือนการศึกษา เวลาว่าวิทยาศาสตร์ดูถูกฉิบหายเลย แต่เวลาเปรียบเทียบเห็นไหม มัธยมมันก็มีความรู้ระดับหนึ่ง ปริญญาตรีก็มีความรู้ระดับหนึ่ง ปริญญาโท ปริญญาเอก ก็มีความรู้อีกระดับหนึ่ง มันคนละระดับทั้งนั้นนะ เพราะการศึกษามันแตกต่างกัน วุฒิภาวะมันแตกต่างกัน การศึกษามันลึกซึ้งแตกต่างกัน มันกว้างขวางแตกต่างกัน
เวลาปัญญามันเกิด มันก็เกิดแตกต่างกัน มันคนละระดับกันมันจึงแตกต่างกัน แล้วมันแตกต่างกันอย่างไรล่ะ แตกต่างเพราะเรามีครูบาอาจารย์ที่ผ่านพ้นไปแล้ว...มันอย่างนี้เห็นไหม ธรรมะมีหนึ่งเดียว โสดาบันก็โสดาบันเหมือนกันหมด จะเป็นจริตนิสัย จะเป็นเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ จะมีปัญญามากน้อยขนาดไหน โสดาบันก็คือโสดาบัน !
ไอ้ที่ว่ามันเป็นจริตนิสัย หรือผลที่เป็นอันนั้นมันเป็นอำนาจวาสนาบารมีของจิตไง ดูสิ...เวลาคนเรียนจบเห็นไหม ปริญญาตรีรูปร่างแตกต่างกันไหม บางคนร่ำรวยลูกเศรษฐี ลูกกฎุมพี ลูกยาจก คนเข็ญใจ มันก็จบปริญญาตรีเหมือนกัน
นี่ก็เหมือนกัน โสดาบันมันก็เป็นโสดาบันเหมือนกันนะ เพียงแต่ว่าคนนั้นมีบารมีมาก มีสมบัติมาก คนนี้มีสมบัติน้อย คนนี้มีปัญญามาก คนนี้ปัญญาน้อย คนนี้จบปริญญาตรีแต่ไบรท์มาก มีความรู้สึกแตกต่าง มีปัญญากว้างขวางมาก จบปริญญาตรีเหมือนกัน แต่ซื่อบื้อ ซื่อบื้อก็จบปริญญาตรีได้เหมือนกัน
ในการปฏิบัติโสดาบันก็คือโสดาบัน ฉะนั้นโสดาบันไม่มีทางที่จะต้องมาโต้แย้งหรอกว่า โสดาบันของฉัน กับโสดาบันที่อื่นมันไม่เหมือนกัน อันนั้นคือธรรมะที่ตายแล้ว ครึ่งเป็นครึ่งตาย มันกำลังฟื้นมานะ สลบไปแล้วฟื้นขึ้นมาเป็นโสดาบันนะ หลับไปแล้วตื่นขึ้นมาเป็นพระอรหันต์หมดนะ
โลกมันเป็นเรื่องโลกๆ นะ เรื่องโลกให้เขาเป็นกัน เราเป็นพระ เราบวชแล้ว เราบวชพระ แล้วเราจะประพฤติปฏิบัติ เราจะต้องให้เป็นความจริงของเรา เราพยายามค้นคว้าเพื่อประโยชน์ เพื่อเป็นความจริง
ชีวิตของเรามีคุณค่ามาก ในสังคม ในวัฏฏะ มันก็เวียน มีความเจริญรุ่งเรือง แล้วมีการผ่านยุคผ่านกาลไปเป็นครั้งเป็นคราวมาตลอด แล้วเห็นไหมในพระไตรปิฎกกึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญอีกหนหนึ่ง ตั้งแต่ ๒,๕๐๐ มาเห็นไหม ตั้งแต่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ครูบาอาจารย์นะ ฟื้นฟูในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา
แต่เดิมการปฏิบัติก็มีมาตั้งสมัยพุทธกาลแล้วแหละ แต่มีแล้วนะ พอถึงกาลเวลาไป ความเชื่อถือ ความเชื่อมั่น ผู้ที่ให้ความมั่นคงในหลักในการปฏิบัติมันก็น้อยลงไป น้อยลงไป จนเราเชื่อถือเราศรัทธาศาสนาเป็นพิธีเพื่อทำบุญทำกุศลกันเท่านั้น จนครูบาอาจารย์ของเราท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จนเป็นที่ยอมรับ เป็นที่น่าเชื่อถือ
คำว่าน่าเชื่อถือแต่มันไม่เป็นสมบัติของเรา ถ้ามันเป็นสมบัติของเรา เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ เราก็ต้องตั้งใจของเราขึ้นมาให้เป็นสมบัติของเรา ฉะนั้นเป็นสมบัติของเราน่ะ สิ่งใดศึกษาแล้วเทียบเคียงมากับการประพฤติปฏิบัติ แล้วถ้าลังเลสงสัยนั้นต้องวางไว้หมด !
คำว่าลังเลสงสัยเป็นนิวรณธรรม นิวรณธรรมมันปิดกั้นมรรคผล ฉะนั้นศึกษาแล้วมีการขัดแย้งในการศึกษาเราวางไว้ ! แล้วพิสูจน์.. พิสูจน์เห็นไหม พุทโธ พุทโธ พุทโธ คำบริกรรมนะ หรือปัญญาอบรมสมาธิ ลองทำดู...นี่คือการวิจัย
การวิจัย การตรวจสอบ เพื่อให้เป็นความจริงขึ้นมา แล้วถ้าเป็นความจริงขึ้นมา มันจะไปไหนล่ะ มันจะไปไหน เห็นไหม มันมีสัตว์หลงเข้ามาตัวหนึ่ง แล้วเราช่วยกันจับสัตว์หลงตัวนั้น เวลาจับขึ้นมานะ มันก็เป็นสัตว์หลงตัวนั้นที่เราจับได้พร้อมกัน
นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราพุทโธ พุทโธ พุทโธ เราจะจับจิตของเรา ลองจับสิ ไอ้ที่จิตมันอยู่กับเราแล้วมันหลงออกไป ความเร็วของจิตที่มันเป็นพลังงาน ที่มันอยู่ในใจเรา แล้วมันหลงออกไป จับให้ได้สิ ! จากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง
คนที่มีชีวิต มีร่างกายและจิตใจเหมือนกัน คนที่ปฏิบัติก็มีหัวใจเหมือนกัน แล้วถ้าคนที่มีหัวใจเหมือนกัน ไปปฏิบัติแล้วมันจะแตกต่างกันตรงไหน มันจะแตกต่างกันไปที่ไหน เว้นไว้แต่มันครึ่งเป็นครึ่งตาย มันสลบอยู่ มันยังไม่ฟื้นเลย มันจะรู้ได้อย่างไรว่าใจกับกายมันแตกต่างกันอย่างไร
แต่ถ้าเราปฏิบัติของเรา ธรรมะก็ธรรมะตายๆ นะ ปฏิบัติก็เหมือนคนเป็นคนตาย ครึ่งเป็นครึ่งตาย ครึ่งหลับครึ่งตื่น ให้มันจริงๆ ให้มันชัดๆ สิ ถ้ามันจริงๆ ชัดๆ ขึ้นเห็นไหม เป็นๆ รู้สึกเป็นๆ โสดาบันเหมือนกัน สกิทาคามีเหมือนกัน อนาคามีเหมือนกัน อรหันต์เหมือนกัน พิสูจน์ตรวจสอบได้ !
พระอรหันต์ทะเลาะกับพระอรหันต์ ที่ไหนมันจะมี ? ไม่มีหรอก !
โสดาบันกับโสดาบันทะเลาะกัน... ไม่มี ! ถ้าทะเลาะกันมันต้องมีโสดาบันเทียมกับโสดาบันจริงทะเลาะกัน
สกิทาคามีเทียม สกิทาคามีปลอม อนาคามีปลอม อนาคามีเทียมนั่นแหละทะเลาะกัน แต่ถ้าความจริงก็คือความจริง !
ความจริงนี้สัจธรรมมันอันเดียวกัน ถ้าสัจธรรมอันเดียวมันจะไปไหน ในเมื่อเราจับสัตว์นั้นด้วยกัน สัตว์หลงเข้ามา เราจะพยายามจับสัตว์ประหลาดนั้นเอาไปปล่อย เพราะไม่ต้องการเภทภัยที่มันจะเข้ามาทำลายเรา เราช่วยกันจับ ถ้าช่วยกันจับสัตว์ตัวนั้นได้ มันก็สัตว์ตัวนั้นก็เหมือนกันใช่ไหม
อริยสัจมันมีหนึ่งเดียว พอมีหนึ่งเดียว เราถึงปฏิบัติให้มันเป็นความจริงขึ้นมา ฉะนั้นสติ สมาธิ ปัญญา ในภาคปฏิบัติ มันจะเกิดจากการทดสอบตรวจสอบการปฏิบัติของเรา มันไม่มีหรอก มันไม่ใช่ทางวิชาการหรอก ปาฐกถาแล้วทุกคนจะเข้าใจได้หมดล่ะ
นี่ไง...เทศนาว่าการเห็นไหม ใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่งนะ เวลาเทศนาว่าการเห็นไหม ใจของคนที่มันมีระดับพื้นฐาน ฟังพื้นฐานเข้าใจ พอเรื่องปัญญานี้งงนะ แต่คนที่มีพื้นฐานฟังมาแล้วจะเข้าใจ เวลาเรื่องของปัญญาก็เข้าใจ.. เข้าใจ.. เข้าใจ..
พอเข้าใจเห็นไหม ความเข้าใจมันพัฒนาใจ เพราะอะไร เพราะเรามีมุมมองอย่างนี้ใช่ไหม มันมีมุมมองต่างๆ มีมุมมองทางที่หลากหลาย ให้เราคัดเลือก ให้เราตรวจสอบ เพื่อประโยชน์กับเราเห็นไหม
นี่เราปฏิบัติขึ้นมาให้เป็นธรรมะเป็นๆ ตัวเป็นๆ นะ สติเป็นๆ ปัญญาก็เป็นๆ แล้วเวลามันหลุดพ้น มันก็หลุดพ้นเป็นๆ ด้วยความรู้สึกเป็นๆ กับเรา ธรรมมะเป็นๆ ! ไม่ใช่ธรรมมะที่ตายแล้ว ! เอวัง