เทศน์เช้า

ศีลธรรม

๙ ก.ย. ๒๕๔๔

 

ศีลธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นี่ประเสริฐมาก สัตว์มันอิสระกว่าเรา มันไปไหนมันไปตามอิสรภาพของมัน ตามเรื่องของสัตว์ แต่มนุษย์ติดในกติกาสังคม กติกาสังคมมนุษย์สร้างขึ้นมา แล้วมนุษย์ก็ติดกติกาสังคมนั้น แล้วมนุษย์ว่าเป็นผู้ที่ฉลาด แต่ก็ติด ไม่เหมือนสัตว์ สัตว์มันมีอิสรเสรีภาพมากกว่ามนุษย์ มองในแง่ของเสรีภาพนะ ไม่ได้มองในแง่ของสถานะ ถ้าในแง่สถานะมนุษย์ประเสริฐที่สุด แต่มองในแง่ความอิสระ ถ้าเป็นสัตว์ที่อยู่ในป่า มันจะมีความอิสระของมันตามธรรมชาติของมัน แต่ถ้าสัตว์ในบ้านก็อีกเรื่องหนึ่ง ในแง่ของความอิสระของมัน มันมีอิสระของมัน

แต่ในแง่ของกรรม ไม่ใช่ ในแง่ของกรรมมนุษย์ประเสริฐที่สุด พระพุทธเจ้าบอกว่า “เปรียบเทียบในแง่เดียว แง่ว่าเวลาเห็นมนุษย์เรานี่ติดในกติกาของสังคม สร้างกติกาสังคมขึ้นมา แล้วก็ติดในกติกาสังคมของตัวเอง” มนุษย์ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ แต่ติดอยู่ แต่ในประเด็นใหม่ ศีลเห็นไหม ศีลนี้ทำให้สังคมนั้นสงบร่มเย็น ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องมีศีล คนเราไม่มีศีลอยู่กันไม่ได้

เหมือนดอกไม้นี่ ถ้ามีเชือกร้อยดอกไม้ ดอกไม้จะเป็นพวงมาลัย ศีลทำให้สังคมอยู่ได้ด้วยกัน ศีล สมาธิ ปัญญา เห็นไหม ศีลถึงเป็นสิ่งเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเราใช้เป็นประโยชน์ขึ้นมา ถ้าเรามีศีลขึ้นมานี่ ศีลเป็นประโยชน์กับเรา แต่ศีลนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ให้บังคับเรา ไม่ใช่ให้บังคับคนอื่น” เรามองกันดูแต่ศีลแล้วจะไปบังคับคนอื่น บังคับให้คนเป็นไป

แต่ถ้าศีลบังคับตัวเรา ให้เราเป็นตามอย่างนั้นหมดแล้ว เราบังคับตัวเราเอง ทุกคนในหมู่สังคมนั้นดีหมด คนเป็นคนดี สังคมนั้นก็ต้องดีโดยธรรมชาติของมัน แต่เราไปมองกันข้างนอก มองคนอื่น ศีลต้องเป็นอย่างนั้น ๆ ๆ แต่ลืมมองตัวเราเอง พอลืมมองตัวเราเองนี่ ตัวเราเองเราก็ไม่ได้จำกัดตัวเราเอง ศีล...จะมีสมาธิ เห็นไหม นี่ศีล สมาธิ ปัญญา ถึงว่าศีล สมาธิ ปัญญาถึงจะเกิดขึ้น ถ้ามีสมาธิกับมีศีล จะมีสมาธิ

สิ่งที่เป็นสมาธิ ความเป็นสมาธิของเราเกิดขึ้นมานี่ ถ้าสมาธิของเราเกิดขึ้นมา เราจะมีความเห็นตัวเอง หลักจากใจตัวเอง ศีล สมาธิ แล้วปัญญามันจะเกิดขึ้น ปัญญาในการที่เอาตัวรอดไง สิ่งที่เอาตัวไม่รอดนี่ ศีล สมาธิ ปัญญา แล้วปัญญาเกิดขึ้นมา ปัญญาเห็นตามความสะดวก ความสุขของโลกเขาอย่างหนึ่ง โลกนี้แสวงความอยากใหญ่ ความที่ว่าให้สมความปรารถนาของตัว แต่มันไม่เคยสมความปรารถนาของตัว มันไม่เคยมีความสุขของตัว ความสุขที่เราปรารถนาในโลกนี้หาไม่เจอ

มันได้ชั่วคราวไง มันเป็นปัจจัยเครื่องอยู่อาศัย ถ้าปัจจัยเครื่องอยู่อาศัยพอดำรงมันไป มันก็มีความพอใจ ความพอใจนั้นโลกเขาว่าเป็นสุข แต่โลกเป็นสุขมันแก้ไขไม่ได้ แก้ไขไม่ได้คือว่าอะไร เพราะว่าสิ่งที่มันเป็นโทษที่สุดคือความคิดของเราเอง ถ้าเรามีความคิดว่าเราพอใจในความสุขนั้น เพราะอะไร? เพราะเรายังไม่เจอสิ่งที่เหนือกว่าเราก็พอใจในสิ่งนั้น

แต่ถ้าเรารู้สิ่งที่เหนือกว่า สิ่งที่เหนือกว่ามีอยู่ เราจะติดข้องสิ่งที่เหนือกว่า แล้วจะปล่อยวางสิ่งนั้นขึ้นไปเอาสิ่งที่เหนือกว่า สิ่งที่เหนือกว่าอย่างนี้ในศาสนาของเรา สิ่งที่เหนือกว่านี่มันละเอียดอ่อนจนไม่มีใครสามารถเห็นได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก “ลึกมาก ธรรมะลึกมาก ลึกจนมองไม่เห็น”

เวลาความคิดของเราเกิดขึ้นมานี่ มันจะให้ความคิดของเราออกไปข้างนอก แต่มันไม่เห็นความคิดว่า หัวใจตัวภาชนะสำคัญน่ะ ตอนนี้สังคมเขามีจดหมายมาบอกว่า “คริสต์ทำลายศาสนา ๆ” คริสต์นี่จะเข้ามากลืนศาสนาพุทธของเรา มาทำลายศาสนาของเรา แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ตัวหลักศาสนานี่ ภิกษุต่างหาก ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นี้นี่แหละ ผู้ที่ทำลายศาสนา”

แต่คนทำลายศาสนา ศาสนาเป็นคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว ๕,๐๐๐ ปี หรือว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ นี่จะเป็นประโยชน์ต่อตรงนั้นไง แต่สิ่งที่จะเข้าไปรับกับศาสนาคือหัวใจนี่ ตัวหัวใจที่จะเข้าไปรับศาสนา ความรู้สึกของใจนี่ ถ้าความรู้สึกยังมีอยู่ในตัวของเราเอง เราจะรับผลประโยชน์อันนั้นได้ ถ้าความรู้สึกอันนี้มันไม่มีไปนี่ เราจะเอาอะไรไปรับความรู้สึกอันนั้นได้ ไปรับธรรมะ ความรู้สึกคือหัวใจของเราที่มีความรู้สึกอยู่นี่ ถ้ามันมีความรู้สึกอันนี้ ตัวนี้สำคัญที่สุด แล้วตัวนี้สำคัญที่สุด มันทำลายตัวนี้ได้อย่างไร?

เราถึงว่าสิ่งที่จะทำลายศาสนา ทำลายทุกอย่าง...ไม่ใช่หรอก กิเลสต่างหากทำลาย กิเลสในหัวใจของเรานี่มันทำลายเรา เราไม่รู้สึกตัวเลย เราคิดของเราเอง มันทำลายให้เราไม่มีโอกาสที่จะทำสิ่งนั้น ไม่มีโอกาสที่จะคิดสิ่งใดได้ มันคิดแต่ความพอใจของมัน ๆ ถึงต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา มันลึกซึ้ง มันปิดบัง มันอยู่อีกชั้นหนึ่ง อีกชั้นหนึ่งที่เราไม่สามารถเข้าไปเห็นมันได้ มันถึงลึกซึ้ง แล้วมันกว้างขวางจนไม่มีขอบไม่มีเขต แล้วมันก็อยู่หลังความคิดเรา ความคิดนี้ออกไปก่อนแล้วมันก็อยู่หลังความคิดเราไป ๆ

แล้วความคิดนั้นเราไปติดที่ความคิดของเราเอง พอเราติดที่ความคิดของเราเองนี่ มันมีปัญญาอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ถ้าเราติดอย่างหยาบ ความคิดอย่างหยาบนั้นมันก็ทำลายเรา เพราะเราติดที่ความคิด แต่ความคิดนี้ไม่ใช่เรา ความคิดนี้เป็นแขกจรมา ความคิดนี้มาชั่วครั้งชั่วคราว เราคิดขึ้นมาก็มีความคิด เราไม่คิดขึ้นมาความคิดมันก็ไม่มี...มันไม่มีหรอก มันเป็นสิ่งที่อาศัยกัน แต่เราไปยึดตรงสิ่งนี้ สิ่งนี้มันเป็นการจรมา มันเกิดขึ้นมาด้วยจากหัวใจ จากหัวใจที่มันจะเป็นประโยชน์กับเรานี่

นี่กิเลสเกิดขึ้นจากใจ แล้วกิเลสทำลายหัวใจของตัวเอง ถ้าทำลายหัวใจของตัวเองมันจะเป็นอย่างนั้นไง นี่ภัยของมันคือภัยของความคิดของตัวเอง ติดในความชั่ว เห็นไหม คนถ้าติดในความชั่ว คิดแต่ความชั่ว สันดานของเขาเป็นอย่างนั้น เขาจะทำอย่างนั้นง่าย แต่เขาจะทำความดียาก คนติดในความดี ทำความดีง่าย ทำความชั่วยาก แต่ติดในดี เห็นไหม พระพุทธเจ้าสอนว่า “ให้พ้นทั้งชั่วและดี” พ้นไปทั้งหมด ข้ามพ้นไปให้ได้ เพราะติดอยู่สิ่งนั้นไม่ได้ ติดอยู่กับความหยาบ ๆ เข้ามา เห็นไหม เราปล่อยเข้ามา ละเอียดเข้ามา พอถึงละเอียดเข้ามาก็ติดในความละเอียดของตัวเองเข้ามา นี่มันจะละเอียดเข้าไป ๆ ถ้าละเอียดเข้าไปมันจะเข้าไปเห็นตัวใจไง มันถึงต้องใช้ศีล สมาธิ ปัญญา

ถึงบอกว่าเป็นกติกาของสังคมนี่ มันเป็นเรื่องหยาบ ๆ ถ้ามองกัน สอนเรื่องหมู่สัตว์ เห็นไหม กติกาของสังคมทำให้เรานี่ไม่อิสรเสรีภาพเหมือนสัตว์ สัตว์เขาไปตามอิสรภาพของเขา เราต้องติดกติกาของสังคม สิ่งถ้ามันติดน่ะมันไม่พอดีมันก็ติด ถ้ามันพอดีมันก็เป็นศีลขึ้นมา เป็นศีลขึ้นมาเป็นความพอดีกับตัวเอง พอเป็นศีลขึ้นมาก็ทำความสงบของใจขึ้นมาได้ ถ้าความสงบของใจขึ้นมาได้นี่มันจะเห็นหลักของใจ เห็นตัวของใจ เห็นตัวนี้ว่าเป็นคุณประโยชน์

แล้วมันเห็นเป็นคุณประโยชน์แล้ว มันค่อยไปรักษาของมันเข้าไป ศีล สมาธิ ปัญญาถึงทำใจของตัวเองให้พ้นออกจากกิเลสได้ ทำใจของตัวเองให้พ้นจากกิเลส ทำให้ตัวเองขึ้นมานั้น แต่เพราะกรรมมันตัดรอนน่ะ ถ้าคนมันมีกรรมมา สิ้นสุดของนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก เห็นไหม พระโมคคัลลานะเป็นพระอรหันต์นะ เขามาทำลายตัวเองน่ะ เหาะหนีถึง ๓ ครั้ง เหาะหนีแล้วเหาะหนีเล่า แต่สุดท้ายก็มารู้ว่าเป็นกรรมของตัว เป็นพระอรหันต์ยังต้องปล่อยให้เขาทำลายไป

ถ้ากรรมมันถึงที่สุดแล้ว ไม่มีใครสามารถชนะเหนือกรรมได้ นั่นน่ะมันถึงย้อนกลับมาว่า ถ้าเราทำบุญกุศลหรือทำบาปอกุศลนี่ เราทำแล้วเราคิดว่ามันไม่ให้ผลกับเรา มันจะให้ผลตอนที่เราไม่รู้สึกตัวไง เวลากรรมมันตัดรอนนะ กรรมนี่มีอำนาจเหนือสิ่งสูงสุดทั้งหมด แล้วถ้าพูดอย่างนี้ปั๊บทุกคนจะว่าศาสนาพุทธนี่เป็นศาสนาที่แบบว่ายอมจำนน ทุกอย่างบอกว่ายกให้กรรม ๆ

ไม่ใช่ยอมจำนน สิ่งที่มันเกิดขึ้นสุดวิสัยนี่มันเรื่องของกรรม ไม่ใช่ยอมจำนนนะ ถ้ายอมจำนนพระอรหันต์เกิดขึ้นมาไม่ได้ พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาไม่ได้ เกิดขึ้นมาจากความวิริยะอุตสาหะ แต่ความวิริยะอุตสาหะเห็นไหม กรรมอยู่ในกำมือของเรา กรรมอยู่ที่การกระทำของเรา แต่ทำแล้วมันเป็นผลน่ะ ทำแล้วมันเป็นวิบาก ผลอันนั้นเวลามันเป็นผลมานี่ เราไม่รู้ทำตอนไหนไง

แต่ขณะที่ว่าเราจะทำนี่ เรามีอำนาจเหนือกรรมทั้งหมด เราสามารถควบคุมใจเราได้ แล้วเราทำอะไรก็ได้ ทำความดีขนาดไหน คุณงามความดีต้องให้ผลเป็นความดีกับเรา ทำสิ่งที่ไม่ดีนี่ มันยังไม่ให้ผลกับเราตอนนี้ มันให้ผลกับเราตอนไหนเราไม่รู้ แต่สิ่งนั้นมันต้องทำมา เพราะอะไร? เพราะมันฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก เวลาเราทำอะไรขึ้นมานี่ ไม่มีสิ่งใดเลยที่เราจะปิดกั้นได้ เราทำสิ่งใดก็แล้วแต่ มันจะฝังลงที่ใจ ๆ ไอ้สิ่งที่ฝังลงที่ใจนั้นน่ะ มันจะเป็นจิตใต้สำนึกไป

จิตใต้สำนึกอันนี้มันเป็นกรรมที่ฝังไปกับหัวใจ แล้วหัวใจนี่มันจะไปเปิดตอนไหน เราบอกว่าทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป คนทำความชั่วทำไมเขาได้ดี ๆ เขาทำความชั่วนี่มันเป็นการที่ว่าเขาเคยทำกุศลมาก็ได้ แล้วกุศลนั้นมันให้ผลอยู่ สิ่งที่เป็นกุศลให้ผลอยู่ แต่ปัจจุบันนี้เขาเผลอไป เขาเป็นคนที่ไม่มีสติ เขาขาดสัมปชัญญะ เขาทำสิ่งที่ไม่ดีไป แต่สิ่งที่มันมีให้ผลอยู่อันนั้นมันยังให้ผลอยู่

มันถึงว่าศาสนาเราสอนถึงวัฏวน ไม่ได้สอนถึงชาติปัจจุบันไง สอนถึงวัฏฏะว่าการเกิดและการตาย การเกิดและการตายนี่มันเหมือนกับวันนี้กับพรุ่งนี้ ถ้าวันนี้เรามีเงินมาก พรุ่งนี้เงินนั้นจะเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าวันนี้เราไม่มีเงินเลย พรุ่งนี้จะเอาเงินที่ไหนไปใช้ ชาติปัจจุบันนี้เราทำคุณงามความดีไว้ มันตายไปมันซ้ำไป นี่วัฏวนเป็นอย่างนั้น มันถึงว่ากรรมอันนี้มันให้ผล ไม่ใช่ยอมจำนน มันเป็นสัจจะความจริงต่างหาก

แต่ไม่มีใครสามารถมองเห็นสิ่งนี้ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามองเห็นสิ่งนี้ได้ถึงชี้ไปเรื่องของกรรม ถ้าการกระทำเห็นไหม กรรมเป็นแดนเกิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมทุกอย่างจะให้ผลทั้งหมด แต่กรรมนี่มันให้ผลต่อเมื่อมันเป็นวิบากให้ผล แต่กรรมการกระทำของเรา เราเกิดมาชาติปัจจุบันนี่ ปัจจุบันนี้เราสามารถสร้างคุณงามความดีได้ ถ้าเราสร้างคุณงามความดีของเราปัจจุบันนี่มันอยู่ในกำมือของเรา

นี่สติสัมปชัญญะอยู่ ศาสนาจะเข้ามาตรงนี้ ศาสนาจะเข้ามาชักนำตรงหัวใจ ตรงศรัทธาความเชื่อแล้วชักนำใจให้ทำคุณงามความดี ศาสนาจะชักนำให้คนเข้าไปถึงหลักของคุณงามความดี แล้วเชื่อคุณงามความดี ทำคุณงามความดีนั้น ทำคุณงามความดีก็ทำอะไร? ทำกรรมดี ทำกรรมดีจนพ้นจากกรรมดีไป พ้นจากกรรมดีไปก็สิ้นสุดจากกิเลสไปทั้งหมด แต่กรรมมันตัดรอนก็ต้องว่ากรรมมันตัดรอน ถ้ากรรมมันตัดรอน เรามันสุดวิสัย เราทุกคนสุดวิสัย มันไม่ใช่ว่าสิ่งที่เราพยายามกันสุดความสามารถแล้วแต่มันสุดวิสัย มันก็ต้องยกให้กรรม ยกให้กรรมแล้วก็ต้องเป็นเรื่องของกรรม

ทำคุณงามความดีเพื่อคุณงามความดี ทำมาเห็นไหม ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เริ่มความเชื่อ แล้วก็ศรัทธาขึ้นมา จนถึงว่าออกบวชประพฤติปฏิบัติ แล้วมันเป็นอย่างนี้ไปได้อย่างไร มันเป็นอย่างนี้ไปได้นี่ ทุกคนเหนี่ยวรั้งไว้เต็มที่แล้วมันก็เป็นไปไม่ได้ มันสุดวิสัยมันก็เป็นไปตามกรรม กรรมมันให้ผลก็ต้องสุดสิ้น ต้องยอมรับเรื่องของกรรม เอวัง