ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หยุดคิด

๒๕ ต.ค. ๒๕๕๒

 

หยุดคิด
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ประเด็น : ดูหนังสือมาเขาบอกว่าความคิดเป็นปัญญานะ แม้แต่พระไตรปิฎกพูดถึงความเห็น ถ้าตีให้ความผิดนะเขาบอกว่าสัมมาทิฏฐิก็ไม่ใช่ คำว่าทิฐินั้นคือความคิดความเห็น ทิฐิคือทางความคิด หลวงปู่ดูลย์บอกว่า คิดเท่าไรไม่รู้ ต้องหยุดคิด

หลวงพ่อ : เขาจับประเด็นนี้ไง คิดเท่าไรไม่รู้ต้องหยุดคิด ฉะนั้นความคิดนี่ เขาบอกความคิด ปัญญาของเรามันบังความรู้ เขาบอกเส้นผม เหมือนเส้นผมบังภูเขา ความคิดต่างๆ ปัญญานี่ ปัญญาเข้าถึงธรรมะไม่ได้ ในความเห็นของเขานะ คำว่าปัญญาของเขานี่ ปัญญามันตีความเห็นอย่างไร

ประเด็น : เขาบอกความคิดนี่มันเป็นปัญญา ปัญญาอย่างนี้มันเป็นสัมมาปัญญา สัมมาปัญญาประสาปริยัติของเขา เขาพูดอย่างนั้นว่า ไม่ได้ มันเข้าไม่ได้ มันต้องเป็นความรู้จริง นี่ความรู้จริงมันต้องผ่านความคิดเข้าไป

หลวงพ่อ : นี่บอกความคิด ความคิดเกิดดับ ปัญญาเกิดดับ สิ่งที่เป็นปัญญานี่ มันเป็นปัญญาทางโลกๆ มันไม่เป็นปัญญาทางธรรม หลวงปู่ดูลย์บอกว่า ความคิด คิดเท่าไรก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด เขาถือว่า ต้องหยุดคิด คิดไม่ได้ คิดนี่จะทำให้เสียหายหมด

คิดคือทำให้เรารู้ไม่ได้ ต้องหยุดคิด แต่การหยุดคิด ความหยุดอันนั้นเขาบอกว่า ความรู้ ความคิดรู้ไม่ได้ ต้องเป็นความรู้ จะรู้กายรู้จิตเอาความรู้นี้ รู้กายรู้จิต ห้ามรู้อย่างอื่น ห้ามกระดิกให้รู้กายรู้จิต ความรู้กายรู้จิตนี่ มันจะฝึกของเขาให้จิตนี้มันหลุดพ้นไปได้ ความรู้กายรู้จิต เห็นไหม มันเหมือนกับแม่แบบ

สิ่งที่ว่าแม่แบบคือคำสอน แต่เราเป็นลูกศิษย์ใช่ไหม พอเป็นลูกศิษย์เราอยากมีคุณธรรม แต่เราปฏิบัติของเราขึ้นมาไม่ได้ แต่มันจะตีโดยปรัชญากับคำสอนนั้น ว่าคิดเท่าไรไม่รู้ต้องหยุดคิด แล้วคิดเท่าไรไม่รู้ต้องหยุดคิด แล้วความคิดมันให้โทษกับเราใช่ไหม ความคิดความทุกข์ต่างๆ มันให้โทษกับเราทั้งนั้นความคิดนี่

ความคิดเราคิดจนมันทุกข์ เราก็อยากจะหยุดคิด ทีนี้พอหยุดคิดขึ้นมา เขาบอกต้องหยุดคิด พอหยุดคิดขึ้นมา ความรู้ไม่ใช่ความคิด ความรู้ตรงๆ ไม่ใช่ความคิด ไม่ใช่ความคิดบอกรู้อย่างนี้ นี่รู้แจ้ง พอรู้แจ้ง แค่นี้ก็จบไง

จริงๆ หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนอย่างนี้ โศลกของหลวงปู่ดูลย์นะ คิดเท่าไรไม่รู้ต้องหยุดคิด แต่การหยุดคิดนั้นก็ต้องใช้ความคิด แต่ ! ท่านใช้คำว่าแต่ เห็นไหม เราจะเปรียบเทียบให้เห็นว่า เรายอมรับว่าหลวงปู่ดูลย์ท่านพูดถูก “คิดเท่าไรไม่รู้ ต้องหยุดคิด การหยุดคิดนั้น ก็ต้องใช้ความคิด”

เห็นไหม คนรู้จริงนี่นะ ท่านพูด นายช่างหรือคนขับรถ หรือคนทำงาน การทำงานของเราทุกอย่างมันจะมีอุปสรรค การที่เราทำงานแล้วมีอุปสรรค เราต้องแก้ไขอุปสรรคนั้น ผู้ที่ชำนาญการ ดูสิทางกฎหมาย ต้องบังคับให้ใช้อย่างนั้น นักกฎหมายบางอย่างมันมีทางออก ที่ทางออกอย่างนี้แล้วมันจะถูกต้องตามกฎหมายได้ ไม่ใช่เถรตรงไปตามกฎหมายนั้น ทำอะไรไม่ได้เลย

อันนี้ก็เหมือนกัน ในเมื่อ “คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด แต่ การหยุดคิด ก็ต้องใช้ความคิด” คือมันไม่เป็นแม่แบบ ไม่เป็นบล็อกที่ตายตัว แต่นี่ลูกศิษย์คนที่ไม่เป็น เถรส่องบาตร เขาส่องบาตรเพื่อให้รู้ว่าบาตรนี้มันมีรอยรั่วไหม เพราะรอยรั่วส่องกลางแสงแดด มันจะมีแสงเข้ามา แต่เราเห็นเขาส่องบาตร เราก็ไม่รู้ เราก็ส่องไปเรื่อย

เพราะเป็นลูกศิษย์แล้วไม่เข้าใจใช่ไหม ว่า คิดเท่าไรก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด ! ต้องหยุดคิด ! ต้องหยุดคิดให้ได้ หยุดคิด นี้พอหยุดคิด เขาก็รู้ไง อยู่ที่เขารู้ตรงๆ รู้อันนั้นเห็นนะ เราจะเปรียบเทียบนะ เปรียบเทียบถึงทางโลกนะ ฝนตกฟ้าร้องต่างๆ แม่น้ำ ลำคลองนี่

เช่น เขื่อนภูมิพล เรากักเขื่อนไว้ใช่ไหม เรากักขึ้นมาทำไม เรากักเขื่อนภูมิพล ถ้าเราปล่อย เราไม่มีเขื่อนภูมิพลใช่ไหม แม่น้ำนี่เวลาฝนตกฟ้าร้องต่างๆ มันก็ไหลลงแม่น้ำ แม่น้ำก็ไหลลงเป็นธรรมดา มีน้ำใช้เป็นครั้งเป็นคราว เวลาหน้าแล้งไม่มีน้ำใช้เลย แต่พอเรากั้นเขื่อนขึ้นมา เรากักน้ำไว้ใช้ มันจะได้ใช้ตลอดปี

ความคิดของเรานี่ มันเป็นไปโดยธรรมชาตินี่นะ มันเกิดมาเหมือนฝนตกฟ้าร้องนี่ มันฝนตกธรรมดามันก็ไหลลงมา มันเกิดเองโดยธรรมชาติ มันเกิดเป็นครั้งเป็นคราวใช่ไหม เดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็เครียด เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ยาก มันเป็นธรรมชาติ เราควบคุมมันไม่ได้ พอควบคุมมันไม่ได้นี่ พอฝนตกฟ้าร้องขึ้นมา ฝนตกมาแล้วเราจะกักเก็บน้ำไว้ใช้ เราก็สร้างเขื่อน หยุดคิด “สร้างเขื่อนหยุดคิด”

นี้คำว่า “หยุดคิด” เราสร้างเขื่อนขึ้นมาแล้ว เขื่อนอันไหนบ้างที่มันกักน้ำแล้ว ไม่ให้น้ำไหลลงมาแม้แต่หยดเดียว มีเขื่อนอันไหนบ้าง แต่คนที่เขามีปัญญานะ เขาสร้างเขื่อนขึ้นมานะ

๑. เขาได้ใช้ปั่นไฟฟ้า พลังงานของน้ำ มันมีพลังงานของมัน มันปั่นกังหันไฟฟ้าได้

๒. น้ำที่ปั่นกังหันไฟฟ้ามาแล้ว ใช้เป็นการกสิกรรมก็ยังได้

เห็นไหม คิดเท่าไรก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด หยุดคิดจะหยุดเฉยๆ หยุดจนตายเหรอ มันไม่มี มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่ว่าหยุดคิดโดยที่ไม่คิดน่ะ มันไม่มี เรากั้นเขื่อน เห็นไหม แล้วพอเรากั้นเขื่อน เรากักน้ำไว้ไหม กัก การกักน้ำไว้ เรากั้นเขื่อนไว้แล้ว พอกักน้ำไว้นี่ น้ำนั่นนะ ถ้าพอฝนตกฤดูน้ำหลาก ฝนตกไว้มากนี่ เขื่อนมันจะพัง หรือมันล้นจากเขื่อนไป มันล้นไหม มันล้น

นี่ไง หลวงปู่ดูลย์ท่านพูดถูก คิดเท่าไรไม่รู้ต้องหยุดคิด การหยุดคิดก็ต้องใช้ความคิด เขื่อนที่เขากั้นน้ำนะ เขากั้นไว้ หยุดคิดนี่มันเป็นสมาธิเฉยๆ หยุดคิดนี่เหมือนเขื่อน เพราะเขื่อนกั้นน้ำไว้ น้ำนั้นจะเป็นประโยชน์กับการกสิกรรม มีประโยชน์กับการปั่นไฟฟ้า มีไว้ใช้ตลอดทั้งปี

หยุดคิดนี่สำคัญมากนะ หยุดคิดคือหยุดเพื่อจะใช้ประโยชน์มันต่อไป ไม่ใช่หยุดแล้ว..กั้นเขื่อนแล้วนะ น้ำสักหยดเดียวก็จะไม่ผ่านจากเขื่อนนี้ไปเลย เขื่อนนี้จะอยู่ได้ไหม นี่หยุดคิดแล้วห้ามคิดเลย ตายตัวเลย รู้เฉยๆ รู้นั้นจะเป็นนิพพาน มันเป็นไปไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะพอมันเป็นไปไม่ได้ มันก็มีผลตอบสนองนี่ไง

ประเด็น : เห็นไหม พระอรหันต์ละขันธ์เท่านั้น พระอนาคานะ ระหว่างความคิด ขันธ์กับจิตแยกจากกันโดยธรรมชาติ พระอรหันต์คือพิจารณาขันธ์ พ้นจากขันธ์ไปเท่านั้นเอง

หลวงพ่อ : ในอนัตลักขณสูตรนะ รูปัสมิงปิ นิพพินทะติ เวทนายะปิ นิพพินทะติ สัญญายะปิ นิพพินทะติ สังขาเรสุปิ นิพพินทะติ วิญญาณัสมิงปิ นิพพินทะติ คือเบื่อหน่ายในขันธ์แล้วนิพพาน หลวงตาท่านพูดเอง ท่านบอกว่าเวลาดูพระไตรปิฎกนี่ อนัตลักขณสูตรนี่นะ รูปัสมิงปิ นิพพินทะติฯ ละขันธ์ ๕ แล้วนิพพาน ท่านบอกอย่างนี้ ถ้าตายในภาคปฏิบัตินี่นะ ไม่ถึงพระอรหันต์หรอก ไม่ถึง

เพราะละขันธ์ ๕ นี่นะ อย่างมากถ้าละขันธ์ได้จริง ตามข้อเท็จจริง เพราะละขันธ์ จิตกับขันธ์แยกออกจากกัน นี่อยู่ในเรือนว่าง จิตนี้กลั่นออกมาจากอริยสัจ กลั่นออกมานี่ มันละขันธ์ ๕ มา จิตไม่ใช่อันเดียวกัน มันเหลือจิตล้วนๆ พอจิตล้วนๆ นี่ไง อยู่ในเรือนว่าง อนาคามีนี่อยู่ในเรือนว่าง แต่เรายังอยู่ในเรือนนั้น

แต่ถ้าเป็น อาทิตตปริยายสูตรนะ มโนมิงปิ นิพพินทะติ มโนสัมผัสเสปิ นิพพินทะติ มโนคือตัวใจ ละขันธ์ ๕ คำว่าละมันยังเหลือใจ พอมาทำลายใจแล้วนี่ มันถึงจะสิ้นไปได้ นี้ตามข้อเท็จจริงเอามาให้เห็นว่า ละขันธ์นี่ไม่ใช่พระอรหันต์ ละขันธ์โดยข้อเท็จจริงนะ แต่นี่มันไม่ได้ละขันธ์ตามความเป็นจริง

ถ้าละขันธ์ตามความเป็นจริง มันจะรู้ว่าขันธ์กับจิตแตกต่างกันอย่างใด คำว่าขันธ์กับจิตนะ แม้แต่พระโสดาบันก็รู้แล้วว่าขันธ์กับจิตแตกต่างกัน เพราะเวลาพระอรหันต์นะ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นบัญญัติแห่งความรู้สึก ความนึกคิดของเรานี่ ขันธ์ ๕ นี่ เพราะขันธ์ ๕ เพราะความคิดของเราเป็นเรา ทุกสรรพสิ่งเป็นเรา พอสรรพสิ่งเป็นเรา ความคิดเป็นเรา ทุกอย่างก็เป็นเราหมด มันไม่รู้ว่า อะไรเป็นความคิด อะไรเป็นเรา มันก็มั่วกันไปหมดใช่ไหม มันก็เลยมาทุกข์มายาก

แต่พอเราทำจิตเราสงบเข้ามาแล้ว เราพิจารณาของเราไป มันจะเกิดความยึดมั่นอะไรต่างๆ มันเกิดจากข้อมูล เกิดจากสัญญา เกิดจากสังขาร ความปรุง ความแต่ง เกิดจากความยึดมั่นถือมั่นของมัน

พอจิตวิปัสสนาไป วิปัสสนาในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม จิตวิปัสสนาในกาย ในกายของเรานี่ กายของเรา จิตอยู่ในกายมันเกิดมาโดยกรรม เกิดมาโดยสามัญสำนึก โดยธรรมชาติของมัน เหมือนเราซื้อของสำเร็จรูปมา

อย่างเช่น จะเป็นเครื่องยนต์กลไกใดๆ ก็แล้วแต่นี่ มันสำเร็จเป็นเครื่องอย่างนั้นใช่ไหม เราซื้อมา แล้วเราแกะออก เราแยกออก เราจะเห็นส่วนประกอบของมัน เราเกิดมานี่ เหมือนเครื่องยนต์เครื่องหนึ่ง เราเกิดมาเราได้ร่างกายกับได้ชีวิตมา เราเกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่เหมือนเครื่องยนต์เครื่องหนึ่ง เป็นอย่างนี้มาตลอดไป แล้วไม่มีใครเคยแกะแยกมันออกมาจับได้

วิปัสสนาญาณ มันมาแกะเครื่องยนต์ มาถอดออก ความถอดออกนี่ ระหว่างกายกับจิต ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ นี่มันถอดออก ความถอดออกนั้น เห็นถอดออกตามความเป็นจริง ถ้าถอดออกตามความเป็นจริง ขันธ์กับจิตมันแยกออกจากกัน ถ้าเป็นพระโสดาบันนะ จะพูดคำนี้ออกมาว่า จิตเป็นขันธ์ ขันธ์เป็นจิตนี้ เป็นไปไม่ได้เลย

ประเด็น : แต่เวลาเขาพูดออกมา เห็นไหม บอกว่า จิตนี้ส่งออกไม่ได้ เพราะจิตนี้เป็นขันธ์ เป็นทุกข์ ตัวจิตเป็นตัวทุกข์ ตัวจิตเป็นตัวขันธ์ จะส่งออกได้อย่างใด

หลวงพ่อ : คำนี้เป็นการยืนยันได้ว่า คนคนนี้ ไม่รู้จักขันธ์กับจิตว่ามันแตกต่างกันอย่างใด ถ้าขันธ์กับจิตยังไม่รู้ว่าแตกต่างกันอย่างใด ไม่มีภูมิของพระโสดาบัน พระโสดาบันจะเห็นขันธ์กับจิตแยกออกจากกันโดยสัจธรรมเลย ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕

ถ้าเขาเป็นพระโสดาบัน เขาจะไม่พูดว่า ขันธ์เป็นจิต จิตเป็นขันธ์ จิตต้องเป็นจิต ขันธ์ต้องเป็นขันธ์ มันคนละเรื่องกัน คำพูดมันฟ้องถึงภูมิในหัวใจ ว่าหัวใจนั้นมันมีภูมิมากน้อยขนาดไหน ถ้าหัวใจมันมีภูมิของมัน มันจะรู้ของมัน

เราจับต้นหญ้ามานี่ เราบอกว่าเป็นต้นข้าว ถ้าคนมันโง่มันก็เหมือนกัน มันก็ว่าน่าจะเป็นไปได้ แต่เป็นชาวนานี่ เขารู้ไหม ชาวนาเขาปลูกข้าวอยู่ทุกวัน ข้าวกับต้นหญ้า เขาแยกแยะได้ชัดเจนไหมว่า ข้าวกับหญ้าแตกต่างกันอย่างใด

แต่เด็กน้อยมันอาจจะไม่รู้ก็ได้ ต้นหญ้ากับต้นข้าวมันใกล้เคียงกันมาก เขาว่าต้นข้าวกับต้นหญ้ามันอาจจะเป็นเหมือนกันก็ได้ เห็นไหม นี่ก็เหมือนกัน นักปฏิบัติ ถ้ามันยังเห็นการใกล้เคียงกันอยู่ มันไม่สมุจเฉทปหาน มันไม่แยกแยะโดยชัดเจนอย่างนี้ มันจะเป็นชาวนาโดยความชำนาญไม่ได้

มันก็เหมือนเป็นปัญญาชนที่หัดทำนาไง เป็นปัญญาชนแม้แต่ต้นข้าวกับต้นหญ้ามันยังแยกไม่ถูกเลยว่า อะไรเป็นหญ้าอะไรเป็นข้าว นี่ก็เหมือนกันตัวจิต มันยังแยกจิตไม่ถูกเลยว่า จิตกับขันธ์มันต่างกันอย่างไร แล้วมันจะมีภูมิวุฒิอะไรของมันมา มันไม่มีวุฒิภาวะอะไรของมันมาเลย มันถึงไม่รู้ว่า หลวงปู่ดูลย์บอกว่า คิดเท่าไรก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด

การหยุดคิด มันก็หยุดมา เหมือนสร้างเขื่อน แม่น้ำนี่ ปล่อยให้มันไหลไป เราเกิดมานี่มีบุญนะ เราถือว่าเราเกิดมามีบุญ เราถึงสร้างบุญกุศลได้ เรามาประพฤติปฏิบัติกัน แต่มีบุญมันก็เป็นบุญครั้งคราวใช่ไหม มันเป็นครั้งคราวมันไม่จบไม่สิ้น มันมีบุญของมันขึ้นมา เวลามีฝนตก แหล่งน้ำโดยธรรมชาติของมัน มันก็เป็นประโยชน์กับสิ่งมีชีวิต ที่ไหนมีน้ำที่นั่นมีชีวิต

แล้วแหล่งน้ำนี้มันก็เป็นธรรมชาติ เหมือนชีวิตเรานี้หมดไปชีวิตหนึ่ง วันคืนล่วงไปๆ บุญกุศลที่เราสร้างมันก็หมดไปๆ นี้มาด้วยบุญกุศลนะ มาเป็นมนุษย์ แล้วได้พบพุทธศาสนาด้วย แล้วทำไงต่อไป พอทำต่อไป ความคิดนี่มันเหมือนแหล่งน้ำ ชีวิตเรานี้อยู่กับธรรมชาติ แล้วเราจะทำอย่างไรจะเอาสิ่งที่เป็นธรรมชาติมาเป็นประโยชน์กับเวลาหน้าแล้ง เวลาที่ไม่มีฝน ไม่มีน้ำ เราจะเอาน้ำมาทำประโยชน์เพื่ออะไร

นี้เหมือนกันความคิดเรามี จิตเรามีทุกอย่างเรามี แต่เราก็ใช้ชีวิตประจำวันกันอยู่นี้ เราใช้ชีวิตประจำวันใช้เป็นวิชาชีพทำมาหากินกันอยู่นี้ เราไม่ได้ประโยชน์อะไรจากมันเลยเหรอ นี่หลวงปู่ดูลย์ท่านสอนอย่างนี้ สิ่งที่ใช้กันอยู่นี้มันก็เป็นชีวิตประจำวัน

สิ่งที่เราใช้ดำรงชีวิต สิ่งที่เราแสวงหาเพื่อเงินเพื่อทองมา ทำบุญกุศลมาก็เพื่อเรา เราเสียสละมาก็เพื่อบุญกุศลนี้ ก็เป็นธรรมชาติของชีวิต เพราะเรารู้ว่าเป็นบุญกุศล มีศาสนาไม่มีศาสนา คนโบราณเขาถือผีกัน เขาก็มีเสียสละกันของเขาว่าได้บุญมากได้บุญน้อย

แต่เวลาพระพุทธเจ้าสอนถึงอริยสัจใช่ไหม แล้วหลวงปู่ดูลย์ท่านประพฤติปฏิบัติของท่านขึ้นมา ท่านถึงบอกว่า คิดเท่าไรก็ไม่รู้ คิดเท่าไร ทำความดีเท่าไร มันเป็นอามิส พระพุทธเจ้าถึงสอน

“อานนท์ เธอบอกชาวบ้านเขานะ เวลามาหามาผ่านพระพุทธเจ้าให้ปฏิบัติบูชาเถิด อย่าเป็นอามิสบูชาเลย”

ทำบุญกุศลอะไรต่างๆ เป็นอามิสไง มันด้วยวัตถุ ด้วยการให้ ด้วยการเสียสละเป็นอามิสบูชา ในการปฏิบัติ เอาอะไรปฏิบัติ เอาปฏิบัติสิ่งที่บัญญัติเป็นวัตถุที่ไหนเป็นวัตถุ ความคิดก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง อารมณ์เป็นวัตถุอันหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์อยู่ที่เขาคิชฌกูฏ ถ้ำสุกรขาตา หลานพระสารีบุตรจะมาต่อว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า เอาตระกูลพระสารีบุตรมาบวชหมดเลย

“ข้าพเจ้าไม่พอใจสิ่งต่างๆ ไม่พอใจอะไรเลย”

พระพุทธเจ้าเลยบอกว่า “ถ้าเธอไม่พอใจอะไรต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ความรู้สึกของเธอด้วย อารมณ์ความรู้สึกของเธอก็เป็นวัตถุอันหนึ่ง”

อารมณ์ความรู้สึกนี่ อย่างพวกเรามันเป็นนามธรรม จิตมันจับไม่ได้หรอก ไม่ใช่วัตถุ จับไม่ได้มันเป็นนามธรรม มันจับอะไรไม่ได้เลย แต่ถ้าคนมีอำนาจวาสนา คนทำความสงบของจิตเข้ามา จิตมันสงบเข้ามานี่ มันจับอารมณ์ได้เป็นวัตถุอันหนึ่ง จิตเห็นจิตนี่เป็นวัตถุอันหนึ่ง

ขันธ์กับจิตนี่ จิตเป็นพลังงาน ความคิดเป็นความคิด เป็นอารมณ์ความรู้สึก จับต้องได้ ! จับต้องได้ ! ถ้าจับต้องได้เอาอะไรไปจับมัน ดูสิ เวลาเหล็กกล้า ถ้าเหล็กเขาหลอมเหล็ก เขาเอาอะไรไปจับมัน เอาคีม เอาวัตถุไปหลอมเหล็กนั้นมา

แล้วอารมณ์ความรู้สึกนี่เอาอะไรไปจับมันถ้าไม่เอาจิต เอาสิ่งที่เหนือกว่ามันไปจับมัน เพราะอารมณ์

ประเด็น : เขาบอก จิตส่งออกไม่ได้ มันเป็นสัญญาอารมณ์ต่างหาก

หลวงพ่อ : สัญญาอารมณ์มันเกิดจากอะไร ลมนี่ ลมพัด แม้แต่ลมพัดมันเกิดจากอะไร มันเกิดจากความร้อนของอากาศ ความร้อนของอากาศมันลอยตัวขึ้นไป สิ่งต่างๆ มันต้องมีเหตุมา แล้วสัญญามันเกิดมาจากไหน จิตส่งออกไม่ได้ สัญญาอารมณ์ต่างหากเป็นผู้ส่งออก สัญญาอารมณ์มาจากไหน ลมมาจากไหน มันต้องมีที่มาที่ไป มันไม่มีอะไรลอยมาจากฟ้า ถ้าบอกสัญญาอารมณ์ส่งออก ส่งออกมาจากใคร ใครเป็นคนส่งออก

นี่ไงเพราะเห็นแต่สัญญาอารมณ์ เพราะสัญญาอารมณ์ สิ่งที่ความรู้สึกนึกคิดนี่ วัตถุธาตุ เราจะเอาสิ่งที่ไปจับต้องมัน เราต้องมีเครื่องมือที่จะไปจับต้องมัน แต่ถ้าไม่มีเครื่องมือไปจับต้องมัน เราก็ใช้แต่จินตนาการ สัญญาอารมณ์นี้มันเป็นจินตนาการได้ แต่ตัวจิตมันจินตนาการไม่ได้ เพราะตัวจิตมันจะจินตนาการตรงนี้ได้อย่างไร

ในเมื่อเพราะตัวเองจิตไม่เคยสงบเข้าไปเห็นตัวจิต มันยังไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นจิต อะไรเป็นขันธ์ พอไม่รู้ว่าอะไรเป็นขันธ์

ประเด็น : มันก็ว่า จิตนั้นเป็นขันธ์ ขันธ์นั้นเป็นทุกขสัจ ทุกขสัจจะส่งออกได้อย่างไร

หลวงพ่อ : อันนั้นก็อันหนึ่งเห็นไหม จิตส่งออกโดยธรรมชาติของมัน พอจิตส่งออกเข้าไป มันก็ย้อนกลับมา อันนั้นเป็นจิตส่งออกนะ นี่เป็นกระบวนการหนึ่ง แต่กระบวนการอีกโศลกหนึ่งของหลวงปู่ดูลย์ “คิดเท่าไรไม่รู้ต้องหยุดคิด”

การหยุดคิด พอหยุดคิดนี่นะ การหยุดคิดมันก็เป็นปัญญาอบรมสมาธินี่แหละ พอปัญญาอบรมสมาธิ พอจิตมันหยุด เพราะหยุดนี่ “สมาธิคือจิตหนึ่ง” จิตหนึ่งนะ จิตหนึ่งคือจิตเป็นสมาธิ จิตหนึ่งไม่ใช่ธรรมหนึ่ง เอโก ธัมโม ธรรมที่เป็นเอก ธรรมที่เป็นหนึ่ง ธรรมที่เป็นหนึ่งนั้นคือธรรมะเป็นหนึ่ง

แต่ถ้าเป็นจิตหนึ่ง จิตหนึ่งไม่ใช่ธรรมหนึ่ง จิตหนึ่งเป็นสมาธิหนึ่ง จิตหนึ่งคือจิตตั้งมั่น จิตหนึ่งคือจิตเป็นสมาธิ นี่ไง จิตหนึ่ง แต่ถ้าจิตไม่เป็นหนึ่ง จิตเป็นสอง จิตสองจิตมีสัญญาอารมณ์ จิตมีความคิด ถ้าจิตสอง เราจะไม่เห็นจิตหนึ่ง

เพราะจิตที่เป็นอารมณ์สัญญานี่มันจะครอบงำจิต เหมือนกับผลส้ม กับเปลือกส้ม เราหยิบส้มเมื่อไร เราก็หยิบถูกเปลือกส้ม เพราะเราจะหยิบเนื้อส้มไม่ได้ เพราะมันมีเปลือกส้มหุ้มอยู่ สัญญาอารมณ์นี้มันจะห่อหุ้มจิตอยู่ ขณะที่ว่าจิตสองนี้แหละ แต่เราก็ไม่เห็นว่าจิตสอง

ถ้าจิตสอง คนที่เคยปอกเปลือกส้ม และคนที่ได้เคยกินเนื้อส้ม จะเข้าใจว่า ส้มนี้มีเปลือก คนที่ใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันเห็นแต่สัญญาอารมณ์ มันชำแรกสัญญาอารมณ์เข้าไปถึงตัวจิตบ่อยครั้งเข้าๆ จนมันเห็นว่าความคิดเป็นเปลือก พลังงานเป็นตัวจิต เห็นไหม จิตหนึ่ง จิตหนึ่งคือจิตที่เป็นสัมมาสมาธิ นี่ไง หยุดคิด พอหยุดคิด

ประเด็น : เขาบอกว่าหยุดคิด พอหยุดคิดแล้วสิ่งที่หยุดคิด สมาธิเป็นปัญญาไม่ได้ หยุดคิด หยุดรู้ คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต้องหยุดคิด แล้วจะรู้ รู้ด้วยความรู้

หลวงพ่อ : แต่ตัดทิ้งของหลวงปู่ดูลย์ไปครึ่งหนึ่ง ตัดทิ้งไปเลย “คิดเท่าไรไม่รู้ ต้องหยุดคิด แต่การหยุดคิด ก็ต้องใช้ความคิด” หลวงปู่ดูลย์พูดถูกมาก แต่เพราะตัวเองเข้าไม่ถึง มันก็เลยเอาความหยุดคิดนั้นเป็นเป้าหมาย เพราะอะไร เพราะครูบาอาจารย์ท่านถึงที่สุดแล้ว ท่านพูดของท่าน คนที่ชำนาญ อย่างพ่อแม่ พ่อแม่สอนลูก ยิ่งปู่ย่าตายาย พ่อแม่สอน พ่อแม่ก็ยังตามใจลูกนะ แต่ปู่ย่าไม่ค่อยตามใจ เพราะปู่ย่าผ่านชีวิตมามากกว่าพ่อแม่ ปู่ย่านี่ชำนาญมาก

อันนี้ก็เหมือนกัน ครูบาอาจารย์ที่ท่านผ่านมาแล้ว ท่านชำนาญในประสบการณ์ของจิต ประสบการณ์ตรงอันนั้น ท่านจะรู้ของท่าน แล้วเวลาเรารู้ของท่าน เราไปพูดไว้ครึ่งๆ กลางๆ หรือพูดไว้แล้วสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

ลูกศิษย์นั้นพอปฏิบัติไปถึงตรงนั้น จะรู้เลยว่าอาจารย์มีภูมิขนาดไหน ครูบาอาจารย์ที่ท่านเป็นความจริงนะ ท่านจะพูดถึงจบกระบวนการคือ ครอบคลุมหมด ไม่มีสิ่งใดที่เราไปรู้แล้ว แล้วจะไม่ครอบคลุมถึงเลย แล้วครูบาอาจารย์ท่านพูดไว้ครอบคลุมหมดแล้ว แต่เวลาตัวเองปฏิบัติขึ้นไป ตัดออกครึ่งหนึ่ง

ประเด็น : แม้แต่ในจิตส่งออกก็ไปตัดว่า หลวงปู่ดูลย์คลาดเคลื่อน ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ใช้คำว่า “ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น” ไม่กล้าบอกว่าไม่เป็น “ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น น่าจะคลาดเคลื่อน ความเป็นจริงน่าจะเป็นสัญญาอารมณ์ส่งออก ไม่ใช่จิตส่งออก”

ประเด็น : อันนี้ก็เหมือนกัน อ้างว่า หลวงปู่ดูลย์บอกว่า จิตคิดเท่าไรไม่รู้ ต้องหยุดคิด การหยุดคิดนี้คือเป้าหมาย คือสิ่งที่ทำให้ เพราะหยุดคิดแล้วมันก็รู้กายรู้จิต การรู้กายรู้จิตคือความรู้จริง คือวิปัสสนาปัญญา

หลวงพ่อ : มันเป็นไปไม่ได้ ! มันเป็นไปไม่ได้ ! การคิดอย่างนั้น เพราะถ้า.. มันเป็นไปไม่ได้ เพราะในการวินิจฉัยของเขา

ประเด็น : เขาบอกว่า ต้องรู้ รู้เฉยๆ รู้กาย รู้จิต เขาว่าของเขานะ รู้กาย รู้จิต เพราะแม้แต่ทิฐิ ก็เป็นความเห็น ก็เป็นความคิด

หลวงพ่อ : นี่ไง ทิฐิก็เป็นความคิด ถ้าบอกว่ารู้กาย รู้จิตนะ แล้วเป็นวิปัสสนาญาณนะ ถ้ามันทะลุได้ ถ้าเป็นเจโตวิมุตติ จิตเราสงบเข้ามาเห็นไหม อย่างพุทโธๆๆ จิตมันสงบเข้ามาเป็นเจโตวิมุตติ มันรู้โดยการเห็น พอมันรู้โดยการเห็น มันเห็นกายใช่ไหม มันจะวิภาคะ จะแยกส่วนขยายส่วน มันเห็นโดยภาพ มันเห็นโดยการวิปัสสนา

มันเห็นสภาวะแบบนั้น มันก็เป็นกำลังของจิต มันมีปัญญาจะบอกว่ามันมีมรรคญาณ มีสัมมาทิฏฐิ มีสัมมากัมมันโต มีหมด แต่ เขาบอกให้ดูเฉยๆ พอดูเฉยๆ แล้วมันไปขัดแย้งกับสัมมาทิฏฐิ ถ้าพูดกันโดยเนื้อหาสาระ โดยเนื้อผ้า

เขาจะบอกว่ามรรคก็ผิดไง เขาจะบอกว่าสัมมาทิฏฐิก็เข้าถึงชำระกิเลสไม่ได้ เพราะคำว่าทิฐินั้นเป็นความเห็น โอ้โฮ.. อ่านเข้าไปแล้วมันเจ็บปวดๆ

แม้แต่มรรคขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เขาก็โต้แย้ง

ประเด็น : เขาโต้แย้งว่าสัมมาทิฏฐิ คำว่าทิฐินี้คือความเห็น ไม่ใช่หยุดคิด ถ้าคำว่าทิฐิมันเป็นความเห็น มันเป็นความคิดแก้กิเลสไม่ได้

หลวงพ่อ : โอ้โฮ..ช็อกเลยนะ คิดไม่ถึงว่า อย่าว่าแต่หลวงปู่ดูลย์ หลายๆ ครูบาอาจารย์เลย แม้แต่คำว่าทิฐิ สัมมาทิฏฐินี่ เขาบอกคำว่า ทิฐิ คือความเห็น คือความคิด ถ้าพูดถึงทิฐินี่นะ ความเห็นความคิดมันมีหลากหลาย มันมีแต่หยาบๆ อย่างเช่น เห็นไหม ดูสิ คำพูดของเรา เป็นคำพูดโลกๆ อย่างที่พูดเมื่อวาน เรื่องมรรค ก็นี่ไง เราบอกว่า ทุกคนทำมรรคใจทำมรรคกายให้สะอาดบริสุทธิ์ ให้มรรคใจเป็นแบบองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช่ไหม เราบอกว่า

คอนโดมิเนียม สร้างจากข้างบนลงมาได้ไหม ไปสร้างชั้นที่ ๑๐๐ ก่อน แล้วสร้างลงมาเรื่อยๆ เป็นไปได้ไหม เพราะเราไปคิดกันอย่างนั้นไง เราจะสร้างคอนโดมิเนียม ชั้นที่ ๑๐๐ ก่อน แล้วก็สร้างชั้นที่ ๙๙ ชั้นที่ ๙๘ จะสร้างอย่างนั้นได้ไหม

เพราะคำว่าไม่มีความอยาก เห็นไหม เราไปตีค่ากัน มรรคที่สะอาดบริสุทธิ์ มรรคสามัคคี มรรคที่สะอาดบริสุทธิ์ มันก็ต้องเป็นผล คือมรรคนี่มันพัฒนาการของมัน จนมันจะมรรคสามัคคี จนมันเป็นผล คือจะเป็นชั้นที่ ๑๐๐ แต่ชั้นที่ ๑๐๐ นี่มันต้องขึ้นไปจากคานคอดิน ขึ้นจากเสาเข็มขึ้นไป

จะบอกว่ามรรค หรือสมาธิอะไรก็แล้วแต่ มันเกิดจากความสกปรกโสมมของใจเรานี่แหละ เกิดจากพื้นฐานนี่แหละ เราต้องสร้างจากพื้นฐานนี้ขึ้นไป พอสร้างจากพื้นฐานนี้ขึ้นไปแล้วนี่ ทุกคนเกิดมา จากความรู้สึกจากทุกข์ของเรา จากตัวตนของเรา จากพัฒนาการของเรา พัฒนาการมันขึ้นไป

จากปุถุชน เป็น กัลยาณปุถุชน พอกัลยาณปุถุชน เป็น เดินโสดาปัตติมรรค พอโสดาปัตติมรรค มันจะพัฒนาการของมันขึ้นไป แล้วที่จะไม่มีความอยากเลยมันคือพระอรหันต์เท่านั้น แล้วถ้าไม่มีพระโสดาบัน สกิทาคา อนาคา จะเกิดมาจากใคร มันก็เกิดมาจากการพัฒนาการของจิต มันพัฒนาการของมันขึ้นไป

ฉะนั้นจะบอกว่าสัมมาทิฏฐิ ทิฐิอย่างนี้มันจะเป็นความคิดความเห็นอยู่ ถ้าเป็นความคิดมันก็ไม่ใช่หยุดคิด โอ้โฮ..นี่เราพูดนะ เราพูดอย่างนี้ พอพูดอย่างนี้ปั๊บนะ ถ้าคำพูดเราออกไปนะ เขาจะบอกว่า

“พระสงบนี่ดีทุกอย่างเลย เสียอย่างเดียวเราเข้าใจผิด เข้าใจผิดทุกเรื่องเลย พระสงบนี่ดีนะ เสียอย่างเดียวเข้าใจผิด” เพราะไปรู้ทันเขาไง ถ้าเขาไม่คิด ไม่มีความมุ่งหมายอย่างนี้ จะเอาคำว่าสัมมาทิฏฐิ คำว่า ทิฐิในสัมมา มันเป็นความคิด แล้วก็บอกว่า การหยุดคิด มันขมวดไปอยู่ในอันเดียวกัน แล้วเขาบอกว่า แม้แต่สัมมาทิฏฐิ คำว่าทิฐิ ก็เป็นความคิด ความเห็น ต้องหยุด เพราะความคิดนี้แก้กิเลสไม่ได้

แต่ถ้าคนปฏิบัติเป็นนะ พอจิตมันสงบเข้าไปแล้ว คำว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาสังกัปโป คำว่าสัมมา มันจะเริ่มพัฒนาการขึ้นมา ความเพียรชอบ งานชอบ มันจะพัฒนาการของมัน คือมันมีฐานของมันใช่ไหม มีพื้นฐานเป็นสัมมาสมาธิใช่ไหม แล้วพอมันออกรู้ พูดอย่างนี้ พอมันออกรู้ จิตมันสงบแล้วออกรู้กาย ออกรู้เวทนา

ความรู้ถ้ามันมีกำลังขึ้นไป มันพิจารณาของมันเข้าไป มันจะปล่อยวางของมัน คือมรรค หรือว่าความเห็นของมรรค มันจะเข้าไปเริ่มแยกแยะ เริ่มขยาย ความที่เป็นอุปาทาน ความที่เป็นการเข้าใจผิดของใจ มันจะเข้าไปแยกแยะ แยกแยะด้วยอะไร แยกแยะด้วยจิต เห็นกาย เห็นเวทนา เห็นจิต เห็นธรรม

กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นเป้าหมาย จิตนี้มันเห็นกาย เวทนา จิต ธรรม โดยจิตนี่ มันก็เริ่มพิจารณาของมัน มันเริ่มวิปัสสนา เริ่มดูความเปลี่ยนแปลงของมัน พอมีความเปลี่ยนแปลงของมัน ปัญญามันก็เกิดกับจิต พอจิตเห็นการเปลี่ยนแปลง เออะ.. เออะ.. เปลี่ยนแปลงโดยข้อเท็จจริงที่จิตมันเห็น

มรรค หรือ สัมมาทิฏฐิ มันก็ต้องพัฒนาการของมันด้วยการวิปัสสนาญาณ มันจะวิปัสสนาญาณของมันออกมาวิปัสสนา นี่ไง สัมมาทิฏฐิ จากหยาบมันจะละเอียด มันจะ มรรคญาณ เห็นไหม มรรคที่มันหมุนตัว มันจะละเอียดเข้าไป มันก็มีการกระทำของมันอย่างนี้

ถ้ามีการกระทำอย่างนี้มันจะรู้เลยว่า ขันธ์เป็นขันธ์ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ เป็นอย่างไร ไม่บอกว่า คำนี้นะ มันเป็นคำตาย ที่ว่า

ประเด็น : จิตก็คือขันธ์ ในเมื่อจิตคือขันธ์ ขันธ์คือทุกข์ ฉะนั้นจิตถึงส่งออกไม่ได้ เพราะจิตเป็นตัวทุกข์

หลวงพ่อ : โอ้โฮ.. เพราะคำพูดอย่างนี้นะ มันขายหมด มันเอาจิตใต้สำนึกความรู้ทั้งหมดออกมาตีแผ่ ว่าไม่มีความรู้จริงเลย สิ่งที่รู้นั้นมันเป็นธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งหมด แล้วสิ่งที่สอนมา นี่ไง “การปฏิบัติที่ว่า เรียบง่ายๆ มันถึงไม่มีผลไง”

มันไม่มีผลที่คำพูดของคนสอนนั้น ถ้าคนสอนมันมีผลนะ มันจะพูดถึงผลที่ผิดออกมาได้อย่างไร ก็อย่างที่ว่า ต้นข้าวกับหญ้านี่ยังแยกกันไม่ถูกเลย จิตกับขันธ์ก็ยังไม่เป็นเลย แล้วบอกมีผลขึ้นมาได้อย่างไร ผลไม่มีขึ้นมา ไม่มีขึ้นมาเพราะความจริง คนรู้จริงมันจะพูดถึงผลที่..

ใครเป็นเจ้าของบริษัทใหญ่ๆ ถ้าเราไม่สามารถควบคุมบริษัท เราไม่สามารถควบคุมพนักงานของเราได้ บริษัทเราเหลือไหม บริษัทเรา เราปกครองบริษัทเราไม่รอดนะ คนที่จะดูแลบริษัทของเรานี้ เราต้องรู้กระบวนการของมันทั้งหมดใช่ไหม เราต้องรู้จริตนิสัยของบุคลากรของเรา นโยบายของเรา เงินทุนของเรา สินค้าของเรา รู้ทุกอย่างนะ สิ่งนั้นมันถึงเจริญงอกงามใช่ไหม

ไอ้นี่พูดผิดทุกคำเลย พนักงานก็ใครก็ไม่รู้ นโยบายก็ไม่รู้เรื่อง ทุนเหรอ กูหยิบเอากลางอากาศ มันเป็นไปได้ไหม ! มันเป็นไปได้ไหม ! มันเป็นไปไม่ได้นะ แต่ทำไมคนเขาเชื่อกัน เราบอกเลยคำพูดนี้มันลอยๆ มาก

เมื่อวานลูกศิษย์เขาบอกไม่ใช่ คำพูดนี้ เขามีฐานรองรับ ฐานรองรับคืออะไร คือปรัชญาไง คือคนที่ปฏิบัติแล้วมันว่างไง คือผู้ที่ปฏิบัติ เราบอกว่า โอ้โฮ..ฐานของมันต้องเอาความจริงสิ เอามรรคญาณ เอาธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามารองรับสิ อย่าเอาปรัชญาของเด็กๆ ปุถุชนถือว่าเด็ก

ในกระบวนการในบริษัท ๔ นี่นะ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกานี่ อุบาสก อุบาสิกา ถือว่าต่ำสุด แล้วกระบวนการนี้ กระบวนการข้อเท็จจริง ไปฝากไว้กับคฤหัสถ์ ฝากไว้กับผู้ที่ปฏิบัติ มันจะเป็นความจริงขึ้นมาได้อย่างไร เพราะหน่วยที่อยู่ต่ำสุดมันต้องพัฒนาขึ้นมาใช่ไหม

ฉะนั้นสิ่งที่รู้จริงมันต้องอยู่ที่ธรรมสิ อยู่ที่ครูบาอาจารย์ที่รู้จริงสิ ไม่ใช่ไปอยู่ที่ปรัชญา เพราะมันเป็นปรัชญาอย่างนี้ปั๊บ พอเราปฏิบัติ ทุกคนปฏิบัติแล้ว จากคนไม่ดี เดี๋ยวนี้เป็นคนดีขึ้น มันก็เหมือนเราชาวพุทธ อย่างนี้ไม่ต้องปฏิบัติหรอก แม้แต่พุทธศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี

คนเรานะถ้ามีสติมีปัญญาแล้วศึกษาเข้ามามันจะเป็นคนดี เป็นคนดีตรงไหนรู้ไหม คนที่ไม่ดีเพราะอะไร คนที่ไม่ดีเพราะไม่รู้จักตัวเอง ถ้าคนคนไหนรู้จักตัวเอง คนนั้นจะเป็นคนดี คนไหนยอมสำนึก คนดีแม้แต่ คนเรานี่ เด็กหรือคนที่มันไม่ดี มันต่อต้าน ต่อต้านเพราะอะไร เพราะคิดว่าพ่อแม่ไม่รัก คิดว่าสังคมรังแก มันก็จะต่อต้านสังคม ทำลายสังคม

ถ้าเด็กคนไหนมีสติสัมปชัญญะนะ ดูเห็นไหม เด็กบางคน ตั้งแต่เด็กขึ้นมา เด็กกตัญญู มันวิ่งไปวิ่งมา เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ ไปโรงเรียนกลับมา ต้องมาป้อนข้าวพ่อ ป้อนข้าวยาย ป้อนข้าว.. ทำไมเด็กมันดีล่ะ เพราะเด็กมันเข้าใจตัวมันเอง มันยอมรับความเป็นจริง

ถ้าพวกเราศึกษาธรรมะนี่ พอศึกษาธรรมะปั๊บ.. เรารู้ว่าเราเป็นคน เราเป็นคนที่จะมีความหมั่นเพียร พอเป็นคนมีความสามัญสำนึก คนมีสามัญสำนึกคนมีสติปั๊บนี่ มันจะทำสิ่งที่ดีๆ กับมัน มันก็เท่านั้นแหละ พอกำหนดแล้ว กำหนดจิต จิตกลวง จิตรู้ จิตว่าง จิตเพ่ง จิตตึง สิ่งนี้นะ แล้วมันเป็นอย่างนั้นทุกคนไหม มันไม่เป็นหรอก

ฉะนั้นถ้ามันเป็นความจริงนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครูบาอาจารย์ท่านบอกอยู่แล้ว พุทโธ พุทโธ พุทโธนี่ พุทโธนี้สำคัญที่สุด เพราะ พุทโธ มันเป็นพุทธานุสติ พุทธะเป็นเจ้าของศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าของศาสนา

แล้วองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านชื่อว่า “พุทธะ พุทโธ” แล้วเราเป็นชาวพุทธ ถ้าเราไม่เคารพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราไปเคารพตัวเอง ดูจิตคือเอาอะไรดู

เราจะบอกว่าไม่ใช่ดูจิต ดูความคิด ไม่มีใครเคยเห็นจิต ถ้าคนเคยเห็นจิต เขาไม่พูดอย่างนี้แล้ว เพราะหลวงปู่ดูลย์บอกว่า “ดูจิต ดูจิต จนจิตเห็นอาการของจิต แล้วจิตวิปัสสนามัน”

ไม่ใช่ดู ดู ดูเฉยๆ ไม่ใช่ ! นี่ไง ที่ว่า คิดเท่าไร ก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ไม่รู้หรอกต้องหยุดคิด ก็ดูจิต ดูจิต จนจิตมันตั้งมั่นของมัน แล้วจิตเห็นอาการของจิต คิดเท่าไรก็ไม่รู้ต้องหยุดคิด แต่การหยุดคิดนั้นก็ต้องใช้ความคิด แต่ต้องใช้ความคิด

พอต้องใช้ความคิดปั๊บ สัมมาทิฏฐิ มันถึงไม่ขัดแย้งกัน สัมมาทิฏฐิ สัมมากัมมันโต สัมมาต่างๆ มันไม่ขัดแย้ง เพราะ ตัวเองไปตัดตอนใช่ไหม ตัดตอนว่า ถ้าคิดผิดหมดต้องหยุดคิด สัมมาทิฏฐิ ก็เป็นความคิด สัมมาทิฏฐิก็เลยกลายเป็นผิดไปเลย แต่พอจิตมันหยุดคิดปั๊บนี่ พอจิตมันหยุดคิด แต่ก็ต้องใช้ความคิด เพราะความคิดมันเป็นความคิดต่างระดับ ความคิดคนละขั้นตอน ความคิดแบบโลกียปัญญา คือ ความคิดแบบสามัญสำนึก ความคิดโดยตัวตนของเรา

พอจิตสงบ พอเราดูจิต หรือเรากำหนด พุทโธ พุทโธ ดูจิต มันคลาดเคลื่อนได้ง่าย แต่ถ้า พุทโธ พุทโธนี่ เราทำงานบนดิน ทำงานบนความรู้สึก มันไม่ตัดรากถอนโคน คือว่า เราจะนึกพุทโธ จิตต้องนึกขึ้นมา ต้องมีเจตนาถึงจะนึกพุทโธออกมาได้ ฉะนั้นผู้ที่นึกพุทโธ มันมีเจตนา มันมีกระแส มีเจตนา เจตสิก มันเกิดจากจิต

พุทโธ พุทโธ เวลาสงบ มันสงบเข้าไปสู่ที่จิต พอจิตมันสงบเข้ามา พอจิตสงบแล้วออกรู้ ออกวิปัสสนาของมัน มันไม่ตัดรากถอนโคน มันไม่ตัดรากตัวตนของเรา พอมันออกไปวิปัสสนาเห็นไหม ใครวิปัสสนา ก็ตัวจิตวิปัสสนา ตัวจิตออกรู้ พอตัวจิตออกรู้ ผลที่ตอบสนองมา มันก็ตอบสนองเข้ามาที่จิต

แต่ถ้าไปดูความคิด ดูความคิดๆๆ เห็นไหม ดูความคิดไม่รู้อะไรดูความคิด ไม่รู้อะไรดู เพราะอย่างนี้ ทัศนคติ โลกทัศน์เป็นอย่างนี้ ถึงบอก ธรรมะเป็นธรรมชาติไง อ้าว.. ก็ดูความคิดเกิดจากจิตใช่ไหม ดูความคิด พอความคิดมันหยุด นี่ไง หยุดคิด พอหยุดคิดก็รู้เฉยๆ ก็พระอรหันต์เลย ธรรมะก็เป็นธรรมชาติไง ลมพัดมาเห็นไหม พอลมนิ่ง อ้าว..ก็พระอรหันต์ไง ไม่มีการเคลื่อนไหว ธรรมชาติ กลับไปสู่ธรรมชาติ

ประเด็น : แล้วบอกว่า จิตเดิมของทุกคน มีนิพพานอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว อยู่เฉยๆ รู้เฉยๆ รู้โดยธรรมชาติ นิพพานจะเกิดขึ้นมาเอง

หลวงพ่อ : โอ้.. ถ้าอย่างนั้นนะ พวกเรานะ ใครเกิดมานะ นั่งกันเฉยๆ เลย เดี๋ยวพวกนี้เป็นพระอรหันต์หมด มันเป็นไปไม่ได้ทั้งนั้นแหละ ทัศนคติจากความเห็นผิด คำสอนกระบวนการของมันเลยผิดหมด พอกระบวนการของมันผิดหมด

แล้วถ้าพูดถึงความผิดของตัวเอง มันเหลวไหล มันไม่มีจุดยืน มันไม่มีที่อ้างอิง ก็เลยแปะหลวงปู่ดูลย์ไว้ ทั้งที่หลวงปู่ดูลย์นี่สอนถูก แปะไว้เลย แปะไว้ยังตีความคำสอนหลวงปู่ดูลย์ผิดอีก ตัดตอน ตัดครึ่งตลอดมา ตัดตอนเพราะกระบวนการของหลวงปู่ดูลย์ คนเป็นใช่ไหม กระบวนการของมัน

ถ้าคนเป็นนี่บริหารจบกระบวนการของมัน แต่ในเมื่อเราทำไม่ได้ พอเราทำไม่ได้ มันใช้ปรัชญาของเรา ที่บอกว่า รับเขาไม่ได้ เขามีปรัชญารองรับ ก็ปรัชญาของรากหญ้า ปรัชญาของผู้ไม่รู้ เพราะไปตัดตอนของมัน พอตัดตอนปั๊บ.. เข้าใจได้ในความเห็นของตัวเองที่เข้าใจได้ แต่ความเห็นของธรรมที่จะเหนือขึ้นไปเข้าใจด้วยไม่ได้ พอเข้าใจไม่ได้ก็ตัดครึ่งหนึ่ง

ครึ่งหนึ่งที่เราเข้าใจได้ อีกครึ่งหนึ่งหลวงปู่ดูลย์คลาดเคลื่อน หลวงปู่ดูลย์สอนผิด ถ้าจะสอนด้วยตัวเอง ก็ไม่มีหลังอิง คนเรานี่นะ ไม่มีความจริงเป็นจุดยืน ไม่มีหลักอิง ไม่มีหลักของตัวเอง มันพูดออกมาแล้วมันไม่มีจุดยืน ก็เอาครูบาอาจารย์เป็นหลังอิงไว้ หลังอิงไว้ก็ไม่เข้าใจตามที่ครูบาอาจารย์รู้อีก มันเลยไม่มีเหตุมีผล

ถ้ามันมีผลของมันนะ หยุดคิด ความหยุดคิดตามความเป็นจริงนะ ความหยุดคิดคือสัมมาสมาธิ แต่ก็ต้องใช้ความคิด มันถึงจะเป็นความคิดไป แล้วถ้าเป็นความคิดไปตามความเป็นจริงไม่พูดอย่างนี้ ไม่พูดที่ว่า แม้แต่นิโรธเขาก็บอกไว้เหมือนกันนะ นิโรธนี่เอาไว้กัณฑ์ใหม่

หนังสือนี่นะจะเป็นวัตถุดิบให้เทศน์ได้ทุกวันเลย จับไปตรงไหนนะ ผิดตรงนั้น ! จับไปตรงไหน ผิดตรงนั้น ! ไม่อยากจะพูดนะ นี่มันอัดเทปอยู่ เพราะเราดูมาตั้งแต่หยดน้ำแล้ว เห็นผิดมาหลายที่ มันเอะใจมาตลอด ทำไมทำกันอย่างนี้ ! ทำไมทำกันอย่างนี้ ! เดี๋ยวนี้ชัดเจนหมดแล้ว

ถึงกลับมาที่ว่า “ถ้าเราจะเป็นชาวพุทธ แล้วเราจะซื่อสัตย์กับพุทธศาสนา เราจะยืนอยู่บนความถูกต้อง”

ถ้ายืนอยู่บนความถูกต้อง ขนโคกับเขาโค เขาโคมันมีน้อย โคตัวหนึ่ง มีอยู่ ๒ เขา ดุลพินิจของคน จะเข้าถึงความจริงมันต้องเหนื่อยยาก ทุกคนไม่ยอมเหนื่อยยาก ทุกคนอยากสุขสบาย ทุกคนมีความสมัครจะไปเป็นขนโค ไม่อยากสมัครเป็นเขาโค ถ้าเป็นเขาโค มันจะโดนถากถาง โดนแรงเสียดสี แต่ถ้าไปเป็นขนโค มันสบาย เพราะขนโคมันเยอะ มันทับซ้อนกันอยู่ ตามกระแสไป อยู่เฉยๆ เคลื่อนไปตามกระแส

นี้มันก็อยู่ที่ใครจะเลือกนะ บางทีก็น้อยใจนะ ศาสนาไม่ใช่ของกูเว้ย ! ทำไมกูต้องมาเหนื่อยยากอยู่คนเดียว ! แต่มันก็พูดไม่ออก มันก็ทำไปตามความรู้สึก ตามความที่เราจะทำได้เนาะ เอวัง