เทศน์เช้า

ของเก่า

๒ มิ.ย. ๒๕๔๔

 

ของเก่า
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ความซ้ำกันมันก็เรื่องของใจ ถ้าจะพูดเรื่องของใจ มันก็ต้องอารัมภบทเรื่องของใจก่อน ใจเท่านั้นที่จะพ้นจากขันธ์ ๕ ได้ ขันธ์ ๕ เป็นเรื่องของนามธรรม แล้วไม่มีอะไรจะพ้นจากขันธ์ ๕ ได้เลย ถ้าพ้นจากขันธ์ ๕ ได้ ก็พ้นจากความทุกข์ได้ ทีนี้ใจมันซ่อนอยู่หลังขันธ์ ๕ ไง ขันธ์ ๕ นี้มันเป็นอารมณ์ความรู้สึก อารมณ์ความรู้สึกที่เราคิดนึกกันนี้ อารมณ์ความรู้สึกที่มันเอาความทุกข์มาให้ มันเป็นความรู้สึกมันเป็นความคิดใช่ไหม สิ่งนี้เป็นความคิด แล้วสิ่งที่มันมาจากความคิดมันมาจากที่ไหน

มันคือว่าคนที่จะเสวยความคิดได้ มันก็ต้องเป็นใจ ใจนี้เสวยความคิด แล้วก็ยึดความคิดนี้ไว้ แล้วไม่มีอะไรเลย ที่จะพ้นจากบ่วงของมาร จากขันธ์ ๕ นี้ได้ นอกจากใจเท่านั้น มันก็ต้องเน้นกันตรงนั้นก่อน เน้นกันที่พื้นฐาน เหมือนการปลูกต้นไม้ หรือปลูกบ้านปลูกเรือน จะต้องปลูกบนแผ่นดินนี้ แผ่นดินนี้รองรับทุกอย่าง ในเรื่องของศาสนา มันก็เน้นที่ใจ เรื่องของใจสำคัญที่สุด เพราะใจนี้มันจะรับทุกอย่าง

เพราะฉะนั้นเรื่องของใจ มันก็ต้องชี้เรื่องของใจก่อนใช่ไหม ว่าใจมันอยู่ที่ไหน เราคิดกันว่าใจมันอยู่ที่ร่างกายของเรา แล้วต้องจับที่ร่างกายของเรา มันถึงจะเห็นใจ จับที่ร่างกายของเรา แล้วปิดล้อมที่ร่างกายของเรา ถึงได้บอกว่ามันเหมือนกับ กรงเสือเห็นไหม ร่างกายมันเหมือนกรงเสือ เสืออยู่ในร่างกายนี้ ทีนี้เราไม่เห็นว่าเป็นเสือ ถ้าเห็นว่าเป็นเสืออวิชชา ปัจจยา สังขารา... อวิชชานี้มันเป็นแบบพญามาร

แต่อยู่กับเรานี้ อวิชชาเป็นเรา เราเป็นอวิชชา อวิชชานี้มันถึงเป็นของที่ว่าน่าทะนุถนอมไง เพราะว่ามันปกป้องตัวเอง ทุกคนต้องปกป้องตัวเอง ทุกคนต้องสงวนรักษาตัวเองไว้ การรักษาตัวเองไว้มันก็จะไม่เห็นตรงนี้ ถึงต้องเน้นย้ำตรงนี้

ธรรมะเป็นของเก่า เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมมา แล้วพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ก็ตรัสรู้ธรรมมาอย่างนี้ ธรรมะเป็นของเก่าแต่ คนมันมองไม่เห็นไง ของเก่าของดั่งเดิมนะ

โลกจะเจริญขนาดไหน ความเป็นไปมันจะขนาดไหน มันก็จะเป็นไป ชีวิตจะรุ่งเรืองขนาดไหน มันก็มีหัวใจดวงนั้นเป็นผู้รับรู้ใช่ไหม หัวใจดวงนี้มันเป็นผู้รับรู้ เป็นผู้เสวยทุกอย่างในเรื่องของโลกเขา มันเสวยอารมณ์ เสวยขันธ์ ๕ แล้วมันถึงมาผูกพันกับข้างนอก ขันธ์ ๕ กับใจมันถึงว่าเป็นจริตนิสัย ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แล้วพอเสวยออกมามันถึงว่า มันไม่เห็นตรงนี้ไง ถึงเน้นย้ำตรงนี้ ถ้าจะว่าซ้ำๆ ซากๆ ในเรื่องของใจ ก็ยอมรับว่าซ้ำๆ ซากๆ ซ้ำๆ ซากๆ ก็เพราะจะชี้ให้เห็นของดั่งเดิมในหัวใจของเรา

แต่ถ้าพูดถึงว่าผิดหรือไม่ผิด มันจะผิดไปไหน ไม่ผิด เพราะมันเป็นเรื่องของสิ่งที่จะเป็นเหตุและผล หลักการคือเรื่องของใจ หลักการเห็นไหม หลักการและเหตุผล มันเป็นเรื่องของใจว่า มันเป็นหลักการในอริยสัจ แต่เรายกเหตุผลขึ้นมาอ้างอิงเท่านั้นเอง อ้างอิงเหตุผลให้เราเข้าใจว่า สิ่งนั้นจะน้อมเข้าไปหาหลักการตัวนั้น ที่เป็นความจริงนะ

หลักการเป็นความจริงนะ เป็นยิ่งกว่าจริงอีก เพราะมันเป็นเรื่องของอริยสัจ เรื่องของอริยสัจธรรม ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นเรื่องของอริยสัจ ถ้ารู้อริยสัจ มันก็ปลดเปลื้องตรงนี้ได้ ถ้าไม่รู้อริยสัจเห็นไหม มันยิ่งกว่าจริง เพราะว่าไม่รู้อริยสัจ แต่หัวใจก็มีอยู่ แต่เพราะมันไม่เห็นอริยสัจ อริยสัจมันก็ไม่สามารถปลดเปลื้องหัวใจดวงนั้นได้ หัวใจดวงนั้นก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปโดยธรรมชาติของมันเห็นไหม แล้วเราก็เวียนว่ายตายเกิดมา ถ้าเราพยายามจะศึกษาตรงนั้นนะ มันก็ต้องเน้นย้ำแต่ตรงเรื่องของใจ

เรื่องของใจคือเรื่องของชีวิต เรื่องของอำนาจวาสนา ที่คนจะเข้ามา มันเน้นย้ำตรงนั้น แต่นี้มันเน้นย้ำเป็นอารัมภบท แต่เรื่องหลักการนี้เห็นไหม เวลาวิปัสสนาเข้าไปก็ต้องเป็นวิปัสสนา ตอนนี้ทางฝ่ายปริยัติเขาบอกว่า “คำก็วิปัสสนา สองคำก็วิปัสสนา” ความจริงแล้วความหมายของคำว่าวิปัสสนายังไม่รู้เลย แล้วเราจะไปสอน สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานได้อย่างไร

สมถกรรมฐานเป็นสมถกรรมฐาน วิปัสสนาเป็นวิปัสสนา รู้สิ รู้วิปัสสนา ถ้าไม่รู้วิปัสสนานะ มันจะรู้จักวิธีการยกขึ้นวิปัสสนาได้อย่างไร แล้วใคร่ครวญตอนที่ใช้ปัญญา วิปัสสนาคือการใช้ปัญญาที่มีสัมมาสมาธิเข้ามาแยกความเป็นตัวตนออกไป มันจะหมุนไปโดยธรรมชาติของมัน แต่เริ่มต้นมันก็ต้องเตาะแตะไป แต่ในเมื่อหลักของปริยัติ เขาแยกออกเป็นเอกเทศ แยกเป็นส่วน พอแยกเป็นส่วนแล้วชี้เฉพาะส่วน อธิบายเฉพาะส่วน พออธิบายเฉพาะส่วน มันจะต่อเนื่องกันได้อย่างไร

แต่ถ้าหลักของผู้ประพฤติปฏิบัติ มันจะก้าวเดินเตาะแตะขึ้นไป เริ่มต้นจากมีศรัทธาความเชื่อขึ้นมา จากมีศรัทธา มีศีล มีสมาธิ มีปัญญา มีสมาธิหรือมีปัญญานี้มันจะแยกเป็นส่วนไม่ได้ มันต่อเนื่องกันเข้าไปส่งเสริมกันขึ้นไป แล้วมันจะเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน ถึงสุดท้ายแล้ว มันก็เป็นวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาแล้วมันจะแยกส่วนออก ความเห็นจะแยกออกไป เรื่องของปัญญานี้ จะแยกส่วนไปๆ จนกว่าขันธ์กับใจจะแยกออกจากกันเห็นไหม

แยกออกจาก กันมันก็ยังไม่ใช่ความจริง มันต้องแยกออกจากกันบ่อยเข้า บ่อยเข้าจนกว่ามันจะขาด พอมันจะขาด ขันธ์กับใจมันจะขาดจากกัน กิเลสมันจะหลุดออกไป เพราะกิเลสคือตัวเชื่อมต่อ กิเลสเป็นตัวเชื่อมขันธ์กับใจว่าเป็นของเราเห็นไหม ถึงบอกว่าใจเท่านั้นที่จะหลีกเลี่ยงพ้นจากขันธ์ได้ ใจเท่านั้นที่จะปลดเปลื้องขันธ์ได้ แล้วไม่มีอะไรจะปลดเปลื้องขันธ์ได้เลย การปลดเปลื้องขันธ์เห็นไหม ขันธ์หยาบ ขันธ์กลาง ขันธ์ละเอียด ปลดเปลื้องขันธ์จนสิ้นสุดของขันธ์ ขันธ์นี้ไม่มีเลย เหลือแต่ใจล้วนๆ เห็นไหม

“จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี่ผ่องใส จิตเดิมแท้ข้ามพ้นกิเลส” อย่างนี้มันเป็นเพราะเราแยกส่วน ถ้าเราแยกแยะออกไปเป็นสัดส่วนเห็นไหม มันจะเห็นชัดเป็นขนาดนั้น แต่ถ้าเราไม่แยกส่วนออกมา มันจะไม่เห็นจิตเดิมแท้ ถ้าจิตเดิมแท้มันไม่เห็นจิตเดิมแท้มันก็ไม่เห็นตัวอวิชชา คือตัวขันธ์กับตัวอวิชชามันคนละตัวกัน มันถึงต้องซ้ำไง ซ้ำอยู่ตรงนี้ แต่หลักการมันอยู่ตรงที่ว่า แยกขันธ์ออกไป ถึงเห็นอวิชชาแล้วทำลายอวิชชาออก จิตตรงนั้นก็พ้นออกไป

มันก็เป็นจิตที่สะอาด แล้วจิตของเรานี้ มันเป็นจิตที่คละเคล้าอยู่กับขันธ์ แล้วโดนกิเลสมันสมานกันทั้งหมด ขันธ์หยาบ ขันธ์กลาง ขันธ์ละเอียด กับใจสมานเป็นอันเดียวกัน สมานเป็นอันเดียวกันนะ เกิดดับพร้อมกันเป็นอันเดียวกัน ไม่สามารถแยกแยะได้เลย ไม่สามารถแยกแยะได้ใจมันถึงต่างไง ใจของผู้ที่บริสุทธิ์แล้วจะบริสุทธิ์ผุดผ่อง เพราะว่าการชำระล้างออกไป ในเรื่องของศาสนา ศาสนาคือศาสนธรรม คือคำสั่งสอน คือวิธีการ มันแยกแยะได้มันทำได้

แต่ของเรานี้เราแค่ศึกษามา แล้วเราจำของเรามา มันก็มีความศรัทธาเห็นไหม มันเห็นช่องทาง คนเราถ้ามียามันก็มีช่องทางไป แต่คนป่วยที่ไม่มียาเลย ถ้าคนป่วยแล้วพอมียาก็รักษา พยายามจะเอายานั้นเข้ามารักษาเราให้ได้ ถ้ารักษาเราได้เราก็หายได้ แต่ถ้าคนป่วยแล้วไม่มียาเลย มันก็ได้แต่ทนทุกข์ตรอมใจไปอย่างนั้นเห็นไหม คนที่ไม่มียาแล้วไม่สนใจศาสนาก็เป็นอย่างนั้น แต่เราสนใจศาสนา เราถึงมียา แต่เรายังเข้าถึงธรรมไม่ได้ มันก็ต้องซ้ำ มันก็ต้องทนฟังซ้ำๆ ไปก่อน

มันต้องทนฟังเพราะอะไร เพราะว่าเรื่องอย่างนี้ เรื่องที่ว่าพูดหนึ่งคำ เรื่องของสมาธิ ที่พูดว่าทำสมาธิได้เราใช้เวลากันกี่ปี เวลาพูดนะมันพูดได้หนึ่งคำ แต่เวลาทำนี่เป็นหลายๆ ปีกว่าจะทำได้ขนาดนั้น แล้วการวิปัสสนา กว่าจะถึงวิปัสสนาแยกแยะได้ไง คำพูดเมื่อรวบยอดแล้วมันก็เป็นอย่างนั้น แต่เวลาการประพฤติปฏิบัติ มันต้องทำนานมาก ทำนานมากหมายถึงว่ามันเป็นการปลดเปลื้องสิ่งที่เป็นนามธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ธรรมอันนี้ลึกซึ้งมาก”เห็นไหม ลึกซึ้งจนเราหยั่งไม่ได้ ความที่หยั่งไม่ได้ เพราะมันอยู่กลางหัวใจเรานี้ แล้วมันกว้างขวาง จนไม่สามารถจะมีขอบเขตได้ ศีล สมาธิ ปัญญา ถึงเริ่มมีขอบเขตกันเข้ามา แล้วหาเข้าไป ถึงต้องย้ำคิดย้ำทำ ผู้เทศน์ก็ย้ำแล้วย้ำอีก ย้ำแต่ตรงนั้น มันถึงจะเป็นการซ้ำบ้างมันก็ต้องซ้ำ แต่ซ้ำเพื่อประโยชน์ ซ้ำเพื่อชี้นำ ซ้ำเพื่อชี้ให้เห็นเรื่องของสัจธรรม

เรื่องของความเป็นจริงอยู่ในหัวใจนะ มันต้องเน้นยกหัวใจขึ้นมา มันถึงต้องเน้นตรงนั้นไง เน้นตรงสิ่งที่ว่าเป็นประโยชน์ เน้นสิ่งที่ว่าเป็นภาชนะเข้าไปรองรับ ถ้าเราไม่มีภาชนะ ไม่มีวัตถุเข้าไปรองรับธรรม มันจะรองรับ ทีนี้ถ้าไม่เน้นตรงนี้มันก็ไปชี้เรา เวลาเราพูดถึงตรงนี้ เราจะพูดถึงวัตถุที่เป็นสิ่งเอาอะไรไปเปรียบเทียบหมดเลย แต่นามธรรมมันไม่มีวัตถุเปรียบเทียบ แต่พยายามยกขึ้นมาให้เห็น แล้วพยายามพูดให้เห็นอย่างนั้น มันก็เลยกลายเป็นการเน้นย้ำลงไป พอเน้นลงไปมันก็เลยกลายเป็นความซ้ำซาก (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)