เทศน์เช้า

จิตหลง

๒๖ พ.ค. ๒๕๔๔

 

จิตหลง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

อวิชชามันพาไม่รู้ ความพาไม่รู้ถึงได้พาให้เราเกิด แต่พาให้เราเกิดมานี่ สิ่งที่มันเกิดมามันก็เกิดมากับสิ่งที่ไม่รู้อยู่อย่างนั้น พอสิ่งที่ไม่รู้ เห็นไหม สิ่งที่ไม่รู้ว่าเราเป็นคนขึ้นมาได้อย่างไร รู้ประสาเรา รู้ประสาสมมุติ รู้ประสาเราเรารู้แบบความคิดของเรา

แต่มันไม่รู้ทันกิเลสของเราเอง เราไม่รู้ทันตัวเองน่ะ ความไม่รู้ทันตัวเอง วิธีการจะทำให้รู้ทันตัวเองน่ะมันใช้วิธีการของเดิมไม่ได้ ของเดิมคือความคิดของเรานี่ เราคิดของเราขึ้นมา เราจะทำอะไรก็แล้วแต่ เราคิดว่าเราจะดัดแปลงตนเองนี่ เราแพ้ตัวเองตลอดเวลาเลย เราไม่เคยสามารถชนะตัวเองได้เลย คิดว่าจะทำ ๆ แล้วแพ้เพราะอะไร? เพราะมันเป็นทางเดียวกันไง มันเป็นเรื่องของอวิชชา ของความคิด คือความเห็นของตัวเองดั้งเดิมน่ะมันเป็นอย่างนั้นไป

ถึงต้องพลิกแพลงใหม่ เห็นไหม พลิกแพลงใหม่เป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่ อันนี้มันเป็นทางที่ว่าเราไม่เคยเดิน แล้วเราคาดการณ์ไม่ถึง เหมือนเส้นผมบังภูเขา เส้นผมเล็ก ๆ มันบังภูเขาได้อย่างไร บังภูเขาเพราะมันใกล้ตาเรา มันสามารถบังตาเราแล้วเราจะไม่เห็นภูเขาลูกใหญ่มหาศาลที่อยู่ข้างหน้าได้เลย เพราะเส้นผมมันบังภูเขา

ความคิดความเห็นเราก็เหมือนกัน ความคิดความเห็นของเรา เห็นไหม เราว่าเราศึกษาธรรมแล้วเราจะเอาชนะกิเลส เราควรทำอย่างนั้น ๆ นี่ความไม่เข้าใจของเรา พอความไม่เข้าใจของเรา มันก็คิดเบี่ยงเบนไป เบี่ยงเบนไปนี่กิเลสมันพอใจเลย ความเห็นของเรา ความหลงนี่มันพอใจเพราะอะไร? เพราะมันผลักเราออกไปไกลจากตัวมัน แล้วมันก็คิดไป แล้วเราก็ครุ่นคิดอยู่อย่างนั้น นี่ตรงนี้มันเป็นวาสนาหรือไม่เป็นวาสนา ถ้าเป็นวาสนาของคนน่ะมันเอะใจได้คิดไง

หลวงตาเวลาท่านเทศน์สอนนะ ท่านบอกเลย ท่านจะพูดให้เราได้ฉุกคิด ไอ้ตัวฉุกคิดนี่สำคัญที่สุดเลย ถ้าตัวฉุกคิดมันก็ตัวเริ่มต้น พอตัวฉุกคิดเห็นไหม อันนี้เป็นอย่างไร ๆ คือท่านให้ถามปัญหาไง ปัญหาตัวเองขึ้นมา แล้วเวลาครูบาอาจารย์สอนนี่เวลาสะกิดใจน่ะ สะกิดให้เราได้ฉุกคิด ถ้าเราฉุกคิดขึ้นมานี่มันตั้งต้นความคิดใหม่ ถ้าเราไม่ฉุกคิดไปนี่มันเป็นร่องความคิดเดิมไป นี่มันเป็นความคิดเดิมไป

เหมือนกันเลย เหมือนกับความคิดที่ว่าเราพยายามจะดัดตั้งกติกาของเราขึ้นมาเอง เราก็คิดของเราไป ทีนี้ถึงว่าทำไมคนเราถึงต้องมาวัดไง ทำไมต้องมาวัด มาเพื่ออะไร มันเพื่อจะเปลี่ยนแปลงจากความคิดเดิม ความคิดอยู่ที่บ้านมันเป็นอย่างนั้น แต่ความคิดใหม่นี่มันความคิดอยู่ที่วัด อันนี้เป็นการเอาชนะใจตัวนะ ทานเป็นทาน ศีลเป็นศีล ภาวนาเป็นภาวนา

ทาน เราให้ทานอยู่แล้วเป็นบุญกุศลอันนั้นอันหนึ่ง ทานมันก็เป็นพลังขับเคลื่อน พลังขับเคลื่อนที่มันใช้หมดน่ะ บุญกุศลมันหมุนเวียนไปในวัฏสงสาร มันหมุนเวียนไป อันนี้เราหานี้เป็นพื้นฐานก่อน เราว่าเป็นทาน เราทำทานแล้ว เราทำบุญกุศลแล้วทำไมจะต้องมาทำให้ตัวเองลำบากอีก ถ้าจะทำให้ตัวเองลำบากนี่มันเป็นการเอาชนะตนเอง ถ้าทำให้ตัวเองลำบากนี้เป็นความคิดของกิเลส เห็นไหม ความคิดเดิมของมันน่ะ

แต่ความคิดใหม่ ถ้าเอาชนะตนได้มันมีความสุข กับว่าทำให้ตัวเองลำบาก ทำให้ตัวเองลำบากนี่เป็นความทุกข์ แต่เราต้องการมีความสุข ก็ทำให้ตัวเองลำบากก่อน แล้วพอชนะตัวเองขึ้นมาแล้วมันจะมีความสุขตามมา ไอ้ความสุขอันนั้นเราปรารถนา แล้วความสุขอันนั้นมันเป็นความสุขยั่งยืนไง ไอ้ความสุขที่เราให้ทานมานี่เป็นความเข้าใจ พอมันโล่งใจ มันปล่อยวางใจ มันปล่อยวางเรื่องของกิเลสชั่วคราวนี่มันพอใจ มันมีกุศลขึ้นมาในหัวใจ มันก็พอใจไปชั่วครั้งชั่วคราว

แล้วเราก็ตามอันนี้ไปไง เราก็ตามอันนี้ไปๆ อันนี้เป็นความเห็นเดิม แล้วพอเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าน่ะ มันถึงว่าความเห็นผิด มีในสมัยพุทธกาลนะ ดูสิที่ความเห็นของพระที่ปฏิบัติน่ะ ขนาดว่าปฏิบัติจนขยะแขยงร่างกายของเราเอง จ้างเขาฆ่าตัวเองตาย เห็นไหม มีในอรรถกถา พระนี่ภาวนาไป ๆ แล้วไปตัดอวัยวะเพศของตัวเอง เพราะกามราคะคิดว่าอยู่ตรงนั้น ตัดอวัยวะเพศเลยนะ แล้วพระพุทธเจ้ารู้เข้าน่ะ นี่ความเห็นความหลงของตัวเองไง คิดว่าตัดแปลงเรื่องวัตถุไปนี่เราไม่มีแล้ว เราจะไม่มีความคิด ไม่มีความทุกข์ไง

แต่ความจริงมันไม่ใช่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลยนะ สิ่งที่ควรจะให้ตัดมันไม่ตัด สิ่งที่ไม่ให้ตัดมันไปตัดของมันเอง สิ่งที่ควรจะให้ตัดหมายถึงว่า ตัดกิเลส ตัดความเห็น ตัดความเร่าร้อนของใจนี่ มันต้องย้อนกลับเข้ามาภายใน มันต้องไปตัดตรงนั้น ตัดเหมือนกัน คำว่า “ตัดกิเลส ๆ” แต่ตัดกิเลสทิฏฐิมานะความเห็นผิด ไม่ใช่ไปตัดสิ่งที่ว่ากิเลสมันพาให้เห็นว่าสิ่งนี้เกิด

เหมือนกับเราทำลายชีวิตนี่ เพราะสิ่งที่มีชีวิต เพราะชีวิตมีมันถึงได้ทุกข์ ทุกอย่างมีเพราะมีเรา ต้องทำลายตัวเอง ทำลายเราทุกอย่างก็จะหมดไป นี่มันความเห็นผิดไง ทำลายเราแล้วไม่มีอย่างอื่นเลย ทำลายเรามันก็ทำลายวัตถุ แต่ถ้าทำลายทิฏฐิมานะ ทำลายความเห็นของเรา ทำลายทิฏฐิมานะในเรา แล้วเราเหลือไหม?

เราเหลือด้วยความบริสุทธิ์ผุดผ่องไง ไม่ใช่เราเหมือนทีแรก ถ้าเราทีแรกนี่เป็นตัวตนของเรา ความเห็นทีแรก เห็นไหม ว่าให้เห็นเสมอกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนนะ ให้ทำใจนี้เหมือนแผ่นดิน แผ่นดินเวลามันโดนอะไรขึ้นไปนี่ มันโดนเขาตอก โดนเขาขุด โดนน้ำสะอาดรดใส่ โดนน้ำโสโครกรดใส่นี่ แผ่นดินนี้มันไม่ปฏิเสธสิ่งใดทั้งสิ้นเลย ให้ทำใจเป็นแบบนั้น

เราก็ทำใจเป็นแบบนั้น เราทำใจเป็นแบบนั้นนี่เป็นเริ่มต้น เราทำใจให้เราปล่อยวาง ปล่อยวางเข้ามา มันเป็นสมถกรรมฐานทั้งหมดนะ ทำอย่างนี้มันทำถูกต้อง ทำถูกต้องส่วนหนึ่ง แต่พอวิปัสสนาเข้าไปจนปล่อยวางแล้ว มันก็กลับมาเป็นอย่างนี้ แต่การกระทำนี่มันต้องมีอีกขั้นตอนหนึ่ง ความละเอียดเข้าไป ๆ จริง ๆ มันเป็นอันเดียวกัน กายนอกกายในนี้เป็นอันเดียวกัน ครูบาอาจารย์บางองค์บอกว่า “กายนอกกายในนี่เป็นเพียงแต่โวหาร” เป็นคำโวหารแยกกันเองว่าสิ่งนั้นเป็นข้างนอก สิ่งนั้นเป็นข้างในไง

แต่ความจริงนี่มันแยกกันจริง ๆ ในการประพฤติปฏิบัติ มันเป็นขั้นตอนที่จะเห็นเข้าไป กายนอกมันเห็นเป็นกายนอก มันปล่อยวางเข้ามา มันมีความสลดใจ อย่างเราไปตามโรงพยาบาล ไปเห็นคนเจ็บคนป่วย เห็นรถชนกัน ถ้าเห็นรถชนกันเห็นซากศพจนกินพวกเครื่องในไม่ได้ จนขยะแขยงไป นี่มันเป็นอย่างนั้น ถ้ากายนอกมันจะเป็นอย่างนั้น พิจารณากายนอกเข้าไปจนเห็นเลือดเห็นอะไรนะ เห็นความขยะแขยงนี่

มันเป็นโลกไง มันขยะแขยงข้างนอกใช่ไหม แต่ขยะแขยงแค่ชั่วคราว พอมันชินชาไปมันก็กลับมากินได้อย่างเก่า แต่ถ้าพิจารณาอย่างนั้นเข้ามาบ่อย ๆ เข้านี่มันขยะแขยง ตรงที่ขยะแขยงนี่เป็นโอกาส เป็นโอกาสเพราะมันปล่อยวางเข้ามา มันก็ทำให้มันละเอียดเข้าไป มันปล่อยวางเข้าไปเป็นธรรมสังเวชเข้ามา นี่มันจะไปเห็นกายใน เห็นกายในคือเห็นจากตาภายใน เห็นกายในมันจะจับภาพนั้นขยายได้ จับภาพนั้นแปรปรวนได้

อันนี้ก็เหมือนกัน ความทำใจให้เป็นเหมือนแผ่นดิน เห็นไหม นี่ปล่อยวางเข้ามา มันก็ปล่อยวางเข้ามาเป็นเหมือนแผ่นดิน แผ่นดินเข้ามาปล่อยวางเข้ามา พอปล่อยวางมันก็มีความสงบเข้ามา นี้แผ่นดินนี่กิเลสมันซ้อนอยู่ภายในตรงนี้ มันถึงว่ามีสมถกรรมฐานกับวิปัสสนากรรมฐานไง สมถกรรมฐานคือทำความสงบเข้ามา

แต่ถ้าพูดโดยหลักการมันถูกต้อง เพราะว่าเราจะสื่อความหมาย สื่อหลักการที่ถูกต้อง แต่เทคนิควิธีการน่ะมันมีขั้นตอนของมัน ขั้นตอนของเทคนิคของวิธีการที่จะเข้ามาชำระกิเลส มันเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ๆ มันถึงจะชำระกิเลสได้ ถ้าไม่มีเทคนิคเข้ามาอย่างนี้มันก็พูดไปเหมือนสมถกรรมฐาน ว่าเป็นโวหาร พูดแล้วมันก็เหมือนกัน กายนอกกายในก็เหมือนกัน การปล่อยวางแผ่นดินแล้ว ให้ใจนี้เป็นเหมือนแผ่นดินก็เหมือนกัน

แต่นี้ว่าปล่อยวางแผ่นดินนี่แผ่นดินมันเป็นวัตถุใช่ไหม กายนอกมันเป็นวัตถุใช่ไหม แต่ถ้าเป็นหัวใจนี่มันเป็นนามธรรมใช่ไหม นามธรรมมันมีการผลักไส ไอ้ตัวผลักไส ไอ้ตัวอวิชชา ไอ้ตัวไม่รู้นั่นน่ะ ไอ้ตัวที่ว่าเราจะวิปัสสนานี่ มันปล่อยวางเข้ามา ทำความสงบเข้ามา เห็นไหม ใจสงบเข้ามา ๆ เวลามันสงบเข้ามานี่ สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เป็นกุปปธรรม นี่มันแปรสภาพ พอมันแปรสภาพมันเจริญขึ้นไปแล้วมันเสื่อม มันเจริญแล้วมันเสื่อม มันอยู่ในกฎของไตรลักษณ์เหมือนกัน

ธรรมนี่ก็อยู่กฎของไตรลักษณ์ เห็นไหม ถ้ามันหลงมันหลงอย่างนั้น แต่ถ้ามันไม่หลง เราพยายามทำเข้าไป ๆ มันละเอียดอ่อนเข้าไป ตรงนี้ต้องให้มีครูบาอาจารย์ ตรงครูบาอาจารย์ยกจากความสงบเข้ามา สิ่งที่เป็นแผ่นดินน่ะ เป็นแผ่นดินมันก็เป็นที่ควรแก่การงานใช่ไหม เราจะขุดแผ่นดินก็ได้ จะเอาดินมาปั้นเป็นอะไรก็ได้ เอาดินมาทำเป็นปั้นหม้อปั้นโอ่งปั้นไห ก็เอาดินนั้นปั้นได้ หัวใจนี้ก็ปั้นได้

นี่ความไม่มีตัวตน ถึงบอกนิพพานนี้เหมือนนิจจัง นิพพานนี่เหมือนนะ เหมือนนิจจังคือว่ามันสะอาดบริสุทธิ์แล้วมันมีสิ่งที่รับไง อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจิง สูติ อาสวะสิ้นไป จิตนี้เป็นผู้วิมุตติ แต่ขณะที่จิตนี้ไม่เป็นวิมุตตินี่มันเป็นตัวตน จิตนี้มันยึดมั่นถือมั่น มันเหมือนกับนิพพานนี้เป็นนิจจัง มันมีอยู่ไง มันมีอยู่แต่ไม่ใช่ว่ามีอยู่แบบอัตตา ถ้าอัตตานี่มันจะเป็นสิ่งที่ว่าเรายึดมั่นถือมั่น เป็นตัวตน เป็นกิเลส อัตตานี่เป็นกิเลส

แต่ความมีอยู่ มีอยู่แบบประสาของมัน ถึงตัวตนภายนอกตัวตนทีแรกนี่ เราต้องทำลายตัวตนทีแรกเข้าไปก่อน ถ้าตัวตนมีทิฏฐิมานะมันทำให้ตรงนี้เป็นภวาสวะ เป็นภพ เป็นที่เริ่มต้นของความคิด เป็นที่เริ่มต้นของความขัดแย้ง ขัดแย้งกับความคิดของเราเอง สิ่งที่เราคิดคุณงามความดีนี่เราทำได้ เราอยากทำ แต่ทำไมเราคิดได้เราอยากทำ แต่กิเลสมันพยายามคิดว่าให้ทำความสะดวกความสบายของมัน มันคิดว่าน่าจะเป็นไปไม่ได้ หรือทำจะเหนื่อยเปล่า เห็นไหม

เราคิดจงใจอยากทำ แต่แล้วกิเลสมันก็ผลักไส ผลักไสนี่เริ่มต้นตรงนี้ เริ่มต้นของตัวตน เราทำลายตัวตนเข้าไปแล้วตัวตนไม่มี แต่สภาวะความจริงของจิตมันมีอยู่ ตัวจิตมันมีอยู่ ตัวจิตถึงว่านิพพานถึงเป็นนิจจัง เหมือนนิจจัง ไม่ใช่นิจจัง เหมือนนิจจังว่ามันมีอยู่ มันเข้าใจอยู่ ถึงบอกว่าแผ่นดินที่ว่าเป็นวัตถุนี่ มันเป็นแผ่นดินที่ว่ามันเป็นสิ่งที่กิเลสมันซ่อนเร้นได้ แต่มันเป็นแผ่นดินของใจน่ะ ใจมันตัดมันพลิกคว่ำภวาสวะทั้งหมด แล้วมันกลับเป็นแผ่นดินในนามธรรมไง

สิ่งที่เป็นนามธรรมเปรียบเหมือนแผ่นดิน เวลาท่านบอกว่า ทำใจเปรียบเหมือนแผ่นดิน มันไม่ใช่แผ่นดิน แผ่นดินเป็นวัตถุ เปรียบเหมือนแผ่นดิน เปรียบเหมือนกับสิ่งที่เราปล่อยวางทั้งหมด นั่นน่ะเป็นนิจจัง เป็นสิ่งที่มีอยู่ในหลักนั้น มันถึงไม่หลงไง สิ่งที่ไม่หลงแล้วมันสว่างกระจ่างแจ้งตลอดในหัวใจนั้น หัวใจนั้นไม่หลง พอไม่หลงแล้วมันก็เข้าใจสภาวะ แล้วเข้าใจเรื่องของสัจธรรมเข้าไปหาสิ่งนั้นด้วย

ถ้าเทคนิควิธีการเข้าไปหามันเราผ่านแล้วเราถึงเข้าใจตรงนั้น ถ้าเข้าใจตรงนั้นทำไมครูบาอาจารย์จะสอนเราไม่ได้ ถ้าเราไม่ผ่านตรงนั้นน่ะ มันเป็นเทคนิควิธีการที่ว่าเราจะต้องเชื่อตัวเอง เชื่อกิเลสของเราเอง พอเชื่อกิเลสของเราเองนี่ เราจะไม่สมความปรารถนาของเรา อันนี้จะไม่สมประโยชน์

ถ้าเราไม่เชื่อตัวเราเอง เราไม่เชื่อตัวเอง เราเชื่อธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราถึงต้องไปวัด เราถึงต้องฟังธรรม ธรรมอันนั้นมันขัดกับกิเลสของเรา ขัดกับความเห็นของเรา ขัดไปแล้วก็ขัด เขาไม่ขัดธรรมดานะ ขัดหยาบ ๆ พอหยาบขึ้นมามันละเอียดขึ้นมานี่ขัดจากกลาง พอขัดจากกลาง ขัดจากละเอียด ขัดทั้งหมด มันขัดจากอย่างหยาบ ๆ ขึ้นมา พอเราเป็นอย่างกลางขึ้นมาเราก็จะพอใจของเราขึ้นมา เห็นไหม กิเลสมันก็พาขัดอีก ธรรมก็ต้องเสริมขึ้นมาอีก ขัดอย่างกลาง ขัดอย่างละเอียด ขัดอย่างละเอียดสุด จนสิ้นสุดไป

ใจถึงจะไม่หลง ถ้าใจไม่หลงแล้วสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติมันก็จะไม่หลงไป ถ้าอย่างนั้นเราต้องหาครูบาอาจารย์ หาที่พึ่งที่ไว้ใจได้ ถ้าไว้ใจได้เราก็มีที่พึ่งของเรา เอวัง