เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๖ พ.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

โลกร้อนมาก อากาศร้อนมาก ทำให้หัวใจเราร้อนนะ ถ้าคนอยู่กับโลก ยึดความเร่าร้อนอันนั้น มันเผาใจตัวเอง มันก็จะร้อนมากขึ้น.. มันจะร้อนมากขึ้น แต่ถ้าเราเข้าใจถึงธรรมะนะ ธรรมะเป็นน้ำอมตธรรม ถ้าน้ำอมตธรรม ดูน้ำสิ มีแหล่งน้ำที่ไหน ต้นไม้จะชุ่มชื้นที่นั่น ถ้าน้ำที่ไหนไหลเวียนนะ ต้นไม้จะเจริญงอกงาม ถ้าน้ำที่ไหนตาย น้ำจะเน่าเสีย ต้นไม้ก็จะตายไปด้วย

นี่ก็เหมือนกัน น้ำอมตธรรมเห็นไหม สัจจะความจริง มันมีของมัน ออกซิเจนที่ดีขึ้นมา ร่างกายของเราได้สูดฉีดออกซิเจนที่ดี ถ้าอากาศเป็นพิษ เราก็ตาย

โลกร้อน ! ร้อนเพราะว่ามันกักตุน มันอัดอั้นของมันเอง แต่ถ้ามันไหลไป มันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา โลกนี้เป็นอนิจจัง สิ่งที่เป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์เป็นอนัตตานะ สัจจะความจริงเป็นอย่างนี้

เรายอมรับความจริงสภาวะนี้ได้ไหม ถ้าเรายอมรับความจริงสภาวะอย่างนี้ไม่ได้ โลกมันเป็นอย่างนั้น โลกมันเร่าร้อนอยู่อย่างนั้น แต่โลกเร่าร้อนอยู่อย่างนั้น มันเกิดจากอะไร เกิดจากสังคมใช่ไหม เกิดจากมนุษย์ใช่ไหม

มนุษย์ตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป มีความเห็นที่แตกต่าง ถ้ามนุษย์มากคนขึ้นไป ความเห็นก็แตกต่างกันมากขึ้นไป ความเห็นแตกต่าง เห็นไหม มนุษย์เป็นสัตว์สังคม พอเป็นสัตว์สังคม มนุษย์ไปสร้างกติกาขึ้นมา แล้วก็ฝืนกติกากันเอง พอฝืนกติกากันเอง มันก็เกิดความเร่าร้อน มันเป็นสภาคกรรมไง

กรรมเกิดจากมนุษย์ กรรมเกิดจากการกระทำ กรรมเกิดจากความเห็นแก่ตัว ถ้าเกิดจากความเป็นมนุษย์ มนุษย์เห็นไหม มนุษย์เป็นสิ่งที่ดี

ดูสิ! ในแคว้นวัชชี เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ให้นับถือผู้ใหญ่ ให้ฟังนักปราชญ์ ให้หมั่นประชุมพร้อมกันเป็นเนืองนิตย์ เวลาประชุมให้ประชุมพร้อมกัน ให้เลิกประชุมพร้อมกัน ให้ตกลง ให้ประชุมสภากัน ให้มีความสามัคคีกัน” เห็นไหม ธรรม ๖ ข้อนั้น จะไม่มีใครทำลายได้เลย ถ้ามีแต่ความสามัคคี

อชาตศัตรูจะยกทัพไปตี แล้วตีไม่ได้ ให้พราหมณ์ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า “ถ้าไปตีวัชชี จะแพ้หรือจะชนะ” นี่แม้แต่กองใหญ่กว่านะ ไปตีก็แพ้แน่นอน ถึงส่งวัชระพราหมณ์ เข้าไปยุแหย่ให้แตกแยก พอแตกแยกเสร็จแล้ว อชาตศัตรูไปตีแตกหมดเลย

นี่เหมือนกัน ถ้า “สภาคกรรม” กรรมเกิดร่วมกัน ถ้ามนุษย์เกิดมามีความสามัคคี มีความเห็นแตกต่างกัน แต่เราก็อยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี ด้วยรักษาภาพใหญ่ไว้ โลกมันจะไม่เร่าร้อน

ถ้าโลกมันจะร้อนเห็นไหม ธรรมะอย่างนี้ ธรรมะแค่คารวะ ๖ เรื่องของคารวะ ๖ ทั้งนั้นนะ เรื่องของความสามัคคีในหมู่คณะ แต่ถ้าโลกมีความเร่าร้อน เหมือนน้ำร้อนปลาเป็น น้ำเย็นปลาตาย โลกมันเร่าร้อน เพราะโลกเร่าร้อน เราถึงต้องหาที่พักอาศัยกัน เราถึงหาที่มีความร่มเย็นกัน ที่ไหนร้อน เราก็เข้าไปสู่ที่ร่ม

โลกมันร้อน เราเข้าสู่ธรรมะ แล้วธรรมะมันอยู่ที่ไหนล่ะ เรามาอยู่วัดอยู่วา เพื่อแสวงหาธรรมะกัน แล้วมันร้อนไหมล่ะ ทำไมมันเร่าร้อนนักล่ะ เร่าร้อนเพราะอะไร เร่าร้อนเพราะมันมีกฎกติกาใช่ไหม คำว่ากฎกติกา ข้อวัตรปฏิบัติมันบังคับเรา จิตใจของคนมันจะไปตามอำนาจของมัน ไปตามกิเลสตัณหาความทะยานอยากของมัน มันจะเอาแต่ความสะดวกสบายของมัน

แต่ถ้ามีกฎกติกาขึ้นมา มันมีข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมาเห็นไหม มันบังคับ !

มันบังคับเห็นไหม ดูสิ เวลาเราเข้ามาในปั๊ม เราไปเติมน้ำมันในรถ ถ้าเขาไม่เติมในถังน้ำมัน ถ้าเขาเติมไม่เข้า น้ำมันมันอยู่ที่ไหนล่ะ เห็นไหม เขาก็ต้องเติมไปในถังน้ำมันนั้น ถ้ามันบรรจุน้ำมันนั้น น้ำมันนั้นเข้าไปในเครื่องยนต์นั้น เครื่องยนต์นั้นใช้น้ำมันนั้น เกิดพลังงานนั้น มันขับถ่ายไปที่ล้อนั้น ล้อนั้นมันจะหมุนออกไป มันจะขับให้รถนั้นเคลื่อนไป เห็นไหม นี่ข้อวัตรปฏิบัติ !

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าไม่มีข้อปฏิบัติ มีข้อบังคับขึ้นมา มันขัดแย้งทันทีเลย แต่ถ้าไปในปั๊มนะ น้ำมันเติมที่ไหนก็ได้ ฉีดไปบนถนนก็ได้ แล้วทำอะไรก็ได้ตามสะดวกสบายของเราเองนะ รถนั้นไปไม่ได้หรอก

นี่ก็เหมือนกัน เราไปวัดไปวา มีข้อวัตรปฏิบัติ ข้อวัตรปฏิบัตินี่ทำให้อึดอัดขัดข้องไปหมดเลยเห็นไหม แต่ถ้าปล่อยตามสบาย มันดีไปหมด ที่ไหนก็สะดวกสบายทั้งนั้น ดีไปหมด

แต่ถ้ามีกติกาขึ้นมา มันมีข้อวัตรขึ้นมา คนจะดี ดีเพราะการฝึกฝน ถ้ามันมีการฝึกฝนขึ้นมา เห็นไหม นี่ร้อนไหม.... ร้อน ร้อนเพราะอะไร ร้อนเพราะกิเลสมันโดนขัดเกลา ร้อนเพราะกิเลสมันโดนบังคับ

แต่มันเป็นธรรมไหม ? เป็นธรรม เป็นธรรมเพราะอะไร ดูสิ ดอกไม้ เขาเอามาร้อยพวงมาลัย มันเกิดมาเพราะเหตุใด มันเกิดขึ้นมาจากด้ายเส้นเดียว มันร้อยพวงมาลัย ดอกไม้แตกต่างหลากสี อยู่ตามสวน ตามป่า เขาเก็บมาร้อยเป็นพวงมาลัย ข้อปฏิบัติก็ทำให้คนมีหลักมีเกณฑ์ สังคมจะมีความร่มเย็นเป็นสุขขึ้นมาเห็นไหม

ถ้ายอมรับนับถือ สิ่งต่าง ๆ ที่เขาตั้งกติกาขึ้นมา ทุกคนยอมรับ ทุกคนยอมทำตามนั้น ถ้าทุกคนยอมทำตามนั้นขึ้นมา มันก็มีความร่มเย็นเป็นสุข

แต่ถ้าทุกคนไม่ยอมรับ มันมีการแตกสามัคคี ต่อไปมันก็เป็นไปหมด คนนี้ทำได้ คนนี้ก็ทำได้.. คนโน้นทำได้ คนนี้ก็ทำได้ นี่ไงกติกาเขียนขึ้นมาเอาไว้ทำไม เอาไว้จับผิดคนอื่น แต่ตัวเองไม่เป็นไร ตัวเองยกเว้นได้หมด

สิ่งต่าง ๆ อย่างนี้ มันทำให้โลกร้อน ถ้าโลกร้อน เรื่องของโลก ถ้ามองโลกร้อน เราก็มองเข้ามาที่ตัวเรา แล้วเราจะเอาความร่มเย็นเป็นสุขมาจากไหน ถ้าจะเอาความร่มเย็นเป็นสุขมาอยู่กับเรา เราหนีจากความร้อนมา หนีจากโลกมา เพื่อจะหาความร่มเย็นเป็นสุข เห็นไหมคนเขาร้อน เขาก็ไปอาบน้ำอาบท่า มันก็มีความร่มเย็น แต่ถ้าใจมันร้อน เอาอะไรไปแก้ไขมันล่ะ

บอกว่าธรรมะเป็นความร่มเย็นนะ สีเลนะ สุคะติง ยันติ สีเลนะ โภคะสัมปะทา เพราะถือศีลมันมีความร่มเย็นเป็นสุข มีโภคทรัพย์ แล้วอยู่ไหนล่ะ ?

เพราะคำว่าโภคทรัพย์ “อริยทรัพย์ ทรัพย์จากภายใน” ถ้าเรามีความร่มเย็นเป็นสุขของเรา ถ้าคนทำความสงบของใจขึ้นมา มันจะ แหม ! แตกต่างมากเลยนะ สุขหนอ ! สุขหนอ !

ดูสิ ถ้ามันสุขหนอ ! สุขหนอ ! แล้วกว่ามันจะสุขหนอ ! สุขหนอ ! มันแลกมาด้วยอะไร แลกมาด้วยข้อวัตรปฏิบัติ แลกมาด้วยความเพียร แลกมาด้วยสติปัญญา มันต้องแลกมา มันไม่มีสิ่งใดมาจากฟ้าหรอก !

แม้แต่การประพฤติปฏิบัติของเรา ถ้าจริตนิสัยของเราแตกต่าง ความเห็นของเราแตกต่าง แล้วเวลาทำขึ้นไปมันขัดแย้งต่างๆ มันไม่ลงให้สักที โอ่.. มีแต่ความเร่าร้อนนะ ไหนว่าสีเลนะ สุคะติง ยันติ เดินจงกรมจนเหงื่อไหลไคลย้อย ไหนมันจะมีความสงบ เพราะความอยาก เวลาใจมันร้อน ไม่มีอะไรจะเข้าไปชำระมันได้ แต่ธรรมะนี่ความร่มเย็นเห็นไหม สติปัญญา ถ้าควบคุมมันได้ แล้วทำจนกว่ามันเป็นปัจจัตตัง

ปัจจัตตังเพราะอะไร เพราะจิตมันสัมผัสไง จิตมันสงบขึ้นมา ถ้าจิตไม่มันสงบ อะไรจะสงบล่ะ ผิวหนัง ร่างกายต่าง ๆ เห็นไหม เวลาคนตายไปแล้ว ซากศพไม่มีประโยชน์อะไรเลย

สัตว์เวลาตายแล้วยังเป็นอาหารได้ มนุษย์ตายแล้วก็กลัวผี ความร่มเย็นเป็นสุข จากผิวหนัง จากเนื้อ จากกระดูก จากเอ็น ไม่มีหรอก แต่ความสุขมันเกิดจากใจ ถ้าใจมันพอใจมันทำได้หมดเลย ถ้าใจไม่พอใจมันขัดแย้งไปหมด อะไรก็ไม่พอใจ ขัดแย้งไปทุกอย่างเลย แต่ถ้ามันบังคับด้วยข้อวัตรปฏิบัติ เห็นไหม มันไม่พอใจต้องขัดมัน นี่ธุดงควัตรนะ !

ธุดงควัตร ดูสิ เห็นไหม ใครบ้างไม่ชอบของดิบของดี ทุกคนก็ชอบของดิบของดีทั้งนั้น “ทุกคนเกลียดความทุกข์ ปรารถนาความสุข” แต่เวลาของดี ของสิ่งที่เป็นไปเห็นไหม อาหารที่มันดีทางโลก เวลาพระฉันเข้าไปแล้ว ไปนั่งสัปหงกโงกง่วง แล้วก็ไปนั่งเสียใจอยู่นะ มันก็แค่ได้ลิ้มรส แล้วทำไมพลังงานภายในร่างกายมันเหลือใช้ ทำไมมันกดถ่วงจิตใจเราล่ะ

จิตใจของเรา เราต้องการให้มันเป็นอิสรภาพ แต่เวลาจิตใจเราต้องการอิสรภาพ แต่เวลาขบฉันขึ้นมา ก็ขบฉันขึ้นไปกดทับมัน แล้วเวลากดทับมันแล้ว แล้วเราก็บอกต้องการให้มันสว่างโพรง สว่างโพรง แล้วมันจะสว่างโพรงมาจากไหน เพราะเราไม่ดูแลมาตั้งแต่เริ่มต้นไง

เราดูแลตั้งแต่ตื่นนอนนะ ตื่นนอนเราทำข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมาแล้ว เราออกบิณฑบาตกลับมาแล้ว อาหารที่เราใส่บาตรมานี่ อะไรจะเป็นประโยชน์กับร่างกาย อะไรจะเป็นประโยชน์กับจิตใจ

เห็นไหม! กินธรรมะไง ดูสิ เวลาถือธุดงควัตร เขาได้สิ่งใดมา เขาฉันอย่างนั้น ได้แต่ข้าวเปล่า ก็กินข้าวเปล่า ๆ อย่างนั้น เห็นไหม นั่นนะธรรม !

“ธรรม” คือ อะไร ธรรมคืออำนาจวาสนาบารมีของเรา ได้อย่างไรก็เป็นอย่างนั้น เราพอใจในการกระทำของเรา

สิ่งใดที่ได้เกินจากนั้นมา ได้มาแล้วยังต้องสันโดษอีก สิ่งใดที่มันจะกดทับถ่วงร่างกาย เราจะคัดออกไป เราจะฉันอาหารที่มันเบา นี่กินธรรม !

ถ้ากินธรรม ธรรมะเห็นไหม ธรรมะมันปลอดโปร่งมาแต่แรก แล้วไปนั่งสมาธิภาวนานะ มันก็ไม่มีไขมัน ไม่มีอะไรกดถ่วงมันเห็นไหม ถ้ามีกดถ่วงมัน.. ถ้ามีสติปัญญามาตั้งแต่ต้น

ต้นตรง ท่ามกลางก็ตรง ปลายก็ตรง !

ต้นคด กลางก็คด ยิ่งปลายนะ มันงอกลับมาอยู่ที่เริ่มต้นเลย !

เห็นไหมต้นคดไง มันขัดแย้งกัน มันขัดแย้งกับสัจจะความจริง ถ้ามันไม่ขัดแย้งกับสัจจะความจริงนะ เราเอาความเป็นธรรม อะไรก็ได้ เห็นไหมอาหาร สิ่งใดก็ได้ เพื่อดำรงชีวิตกันเท่านั้น แล้วเป็นไป อันนี้เป็นเรื่องของผู้ที่ปฏิบัตินะ !

แต่เวลาผู้ที่ทำบุญกุศลของเขา เขาก็ต้องอยากได้ดิบได้ดีของเขา หลวงตาท่านพูดอยู่ “ฆราวาสเขาได้ ๕ ได้ ๑๐ มา เขาก็ขวนขวายมาทำบุญใส่บาตรเรา มาทำบุญใส่บาตรพระ” เพราะอะไร เพราะเขาต้องการสิ่งที่เป็นบุญกุศล สิ่งที่ดีที่สุดของเขา ๆ ก็นำมาถวายพระ

พระไปบิณฑบาตมา ก็มาขบมาฉันใช่ไหม แล้วยังมีเครื่องยนต์กลไกไปแข่งกับโลก อยู่ตึก ๕ ชั้น ๑๐ ชั้นเห็นไหม โลกเขาอยู่กระต๊อบ ห้องหอกัน เขาอุตส่าห์หาเงินหาทองมาใส่บาตรพระ พระเวลาบิณฑบาตกลับมาแล้ว ก็อยู่ตึก อยู่หอ อยู่ต่างๆ มีแต่เครื่องยนต์กลไกไปเปรียบกับโลกเขา นี่ไง มันขัดแย้ง ! มันกลับตาลปัดไปหมดเลย

แต่ถ้าเราจะกินธรรมะเห็นไหม สิ่งที่เป็นสัจธรรม ญาติโยมเขาอยู่กระต๊อบ ห้องหอ เราก็อยู่ กระต๊อบ ห้องหอ เพราะอยู่แค่กันลมกันฝนเท่านั้น เพราะเราต้องการความสะดวกสบายของเรา อยู่ในอัพโภกาสิกังคะ อยู่ในเรือนว่าง อยู่ในที่ล้อมว่าง อยู่ในอากาศที่มันถ่ายเท เราประพฤติปฏิบัติเพื่อให้มันปลอดโปร่ง .. ปลอดโปร่งจากภายนอก ปลอดโปร่งจากภายใน

แต่ถ้ามันจะอยู่ตึกราม อยู่ห้องหอเห็นไหม เพื่อจะมีศักยภาพ พระองค์นี้มีศักยภาพ โห! มีอำนาจวาสนาบารมี แล้วจิตใจล่ะ จิตใจมันก็โดนวัตถุเหยียบขย้ำอยู่ในใต้อุ้งเท้าของมันเห็นไหม จะภาวนาก็สัปหงกโงกง่วง เวลานั่งก็หลอกลวงกัน “โอย.. เมื่อคืนนะ โอ.. นั่งสมาธิทั้งคืนเลยนะ โอ้โหย.... เห็นเทวดา อินทร์ พรหม” ... โกหกหลอกลวงกันไปทั้งนั้น มันเป็นความจริงไหมล่ะ

แต่เราอยู่กระต๊อบ ห้องหอ เราอยู่ของเรา ด้วยกระต๊อบ ห้องหอ เราจะภาวนาลงหรือไม่ลงอยู่ที่จิตใจของเรา เราภาวนาเพื่อใคร เราภาวนาเพื่อเรา เราไม่ได้ภาวนาเพื่อใคร

พรหมจรรย์นี้เพื่อใคร พรหมจรรย์นี้เพื่อพรหมจรรย์นะ ! พรหมจรรย์ไม่ใช่จิตใจของเรานะ พรหมจรรย์ไม่ต้องการให้ใครมายอมรับในพรหมจรรย์ของเรานั้น พรหมจรรย์เราเพื่อแก้ไข คนนั้น เพื่อจะแก้ไขคนโน้น เพื่อจะชักนำคนนั้น เพื่อจะชี้นำ

ตัวเองยังเอาตัวไม่รอด ! แล้วจะไปชี้นำใคร ถ้ามันจะชี้นำเรา อยู่ไหนก็อยู่ได้ มันอยู่กระต๊อบ ห้องหอ มันก็อยู่ของมันได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้ขึ้นมาอยู่โคนต้นโพธิ์องค์เดียวนะ ไม่มีใครเลย เวลาตรัสรู้ขึ้นมา เป็นครูของเทวดา เป็นครูของสัตว์ เป็นครูของวัฏฏะ สอนได้หมดเลย เพราะอะไร เพราะเอาหัวใจของตัวเองไว้ได้แล้วนะ

ปฏิสนธิจิตไปเกิดในไข่ เกิดในครรภ์ เกิดในโอปปาติกะ เกิดในเทวดา อินทร์ พรหม มันก็ไอ้จิตดวงนี้ แล้วไอ้จิตดวงนี้ อยู่ในท่ามกลางหัวอกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้อยู่ที่โคนต้นโพธิ์ แล้วจิตดวงนี้ถ้ามันได้ชำระสะสางแล้ว ไอ้จิตดวงอื่นก็เหมือนดวงนี้ ถ้าดวงนี้มันก็แก้ไขของมัน ถ้าชำระใจดวงนี้ได้แล้ว มันก็ชำระใจดวงอื่นได้

ถ้ามันมีคุณธรรมในหัวใจ พรหมจรรย์เพื่อพรหมจรรย์ ! พรหมจรรย์เพื่อใจของเรา พรหมจรรย์เพื่อความราบรื่นในหัวใจของเรา เห็นไหม มรรคโค ทางอันเอก มันเดินอย่างไร มันเริ่มต้นอย่างไร ถ้ามันมีทางเดินของมันนะ ทางเดินของใจ

ทางเดินของใจ ! โลกมันร้อน แต่ใจมันไม่ร้อน ถ้าใจมันร้อน มันดัดแปลง มันแก้ไขที่หัวใจของเรา ถ้ามันดัดแปลงแก้ไขหัวใจของเราได้ โลกมันร้อนเราก็จะเย็น แต่ถ้าหัวใจมันเย็น ถ้าโลกร้อน โลกจะเย็นได้ด้วยจากผู้ที่มีบารมี แผ่อำนาจวาสนาบารมี

บารมีเพราะอะไร เพราะบารมีเขาเชื่อถือศรัทธา เขายอมรับไง เวลาบอกกล่าวเขา เขาเชื่อ เขาฟังของเขา เขาหาของเขา

เหมือนเด็กเลย เด็กไม่รู้ว่าอะไรเป็นโทษเป็นภัยกับมันนะ มันหยิบจับมีดมา มันทำลายตัวมันเอง มีดเขาเอาไว้ทำอาหาร เขาไว้ทำครัวของเขา เด็กไม่รู้เรื่อง มันก็หยิบจับมาใช้ ทำร้ายตัวมันเอง เห็นไหม ผู้ใหญ่บอก “มีดเขาเอาไว้ใช้ประโยชน์นะ มีดเก็บให้ดีนะ ” ถ้าเด็กมันเชื่อฟัง โลกมันจะเย็นได้ เพราะผู้ที่เป็นธรรม โลกมันจะเย็นได้ ไม่ใช่จากไฟหรอก ไฟทำให้โลกเย็นไม่ได้ !

แต่ “ธรรม” ทำให้โลกนี้เย็นได้ แต่กว่าจะโลกนี้เย็นได้ มันต้องเย็นในใจของผู้นั้นก่อน เย็นในใจของผู้ประพฤติปฏิบัติก่อน เย็นในใจของครูบาอาจารย์เราก่อน เย็นในใจขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำหัวใจร่มเย็นเป็นสุขแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นศาสดาของเรา วางธรรมและวินัยนี้ไว้

โลกร้อน ! เราหาที่พึ่งกันนะ เราก็ต้องขวนขวายของเรา ขวนขวายตั้งแต่ข้อวัตรปฏิบัติขึ้นมา ให้สมานสามัคคี ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน แล้วเวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา มันจะไม่ขัดแย้งกัน

ถ้าไม่ปฏิบัติ เห็นไหม พระนี้ไม่เอื้อเฟื้อในวินัย ปรับอาบัติปาจิตตีย์ พระองค์ใดจะประพฤติปฏิบัติ ถือข้อวัตรปฏิบัติ แล้วพระอีกองค์หนึ่งไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ คือ มันขัดแย้ง มันทำให้การปฏิบัติไม่สะดวกสบาย

ถ้าเราเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน คำว่าเอื้อเฟื้อ ถ้าข้อปฏิบัติเป็นอันเดียวกัน มันจะเอื้อเฟื้อต่อกัน มันจะไม่ขัดแย้งต่อกัน การประพฤติปฏิบัติมันจะไม่มีร้าวฉานต่อกัน มันจะปฏิบัติในสิ่งที่ดีขึ้นมา มันทำแต่ประโยชน์ขึ้นมาเห็นไหม

เราต้องทำอย่างนั้น เพื่อประโยชน์กับหมู่คณะ เพื่อประโยชน์กับสังคม เพื่อประโยชน์กับเรา มันเย็นมาจากหัวใจ ถ้าหัวใจมันเย็นแล้วนะ ทุกอย่างเย็นได้หมด ถ้าหัวใจมันร้อน โลกก็ร้อนอยู่แล้ว เรายิ่งร้อนอยู่แล้ว ไฟเจอไฟนะ มันยิ่งเร่าร้อน !

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าร่มเย็น แต่ร่มเย็นมันต้องแลกมาด้วยความเร่าร้อน “เร่าร้อน” คือ การเดินจงกรม การนั่งสมาธิภาวนา เราต้องตั้งสติ ไม่ใช่เร่าร้อนจากธรรม มันเร่าร้อนจากกิเลสตัณหาความทะยานอยาก ตบะธรรมแผดเผามัน เห็นไหม

โลกจะร่มเย็น ใจจะร่มเย็น แลกมาจากความเร่าร้อน เร่าร้อนเพราะใจมันเร่าร้อน แต่เราจะดับความเร่าร้อนนั้นด้วย ข้อวัตร ด้วยวิธีการ วิธีการมันก็เร่าร้อน

ดูสิ อาหารสุกด้วยไฟ ไฟมันร้อน แต่ทำให้อาหารมันสุกได้ นี่ก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติของเรา การนั่งสมาธิภาวนา มันเจ็บปวด มันมีสติปัญญา มันก็ความเร่าร้อน เร่าร้อนเพราะกิเลสมันโดนแผดเผา

ถ้ามันโดนแผดเผา โดยมันจางตัวมันไป มันจะเกิดความร่มเย็น ฉะนั้นบอกว่า ความร่มเย็น เราจะเอาความร่มเย็นอย่างไร ร่มเย็นเราจะเอาน้ำแข็งมาจากไหน มาทับตัวเราล่ะ เราต้องเอาสติปัญญาของเรานี่แหละ สู้กับมัน แล้วมันจะเกิดความร่มเย็น มันจะเกิดความร่มเย็นมาจากใจ แล้วเราจะมีที่พึ่งอาศัยกัน

โลกร้อนอย่างนี้จริง ๆ แล้วเราอยู่กับโลกทุก ๆ คน แล้วเราร้อนไหม แล้วเราอยู่กับมันอีกไหม แล้วจะสนใจไหม หน้าที่การงานเป็นหน้าที่การงานนะ คนเกิดมาต้องมีหน้าที่การงานทุกคน ถ้าคนไม่เกิดมามีหน้าที่การงาน ชีวิตนี้มีค่าไหม

ถ้าชีวิตมีค่า ต้องมีปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้ามีปัจจัยเครื่องอาศัย เราก็หามาเพื่ออาศัยมัน อาศัยให้มันมีพออยู่พอกินของมัน มันดำรงชีวิตของมันได้เห็นไหม

แล้วเราจะศึกษาธรรมะของเรา แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเรา ให้หาความร่มเย็นกับเรา ร่มเย็นกับใจของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เอวัง