เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๒ พ.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราชาวพุทธ เราได้ฟังทุกวัน “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้แล้วนะ เวลาฝ่ายมหายานเขาสอนนะ เขาถามว่า

“อาจารย์ ! สอนธรรมะ สอนอย่างไร”

“อ้าว... ก็ทำดี ละชั่วน่ะ”

“โอ้ย.....มันง่ายเหลือเกิน ของมันง่าย ๆ พื้น ๆ อาจารย์สอนแค่นี้เหรอ”

“ไอ้ทำดี ละความชั่วนี่ ของพื้น ๆ .. แต่ทำยากมาก”

ดูสิ ! ดูโลกเขาเป็นไปเห็นไหม ..ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว.. แต่ความดีความชั่วของใคร ถ้าความดีความชั่วของโลก เรามองเห็นเขาได้ว่าความดีความชั่ว เรามีมุมมองต่าง ๆได้

.. แต่ความดีความชั่วของเราสำคัญที่สุด .. ถ้าเราดี เราดีสุด ๆ เลย.. แต่ถ้าเราชั่ว เราก็ชั่วของเราสุด ๆ ความดีความชั่วของตัวเราเองสำคัญที่สุด !

แต่ความดีความชั่วของสังคม ความดีความชั่วของเขา เราเกิดมาในสังคม สภาคกรรม ! ทำไมเป็นอย่างนี้ล่ะ ทำไมโลกมันเป็นอย่างนี้ ความไม่มั่นคงของทางการเมือง มันเป็นความเห็น ..

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ! ถ้ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ๒ คนขึ้นไป ก็มีความเห็นแตกต่างกันแล้ว ถ้าความเห็นแตกต่าง ถ้าเรารับฟังความเห็นกันได้ ความเห็นก็แตกต่างกันได้ แต่ความเห็นแตกต่างกันนั้น ความดีของเราต้องพิสูจน์สิ

เหมือนกัน.. ในการประพฤติปฏิบัติ ถ้าความดีความชั่วของเรา ถ้าเราทำความดีของเราจริง ทำไมเราไม่มีความสุขในหัวใจของเราล่ะ ทั้งๆ ที่เราปรารถนาความสุขนะ เราว่าสิ่งนี้เป็นความดีของเรา เราพยายามตั้งใจทำของเรา แล้วมันจะเป็นความจริงของเราไหม ถ้าเป็นความจริงของเรา.. เหตุและผลรวมลงเป็นธรรม..

ถ้าเหตุมันสมควร.. ผลมันสมควร.. ผลมันต้องตอบสนอง !

แต่นี่เราทำเหตุกันอยู่ทุกวี่ทุกวัน แล้วผลมันมีไหม ทุกคนบ่นว่า “ทำแล้วไม่ได้ผล.. ทำแล้วไม่ได้ผล” ทำแล้วไม่ได้ผลเพราะเหตุใด มันต้องกลับมาดูที่เหตุ เวลาบอกนั่งสมาธิ ภาวนาแล้ว ทำไมมันไม่ได้ ทำไมครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า.. ท่านทำของท่านได้

ครูบาอาจารย์ท่านทำของท่าน “ศีล สมาธิ ปัญญา” พื้นฐานของท่าน ท่านเตรียมของท่านมาพร้อม เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน อันนั้นก็ไม่จำเป็น.. อันนี้ก็ไม่จำเป็น.. อะไรถ้าไม่ถูกใจบอก ไม่จำเป็น.. ถ้าอะไรก็ถูกใจ บอกนี่เป็นของจำเป็น

ของที่ถูกใจเรา มันเป็นของแสลงกับโลก มันเป็นความพอใจของกิเลส แต่มันเป็นของแสลงกับธรรม เวลาครูบาอาจารย์ท่านทำของท่านนะ เวลาเราประพฤติปฏิบัติเรามองไปที่ครูบาอาจารย์ มันทุกข์ มันยาก.. มันลำบากลำบน..มันลำบากลำบนเพราะความดีความชั่วของสังคม แล้วความดีความชั่วของเราล่ะ เพราะเรามองว่าเป็นความลำบากลำบนของเรา

แต่ครูบาอาจารย์ท่านไม่ได้มองว่าเป็นความลำบากลำบนนะ ดูสิ ! เวลาชาวไร่ ชาวนา เขาทำมาหากิน เขาหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินของเขา เขาลำบากไหม.. เขาก็ลำบาก แต่เป็นความชำนาญของเขา ใช่ไหม เขาทำของเขาใช่ไหม .. ให้เราไปตากแดดตากฝนอย่างเขาได้ไหม เราไปตากแดดตากฝนอย่างเขาไม่ได้หรอก เพราะอะไร.. เพราะเราไม่เคยทำ

นี่ก็เหมือนกัน ความที่เขาเห็นคุณค่า ชาวไร่ ชาวนา เขาหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดินของเขา เขาทำเพื่ออาชีพของเขา เวลาเขาทำ เขาทำด้วยความใจรักนะ ดูสิ เห็นไหมเศรษฐกิจพอเพียง ที่เขาทำเศรษฐกิจพอเพียงกัน เขามีความสุขของเขานะ เขาบริหารจัดการของเขา แหล่งน้ำของเขา ขุดน้ำของเขา ปลูกพืชปลูกผักของเขา มันเจริญงอกงามขึ้นมา เขามีความสุขของเขานะ

เขาบอกว่า “เขาควบคุมตัวเขาเอง เขาเป็นเจ้านายตัวเขาเอง” เขาดูแลตัวเขาเองไง สิ่งใดทำมาเพื่อความพันธมิตรของเขา มีเหลือแล้ว เราก็ค้าขายเพื่อประโยชน์กับเรา ชีวิตของเขา ๆ มีความสุขของเขา เห็นไหม ถ้าคนเขาหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน แต่เขามีความสุขของเขา ความพอใจของเขา นั่นเขาเห็นความเจริญงอกงามของพืชพรรณธัญญาหารของเขา เขามีความสุขของเขานะ

นี่เหมือนกัน เวลาครูบาอาจารย์ของเรา ท่านประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ท่านเห็นโทษ เห็นประโยชน์ไง ถ้าเห็นโทษ เห็นโทษของการคลุกคลี.. เห็นโทษของการอ่อนแอ.. การช่วยเหลือเจือจานกัน.. การคอยโอ๋กัน.. การคอยดูแลกัน.. มันอ่อนแอ !

ดูสัตว์สิ มันเลี้ยงลูกของมัน ถ้าลูกของมันแข็งแรงขึ้นมา ลูกมันช่วยตัวมันเองได้ สัตว์มันจะทิ้งลูกมัน เพื่อมันจะไปเพาะลูกของมันใหม่ มันจะทิ้งลูกมันเลย แล้วจะดูแลกันไปจนตลอดชีวิต มันเป็นไปไม่ได้ใช่ไหม

ครูบาอาจารย์ท่านดูแล เห็นไหม ดูสิ หลวงปู่มั่น เวลาผู้ประพฤติปฏิบัติกับท่าน ท่านต้องฝึกข้อวัตรก่อน ถ้ามีความตั้งใจจริงจะฝึกข้อวัตรก่อน จนท่องขานนาคได้ จนท่องปาฏิโมกข์ได้ จนเย็บผ้าเย็บผ่อนได้ ท่านถึงจะให้บวชได้ พอบวชเข้ามาก็เอาตัวรอดได้เห็นไหม พอบวชเข้ามาแล้ว เพราะอะไร เพราะได้ฝึกฝนมา มันได้เข้มแข็งมา

เหมือนลูกไก่เลย แม่มันเลี้ยงจนลูกไก่แข็งแรง แล้วปล่อยลูกไก่มันเผชิญหน้าได้ นี่เราไปมองเห็นอย่างนั้น โน้นก็ลำบาก.. นี่ก็ลำบาก.. ไม่มีอะไรดีสักอย่างเลย แต่ถ้าเป็นเรื่องกิเลส เป็นเรื่องความอ่อนแอ เป็นเรื่องการเจือจานกัน ดีไปหมด ! เห็นไหม

.. ความดีกับความชั่วของเราสำคัญที่สุด !

ถ้าความดีของเรา เราต้องรู้ของเราได้ เราตั้งสติของเราเองได้ เราประพฤติปฏิบัติของเราได้ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติของเราได้ ทำไมมันมีความสุขล่ะ

แล้วบอกว่า “ปฏิบัติแล้วทำไมไม่มีความสุขเลย.. คนโน้นก็ไม่มีความสุข.. คนนี้ก็ไม่มีความสุข” ไอ้เราไม่มีวันสุขหรอก เพราะมันสุก ๆ ดิบๆ มันสุขขึ้นมาไม่ได้หรอก ความสุกๆ ดิบ ๆ ไง ปฏิบัติก็สักแต่ว่า กึ่งๆ ครึ่ง ๆ กลาง ๆ นี่ดิบ ๆ สุกๆ นะ..

จะปฏิบัติก็กลัวลำบาก ไอ้ปฏิบัติแล้วก็ไม่มีความสุข เวลาทุกข์ทางโลกมา อยากปฏิบัติมาก หัวฟัดหัวเหวี่ยงเลยนะ จะปฏิบัตินะ โหย.... ทางโลกทุกข์มาก ...จะปฏิบัติ

แล้วพอจะปฏิบัตินะ ก็จะเอาสะดวกสบายกัน ครึ่ง ๆ กลาง ๆ ดิบ ๆ สุข ๆ แล้วบอกว่า “ทำไมมันไม่สุขสักทีล่ะ” อ้าว.. มันจะสุขได้อย่างไร ก็คนมันจับจด !

ถ้าคนมันเป็นจริง ถ้ามันเป็นจริงขึ้นมา ผลไม้เวลามันออกขึ้นมา ถ้าผลไม้อ่อนมันจะเป็นประโยชน์ไหม ผลไม้ที่ยังไม่แก่ เก็บมามันก็ยังเน่าเสียได้ ผลไม้ที่มันแก่นะ ถ้าแก่จัด ๆ มันหลุดจากขั้วเองเลยนะ เพราะมันแก่ของมัน

นี่ก็เหมือนกัน เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ถ้ามันเป็นความจริงขึ้นมา เวลาจิตมันเป็นขึ้นไป ผลไม้มันแก่จนหลุดจากขั้ว.. มันหลุดจากขั้ว มันก็สุกนะ มันหลุดจากขั้วมันไม่เน่าหรอก เพราะมันต้องสุกไปข้างหน้า .. แล้วสุกไปข้างหน้า รสหอมหวานด้วย..

ถ้าเราทำจริงจังของเรา เราตั้งสติของเรา เรากำหนดบริกรรมของเรา เราใช้ปัญญาอบรมสมาธิของเราเข้าไป ถ้ามันถึงที่สุดแล้ว ผลไม้มันแก่มันหลุดจากขั้ว มันจะไม่ดิบ ๆ สุก ๆ หรอก ถ้าผลไม้อ่อนเก็บไว้ก็เน่า

นี่ปฏิบัติกันครึ่ง ๆ กลาง ๆ เน่าหมด ! สบาย ๆ มันดีหมด ปฏิบัติแล้วดี ยืนยันได้มันดี เอาวุฒิภาวะของใครมาตัดสิน.. ความดีอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นผู้ตัดสิน คนที่ประพฤติปฏิบัติ สมัยพุทธกาล เวลาสิ้นกิเลสแล้วไปเฝ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถามเองว่า “ใครทรมานมา.. ใครทรมานมา..” ต้องเอาครูบาอาจารย์ เอาผู้รู้จริงเป็นผู้ตัดสินสิ..!! อย่าเอาเด็กอ่อน เด็กน้อยเป็นผู้ตัดสิน.. วุฒิภาวะของจิตของเรามันอ่อนแอมาก ไม่รู้สิ่งใดหรอก พอมันมีความสบาย ๆ มันมีความเป็นปกติ ถ้าใจของเราเวลามันทุกข์มันยาก มันยึดอารมณ์ มันแบกหาม.. พอมันปล่อยวาง มันก็สบายทั้งนั้นแหละ

เวลาเรายืนตากแดด เราร้อนเห็นไหม.. เราเข้าที่ร่มมันก็เย็น จิตใจถ้ามันไม่ได้คิดอะไร มันก็เย็น พอมันเย็นขึ้นมา มันสบาย ๆ ของมัน แล้วมันได้อะไรต่อไปล่ะ สบาย ๆ อย่างนี้ มันก็อยู่ใต้กฎของการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นอนิจจังของมันอยู่ตลอดเวลา

นี่ไง ดิบ ๆ สุก ๆ แล้วบอกว่า “เวลาจิตมันสงบ มันมีความสงบมาก มีความสุขมาก ทำไมหนูไม่เคยสงบเลย ทำไมหนูไม่เคยมีความสุขเลย ปฏิบัติมา ๑๐ปี ๒๐ ปีแล้ว มันก็เฉย ๆ นิ่ง ๆ ว่าง ๆ ไม่มีความสุขเลย..”

.. ก็มันลงไม่ถึง ผลไม้มันไม่แก่พอ.. ผลไม้มันไม่แก่พอ.. มันเป็นไปไม่ได้ มันก็เป็นอย่างนั้น แต่ผลไม้มันแก่พอล่ะ ถ้าผลไม้มันแก่พอเห็นไหม ดูสิ.... ผลไม้ถ้าเวลามันแก่พอ มันจมน้ำต่าง ๆ มันลอยน้ำกับจมน้ำก็แตกต่างกันแล้ว ความแตกต่างกัน นั่นทดสอบได้

นี่พูดถึงว่า เวลาบอกว่า “ผิด” หรือ “ถูก” เราจะเอาวุฒิภาวะ เอาโลกไปตัดสินไม่ได้หรอก เราเอาโลกไปตัดสิน เอาวิทยาศาสตร์ไปตัดสิน เอาความเป็นไปตัดสิน เอาวิทยาศาสตร์ไง นี่วิทยาศาสตร์เห็นไหม มรรคสามัคคี มรรคมันใช้น้ำหนักเท่าไร สมาธิเท่าไหน ปัญญาเท่าไร เอามาตัดสิน มันเป็นไปไม่ได้หรอก ! “มันเป็นปัจจัตตัง ! เป็นสันทิฎฐิโก !”

คำว่า “ปัจจัตตัง” มันอยู่ที่เหตุ.. อยู่ที่เหตุว่าจริตนิสัยของคน ความติดของคน ดูสิ คนเรามีเงิน ๕ บาท ๑๐ บาท เขาดำรงชีพของเขาได้แล้ว เรามีเป็นหมื่นเป็นแสน เราดำรงชีพเราไม่ได้เลย เพราะเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

นี่ไง มันแตกต่างกันตรงนี้ไง ถ้าแตกต่าง.. ถ้าคนมีเงิน ๕ บาท ๑๐ บาท เขาดำรงชีพของเขาได้ คนที่เขาประพฤติปฏิบัติได้อย่างนี้ปั๊บนี่ ถ้าจิตมันสมดุลของมัน มันชำระกิเลสของมันได้ มันทำของมันได้ แต่เรามีเงินแสน มีเงินล้าน เรายังดำรงชีวิตไม่ได้เลย เพราะเราใช้จ่ายฟุ่มเฟือยนะ ทำสมาธิก็ต้องมีหลักมีเกณฑ์มากขนาดนั้น มันแตกต่างกันตรงนี้ไง

ไม่ใช่ว่า น้ำหนัก ว่า ๕ บาท ๑๐ บาท อยู่ดำรงชีพได้ทุกคน ทุกคนต้องมี ๕ บาท ๑๐ บาท เหมือนกันหมดเลย บางคนมีเป็นแสน เป็นล้าน มันก็ดูแลชีวิตมันไปไม่รอด บางคนมี ๕ บาท ๑๐ บาท เขาดำรงชีวิตของเขาได้แล้ว

จิตที่มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันดำรงชีวิตของมันได้เห็นไหม ถ้าจิตมีเกณฑ์มาจากไหน มันก็มาจากการเสียสละ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เราเสียสละทำบุญกุศลของเรา มันจะตกผลึกมาในหัวใจ หัวใจมันได้เสียสละ เวลามันเข้มแข็งของมันขึ้นมา มันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน

แต่หัวใจมันอ่อนแอนะ มันจะรอให้คนช่วยเหลือประคองมันตลอดเวลา เวลาปฏิบัติ “อาจารย์ สอนสิ.. อาจารย์ สอนสิ..”

“แล้วกูเป็นหนี้มึงเหรอ..”

ถ้ามึงไม่ปฏิบัติขึ้นมาล่ะ ! ทุกคนก็คิดว่าจะไปเบิกเอา.. จะไปกดตู้ ATM ไง !

ปฏิบัติธรรมก็จะไปกดเลย สมาธิกดออกมาเลย ปัญญากดออกมาเลยนะ อาจารย์สอนขึ้นมาก็ได้เลย อันนั้นปริยัตินะ เอาหนังสือมากางกัน แล้วต่างคนต่างท่องกันนะ เอ็งอ่านออก กูก็อ่านออก.. เอ็งอ่านเสร็จแล้ว เดี๋ยวกูให้ประกาศเอ็งไปใบหนึ่ง.. แล้วอย่างนี้ เอ็งก็กลับไปงงที่บ้านเอง

ปริยัติมันส่วนปริยัติ ! ปฏิบัติมันส่วนปฏิบัติ !

แล้วพอปฏิบัติขึ้นมาเห็นไหม ทำดีทำชั่ว ดีชั่วของสังคม เราก็มองเอา สังคมมันเป็นอย่างไร ทุกข์ร้อนกันไปหมด แล้วความเห็นก็แตกต่างกันไป ถ้าความเห็นแตกต่างกันไป สิ่งที่แตกต่างไป ก็ต้องถือกฎกติกาใช่ไหม

“กฎกติกา” มนุษย์เป็นสัตว์สังคม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “มนุษย์โง่กว่าสัตว์” สัตว์ เห็นไหม ดูนก ดูกา มันก็บินไปเป็นธรรมชาติของมัน มันมีกฎอะไรไปขังมัน เว้นแต่คนไปจับมันมาขังกรงเท่านั้น แต่ธรรมดาของสัตว์ มันก็อยู่ตามธรรมชาติของมัน เห็นไหม สัตว์มันก็อยู่ตามกฎธรรมชาติ ตามกฎการดำรงชีวิตของมัน

แต่มนุษย์เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะจินตนาการของมนุษย์ มันแตกต่างกันมาก คนเราคิดลึก.. คิดตื้น.. คิดคด..คิดโกง.. คิดเอาเปรียบ.. มันมหาศาล ! มันถึงต้องมีกฎกติกา

กฎกติกาที่สร้างขึ้นมา มนุษย์เขียนกฎหมายขึ้นมา แล้วมนุษย์ก็ติดกฎหมายของตัวเอง ..มนุษย์เอาโซ่ผูกคอตัวเอง แล้วมนุษย์ก็ลากกันไป แต่มันก็จำเป็นต้องใช้ ! จำเป็นต้องใช้ ! เพราะเราเป็นสัตว์สังคมมาอยู่ด้วยกัน มันต้องมีกฎกติกา ไม่มีกฎกติกาเราอยู่กันได้อย่างไร

กฎกติกาเห็นไหม ดูสิ เวลาพระบวชขึ้นมานี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระจุนทะไปธุดงค์ เห็นพวกเดียรถีย์ เวลาอาจารย์ของเขาตาย แล้วพระทะเลาะกัน พวกลูกศิษย์ลูกหาแตกแยกกันหมดเลย มาถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า..

“ทำไมเขาเป็นอย่างนั้น”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “เพราะมันไม่มีวินัย”

พระจุนทะถึงบอกให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติวินัย

พระพุทธเจ้าบอกว่า “บัญญัติไม่ได้.. เพราะมันยังไม่มีเหตุ”

พอมีเหตุ.. วินัยที่บัญญัติขึ้นมา เพราะมันมีเหตุ มันมีเหตุถึงบัญญัติมาเห็นไหม เพราะมันมีการกระทำผิด แล้วพระพุทธเจ้าบอก “อย่างนี้ผิด.. อย่างนี้ถูก..” ถึงวางธรรมและวินัยนี้มา

เวลาบัญญัติวินัยยิ่งมากขึ้นเท่าไร พระที่ปฏิบัติ ผู้ที่บรรลุธรรมน้อยลงเท่านั้น แต่สมัยพุทธกาล ยังไม่ได้บัญญัติเลย สมัยพระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาใหม่ ๆ เวลาปฏิบัติ วินัยไม่มีสักข้อ !กฎไม่มีสักข้อเลย !

พระปัญจวัคคีย์เป็นพระอรหันต์ ! ทุกอย่างเป็นพระอรหันต์หมด !

กฎยังไม่มีเลยนะ.. พระไม่มีกฎ เพราะทุกคนมีเจตนาที่ดี ทุกคนไม่มีจิตใจที่ต่ำทราม จิตใจที่เอารัดเอาเปรียบกัน ทุกคนมีจิตใจที่ดีเห็นไหม.. กฎกติกามันก็ไม่จำเป็นต้องใช้ แต่พอคนมันมากขึ้นมา มันเอารัดเอาเปรียบกัน.. กฎกติกาต้องใช้

เวลาพระพุทธเจ้าบัญญัติธรรมวินัยไว้ ไปหาพระโสณะ เดินจงกรมจนฝ่าเท้าแตก จนให้พระโสณะใส่รองเท้า พระโสณะบอกว่า “ผมรับไม่ได้ ! ถ้าให้ผมใส่คนเดียว ทำให้ผมอ่อนแอ ถ้าจะบัญญัติให้ผมใส่รองเท้าได้ ต้องให้พระทั้งหมดใส่ได้หมด”

พระพุทธเจ้าถึงบัญญัติว่า .. ภิกษุให้ใส่รองเท้าได้ .. พอใส่รองเท้าได้ ฉัพพัคคีย์เล่นทันทีเลย ทำรองเท้า.. ประดับรองเท้าอย่างนั้น.. ประดับรองเท้าอย่างนี้

พระพุทธเจ้าบัญญัติ.. ตัดอย่างนี้ไม่ได้ ! อย่างนี้ไม่ได้ ! อย่างนี้ไม่ได้ ! มหาศาลเลย.. เห็นไหม ถ้าไม่บัญญัติกติกาอะไรต่าง ๆ มันก็ไม่มีใครทำอยู่แล้ว พออนุญาตขึ้นมา มันทำขึ้นมา นี่กฎกติกา !

ดูสิ การควบคุมเห็นไหม เราต้องเปิดกว้าง ความเปิดกว้าง ทุกคนต้องเปิดกว้าง แต่คนเรามันหลากหลาย ความหลากหลายของโลก เราอยู่กับโลก ถ้าความดีความชั่วของเรา ถ้าเราดีจริงในหัวใจของเรา เราก็เห็นโลกเขาเป็นอย่างนั้น เราอยู่กับเขาไง นี่ธรรม.. “อยู่กับโลกโดยไม่ติดโลก” เราอยู่กับโลกนะ มันก็เป็นอย่างนี้

“มันเป็นอย่างนี้” หมายความว่า โลกเขาเป็นอย่างนี้.. โลกคือหมู่สัตว์.. โลกคือสัตตะผู้ข้อง.. ผู้ข้องในหัวใจมันเกี่ยวข้อง มันมีตัณหา มันก็ต้องมีการกระทบกระเทือนกัน นี่อยู่กับโลก เราก็เกิดมากับโลก เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง

แต่เพราะเราศึกษาธรรม เราอยากมีความสุขของเราเห็นไหม ความดีความชั่วของสังคม กับความดีความชั่วของเรา เราหาความดีความชั่วของเรา ถ้าเราไม่ได้ความดีจริงของเราขึ้นมา เราก็อยู่กับเขานี่ ดูสิ เวลาจิตมันพ้นจากกิเลสขึ้นมา มันก็อยู่ในหัวใจนี้แหละ หัวใจก็อยู่ในกายนี้แหละ ทำไมมันปล่อยกายได้ล่ะ.. ทำไมมันปล่อยความยึดมั่นของมันได้ล่ะ

ทั้ง ๆ ที่กายกับใจอยู่ด้วยกัน มันยังไม่เกาะเกี่ยวกันเลย แล้วเราปฏิบัติธรรมขึ้นมา เราอยู่ กับโลก โลกเขาเป็นอย่างนั้น เราอยู่กับเขาเห็นไหม เราก็รับรู้เขาได้ .. แต่เราไม่แบกโลกนะ.. เราไม่แบกโลก

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์ร้องไห้ ! พระอานนท์เป็นพระโสดาบันนะ.. “ดวงตาของโลกดับแล้ว ! ดวงตาของโลกดับแล้ว !”

ดวงตาของโลก.. เห็นไหม เพราะรู้โลกนอก โลกในไง รู้ถึงความขัดแย้งของโลก โลกมันเป็น เพราะมันเป็นทิฎฐิมานะของคน “โลกใน” คือ ความขัดข้องในหัวใจของเรา

“ดวงตาของโลก” แล้วเวลาไปหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะคอยชี้แนะ.. จะคอยเลาะ.. คอยปลดเปลื้องในความผูกพันของใจ.. ความหมักหมมของใจ.. เลาะมันออกมา โลกเขาเป็นอย่างนั้น เราเกิดมากับเขา เราอยู่กับเขา มันเป็นอย่างนั้น

ถ้าโลก.. สังคมมันร่มเย็นเป็นสุขเห็นไหม สภาคกรรม

ผลของวัฏฏะ .. “วัฏฏะ” คนที่เกิดมามีความเห็นที่ดี สังคมที่ดี เราก็จะมีความร่มเย็นเป็นสุข.. เราเกิดมาสังคมที่เห็นแก่ตัว สังคมที่มีการเอารัดเอาเปรียบกันเห็นไหม มันก็บีบคั้นเรา นี่มันผลของวัฏฏะไง ผลของสังคมที่เกิดมา เราเกิดมาในสังคมอย่างนี้ เราต้องดูอย่างนี้ นี่สังคมนี่ ความดีความชั่วจากข้างนอกนะ

เราก็ดูความดีความชั่วของเรา .. ความดีความชั่วของเราสำคัญที่สุด !.. ความดีของเรา ความชั่วของเรา เรารักษาของเราได้ เราดูแลของเราได้ เราเข้าใจของเราได้ แล้วเราแก้ไขที่นี่

พระพุทธศาสนาสอนที่นี่ “สอนให้ดูใจเรา ! สอนให้ทำความสะอาดในหัวใจของเรา” ถ้าหัวใจของเราสะอาดแล้ว เราอยู่กับโลกโดยที่ไม่แบกโลก เราเอง เราพ้นไปแล้ว เราอยู่กับเขา รอวันเวลาที่มันจะจบชีวิตเท่านั้น.. ถ้าจบชีวิตก็ทิ้งซากศพไว้ที่นี่ เพราะซากศพนั้นมันเป็นเรื่องของวัตถุ มันเป็นเรื่องของสสารที่เกิดมากับโลก

แต่จิตที่มันปฏิสนธิ มันอาศัยธาตุเพื่อดำรงชีวิต แล้วพอมันหมดอายุขัย มันก็ทิ้งของมันไป แล้วใจมันก็ต้องไปเสวยภพชาติ เป็นผลของวัฏฏะไป ประพฤติปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว ใจมันจะไม่มีที่ไปอีก มันรู้ของมัน มันเห็นของมัน มันเข้าใจของมัน โดยศาสนา

พุทธศาสนาสอนเราขนาดนี้ แล้วพุทธศาสนานะ ยิ่งปัจจุบันโลกมันร้อน เหมือนกับโลกมันร้อนใช่ไหม เราต้องหาที่ร่มเย็น เพราะโลกมันร้อน “น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย” เห็นไหม น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย น้ำร้อนมันทำให้เราตื่นตัว สังคมมันเร่าร้อน ทำให้เราตื่นตัว เราพยายามรักษาของเรา

ถ้าสังคมเร่าร้อน สมณะ ชี พราหมณ์ จะเอาเวลาที่ไหนไปปฏิบัติ แต่ถ้าโลกมันร่มเย็นเป็นสุขนะ สมณะ ชี พราหมณ์ จะมีโอกาสประพฤติปฏิบัติ แล้วโอกาสประพฤติปฏิบัติมันพ้นจากโลกนี้ไปได้

ฉะนั้นโลก ! น้ำร้อนมันบีบคั้นเรามา เราจะหาที่พึ่งอย่างใด เราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่งของเรา เราจะเอาอะไรเป็นประโยชน์กับเรา เราตั้งสติของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง