เทศน์เช้า

เกิดดับ

๑๖ ก.ย. ๒๕๔๔

 

เกิดดับ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เพราะเกิดดับนะ ตามศาสนาเมื่อก่อนเราไม่มีอะไร เราก็ว่าไม่มีอะไร พอมีปั๊บว่าเป็นความเกิดดับ ๆ แต่ความเกิดดับ ความแปรสภาพนี่มันแปรสภาพส่วนหนึ่ง แต่มันมีอีกส่วนหนึ่งที่ไม่แปรสภาพ ส่วนที่ไม่แปรสภาพคือเรื่องของใจ ใจนี้ไม่มีวันตายไง มันแปรสภาพไป มันเสวยร่างเป็นมนุษย์ เป็นมนุษย์ เสวยร่างเป็นอะไร เป็นอะไรไป สิ่งที่ว่าไม่แปรสภาพมันมีอยู่ในสิ่งที่แปรสภาพ สิ่งที่แปรสภาพนี่เราเลยสับสนไง สับสนว่าทุกอย่างแปรสภาพหมด ๆ

แล้วการทำคุณงามความดีของเรามันจะได้ผลตอนไหน ทำคุณงามความดีของเรามันจะเป็นคุณงามความดีของเรา แล้วมันสะสมลงไปที่ใจ ใจจะแปรสภาพไป ความแปรสภาพของใจนี่มันแปรสภาพไปเฉย ๆ แต่มันมีตัวฐานของใจตัวนั้น ตัวฐานของใจตัวนี้มันถึงเข้ากับนิพพานได้ นิพพานคงที่ไม่มีการแปรสภาพไปเลย อยู่คงที่ แล้วจิตเข้าถึงตรงนั้นจะมีความสุขมาก

แต่ขณะที่เราปกติอยู่นี่มันมีสิ่งนี้ซ่อนอยู่ในหัวใจ แล้วมันอยู่ในสมมุติไง ความเป็นสมมุติเป็นของชั่วคราว ความสมมุติมันจริงตามสมมุติ มันมีทุกอย่างตามสถานะของมันที่มันมีอยู่ แล้วเราต้องรับสภาวะนั้น รับสภาวะนั้นเพราะเราเกิดในสภาวะนั้น แล้วการเกิดสภาวะนั้นนี่ศาสนาเข้ามามีบทบาทตรงนี้ไง ศาสนาเข้ามามีบทบาทตรงที่ว่าเราจะอยู่ตามสถานะนั้นแล้วไปตามสถานะนั้น มันก็ไปตามน้ำ

แต่ถ้าศาสนาสอนให้ทวนน้ำไง ทวนกระแสเข้าไป ๆ คุณงามความดีนี้เป็นเชื้อเพลิง เป็นสิ่งที่สะสมลงที่หัวใจ แล้วมันทวนกระแสเข้าไปจนจิตนี้จะเข้าถึงกระแส เข้ากระแสนะ แล้วทวนกระแสเข้าไปจนถึงที่สุดของมัน จิตดวงนี้ดับได้ ดับจากความเป็นสมมุติทั้งหมด แต่ตัวเองไม่สามารถดับตัวมันเองได้ ตัวมันเองจะอยู่กับตัวมันเองตลอดไปอย่างนั้น จะเป็นความสุขไปตลอดนั้น

นี่ศาสนาเข้ามามีบทบาทตอนที่ว่าเราสร้างคุณงามความดีไง บุญกุศลนี่สะสมลงที่ใจ คุณค่าของสรรพสิ่งสสารต่าง ๆ ให้คุณค่าทั้งหมด บาปให้คุณค่าเป็นอกุศล อกุศลให้คุณค่าเป็นทุกข์ บุญกุศลให้คุณค่าเป็นความสุข แต่เราว่าความสุขนี่เราไม่ค่อยเจอกัน แล้วความสุขเราหาได้ยากเพราะอะไร? เพราะความสุขนี่เราหาไม่เป็น หาไม่ถูกที่ไง หากันในความเห็นของเราว่าสิ่งนั้นจะเป็นความสุข ๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ธรรมะนี้เหมือนน้ำจืดสนิท ไม่มีโทษกับร่างกาย” แต่อาหารในโลก สิ่งที่เราแสวงหากันนี่ มันแสวงหารสชาติไง รสชาติของโลกเขา ทำให้โลกติด

แต่รสชาติของศาสนา รสชาติของความจืดสนิท ความจืดสนิทแล้วไม่มีโทษกับหัวใจอันนั้น มันสะสมลงที่ใจดวงนั้น ถ้ามันสะสมลงที่ใจดวงนั้นนี่ บุญกุศลเป็นแบบนั้น เราถึงแสวงหากันไม่เจอ เพราะเราต้องการรสชาติ เราต้องการความเป็นไป เราต้องการแสวงหาสิ่งที่เราพอใจของโลกเขา โลกสมมุติมันเป็นแบบนั้น มันกระเพื่อม มันหวั่นไหว มันสั่นคลอนไปตามกระแสของโลกเขาไป

นี้ความสงบของใจ ใจมันสิ่งที่ละเอียดอ่อนมาก เวลาน้ำกระเพื่อมนี่พวกตะกอนมันขึ้นมาเพราะหัวใจมันขุ่นมัว พอขุ่นมัวนี่ตะกอนขึ้นมา มันจะเห็นสภาพของน้ำว่า น้ำนั้นมีน้ำในแก้วนั้นเพราะตะกอนมันขุ่นมัวขึ้นมา หัวใจก็เหมือนกัน มันหมุนเวียนออกไปโดยธรรมชาติของมัน มันขุ่นมัวในธรรมชาติของมัน แต่เราไม่รู้ว่ามันขุ่นมัวน่ะสิ

เวลาอารมณ์มันเกิดขึ้นมา ความคิดนี้ไม่ใช่เรา บอกไม่ใช่เราแล้ว แต่มันมีอันที่เป็นเรานี่ ความคิดไม่ใช่เรา แล้วมันมาจากไหน เวลาความคิดนี่มันมาจากไหน มันจะทำให้ใจขุ่นมัวขึ้นมานี่ มันใจขุ่นมัวแต่เราไม่รู้ เราคิดว่าเราเป็นความคิด เป็นความคิดของเรา เราคิดว่านี่คือผลประโยชน์ของเรา เราคิดว่าอย่างนั้น

ศาสนาสอนให้ทำความสงบของใจเข้ามาตรงนี้ ทำความสงบของใจคือว่า ให้ตะกอนในน้ำนั้นนอนก้นลงไป น้ำมันก็จะใส พอน้ำมันจะใสขึ้นมานี่ น้ำใสก็เป็นคุณค่าขึ้นมา เห็นไหม น้ำใส น้ำสะอาด มีคุณค่ากับร่างกาย มีคุณค่ากับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ต้องใช้น้ำสะอาด น้ำนี้มันสะอาดขึ้นมา พอน้ำสะอาดขึ้นมามันก็ย้อนกลับเข้าไป ๆ น้ำสะอาดในความกดไว้ของกิเลสเฉย ๆ นะ ยังไม่เห็นตัวของกิเลส กิเลสที่มันแทรกอยู่ในหัวใจน่ะมันเป็นอย่างนั้น

เพราะมันแทรกอยู่อย่างนั้น มันมียางเหนียว สิ่งที่มียางเหนียวเหมือนกับเมล็ดผลไม้ที่ยังมีเชื้ออยู่ ตกลงดินแล้วมันต้องเกิดอีก ๆ ถ้าเมล็ดผลนั้นไม่มียางเหนียว ไม่มีเชื้อนั้น ตกลงที่ไหนก็ไม่เกิดอีก อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อมันมียางเหนียวอยู่ในหัวใจ มันต้องเกิดอีก สิ่งที่จะต้องเกิดอีกนี่มาพาตายพาเกิด เราถึงต้องอาศัยคุณงามความดีให้พาเกิดพาตาย นี้เป็นวัฏวนที่ต้องเวียนไป

แต่ในชาติปัจจุบันนี้ล่ะ ในชาติปัจจุบันนี้ ในความเห็นปัจจุบันนี้เรามีความรู้สึกอยู่ ความรู้สึกอันนี้มันเข้ากับธรรมะได้ ศาสนธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นไหม พระอานนท์ถามว่า

“ถ้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว เราจะพึ่งอะไร?”

“ให้พึ่งธรรมและวินัยที่เราตรัสไว้ ที่พระพุทธเจ้าวางไว้นั้นเป็นศาสดาของเธอ”

ธรรมและวินัยนั้นจะเป็นศาสดาของพวกเราตามหลังไป แล้วธรรมและวินัยอยู่ที่ไหน? ธรรมและวินัยนี่มันสิ่งที่ว่าเจือจานแล้ววางไว้เฉย ๆ สิ่งที่จะสัมผัสธรรมและวินัยนั้นคือเรื่องของใจทั้งหมดเลย สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดมานั้น มันเป็นกิริยาของธรรม เป็นคำพูดเป็นกิริยาของธรรม แต่ตัวของธรรมคือตัวความสัมผัสของใจ ตัวความสัมผัสของใจเข้าไปทำความสงบของใจ

ถ้าใจมันสงบขึ้นมา มันสัมผัสเข้ามา มรรคอริยสัจจังจะเกิดตรงนี้ มรรคของศาสนาพุทธนี้มันเป็นเรื่องของนามธรรม เรื่องของความก้าวเดินไปของใจไง เหมือนความคิดเรา ความคิดเราคิดขึ้นนี่ ความคิดนี่เราคิดได้ แล้วเรารู้ว่าเราคิด นี่ความคิดเราเห็นได้ เห็นไหม ปัญญาที่เวลามันก้าวเดินไป มันก็เหมือนความคิดที่เราคิดนี่แหละ มันเป็นความคิด เป็นนามธรรม แต่มันเป็นความคิดที่ว่าธรรมพาเดิน กับความคิดที่เราคิดปัจจุบันนี้กิเลสพาเดิน กิเลสมันคิด คือความเห็นของเราพาเดิน ความเคยใจ ความพอใจ ใจที่มันเคยเดินร่องไหน มันจะเดินร่องนั้น นี่ความคิดอันนี้มันเป็นความคิดของกิเลสที่มันเคยพาไป แล้วเราทำความสงบของใจ ใจเราสงบขึ้นมามันเห็นคุณค่าของใจขึ้นมา แล้วมันย้อนกลับ นี่ทวนกระแส

ธรรมะจะมีภาคปฏิบัติขึ้นมา เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา เรื่องของทานคือเรื่องทำบุญกุศล นี่ทำได้ง่าย ๆ บุญกุศลอันนี้มันเป็นเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงนี้สะสมให้เรามีพลังงานไป แต่อันนี้มันจำกัดพลังงานเพราะข้ามทั้งดีและชั่ว ใช้พลังงานชำระพลังงานอันนั้น จนพลังงานอันนั้นหมดไปจากหัวใจ หัวใจนั้นไม่มีพลังงานขับเคลื่อน หัวใจนั้นบริสุทธิ์ไง หัวใจนั้นบริสุทธิ์มันก็เอาความสุขมาให้กับใจ เพราะมันไม่มีอะไรขับเคลื่อนไปในหัวใจนั้นแล้ว

แต่ความกระทำของมัน มันต้องสร้างมรรคอันนี้ ถ้าเป็นปัจจุบันนี้นะ ไอ้ความสะสมเรื่องของบุญกุศลนั้นมันเป็นสะสมไป บุญกุศลไป ปัจจุบันนี้คือให้ประพฤติปฏิบัติไง ให้ทานร้อยหนพันหนไม่เท่ากับความสงบของใจหนหนึ่ง ถ้าหัวใจเราสงบร้อยหนพันหนไม่เท่ากับเกิดมีปัญญาหนหนึ่ง ปัญญาการชำระกิเลส ปัญญาที่เราฝึกฝนขึ้นมา ปัญญาชำระกิเลสตรงไหน กิเลสมันติดอยู่ในอะไร? กิเลสมันติดอยู่ในกายกับใจ กายกับใจจับต้องตรงไหน สรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นของสมมุติ มันเป็นของชั่วคราวทั้งหมดเลย กายกับใจนี่ชั่วคราว ใจที่มันเป็นมนุษย์สมบัตินี้ชั่วคราว

แต่ตัวใจจริง ๆ มันไม่ชั่วคราว ตัวใจจริง ๆ มันเกิดตาย ๆ อยู่ แต่มนุษย์สมบัติเห็นไหม ในมนุษย์สมบัติความคิดของมนุษย์เรานี่ ๑๐๐ ปี เราจะคิดแบบมนุษย์ของเรา ความคิดของเทวดาก็คิดแบบของเทวดาของเขา ความคิดของสัตว์เดรัจฉาน เห็นไหม มันมีสัญชาตญาณเท่านั้น แล้วใจดวงนี้มันหมุนเวียนไปเกิด ความคิดของมนุษย์อันนี้มันครอบเราอยู่ นี่ขันธ์ ๕ ความคิดในกรงขังไง ในกรงขังคือในกรอบของหัวใจดวงนั้น ดวงใจดวงนั้นได้เกิดเป็นอะไรจะมีกรอบของดวงนั้นครอบดวงใจดวงนั้นไว้ ครอบด้วยสัตว์เดรัจฉานก็ครอบด้วยสัญชาตญาณ ครอบด้วยมนุษย์มันก็มีความคิดแบบมนุษย์นี้ ครอบด้วยเทวดา ครอบด้วยอินทร์ ครอบด้วยพรหม จะมีความคิดของเขา คือธรรมชาติของเขา ขันธ์เห็นไหม ขันธ์ ๑ ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๕ นี่มันเป็นธรรมชาติของมันที่ครอบอยู่ นี่กรงขังของความคิด ความคิดคิดได้ขนาดนี้

แต่ถ้าปัญญาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันคิดได้มากกว่านี้ มันคิดได้แทงทะลุกรงขังนี้ไง ทำลายกรงขังของความคิด กรงขังของใจ มันเป็นความคิดที่มันขังใจอยู่นี่ ทำลายมันออก พอทำลายมันออกใจไม่มีที่เกาะเกี่ยว ใจไม่มีที่ยึดมั่น เรายึดมั่นความคิดเราเอง เรายึดมั่นความเห็นของเราเองว่าเป็นความถูกต้อง

แล้วถ้าเราทำลายความคิดของเรา ทำลายทุกอย่างออกไปจากใจ มันไม่มีอะไรจะให้เป็นความคิดอีก มันจับต้องไม่ได้ สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด สิ่งใดเป็นอนิจจัง สิ่งนั้นให้ความทุกข์ สิ่งไหนให้ความทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เห็นไตรลักษณ์ เห็นอนัตตาตามความเป็นจริง มันเป็นของชั่วคราว มันเป็นความจริง แต่เป็นของชั่วคราว

ถ้าใครเห็นตามความจริงอย่างนี้ แล้วปล่อยวางได้ มันหลุดออกไป ไม่ใช่ปล่อยวางโดยที่ว่ามันรู้เท่า หรือปล่อยวางนะ มันทำลาย มันทำลายที่อยู่อาศัย ทำลายที่ยึดมั่นถือมั่น ทำลายที่เกาะเกี่ยว สิ่งที่เกาะเกี่ยวนั้นโดนทำลายออกไปทั้งหมด ใจนี้หลุดออกไปจากนั้นไป นั้นเป็นสมุจเฉทปหาน นั่นน่ะใจถึงจะพ้นออกไปจากทุกข์อันนี้ได้ แล้วจะพ้นออกไปจากความทุกข์

มันเป็นเรื่องของสัจธรรม สัจจะความจริงเป็นปัจจัตตังรู้จำเพาะตน รู้ขึ้นมาจากหัวใจนะ เวลาสรรพสิ่งในวิชาการนี่ เราต้องมีใบประกาศ เราต้องมีผู้ที่รับรอง แต่เรื่องของความเป็นจริงอยู่ในหัวใจนี้ไม่ต้องมีใครรับรอง มันจะรู้จริง มันจะหลุดจริงออกไปจากหัวใจ แต่ใหม่ ๆ ความรู้จริงนี่ มันก็ยังเข้าใจว่าหลุด เข้าใจว่าปล่อยวาง แต่มันไม่เป็นความจริง เพราะอะไร? เพราะว่าเราไม่เคยสัมผัสสิ่งนั้น จนถึงที่สุดแล้วมันจะขาดออกไปโดยธรรมชาติของมัน จะเป็นอย่างนั้นแล้วไม่ต้องมีใครรับรอง มันจะรู้ความเป็นจริงนี้ เป็นปัจจัตตัง มันถึงชำระกิเลสได้ตามความเป็นจริง เพราะกิเลสมันอยู่ที่ใจ เราต้องรู้ที่ใจ ถึงต้องเอาเรื่องของนามธรรม เรื่องของใจ

มรรคอริยสัจจังนี้มีอยู่ในศาสนาพุทธเท่านั้น “สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย ศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล” มรรคที่เขาว่ากันนั้น มรรคหยาบ ๆ สัมมาอาชีวะการเลี้ยงชีพชอบนี่เป็นมรรคของโลกเขา เลี้ยงหัวใจชอบ เลี้ยงการงานชอบ ความคิดของใจที่มันหมุนออกไปเป็นความคิดที่มันเข้ามาชำระหัวใจ งานอันชอบอันนี้เป็นภาวนามยปัญญา ภาวนามยปัญญานี่เลี้ยงหัวใจชอบ ความเห็นชอบ พอความเห็นชอบมันก็วนกลับเข้าไปข้างใน มันจะทำลายกิเลสในหัวใจนั้น ถ้าทำลายกิเลสในหัวใจนั้นหมดสิ้นไป จะเห็นคุณค่าของใจ ใจที่มันไม่เกิดไม่ตายอีก อยู่ใน...

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)