เทศน์เช้า

มดแดง

๓o มิ.ย. ๒๕๔๔

 

มดแดง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ความเข้าใจธรรมะ เราต้องเข้าใจธรรมะก่อน เราถึงจะประพฤติปฏิบัติธรรม ธรรมะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าน่ะประเสริฐที่สุดเลย แต่มันแยกออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นโลก ส่วนหนึ่งเป็นธรรม ส่วนหนึ่งเป็นโลกคือส่วนการศึกษาไง โลกนี้คือการศึกษา เห็นไหม เด็กเราศึกษาเล่าเรียนนี่โลกชีวิตหนึ่งเป็นวิชาชีพ ศึกษาเล่าเรียนมาเพื่อความรู้ในโลกเรา เพื่อในโลกเรา เราประกอบอาชีพไป

แต่ความรู้อันละเอียดอ่อนของธรรมะนี่มันลึกซึ้งกว่านั้นอีก มันถึงต้องมีปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ปริยัติคือการศึกษาเล่าเรียน การเผยแผ่ออกมานี่ การเผยแผ่ธรรมะไป การศึกษาเล่าเรียนไป เปรียบแล้วเหมือนกับมดแดงเฝ้ามะม่วง มดแดงเห็นไหม มดแดงมันเกาะอยู่ต้นมะม่วงน่ะ มันเกาะอยู่ต้นมะม่วงแล้วมันก็หวงผลมะม่วงอันนั้น แต่มันไม่เคยได้ลิ้มรสอย่างนั้นเลย

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เป็นผู้สอนโลก เป็นประโยชน์ของโลกมหาศาลเลย ครูบาอาจารย์อัครสาวกต่าง ๆ แต่ละองค์ที่ตรัสรู้ตามมา ๆ ตรัสรู้เพราะว่ารู้ธรรมเหมือนกัน เป็นประโยชน์แก่โลกมหาศาล เพราะอะไร? เพราะว่ามันเข้าใจตามความเป็นจริงไง ถ้าเข้าใจตามความเป็นจริงจะเห็นปัญญาเป็นชั้น ๆ เข้าไป ปัญญาของโลกเป็นปัญญาของโลกเขา มดแดงเฝ้ามะม่วงมันไม่เคยได้ลิ้มรสของมะม่วง แต่มันก็เฝ้าด้วยความพอใจของมัน

เราศึกษาเล่าเรียนมาก็เหมือนกัน ถ้าเราศึกษามานะ พอเราศึกษามานี่เราว่าเรารู้ธรรม เราก็เหมือนมดแดงเฝ้ามะม่วง มดแดงเฝ้ามะม่วงก็อยู่แต่การศึกษาของเรา มันอยู่ที่อารมณ์ อยู่ที่เปลือก นี่ปัญญามันมีสุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา ปัญญาที่ว่าชำระกิเลส เพราะกิเลสมันอยู่ในเนื้อของใจ ถ้าเราจะเห็นกิเลสมันต้องขุดคุ้ยขึ้นไป

มีพระมากเลยประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ทำความสงบของใจเข้ามา ทำใจสงบเข้าไป ๆ แล้วก็เวิ้งว้างมีความสุขกับอย่างนั้นนะ แล้วก็เข้าใจว่าอันนี้เป็นธรรม แล้วพอสุดท้ายก็เสื่อมไป พอเสื่อมไปมีความรู้สึกว่า “เอ๊ะ..อันนี้ทำไมมันเสื่อมค่าไป” แล้วมีความหงุดหงิด มีความทุกข์มาก

นี่ความสงบอันนี้มันเป็นเหมือนกับเปลือกของมะม่วง ความว่าเปลือกของมะม่วงเพราะมันเป็นอารมณ์ เป็นความปล่อยวางเข้ามา มันเป็นเปลือกของมะม่วง เราต้องปอกเปลือกมะม่วง คนของเรานี่ฉลาดกว่ามดแดง สอยมะม่วงมาแล้วปอกมะม่วงออก พอปอกมะม่วงออกได้กินเนื้อของมะม่วง เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน พอมีความสงบอยู่นี่ มันต้องปอกเปลือกของมะม่วงออกไป คือว่ามันต้องขุดคุ้ยกิเลสในหัวใจนั้น ความสงบของใจนี่ มันเหมือนกับป่าใหญ่ ป่ารกชัฏเลย เราจะปลูกพืชไร่ในนั้น เราต้องทำลายป่านั้นก่อน นี่ก็เหมือนกัน อารมณ์ของเรานี่เป็นอารมณ์โลกทั้งหมดเลย ความคิดของเรานี่เป็นโลก เป็นความผูกพันของเรา เป็นความคิดของเรา ความคิดดั้งเดิมของเรานี่ มันเห็นแก่ตัวทั้งหมด

ความคิดเห็นแก่ตัว เพราะอะไร? เพราะมันมีอุปาทาน มีความยึดมั่นถือมั่นของใจ เราคิดอะไรนี่เราต้องว่าเราถูก เราคิดเห็นอะไร เราว่าเราความเห็นถูกต้อง ความคิดถูกต้องอันนั้นน่ะมันเป็นเหมือนกับป่ารกชัฏ เป็นป่าไม้ที่ว่ามันจะปลูกต้นไม้ไม่ได้เลย เพราะมันบังดินอยู่ เราต้องทำลาย เราต้องถากถางออกไป ความถากถางป่ารกชัฏอันนั้น นั่นล่ะทำลายเรื่องของโลก เรื่องของความผูกพัน เรื่องของความยึดมั่นถือมั่น เรื่องของความเป็นสมาธิ

เวลาคนเรานี่นะ เวลาจะตายไป คนเรานี่จะตายไป ตายไปแล้ว ๗ วัน ๘ วันมันก็เน่าเปื่อย เห็นไหม แต่เวลาคนเราถ้ามันยังมีชีวิตอยู่นี่ เรามีชีวิตอยู่ แล้วเราว่าเราก็ต้องตายไป ๆ ความคิดของเราผูกพันไปกับเรา แต่ถ้าความคิดของความเห็นในการวิปัสสนาญาณนะ ถ้าวิปัสสนาญาณความเห็นจากภายใน ความเห็นจากภายในมันเกิดจากป่ารกชัฏนี่ เราทำลายป่านั้นออกไปก่อน ทำลายป่านั้นออกไปทั้งหมดเลย พอทำลายป่าออกไปทั้งหมด มันก็เห็นผืนดินใช่ไหม?

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเป็นโลกียะ ถ้าเป็นเรื่องของการประพฤติปฏิบัติ เป็นภาวนามยปัญญา มันจะเห็นจากภายในไง ความเห็นจากภายในนี่ มันจะขุดคุ้ยขึ้นมาก่อน การขุดคุ้ย การหาตัวกิเลสหาเชื้อในใจนี่ มันเหมือนเราปอกผลมะม่วง ถ้าเราปอกผลมะม่วง เห็นไหม พระที่ทำความสงบเข้าไป แล้วมันเสื่อมสภาพไป เพราะอะไร? เพราะว่ามันไม่ได้ปอกเปลือกมะม่วง มันไม่ได้เห็นเนื้อของมะม่วง มะม่วงถ้ามีเปลือกอยู่นี่เราจะชะล่าใจนะ มะม่วงนี่มันวางที่ไหนมันก็มีเปลือกคลุมตัวมันอยู่ เราปอกมะม่วงจนออกหมด มีแต่เนื้อนี่ เราไปวางที่ไหนได้ไหม พอวางมดมันก็จะขึ้น

อันนี้ก็เหมือนกัน พอจิตมันสงบ มันมีสมาธิอยู่นี่ ความเคยตัวของเรา เราจะอยู่กับสมาธินั้น จิตความสงบนั้นก็อาศัยอยู่สิ่งนั้น สิ่งนั้นน่ะอาศัยอยู่กับสิ่งนั้น ว่าสิ่งนั้นเป็นผล ๆ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเปลือกของมะม่วง เห็นไหม อาศัยว่าเป็นผล แล้วมันไม่ได้ปอกเปลือก ความปอกเปลือกคือขุดคุ้ยเข้าไป เห็นอาการของใจอันใหม่ขึ้นมา เป็นอารมณ์ความคิดเหมือนกัน แต่ไม่ใช่อารมณ์ความคิดเหมือนปกตินี้ อารมณ์ความคิดปกตินี้ อารมณ์ความคิดว่ายึดมั่นถือมั่น อารมณ์ความคิดว่าเป็นเรา

สรรพสิ่งนั้นเป็นเรา เราคิดออกไป เพราะมันมีเรา ทำความสงบของใจเข้ามา พอใจมันสงบเข้ามานี่ ความคิดว่าเรามันสงบตัวลง พอความคิดว่าเราสงบตัวลง ปัญญาที่เกิดขึ้นมันจะเป็นตามความเป็นจริงไง นี่มัชฌิมาปฏิปทา ถ้าไม่มีมัชฌิมาปฏิปทานี่ความคิดเอียง เอียงข้างเรา หรือว่าสุดโต่งเกินไป มันเป็นอัตตกิลมถานุโยค กามสุขัลลิกานุโยค อยู่อย่างนั้นตลอดเวลา

พอมันไม่มัชฌิมาปฏิปทาเพราะว่ามันมีเราเข้าไปผลักไส ทำความสงบเข้ามา จนมันหมุนไปโดยธรรมจักรของมัน นี่ฟังสิ ธรรมจักร จักรของธรรม ถ้ามันเคลื่อนออกไปนะ มันเคลื่อนออกไปจากหัวใจทุก ๆ ดวงที่นั่งอยู่นี่ หัวใจทุก ๆ ดวงมันมีพลังงาน พลังงานนี่เป็นพลังงานของโลก แล้วเราก็เข้าใจเรื่องของโลกกัน เราก็จะศึกษาเรื่องของโลก ความคิดของโลกนี่ ผู้นำเป็นผู้ที่มีความคิดมีความนึกถึงโลก

เราถึงบอกว่าต้องศึกษาเล่าเรียน การศึกษาเล่าเรียนนี้ไม่ได้ปฏิเสธ แต่การศึกษาเล่าเรียนนี้เป็นแค่สะพาน เป็นฐาน เป็นพื้นที่จะดำเนินก้าวต่อไป การเรียนนี้เรียนมาเพื่อรู้ใช่ไหม เรียนมาเพื่อรู้ แล้วการเรียนภายในล่ะ เรียนนี้รู้จำของเขามา ยืมมาไง กู้ยืมมา อยู่ในพระไตรปิฎกเราศึกษามานี่กู้ยืมธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าออกมา แต่ความเป็นจริงของเรา การกู้ยืมมาเป็นสมบัติของเราไหม การศึกษาเล่าเรียนมา การท่องจำมาเป็นสมบัติของเราไหม? มันเป็นสมบัติของเราถ้าเราท่องจำได้ แล้วเราลืมไหม? เราลืมสัญญาความจำ ความจำนี่มันลืมได้

แต่ถ้าเป็นอริยสัจ ความเห็นของอริยสัจ เห็นจากภายใน ไม่มีวันลืม มันจะลืมไปได้อย่างไรเพราะมันรู้เองเห็นเองจากภายใน เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพูดกับพระสารีบุตร พระสารีบุตรไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะอะไร? เพราะพระสารีบุตรรู้เองเห็นเองจากภายใน ไม่เชื่อ ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อเป็นการเดินตาม

แต่ความรู้เท่า ความรู้จริงเห็นจริงมันต้องเกิดขึ้นจากการประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประพฤติปฏิบัติค้นคว้าขึ้นมา เห็นธรรมจนรู้ตามความเป็นจริง เป็นประโยชน์ตั้งแต่สามโลกธาตุ สอนเทวดา สอนมนุษย์ สอนทุกอย่าง แล้วพระที่ประพฤติปฏิบัติมา การประพฤติปฏิบัติมันถึงมีคุณค่าไง มีคุณค่ามากจากเรื่องของเราก่อน ความลังเลสงสัยของเรานะ ประพฤติปฏิบัติไปทำไปนี่ สร้างความเพียรไปประพฤติปฏิบัติไป ก็มีแต่ความลังเลสงสัยเข้าไป

ความลังเลสงสัยอันนั้น มันทำให้การประพฤติปฏิบัตินี่ไขว้เขวหนึ่ง แล้วความลังเลสงสัยนี่ทำให้ใจขุ่นมัว ใจลังเลสงสัยมีความทุกข์ใจหนึ่ง ความทุกข์อันนี้ ถ้าการประพฤติปฏิบัติมันจะเห็นสัจจะความจริง ถ้าเห็นสัจจะความจริงว่าจิตนี้สงบแล้ว พอมันเสื่อมไป ๆ จนมันรู้ว่าจิตสงบแล้วมันเสื่อมโดยธรรมชาติของมัน นี้เป็นโลกียะ แล้วพยายามจะขุดคุ้ย พยายามแสวงหา พยายามหาตัวกิเลสให้เจอ

ถ้าเห็นตัวกิเลสขึ้นมา นี่ได้งานชอบ ถ้ามีงานชอบขึ้นมามันจะเป็นวิปัสสนาขึ้นไป ถ้าไม่มีงานชอบอันนี้จะไม่วิปัสสนา ฉะนั้นกิเลสมันอยู่ที่ใจแน่นอน แต่ใจมันอาศัยกายนี้อยู่ อาศัยความรู้สึกนี้อยู่ แล้วใจนี่อาศัยอารมณ์เกาะเกี่ยวนี้อยู่ มันถึงเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ออกไปภายนอก แล้วเราทำความสงบเข้ามา พอทำความสงบเข้ามานี่ มันปล่อยจากอารมณ์ภายนอกเข้ามาเป็นตัวของมัน แล้วมันก็มีเปลือกปกคลุมใจนี้อยู่ มันก็หลบเลี่ยงอยู่ในหัวใจนั้น มันถึงต้องขุดคุ้ยไง พยายามขุดคุ้ยหาสิ่งที่ว่า มันฝังอยู่ในหัวใจนั่นน่ะ

กิเลสมันอยู่ที่ใจ แล้วมันก็อาศัยขันธ์ อาศัยความคิด อาศัยความรู้สึกนี้ออกไปหาเหยื่อ เราก็ตามตรงนั้นเข้าไป เห็นความเกิดดับของมัน นี่อารมณ์เหมือนกัน แต่ถ้าความคิดนี่ อารมณ์คือความคิดนะ สังขาร ความคิด ความปรุง ความแต่ง นี่มันเป็นอารมณ์เหมือนกัน อารมณ์อันหนึ่งเป็นอารมณ์ทางโลก อารมณ์ทางโลกมันเป็นเพราะเราเป็นคนคิด มีเราทั้งหมดเข้าไปบัญชาการ ความคิดนี้บวกไปด้วยเรา รวมไปด้วยเราทั้งหมด

แต่อีกอารมณ์หนึ่ง มันมีความสงบเข้าไปก่อน เพราะอารมณ์อีกอันนี้มันจะเป็นอารมณ์ของภาวนามยปัญญา เพราะว่าไม่มีเรา พอจิตมันสงบตัวลง เหมือนกับโลกนี่มีแรงดึงดูดของโลก ในความคิดของเรา จิตใต้สำนึกทุกอย่าง แต่ละเรื่องของเรานี่มันจะผูกมัดเข้าไป แล้วจิตใต้สำนึกอันนี้มันสงบตัวลง แรงดึงดูดอันนี้ ถ้าสมาธิมันมีอยู่นะ ปัญญานี่หมุนออกไปมันจะเป็นมัชฌิมาปฏิปทา

แต่ถ้าสมาธิมันเสื่อมลง ไอ้แรงดึงดูดของเราความคิดของเรานี่จะออกมาผสมสิ่งนั้น มันจะดึงความคิดของเราเข้าข้างตัวเองตลอดไป มันต้องกลับมาทำความสงบ ทำความสงบมันถึงต้องสมถกรรมฐานนี่ ต้องอยู่ในขั้นของสมถะก็ต้องทำความสงบเข้ามา ในขั้นวิปัสสนาก็ต้องอาศัยความสงบเข้าไป ความสงบเข้าไปเพราะกดกิเลสไว้ก่อนถึงจะฆ่ามันได้ ถ้าไม่กดกิเลสไว้ก่อนจะไม่มีทางฆ่ากิเลสได้เลย กิเลสนั้นมันจะตลบหลังไง ตลบหลังว่าความคิดเป็นเรา มันจะเทียบเคียงออกไปให้เราหลงใหล ให้เราไขว้เขวออกไป ว่าสิ่งนั้นเป็นเรา ๆ สิ่งนั้นที่เราเห็น ๆ เราจะรู้ตามความเป็นจริงเข้าไป มันจะออกไปตามนั้น

นี่กิเลสมันร้ายกาจขนาดนั้น มันหลอกในเรื่องของโลกียะ เรื่องของโลกนี่มันว่าเราไปคิด นี่มันเทียบเคียง เหมือนมะม่วงไม่เคยได้ลิ้มรสของมันเลย ไม่เคยได้ลิ้มรสของธรรม ก็ว่าตัวเองได้ประสบความธรรม ประสบด้วยการคาดหมาย ด้วยการเทียบเคียง กับถ้าเราวิปัสสนาเข้าไป ปัญญาของโลกียะนี่มันจะเชือดเฉือน มันจะทำลายกิเลสออกไปเป็นชั้น ๆ เข้าไป ทำลายความคิดของเรานี่ เป็นชั้น ๆ เข้าไป ความคิดเรานี่ต้องทำลาย ยิ่งทำลายความคิดเท่าไหร่นะ ความคิดใหม่ขึ้นมามันจะสะอาดบริสุทธิ์

เราหวงแต่เรา เราไม่กล้าทำลายความคิดของเรา ถ้าเราหวงเราตระหนี่ความคิดของเรา เราหวงอารมณ์ของเรา เราไม่ทำลายความคิดของเรา เราจะไม่เห็นความคิดใหม่ที่มันสะอาดบริสุทธิ์ ทำลายความคิดของเรานี่ ความคิดที่เห็นแก่ตัวเข้าไปนี่ มันจะทำลายออกไป ๆ ทำลายอย่างไร วิปัสสนาว่ามันไม่จริง มันโกหก มันมดเท็จ มดเท็จกับเรา ตัวเราเองนี่ ความคิดของเราหลอกเราเอง มดเท็จกับตัวเราเอง แล้วเราก็เชื่อความคิดของเราไป แล้วเราก็จินตนาการตามความคิดไป มันก็สืบต่อหมุนเวียนออกไป

แต่ในเมื่อเห็นว่าความเป็นโกหก แล้วพยายามวิปัสสนาซ้ำเข้าไป พอเห็นว่าเป็นโกหก มันเห็นเป็นความจริง มันจะปล่อยวางเข้ามา มันสลัดทิ้งนะ สลัดทิ้งไปเรื่อย ๆ มันจะไม่ขาดหรอกเพราะอะไร? เพราะมันแก่นของกิเลส สลัดทิ้งไปจนกว่ามันจะขาด นั้นคือภาคปฏิบัติไง ภาคปฏิบัติมันถึงชำระความลังเลสงสัย พอมันเห็นว่าสิ่งนี้ขาดออกไปจากใจ แล้วใจมันสะอาดขึ้นมา มันปล่อยวางเป็นชั้น ๆ เข้ามา มันสะอาดขึ้นมาเป็นชั้น ๆ ขึ้นมา มันจะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ สิ่งนี้เป็นคุณ

การศึกษาเล่าเรียนเริ่มต้นมันเป็นคุณ คุณจากการดึงเราเข้ามาศึกษาเรื่องศาสนา แต่เพราะกิเลสในหัวใจของเรานี่ มันยึดมั่นว่าอันนี้เป็นผล นี่สุตมยปัญญามันคิดว่าอันนี้เป็นผล เห็นไหมมันยึดมั่น พอยึดมั่นนี่มันก็เทียบเคียงออกไป ประพฤติปฏิบัติเรามันถึงจะได้คลอนแคลนออกไป มันถึงว่าประพฤติปฏิบัติเราต้องไม่เทียบเคียง เราวางไว้หมดเลย แล้วทำความสงบของเราให้ได้ ทำให้เป็นปัจจุบันธรรม สิ่งที่ว่าอารมณ์มันเทียบเคียงนั้น ปล่อยวางไว้ก่อน จนกว่ามันจะเป็นไปตามความเป็นจริง มันไม่ต้องเทียบเคียง มันรู้จริงเห็นจริง มันจะเป็นตามความเป็นจริงอันนั้น

แล้วพออย่างนั้นแล้วมันถึงจะเป็นภาวนามยปัญญาเข้าไป นี่ภาคปฏิบัติมันถึงสำคัญไง สำคัญว่ามันทำแล้วมันจะเห็นผลของเราขึ้นมาหนึ่ง ภาคปริยัติมันเป็นการแค่เข้ามาศึกษา แล้วเวลาปฏิบัติต้องวางไว้ ต้องอย่าให้ออกมารู้กับเรา นี่ว่าปริยัติกับปฏิบัติ มันว่ามันสำคัญ มันสำคัญทั้ง ๒ ส่วน แต่ส่วนหนึ่งเป็นส่วนเริ่มต้น แล้วถ้าไม่มีภาคปฏิบัติมา ปริยัตินั้นมันก็เป็นความจำเฉย ๆ ถ้ามีภาคปฏิบัติเข้ามา มันจะเป็นความจริงขึ้นมา มันจะให้ความสุขกับใจของเราก่อน ความสุขกับใจของเรานี่ เราจะรู้ตามความเป็นจริงเลยหนึ่ง

แล้วมันยังเป็นประโยชน์กับโลกอีกมหาศาลนะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้องค์เดียวเป็นประโยชน์กับโลกขนาดไหน การศึกษามาพวกจินตนาการมานี่ มีก็อยู่ในโลกขนาดไหน มันก็ทำให้ไขว้เขวไปขนาดนั้น มันก็อยู่ในขนาดนั้น มันมีแต่...รู้แต่ปาก ปากนี่พูดได้เหมือนนกแก้วนกขุนทอง แต่หัวใจลังเลสงสัย มันจะลังเลสงสัย พูดไปก็ลังเลสงสัยไป

แต่ถ้าภาคปฏิบัติแล้วมันต้องพูดตามความเป็นจริง หลวงปู่มั่นเห็นไหม ครูบาอาจารย์บอกว่า หลวงปู่มั่นบอกต้องอย่างเดียวเลยนะ ถ้าทำอย่างนี้ไปต้องไปเจอ จิตต้องสงบ จิตสงบแล้วต้องเสื่อมโดยธรรมชาติของมันทั้งหมด ถ้าไม่ขุดคุ้ยหาหลักหากิเลสหาเชื้อให้ได้แล้ววิปัสสนาเข้าไป มันจะเสื่อมโดยธรรมชาติของมัน มันเป็นกุปปธรรม มันต้องเสื่อมสภาพโดยธรรมชาติ แต่เข้าจะเห็นว่าว่างเวิ้งว้างแล้วคิดว่าเป็นผล

นี่มันจะเสื่อมสภาพโดยธรรมชาติของมัน เพราะเป็นกุปปธรรม จนวิปัสสนาเข้าไป มันก็เป็นความว่างเหมือนกัน แต่มันเป็นอกุปปะ มันปล่อยวางแล้วไม่มีวันเสื่อม ธรรมที่ไม่เสื่อมมี ถ้าธรรมที่เสื่อมอยู่แล้วนี่ใจนี้จะเสวยกับธรรมเป็นอันเดียวกันได้อย่างไร ธรรมกับใจนี้เป็นเนื้อเดียวกันโดยไม่มีวันเสื่อม แต่บทที่มันเสื่อมอยู่ มันเสื่อมอยู่ แล้วเราอยู่ที่เสื่อมอยู่ ใจเราอยู่ตรงนั้น เราต้องก้าวเดินต่อไป ก้าวเดินขึ้นไปจนถึงกว่ามันจะไม่เสื่อม ต้องวิปัสสนาซ้ำ ๆ ๆ ๆ จนกว่ามันจะขาด พอมันขาดออกไปเป็นอกุปปะแล้วไม่เสื่อม

นี่ถ้าปฏิบัติรู้จริงจะเห็นจริงตามความเป็นจริงเลย แล้วพอพูดมาไม่นกแก้วนกขุนทอง ต้องอย่างเดียว ต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน ไม่เป็นอย่างอื่นเด็ดขาดเลย เพียงแต่เราทำไม่ถึงเราก็ลังเลสงสัยไป แล้วอย่างว่าการประพฤติปฏิบัติมันแสนยาก ยากเพราะอะไร? ยากเพราะต้องเอาชนะตนเอง

การประพฤติปฏิบัติคือการชนะตน ถ้าชนะตนแล้วเห็นไหม ทำความสงบขึ้นมาให้มันสงบขึ้นมาก่อน นี่ก็ชนะตนส่วนหนึ่ง แล้ววิปัสสนาเข้าไปจะทำลายเชื้อในตน เราชนะตนได้ส่วนหนึ่ง เราเอาใจเราได้ เช่น เราอยากจะทำตามสบายของเรา เราทำความสงบเข้ามานี่มันต้องบังคับตัวเอง นี่เอาชนะตนส่วนหนึ่ง พอเอาชนะตนส่วนหนึ่งแล้วทำลายตน ตนภายในตนของเราอีกส่วนหนึ่ง พอทำลายตนขึ้นไปแล้วนี่ อันนั้นคือสะอาดบริสุทธิ์ นี่ศาสนาพุทธประเสริฐ ประเสริฐที่สุด ประเสริฐตรงนี้ ประเสริฐที่วิชาการ ประเสริฐตรงสามารถทำลายกิเลสในหัวใจของเราได้ เอวัง