เทศน์เช้า

ต้องสติ

๒๙ ก.ค. ๒๕๔๔

 

ต้องสติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา บอกว่า “ธรรมนี่มันของละเอียดอ่อน มันลึกซึ้งมาก มันละเอียดอ่อนมันลึกซึ้งจนไม่อยากจะสอนใครเลย ไม่อยากจะสอนใคร ใครมันจะรู้ได้ เป็นไปไม่ได้ที่ใครจะรู้ได้” แต่เวลาพวกเรามาประพฤติปฏิบัติกัน มันคิดมันจินตนาการไปเป็นอย่างนั้น มันเหมือน เห็นไหม

แล้วบอกว่า ทำไมเขาติดต่อกับเทพได้? เชื่อเขาไหม เขาติดต่อกับเทพได้? เขาเข้าใจได้ เขาอย่างนั้นได้ นี่ไปมองกันแค่นั้นนะ ไปมองกันตรงนี้ ตรงที่ว่าเราสามารถจินตนาการได้ เรื่องเทพเรื่องอะไรก็แล้วแต่ เรื่องอภิญญานี่ ติดต่อได้นี่มันแก้กิเลสไม่ได้ แต่ตอนเราเข้าไปตรงนั้น มันลึกซึ้งกว่าเข้าไปอย่างนั้น แต่พอเราเข้าไปติดตรงนั้น เราทำไมไปติดกัน?

พอเราติดกันตรงนี้ เราไม่เข้าใจแล้ว ถ้าพูดถึงความจริงถ้ามีสติซะหน่อยเดียวเท่านั้นนะ ไอ้สิ่งที่เข้าไปติดมันจะไม่ติดเลย เขาไปติดต่อกับเทพได้ ติดต่อกับอะไรได้ ก็เราไปติดต่อ เรารับรู้อยู่ แต่นี่เพราะเราเชื่อเรา เราเชื่อความเห็นของเรา พอเราเชื่อความเห็นของเรา เราก็เคลิ้มตามไป เห็นไหม มันทะลุตรงนี้เข้าไป ทีนี้มันทะลุเข้าไปไม่ได้

แล้วทำไมครั้งพุทธกาลนะ เจ้าชายสิทธัตถะไปศึกษากับลัทธิต่างๆ มันไม่มีตรงนี้ ทำไมเจ้าชายสิทธัตถะไม่เชื่อเขา? ไม่เชื่อลัทธิใดๆ ทั้งสิ้นเลย เวลาทำไปแล้วมันแก้กิเลสไม่ได้ ไม่เชื่อๆ พอไม่เชื่อแล้วมาลองใหม่ มาลองของตัวเองใหม่ สุดท้ายก็ต้องมาประพฤติปฏิบัติเอง เพราะไม่เชื่อเขา มันถึงไม่ตามเขาไป มันไม่เป็นตามความเป็นจริง

ไอ้นี่เพราะมันไม่ใช่เชื่อเขานะ เพราะมันไม่มีใครสอน มันเชื่อตัวเอง ว่าไปหาพระ พระสอนตามหลักความจริง พระสอนแล้วต้องเป็นธรรม พอพระสอนแล้วเป็นธรรมก็เข้าใจว่าเป็นอย่างนั้นจริง แล้วความเข้าใจของตัวเอง แล้วพระมันก็มีหลายรูปแบบ พระมีก็เชื่อจริงไม่เชื่อจริง เป็นไปไม่เป็นไป พอไปถามอย่างนี้ปัญหาเลยไม่เข้าใจเลย

ความจริงฟังพ่อเขาพูดสิ พ่อเขายังพูดถูก พ่อเขาบอกเลย เห็นไหม “เวลาจูนเข้าหาคลื่น เข้าจูนคลื่น เข้าไปในสังขาร เข้าไปในอุปาทานของตัวเอง มันจะเป็นไป เวลาไม่จูนคลื่นเป็นปกติ เวลาเข้าไปจูนคลื่น เวลาติดต่อกับเทพได้ก็ไปกับเขา ถ้าไม่ติดต่อกับเทพก็ไม่ไปกับเขา มันก็เป็นปกติ”

นี่สังขารมันปรุงมันแต่งทั้งนั้นเลย ความปรุงความแต่งเป็นภายในไง ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ เรายับยั้งตรงนี้ได้ มันก็ยับยั้งตรงนี้ได้...มันยับยั้งไม่ได้ นี่เข้าถึงธรรมไม่ได้มันถึงไม่ใช่มรรคไง ถ้าเราเป็นมัคคอริยสัจจัง มันเป็นทางของมรรคนะ มันจะเข้าทะลุตรงนี้เข้าไป มันต้องทำความสงบของใจ

ถึงว่าเราทำกัน เราทำความสงบของใจ เราต้องการพื้นฐานของความสงบของใจเท่านั้น แต่นี่เขาทำความสงบเข้าไปแล้ว เขาไปรู้เห็นต่างๆ เข้า ก็เลยตามความรู้เห็นนั้นไป มันต้องไม่ตามความรู้เห็นนั้นไป! มันต้องสงบเข้าไปลึกกว่านั้นๆๆ

นี่มันถึงว่าละเอียดอ่อนไง ธรรมะมันละเอียดอ่อน ถ้าเราคิดว่าเราจะทำตามความเชื่อความเห็นของเรา ไม่อย่างนั้นพระพุทธเจ้าจะพูดได้อย่างไรว่า “จะรู้ได้อย่างไร? คนจะรู้ได้อย่างไร?”

แต่เราจะชุบมือเปิบกันง่ายๆ นะ เอากันง่ายๆ เวลาทำกัน เวลาภาคปฏิบัติ ถึงแม้เขาเชื่อโยมปฏิบัติได้เพราะอะไร? เพราะเวลาพระเขาทำกันเขาทุ่มทั้งชีวิต เขาทำกันจริงจังนะ แต่โยมทำกันแค่นั้นนะ แล้วก็รู้กันๆๆ แต่ขิปปาภิญญามันก็ไม่ค้านกัน ถ้าปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ปฏิบัติเร็วรู้เร็ว อย่างนี้เราก็ไม่ค้านกัน ถ้ามันเป็นไปได้ ถ้ามันปฏิบัติมันมีนะ

แต่ถ้ามันปฏิบัติแล้วมันไม่เป็นไป มันปฏิบัติง่าย มันอยู่ที่พื้นฐานด้วยเราว่านะ พื้นฐานของความเชื่อไง พื้นฐานของความเชื่อว่าบุญบารมีมา ถ้าคนเรามันไม่เชื่ออะไรง่ายขึ้นมา แม้แต่ความจริงก็ไม่เชื่อ ถ้าไม่เชื่อมันจะค้นคว้าไปได้

อันนี้มันไปเชื่อก่อนๆ พอเชื่ออย่างนั้น เพราะคำพูดคำนี้มันเชื่อมั่นอยู่แล้วว่าเราติดต่อกับเทพได้ พอมันติดต่อกับเทพได้มันก็สำคัญตน เห็นไหม พอความสำคัญตน สำคัญตนว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษขึ้นมา มันสำคัญมันดีกว่าปกติธรรมดา ธรรมดานี่มันเป็นปุถุชน มันทำอะไรไม่ได้ แต่นี่พอติดต่อกับเทพได้ ฉันเป็นผู้วิเศษขึ้นมาแล้ว ไอ้คิดว่าอันนี้เป็นธรรม

มันถึงมันไม่ใช่ธรรม...ถ้ามันเป็นธรรม เขาถึงว่ามันต้องสละออกสิ ต้องสละออก ต้องทำความลังเลสงสัยของตัวออกไป อันนี้เราทำได้ เราเป็นไป เราทำได้ เราเป็นไป...มันไม่สละออกเลย มันมีแต่กว้านเข้ามาๆ ยึดเข้ามาๆ เป็นของตัว ยึดเข้ามาเป็นความรู้สึกของตัว ความเห็นของตัว

แต่ถ้าความเป็นธรรมนะ มันสละออก มันรู้วิธีการสละออกต่างหากล่ะ มันรู้วิธีการสละออก แต่สละออกไปแล้วมันจะไม่มีอะไรเลย มันเป็นความว่าง มันจะปล่อยวางทั้งหมด แต่มันไม่มีอะไรเลย แต่มันรู้วิธีการสละออก

อันนี้มันไปรู้วิธีการสะสมเข้ามา มันสะสมเข้ามา แล้วตัวเองมีๆๆ ในหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนพระไว้ เห็นไหม “ไม่ใช่ทำเพื่อจะแก้ลัทธิต่างๆ ไม่ใช่ทำเพื่อความอยากใหญ่ ไม่ใช่ทำเพื่อชื่อเสียง เพื่อเกียรติคุณ เพื่ออะไร ไม่มีเลยเห็นไหม ทำเพื่อวิหาระ เพื่อการปล่อยวาง” วิหาระคือความไม่มี ความไม่เป็นไป ใจมันจะปล่อยวางขนาดนั้น แล้วความไม่มีไม่เป็นไป เห็นไหม มันก็เป็นโลกุตตระสิ

ความเป็นโลกของเขานี่เป็นโลกียะ เป็นความมีอยู่ เป็นการกว้านเข้ามา การยึดเหนี่ยวเข้ามาเป็นของตัวเอง นี่โลกียะ ความยึดเข้ามา แต่การคายออก การจางออก เห็นไหม การคายออก การรื้อออกไป แล้วรู้วิธีการเวลาสอนกัน ธรรมะสอนกันตรงไหน? สอนกันตรงวิธีละ สอนกันตรงวิธีอย่างนั้น ไม่ใช่สอนกันวิธีที่จะกว้านเข้ามา ไอ้นั่นมันเป็นวิธีการกว้านเข้ามา มันไม่ใช่ พอไม่ใช่มันก็เป็นไปอย่างนี้

ว่ามันละเอียด มันลึกซึ้ง...ลึกซึ้งจนว่ามันอยู่ข้างฟากตาย ถ้าเอาตายเข้าแลกแล้วมันจะได้ ถ้าไม่เอาตายเข้าแลก...ไม่ได้ ถ้าไม่เอาตายเข้าแลกมันจะเป็นอย่างนั้น นี้เราพยายามทำกันเข้าไป เราพยายามของเราขึ้นมา ไอ้อย่างนั้นมันเป็นคติเป็นตัวอย่าง มีอะไรเราอย่าพึ่งเชื่อ ต้องพิสูจน์ก่อนๆ พิสูจน์ว่ามันเป็นได้ไหม?

แต่ความเห็นของเรา ถ้าเรามีพื้นฐานนะ แต่พวกเรามันไม่เห็นอะไรเลยล่ะสิ เวลาทำต้องการจะให้เห็นให้รู้ขึ้นมา ถ้าต้องการให้เห็นให้รู้ขึ้นมาไปกลัวอะไร ต้องไม่กลัวอะไรเลย แต่มันมีสติอยู่ ถ้ามันตกใจนะ มันจะตกใจขนาดไหน มันจะมีขนาดไหน มันมีสติอยู่มันจะรู้ตลอดเวลา ว่าเราขนาดไหน มันจะเสียวมันจะอะไรนั่นน่ะ นั่นมันเสียว มันละเอียดอ่อนขนาดนั้นนะ มันละเอียดอ่อนที่ว่ามันเสียวมันตกใจเข้าไปขนาดไหน มันจะผลุบเข้าไปในสัมมาสมาธิ จิตมันจะเข้าตรงนั้นได้ถ้าจะเข้าไป

ทีนี้ไอ้กิเลสเวลาหลอกก็หลอกตรงนั้น เวลาเชื่อก็เชื่อตรงนี้ เห็นไหม เวลาเห็นเห็นตรงนี้เข้าไป มันก็เป็นไป...

มันไม่เป็นไป ไม่เป็นไปตามธรรม ความไม่เป็นไปตามธรรมมันก็ทำให้ตัวเองทุกข์มาก ปฏิบัติธรรมเพื่อจะพ้นจากทุกข์ ปฏิบัติธรรมเพื่อความเป็นสุขนะ ปฏิบัติธรรมเพื่อคุณงามความดี มันเลยย้อนกลับมาว่าถ้าอย่างนี้แล้วสู้ไม่ปฏิบัติธรรมดีกว่า ถ้าปฏิบัติธรรมแล้วเสียคนสู้ไม่ปฏิบัติดีกว่า แล้วถ้าไม่ปฏิบัติมันก็ทุกข์ยากอยู่ ทุกข์ยากอยู่ขนาดนั้น ปฏิบัติธรรมเพื่อจะเป็นคนดีขึ้นมา

เมื่อก่อนเรายืนยันตลอดนะ เราไม่เชื่อเลยว่าทำความดีจะได้ชั่ว ทำความดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ทำดีต้องได้ดี แล้วทำคุณงามความดีมันจะผิดพลาดไปตรงไหน?

นี้ทำคุณงามความดีไป มันไม่ใช่ดีของเรา มันดีของกิเลสสิ กิเลสมันว่าดีอย่างนั้น มันเห็นดีอย่างนั้น มันก็พุ่งไปตามความเห็นของมัน มันไม่ใช่ดีตามธรรม ถ้าดีตามธรรมมันจะปล่อยเข้ามาๆ ความปล่อยเข้ามา... ต้องปล่อยเข้ามา ไม่ปล่อยเข้ามาก็เป็นอย่างนั้น

ชีวิตเพื่อความมุ่งหมาย เพื่อคุณงามความดีนะ ชีวิตเพื่อคุณงามความดี ชีวิตเพื่อธรรม ทำไมชีวิตเพื่อเป็นความทุกข์? ปฏิบัติมาถามว่าทุกข์ไหม? ทุกข์มากๆ แล้วเราก็ทุกข์กันอยู่แล้ว ที่เห็นเพราะความพ้นทุกข์ อยากจะพ้นทุกข์ เชื่อพระพุทธศาสนา เห็นไหม ศาสนาสอนให้ประพฤติปฏิบัติแล้วจะเป็นคุณงามความดี ประพฤติปฏิบัติไปแล้วทำไมมันเป็นอย่างนั้นๆ?

มันถึงว่าเราตั้งสติ มันต้องกลับมาตั้งสติของเราไว้ ถ้าสติของเรา สัมปชัญญะเราสมบูรณ์ มีเรื่องอะไรมันแก้ไขได้ สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ขึ้นมา ถ้าสติสัมปชัญญะ...

อันนี้ก็สมบูรณ์ สมบูรณ์ต่อเมื่อคนทัก แต่เวลาตัวเองหลุดเข้าไปอยู่กับตัวเอง มันเชื่อตัวเองมากเกินไป มันเชื่อจนมันเป็นความเห็นอันนั้น มันไม่ใช่ธรรม ถ้าธรรมมันต้องย้อนกลับมา เวลามันจับต้องได้ เวลามันเข้าไปเห็นนะ เห็นกายนี่มันเห็นแล้วมันจับต้อง แล้วมันจะหลุดมือออกไป

ความที่มันหลุดมือออกไป มันจะหลุดมือออกไปทันทีเลย จับปั๊บ...หลุดมือ จับปั๊บ...หลุดมือ นี่มันจับไม่ได้ ถ้าเป็นความจริงมันกลับจับไม่ได้

ไอ้ความไม่จริงนี่มันยัดเยียดให้ ความยัดเยียดให้ต้องคล้อยตามไป แล้วก็เป็นความพะรุงพะรังของใจ ใจตัวเองช่วยตัวเองไม่ได้เลย ถ้าช่วยตัวเองไม่ได้จะทำอย่างไร มันก็จบเท่านั้นนะ มันเป็นความทุกข์ของเขา