เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๖ มิ.ย. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วันป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

กรรมจำแนกสัตว์ให้เกิดต่างๆ กัน เราเกิดมาตามกรรม เวลาคนตายคนเกิดบังคับไม่ได้ มันจะเป็นไปโดยกรรม แต่เวลาคนตายบังคับไม่ได้ แล้วทำไมเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ผู้ที่มีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ล่ะ” อยู่อีกกัปหนึ่งเห็นไหม คนจะตาย..มันตายไปตามเวรตามกรรมนะ

เวลาเราเกิดเราตาย มันสุดวิสัยที่เราจะบังคับได้ มันจะเป็นไปตามอำนาจของกรรม แต่ผู้ที่มีอิทธิบาท ๔ เวลาคนจะตายจิตจะออกจากร่าง จิตจะออกจากร่างเพราะคนมันเผลอ คนมันไม่มีสติ เวลาคนตายมันหดตัวเข้ามา จิตมันหดความรู้สึกเข้ามาเป็นจุดเดียว แล้วเคลื่อนออกไป

แต่ถ้าเรามีสติพร้อม เวลาเราเป็นลมเห็นไหม วูบบบบ... นั่นนะ เราไม่รู้ตัวอะไรเลย เวลาตาย วูบ...หายไปเลย นี่ไง เราบังคับไม่ได้ แต่ผู้ที่มีอิทธิบาท ๔ จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ มันจะวูบขนาดไหน มันจะมีอาการขนาดไหน สติมันพร้อมไปตลอด คนมีสติอยู่มันจะตายได้อย่างไร มันตายไม่ได้หรอก..

พอมันตายไม่ได้ บอกว่า เวลาคนเกิด คนตาย มันสุดวิสัยที่จะควบคุมได้ มันเป็นไปตามกรรม เว้นไว้แต่ผู้ที่มีอิทธิบาท ๔ มีจิตตะ วิมังสา ความดูจิต ความเข้าใจจิต ความพอใจ ความฉันทะ วิริยะ อุตสาหะ สิ่งต่างๆ นี้ ถ้ามันมีอยู่ จิตมันจะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ เวลาอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้เห็นไหม

อยู่อีกกัปหนึ่งอยู่เพราะอะไร อยู่เพราะว่า พอเวลาเราอยู่กับโลก เรามีความทุกข์ไหม.. เรามีความทุกข์ของเรา เรามีความกลัดหนองในหัวใจของเรา เรามีความเศร้าหมองทั้งนั้น ความเศร้าหมอง ความผ่องใสต่างๆ เห็นไหม มันเกิดดับ.. เกิดดับ.. มันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เรื่องของจิตเป็นอนิจจัง เรื่องของจิตมันไม่เคยตาย มันมีสภาพอย่างนั้น เราก็เบื่อหน่าย อึดอัดขัดข้อง แต่เวลาจิตมันมีความชุ่มชื่น เราก็มีความสุขไปกับมันชั่วครั้งชั่วคราวเห็นไหม สิ่งที่ชั่วครั้งชั่วคราว มันเป็นเรื่องของโลก เราอยู่กับโลก เราเกิดมา การเกิดมันเป็นสิ่งที่เราบังคับไม่ได้

แต่เราเกิดมาในปัจจุบัน พระพุทธศาสนาสิ่งนี้เราตั้งใจได้ เราตั้งธงได้นะ เราตั้งธงว่า “เราจะไปไหน เราจะทำอย่างใด” คำว่าตั้งธงขึ้นมาเห็นไหม ดูสิ เวลาพระเราอยู่ป่า อยู่เขา อยู่ในป่าเห็นไหม มีบริขาร ๘ มีบาตรใบหนึ่ง ถ้ามีบ้านหรือที่อยู่สักหลัง ๒ หลัง เราก็ดำรงชีพของเราได้แล้ว เราแค่ไปบิณฑบาต แค่ขอข้าวเขาดำรงชีวิต เท่านั้นเอง

ปัจจัย ๔ สิ่งที่เรากำลังดิ้นรนแสวงหากันอยู่นี้ มันเป็นปัจจัยเครื่องอาศัย ถ้าปัจจัยเครื่องอาศัย เพราะเราหลงทิศ หลงทางไง เราหลงถึงคุณสมบัติคือในหัวใจของเรา เราหลงคุณสมบัติไป เรามองแต่โลกเห็นไหม

บ้านนั้นมีทรัพย์สมบัติ มียศถาบรรดาศักดิ์ บ้านนั้นมีความสุขในบ้าน มันแข่งขันกับตัวเองนะ สถานะของเราเป็นอย่างนี้ สถานะของเราจะต่ำต้อยไปกว่านี้ไม่ได้นะ เราต้องแข่งขันกับสถานะของเรา เราต้องถีบตัวเองขึ้นมาตลอดเวลา เป็นความทุกข์ไหม แต่ถ้าเรามีความพอใจของเรา เราอยู่ของเราในสถานะของเรา เห็นไหม

ในความเป็นมนุษย์ เรามีลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เรามีความพอใจของเรา ในชีวิตของเรา มันจะมีความสุขไหม มันจะมีความสุขเพราะอะไร ความสุขเพราะจิตใจเราไม่มีตัณหาความทะยานอยาก มันไม่ดิ้นรนของมัน

ถ้ามันดิ้นรนของมัน มันดิ้นรนเพราะอะไร เพราะมันเป็นตัณหาความทะยานอยาก เป็นอวิชชา มันครอบงำจิตของเราไว้นะ เห็นไหม ทุกข์ควรกำหนด !

เขาว่าทุกข์.. มันเป็นทุกข์.. สรรพสิ่งที่เราไม่พอใจ เราขัดแย้งใจนั่นก็เป็นทุกข์ ! สิ่งที่เป็นทุกข์นะ นั่นเป็นอริยสัจ ! นั่นเป็นหินลับปัญญา ! นั่นเป็นคุณสมบัติ ถ้าเราเห็นว่าทุกข์ ทำไมถึงทุกข์ล่ะ นี่เราไม่เห็นว่าทุกข์นะ

เราแข่งกับตัวเองไง แข่งกับสถานะของตัวเอง เราจะถีบตัวเองขึ้นไป เราพยายามจะหามาเพื่อดำรงสถานะของตัวเองขึ้นมา แล้วมันเป็นไปตามจริงไหมล่ะ สถานะนั้นมันเป็นของจอมปลอม

โลกธรรม ๘ ! มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ มันเป็นของเก่าแก่ มียศเสื่อมยศ ยศของใคร ยศถาบรรดาศักดิ์ที่ทางโลกเขามอบให้ มันก็มีศักยภาพ มียศถาบรรดาศักดิ์ แต่ถ้าคนไปติดมัน คนมีหัวโขนเห็นไหม ไปติดมัน คนอยากได้มัน คนวิ่งเต้นไปหามันจนมีความทุกข์ ความเดือดร้อน

แต่เวลาคนที่เขาไม่ได้วิ่งเต้น แล้วยศถาบรรดาศักดิ์มาครอบใส่หัว มันก็เป็นเรื่องธรรมดา เขาไม่สนใจนะ คือเขาไม่สนใจ มันได้มาโดยธรรม มันได้มาด้วยบุญกุศล ได้มาด้วยการกระทำของเขา สิ่งนั้นเขาไม่ติดไง เขาไม่แบกไว้ เขาไม่รับ ไม่แบกไว้ให้หนัก มีก็ทำ ไม่มีก็แล้วกันไป

กับคนที่วิ่งเต้น.. วิ่งแสวงหา.. มันทุกข์ต่างกันไหม ? ถ้ามันทุกข์ต่างกันเพราะอะไร เพราะนี่ไง “ทุกข์ควรกำหนด” เพราะอะไร เพราะความดิ้นรนของใจ ถ้าทุกข์ควรกำหนด ถ้าเรากำหนดเห็นไหม สมุทัยควรละ ตัณหาความทะยานอยาก ความต้องการ ความผลักไส สิ่งที่เราเข้าใจผิด ว่าสิ่งนี้เป็นของไม่ดี

แต่ทั้งที่เป็นของดีมันจะมาถึงเรา เราผลักไสเห็นไหม เราผลักไส นี่ก็เป็นตัณหาไง เราผลักมัน เราไสมัน เราไม่ต้องการมัน แต่ความจริงมันเป็นของดี แต่เราไม่รู้ว่าของดีมันคืออะไร เราไม่รู้ว่าอะไรเป็นของดี อะไรเป็นของไม่ดี

ธรรมะเหมือนน้ำฝน ! จืด.. สะอาด.. มีความร่มเย็นเป็นสุข แต่ถ้าของโลกมีรสชาติ เราตื่นเต้นไปกับเขา น้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ ดูสิ โลกเขาเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของน้ำสุราเมรัยต่างๆ เราชอบกันนะ มีราคา มีค่างวดขึ้นมา เสียเงินเสียทอง ทำให้สุขภาพเสียไป ทำให้เสียสติ.. ทำให้เสียสตินะ..

เวลามีสติสัมปชัญญะ เราก็เอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว เวลาเมาสุราเข้าไป ขาดสติไป โอ้โฮ..มันเก่งไปหมดทุกอย่างเลยเห็นไหม เสียทุกอย่างเลย ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์เลย แต่น้ำสะอาด มีประโยชน์ต่อร่างกาย นี่ไง อะไรเป็นคุณงามความดี…!

ถ้าความดีของใคร “ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ” ทุกข์ควรกำหนด ความเป็นความทุกข์ ถ้ามีสตินะ..ทุกข์นั้นเป็นหินลับปัญญา ! ทุกข์นั้นเป็นอริสัจ ! ความจริงทุกข์นั้นเพราะเป็นชีวิตเราเกิดมาไง

เวลาเกิด เวลาตายบังคับไม่ได้ เราบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาของเราไม่ได้ มันเป็นไปตามเวรตามกรรม แต่เวลาเกิดมาแล้วสิ บังคับได้ เวลาเกิดมาแล้วเห็นไหม เกิดมาในประเทศอันสมควร เราเกิดมาในพระพุทธศาสนา พุทธศาสนาสอนเรื่องอะไรล่ะ ..

พุทธศาสนาสอนเรื่องนามธรรม เรื่องความรู้สึก เรื่องหัวใจ แต่สอนนามธรรมๆ มันเป็นสิ่งที่ละเอียดเกินไป มันสอนไม่ได้ ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมได้ ถึงต้องมีประเพณี มีวัฒนธรรมเห็นไหม ประเพณีวัฒนธรรมเป็นเปลือก ดูทำทาน เสียสละ ทำบุญกุศลกัน ก็เสียสละวัตถุไป

เวลาครูบาอาจารย์นั่งสมาธิภาวนาเห็นไหม บุญกิริยาวัตถุ สิ่งที่มีความสุขสบายของเรา อยู่ที่ไหนเราจะทำความสุขเมื่อไรก็ได้ เราไม่ทำ เราจะฝืน เราจะนั่งสมาธิภาวนาเพื่ออะไร เพื่อเอาสิ่งที่เป็นนามธรรมเห็นไหม สิ่งที่เป็นหัวใจให้มันสงบนิ่งเข้ามาให้ได้

ถ้าเวลาจิตที่มันสงบนิ่งไปแล้ว ปัญญาที่เกิดขึ้นมา มันละเอียดเข้าไปเรื่อยๆ สิ่งที่มันเป็นนามธรรม สิ่งที่เวลาครูบาอาจารย์ท่านประพฤติปฏิบัติเข้าไป คือพระผู้ที่ประพฤติปฏิบัติ เวลาพูดถึงสติ พูดถึงสมาธิ พูดถึงปัญญา มันจะเข้าใจได้

แต่พอเราพูดถึงปัญญา เราก็ไพล่ไปเป็นปัญญาทางโลก ปัญญาที่ว่าใช้ปัญญา ใช้วิทยาศาสตร์ต่างๆ เป็นตรรกะ เป็นปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันสื่อสารกันได้ ปัญญาคอมพิวเตอร์ ปัญญาทางโลกไง

แต่ถ้าเป็นปัญญาที่เกิดจากจิต มันไม่มี ! มันเขียนออกมาเป็นตำราไม่ได้ ! เวลาเขียนออกมา ภาวนามยปัญญาเห็นไหม เวลาเขียนออกมาเป็นการจำ เราจำมา เราพยายามจำเห็นไหม ร่องสมองมันจำได้ ทฤษฎีมันตรวจสอบ มันพิสูจน์ได้

แต่ถ้าเป็นภาวนามยปัญญาขึ้นมา เวลามันเกิดขึ้นมาในการภาวนา ผู้ที่รู้ที่เห็น เขาจะคุยกันได้ เขาจะเข้าใจได้ ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ สิ่งนี้มันจะพ้นจากทุกข์ มันจะควบคุมการเกิดและการตาย การเกิดและการตายเห็นไหม มีสติสัมปชัญญะไปตลอด ถึงที่สุดแล้วนะ.. มันไม่เกิดไม่ตาย ไม่เกิดไม่ตายเพราะอะไร..

เพราะการเกิดและการตายมันเป็นการเปลี่ยนภพ มันเป็นการเปลี่ยนวาระของจิต จิตมันเปลี่ยนวาระของมันไปเป็นวาระๆ ภพชาติไป.. ภพชาติไป เห็นไหม แล้วทำไมไม่มีแรงขับ ไม่มีต่างๆ เพราะอะไร เพราะมีปัญญานี้มันไปชำระล้างแล้ว

มันจะไปเปลี่ยนภพชาติไหนอีกล่ะ เพราะมันไม่มีอวิชชา ไม่มีแรงขับออกไปแล้ว สิ่งนี้มันเป็นความสะอาดบริสุทธิ์ของใจ สิ่งนี้มันจะพ้นจากทุกข์ได้ เวลาเราเกิดมาแล้ว เราถึงตั้งตรงได้ ถ้าเราเกิดมาแล้วเราตั้งตรงได้ เราควบคุมตัวเราได้ เราจะปฏิบัติอย่างไรก็ได้ ถ้าเราเกิดมาแล้ว

แต่เวลาเกิด เวลาตาย ควบคุมไม่ได้ ควบคุมได้มันเป็นไปตามกรรม เว้นไว้แต่เวลาผู้สิ้นกิเลสเห็นไหม จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ จะอยู่หรือไม่อยู่ก็อยู่ได้ รั้งไว้ๆ คนเราถึงเวลาตายก็ตาย ทำไมครูบาอาจารย์ท่านรั้งของท่านไว้ได้ รั้งไว้เพื่ออะไร

เวลาเรามีเวรมีกรรมนะ.. เรามีเวรมีกรรมเหมือนนักโทษเลย นักโทษเวลาเขาตัดสินจำคุกแล้ว เมื่อไรถึงเวลาเข้า เวลาออก คนมันมีเวรมีกรรม มันเป็นไปตามนั้น แต่ถ้าคนไม่มีเวรไม่มีกรรมล่ะ จิตมันหมดเวรหมดกรรมแล้ว มันมีวาระอะไรของมัน มันไม่มีวาระของมันแล้ว

ดูสิ เราติดคุก เราก็อยากออกทั้งนั้น เรามาติดคุก.. คุกของมนุษย์นี่ไง เรามาติดคุก ๆ หนึ่ง เรามาติดภพชาติหนึ่ง เวลามันออกจากวาระนี้ไปเห็นไหม แต่เวลาเราติดคุก เราก็ไม่อยากออก เพราะมันสุขในคุกนี้ เกิดแล้วไม่อยากตาย แล้วมันเป็นไปได้ไหมล่ะ

มันมีวาระของมัน.. จิตมันมีวาระของมัน แต่เราชำระล้าง แล้วจิตมันพ้นจากวาระนั้นไป พ้นจากวาระเพราะอะไร พ้นจากวาระเพราะเราตั้งธง แล้วเราประพฤติปฏิบัติของเราเอง นี่ไง เราปฏิบัติของเรา เราทำตัวของเรา เราทำเพื่อความผ่องใสของหัวใจของเรา

ถ้าเราทำของเราเห็นไหม เกิดในพุทธศาสนา เวลาหลวงตาท่านพูดนะ “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่ประเสริฐมาก ! ” ศาสนาอื่นไม่มี มันเป็นลัทธิ เป็นความเชื่อ เป็นความเชื่อเพราะอะไร เพราะเราอาศัยจากข้างนอก เราอาศัยจากพระเจ้า จากต่างๆ อาศัยคนอื่นทั้งนั้นเลย มันไม่ได้อาศัยตัวเอง.. เราไม่ได้กินเอง.. ไม่ได้ทำเอง.. มันจะอิ่มเต็มในตัวเองได้อย่างไร

นี่ก็เหมือนกัน พุทธศาสนา ! ไม่ให้เชื่อใครทั้งสิ้น เวลาฟังครูบาอาจารย์เทศน์ “กาลามสูตร” อย่าพึ่งเชื่อ ให้พิสูจน์ !

การเทศน์เห็นไหม การเทศน์เป็นการชักนำ.. ชักนำให้เราตั้งสติ ให้เราประพฤติปฏิบัติของเรา ให้เรามีโอกาสในกระทำของเรา แล้วการกระทำของเราเห็นไหม เวลามันเข้าไปเผชิญความจริงอันนั้น ความจริงที่เราเผชิญอันนั้นน่ะ “ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก” ให้เชื่ออันนั้น

การเชื่อนั้น เด็กมันก็เชื่อประสาเด็กใช่ไหม เด็กมันมีความพอใจของมัน ก็เชื่อประสาเด็กใช่ไหม มันยังไม่โตขึ้นมาใช่ไหม พอเด็กมันโตขึ้นมา ก็พัฒนาขึ้นมาเหมือนกัน

จิตของเราเหมือนกัน มันตรวจสอบ มันพิสูจน์ของมันเห็นไหม มันเชื่อของมัน ประสบการณ์สิ่งใด สิ่งที่เราประสบกันเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ มันลึกซึ้งแตกต่างกัน ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก ของเราละเอียดขึ้นไปนี่ ความเห็น ความรู้สึก เราจะละเอียดขึ้นไป ให้เชื่ออันนั้น ให้เห็นอันนั้น ให้พิสูจน์อันนั้น

นี่พุทธศาสนา ! “ผู้ใดปฏิบัติเหมือนเรา จะอยู่ถึงภาคตะวันตกขนาดไหน ก็เหมือนอยู่ใกล้เรา ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้หลอกใคร.. ให้พิสูจน์ ! เวลาใครทำขึ้นไปแล้วจะเหมือนกัน เข้าไปถึงจุดแล้วจะเหมือนกัน

แต่ในปัจจุบันนี้ มันไม่เหมือนเพราะอะไร ไม่เหมือนเพราะมันเป็นการจำมา เป็น การจำเห็นไหม มันมีพลังงานคือตัวจิต ตัวจิตคือการจำ คือสัญญา สัญญาคือขันธ์ ๕ มันระหว่างจิต ระหว่างพลังงานกับความคิดกับขันธ์ ๕ ความจำจากขันธ์ ๕ มันอยู่ข้างนอก มันอยู่เปลือกเห็นไหม เหมือนลัทธิศาสนาต่างๆ ให้พึ่ง อ้อนวอน ให้พึ่งกับใครก็ได้ เราจะมีที่พึ่งจากข้างนอก จะไม่มีที่พึ่งจากข้างใน แต่ในการจำมา มันก็จำมาจากข้างนอก เพราะจำมา มันเป็นข้างนอก มันเป็นเปลือก

แต่ความจริงมันไม่มี เพราะความจริงมันอวิชชา ความจริงมันสกปรก ความจริงสกปรก แต่มันเป็นความจำ จำธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา แต่เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ความจำแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมา เวลาสื่อธรรมะขึ้นมาเห็นไหม ผู้ที่ตรัสรู้เองโดยชอบ มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าเท่านั้น

แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บัญญัติศัพท์ไว้ บัญญัติสมมุติไว้ เพราะสมมุติมันมีเท่านี้เห็นไหม เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัติแล้ว มันก็พูดธรรมอันเดียวกันนี่แหละ แต่มันพูดออกมาจากมีความจริงรองรับ มีองค์ความรู้ความจริงออกมา มันพูดออกมามันถูกต้องไปหมดเห็นไหม

แต่ถ้าเป็นความจำ พูดธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกันนี่แหละ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สมมุติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ สมมุติบัญญัตินี่ที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ พอบัญญัติไว้ขึ้นมานี่ เราก็พูดบัญญัตินั้นล่ะ แต่ความจริงเราไม่มี พอความจริงไม่มี มันไม่มีต้นมีปลายเห็นไหม พูดแต่ศัพท์ แต่ไม่มีที่มาที่ไป

แต่ถ้าเป็นความจริงนะ พูดศัพท์แล้วยังมีที่มาที่ไปอีกด้วย เพราะศัพท์นี่มาจากไหน ศัพท์ชื่อมันมาจากไหน แล้วชื่อมันจบแล้วมันมีอะไรต่อไป นี่ไง ความจริงมันเป็นอย่างนี้ นี่พุทธศาสนาเห็นไหม

พุทธศาสนา ! องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “พุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” พุทโธเห็นไหม หัวใจทุกคนมีพลังงาน หัวใจทุกคนมีพุทธะอยู่ในหัวใจอยู่แล้ว เราเกิดมาถึงมีศักยภาพ เราเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม เราเกิดมามีร่างกายและจิตใจเสมอภาค มีสิทธิที่จะประพฤติปฏิบัติเหมือนกัน

เรื่องของอำนาจวาสนา เราเกิดมาอำนาจวาสนาบารมีมันไม่เท่ากัน แต่เรามีสิทธิเหมือนกัน เรามีหัวใจเหมือนกัน เรามีความรู้สึกเหมือนกัน เรามีความทุกข์เหมือนกัน อมทุกข์อยู่ในใจนี้เหมือนกัน แล้วเราจะพ้นจากทุกข์ได้ทุกๆ คน

ถ้าทุกๆ คนทำได้ สิทธิเรามีอยู่แล้ว เพียงแต่เราจะ “ตั้งธง” ไหม เราจะสู้ไหม เราจะปฏิบัติไหม เราจะเอาจริงไหม ถ้าเราจะเอาจริงขึ้นมา เราจะทำจริงของเราขึ้นมา มันจะเป็นความจริงของเราขึ้นมา

ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำนะ ครูบาอาจารย์ท่านก็สมบุกสมบั่นมาก่อน ถ้าครูบาอาจารย์ท่านไม่สมบุกสมบั่นมาก่อน ถ้าไม่เห็นความจริงขึ้นมา ท่านจะเอาความจริงอะไรมายืนยันกับเรา

เหมือนประชาธิปไตยไง เสียงข้างมากยกมือ พั่บ พั่บ พั่บ นี่ไง แล้วเราเสียงเดียวมันจะไปสู้กับใคร แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาแล้วนะ ยกมือส่วนยกมือนะ ความจริงส่วนความจริงนะ

นี่ก็เหมือนกัน.. ครูบาอาจารย์ท่านกว่าจะพ้นจากสมมุติบัญญัติมา มันต้องมีการจัดการกัน มันต้องมีการบริหารจัดการ การพัฒนา การฆ่ามัน การทำลายมันมา ไอ้การฆ่าการทำลายอันนั้น แต่ถ้าเราทำจริงขึ้นไป มันจะประสบเหมือนกัน แล้วมันจะเห็นเหมือนกันเห็นไหม

เวลาเหมือนกัน ถึงที่สุดแล้วสิทธิเสมอภาค...สิทธิเสมอภาค เรามีหัวใจเหมือนกันนะ ดูสิ...ดูความรู้สึกเราสิ มันยิ่งใหญ่ขนาดไหน ใครจะมาบังคับได้ ความรู้สึกในหัวใจของเรา ปัญญาของเรา ความรู้ของเรา มันยิ่งใหญ่ขนาดไหน ใครบังคับของเราได้ ไม่มีใครบังคับเราได้เลย

แต่สติของเราบังคับมันได้ สติของเรา ปัญญาของเราเปลี่ยนแปลงมันได้ แล้วเปลี่ยนแปลงถึงที่สุดแล้ว มันเป็นสมบัติของเรานะ แล้วมันจะพ้นจากทุกข์ที่เราอมทุกข์ๆ กันอยู่ ที่มันทุกข์ๆ อยู่นี่ มันถึงที่สุดแล้ว มันจะแก้ไขของมัน

จิตใจของคนยิ่งใหญ่นัก !! ความรู้สึกของเรานี้ยิ่งใหญ่นัก ! เราจะใช้สติปัญญาอย่างไร แก้ไขดัดแปลงให้ความยิ่งใหญ่นี้เป็นความสะอาดบริสุทธิ์ สะอาดบริสุทธิ์ด้วยความยิ่งใหญ่ แล้วเราจะไม่ต้องมาอมทุกข์ไง

ชีวิตนี้เกิดมา .. ติดคุกของมนุษย์ แล้วเวลามันชำระกิเลสแล้วเห็นไหม สอุปาทิเสสนิพพาน ถึงที่จิตสะอาดบริสุทธิ์แล้ว ก็ยังติดคุกในมนุษย์นี่แหละ เพราะเวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาแล้ว ๔๕ ปี ร่างกายก็ยังบังคับอยู่นี่ แต่จิตใจมันพ้นไปแล้ว มันถึงไม่การเกิดและการตายไง

ปัจจุบันนี้ จิตใจมนุษย์ ร่างกายมนุษย์ มันติดคุกนี้ เราใช้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำระแก้ไข เราจะพ้นจากคุกที่นี่ ทั้งๆ ที่มีชีวิตอยู่เดี๋ยวนี้ แล้วมันจะมีอะไรตายอีกล่ะ บอกว่า การเกิดและการตายมันเป็นไปตามกรรม ไม่มีใครบังคับมันได้ แต่ถ้ามันพ้นจากคุกแล้ว จะอยู่อีกกัปหนึ่งก็อยู่ได้ จะอยู่อย่างไรก็อยู่ได้ มันพ้นไปแล้ว แล้วมันจะทำอย่างไรให้มันพ้นทุกข์ มันเป็นไปได้นะ เราทำได้นะ ทุกคนมีสิทธิเหมือนกัน เรามีร่างกายและหัวใจเหมือนกัน มีร่างกายและจิตใจเหมือนกัน

เราฟังเทศน์เป็นทางวิชาการ เป็นปริยัติ เป็นสิ่งที่มา.. ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ฟังแล้วเอาไปใคร่ครวญ ฟังแล้วประพฤติปฏิบัติ ฟังแล้วหาแง่หามุม.. หาแง่หามุมให้ใจมันพัฒนา

ถ้าเราพัฒนาขึ้นมาแล้วมันจะเหมือนกัน แล้วถึงที่สุดนะ มันถึงเป้าหมายอันเดียวกัน เป้าหมายของพระพุทธศาสนา คือพ้นจากทุกข์ เอวัง