เทศน์เช้า

ปล่อยวาง

๒๗ พ.ค. ๒๕๔๔

 

ปล่อยวาง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ธรรมไง เวลาปฏิบัติธรรมเราอยากหาธรรมะกัน เราต้องหาที่พึ่ง เราพยายามปฏิบัติธรรมกัน ในหลักธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า “การปล่อยธรรมแล้ว การปล่อยวางอย่างหนึ่ง แล้วไม่หยิบอย่างใดอีกเลย อันนั้นจะเป็นความถูกต้อง” ความปล่อยวาง เห็นไหม ปล่อยวางแล้วว่าง ปล่อยวางแล้ววางไปเลย อันนั้นจะเป็นความถูกต้อง

แต่ในความเป็นจริงของใจเราน่ะ มันปล่อยวางอย่างหนึ่งแล้วมันก็ไปเอาหยิบอีกอย่างหนึ่ง มันปล่อยวางอย่างนี้แล้วมันก็ไปสืบต่ออย่างนั้น ไปคว้าอย่างนั้น อาจารย์บอก “จิตนี้เหมือนลิง” มันต้องอาศัยเกาะเกี่ยวไป

มันเหมือนกับเราประพฤติปฏิบัติใหม่ ๆ เหมือนกัน เรากำหนดพุทโธ ๆ นี่พยายามจำ จิตนี่มันแสดงตัวมันเองไม่ได้ มันเป็นนามธรรมอยู่เฉย ๆ ของมัน ตัวแท้ของมัน จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส ตัวที่ผ่องใสนี่มันเป็นเหมือนนามธรรม เหมือนกับสสารตัวหนึ่งแล้วไปประสาของมัน แล้วมันไปเกิดเป็นมนุษย์มีขันธ์ ๕ มีวิญญาณ มีความรู้สึก ไปเกิดเป็นเทวดามีขันธ์ ๔ ไปเกิดเป็นพรหมมีขันธ์ ๑ เป็นผัสสะ เป็นความรู้สึก ขันธ์นั้นเป็นความกระทบ

นี่ก็เหมือนกัน ตัวจิตโดยธรรมชาติของมัน มันแสดงตัวเองไม่ได้ แต่เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ เรามีขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ นี่ความคิดมันเกิดขึ้น สังขารมันเกิดขึ้น มันปรุง มันแต่ง มันเกิดขึ้น วิญญาณรับรู้ ขันธ์ ๕ มันแล้วแต่จริตนิสัยว่าใครตัวไหนมันจะแสดงตัวก่อน ส่วนใหญ่เป็นสัญญาแสดงตัวก่อน ต้องสัญญาก่อน สัญญาแล้วจิตมันแขกจรมาไง ผู้ที่จรมาแล้วจิตนี่มันเสวยอารมณ์เข้าไป ๆ

เวลาทำความสงบเข้าไปมันปล่อยวางอย่างหนึ่ง มันปล่อยอารมณ์อย่างหนึ่ง มันก็ไปจับต้องอารมณ์อีกอย่างหนึ่ง เห็นไหม การปล่อยอย่างหนึ่งแล้วไปหยิบอีกอย่างหนึ่ง อันนี้เป็นความไม่ถูกต้อง แต่มันเป็นวิธีการเริ่มต้นจากการประพฤติปฏิบัติมา การประพฤติปฏิบัติมามันต้องปล่อยวางมาอย่างนี้ โดยพื้นฐานของมันต้องปล่อยวางเข้ามา แต่ปล่อยวางเข้ามาแล้วนี่มันปล่อยวางด้วยอะไร? ด้วยสมถกรรมฐาน กับด้วยวิปัสสนากรรมฐาน

ถ้าด้วยวิปัสสนากรรมฐาน เห็นไหม มันปล่อยวางแล้วมันจะไม่หยิบสิ่งใดอีกเลย มันปล่อยวางแล้วปล่อยวางตามความเป็นจริง แต่ถ้ามันปล่อยวางแล้วมันไปหยิบอย่างอื่นต่อไป ขณะที่ปล่อยวางแล้วเราพอใจ แต่มันก็ไปหยิบอย่างอื่นต่อไป พอหยิบอย่างอื่นต่อไปมันก็สืบต่อไป มันสืบต่อไปนี่มันไม่มีการยับยั้งไว้ ไม่มีการใช้ปัญญาใคร่ครวญแยกออกไป มันถึงมีความเสียหายไง

นี่ไก่ป่าเห็นไหม ไก่ป่ากับไก่บ้าน ไก่ป่านี่จิตใจมันเข้มแข็งมาก เวลาเขาจับมาไว้บ้าน มันอดอาหารจนมันตาย แล้วมันอยู่ของมันน่ะ มันอยู่ตามชีวิตของมัน อยู่ในป่านี่อิสรเสรีของมัน อันนี้ก็เหมือนกัน แล้วถ้าเราประพฤติปฏิบัติ เราว่าพระป่า ๆ พระป่าประพฤติปฏิบัติอย่างไร? มักน้อย สันโดษ สันโดษเพื่ออะไร? มักน้อยสันโดษอยู่ในหลักการนี่ อยู่ในหลักของมักน้อยสันโดษ

ถ้าหัวใจมักน้อยสันโดษ มันจะมักน้อยสันโดษมาจากภายนอก ถ้าภายในมันสันโดษนะ มันจะรู้ถึงว่า ข้างในมันสันโดษได้นี่มันจะไม่เกาะเกี่ยวกับสิ่งภายนอก ปล่อยวางสิ่งหนึ่งแล้วไม่จับต้องอีกสิ่งหนึ่ง เห็นไหม ถ้าปล่อยวางสิ่งหนึ่งแล้วไปเกาะเกี่ยวอีกสิ่งหนึ่ง เว้นไว้แต่จริตนิสัยของแต่ละบุคคลนั้น จริตนิสัยนั้นจะไม่ทำให้เสียหาย

แต่ถ้าเป็นกิเลสแล้วมันทำความเสียหายไง กิเลสนี้มันเป็นการแสวงหา กิเลสนี้เป็นการยึดมั่น กิเลสนี้เป็นการที่ว่าเหยียบฝ่ายหนึ่ง ยกย่องฝ่ายหนึ่ง กดฝ่ายหนึ่งแน่นอน กิเลสนี้มันมีหนักมีเบา มันต้องเอาประโยชน์อย่างหนึ่ง เอาโทษอย่างหนึ่ง มันมีประโยชน์มีโทษในทุกสิ่งนั้น นี่ปล่อยวางสิ่งหนึ่งแล้วไปจับสิ่งหนึ่ง ถ้าปล่อยวางจากภายในเข้ามา ภายนอกจะไม่ไปเกาะเกี่ยวกับสิ่งที่ว่าเป็นผลประโยชน์ เป็นสิ่งที่ว่าเป็นกิเลส เป็นความกดฝ่ายหนึ่ง ยกฝ่ายหนึ่ง

นี่ไก่ป่าเป็นอย่างนั้น ไก่ป่าอยู่ป่าไปตามประสาของมัน จนกว่าชีวิตของมันจะหมดไป ไก่บ้านเห็นไหม ไก่บ้านเลี้ยงไว้ เขาเลี้ยงไว้ทำไม? เลี้ยงเอาไว้เชือด มันมีสุขอยู่สบายของมันนะ แต่มันไม่มีศักดิ์ศรีของมัน ศักดิ์ศรีของสัตว์ เห็นไหม เลี้ยงออกมานี่มันจะไม่มีอะไรเลย หน้าที่ของเขาคือกินอาหาร แล้วก็ให้เขาฆ่าไป แต่ไก่ป่า กว่าเขาจะได้มาแต่ละชิ้นแต่ละอันนะ เขาต้องแสวงหาของเขาเอง แต่อิสรเสรีของเขา

จิตใจก็เหมือนกัน จิตใจอิสรเสรี เห็นไหม ความเสรีของใจ ถ้าใจอิสรเสรี แต่มันเสรีนี่เราพูดในตามความเห็นของเรา ว่าจิตใจเสรี ความเสรีของมนุษย์ มนุษย์ต้องการความเสรีภาพมาก แต่ประเทศชาติที่ว่าอย่างสวีเดนนี่เขาให้เป็นรัฐสวัสดิการ เขาจะมีสวัสดิการมาก คนจะมีความสุขมาก แต่ความสุขในโลก ความสุขคือเขามีอยู่มีกิน ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยเขาพอใช้ แต่เขาเป็นประเทศที่ว่ามีสถิติการฆ่าตัวตายอันดับ ๑ ของโลก การฆ่าตัวตายของเขามาก

นี่เพราะอิสรเสรีของใจ อิสรเสรีของมนุษย์นี่มันป้องกันไม่ให้มีกฎกติกาไปบังคับมัน แต่นี่มันเป็นความเห็นของเราว่าอิสรเสรีแล้วจะมีความสุขไง แต่ความจริงหลักของศาสนา อิสรเสรีของใจ เห็นไหม พ้นจากกิเลสไป มันอิสรเสรีจากภายนอก แต่ความต้องการของใจนี่ มีความอยากอยู่ มีความต้องการอยู่ มีความคิดเบียดเบียนในใจอยู่ แต่มันไม่สามารถทำให้ตรงนี้เป็นอิสรเสรีได้

ความทำให้ใจเป็นอิสรเสรีภาพได้นี่ อิสรเสรีภาพที่ว่าพระอรหันต์เสมอกันหมด ด้วยความบริสุทธิ์ของใจ ใจจะบริสุทธิ์ ใจจะเป็นเสรีภาพ ใจจะเป็นอิสรเสรี มันต้องเข้ามาชำระไอ้สิ่งที่ว่า ปล่อยวางสิ่งหนึ่งแล้วไม่จับต้องอีกสิ่งหนึ่ง ทำอย่างไรก็ได้ ปล่อยวางสิ่งหนึ่งไม่จับต้องอีกสิ่งหนึ่ง

มันเหมือนกาวน่ะ กาวนี่ไปวางที่ไหนมันก็ติดใช่ไหม ธรรมดาของใจนี่ยางเหนียวของจิตมันไม่ใช่ติดข้างนอก มันติดตัวมันเอง สุดท้ายแล้วมันติดตัวมันเอง เริ่มต้นมันติดขันธ์ก่อน ติดธาตุติดขันธ์ ติดภายใน ติดความคิดของตัวเอง มันติดของมันเอง สุดท้ายแล้วชำระขันธ์ ๕ นี่ ขันธ์ขาดเป็นชั้นเป็นตอนเข้าไป สุดท้ายตัวมันเอง มันก็ไปเฉา ไปติดตัวมันเอง

นี่ตัวมันเป็นตัวกาว แต่มันติดขันธ์ ๕ ติดความคิดออกมาก่อน แล้วแยกเข้าไปเป็นชั้นเข้าไป ๆ สุดท้ายแล้วตัวมันเอง “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นตัวกิเลส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” ตัวที่มันเป็นกิเลสเองมันต้องติดในตัวมันเอง ความที่ติดตัวมันเองนี่ มันจะติดทุกอย่าง แล้วเมื่อก่อนติดจากภายนอก ติดจากขันธ์

นี่เวลามันสืบต่อออกไปหาเหยื่อ เห็นไหม มันผ่านมาจากความคิด ความนึกของเราออกไปข้างนอก หยาบ ๆ เข้าไป เวลามันตัดความคิดความนึกของมันนี่ มันตัดความเกาะเกี่ยวออกไป มันถึงตัวมันเอง บริสุทธิ์ในตัวมันเอง นี่ไร้เดียงสา จิตนี่จิตปฏิสนธิ นี่วิญญาณปฏิสนธิ กับวิญญาณในขันธ์ ๕ มันต่างกันตรงนี้ วิญญาณในปฏิสนธิคือวิญญาณตัวเกิดตัวตายไง เวลามันเกิดมันตายนี่ตัวนี้ไปเกิดไปตาย เกิดตายแล้วก็จะไปเสวยขันธ์อีก

แต่นี่เราตัดขันธ์เข้ามาแล้ว มันเป็นตัวของมันเอง ถ้ามันว่างนี่ผู้ที่อยู่ในเรือนว่าง มันจะว่างหมดเลย แต่ตัวมันเองมันติดในตัวมันเอง แล้วค่อยจับตัวมันตัวนี้ ถ้าเราจับได้ เห็นไหม จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นปฏิสนธิจิตที่จะไปเกิดอีก มันจะไม่ไปเกิดอีก แต่ถ้าจับไม่ได้ ถ้าถึงตรงนี้โดยที่ว่าวิปัสสนาเข้ามานี่ มันก็ไปเกิดบนพรหมโดยธรรมชาติของมัน

แต่ถ้าเราจับต้องมันได้นี่ “จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้หมองไปด้วยอุปกิเลส จิตเดิมแท้นี้ผ่องใส จิตเดิมแท้นี้เป็นผู้ข้ามพ้นกิเลส” ตัวข้ามพ้นกิเลสนี่มันปล่อยวางเข้ามาจากข้างนอก แล้วมันจะไม่จับต้องสิ่งใด ๆ เลย มันจะไม่จับต้องสิ่งใดแน่นอนในธรรมชาติของมัน เพราะยางเหนียวมันไม่มี มันสะอาดบริสุทธิ์ไป

แต่ถ้าเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา มันข้องไปหมด แต่มันติดไปหมดนี่ มันจะเริ่มถึงว่าครูบาอาจารย์ไง ครูบาอาจารย์เห็นไหม ที่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระกัสสปะ “กัสสปะเอย เธอทำไมถึงต้องลำบากลำบน” พระกัสสปะนี่อายุ ๘๐ เท่ากับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานน่ะ พระกัสสปะนี่ได้รับเอตทัคคะในทางธุดงค์กรรมฐาน ธุดงควัตรนี่ถือธุดงควัตรหมด จนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกว่า

“พระกัสสปะนี่เป็นพระอรหันต์ ไม่มีกิเลสแล้ว แต่ทำไมต้องถือธุดงค์อีก เธอทำเพื่อประโยชน์สิ่งใด?”

พระกัสสปะบอกไว้ “เราถือไว้เพื่อเป็นอนุชนรุ่นหลัง อนุชนรุ่นหลังจะได้มีที่อ้างอิงได้ มีที่ยึดเหนี่ยวได้”

พระกัสสปะไม่มีกิเลส ไม่ติดข้องสิ่งใดเลย แต่ก็ยังถือแนวทางไว้ให้เราก้าวเดินตาม ครูบาอาจารย์ถ้ามีธรรมในหัวใจนี่ มันต้องรักษาสงวนทางอันเอกนั้นไว้ ทางที่เข้าถึงมรรคอริยสัจจัง มรรคตามความเป็นจริง ในหัวใจต้องเปิดโล่งเข้ามา ให้มันเข้าถึงหัวใจนะ มันไม่ใช่ไปติดข้องเรื่องหยาบ ๆ เรื่องภายนอก ถ้าติดข้องเรื่องหยาบ ๆ เรื่องของภายนอก กิเลสภายนอกเห็นไหม แม้แต่กิเลสภายนอกนี่เราก็ติดข้อง ปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยเราติดข้องเข้ามาหมด

แล้วเราก็มาติดขันธ์ของเรา ขันธ์ของเรามันยึดตัวตนนี่ ตัวตนคือขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ยึดเรา ขันธ์ ๕ เป็นจิต เห็นไหม สักกายทิฏฐิ ขันธ์เป็นจิต ขันธ์ ๕ เป็นจิต จิตเป็นขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ทุกข์เป็นขันธ์ ๕ มันจะเข้าไปแยกแยะตรงนี้ ข้างนอกก็ตัด ข้างในก็ตัด ตัดขันธ์ ๕ ขาด ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ สักกายทิฏฐิ ๒๐ จะขาดออกไป

แล้วก็กามราคะปฏิฆะอ่อนไป แล้วก็ปฏิฆะ เห็นไหม ปฏิฆะความข้อมูลสะสมในใจ ปฏิฆะกามราคะขาดนี่ มันจะมีกามราคะ มันจะมีความโทสะ จะมีอะไรก็แล้วแต่นี่ มันมีข้อมูลเดิม ข้อมูลเดิมมันอยู่ในหัวใจ แล้วข้อมูลเดิมนี่เป็นตัวกระตุ้น ตัวกระตุ้นอารมณ์จะเกิดพลุ่งพล่านเต็มที่เลย กามราคะปฏิฆะเกิดจากตรงนี้ ถ้ากามราคะมันขาดนี่ ความผูกโกรธไม่มี ความผูกโกรธความเกาะเกี่ยวกันนี่มันเกี่ยวกับเรื่องตัวนี้ทั้งหมด

แล้วมันขาดออกไป พอมันขาดเข้าไปเป็นชั้น ๆ เข้าไป นี่ถึงได้ถึงตัวมันเองโดยธรรมชาติของมัน เป็นทางเดินเข้ามา ติดจากข้างนอก ถ้าไปติดจากข้างนอกมันก็หยาบ ๆ เรื่องของข้างนอก ถ้ามันปล่อยจากข้างนอกเข้ามา ๆ มันจะสงวนทางอันนี้ไว้ไง

นี่พระกัสสปะเป็นผู้ที่ข้ามพ้นกิเลสแล้วนะ ไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องมีความทุกข์ในหัวใจเลย แต่เห็นคุณค่าของการเดินก้าวไปถึงหัวใจ จะรักษาสิ่งนี้ไว้ให้พวกเราเป็นที่อ้างอิง เป็นผู้ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางไว้ และผู้ที่ก้าวเดินได้ตาม แล้วทางที่จะเดินตามเข้าไปถึงหัวใจนั่นน่ะ มันสำคัญตรงนี้ มันถึงว่าไก่ป่า พระป่า พระบ้าน ศักดิ์ศรีของความเป็นนักรบไง นักรบคือนักประพฤติปฏิบัติ การประพฤติปฏิบัติมันจะเห็นเป็นช่องเป็นทางเข้าไป ไม่ใช่ไปติดอยู่ข้างนอก มันเข้าไปไม่ได้

คำว่า “ปล่อยวาง ๆ” นี่ สรรพสิ่งใด ๆ ให้มันปล่อยวาง มันพูดได้เท่านั้นน่ะ มันปล่อยวางเท่านั้น แต่ถ้ามันไม่มีหลักไม่มีเกณฑ์ เอาอะไรไปปล่อยวาง ถ้ามันจะเอาอะไรไปปล่อยวางนี่ มันต้องมีหลักมีเกณฑ์ ความปล่อยวาง ความไม่เกาะเกี่ยวนี่ มันเป็นความกังวลน้อยลง ความกังวลภายใน ความกังวลภายนอก ถ้างานภายนอกน้อยลง ๆ นี่ความกังวลมันน้อยลง มันก็เข้าถึงภายในได้ ถ้างานข้างนอกมันมาก มันก็เกาะเกี่ยวอยู่ข้างนอก เกาะเกี่ยวอยู่กับข้างนอก

มันเป็นชั้นเป็นตอน เห็นไหม เกาะเกี่ยวข้างนอกเราเข้าไปข้างในไม่ได้ มันก็ติดกันอยู่นั่นน่ะ ไปไม่รอด ถ้ามันปล่อยวางเข้ามา มันจะปล่อยวางเข้ามา แล้วทำให้ลึกเข้าไป เป็นชั้น ๆ เข้าไปนะ พยายามทำให้มันละเอียดเข้าไปเรื่อย ๆ มันจะเห็นเอง ต้องเห็นโดยเด็ดขาด ถ้ามีคนประพฤติปฏิบัติอยู่มันจะเห็น ถ้าไม่มีคนประพฤติปฏิบัติอยู่ หรือประพฤติปฏิบัติอยู่แล้วไปเกาะอยู่ตรงนั้นน่ะ มันไม่ปล่อยวางเข้ามา

ถ้ามันมีความหยาบนี่มันไม่ปล่อยวางเข้ามา ถ้าไม่ปล่อยวางเข้ามา มันจะไปเห็นความละเอียดไม่ได้ ถ้าไปเห็นความละเอียดไม่ได้ มันจะชำระกิเลสไม่ได้ ถ้าไม่เห็นความละเอียด เพราะความละเอียดของใจ ใจเป็นนามธรรม สิ่งที่ไปเห็นนามธรรม ใจมันเร็ว เวลามันเป็นไปนี่มันเร็วมาก เห็นไหม เวลาทำสิ่งที่เร็วที่สุดให้มันหยุดนิ่งได้ สิ่งที่หยุดนิ่งได้เป็นสัมมาสมาธิ สิ่งที่หยุดนิ่งน่ะตัวมันเองเอาไปจับตัวมันเอง ถึงจะเห็นได้ ถึงจะเห็นความที่ว่ามันเกาะเกี่ยวอย่างไร มันติดพันอย่างไร แล้วมันจะปล่อยวางอย่างไร

มันจะรู้เองเห็นเอง มันถึงเป็นปัจจัตตัง เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกไง “เราเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น” คนเดินตามเดินถึงก็มี เดินไม่ถึงก็มี เพราะตรงนี้คนจะเห็นเอง ปัจจัตตัง เห็นความเป็นภายใน แล้วมันจะปล่อยจริง ๆ ปล่อยจริง ๆ ปล่อยเด็ดขาด ถ้าเห็นโทษมันจะปล่อยเด็ดขาด

แต่เราไม่เห็นตรงนี้ เราไปอยู่แต่หยาบ ๆ สิ่งหยาบ ๆ นี่ แล้วว่าเราปล่อยวาง ๆ ปล่อยวางมีความสุขมาก ๆ ปล่อยวางมีความสุขจริง ๆ ปล่อยวางอารมณ์น่ะ สัญญาอารมณ์ปล่อยวางสิ่งหนึ่ง ก็ไปจับต้องอีกสิ่งหนึ่ง ประเดี๋ยวมันก็เกิดอีก จับปล่อยอย่างหนึ่งไปจับอีกอย่างหนึ่ง ปล่อยอย่างหนึ่งก็ไปติดอีกอย่างหนึ่ง ปล่อยอย่างหยาบมันก็ไปติดอย่างละเอียด ถ้าปล่อยอย่างละเอียดเราตามเข้าไปที่ละเอียดนั้น เราไปทำที่ละเอียดนั้น ละเอียดนั้นก็ปล่อยวางเข้าไป มันจะปล่อยวาง มันก็ไปติดอันละเอียดเข้าไปอีก ก็ตามเข้าไปอีก ๆ จนถึงมันเป็นอิสระในตัวมันเอง มันติดตัวมันเองแล้วทำลายตัวมันเอง ถึงจะจบเห็นไหม

ถึงบอกว่าปล่อยวางแล้วจะไม่ไปติดข้องอย่างอื่นอีก ปล่อยวางสิ่งหนึ่งแล้วไม่ไปติดอีกสิ่งหนึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกอย่างนั้น ถ้าปล่อยวางแล้วไปติดในสิ่งอื่น สิ่งต่อไปนี่ มันก็ปล่อยวางในโลก ปล่อยวางแบบโลก ๆ เขา แล้วเราปล่อยวางทั้งหมดเลย มันจะจบ เอวัง