เทศน์เช้า

เข้าพรรษา

๖ ก.ค. ๒๕๔๔

 

เข้าพรรษา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้พระเขาจะปวารณาเข้าพรรษากัน ถ้าเข้าพรรษาแล้วจะธุดงค์นะ ธุดงควัตรนี่มันเป็นธุดงควัตร แล้วยังมีอีกนะ ถ้าอยู่ในหมู่คณะ เขาจะถือธุดงควัตร ๑๓ ไง ถือว่าไม่นอน ถือว่าจะตั้งกติกาขึ้นมา เขาจะถือกันอย่างนั้น

ดูอย่างพระจักขุบาลสิ วันนี้อธิษฐานเนสัชชิกไม่นอน ตั้งแต่วันนี้จนวันออกพรรษา เห็นไหม ใกล้ๆ ออกพรรษาตามันจะแตก ตามันจะแตกต้องไปหาหมอ หมอบอก “ให้ใส่ยา” ท่านบอก “ไม่ยอมใส่” เพราะอะไร? เพราะมันกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม

ไอ้เราคิดเรานี่ห่วงสุขภาพกันนะ แต่เวลาพระที่ประพฤติปฏิบัติกัน สุขภาพนี่มันจะพิการไปบ้างอะไรบ้าง แต่ถ้าใจมันพ้นไปได้มันจะมีความสุขมาก จนทำอย่างนั้นนะ พยายามเอาตัวเองเอาให้รอดให้ได้

แต่นี่เราไปห่วงร่างกายกัน เอาแต่หลักหมอมาว่าไง เอาหลักของหมอมาว่า หมอก็รักษาร่างกาย เขาไม่รักษาจิตใจหรอก หมอเขาพยายามรักษาคนไข้มา มีแต่พวกจิตแพทย์เขาจะรักษาจิตใจบ้าง แต่เขารักษาด้วยยา เห็นไหม แต่ของเรารักษาด้วยเนื้อของใจ รักษาใจเองในวิปัสสนานี้ มันเนื้อของใจรักษาใจ ความเห็นของใจภายในรักษาใจภายใน

ความเห็นอันนั้นนะ เราย้อนกลับมาเราสิ เวลาเรานั่งภาวนากัน มันจะได้ประโยชน์ได้ผลตามจริงของเราไหม? มันไม่ได้เพราะอะไร? เพราะว่ามันนั่งหลับใช่ไหม? มันนั่งแล้วมันง่วงเหงาหาวนอนเพราะอะไร? เพราะอาหารการกินนี่เราไม่ได้คิดไง อย่างโยม ๓ มื้อ ๔ มื้อมันก็แล้วแต่ใช่ไหม? ถ้าวันไหนวันพระก็หยุดไม่กินกลางวัน อันนั้นอีกอย่างหนึ่ง

แต่ของพระเรา ฉันอาหารแล้ว เห็นไหม ยังผ่อนอาหารอีก ยังผ่อนลงไปๆ แล้วก็ตั้งกติกา บางองค์ตั้งกติกาในพรรษานี่วันละ ๓ คำหรือ ๔ คำแล้วแต่ เป็นคำข้าวกำหนดเลย บางวันนี่ฉันแค่ ๒ คำ ตั้งกติกาให้ตัวเองได้ฉันข้าววันละ ๒ คำ มีบางองค์เราอยู่ด้วยกันนะ อธิษฐานไม่ฉันข้าว แต่บิณฑบาตมาอย่างนี้ มาถึงมาแกะอาหารใส่บาตรแล้วก็นั่งมองกัน แล้วก็ให้โยม พระก็ฉันเสร็จแล้วก็เลิก ท่านไม่ฉันข้าวแต่ท่านก็บิณฑบาตมาต่อสู้กับความหิวไง ร่างกายมันหิวอยู่แล้ว เห็นไหม แล้วมาเจอสภาพแบบนี้ มันจะเป็นอย่างไร?

นี่วิธีการผู้ที่จะค้นคว้าหากิเลส หาความอยากของเราไง ทำเพื่ออะไร? ทำเพื่อให้ร่างกายนี่มันอ่อนลง เพื่อจะให้เรามีโอกาส หมายถึงว่าเหมือนกับการต่อสู้กัน ให้คู่ต่อสู้เรามีน้ำหนักอ่อนลง คู่ต่อสู้เราไม่มีกำลังเข้มแข็งกับเรา

เราผ่อนอาหารเพื่อเหตุนั้น เพื่อให้คู่ต่อสู้ของเราอ่อนตัวลง แล้วเราจะมีกำลังต่อสู้กับมันหนึ่ง สองการอดอาหาร เห็นไหม อดอาหารเพื่อเป็นอุบายวิธีการ อุบายวิธีการนี่สำคัญมากนะ เราทำภาวนากัน เราทำความเพียรกัน เห็นไหม เราทำเราคิดอะไรคิดไม่ออก มันคิดอะไรก็คิดไม่ออก เวลามันฉุกคิดขึ้นมาได้ มันฉุกคิดขึ้นมาได้เหมือนกัน

อันนี้ก็อุบายวิธีการไง อุบายวิธีการอย่างที่ว่า หิวมาก...หิวมาก...พอหิวมาก อะไรมันตัวหิว? แล้วพอไปเจออาหารขึ้นมา อาการความอยากมันเกิดขึ้น เห็นไหม นั่นแน่...นั่นแน่...เห็นแล้ว เห็นไหม ไอ้ความอยากในใจเรามันเกิดขึ้นมา แต่ปกติมันเคยกินเคยอยู่ทุกวัน มันเคยได้อยู่ มันก็พอใจมัน จะกินเมื่อไหร่ก็กินได้

ไอ้นี่เราตั้งกติกา “อด” อดเพื่อไม่ให้จะกินข้าวกี่วัน? ๓ วัน ๗ วัน แล้วอดอย่างไร? พอมันหิวขึ้นมา พอมันมาเจอเข้า ไอ้ความอยากมันต้องเพิ่มขึ้น นี่อุบายวิธีการเพื่อจะค้นคว้า เพื่อจะหาหลักการ หากิเลส หาให้เจอ ถ้าหาเจอมันก็เป็นวิปัสสนาขึ้นมา

นี่ตั้งใจกัน ตั้งใจในวันนี้วันปวารณานะ พระเสร็จแล้วตอนเย็นนี้ปวารณา แม่ชีทำที่นั่นก็ได้ ทำที่กุฏิก็ได้ ทำที่โรงครัวนั่นนะ ปวารณาเอา ปวารณา ๓ เดือน เว้นไว้แต่อะไรนะ จะอธิษฐานอะไรทำอะไร เว้นไว้แต่ เห็นไหม

ดูอย่างครูบาอาจารย์สิ เว้นไว้แต่หมู่คณะเจ็บไข้ได้ป่วย เว้นไว้แต่มันมีความจำเป็นในหมู่คณะต้องช่วยเหลือกัน บางทีอธิษฐานไม่พูด อธิษฐาน...ไม่พูดนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วแต่อธิษฐานเอา แต่ถ้าทำได้...ทำนะ

ใน ๑ ปีเราธุดงค์ไปเราอยู่ในที่ไหนก็ได้ แต่ในพรรษา ๓ เดือน มันเหมือนกับทดสอบกันไง เรามาทดสอบกับครูบาอาจารย์ เข้าไปอยู่กับครูบาอาจารย์แล้วทดสอบกันว่าจิตใจเราเป็นอย่างไร เราทำได้ขนาดไหน แล้วหาเข้าไปเรียนเหมือนกับเรียนปริยัติ เวลาออกป่านี่ออกป่าไปอีก

แต่นี่ไม่ได้เรียนปริยัติโดยเฉพาะนะ มันเรียนปฏิบัติโดยเฉพาะ เพราะอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ แล้วเข้มแข็งตามที่เริ่มต้น แต่มันทดสอบไง เทียบเคียงกับครูบาอาจารย์ เหมือนกับเรียนปริยัติ แต่ความจริงมันเรียนภาคปฏิบัติ แต่ทดสอบอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ แล้วทำให้ได้ นี่ในพรรษามาอย่างนั้น

ในออกพรรษามันก็ธุดงค์ไป อิสรเสรีของเราจะไปไหนก็ไปได้ ในสิทธิของเราที่เราจะไป แต่ในเวลาอธิษฐานพรรษาแล้ว ๓ เดือนนี้จะไม่ออกจากนี่ไป มีแต่สัตตาหกรณียะ หมายถึงว่ามีกิจนิมนต์ แต่กิจนิมนต์นี่ความจำเป็นนะ เดี๋ยวนี้มันออกไป พ่อแม่เจ็บไข้ได้ป่วย หมู่คณะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าต้องการซ่อมแซมวัดวาอาราม ต้องการหาของ นี่สัตตาหะไปได้

นี่ก็เหมือนกับที่เราอธิษฐานพรรษา เว้นไว้แต่...เว้นไว้แต่อะไร? แต่พระพุทธเจ้าให้เว้นไว้แต่ได้ ๗ ข้อนี้ ให้เราจะไปทำอะไรก็ได้ที่ออกไปทำอย่างนั้น ถ้ามีสิ่งนี้เราจะออกไปได้ภายใน ๖ คืนแล้วกลับมา นี่ในพรรษา ถ้าในพรรษามันต้องทำอย่างนั้น มันต้องมีหนักมีเบาไง ไม่ใช่ปีทั้งปีก็อยู่กันอย่างนั้น พอถึงพรรษาหนึ่งก็เริ่มต้นกันทีหนึ่ง แต่วัฒนธรรมไทยดีมากนะ เวลาเข้าพรรษานี่คนไปทำบุญกันมาก เพราะว่าเอาบุญกับท่านไง

พระเป็นนักรบ เป็นผู้ที่รบกับกิเลส ต่อสู้กับกิเลส แล้วอาศัยกำลังมาจากญาติโยม โยมเป็นผู้ที่ให้อาศัย ปัจจัย ๔ นี้ฝากไว้กับฝ่ายบรรณาธิการ ฝากไว้กับโยม แล้วตัวเองเป็นนักรบ รบกับกิเลส คำว่า “รบกับกิเลส” นี่อาศัยบุญอันนั้น

ถึงว่าพอใจทำบุญกุศลกัน เข้าพรรษานี่อุตส่าห์ไปทำบุญกุศล ภายใน ๓ วัน ๔ วัน นี่ทำเป็นประเพณีเพื่อบุญกุศลอันนั้น ดูอย่างครั้งพุทธกาล เห็นไหม ที่โยมเขานิมนต์พระไปฉันข้าว แล้วพระเห็นว่าเป็นคนจนไปบิณฑบาตฉันก่อน พอบิณฑบาตฉันก่อนแล้ว พอไปฉันที่บ้านเขา คนจนก็จริงอยู่แต่มีคนมาช่วยมาก อาหารมันเหลือเฟือ แล้วเขาบอก “ขอนิมนต์ฉันอีก”

“อิ่มแล้วๆ”

“อิ่มแล้วเพราะอะไร?”

“อิ่มแล้วเพราะบิณฑบาตมา”

ก็เลยประชดไง เอาใส่บาตรให้กลับไปฉันวัด...

ไอ้ความประชดอันนี้ เหตุมันอยู่ตรงนี้ ตรงที่มาคิดว่า “เรานิมนต์พระมาฉัน เราได้บุญหรือได้บาป?” ไปถามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “แม้แต่ข้าวทัพพีเดียว เราใส่บาตรนั้นไป พระฉันข้าวทัพพีนั้นไป ทำความสงบขนาดไหน วิปัสสนาขนาดไหน บุญกุศลของการที่ทำอันนั้นเป็นของเรา” นี่อยู่ในพระไตรปิฎก นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดไว้

นี่ไง ปัจจัยเครื่องอยู่อาศัยที่โยมอุตส่าห์มาอุปัฏฐากพระ เพื่อนี่ เพื่อบุญกุศลที่ว่าพระประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ไม่มีกังวลกับเรื่องนี้ไง ให้ได้ต่อสู้กับกิเลสเต็มที่ ให้ได้ต่อสู้ ให้ได้วิปัสสนาเต็มที่ นี่บุญกุศลเกิดขึ้นนั้น เราหวังบุญกุศลอันนั้น เราก็ทำบุญกุศลกับพระนั้น นั้นบุญกุศลด้วยการทำ

แล้วบุญกุศลนี้เราเคยสละทานไว้แล้ว เราประพฤติปฏิบัติหรือเรามีเคราะห์มีภัยขึ้นมา มันจะมีคนมาช่วยเหลือเรา ถ้าให้ทานเขาไว้ ทาน บุญกุศลมันจะเกิดย้อนกลับมาหาเราไง เวลาเข้าจนตรอกจนมุม มันมีทางออกของเราไป อันนั้นเป็นบุญกุศลอันหนึ่ง สองเวลาประพฤติปฏิบัติมันจะง่ายขึ้นมาอีกอันหนึ่ง

เราได้บุญกุศลโดยเนื้อหาสาระ หมายถึงว่าเราทำบุญแล้วบุญกุศลได้ของเราแน่นอนอยู่แล้ว นี่มันยังส่งต่อมาอีก เห็นไหม ส่งต่อมาแม้ขนาดที่ว่าดับขันธ์ตายไป ผู้ที่ทำบุญกุศลแล้วไปเกิดในคติที่ดี ในสิ่งที่เป็นสวรรค์ ในสิ่งที่เป็นสมบูรณ์ของตน ถ้าเราเป็นไป

นี่บุญกุศลเป็นอย่างนั้น มันถึงทำกัน ประเพณีสอนมา ประเพณีเป็นมาอย่างนั้น เราทำตามประเพณีมา ความเชื่อประเพณีมา ไม่ได้เชื่อด้วยความรู้ของเราเอง ถ้าความรู้ของเราหูตาสว่างขึ้นมา เราหูตาสว่าง เราเข้าใจของเรามา เราจะขวนขวายของเรา เราจะแสวงหาของเรา ทาน ศีล ภาวนา (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)