เทศน์เช้า

กิเลสหลอก

๒๒ ก.ค. ๒๕๔๔

 

กิเลสหลอก
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ความเป็นบุญกุศลไง ทุกคนอยากหาความมั่นคง ความมั่นคง เห็นไหม บุญกุศลแล้วอยากจะให้มันมั่นคง นี่มันไม่ศึกษาตามความเป็นจริงไง บุญกุศลเป็นบุญกุศล ถ้าเรามีบุญกุศล มีสติสัมปชัญญะนะ ปิดอบายภูมิแน่นอน แต่ถ้าเหตุเฉพาะอันตรงนั้นแล้วว่าปิดอบายภูมิ มันเป็นไปได้อย่างไร?

ปิดอบายภูมิมันต้องพระโสดาบันเท่านั้น เพราะ! เพราะสติสัมปชัญญะมันพร้อม จะว่าสมบูรณ์ไม่สมบูรณ์มันยังเผลออยู่

เขาบอกว่า ถ้าเราทำคุณงามความดี เวลาเราทำบุญกุศลนี่เป็นบุญกุศล บุญกุศลนะ เราทำบุญกุศลไปเรื่อยๆ มันจะบวกเราไปเรื่อยๆ บวกกันไปเรื่อยๆ เราจะไปในแง่บวก แต่คนเรา ๕๐ เปอร์เซ็นต์มันต้องบวกและลบใช่ไหม? เวลาทำแง่ลบขึ้นมา ไอ้ลบอันนั้นนะ แล้วเวลาก่อนที่มันจะว่าปิดอบายภูมิไม่ได้หมายถึงว่าคนเราเวลามันจะตายนะ เวลามันคิดถึงความไม่ดีมันจะไปตรงนั้น แล้วก็บอกพระโสดาบันทำไมคิดไม่ดีล่ะ?

เราบอก โอ้โฮ...มันหยาบเกินไป เห็นไหม เวลาพระโสดาบันอาจจะคิดไม่ดีก็ได้ พระโสดาบันอาจจะไปอบายภูมิก็ได้

บอก “เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าพระโสดาบันนี่ กายกับใจไม่ใช่อันเดียวกัน กายมันแยกใจออกจากกัน เห็นไหม กายไม่ใช่เป็นเรา เราไม่ใช่เป็นกาย แล้วเวลาจะตายขึ้นมา กายมันไหวขนาดนั้น ทำไมสติมันจะไม่กลับมา? มันสะกิดทีเดียวนะ สติพร้อมบูรณ์เลย สติสมบูรณ์มาก สมบูรณ์ในขั้นของโสดาบันนะ”

แล้วคนเรามันจะตายขึ้นมา ร่างกายมันต้องแปรสภาพ มันต้องไหวติง มันเจ็บไข้ได้ป่วยหรือมันจะวูบไป จะวูบขนาดไหนสติก็พร้อม สติพร้อมหมด ถึงว่ามันปิดอบายภูมิเพราะว่ามันสติพร้อม เพราะการปิดอบายภูมิมันต้องแก้ที่หัวใจใช่ไหม? มันไม่ได้แก้ที่ความรู้สึก เห็นไหม ความรู้สึกมันความรู้สึก ความรู้สึกมันจรมา บุญกุศลเกิดจากความรู้สึก เราอยากทำบุญกุศลถึงเป็นบุญกุศล ถ้าเราไม่อยากทำบุญ ความรู้สึกมันอยู่ที่ไหน?

ความรู้สึก เห็นไหม ความรู้สึกกับตัวใจมันคนละอันกัน ขันธ์ ๕ สังขาร ความปรุงความแต่ง แล้วสัญญาความจำได้หมายรู้ เวทนา เห็นไหม มันเป็นขันธ์ ๕ มันไม่ใช่ตัวใจ แล้วเวลาแก้กิเลสมันไปแก้ที่ใจ แล้วใจมันเคลื่อนมาที่ขันธ์ ขันธ์ ความรู้สึกรับรู้นี้ มันทำไมไม่สะเทือนหัวใจ? มันถึงปิดอบายภูมิได้แน่นอน

แต่ถ้าบุญกุศล เวลาทำบุญกุศล ใจของคนเรามันมีขึ้นมีลงไง เวลาขึ้นนี่มันเป็นบุญกุศล ถ้ามันขึ้น คนเราขึ้นตลอด ปิดอบายภูมิได้จริงไหม? จริง...ถ้าคนเราขึ้นตลอดนะ นี้ขึ้นตลอดๆ แล้วมันทำบุญกุศลตลอด มันเป็นเพราะอะไร? มันเป็นเพราะใจนั้นทำใช่ไหม? มันทำกุศลแล้วมันสำคัญตอนที่มันแปรสภาพตอนที่มันตายไป

แล้วเขาก็บอกอยู่ว่าถ้าเขาทำใจของเขาให้คิดอย่างนั้นนะ เขาคิดอย่างนั้นแล้วเขาละอุปาทาน แล้วเวลาใกล้จะตายจะละอุปาทานได้ไหม? นี่คิดเอาแบบสุกเอาเผากินไง จะเอาง่ายๆ ไง คิดว่าจะเอา คิดถึงความตายอยู่ คิดถึงไอ้อุปาทานอยู่แล้วเวลาตายไปจะละอุปาทานได้ไหม?

เราบอกว่า “ละอุปาทานนี่ อุปาทานเหมือนกับพระโสดาบัน”

เขาบอก “เขาจะใช้หนี้นะ”

เราบอก “ใช้หนี้...มูลค่าของหนี้ ๑๐๐ บาท แล้วเราเอาอะไรไปใช้เขา? เราต้องแบงก์ไปใช้เขาใช่ไหม? ถ้าเงิน ๑๐๐ บาทไปใช้มูลค่าของหนี้ ๑๐๐ บาท ไอ้มูลค่าของหนี้มันเป็นสังโยชน์ แต่เหตุที่เราจะใช้หนี้มันต้องหาแบงก์”

การชำระกิเลสมันอย่างนี้ เวลาเราวิปัสสนา เวลาเราทำใจของเรามันไปชำระกันที่ใจ พอชำระที่ใจก็เหมือนกับไปชำระกันที่ตัวใจ ไม่ใช่ชำระกันที่ตัวขันธ์ อุปาทานนี้ ความคิดมันเป็นขันธ์ใช่ไหม? แล้วปล่อยขันธ์

เราบอก “ใช่อยู่ เวลาเราคิดถึงอุปาทานๆ”

เขาบอก “เขาทำได้ดีมาก อุปาทานนี่เวลาเราคิดถึง ตอนมันจะละได้ มันจะปล่อยวางได้”

เราบอก “ปล่อยวางได้อุปาทานตัวหนึ่ง มันก็ไปติดข้องในอุปาทานตัวใหม่” เห็นไหม เพราะว่าขันธ์มันเกิดดับ ขันธ์ อารมณ์มันเกิดดับตลอดเวลา ความเกิดดับของมัน มันจะละขาดได้อย่างไร? มันละขาดได้อารมณ์หนึ่ง แต่อารมณ์ตัวใหม่จะเกิดขึ้นมา

แต่ตัวใจมันละตัวใจขาด โสดาบัน อกุปปธรรมคือละกันที่หัวใจ หัวใจขาดแล้วอารมณ์เป็นเงาของใจ เห็นไหม เราไปละที่ใจ แล้วเราจะไปไหน ใจมันเคลื่อนไปแต่ใจมันสมบูรณ์ไหม? ใจมันสมบูรณ์กว่า แต่กับที่เราอยู่ที่อารมณ์ อารมณ์มันไม่สมบูรณ์เท่านั้น

ฉะนั้น เราแก้ไขกันที่หัวใจของเรา สิ่งใดๆ ในโลกนี้มันเป็นประเพณีวัฒนธรรม เป็นเครื่องดำเนินเท่านั้น เห็นไหม เหตุ มรรคฝ่ายเหตุ เราสร้างบุญกุศลนี่เป็นมัคคอริยสัจจัง เป็นฝ่ายเหตุ แล้วฝ่ายเหตุสร้างเหตุไปจนเกิดเป็นฝ่ายผลขึ้นมา รวมลงแล้วทำไมอรหัตตมรรค อรหัตตผล มรรค ๔ ผล ๔ นิพพานทำไมต้องเป็นหนึ่ง?

ฝ่ายเหตุคือว่าอรหัตตมรรค ฝ่ายผลคืออรหัตตผล แล้วจิตมันหลุดออกไปเป็นนิพพาน ๑

นี่ก็เหมือนกัน โสดาปัตติมรรคกับโสดาปัตติผล แล้วจิตมันหลุดออกไปจากโสดาปัตติผลออกไป ขณะที่มันเป็นไปอยู่นี่มันเป็นไปอยู่ นี่มันแก้ลงที่ใจ

การที่เราคิดว่าอุปาทานอยู่ ถ้าคิดอย่างนี้ทำอย่างนี้มันเสียโอกาส คนเราอยากทำคุณงามความดี อยากจะสร้างกุศล อยากจะเป็นพระโสดาบัน คืออยากปิดอบายภูมิ คือไม่อยากไปทางที่ชั่ว ถ้าเราไม่อยากไปทางที่ชั่วเราต้องแก้ไขที่ใจของเรา แก้ไขที่ใจของเรา แก้ไขด้วยเหตุผลของเรา ไม่ใช่นึกเอาอย่างนั้น นี่มันนึกเอาอย่างนั้นตั้งแต่คิดว่าทำบุญก็เอาบุญนี่มากั้น กั้นไม่ให้ตัวเองไปอบายภูมิ ถ้ามันอยู่ในบุญ บุญนี่มันแน่นอน เพราะบุญมันพาให้เกิดดี มันจะไปอบายภูมิได้อย่างไร?

แต่มันไม่ได้เป็นตอนนี้ อายุขัยของเรายังอีกตั้งนาน แล้วความที่อายุขัยมันหมุนไป มันจะเวียนตายเวียนเกิดไป มันเวียนเกิดดับเกิดดับ แล้วสิ่งที่เวลาทำไม่ดีล่ะ?

ว่าถือศีล ถ้าศีลมันบริสุทธิ์แล้ว...ศีลบริสุทธิ์มันบริสุทธิ์ได้อย่างไร? เพราะศีลบริสุทธิ์ เหตุการณ์ในชีวิตนี้มันยังไม่ถึงเวลา ถ้าเหตุการณ์ถึงเวลาแล้ว ธรรมมันเหนือกว่านะ ศีลธรรม ธรรมเหนือกว่าศีลนั้น ศีลนั้นอาจจะด่างพร้อยไปเพื่อจะเอาธรรมที่เหนือกว่าขึ้นไป ธรรมที่เหนือกว่ามันจะเป็นเหตุให้ใจตัวนี้ก้าวเดินขึ้นไป

นี่มันเป็นไปขนาดนั้น ใจนี่มันมหัศจรรย์นะ ดูอย่างที่เมื่อวานเขาว่า มีอยู่คนหนึ่งเขาบอกว่า “เขาทำสมาธิไปๆ มันค้าง” สมาธิค้าง ฟังสิ! สมาธิค้างหมายถึงว่า มันทำเข้าไปแล้วสมาธิมันถอนออกไม่หมด แล้วจะลงก็ไม่ลง ค้างอยู่อย่างนั้นนะ นี่สมาธิค้างก็มี ใจมันเป็น เห็นไหม

ถ้าสมาธิค้างอยู่ คือหมายถึงว่ามันจะเป็นสมาธิมันก็กึ่ง มันจะเป็นอารมณ์ปกติมันก็กึ่ง มันกึ่งๆ หนึ่งอยู่ เห็นไหม มันไม่ลงไปเต็มที่ สมาธิค้างค้างอยู่อย่างนั้นนะ ก็ต้องทำเหตุให้ผลเข้าไป ให้มันผ่านตัวนี้เข้าไป แต่ถ้าสมาธิค้างมันก็เป็นบางคนที่เป็นได้ มันออกมาแล้วมันไม่ออกมาหมด มันค้างอยู่ มันเป็นอยู่ที่ใจ

นี่ใจเวลามันเป็นมันเป็นได้ทุกอย่าง ทำบุญกุศลมันก็เป็นบุญกุศลนะ ถ้าเวลามันตกทุกข์ได้ยาก มันคิดของมัน มันจะเบียดเบียนของมัน มันเบียดเบียนตัวเราเอง เวลามันคิดมันคิดถึงว่าไม่มีใครรู้ไง มันคิดของมันเองคนเดียว แล้วมันคิดว่ามันทำได้ๆๆ ไป แล้วก็มันอย่างนี้ เวลามันจะคิดถึงว่าทำคุณงามความดี มันก็เอาเหตุนี้มาคิด เห็นไหม ธรรมนี้ถึงเป็นธรรมด้นเดา ธรรมนี้ถึงเป็นธรรมคาดหมาย

ในธรรมบอกว่า ผู้ใดปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม มันจะเป็นธรรม ปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ความคาดหมายของตน ปฏิบัติธรรมในความคิดของตน แล้วตัวเองก็จะไปไม่ถึงตรงนั้น

แต่คิดอยู่นะ กิเลสมันร้ายกาจมาก กิเลสเขาบอกว่า “เขานี่สามารถทำอะไรก็ได้ เขาสามารถทำได้หมดเลย แต่เขาไม่ทำเพราะเขากลัวเขาจะหลุดพ้นออกไปก่อน เขาไม่ยอมทำของเขา”

เราบอก นี่กิเลสมันหลอก มันเป็นไปไม่ได้หรอก ทุกคนว่าจะทำได้ เรื่องปฏิบัติธรรมนี่มันแสนยาก แต่เพราะว่ามันคิดอย่างนั้นมันถึงทำให้นอนใจไง กิเลสมันหลอกให้นอนใจว่าเรามันยังไม่อยากทำ เราทำเมื่อไหร่ก็ทำได้ ถึงว่าเรายังไม่ทำ ทำไปแล้วมันจะทะลุออกไปจากโลก จะอยู่กับโลกเขาไม่ได้

มันเป็นไปได้อย่างไร? โลกนี้เป็นโลกสมมุติ เห็นไหม มันคิดกันด้วยเหตุด้วยผล มันยังขัดแย้งกัน ธรรมนี่เป็นธรรม ธรรมนี่สมมุติไม่สามารถมาติดข้องมันได้ มันว่างไปหมด ก็มันเหนือเหตุเหนือผล ถ้าเหนือเหตุเหนือผล มันอยู่กับโลกเขาได้

ผู้ที่ปฏิบัติธรรมเหนือโลกแล้วอยู่กับโลกไม่ได้ ธรรมนี้มันก็หยาบกว่าโลกล่ะสิ ธรรมมันต้องละเอียดกว่าโลกใช่ไหม? ถึงต้องปฏิบัติให้ได้เลย ถ้ามันจะได้นะ ถ้าเหตุว่ามันปฏิบัติ ใจมันควรเป็นไป เราต้องทำให้มันได้ไปเลย ทำให้มันได้ไป แล้วได้เป็นธรรมแล้วคือว่าเอาผลมาอยู่ในมือของเราดีกว่า

นี่มันไม่เอาผลไว้ในมือ เห็นไหม ใจเขาเป็นอย่างนั้นไป เราถึงบอกว่า “เขามีอำนาจวาสนา เขามีความมุ่งหมายดี เขาคิดดีมากนะ จิตใจเขาดีมาก เขาปรารถนาดี แต่! แต่กิเลสมันบังเงา กิเลสมันหลอกเขา ให้เขาอยู่ว่าทำเมื่อไหร่ก็ได้ ยังไม่อยากทำ ถ้าทำแล้วมันจะทะลุไป เขาต้องการแค่โสดาบัน”

แต่เวลามันพิจารณาไป เขาบอกว่า “เขาพิจารณาไปเรื่องของร่างกาย เขาจะเบื่อหน่ายมากๆ”

เราบอก “เบื่ออย่างนี้เบื่อเหมือนคนกินเหล้า เวลาเมาจัดๆ แล้วมันก็เบื่อ เดี๋ยวมันก็กินอีก มันเบื่อไม่ขาดหรอก เพราะมันเบื่อในอารมณ์ มันไม่ใช่เบื่อจากความเบื่อเป็นความเป็นจริง”

เขาบอกว่า “มันเบื่อนะ เบื่อจนแบบว่าเขาสามารถเลิกกับแฟนได้เลย”

เราบอก “เลิกกับแฟนคนเก่าก็ไปมีแฟนคนใหม่ เพราะเวลาเลิกไปแล้วเดี๋ยวมันก็ไปหาคนใหม่อีก เพราะมันเบื่อตอนนี้ เบื่อตอนใจมันขึ้นไง ใจมันขาขึ้น เวลาใจมันขาลงขึ้นมาล่ะ?”

นี่ความคิดเขาดี เขาดีมาก ความคิดเขาดีแต่เขาโดนกิเลสหลอก...ให้เห็นโทษของกิเลสของตัวเราเอง กิเลสของคนที่คิดดี มุ่งหมายดีมันก็มีสิ่งที่บังใจของตัวเองไว้จะไปให้ถึงที่สุด กำผลงานเอาไว้ก่อน กำธรรมฝ่ายผลไว้ มันจะเป็นประโยชน์กับใจดวงนั้น แต่ยังไม่กำอยู่แล้วนอนใจไง นอนใจแล้วก็ทำไปตามประสาของตัวไป

มาคุยกับเรา เราถึงบอก มันดีอย่างหนึ่งว่าเขาพูดมา มันมีจริง มีจริงเพราะเขาพูดได้ เขาเห็นอสุภะ เขาเห็นร่างกาย เขาเห็นกระดูก เขาพูดได้ แล้วเราฟังออก พอเราฟังออกเราถึงบอก “มันเป็นได้แค่นี้ แต่เหตุผลมันจะมากกว่านี้ เหตุผลที่มันจะละมันจะละได้ยิ่งๆ กว่านี้ มันจะเข้าไปในเหตุในผล อันนี้มันแค่ครึ่งๆ กลางๆ”

เพราะมีเหตุมีผลเขาถึงฟัง เขาถึงลงใจ ถ้าไม่มีเหตุมีผลนะ เราฟังไปนะ คนฟังก็ไม่มีฐานรองรับ ไอ้คนพูดก็พูดไป แล้วมันก็จะไม่ได้ประโยชน์ อย่างนี้มันได้ประโยชน์ทั้ง ๒ ฝ่ายเลย

ต้องทำให้ได้...ใครทำต้องทำให้ได้ อย่างที่เขาทำอยู่นั้นโดนหลอกทั้งหมด ไปทำบุญกุศลอยู่ เห็นไหม ครูบาอาจารย์พระที่เขาไม่รู้เขาก็พูดกันอย่างนั้น ปิดอบายภูมิ ทำแล้วก็อุ่นใจ ตัวเองก็นอนใจ แล้วพอมาปฏิบัติมันก็เกิดเหตุ เห็นไหม เกิดเห็นร่างกายเห็นโครงกระดูกขึ้นมา จะทำได้ก็ไม่ทำ

นี่มันน่าเสียดายที่ว่าเขาเห็นจริงๆ แต่เขาทำไม่ได้ เพราะไปข้างนอกก็ข้างนอกหลอก เข้ามาข้างในก็หัวใจตัวเองหลอก นี่อยู่กับตัวเราเองนะ พวกเราถึงเชื่อตัวเองไม่ได้ เชื่อตัวเองแล้วจะทำให้ตกไปในอบาย ตกไปในร่องของเขาไป ไม่ตามความเป็นจริง

เราต้องทำเหตุทำผลให้มันเกิดขึ้นมา ในเมื่อถ้าใจมันสมบูรณ์แล้วทำให้ได้เลย ทำให้ได้แล้วจะเป็นผลของตัวเอง ถ้าเป็นผลของตัวเองอันนั้นเป็นสิ่งที่นอนใจได้ อันนั้นเป็นอุ่นใจได้ นั่นน่ะปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม แล้วมันจะได้ผลเป็นของตัวเอง เอวัง