เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๖ ม.ค. ๒๕๔๕

 

เทศน์เช้า วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๕
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ถ้าเราทำตามประเพณีของโลก เห็นไหม ประเพณีของโลกก็อย่างหนึ่ง ประเพณีของศาสนาพุทธก็อีกอย่างหนึ่ง ถ้าประเพณีของโลกก็ทำตามกันมา แล้วทำต่อๆ กันไป พระพุทธศาสนาสอนเรื่องการทำบุญ ก็เป็นประเพณีของโลกเหมือนกัน เป็นโลกเหมือนกัน โลกกับโลกเข้ากันได้ แต่ประเพณีของพระอริยเจ้าจะต่างออกไป ประเพณีของพระอริยเจ้าเห็นไหม ธุดงควัตร ๑๓ เป็นประเพณีของพระอริยเจ้า ที่เราจะศึกษา ที่เราจะศรัทธา พระอริยเจ้าจะทรงไว้ได้อย่างไร ก็ทรงไว้ซึ่งอริยประเพณีไง

ประเพณีของโลก มันเป็นไปตามความเห็นของเรา เราทำตามความเห็นของโลก เราพอใจเราก็ทำตามความเห็นของเรา มันก็เป็นความเห็นของเรา แล้วเราก็ทำไปอย่างนั้น แต่ถ้าประเพณีของพระอริยเจ้าจะไม่ใช่อย่างนั้น ประเพณีของพระอริยเจ้า เป็นการขัดเกลากิเลส ธุดงควัตร ๑๓ เห็นไหม ประเพณีที่เราต้องรักษาของเรา มันทำได้ยาก บิณฑบาตเป็นวัตร การบิณฑบาตนั้นทำไมต้องบิณฑบาตทุกวัน ถึงจะไม่บิณฑบาต เขาก็เอามาให้ โลกเห็นเป็นอย่างนั้นนะ เพราะเขามาที่วัด เขาก็เอามาให้อยู่แล้ว ทำไมยังต้องบิณฑบาตอีก การบิณฑบาตออกไป เห็นไหม พระเจ้าสุทโธทนะนิมนต์พระพุทธเจ้ากลับไปเยี่ยมบ้าน กลับไปเยี่ยมพระนคร แล้วลืมนิมนต์ให้ไปฉันภัตตาหาร

พระพุทธเจ้ากำหนดดูประเพณีของพระพุทธเจ้าต่างๆ ว่าเคยทำอย่างไร ประเพณีของพระพุทธเจ้าต่างๆ นั้นคือ เช้าต้องออกบิณฑบาต พระเจ้าสุทโธทนะ พอเห็นพระพุทธเจ้าออกบิณฑบาต ก็ทรงมีความรู้สึกเสียหายมาก เพราะว่าเป็นพ่อเป็นลูกกัน ทำไมต้องให้พ่อนิมนต์ด้วย ทำไมพ่อลูกไปรับกันเองไม่ได้ เห็นไหม ในเมื่อเป็นพ่อเป็นลูกกันก็ต้องถือวิสาสะไปได้ แต่พระอริยเจ้า เห็นไหม ประเพณีความยอมรับของ พระอริยเจ้า ความเป็นไปของมันจะเห็นความเป็นใหญ่ของใจ

ถ้าใจคิดเป็นความผูกพัน อันนั้นก็เป็นเรื่องของกิเลส เรื่องของกิเลสเป็นความผูกพัน เป็นความยึดมั่นถือมั่น เป็นความผูกพันแล้วเป็นการเกาะเกี่ยวกันไป เห็นไหม กระแสของใจ ความระลึกถึง ความคิดถึง แล้วกระแสของกิเลส กระแสของการเกิดการตายล่ะ กระแสของวัฏฏะเป็นอย่างนั้น กรรม การมาเกิดเป็นพ่อเป็นลูกกัน มันถึงมีกรรมมาร่วมกัน

นี่ก็เหมือนกัน กระแสของกรรม มันหมุนเวียนเปลี่ยนไป แต่กระแสของธรรม จะตัดหมดเลย ตัดความเป็นไป เห็นไหม บิณฑบาตเป็นวัตร เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง จะขนาดไหนก็เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง ห่มผ้าออกไปนี่เห็นไหม ซ้อนผ้าออกไปเพื่อเหตุใด พระธุดงค์ถือผ้า ๓ ผืน แล้วซ้อนออกไปบิณฑบาต เพราะสมัยก่อนนั้น เขายังไม่เชื่อศาสนา มันมีการลักเล็กขโมยน้อย ความเป็นไปของพระมีสมบัติเพียงเท่านั้น มีสมบัติที่อยู่ติดตัวเราเท่านั้น

บิณฑบาตนี้เป็นไปเปรียบเหมือนนกเหมือนกา ไม่มีสมบัติพะรุงพะรัง ไม่มีความเกาะเกี่ยว ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีความเป็นไปทั้งสิ้น ความเป็นไปของกระแสโลกมันหมุนเวียนเปลี่ยนไป กระแสเปลี่ยนไป แล้วทำความเจ็บปวดมาให้นะ ความระลึกถึงกัน ความพลัดพรากจากกัน ความเห็นใจกัน ความเห็นใจนี้ควรจะเป็นบุญกุศล ใช่ เป็นบุญกุศล แต่บุญกุศลมันก็ยังเป็นกระแสของวัฏฏะ มันเป็นกระแสที่เวียนไปตามกระแสโลก ความเป็นกระแสของโลก โลกเป็นแบบนั้น

แต่ถ้าพุทธไม่เป็นแบบนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนให้ละ ให้วางให้หมด แต่การละการวางนี้ มันจะละจะวางได้อย่างไร เพราะเรื่องของหัวใจนี้ มันเป็นเรื่องของการสืบต่อ การเกิดมานี้มันมีสิ่งที่สัมพันธ์กันมา เราเห็นบางคน นี่เราจะซึ้งใจมาก คนนี้นะ ทำไมถูกชะตาเรา แต่เราเห็นคนบางคน ทำไมคนนี้ไม่ถูกชะตาเรา เห็นไหม กรรม การกระทำของใจ มันสะสมมาอย่างนั้น

ความสะสมมาของใจ มันเป็นธรรมชาติของมันที่ต้องเกาะเกี่ยวไป ธรรมชาติของ อวิชชา ปัจจยา สังขารา มันติดตัวเองก่อนนะ เราเข้าใจว่าเราติดคนอื่นๆ ทั้งๆที่เราติดตัวเองก่อน ติดความคิดของเราก่อน ความคิดพอใจไม่พอใจ เราติดตรงนี้ พอเราติดตรงนี้ขึ้นมาแล้ว เราถึงไม่พอใจสิ่งข้างนอก สิ่งที่เป็นข้างนอกนี่เป็นสิ่งสุดท้าย ปลายเหตุ แต่โลกเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นต้นเหตุ วัตถุนิยมต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา เราปรารถนาสิ่งนั้น ถึงเป็นความทุกข์จากสิ่งนั้นขึ้นมา เราปรารถนาปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัย ถ้าเครื่องอยู่อาศัยนี้เราก็อาศัยมันเป็นเครื่องอยู่อาศัย แต่ความจริงเราก็ไปยึดมั่นถือมั่นมัน ไปยึดมั่นถือมั่นปลายเหตุ เห็นไหม

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้รักษาที่ต้นเหตุ รักษาที่ใจนี้ ถึงบอกว่าให้มีทาน มีศีล มีภาวนา เห็นไหม มีทานเพื่อการเสียสละ ให้สะเทือนถึงหัวใจ สะเทือนถึงต้นเหตุนั้น ต้นเหตุมันจะยึดไว้ถือไว้ ก็เราทุกข์ยากเราลำบากมา เราแสวงหามา แล้วทำไมเราต้องสละออกไป ความสละออกไปนี้ ความสละสิ่งที่เป็นวัตถุ ความยึดมั่นถือมั่น ความตระหนี่ถี่เหนียว มันโดนรังแกมาตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว มันโดนเบียดเบียน โดนธรรมะเข้าไปกำจัด ตั้งแต่เริ่มต้น เห็นไหม มีทาน มีศีล มีศีลเพื่อบังคับใจ ให้ใจอยู่ในกรอบของมัน ความปกติของใจ เราติดใจ ติดตรงนี้ ติดตรงเวลามันเกิดขึ้นมา มันฟูขึ้นมา มันคิดออกไปแล้วเราไม่สามารถหยุดมันได้ เห็นไหม มันติดตัวมันเอง แต่เราก็ไม่เคยเห็น แต่ไม่เคยเห็น นี่ไม่จำเป็น ไม่ต้องให้เห็น

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ให้ทำสมถกรรมฐานก่อน ให้ทำความสงบของใจ ให้ใจมันสงบจากความรู้สึก ความติดตัวเอง เห็นไหม เราไปติดที่ปลายเหตุ แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกให้มารักษาต้นเหตุ รักษาต้นเหตุเพื่อความเป็นปกติของใจก่อน เพื่อให้ใจตั้งมั่นไง ให้ทำความสงบของใจเข้ามา ใจพอสงบเข้ามามันจะชำระกิเลสได้ มันชำระได้ด้วยเหตุนี้ มันไม่ได้ชำระกิเลสได้ด้วยความนึกคิด ด้วยความปรารถนา อธิษฐานบารมี เห็นไหม บารมีการอธิษฐาน เป็นการตั้งเป้าหมาย

การตั้งเป้าหมายนี่ เราตั้งเป้าหมายได้ แต่เราจะเดินเข้าถึงเป้าหมายหรือไม่ถึงเป้าหมาย นั่นเป็นอีกเหตุหนึ่ง อันนี้ก็เหมือนกัน เราจะชำระกิเลส เราต้องมีเหตุ มีอุปกรณ์ มีมรรคอริยสัจจังที่จะชำระกิเลส มันถึงต้องทำความสงบของใจ คิดดูนะ เราเห็นเด็กๆ มันเล่นกัน ทำไมมันมีความสนุกสนานของมันได้ มันเพลิดเพลินไปได้ แต่เราเป็นผู้ใหญ่ เราเล่นไม่ได้

อันนี้ก็เหมือนกัน ใจของคนหยาบกับใจของคนละเอียดมันต่างกัน ความหยาบของโลก เห็นไหม ประเพณีทางโลกนี่เป็นประเพณีหยาบๆ ที่เป็นกลอุบายวิธีการให้เราได้ทำคุณงามความดี ประเพณีของโลกทำให้เราได้สร้างคุณงามความดี แต่ก็สร้างคุณงามความดีด้วยประเพณี เห็นไหม ด้วยการเชื่อที่เขาบอกกล่าวต่อ ๆ กันมาว่าทำสิ่งนี้แล้วจะได้บุญกุศล ทำสิ่งนั้นจะเป็นคุณงามความดี มันเป็นเรื่องของหยาบๆ แล้วก็เป็นประเพณีกันขึ้นมา

ประเพณีของพุทธ การสละทาน การให้นี้เป็นประเพณีของพุทธ ชาวพุทธเรานี้มีทาน มีศีล มีภาวนา แต่มันก็ยังติดอยู่ เห็นไหม จนมาถึงประเพณีของพระอริยเจ้า ประเพณีของการดำรงชีวิต ธุดงควัตร เห็นไหม ธุดงควัตรนี้มันละเอียดเข้ามา ความละเอียดของใจ มันจะเห็นประโยชน์ของมันไง แต่ถ้าไม่เห็นประโยชน์ของมัน เราจะทำไปให้เหนื่อยยากทำไม เราทำไปเรามีความเหนื่อยยาก เราไม่อยากทำ สิ่งนี้ไม่อยากทำเพราะอะไร เพราะมันขัดกับกิเลสไง มันขัดกับความรู้สึกของเรา นั่นล่ะ ประเพณีของพระอริยเจ้ามันถึงชำระกิเลส

เราต้องทำความสงบของใจเข้ามา ถ้าใจมันสงบเข้ามา แล้วมันถึงจะเห็นความละเอียดของใจ แล้วมันจะเห็นความติดของมัน เพราะเหตุใด เพราะเวลาจิตมันสงบขึ้นมา มันจะปล่อยวางความรู้สึก “เอ๊ะ สิ่งนี้มันก็ไม่ใช่เรา” เห็นไหม สิ่งนี้มันเกิดดับในหัวใจ ทั้งๆ ที่เรารู้อยู่ตามตำราว่า อารมณ์นี้เกิดดับ สิ่งนี้มันเป็นการเกิดดับทั้งหมด ชีวิตนี้มีการเกิดดับ ทุกอย่างมีการเกิดดับ สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องแปรสภาพไปเป็นธรรมดา แต่เราก็เห็นด้วยความเป็นสัญญา เราเห็นด้วยความเชื่อตามๆ กันมา

แต่ถ้าทำใจสงบเข้าไป มันจะเห็นอารมณ์ ความสงบของใจ ใจที่สงบลงไปนี้ สิ่งที่เกิดดับ มันเกิดดับจริงๆ เกิดดับ เย้ยอยู่ในอำนาจความควบคุมของเรา เห็นไหม มรรคอริยสัจจัง เกิดจากตรงนี้ เกิดจากเราสามารถควบคุมใจของเราได้ ถ้าควบคุมใจของเราได้ เราจะเห็นความเกิดดับของใจ เห็นกระแสของใจ มันดับที่ใจ แล้วเริ่มวิปัสสนา เห็นไหม วิปัสสนาอะไร ใจนี้มันติดตัวเอง แล้วก็ไปติดในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม สติปัฏฐาน ๔ นี้เป็นเครื่องดำเนินในการออกหาเหยื่อ

จิตนี้ผ่านตรงนี้ออกไปหากิน ออกไปหาความยึดมั่นถือมั่นต่างๆ แล้วก็เอาความเร่าร้อนมาให้ ยึดมั่นถือมั่นแต่ปลายเหตุไง สิ่งที่เป็นปลายเหตุ แต่มันไปคิดว่าเป็นที่พึ่งพิงของมัน มันคิดที่ปลายเหตุขึ้นมา แล้วเอาปลายเหตุนั้นมาเหยียบย่ำตัวเอง เห็นไหม เหยียบย่ำตัวเอง ไม่เห็นตัวเอง ไม่เห็นตน ไม่เห็นความสำคัญของมนุษย์สมบัติ ไม่เห็นความสำคัญของชีวิตเรา ชีวิตเรามีคุณค่าที่สุด ถ้าเราทำความสงบของใจได้

เครื่องอยู่อาศัยก็เป็นเครื่องอยู่อาศัย ปัจจัย ๔ เป็นเครื่องอยู่อาศัย เราก็อาศัยไป แต่เราต้องสามารถทำใจเราให้พ้น เป็นอิสระจากอารมณ์ของเราได้ เราต้องเอาชนะตนเองได้ พ้นเป็นอิสระ พ้นจากกิเลสที่มันครอบงำ ถึงพ้นอย่างนั้นแล้ว ก็พ้นแค่ชั่วคราว เห็นไหม สิ่งนี้เป็นการพ้นชั่วคราว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้น ปัญญาที่จะแก้ไขกิเลสไง

ปัญญาเกิดขึ้นจาก ศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม ศีล สมาธิ แล้วจะเกิดปัญญา ปัญญาของโลกุตตระ ปัญญาของการใคร่ครวญกิเลส ปัญญาในการศึกษาเล่าเรียนมานี้มันเป็น สุตมยปัญญา คือการจดจำตามตำรามา จินตมยปัญญาคือการใคร่ครวญทางวิทยาศาสตร์เห็นไหม เขาใคร่ครวญไปตามความใคร่ครวญของเขา มันจะมีสมาธิขึ้นมา เป็นจินตนาการ เป็นจินตมยปัญญา จริงก็ได้ เท็จก็ได้ อยู่ที่การพิสูจน์ ที่มันพิสูจน์แล้วว่าจะเป็นอย่างนั้น จินตมยปัญญามันยังไม่แน่นอน

ภาวนามยปัญญา มันจะต้องแน่นอน ปัญญาอันนี้ เป็นปัญญาในการชำระกิเลส ปัญญาในการใคร่ครวญ ต้องอาศัยสัมมาสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิขึ้นมาเลย มันจะเป็นโลกเป็นความคิดของเราทั้งหมด ความคิดของเรา ความผูกพันของเรากับเรามันเป็นอันเดียวกัน มันถึงคิดโดยเราไง แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญานี้ ไม่ใช่คิดโดยเรา คิดโดยธรรมจักร คิดโดยความที่เรามีสัมมาสมาธิขึ้นไป สัมมาสมาธิ คือ การทำใจให้สงบ สงบจากความเห็นของเรา สงบจากตัวตน ไม่มีตัวตนเข้าไปเกี่ยวข้องกับมัน แล้วยกมัน ฝึกมัน ฝึกให้มันวิปัสสนา

นั่นล่ะ อริยประเพณี จะสร้างสมสิ่งนี้ขึ้นมา อริยประเพณีจะรักษาใจให้พ้นจากความทุกข์ได้ มีอริยประเพณีขึ้นมา แล้วเราส่งเสริมสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นมา ประเพณีทางโลกมันเป็นโลกียะ มันเป็นการเชื่อถือ เป็นความศรัทธาความเชื่อ แต่ความเชื่อไม่สามารถชำระกิเลสได้ ความเชื่อเราเชื่อเขา พ่อแม่ เห็นไหม ถ้าเลี้ยงลูกแล้วไม่โต ลูกไม่สามารถทำมาหากินเองได้ เราจะเลี้ยงไปจนตายหรือ

อันนี้ก็เหมือนกัน ความเชื่อที่มันเชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป ตลอดนั้น มันจะแก้กิเลสได้อย่างไร มันต้องสร้างตนเองขึ้นมา ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมา คือการสร้างสมตัวเองขึ้นมา ให้ตัวเองก้าวเดินได้ ให้ตัวเองเห็นความเห็นของตัวเอง แล้ววิปัสสนาความเห็นของตัวเอง ปัญญามันจึงชำระกิเลสออกไป มันจะแก้ไขตรงนี้ การติดตัวตนเห็นไหม ตัวตนเกิดขึ้นมาเพราะว่ามีเรา สรรพสิ่งมีเรา สรรพสิ่งนี้เป็นเรา เห็นไหม สิ่งที่เป็นเรา เราก็ต้องยึดมั่นเรา พอยึดมั่นเรา ความยึดเป็นอัตตา มันเป็นตัวตน มันเป็นสิ่งที่คงที่ มันเป็นไปไม่ได้

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งทั้งหลายนั้นต้องแปรสภาพทั้งหมดเลย สิ่งใดๆ ก็ต้องแปรสภาพทั้งหมด ทั้งชีวิต ทั้งความเป็นไป ต้องแปรสภาพทั้งหมด มันอยู่กับเราชั่วคราว ขณะอยู่ชั่วคราวเราก็ใช้ประโยชน์จากมัน ขณะที่มันจะแปรสภาพ มันจะหลุดมือไป มันจะเปลี่ยนแปลงไป เราต้องยอมรับสภาพความเป็นจริง มันไม่ใช่เห็นอย่างนี้ การพูดอย่างนี้มันเป็นอดีตอนาคต แต่การเห็นในปัจจุบันธรรม ปัญญามันจะเห็นเดี๋ยวนั้น แล้วชำระเดี๋ยวนั้น มันจะปล่อยวางเดี๋ยวนั้น ความปล่อยวางเดี๋ยวนั้น เห็นไหม ปล่อยวางบ่อยครั้งๆ เข้า จนกว่ามันจะขาดออกไป

ความขาดนั้น ตัวตนกับใจขาดออกจากกัน ความยึดมั่นในตัวตนไม่มีในหัวใจนั้น หัวใจเข้าใจธรรมชาติของใจดวงนั้น เป็นความเห็นของใจดวงนั้นที่ทำขึ้นมาจากใจดวงนั้น ใจดวงนั้นเข้าใจแล้วปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง เห็นไหม ปล่อยวางไว้ตามความเป็นจริง กิเลสไม่สามารถจะมีอำนาจเหนือใจดวงนั้น ใจดวงนั้นจะเข้าใจและจะปล่อยวางกิเลส สิ่งนี้ต่างหากถือว่าเป็นอริยประเพณีที่สร้างสมขึ้นมา เราชาวพุทธเราสร้างสมขึ้นมา เรามีเป้าหมายของเรา จะทำถึงหรือไม่ถึงนั้นมันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะก้าวเดินไปถึงหรือไม่ถึงนั้น ก็เป็นอำนาจวาสนาที่เราจะก้าวเดินไป แต่เป้าหมายเห็นไหม อธิษฐานบารมี เราอธิษฐานแล้ว เราต้องก้าวเดินให้ถึงจุดหมายปลายทางอันนี้ จุดหมายปลายทางอยู่ในหัวใจของเรา

งานของโลกเขา ก็เป็นงานของโลกเขา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยว่า งานอันละเอียดคืองานการนั่งทำความสงบ นั่งขัดสมาธินี้ แล้วดูใจของตัว งานภายใน งานนั่งเฉยๆ นี่ แต่ทำกันไม่ได้ การนั่งอยู่นี่มันจะฟุ้งซ่านออกไป มันจะเผ่นคิดไปข้างนอกเห็นไหม กิเลสมันขับไสอยู่ในหัวใจ กิเลสนี่มันอยู่ในหัวใจแล้วมันไม่ยอมให้เราสงบตัวได้ การเอาชนะตนเองมันต้องชนะอย่างนี้ เกิดจากความฝึกฝน เกิดจากการประพฤติปฏิบัติของเรา เกิดจากความตั้งใจของเรา ถ้าเราไม่ตั้งใจจริง มันทำไม่ได้ สิ่งที่เราไม่ตั้งใจมันก็ไม่ตั้งใจ ถ้าเราตั้งใจ หัวใจมีอยู่ ภาชนะของใจคือภาชนะที่สัมผัสกับธรรม หัวใจนี่สัมผัสกับความรู้สึกทั้งหมดเลย แล้วสิ่งที่เป็นความรู้สึกนี้เราก็สร้างขึ้นมา

ความรู้สึกโดยมรรคอริยสัจจัง ไม่ใช่ความรู้สึกโดยโลก ที่เราคิดอยู่นี้มันเป็นความรู้สึกของโลกเขา แล้วความรู้สึกที่เป็นมรรคอริยสัจจังก็เข้ามา ชำระกิเลสของเราเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป นี่คือธรรมจักร ศาสนาสอนตรงนี้ เห็นไหม จะมีวัตถุหรือไม่มีวัตถุ การทำบุญกุศลนั้นมันเป็นเรื่องปลายเหตุ เรื่องต้นเหตุคือเรื่องของใจ เรื่องต้นเหตุคือเรื่องการทำใจนี้ให้อยู่ในอำนาจของเรา ถ้าอยู่ในอำนาจของเราแล้วก็จบสิ้น หมดกระบวนการนั้น

สิ่งนี้เกิดจากอริยประเพณี ประเพณีที่เราจะทรงไว้ เรารักษาไว้ แล้วก็รักษาไว้ได้ยาก นักบวชถึงมีน้อย เห็นไหม ผู้รักษาและจะประพฤติปฏิบัติขึ้นมามันมีน้อย ประเพณีของโลกเป็นอย่างหนึ่ง ประเพณีของพระอริยเจ้าเป็นอีกอย่างหนึ่ง แม้เราไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า แต่เราก็พยายามทรงประเพณีนี้ไว้ เพื่อจะเข้าหาจุดศูนย์กลางของดวงใจนั้น ให้เข้าถึงดวงใจนั้น เอวัง