เทศน์เช้า

เปลือกผลไม้

๒๔ พ.ย. ๒๕๔๔

 

เปลือกผลไม้
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ปฏิบัติอย่างไร ว่าห้ามมีความอยาก ถ้ามีความอยากจะเป็นกิเลส ถ้ามีความอยากแล้วมันทำไปไม่ได้ ท่านก็เปรียบว่า ถ้าผลไม้ไม่มีเปลือกผลไม้เลยนี่ ผลไม้มันก็เอาไปไม่ได้ ผลไม้เห็นไหม เวลามันเกิดขึ้นมาถ้ามันไม่มีเปลือก มันก็เป็นไปไม่ได้ที่มันจะเจริญงอกงามขึ้นมา มันต้องมีเปลือกของมัน ไอ้ความอยากของเรามันความอยากในเหตุไง ถ้าความอยากในเหตุน่ะมันเป็นอยากได้ ถ้าอยากในเหตุ แต่ถ้าอยากในผล มันอยากไม่ได้

แล้วความอยากนี่มันเปรียบเหมือนกับเปลือกผลไม้ที่เราไม่ต้องการ สิ่งที่เราไม่ต้องการเราต้องการเนื้อผลไม้ เราต้องการเนื้อสิ่งที่กินได้ แต่เปลือกนั้นก็มีประโยชน์ขึ้นมาเหมือนกัน แต่ถ้าเราไม่มีความคิดอย่างนี้ เราจะบอกว่า เปลือกผลไม้ไม่มีประโยชน์ แล้วเราจะไม่ต้องการเลย แต่ไม่ต้องการมันก็เจริญงอกงามขึ้นมาไม่ได้ เห็นไหม นี่ท่านตอบปัญหาว่า เหมือนเปลือก ไม่ต้องการเปลือก มะพร้าวนี่ทั้งลูกเลย เวลาเอาไปนี่ เอาเปลือกไปด้วยทำไม ทำไมไม่เอาแต่เนื้อไป เอาเปลือกมะพร้าวไปด้วยทำไม

เปลือกมะพร้าวมันจำเป็น ยังไม่ถึงเวลาทิ้งมันทิ้งไม่ได้ แต่ถ้าถึงเวลาทิ้งแล้วมันจะทิ้ง เวลาทิ้งมันทิ้งหมดเลย แล้วมันจะได้เนื้อของมะพร้าว อันนั้นประโยชน์ เห็นไหม ประโยชน์มันเกิดขึ้นจากตรงนั้น ประโยชน์มันเกิดขึ้นจากว่า เราใช้ความเห็นเราเป็น ถ้าเราใช้ความเห็น เราประคองความเห็นเราไม่ถูกต้อง เริ่มต้นน่ะเราก็ว่าเราทำด้วยความอยาก ถ้าทำด้วยความอยาก พยายามไม่ยอมทำ ไม่ยอมทำมันก็ทำไม่ได้ หรือทำด้วยความทำไปแต่ไม่อยาก ไม่ต้องการผล

เรื่องของจิตมันเป็นสิ่งมหัศจรรย์นะ ถ้าเราปฏิเสธสิ่งใดแล้วสิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้น เหมือนกันเราเคยปฏิบัติมา เวลาที่ว่าติดในนิมิตนี่ ถ้านิมิตเกิดขึ้น สิ่งใดจะเกิดขึ้นนี่ แล้วมันจะทำให้เราติด เราจะปฏิเสธตั้งแต่ก่อนนั่งเลยนะ เวลานั่งไปนิมิตไม่เอา ความเห็นอันนี้ไม่เอา แต่มันก็เกิดมีมาบ้าง แต่มีบ้างเราตั้งเจตนาไว้แล้ว เหมือนกับเราตั้งโปรแกรมไว้แล้ว เวลามันเกิดขึ้นมานี่ เราปฏิเสธได้ ๆ ๆ อันนี้เราปฏิเสธนี่เพราะเราตั้ง

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราบอกว่าถ้ามันมีความอยากอันนี้ ความอยากอันนี้เป็นกิเลส แล้วถ้าความอยากมันก็ไปปฏิเสธผล เวลาผลมันจะเกิดขึ้นนี่มันก็เป็นไปว่า มันจะปฏิเสธสิ่งนั้น อันนั้นส่วนหนึ่ง แต่ถ้าคนมีวาสนามันก็เกิดขึ้นได้ แต่มันเกิดขึ้นได้มันต้องเกิดขึ้นแบบว่า มันเกิดขึ้นด้วยความลังเลสงสัย เพราะเราว่าเราไม่ต้องการอยากผล เราทำไปสักแต่ว่าทำ ไม่ต้องการผลมันเลย แล้วมันเกิดผลขึ้นมาได้อย่างไร ผลมันเกิดขึ้นมานี่ ถ้าพูดถึงว่าคนมีอำนาจวาสนาคนมีบารมีขึ้นมา มันก็เป็นไปได้ มันเป็นไปได้เพราะมันเป็นไปตามสัจธรรม

แต่ถ้ามันเป็นไปไม่ได้นี่ เราเริ่มต้นปฏิบัตินี่มันเหมือนเด็กอ่อน ทำอะไรก็ทำไม่ถูก พอทำไม่ถูกแล้วมันก็ลังเลสงสัย ความลังเลสงสัยขึ้นมาแล้วมันก็ทำอะไรไม่ได้ประโยชน์ขึ้นมา ความไม่ได้ประโยชน์ตรงนั้นน่ะตอนเข้าปากทาง ตอนจะเข้าปากทางนี่เข้าไม่ได้ ถ้าเข้าไม่ได้มันก็ไม่เป็นผลไปเลย

นี่ความอยากอย่างนั้น ความอยากในความอยากที่ว่าเป็นเปลือกผลไม้ มันจะมีประโยชน์ขึ้นมาในเริ่มต้นรักษาสถานะของจิตใจขึ้นไป แต่ถ้าภาวนาเป็นขั้นตอนแรกแล้วมันจะเป็นภาวนาเป็นไป พอภาวนาเป็นไปแล้วนี่ มันจะรู้เองว่าสิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ แล้วมันจะผิดพลาดไป ความผิดพลาดของใจ เห็นไหม นี่เรื่องของใจ เรื่องของสัจจะความจริงในหัวใจของเรา ในหัวใจของเราที่มันหมุนไปอย่างนั้นน่ะ มันหมุนไปเพราะความเห็นของเราผิด

ความเห็นผิดของเรา เห็นไหม ถ้าความเห็นของเราผิดนี่ มันถึงว่ามันจะเข้าปากทางได้อย่างไร ถ้าความเห็นผิด ถ้าความเห็นถูกขึ้นมา แต่ความเห็นผิดหรือจะความเห็นถูกก็แล้วแต่ มันก็แล้วแต่ว่าคนเราจะมีประสบการณ์ขนาดไหน ประสบการณ์ภายในไม่มี มันก็มีความเห็นผิดไปเหมือนกัน ความเห็นผิดอันนั้นมันก็ผิดไป แต่ถ้าความเห็นผิดแล้วเราปฏิเสธด้วย เราพยายามจะไปงัดสิ่งนั้นออก ไม่ให้มีน่ะ มันเป็นไปไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของใจ มันเป็นเรื่องของกิเลสในหัวใจ

มันก็เหมือนกับกิเลสปกปิดใจไว้ เห็นไหม เปลือกผลไม้มันปกปิดผลไม้ไว้ เพื่อให้ผลไม้นี้เจริญขึ้นมาแล้วจะได้ผลมันขึ้นมาเหมือนกัน กิเลสในหัวใจก็เหมือนกัน มันก็ปกปิดในหัวใจเหมือนกัน ไม่ยอมให้เราเข้าใจตามความเป็นจริง แล้วเราประพฤติปฏิบัติ ถ้าไม่นั่ง ไม่ควบคุมมันนี่ มันทำอย่างไรมันก็สบายใจนะ ความสบายใจของเราทำเมื่อไหร่ก็ได้ ตั้งใจเมื่อไหร่ก็ได้

แต่ถ้าเราเริ่มต้น จะเริ่มเข้าไปควบคุมเขานี่ เขาจะดิ้นรนทันที ความดิ้นรนของเขา เห็นไหม แล้วเขาก็ปฏิเสธขึ้นมา จะทำให้เราพะรุงพะรังขึ้นไป มันยิ่งยุ่งยากขึ้นไป เพราะอะไร? เพราะว่าสิ่งนั้นมันต่อต้านอยู่แล้ว เริ่มต้นก็เริ่มต้นได้ยาก แล้วยังมีข้อแม้อีก ข้อแม้ว่าต้องไม่นั่นอย่างนั้น ต้องไม่นั่น ต้องอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่มันเกิดมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน

มันเกิดมีโดยธรรมชาติของมันแล้วเราปฏิเสธขึ้นมานี่ มันจะทำอย่างไรให้สิ่งนั้นมันไม่มี สิ่งนั้นมันไม่มีมันต้องเริ่มต้นต้องทำความสงบของใจเข้ามา ตามหลักของศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาที่เราคิดขึ้นมานี่ มันเป็นปัญญาที่ความเห็นผิดของเรา ถ้าปัญญาความเห็นถูก ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันต้องได้ธรรมะอันนั้นโดยธรรมชาติของมัน ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เห็นไหม

แต่เราปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม เพราะอะไร? เพราะกิเลสมันพาปฏิบัติด้วย กิเลสในหัวใจของเราพาปฏิบัติ คือความเห็นผิดของเราไง ความเห็นผิดของเรา ความเห็นอย่างนั้น แล้วเราแก้ไขนี่ เราคิดว่า ถ้าความเห็นของเราแล้วนี่มันจะไม่ผิดพลาด มันจะเป็นความเห็นของเรา เพราะเราต้องรักตนเอง เราทำของเราตนเองขนาดไหน แล้วความเห็นผิดนี่มันก็อยู่ที่หยาบ กลาง ละเอียดด้วย

ถ้าความเห็นผิดอย่างหยาบ ๆ ขึ้นมานี่ เริ่มต้นมันจะทำไม่ได้เลย ความเห็นผิดอย่างกลาง พอเริ่มเป็นสมาธิเข้ามานี่ มันเริ่มลังเลสงสัย เริ่มจะพลิกแพลงอย่างไร ความเห็นผิดอย่างละเอียด เวลาปัญญามันหมุนขึ้นไป มันว่าสิ่งนั้นสิ้นสุดกระบวนการแล้ว สิ่งนั้นจะเป็นไปนี่ ความเห็นผิดจะมีตลอดไปจนกว่าจะสมุจเฉทปหาน ถ้าได้สมุจเฉทปหานขึ้นมานี่ มันสมุจเฉทปหานความเห็นผิด แต่ไม่สมุจเฉทปหานความเห็นถูกต้อง ความเห็นถูกต้องจะมีในหัวใจไป

ถ้าความเห็นถูกต้องมันจะเกิดขึ้นในความเห็นของใจ เห็นไหม สภาวะความเป็นจริงทุกอย่างในโลกนี้ไม่มี สิ่งใด ๆ ก็ไม่มี สิ่งที่ไม่มีอยู่แล้วนี่ แล้วเราไปตะครุบสิ่งไม่มี เราเหมือนกับคนเสียสตินะ เราไปตะครุบสิ่งไม่มี แต่นี่มันเป็นธรรมะปรมัตถ์ ปรมัตถ์หมายถึงว่า มันเป็นสภาวะอย่างนั้น มันถึงที่สุดแล้วมันไม่มีสิ่งใด ๆ เลย เราเกิดขึ้นมาอาศัยชั่วคราว ๆ ทั้งนั้น สิ่งใด ๆ ในโลกนี้ก็ไม่มีอยู่แล้ว มันไม่มีโดยดั้งเดิม แต่มันมีโดยสมมุติ เห็นไหม

แต่ถ้าทางโลกแล้วนี่ สมมุติอันนี้เราต้องศึกษากัน เราต้องรักษากัน เราต้องมีวิชาชีพ เราต้องศึกษาขึ้นมา เพื่อจะดำรงชีวิตขึ้นมา การดำรงชีวิตของโลกเขาก็ดำรงชีวิตไป แต่มันเหนื่อยเปล่า เหนื่อยเปล่าตรงที่ว่า จับต้องสิ่งใดแล้วสิ่งนั้นไม่มีอะไรเลย ไม่มีอะไรที่จะพึ่งพาอาศัยได้ มันต้องทำลายไปโดยธรรมชาติของมัน มันต้องบุบสลายไป มันต้องทำลายไป มันต้องหมดไป โลกนี้สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องแปรสภาพ มันต้องแปรสภาพไปหมด มันไม่มีสิ่งใดเลย

นี้ปัญญาเห็นชอบนี่มันจะบวกไปกับใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นขยับขึ้นมานี่ ปัญญาตัวนี้มันจะทันรู้ทันหมด รู้ความเท่าทันของใจ จากใจที่ว่ามันเริ่มติดในรสชาติ มันขาดแล้วก็จริงอยู่ แต่มันยังติดรสชาติอยู่ แล้วมันละเอียดเข้าไป ๆ มันจะปล่อยวางเข้าไปบ่อย ๆ เข้า จนมันไม่มีรสชาติ ในอารมณ์นั้นไม่มีรสชาติในใจนั้นเลย วิมุตติของใจนั้นมันละเอียดเข้าไป ๆ เพราะปัญญานี้มันใคร่ครวญในหัวใจนั้น หัวใจนั้นจะมีความถูกต้องของใจ ใจจะมีความถูกต้อง เห็นไหม ความถูกต้องของธรรม

แล้วมันกระเพื่อมขึ้นมานี่มันจะรู้เท่าทันไปตลอด ถึงว่ามันสมุจเฉทปหานกิเลสออกไปจากใจ แต่ความที่มันเป็นอยู่ในหัวใจนั้นเป็นปัญญาอย่างนั้น มันจะมีปัญญาละเอียดเข้าไปในหัวใจตลอดไป จนกว่ามันควบคุมใจได้ มันกระเพื่อมขึ้นมามันก็รู้เท่าทัน เห็นไหม มันรู้เท่าทันของใจ

นั่นน่ะเกิดจากถ้าเราคิดว่ามันเป็นความอยาก แล้วเราไม่ทำเลยนี่ มันจะไม่ได้ผล แต่ถ้าเราคิดว่าเราทำขึ้นไป ความอยากอย่างนี้มันเป็นความอยากแบบที่เราสุดวิสัย สิ่งที่เราปิดกั้นไม่ได้ มันสุดวิสัย เราก็ไม่ไปคิดถึงมัน แล้วเราทำไปประสาเรา ทำไปโดยที่ว่าเราไม่ต้องการผลของมัน ไม่ต้องการสิ่งที่ว่าหลอกลวง ความอุปาทาน ความเกิดเป็นผลไง เราไม่ต้องการตรงนั้น ถ้าเราไม่ต้องการตรงนั้น มันก็เป็นไปได้

ความเป็นไปของใจ เห็นไหม ใจมันจะเป็นไปของมันโดยธรรมชาติของมัน ถ้าธรรมชาติของมันนี่ มันก็ธรรมชาติของกิเลสเกิดขึ้นพร้อมกัน ธรรมชาติของกิเลสกับธรรมชาติของใจมันมีอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว แล้วเราพยายามจะรักษานี่ ท่านตอบเพราะอะไร? เพราะว่าท่านเคยผ่านมาแล้ว

เปรียบเหมือนกับเปลือกของผลไม้ เราไม่ต้องการเลยเปลือกผลไม้ แต่เราก็ต้องแบกมันไปด้วย สิ่งที่เราแบกมันไปด้วยเพราะมันเป็นสิ่งที่ว่ามันมีอยู่ในหัวใจ เห็นไหม สิ่งที่เราแบกไปด้วย เราก็แบกกันไปอย่างนั้น แต่จริง ๆ แล้วเราก็ต้องทิ้งมัน แต่ต้องทิ้งมันต่อเมื่อเราจะต้องทิ้งมันสิ ถ้าเรายังไม่ต้องการทิ้งมันอยู่นี่ เราไปทิ้งมันก่อนนี่ แล้วสิ่งนั้นไม่เสียหายไปด้วยเหรอ

มันไม่เป็นประโยชน์ แต่มันเป็นประโยชน์ขณะนั้น ความอยากในการประพฤติปฏิบัติ เห็นไหม ประโยชน์ไหม ความอยากในความเพียรนี่ ถ้าเรามีอยากในความเพียร เรามีความมุมานะนี่ ความเพียรชอบ ความเพียรชอบเกิดขึ้นจากอะไร? เกิดขึ้นจากความเราตั้งใจ เราตั้งใจขึ้นมา ใจมันจะเป็นความเพียรชอบ ความเพียรชอบอย่างนี้มันเกิดขึ้นมาได้ในหัวใจของเรา ถ้าเราความเพียรแล้วนี่ก็เป็นความอยาก เพียรก็เป็นความอยาก มันเริ่มต้นไม่ได้

พอเริ่มต้นไม่ได้ ความเพียรไม่ได้ มันก็ไปไม่ได้ สิ่งที่เป็นประโยชน์มันก็เลยล้มกันไปหมดเลย สิ่งที่เป็นประโยชน์มันเป็นประโยชน์ ความเป็นประโยชน์มันมีหยาบ มีกลาง มีละเอียด ทุกอย่างมีหยาบ มีกลาง มีละเอียดก่อนนะ ความหยาบ ๆ ของมันเริ่มต้นเราจะทำอย่างไรให้เป็นความหยาบไป แล้วมันจะละเอียดลออเข้าไปในหัวใจนะ พอมันปล่อยวางเป็นความว่าง เห็นไหม แล้วมันก็ว่างอยู่อย่างนั้นน่ะ เราไม่เข้าใจว่าความว่าง ความว่างมันมีหลายระดับมากเลย

นี่มันถึงเป็นอจินไตยนะ อจินไตย เรื่องพุทธวิสัย เรื่องโลก เรื่องฌาน เรื่องกรรม นี่เป็นเรื่องอจินไตย ความว่างก็เหมือนกัน เป็นอจินไตย พอมันว่างขึ้นมาแล้วเราจะปล่อยอย่างไร เราเคว้งคว้างความว่าง ถ้าความว่างนั้นยังสามารถกำหนดอารมณ์ได้ สามารถกำหนดพุทโธได้ เราต้องกำหนดเข้าไป เพื่ออะไร? เพื่อสิ่งนั้นสืบต่อสาวเข้าไปหาความว่างที่ละเอียดกว่า ความว่างอย่างนั้นมันเข้าไปถึงที่สุดแล้วมันก็จะคลายตัวออกมา

แต่ถ้าเรายังกำหนดได้ เรายังตั้งสติได้ เราตั้งสติให้มันเกาะเกี่ยวกับสิ่งใดไว้ มันรักษาตัวมันเองอยู่ในความว่างนั้น แล้วมันจะลึกเข้าไปอีก ความว่างจะละเอียดเข้าไปอีก ละเอียดเข้าไปเพราะอะไร? เพราะมันมีสิ่งที่สืบต่อเข้าไป มีคำบริกรรมให้จิตนั้นเดินเข้าไป ถ้าเราเดินเข้าถึงความว่าง เห็นไหม เราเดินเข้าไปละเอียดเข้าไป นั่นน่ะความว่าง ว่างอย่างนี้ว่างแบบหินทับหญ้าไว้ ถ้าว่างแบบหินทับหญ้าไว้นี่มันก็ว่างหมด ความว่างอย่างนี้พอมันออกมาแล้ว อารมณ์มันก็เหมือนอย่างเก่า

แต่ถ้ามีปัญญาขึ้นมา ความว่างอันนี้มันยกขึ้น เห็นไหม ความอยากอันนี้มันอยากหรือไม่อยากก็แล้วแต่ เราคิดดู เราพิจารณาดู แล้วเราคิดดูว่า เรามีการชำระล้างไหม ถ้ามีการชำระล้างแล้ว ต้องยกขึ้นวิปัสสนา ตรงยกขึ้นวิปัสสนานี่ วิปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม แต่ต้องพยายามขุดคุ้ยตรงนี้ พอขุดคุ้ยตรงนี้ มันก็เหมือนกับเราลอกเปลือกออก เห็นไหม เนื้อของผลไม้นั่นมันจะเป็นประโยชน์แล้ว นี่ลอกเปลือกออก ถ้าไม่ได้วิปัสสนามันไม่ได้ลอกเปลือกออก

ความลอกเปลือกออก เราต้องลอกเปลือกออกด้วยปัญญา ปัญญามันจะเข้าไปใคร่ครวญแล้วพิจารณาแล้วแยกแยะออกไป ความแยกแยะออกไปนั่นน่ะ ตรงนั้นน่ะมันจะแยกแยะเองโดยธรรมชาติของมัน การจะปอกเปลือกมะพร้าวนี่มันต้องใช้หัวใจปอก ใช้มรรคปอกไง มรรคปอกความหยาบอันนั้นมันออกไป ขาดออกไปจากใจ มันถึงจะเห็นความขาดออกไปจากใจ

ไม่ใช่ว่าเราไปเข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นความอยากแล้วเป็นกิเลส แล้วเราจะละโดยกำปั้นทุบดิน เห็นไหม เรากำปั้นทุบดินว่าเราจะทำอย่างนั้น เราจะกดเอาไว้เลย แล้วเราจะกดให้มันเป็นไปผลประโยชน์ของเรา มันจะไม่เกิดเป็นผลประโยชน์ของเราเพราะมันไม่ใช่ปัญญาใคร่ครวญ มันไม่ใช่มรรค ถ้ามันเป็นมรรคแล้วมันจะสามารถชำระตรงนี้ได้ ถ้าเป็นมรรคแล้วมันจะปล่อย พิจารณาแล้วมันจะปล่อยวาง

แต่ความปล่อยวางนั้นมันต้องมีความว่างเข้าไปก่อนแล้วค่อยยกวิปัสสนา อาศัยความว่างนั้นเป็นสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิเป็นหนึ่งในมรรค ๘ มรรคนั้นทรงตัวขึ้นมาแล้วจะหมุนเวียนไป ความหมุนเวียนพลังงานมันเกิดขึ้น เห็นไหม ปัญญามีสิ่งที่เกื้อหนุน ถ้าปัญญาไม่มีเกื้อหนุน มันเป็นความคิดของเรานี่ ความคิดของเราคิดแล้วบางทีมันก็ชนะ บางทีมันก็ท้อถอย แล้วความคิดแล้ว คิดไปคิดมานี่ มันเบื่อหน่ายในความคิดของเราเอง

แต่ถ้ามีสิ่งที่เกื้อหนุนอยู่นั้น ปัญญาสิ่งนั้นมันสัมมาสมาธิเกื้อหนุนอยู่ ความเกื้อหนุนน่ะมันหมุนออกไป มันเหมือนกับมันมีพลังงานออกไป นั่นน่ะมันเป็นภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ชำระเปลือกออกจากใจ ถ้าปัญญาชำระเปลือกออกจากใจถึงจะเข้าใจว่า นั่นน่ะถึงเวลาที่เราจะทิ้งเปลือก มันก็จะทิ้งเปลือก ถ้าเราไม่ถึงเวลาที่เราทิ้งเปลือก มันจะทิ้งเปลือกไม่ได้ มันจะทิ้งเปลือกไม่ได้เลยเพราะไม่ใช่เวลาที่เราจะทิ้งเปลือก ถ้าเป็นเวลาทิ้งเปลือกนี่ มันจะสามารถทิ้งเปลือกได้โดยธรรมไง โดยมรรคอริยสัจจัง โดยความสมุจเฉทปหานของใจ

นั่นน่ะมันถึงจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น ถ้าใจดวงนั้นทำอย่างนั้นได้ มันถึงเข้าใจว่า อ๋อ..มันมีอยู่โดยธรรมชาติของมัน แล้วต้องเป็นไปโดยอย่างนี้ เราเพียงแต่ประคองกันไป เราเข้าใจมัน รักษามันจะเป็นประโยชน์ ถ้าเริ่มต้นขึ้นมาเราไม่เข้าใจว่าสิ่งนั้นเป็นประโยชน์ มันเป็นประโยชน์เพื่อการรักษา แต่มันเป็นโทษต่อเมื่อมันไม่สามารถชำระออกไปได้ ถ้าเป็นประโยชน์ขึ้นมา ตอนแรกนี่เราใช้ประโยชน์กับมันไปก่อน มันมีประโยชน์ให้เราเริ่มความศรัทธาเริ่มมีความเพียรของเรา แต่มันจะไปกวนใจตอนหลัง ถ้าไปกวนใจตอนนั้น อันนั้นเป็นโทษ

แล้วเราไปสละตรงนั้น สิ่งที่สละตรงนั้น ถึงเป็นตามธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรขึ้นไป แล้วมันจะเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน ถึงได้ไปสมุจเฉทปหานแล้วตัดออกได้ด้วยความเป็นจริง ถ้าความจริงเป็นอย่างนั้น แล้วจะทำได้เป็นอย่างนั้น เอวัง