เทศน์เช้า

เห็นภัย

๓ พ.ย. ๒๕๔๔

 

เห็นภัย
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เขาพูดน่ะ ว่าชีวิตนี้มันเหมือนกับสิ้นไปแล้ว อยากจะออกบวชไง ชีวิตนี้พอถึงเวลาทำที่สุดแล้ว พอคนมันเห็นทุกข์เข้ามันก็อยากออกหาทางหาที่พึ่ง คนเราถ้าเห็นทุกข์ ถ้าไม่เห็นทุกข์มันก็ไม่อยากหาที่พึ่ง ไม่เห็นทุกข์ แต่เวลาเราทุกข์กันแล้วเราก็ไม่เห็นทุกข์ เราทุกข์กันอยู่ในทุกข์นั่นน่ะ แต่มันก็พอถูพอไถไป พอถูพอไถก็ทนเอาไง ทนไปกับความทุกข์อันนั้นเป็นตลอดไป

แต่คนถ้ามีปัญญาขึ้นมานี่ มันจะเบี่ยงหาทางออก ชีวิตนี้มันก็มีเป็นอย่างนี้ตลอดไป แล้วมันจะเป็นความเป็นไปของมันเอง แต่ถ้าสิ้นสุดมันมีดวงตาสว่างขึ้นมา นี่ใจมันเปิด ถ้าดวงตาสว่างขึ้นมา เหมือนต้นไม้ ต้นไม้ต้นหนึ่งที่ปลูกอยู่นี่ บางวันก็มองว่ามันสวยงาม บางวันก็มองว่ามันเกะกะกีดขวาง ต้นไม้มันเป็นต้นไม้โดยธรรมชาติของมัน แต่เพราะว่าใจเรามันคิดดีคิดไม่ดีเท่านั้นเอง ถ้าใจเราคิดดีมันก็เห็นว่าต้นไม้นั้นสวยงาม ถ้าใจเราหงุดหงิดขึ้นมาต้นไม้นั้นก็ขวางทาง

อันนี้ก็เหมือนกัน มันเห็นว่าถ้าชีวิตเรา เรามีความทุกข์ขึ้นมานี่ เราอยู่ในความชีวิตโลกไป มันก็เป็นไปอย่างนั้น แต่ถ้ามีทางออก เห็นไหม คิดอยากจะออกบวชไง สมัยพุทธกาลน่ะ พระเจ้าจักรพรรดิ เห็นไหม ถึงเวลาจักรมันหมุนแล้วนี่ต้องออกบวชหมด ถ้าไม่ออกบวชขึ้นมาแล้วสมบัติจักรพรรดิจะหายไป เวลาออกบวชผู้เฒ่าผู้แก่ก็เหมือนกัน ผู้เฒ่าผู้แก่ถึงเวลาแล้วก็จะออกเพื่อหาที่พึ่งไป

ศาสนาพุทธพิเศษอย่างนั้นนะ พิเศษสอนหาที่พึ่งเวลาเราจะไปไหนด้วย เวลาเราจะตายไป เราจะเอาอะไรไป สมบัติตลอดไป เอาอะไรเป็นที่พึ่งไป เวลาตายมันตายไปอยู่ในโลกนี้เท่านั้น สมบัติเวลาตาย มันก็ตายอยู่กับความตายอย่างนั้น แล้วมันตายมันหลอกกัน ความตายมันหลอกกันเพราะมันไม่ได้ตายจริง มันตายเกิด ถ้ามันตายจริงสิมันน่าตาย ตายแล้วไม่เกิดอีกเลย อย่างพระอรหันต์นี่ตายแล้วไม่เกิดอีกเลย นั่นตายจริงนะ แล้วไม่เกิดเลยก็ไม่ใช่ว่าไม่มีด้วย มีความสุขของเขาอีกต่างหาก

แต่เรานี่ตายเกิด แล้วมีความทุกข์อีกต่างหาก มีความทุกข์ประสาเราไป ความสุขเหมือนกับวิดน้ำทั้งทะเลเพื่อเอาปลาน้อย ๆ ตัวเดียว เอาปลาน้อย ๆ ตัวเดียวมันไม่คุ้มค่ากับความสุข นี่ชีวิตเหมือนกัน ใช้ชีวิตไปเพื่อจะหาความสุขของเรานี่ เป็นความสุขไป แสวงหาไป ๆ แสวงหาไปนั่นน่ะมันเป็นความสุขเพราะว่ามันหลอกลวง สิ่งที่หลอกลวงนี่มันเป็นสมมุติ มันจริงอยู่ชั่วคราว มันเสื่อมค่าหมดเลย เวลามีค่าอยู่จับไว้ชั่วคราวแล้วมันจะเสื่อมค่าไป ๆ ความเสื่อมค่าของเรานั่นน่ะ มันทำให้เราต้องหาสิ่งใหม่ตลอดไป

อันนี้เป็นความทุกข์อันหนึ่งที่เรามองไม่เห็น มันเป็นอนิจจัง สิ่งใดที่เป็นอนิจจัง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา มันก็กลบเกลื่อนกันไปตลอดไม่ให้มองเห็นสิ่งนั้นเลย ชีวิตเป็นอย่างนั้น ศาสนาต่างหากที่มาชี้ให้เห็นความเป็นไป ตัวศาสนา ตัวหลักการของศาสนา ให้ว่าชีวิตนี้มีคุณค่า เพราะว่าสิ่งที่รู้สิ่งนั้นน่ะใครเป็นคนรู้ มีภาชนะตัวหนึ่งที่รับรู้นั้นคือหัวใจ หัวใจเท่านั้นรับรู้สิ่งที่มันแปรสภาพตลอดไป มันแปรสภาพไป รับรู้แล้วมันก็แปรสภาพไป สิ่งนั้นมันเป็นสมมุติ เป็นสิ่งที่แปรสภาพไปตลอดเวลา มันไม่คงที่ของมัน มันแปรสภาพอยู่อย่างนั้น แต่มันแปรสภาพแล้วมันก็ไม่มีความรู้สึก

แต่ความรู้สึกคือใจ เห็นไหม ใจสอนเรื่องศาสนา ศาสนามีคุณค่าตรงหัวใจนี่ หัวใจรับรู้เขาเอง หัวใจให้ตีค่า ค่าจะเกิดขึ้นมาเพราะเราตีค่า สมบัติเราได้มาใหม่ ๆ นี่จะมีคุณค่ามากเลย แต่ถ้าเบื่อหน่ายนะ มีคุณค่าสำหรับคนที่บริจาคไป เห็นไหม บริจาคสิ่งของไปนี่ เราบริจาคไป คนที่บริจาคของที่เหลือใช้แล้วบริจาคออกไป แต่คนที่เขาไม่มี เขาได้สิ่งนั้นน่ะ มีคุณค่ามาก มีคุณค่าของเขามหาศาล เห็นไหม คุณค่ามีอยู่ในสิ่งนั้น

แต่เวลาหัวใจมันปล่อยวาง หัวใจมันไม่รับรู้นี่ มันถึงไม่มีคุณค่าเลย แต่หัวใจถ้าได้รับรู้แล้วสิ่งนั้นจะมีคุณค่าขึ้นมา นั่นน่ะใจนี่อาศัยอามิส อาศัยสิ่งนั้นให้เกิดขึ้น อาศัยสิ่งนั้นให้เกิดขึ้นมาแล้วตัวเองก็ไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งนั้น ไม่เป็นอิสระของตัวเองเลย ถ้าไม่เป็นอิสระกับตัวเอง มันถึงว่าไม่มีคุณค่ากับตัวเองเพราะตรงนี้ไง ศาสนาสอนให้มีคุณค่า ตัวเองนี่มีคุณค่าที่สุด สมบัติในโลกนี้ไม่มีสมบัติอะไรมีคุณค่าเท่าน้ำใจของคน

น้ำใจของคน การสละ การให้ทานนี่ มีคุณค่าที่สุด เพราะว่ามันสละออกไปแล้วมันได้เอง เพราะว่าสมบัตินี้มันสละออกไปก็เป็นของโลกเขาไป แต่สิ่งที่สะสมไปในหัวใจอันนั้น มันจะเป็นคุณค่าของมันในหัวใจอันนั้น หัวใจอันนั้นได้ประโยชน์คืนมาจากใจ จากสิ่งที่ตัวเองสละออกไป แล้วตัวเองก็ได้ขึ้นมาเอง นั่นน่ะเป็นปัจจัตตัง เห็นไหม ตัวเองต้องทำของตัวเองขึ้นมาเพื่อสละออกไป แล้วตัวเองก็ได้สิ่งนั้นขึ้นมาในสิ่งที่เป็นคุณไป

แล้วตัวเองก็ได้ปัญญาขึ้นมา เห็นไหม ปัญญาในความว่า สิ่งนั้นมันไร้ประโยชน์ แต่ปัญญาอย่างนี้เป็นปัญญาทางโลก ปัญญาทางโลกมันก็เริ่มเลือนต่อไป มันแปรสภาพได้ มันแปรสภาพคือว่า ถ้ามันเปลี่ยนแปลงไป มันเปลี่ยนจากสถานะหนึ่งไปอยู่สถานะหนึ่ง มันก็เปลี่ยนความคิดไปอีก ความคิดมันไม่แน่นอนหรอก ความคิดเราไม่แน่นอน เพราะมันเหมือนกับความคิดนี้ก็เป็นอนิจจัง

ความคิดอันนี้ก็เป็นแพอันหนึ่ง แพเพื่อจะพาให้เราเข้าถึงฝั่ง ปัญญาเหมือนกัน พาให้เราเข้าถึงฝั่ง แต่เข้าถึงฝั่งนะ ไอ้ปัญญาอย่างนี้มันเป็นปัญญาที่จะพาให้เข้าถึงฝั่ง แต่มันยังไม่ถึงฝั่งไง พอมันไม่ถึงฝั่งเราถึงต้องหาทางออกกัน หาทางออกให้ได้ ถ้าเรามีทางออกขึ้นมานี่ เราจะเริ่มต้นจากว่าชีวิตเรามีคุณค่าขึ้นมา ถ้าเราไม่มีทางออกไปนี่ มันก็เป็นที่ว่าชีวิตเราก็มีคุณค่าของมันเอง แต่คุณค่านี้อยู่ใต้อำนาจของกรรม กรรมมันผลักไสไป กรรมมันให้คุณค่าขนาดไหนนะ เราทำคุณงามความดีขนาดไหน กรรมให้คุณค่าถ้าเราเลือกสิ่งนั้น

นี่ชีวิตอยู่ใต้อำนาจของกรรม ถ้าเราสิ้นสุดถึงกระบวนการของกรรม เราทำจนกรรมสิ้นสุดออกไปแล้ว ชีวิตนี้เรามีอำนาจเหนือหมด เราสามารถควบคุมได้ทั้งหมด เห็นไหม เราทำคุณงามความดีขนาดไหน มันเป็นกิริยาของใจเฉย ๆ กิริยาของใจเป็นความคิดของใจ มันไม่ใช่ตัวความรู้สึกตัวจริง

*****************************************************************

ความสะเทือนใจของมัน มันก็จะให้ความสุขความทุกข์ในหัวใจนั้น มันสะเทือนเข้ามา ๆ ถึงหัวใจตัวเอง นี่ถึงว่ากรรมดีและกรรมชั่วเราทำเองทั้งหมด เห็นไหม ทำชั่ว เราทำคุณงามความดี เราพลั้งเผลอไปนี่ แล้วมันบาดหัวใจ สิ่งนั้นไม่ดีเลย สิ่งใดทำแล้วพระพุทธเจ้าสอนไว้ ถ้าระลึกถึงย้อนหลังแล้วสิ่งนั้นเสียใจ สิ่งนั้นไม่ควรทำ แต่ทำไมเรายับยั้งตัวเองไม่ได้ เราจะไม่ควรทำเลยถ้าสิ่งนั้นมันให้เป็นโทษกับเรา

แต่เรายับยั้งตัวเองไม่ได้เลย มันต้องทำไป เพราะกิเลสนี่เห็นไหม เพราะกิเลส เพราะความเคยใจ ใจมันเคยใจทำอยู่อย่างนั้น แล้วเราไม่เคยบังคับมันเลย ความที่มันเคยใจนี่มันก็ต้องพยายามบังคับมันเข้ามา ถ้าบังคับเข้ามานี่ เห็นไหม ทำความสงบของใจ ถ้าเกิดสมาธิขึ้นมานี่ ใจมันสงบเข้ามาได้ ถ้าใจสงบเข้ามาไม่ได้นี่ เราไม่เคยบังคับใจของตัวเอง ถ้าเราไม่เคยบังคับใจของตัวเอง เราก็แพ้กิเลสของเรา เราแพ้กิเลสของเราแล้วเราโทษใคร

นี่ชำระกิเลสมันต้องชำระด้วยตัวเอง ใจของเราเท่านั้นที่ชำระกิเลสของตัวเอง ความเคยใจของมัน มันเคยใจมาตลอด ไม่แค่ชาตินี้ชาติเดียว มันเคยมาทุก ๆ ชาติ มันเคยมาทุกชาติแล้วมันก็ทำเราเจ็บปวดอยู่อย่างนี้ แล้วมันจะเกิดอีก แต่อันนี้มันพอเกิดมาแล้วนี่เรามีโอกาส เราสามารถทำได้ เรามีโอกาสเราถึงต่อสู้ขึ้นมาได้ แต่ต่อสู้ขึ้นมาได้ เริ่มต้นมันเป็นเหมือนกับคนแบกภูเขาทั้งลูกน่ะ มันหนักอยู่แล้ว หลังหักแน่นอนถ้าแบกภูเขา

แต่นี้มันเป็นนามธรรม มันก็เหมือนแบกภูเขาทั้งลูกเหมือนกัน มันเริ่มต้นนะ เราพยายามจะทำความสงบของเราขึ้นมานี่ มันจะต่อต้านมาก มันจะต่อต้านเพราะอะไร? เพราะสิ่งนั้นจะเข้าไปทำลายมัน พอสิ่งที่จะทำลายมัน มันต้องทำลายสิ่งนั้นก่อน มันทำลายสิ่งนั้นไม่ให้สิ่งนั้นได้ตั้งตัวขึ้นมาได้เลย สิ่งนั้นจะไม่มีโอกาสตั้งตัวขึ้นมา มันจะทำลายสิ่งนั้นขึ้นมา มันถึงพยายามทำลาย สิ่งที่ทำลายนั้นคือกิเลสไง คือกิเลสความเคยใจของเรานี่

เราตั้งใจทำคุณงามความดี เห็นไหม เราตั้งใจทำสิ่งคุณงามความดีนี่ ทำได้ชั่วคราว แต่ถ้ามันทำได้นี่ มันมีผลประโยชน์ล่อ มันมีตัณหาความทะยานอยาก ความล่อเพื่อผลประโยชน์อันนั้นน่ะ นี่กิเลสมันเป็นผลอย่างนั้น มันทำได้ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราคิดว่า เราจะทำคุณงามความดีของเรา เราก็เอาความสุขของเรา เรามีสิ่งที่มีความปรารถนา เห็นไหม ปรารถนาในผลนั้น

แต่เวลาปฏิบัติขึ้นมานี่ ปฏิบัติในเหตุนั้น ถ้าปรารถนาในเหตุนั้นว่าเป็นผลนั้น เห็นไหม ตัณหาซ้อนตัณหา อยากได้ผลโดยเร่งด่วนไง อยากได้ผลโดยที่มันเป็นผล เวลาเราทำงาน เราทำงานกันเหน็ดเหนื่อยขึ้นมาน่ะ เราไม่ได้ทำงานเพื่องานนี่ เราทำงานเพื่อผลประโยชน์อันนั้น ผลประโยชน์เกิดขึ้นมาจากงาน ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นมาจากงานนั้น เราต้องการสิ่งนั้น งานนี่เราเหนื่อยแสนเหนื่อยขึ้นไปเลย แต่ผลประโยชน์ขึ้นมาคือสิ่งตอบแทนจากงานนั้น นั่นถ้าสิ่งตอบแทนจากงานนั้นขึ้นมา มันก็เป็นความพอใจของเรา

ความปรารถนาในการประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน เราทำไปเหตุนั้นน่ะ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นมานั้นเป็นผลอีกอันหนึ่ง เราถึงว่าไม่ต้องปรารถนา สิ่งที่ปรารถนานี่กิเลสมันซ้อนกิเลส กิเลสมันเป็นสิ่งที่ว่าต่อต้านทุกอย่าง ถ้าเราได้เริ่มต้นต่อสู้กับมันแล้ว มันจะมีโอกาสที่ว่าจะต่อต้าน ถ้าเราไม่สู้กับมันขึ้นมา มันมีโอกาสจะทำได้นะ คิดได้นะ นั่นทำสิ่งนั้น ๆ เราทำไมไม่ทำสิ่งนั้น เราไม่ทำสิ่งนี้ เราคิดได้ตลอดเวลา

แต่เวลาทำจริง ๆ ขึ้นมา ทำไมมันไม่สะดวกเหมือนเวลาคิด เวลาคิดมันน่าจะสะดวกสิ เวลาทำมันไม่สะดวก เห็นไหม ปริยัติ ความศึกษาเล่าเรียน ความใคร่ครวญ มันเปิดช่องได้หมดน่ะ จะทำสิ่งนั้น คิดว่าจะทำได้หมดเลย เวลาลงไปปฏิบัติขึ้นมานี่ เวลาเข้าไปต่อสู้ เวลาปฏิบัติขึ้นมาจะมีแรงต้านขึ้นมาตลอด แรงต้านสิ่งนั้นขึ้นมา ในการต่อสู้ของเราขึ้นมา นั่นน่ะกิเลสมันเริ่มแสดงตัวออกมา

กิเลสเป็นนามธรรม แล้วมันเกิดตายในหัวใจนั้น ถ้าไม่มีอะไรไปสะกิดมัน มันจะนอนสงบตัวสบายอยู่ในหัวใจนั้น ถ้ามีอะไรสะกิดมันหรือว่าเป็นภัยกับมันขึ้นมา มันจะเริ่มต่อต้าน เห็นไหม ความดีในโลกนี่ อะไรคือความดี ความดีอย่างอื่น เห็นไหม เราช่วยเหลือกัน เราทำคุณงามความดีกัน เป็นอามิสทั้งหมดเลย แต่ในการทำความดีเพื่อตัวเอง เห็นไหม นั่งปฏิบัติโดยธรรมดาของเรา นั่งสมาธิเฉย ๆ นี่ มันทำความดีเพื่อเรา

แล้วงานของเรางานชำระตนเอง งานประเสริฐของเราขึ้นมานี่ ไม่ต้องไปยุ่งกับใครเลย ทำไมถึงทำไม่ได้ เวลาเราไปยุ่งกับคนอื่น งานอย่างอื่น เห็นไหม เราไปยุ่งกับเขานี่ มันต้องมีสิ่งตอบแทน สิ่งที่ว่าสิ่งเร้า เขาพอใจสิ่งนั้นไหม งานสังคมนี่มันยังต้องพยายามบริหารสังคมนั้นให้อยู่ในอำนาจของเรา แล้วนี่บริหารหัวใจของเราเอง ทำไมเราบริหารไม่ได้

มันจะบริหารไม่ได้เพราะอันนี้ เพราะสิ่งที่มันปลุกเร้าในใจนี่ ไอ้กิเลสที่ในหัวใจเรานี่ มันต่อต้านตลอดเวลา มันต่อต้านแล้วมันผลักดัน มันขับไส อำนาจของกิเลสนี่ ชนะตนถึงชนะยาก ชนะคนอื่น เห็นไหม แค่ผลประโยชน์ล่อมันก็ชนะได้ ถ้าเราจะชนะเขาจริง ๆ นี่ เราชนะเขาไม่ได้เราเอาผลประโยชน์ให้เขา เขาก็ยอมเราได้แล้ว

แต่กิเลสนี่เราเอาผลประโยชน์อะไรล่อมัน ถ้าเราเอาอามิส เอาสิ่งที่ว่ามันพอใจล่อมัน มันยิ่งต้องการสิ่งให้มากขึ้นใหญ่ขึ้นตลอดไป ผลประโยชน์ที่จะเข้าไปให้ใจมันพอใจ พอใจกับสิ่งที่มันเป็นประโยชน์กับมัน มันจะให้มากขึ้นไป แล้วเราก็ต้องพยายามหาสิ่งนั้นมาเพื่อสนองมัน เราก็ต้องเหนื่อยยากขึ้นไป เราก็ต้องเป็นขี้ข้าของมันไป

ใจมันคิด มันต้องการ มันปรารถนา แล้วเราขี้ข้า เราก็ต้องพยายามแสวงหาให้มัน เพื่อให้มันมีความสุขของมันชั่วคราว มันก็มีความสุข เราถึงต้องตัดขามันไง ตัดขามัน ตัดความแสวงหาของมันออกไป ไม่ให้มันแสวงหา ด้วยความพยายามดึงเชื้อฟืนออกจากไฟ ถ้าเราดึงเชื้อฟืนออกจากไฟได้ ไฟจะสงบตัวลงได้ ถ้าเราไม่ดึงเชื้อฟืนออกจากไฟนะ เราคิดว่าเราเอาเชื้อฟืนเติมเข้าไปในไฟเพื่อจะให้ไฟมันพอใจ เป็นไปไม่ได้เลย เราพยายามดึงฟืนออกจากกองไฟเท่าไหร่ เราจะได้ประโยชน์ขึ้นมาจากตรงนั้น

ถ้าเราพยายามดึงออกมา ๆ เห็นไหม การทำความสงบก็เหมือนกับดึงกองไฟออกมา พยายามทน พุทโธ ๆ ๆ นี่พยายามฝืนทน ทนเพื่อความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบขึ้นมา นั่นน่ะ ความสุขมันจะเกิดขึ้น แล้วจะเห็นคุณค่าของเรา แล้วจะว่าการทำคุณประโยชน์ของเรานี่ คุณงามความดีทำขึ้นมา มันจะเห็นคุณประโยชน์ไง มันจะเห็นว่าเราทำประโยชน์ แล้วเราทำประโยชน์กับเราได้ ถ้าเราไม่เห็นตรงนี้ขึ้นมานี่ เราทำประโยชน์ของเราไม่ได้ เรายับยั้งตัวเองไม่ได้ ยับยั้งความคิดไม่ได้ ความคิดมันทำให้เราหมุนเวียนออกไป หมุนออกไปตลอด เราจะมีความคิดตลอด ไม่มีความอิ่มพอ

แต่ถ้ามันอิ่มหัวใจแล้วนี่ สิ่งนั้นเป็นเครื่องอยู่อาศัย ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยเท่านั้น เราอาศัยสิ่งนั้นเป็นเครื่องอยู่ เราจะอาศัยสิ่งนั้นเป็นเครื่องอยู่ เราอาศัยอยู่ก็ได้ เราจะวางไว้นี่ เห็นไหม ความพอใจของเรา ความมักน้อยสันโดษ เพื่อจะเอาความปรารถนาของเราก็ได้ ความปรารถนาของเรา เห็นไหม ความปรารถนาคือความเรื่องของใจมันไม่ต้องการใช้ประโยชน์สิ่งนั้น สิ่งนั้นมันเป็นประโยชน์ ใช้น้อยไง มักน้อยสันโดษแล้วตัวเองจะมีความสุข ถ้าเราไม่มีความมักน้อยสันโดษ เราไม่มีความสุขกับใจดวงนี้แน่นอน เอวัง