เทศน์เช้า

นิพพานดิบ

๒o พ.ค. ๒๕๔๔

 

นิพพานดิบ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

นิพพานดิบ นิพพานสุกไง ท่านพูดถึงนิพพานดิบ ถ้าคนเราจะเอานิพพานดิบนี่ เห็นไหม นิพพานดิบกับนิพพานสุก สวรรค์ดิบกับสวรรค์สุก นรกดิบกับนรกสุก นรกดิบ เห็นไหม นี่เราทำความนรกอยู่ สวรรค์ในอก นรกในใจ นรกดิบคือปัจจุบันนี่ดิบ แล้วตายไปก็ไปตกนรก สวรรค์เหมือนกัน ถ้าปกตินี่สวรรค์เป็นสวรรค์ดิบ ถ้าเราได้สวรรค์นะ แต่ตายไปก็ได้สวรรค์สุก

นิพพานดิบก็เหมือนกัน นิพพานต้องทำเอาปัจจุบันนี้ นิพพานดิบหมายถึงคนเรานี่ พระสงฆ์นี่ เพราะผู้ปฏิบัติถึงพระนิพพาน เห็นไหม เป็นนิพพานดิบ ถ้าไม่ได้นิพพานดิบจะไม่มีนิพพานสุก คนเราเข้าใจว่าจะได้นิพพานสุกไง ตายไปแล้วถึงนิพพาน หรือว่าไปถึงสวรรค์แล้วพอตายจากสวรรค์ดิบแล้วไปสวรรค์สุก เห็นไหม ต้องได้สวรรค์สุกตายไปถึงได้

ท่านบอกไม่ใช่ ท่านบอกว่า “ต้องปัจจุบันนี้ก่อน ถ้าจะได้สวรรค์ ต้องได้สวรรค์ตรงปัจจุบันนี้” ใจนี้เป็นสุข ใจนี้เป็นกุศล ไปแล้วมันได้สวรรค์ดิบ เวลาตายไปได้สวรรค์สุก นรกก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจนั้นมันทุกข์อยู่ เห็นไหม ถ้าตายไปจะได้นรกสุก ไอ้นิพพานเหมือนกัน นิพพานดิบต้องประพฤติปฏิบัติเอา ถ้าประพฤติปฏิบัติเอาจะได้นิพพานดิบ นิพพานดิบหมายถึงว่าเราต้องแสวงหาเอา แสวงหาเอาเดี๋ยวนี้เลย

แล้วนิพพานดิบ เห็นไหม ท่านบอกเลยนิพพานดิบกับนิพพานสุกต่างกัน ตรงนี้สำคัญ ตรงที่ต่างกันว่าถ้านิพพานดิบนี่มันยังมีกลิ่นไอของความทุกข์ ของไอทุกข์ไง กลิ่นไอหรือโชยของความทุกข์นี่มันยังไม่สุขละเอียดเหมือนกับเวลาเป็นนิพพานสุก นิพพานสุกจะเป็นสุขมาก ๆ สุขที่ว่าอย่างอื่นจะเข้าไปไม่ถึงไม่ได้เลย แต่ถ้านิพพานดิบมันยังมีกลิ่นไอของทุกข์ ถ้าพูดถึงตามพระไตรปิฎก พระไตรปิฎกก็เรียกว่าสอุปาทิเสสนิพพาน กับอนุปาทิเสสนิพพาน

สอุปาทิเสสนิพพานคือว่าเศษส่วนของขันธ์ ๕ ขันธ์ความคิดเรายังมีอยู่กับจิต ไอ้ความคิดนี่ไอของความทุกข์ ท่านบอกกลิ่นไอของความทุกข์ กลิ่นไอของความยึดมั่นถือมั่น กลิ่นไอของการสื่อกันไง อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพ็ญเดือน ๖ น่ะตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ขึ้นมานี่ น่ะนิพพานดิบ สอุปาทิเสสนิพพานคือท่านเป็นพระอรหันต์แล้ว แต่มันสื่อด้วยความหมาย เวลาท่านสอนขึ้นมานี่ สื่อคือสมมุติ สมมุติที่สื่อกัน

นี่กลิ่นไอของความทุกข์ กลิ่นไอของความทุกข์ยังอยู่ในนิพพานดิบอยู่ นิพพานดิบอยู่มีความสุขมาก ท่านอธิบายในหนังสือว่านิพพานดิบมีความสุขมากเลย แต่มันมีกลิ่นไอของความทุกข์โชยมา กลิ่นไอของความทุกข์นี่มันยังเจืออยู่ มันเลยเป็นนิพพานดิบ มันสุขไม่เท่ากับนิพพานสุก นิพพานสุกจะสุขมากกว่าอีก

แล้วถ้าสมมุติว่าเราหลงกันไป เราหลงคือว่าเราทำคุณงามความดีไป แล้วจะไปถึงตอนนั้นจะได้นิพพานสุกไง ต้องทำให้ได้เดี๋ยวนี้ปัจจุบันนี้ก่อน ต้องได้นิพพานดิบเดี๋ยวนี้ เดี๋ยวนี้ถ้าเราได้นิพพานดิบ นิพพานสุกนี่เป็นอันว่าได้ ถ้าเดี๋ยวนี้เราไม่ได้อะไรเลย ตายไปมันก็เป็นไปตามกระแสของกรรม นิพพานสุกจะไม่ได้เลย เขาว่าตายไปแล้วถึงจะได้นิพพานสุก คือว่าเหมือนกับว่าเราทำบุญกุศลกัน แล้วเราก็อธิษฐานไปเบื้องหน้า อธิษฐานไปเมื่อนั้น ๆ ไง อธิษฐานไปอนาคตไง

ท่านไม่ให้ติดในอนาคต ท่านให้ทำในปัจจุบันนี้ว่าศาสนาสอน สอนในปัจจุบันนี้ ถ้าทำได้ทำปัจจุบันนี้ อย่างเช่นเราทำอยู่นี่ เห็นไหม ปัจจุบันนี้เราทำอยู่นี่เราทำของเราเข้าไป ๆ มันเป็นกุศลนะ เวลาเราคิดขึ้นมาเป็นกุศล แต่เวลาเราลังเลสงสัยนี่พอเริ่มทำไปมันเริ่มลังเลสงสัย มันจะเป็นจริงอย่างนั้นไหม? มันจะได้อย่างนั้นไหม? กุศลเกิดขึ้นมาทีแรกนี่มันเป็นบุญกุศล แต่เวลาลังเลสงสัยขึ้นไปนี่กิเลสมันพาเบี่ยงเบน กิเลสมันทำให้เราเบี่ยงเบนไป เราถึงจะไม่เชื่อมั่นอันนั้น

ถ้าเราไม่เชื่อมั่นอันนั้น เวลาให้ให้ด้วยความเจตนา ให้แล้วมันคิดวิตกกังวล ไอ้เรื่องอย่างนี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติของกิเลสในหัวใจของคน กิเลสในหัวใจของคนจะเป็นอย่างนั้นจนกว่าเราจะฝึกของเราไง ถ้าเราไม่มีการฝึกฝนอยู่น่ะ มันจะเป็นอย่างนั้นไป เริ่มต้นคิดได้แวบเดียว พอแวบเดียวนี่กิเลสก็ผลักล่ะ ความเคยใจของกิเลสมันจะผลักไสไปตลอด เห็นไหม นี่นิพพานดิบไม่ได้

ไม่ได้เพราะอะไร? เพราะกิเลสมันผลักไส กิเลสมันต่อต้านอยู่ในหัวใจ จนเราไม่เชื่อ ถ้าเราไม่เชื่อเราก็ไม่เปิดประตู ถ้าเราไม่เชื่ออะไรสิ่งใด ๆ เลย เราเชื่อเราลังเลสงสัยอยู่ เราไม่เปิดประตูคือว่าเราไม่หงายภาชนะของเราขึ้นมา ถ้าเราไม่หงายภาชนะของเราขึ้นมาเราจะใส่ตักตวงอะไรไม่ได้เลย

ในกาลามสูตรบอกไว้ว่า ไม่ให้เชื่อแม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ไม่ให้เชื่อแม้แต่ครูบาอาจารย์บอก ไม่ให้เชื่อตาม ๆ กันมา ไม่ให้เชื่อครูบาอาจารย์เรา ให้ฟัง ฟังนี่ตรงนี้สำคัญ ให้ฟัง ฟังแล้วประพฤติปฏิบัติ ให้เป็นความจริงของแต่ละบุคคลคนนั้นขึ้นมา ถ้าเป็นความจริงของแต่ละบุคคลคนนั้นขึ้นมา เห็นไหม ความเชื่อน่ะมันเป็นศรัทธาความเชื่อ นี่ไม่ให้เชื่อเพราะสิ่งนั้น

อันนี้ก็เหมือนกัน เพราะกิเลสมันจะเบี่ยงเบนตรงนี้เวลาเราเชื่อขึ้นมา เริ่มต้นเราจะมีความเชื่อของเรา แล้วกิเลสมันจะเบี่ยงเบนไป ๆ พอเบี่ยงเบนไปนี่การประพฤติปฏิบัติของเรา เวลาพูดถึงนิพพานดิบ ๆ นี่มันเหมือนกับว่ามันจะสุดเอื้อม สุดเป็นไปไม่ได้ แต่ใครจะดูถูกความคิดอำนาจวาสนาของใจของตัวเองล่ะ? ใจของตัวเอง เห็นไหม

ถ้าความเชื่อนี้เกิดขึ้น มันมีความเชื่อมีความเจตนา ถ้ามีความเจตนา เห็นไหม หัวใจมันเปิดขึ้นมา ภาชนะมันเปิด มันแสวงหา มันค้นคว้าไง มันพยายามจะค้นคว้า มันพยายามแสวงหา มันพยายามกระทำประพฤติสิ่งนั้นขึ้นมา ถ้านี้พูดถึงเรื่องของกิเลส แต่ถ้าพูดถึงสัจธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “ทรัพย์ของพวกเรานี่ทรัพย์ของคฤหัสถ์ ความเชื่อนี้เป็นประโยชน์ที่สุด”

ความเชื่อคือทรัพย์ ถ้าไม่มีความเชื่อ ไม่มีศรัทธา ความจงใจความเริ่มกระทำของเราจะไม่มี ความเริ่มกระทำ เห็นไหม จะมีทาน มีศีล มีภาวนานี่เราจะเริ่มมีความเชื่อของเราเข้าไปก่อน ความเชื่ออันนั้นมันเป็นความเชื่อ เชื่อเฉย ๆ แต่กิเลสมันผลัก ๆ กิเลสมันผลักหมายถึงว่าพอกิเลสมันผลัก ความเชื่อนั้นถึงไม่ได้ ฉะนั้นพอกิเลสมันผลักนี่เราจะไปเชื่อกิเลสไง

ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องศรัทธา เรื่องความเป็นจริง เราก็ต้องไม่เชื่อกิเลสในหัวใจของเราด้วย แต่เวลาความลังเลสงสัยทำไมเราเชื่อ ลังเลสงสัยนี่มันจะจับหมับเลย เห็นไหม เขาสร้างตึกสร้างบ้านนี่ปกติเราก็ไม่ค่อยจะสนใจกัน แต่ถ้าตึกไหนเขาสร้างแล้วมันพังลงไปนะ หนังสือพิมพ์จะลงข่าวอย่างนั้น ข่าวความที่ว่ามันทำลาย มันเสียหาย สิ่งนั้นคนอยากรู้อยากเห็น ถ้าคนที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมานี่ มันเป็นเรื่องปกติของโลกเขา ความก่อร่างสร้างตัวมันก็เรื่องของเขาไป มันไม่มีความตื่นเต้น แต่ถ้าเป็นความทำลาย เห็นไหม

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีความก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา ศรัทธามันเกิดขึ้น ศรัทธาความคิดความเกิดขึ้นนี่มันก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา มันปกติ มันไม่ค่อยจับใจหรอก แต่เวลามันลังเลสงสัยทำไมมันจับใจล่ะ เวลากิเลสมันให้ผลนี่มันจับใจมาก มันสงสัยแล้วมันจับตรงนั้น แล้วมันจะคิดตามอันนั้นไป มันถึงจะไม่ได้สิ่งนั้นไง

ถ้าเราเลือกนิพพานดิบ เห็นไหม นิพพานดิบนี่ท่านพูดถึงบอกว่า “นิพพานดิบเราต้องค้นคว้าเอา เราต้องทำเอาในปัจจุบันนี้ ถ้าปัจจุบันใครทำนิพพานดิบขึ้นมาได้ นิพพานสุกนี่ไม่ต้องพูดถึงเลย” มันเหมือนกับว่าเป็นเรื่องของปัจจุบันไง ถ้าปัจจุบันนี้เรามีทรัพย์สมบัติในกระเป๋าของเรา มีทรัพย์สมบัติเป็นสมบัติของเรานี่ สมบัติของเราจะเป็นไปข้างหน้า เราจะไปไหนสมบัติก็ต้องเป็นของเรา

อันนี้เป็นเปรียบเทียบ แต่ความจริงเรื่องของสมบัติ อริยทรัพย์นี่มันเป็นเรื่องสมบัติของใจ สมบัติของโลกเรานี่มันเปรียบเทียบได้ เวลาย้อนกลับมานี่ ย้อนกลับมาว่าเราประกอบอาชีพ เราทำสัมมาอาชีวะนี่ทุกข์ไหม? ลำบากไหม? เหนื่อยยากไหม? มันเหนื่อยยาก อันนี้เป็นการเลี้ยงชีวิตชั่วคราวเฉย ๆ แล้วใจนี้ก็ต้องสืบต่อไป ใจนี้กินบุญเป็นอาหาร อริยทรัพย์ต่างหากมันติดไปกับใจ

อริยทรัพย์ ทิพย์สมบัติ เห็นไหม ทานสละออกไปนี่เป็นวัตถุ มันเป็นเรื่องของวัตถุ ร่างกายนี้ทำก็ทำแต่เรื่องวัตถุ เวลาทุกข์มันทุกข์เรื่องของใจ เวลาเราทุกข์เรื่องของใจ เวลาทำบุญกุศลก็เหมือนกัน ทำงานก็เหมือนกัน มันต้องมีใจเริ่มคิดก่อน ใจความคิด เราคิดขึ้นมาเราอยากทำงานขึ้นมา เราคิดว่าสิ่งนั้นถูกต้อง อันนั้นทำกันไป

อันนี้มันเป็นมรรค มรรคคือสิ่งที่ว่ามันเป็นประโยชน์กับเรา ความอยากทุกอย่างเราว่าความอยากทุกอย่างมันจะเป็นกิเลสไปทั้งหมด...ไม่ใช่ ถ้าความอยากทุกอย่างเป็นกิเลสไปทั้งหมด ต้องไม่มีความอยากแล้วประพฤติปฏิบัติไป มันเหมือนกับว่าเราทำสิ่งใด ๆ แล้วเราไม่ต้องการผลตอบแทน ถ้าไม่มีผลตอบแทนมันสักแต่ว่าทำ มันจะไม่ได้ผล

เราทำของเราไปนี่เราต้องการผลตอบแทน แต่ผลตอบแทนให้มันเป็นตามธรรมไง ให้มันเป็นตามธรรมชาติ คือว่าเราทำกันไปเลยว่าความอยากโดยสัญชาตญาณนี่ไม่มีใครสามารถไปยับยั้งมันได้หรอก เราเพียงแต่บอกเราไม่อยาก ๆ นี่มันพูดกันด้วยปาก มันพูดกันด้วยอารมณ์ความรู้สึก มันไม่ได้พูดถึงเจตนาจิตใต้สำนึกอันนั้น แล้วจิตใต้สำนึกอันนี้มันมีความอยากโดยธรรมชาติของมัน ความอยากอันนั้นเราปล่อยวางไป

มีพระสมัยพุทธกาลบวชนะ แล้วไปถามพระพุทธเจ้าว่า “สิ่งใด ๆ ทำก็ยากลำบากไปหมดเลยในเรื่องของศีลนี่ อะไรก็ลำบาก ๆ มันมีแต่เรื่องการบังคับ เรื่องการบังคับเลย มันเป็นสิ่งที่สุดวิสัยที่ทำไม่ได้” องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า ให้เปรียบเหมือนแก้วน้ำ แก้วน้ำนี่เราใส่น้ำไว้ แล้วเราเทน้ำออก เทน้ำทิ้งหมดเลย แล้วเราหงายแก้วขึ้นมา ธรรมดาของความทั่วไปนี่แก้วนั้นมีน้ำไหม?...ไม่มี น้ำนั้นไม่มีหรอก แต่ความจริงมันมีอยู่ในนั้นใช่ไหม? เศษน้ำที่ติดอยู่ในแก้วมันมีอยู่

อันนี้เปรียบเหมือนกัน เปรียบเหมือนเจตนา เปรียบเหมือนที่ว่าศีลหรือการประพฤติปฏิบัติที่ว่าทำยากนี่ เราทำไม่ได้ ๆ ความอยากที่ว่าเราห้ามไม่ได้อันนี้มันเป็นเรื่องธรรมชาติที่อยู่ในหัวใจ เราเพียงแต่หักห้ามไง คือเราเทส่วนใหญ่ของน้ำนั้นทิ้งไป เทส่วนใหญ่ของน้ำทิ้งคือความอยากที่เราอยากในปัจจุบันนี้ มันเป็นอยาก ๒ ชั้น เห็นไหม ความอยากที่เราต้องการ เราแสวงหานี่มันเป็นความอยาก เราเทมันทิ้งไป คือว่าเราพยายามปฏิเสธอันนี้ได้

แต่จิตใต้สำนึกเราปฏิเสธไม่ได้ คือเราเทออกแล้วน้ำก็ยังติดอยู่ในแก้วนั้น อันนั้นออกไม่ได้ หงายแก้วขึ้นมาน้ำนี้ ในแก้วมีน้ำไหม? พระองค์นั้นตอบว่า “ไม่มี” ความจริงมันมีไหม? ความจริงมันมีอยู่ นั้นเปรียบเหมือนกับเจตนาของเรา เปรียบเหมือนกับความอยาก เปรียบเหมือนจิตใต้สำนึก เปรียบเหมือนกิเลสของเรา เราไม่สามารถจะหักห้ามมันได้ทั้งหมดหรอก

แต่เราพยายามเทส่วนใหญ่ คือเราไม่มีเจตนาทำความผิด อันนั้นก็เป็นบุญกุศลของเรา เราสามารถก้าวเดินอันนี้ได้ นี่เห็นไหม มันถึงว่าความอยากไง ความอยากที่ว่าเราอยากประพฤติปฏิบัติที่เป็นมรรค ความอยากในคุณงามความดี แล้วคุณงามความดีนี่มรรคผลนิพพานเราทุก ๆ คนไม่เคยเห็น นิพพานดิบนี่ไม่มีใครเคยเห็นเลย มันถึงจินตนาการไม่ได้ไง

สิ่งที่จินตนาการไม่ได้มันก้าวเดินขึ้นไปโดยที่ไม่มีจินตนาการ แต่ถ้ามันเป็นผลนี่มันจินตนาการไม่ได้ มันไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีใครเคยเห็น ถ้ามีคนเคยเห็นนิพพาน คนเคยเข้านิพพานแล้วจะไม่มีมานั่งอยู่นี่เลย สิ่งที่เกิดขึ้นมากิเลสพาเกิดทั้งหมด เราถึงไม่เห็นนิพพานดิบ แต่เราจินตนาการของเราไป มันจินตนาการของเราไป มันไม่ใช่นิพพานดิบ มันเป็นความจินตนาการของคน ถ้าคนจินตนาการออกไปอย่างนั้นแล้วมันไม่ใช่ผลของมัน ฉะนั้นมันถึงว่ามันเป็นความจินตนาการ

แต่ถ้าเป็นความจริง เห็นไหม เป็นความจริงมันถึงเข้าถึงผลอันนั้น นิพพานดิบมันจะเข้าถึงผลอันนั้น ถึงว่าความอยากอันนี้มันเป็นอยากแล้วมันไม่ใช่อยากที่เป็นผลนั้น มันอยากตามกิเลสไง กิเลสมันอยาก ตัณหาซ้อนตัณหา ถ้าเราทำความสงบของเราครั้งใดครั้งหนึ่งเราเคยสงบขึ้นมา พอจิตมันสงบขึ้นมานี่มันเป็นความดูดดื่มของใจมาก เวลาทำครั้งต่อไปมันจะคิดถึงตรงนี้

มันเป็นธรรมชาติของมัน จะหักห้ามขนาดไหนมันก็คิดอย่างนั้น พอคิดอย่างนั้นนี่ตัณหาซ้อนตัณหา หมายถึงว่าเราอยากได้ผลของมันโดยที่เราคิดถึงผลของมันโดยเราจินตนาการขึ้นมาเอง แต่มันจะไม่เป็นอย่างนั้นเลย ถ้ามันจินตนาการอย่างไรนี่มันเป็นการชี้นำ พอชี้นำไปนี่เราจะได้จิตวิปัสสนึก มันจะไม่วิปัสสนา วิปัสสนึกของเรา เราจะนึกคิดของเราไปอย่างนั้น

ถ้านึกคิดของเราไปอย่างนั้นมันจะไม่ได้ผลหนึ่ง เพราะผลตามความเป็นจริงนี่ สัจจะความจริงค่าของมันมีเท่านี้ เราเพิ่มค่าของมันไปนี่มันเป็นการชักนำไปไหม? ชักนำไปนี่มันจะไม่เป็นผล พอไม่เป็นผลนี่จนกว่ามันจะเห็นว่าไม่เป็นผล ๆ แล้วมันเหนื่อยหน่าย เหนื่อยหน่ายแล้วมันจะปล่อยวาง พอปล่อยวางขึ้นมา พอทำขึ้นมานี่ค่ามันตามความเป็นจริง เห็นไหม พอค่าตามความเป็นจริงขึ้นมามันจะเห็นผลขึ้นมา เป็นธรรมชาติของมัน ๆ จะเป็นอย่างนี้ตลอดไป

มันเป็นการลองผิดลองถูกของใจไง ใจนี่จะลองผิดลองถูก ผิดถูกในหัวใจนี่มันจะสะสมไป ๆ นี่ผิดถึงเป็นครู สิ่งที่เป็นครู ถ้าคนประพฤติปฏิบัติมาไม่เคยผิดเลยไม่มี มันจะมีความผิดพลาดไปบ้างเป็นธรรมชาติของมัน ผิดแล้วนี่มันจะสอนกับตัวเองนั่นน่ะ นี่ถึงว่าเป็นปัจจัตตังไง สิ่งที่เป็นปัจจัตตังคือใจนั้นสัมผัสเอง ใจนั้นรู้เอง ใจนั้นผิดพลาดเอง พอใจนั้นผิดพลาดเอง ใจจะพลิกแพลงขึ้นมาเอง ครูบาอาจารย์สอนสอนมาจากข้างนอก ข้างนอกสอนเข้ามาก็รับฟังเข้ามา

แต่ข้างในเป็นขึ้นมานี่มันถึงจะเป็นนิพพานดิบ มันสะสมขึ้นมาอย่างนี้ไง นิพพานดิบมันสะสมขึ้นมา มันทำของมันขึ้นมา มันสะสมขึ้นมาจากสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิยกขึ้นวิปัสสนา ต้องยกขึ้นวิปัสสนามันถึงเป็นงานชอบ ถ้าเป็นงานชอบ มรรคมันจะเดินไป ทางอันเอก มรรคเท่านั้น “สุภัททะ เธออย่าถามให้มากไปเลย ในศาสนาไหนไม่มีมรรค ศาสนานั้นไม่มีผล” มรรคนี้เป็นมรรคอันนี้นะ

มรรคเป็นมรรคของใจ ไม่ใช่มรรคที่ว่าเป็นสัมมาอาชีวะ เป็นการประกอบอาชีพนั้นเป็นมรรคที่ว่าสัมมาอาชีพข้างนอกนั่นเลี้ยงปากชอบ เหมือนกับเลี้ยงร่างกายชอบ นั่นสมบัติของโลก สมบัติที่รักษาสมมุติกัน แต่สมบัติอริยทรัพย์นี่มรรคมันก็แปลกประหลาด เราก็ไม่เคยเห็นภาวนามยปัญญา ทุกคนไม่เคยเห็นภาวนามยปัญญา ถ้าภาวนามยปัญญามันสามัคคีกัน มันรวมตัวกัน ต้องเป็นโสดาบันอย่างต่ำ คนที่จะเห็นความสามัคคีมรรคสามัคคีภาวนามยปัญญาเกิดขึ้น จะเป็นพระโสดาบันอย่างต่ำเลย

แต่เริ่มต้นขึ้นไปนี่มันยังล้มลุกคลุกคลานไป มันยังทำมรรคสามัคคีได้ไม่ตามความเป็นจริงของมัน ค่าของมันไม่บริสุทธิ์ ถ้าค่าของมันไม่บริสุทธิ์นี่มันไม่สามารถสมุจเฉทกิเลสได้หรอก ไม่สามารถสมุจเฉทปหานกิเลสในใจของเราได้ แต่ถ้ามรรคมันเกิดขึ้นในหัวใจของเรา จากที่ว่าทำสัมมาสมาธิขึ้นมา แล้ววิปัสสนาในกาย เวทนา จิต ธรรม กายหรือจิตก็ได้ วิปัสสนาไป จับต้องขึ้นมาแล้ววิปัสสนาไป งานจะเป็นงานชอบ

ถ้างานชอบนี่หมุนพิจารณาไป วิปัสสนาไปนี่สมาธิมันจะเบาบางลง งานนั้นจะคลอนแคลน เพราะสัมมาสมาธิไม่พอ ต้องกลับมาพักทำความสงบ จะต้องทำอยู่อย่างนี้ ปล่อยวางไปประจำ ปล่อยวางไปรอบหนึ่งภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นรอบหนึ่ง ๆ มันจะปล่อยวางของมันเป็นชั้น ๆ เข้าไป ปล่อยวางเป็นชั้น ๆ เข้าไปจนถึง อย่างนี้เรียกว่าล้มลุกคลุกคลาน ล้มลุกคลุกคลานคือการเรากำลังก้าวเดินต่อไปขึ้นไปจะล้มลุกคลุกคลานขึ้นไป มันถึงว่าเราไม่รู้ว่าเป็นภาวนามยปัญญาหรอก

เราไม่รู้ว่าสิ่งนี้เป็นอะไร แต่มันเกิดขึ้นกับเรา มันหมุนไปกับเรา สิ่งนี้คือภาวนามยปัญญา แต่มันยังไม่เข้าใจ จนกว่ามันจะรวมตัวขึ้นไปแล้วสมุจเฉทปหาน ชำระกิเลสออกไป มันจะเห็นว่าภาวนามยปัญญาตามความเป็นจริงขึ้นมา ตามความเป็นจริงตรงไหน? ตรงที่ว่ากิเลสมันขาดออกไปไง สิ่งที่ขาดออกไป เห็นไหม พอกิเลสมันขาดออกไป จิตมันเป็นจิต มันเวิ้งว้าง มันหลุดออกมา

นั้นน่ะนิพพานดิบ นิพพานดิบจะเกิดขึ้นมาอย่างนั้น แล้วมันก็ยังมีอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าถึงสิ้นของกิเลสไป นิพพานดิบมันถึงเกิดขึ้นจากว่าปัจจุบันนี้ไง ท่านถึงบอกนิพพานดิบนี้ ความสุขของนิพพานดิบ เห็นไหม กลิ่นไอของความทุกข์มีอยู่ นี่กลิ่นไอของความทุกข์ก็ความเคยชินความเคยใจมันมีอยู่ แต่เวลาสุขเวลาตายไปอย่างนี้ นั่นน่ะนิพพานสุก

นิพพานสุกกับนิพพานดิบเกิดขึ้นจากหัวใจดวงนั้น หัวใจดวงที่ประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ดวงไหนประพฤติปฏิบัติขึ้นมาจะเกิดขึ้นอย่างนั้น ความเน้นของท่านคือบอกว่า “ให้เห็นในปัจจุบันไง ให้ทำเอาเดี๋ยวนี้ ให้ทำเอาปัจจุบันนี้ ให้ได้นิพพานดิบก่อน” ถ้าได้นิพพานดิบแล้วนิพพานสุกไม่ต้องพูดถึงมัน มันจะเป็นไปถึงเวลาของมัน มันต้องเป็นไป เพราะพอเป็นนิพพานแล้วมันดิบอยู่ในหัวใจของเรานี่แหละ

มันรอเวลาไง รอเวลาจะตายไป ถ้ามันตายไปมันก็เป็นสุกโดยธรรมชาติของมัน ถ้าเราไม่มีนิพพานดิบ นิพพานสุกมันจะไปหาที่ไหน ถ้าได้นิพพานดิบแล้วนี่มันจะเข้าไปถึงนิพพานสุกโดยธรรมชาติของมัน โดยธรรมชาติของนิพพานสุกนั้น เพราะมันสืบต่อไป อายุขัยของคนต้องหมดไป อายุขัยของคนต้องสิ้นไป เห็นไหม เวลาตายไปนี่ ถ้าตายไปแล้วมันอายุขัยหมดเสียแล้ว

ดูอย่างพระสารีบุตรไปลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานสิ “ให้สมควรแก่เวลาของเธอเถิด” ให้เห็นตามความสมควรไง ไม่เห็นคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ และไม่เห็นคุณค่าของการตายไป ถ้าเป็นนิพพานแล้วไม่มีอะไรมีคุณค่ามากกว่ากัน มีชีวิตอยู่หรือตายไปนี่มีคุณค่าเท่ากัน ฉะนั้นว่าเวลามันจะหมดอายุขัย มันก็ต้องเป็นไปธรรมชาติของมัน

เป็นไปธรรมชาติของกรรมไง กรรมที่เคยสร้างสมมา ธรรมชาติอันนั้นจะเป็นไป แล้วมันยังแปลกประหลาดด้วย เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์น่ะ “อานนท์ ผู้ใดประพฤติอิทธิบาท ๔ อยู่ จะปรารถนาอยู่อีก ๑ กัปก็อยู่ได้” นี่จะสามารถ...

(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)