ไม่เป็นวิปัสสนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เป็นไปไม่ได้เลย แล้วก็อ้างว่าสมัยครั้งพุทธกาล ทำไมเขาไม่มีเลย ทำไมพระพุทธเจ้าเทศน์ออกไป เทศน์ปั๊บเป็นพระอรหันต์กันหมด
สมัยพุทธกาลนะ เขาอย่าว่าแต่มีศีลเลย เขามีสมาธิอยู่โดยพร้อมอยู่แล้วด้วย เพราะใจเขาพร้อม ดูอย่างปัญจวัคคีย์อย่างนี้ ปัญจวัคคีย์อุปัฏฐากเจ้าชายสิทธัตถะอยู่ ๖ ปี ทำมาตลอด มันก็ถือศีลมาด้วยกัน ทำสมาธิมาด้วยกัน พร้อมอยู่ด้วยกัน เพียงแต่ขอให้รอคนบอก อย่างพระสารีบุตรอย่างนี้ พอไปอยู่กับสัญชัยตลอดเวลา พออัสสชิบอกไปนี่ ทะลุผลัวะเลย
เขาพร้อมอยู่ตลอดเวลา เขาพร้อมหมายถึงว่าเขาต้องทำความสงบของใจ คือว่าใจเขาพร้อมเหมือนกับเราเตรียมดินไว้ปั้นโอ่ง เขานวดดินเตรียมดินไว้อย่างดีเลย แต่ขึ้นรูปไม่เป็น ทำไม่เป็น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า ต้องทำอย่างนี้นะ ทำอย่างนี้นะ ขึ้นรูปมา ขึ้นรูปเป็นโอ่งขึ้นมา มันก็เป็นโอ่งขึ้นมาในหัวใจ
ถึงบอกว่าถ้าอ้างว่าสมัยพุทธกาลไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีศีลก่อนนี่มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วมันจะเป็นโลกียะ เหมือนที่ในลัทธิต่างๆ เขาสอนกันไง เขาคิดเวียนไปเวียนมา เวียนไปเวียนมา อันนี้ก็เวียนไปเวียนมา
แล้วเขาบอกนะ เขาพูดด้วย เวลาเขาทำสมาธิเข้าไป สมาธิมันจะเข้าไป พอถึงเข้าไป เขากลัวผิดไง ต้องเกาะอภิธรรมไว้ไง ต้องรู้เห็น ต้องเคลื่อนไหว ต้องมีสติตลอดเวลา จะเคลื่อนไหวไม่ได้ เราบอก อืม.. น่าเห็นใจ
เหมือนน้ำพร่องไง น้ำค่อนแก้ว มันเขย่ามันจะมีเสียงดัง ถ้าน้ำเต็มแก้ว มันจะไม่มีเสียงดัง พอจิตมันจะลงสมาธิมันเหมือนน้ำจะเต็มแก้ว เราก็ไปดึงมันไว้ซะเพื่อจะไม่ให้มันลง เพราะลงแล้วกลัวจะผิดพลาดไง กลัวจะผิดจากปริยัติไง ปริยัติบอกเลยว่าต้องมีสติสัมปชัญญะตลอด มันก็เลยดึงความรู้สึกตัวเองไว้ ดึงตัวเองไว้ จนมีวันหนึ่งมันวูบลงไป เห็นเป็นดอกบัวอยู่กลางหัวใจเลยนะ เป็นอยู่หนเดียว แล้วก็ไม่กล้าเป็นอีกเพราะอะไร? เพราะกลัวผิด
เราก็เลยอธิบายไง อธิบายบอกว่า เหมือนกับคนแบกขี้ไป ในพระไตรปิฎกนะ คนออกจากบ้านไปหาสมบัตินะ แบกขี้มา แล้วพอเดินไปเจอเงิน ทิ้งเอาเงิน พอเดินไปเจอทอง ทิ้งเงินเอาทอง เขาจะได้ทองคำมา
อันนี้เราแบกขี้มา แล้วเราก็ไม่ยอมทิ้งอะไรเลย คือว่าเรียนในปริยัติมา มันเป็นสุตมยปัญญา แล้วก็ภาวนาเข้าไปจะเกิดจินตมยปัญญา แล้วก็เกิดภาวนามยปัญญา อันนี้สุตมยปัญญานี้แบกไว้ตลอดนะ ไม่ยอมทิ้งเลย มรรคหยาบๆ มันฆ่ามรรคละเอียดไง ความเห็นของเรามันหยาบ เป็นโลกียะตลอด เป็นเรื่องของโลก เป็นเรื่องของตัวตน เป็นเรื่องของเราทั้งหมดเลย แล้วก็ความตัวตนนี้ศึกษาพระไตรปิฎกมาก็ยึดไว้มั่น ยึดเอาไว้ตลอดเลยนะ ไม่กล้าทิ้งอันนี้ไง ทิ้งแล้วกลัวมันจะเป็นความผิดไป
ความผิดที่ไหน ในเมื่อเราจับต้องมา เหมือนกับเราสาวไป เหมือนโดดหอ จากบนหอโดดมา มันก็ต้องไหลลงมาตามน้ำหนักดึงดูดของโลกที่ลงมาสิ อันนี้จิตก็เหมือนกัน ในเมื่อมันภาวนาแล้ว มันพัฒนาขึ้นไป มันต้องปล่อยให้เป็นไปสิ ทำไมไปรั้งไว้ไม่ยอมให้มันเป็นไป? เพราะกลัวผิดๆ ไง
อธิบายให้เขาฟังนะ แล้วเขาบอกว่าอย่างนี้ก็กลัวผิด แล้วเวลาเกิด เห็นไหม สติปัญญา สติมันดีอยู่ตลอดเวลา เพราะต้องมีสติพร้อม เราบอก สติอย่างนี้มันหยาบเกินไป แล้วมหาสติหมายความว่าอย่างไร?
มหาสติของเขาหมายถึงความแยกแยะ เราบอก ไม่ใช่ สติปัญญานี่มันสติปัญญาที่เราทำกันตลอดเวลา เหมือนกับเราโลกียะ มันเป็นสติปัญญาขึ้นมา เหมือนเราจะขึ้นไปโดดหอ เราต้องก้าวขึ้นไปบนหอแล้วโดดหอลงมา การก้าวเดินขึ้นไป สติทำปกติของเรา เราคิดเรื่องโลกียะนี่เป็นสติ มันยังจับต้องได้ มันเป็นจุดเริ่มต้น มันใช้สติเข้าไปเรื่อยๆ
พอมันไปแบ่งแยกเข้าไป วิปัสสนาเข้าไปเกิดขึ้นแยกกายกับจิตนี้ออกจากกัน กายกับจิตนี้แยกออกจากกัน แยกออกจากกันเหมือนจิตล้วนๆ อันนั้นต่างหากเป็นมหาสติ มหาสติมันจะเกิดขึ้นต่อเมื่อจิตนี่มันเป็นจิตล้วนๆ มันไม่ต้องผ่านกาย มันคิดของมันเองได้ออก อันนั้นต่างหากเป็นมหาสติ แล้วมันยังมีสติอัตโนมัติเข้าไปอีก
ถ้าผู้เห็นอย่างนี้ เห็นจริงแล้วจะพูดได้ตามความเป็นจริง แล้วมันจะรู้จริง แต่ถ้าผู้ไม่เห็น มันก็พยายามจะไปโน้มนำเอาสติ มหาสติมาอธิบายเป็นเหมือนโลกียะ เป็นเหมือนกับความตัวตนทั้งหมดเลย มันมีตัวตนตลอดไป เราถึงบอก ผลงานมันจะไม่ได้
แล้วก็ว่ากันว่าเขาไม่มี ไม่ต้องใช้เลย ใช้แต่ปัญญาเข้าไป ตอนนี้มีส่วนใหญ่บอกเลย ให้ใช้ปัญญาอย่างเดียว ไม่ต้องใช้สมาธิ ไม่ต้องใช้ศีลเลย มันจะเรื่องเป็นภาวนาไปได้ เราบอก เป็นไปไม่ได้เลย! เพราะมันไปขัดกับพระไตรปิฎก
พระพุทธเจ้าบอกไว้เลย เข้าถึงนะ...เรื่องของธรรมนี่เข้าถึงด้วยตรรกะไม่ได้ เข้าถึงด้วยปรัชญานี้ไม่มีทางเลย แล้วใช้ปัญญาทั้งหมดมันเป็นอะไร? ถ้ามันไม่เป็นตรรกะใช้คิด มันเป็นอะไร? แล้วใช้ตรรกะอันนั้นจะเข้าถึงธรรมเป็นไปได้ไหม?
มันเป็นไปไม่ได้เลย! มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่เพราะอะไร? เพราะเราก็ไม่รู้ เราก็คิดประสาเรา เราคิดประสาเรา เราก็ทำตามประสาเรา แล้วพอมันใคร่ครวญไป มันใช้ตรรกะไป มันจะแหวกเข้าไปไง แหวกความคิดจากหยาบๆ นี่เข้าไป ละเอียดเข้าไป เพราะพวกปรัชญามันพูดกัน มันจะสนุกมาก มันจะแบบลึกซึ้งในปรัชญา จะลึกซึ้ง อันนี้พอลึกซึ้งเข้าไป จิตมันก็ให้ผลไง จิตมันให้ผลว่ามันให้ผลอันที่ความเข้าใจอันนั้น ความลึกละเอียดของจิตมันเข้าไป ก็คิดว่าอันนี้เป็นธรรม
มันจะเป็นธรรมไปได้อย่างไร? มันก็เหมือนกับทำสมถะเท่านั้น ใช้ปัญญาอบรมสมาธิไง จะคิดขนาดไหนมันก็เข้าไปหาความสงบ เข้าไปหาความสงบ เข้าไปหาความสงบเพราะอะไร? เพราะมันไม่ใช่งานชอบ
งานชอบ มันถึงงานชอบ เห็นไหม ถ้างานชอบ การทำความสงบของใจเป็นสมถธรรม แล้วยกขึ้นวิปัสสนาต่างหาก ยกขึ้นวิปัสสนามันถึงจะเป็นงานชอบ ยกขึ้นวิปัสสนาตรงไหน? ตรงกายกับจิต เห็นไหม ถ้าตรงกายกับจิต แล้วที่เราทำเข้าไปนี่ไม่ใช่กายกับจิตเหรอ?
กายกับจิตเป็นการชำระล้างตัวเองอย่างหนึ่ง กายกับจิตนี่ชำระล้างตัวเอง อารมณ์หมักหมม อารมณ์ความคิดของตัวตนมันเป็นเรื่องของโลกเขา เป็นสมถะ สมถะนี่การซัก การทำความสะอาดของใจเข้ามาเป็นชั้นๆ เข้ามา อันนี้มันเป็นการทำความสะอาดของใจ มันไม่ใช่ตัวเห็นใจ มันถึงไม่ใช่งานชอบ เพราะมันเป็นสมถะใช่ไหม?
คำว่า สมถะ เริ่มต้นทำอย่างไร? ทำความสงบทำความสะอาดนี่มันเป็นสมถะ ความสะอาดของใจ เราเข้าใจว่าเป็นความสะอาดของใจ มันไม่ใช่การซักล้าง มันเป็นทำความร่มเย็นเฉยๆ ทำความร่มเย็นก็เหมือนกับว่าเราทำความของสกปรก ปัดเข้าใต้พรม จะกวาดบ้านกวาดเรือน ปัดของสกปรกเข้ามุมไว้ๆ มันก็มีความสะอาดส่วนหนึ่งให้เราเห็นว่าตรงนี้เป็นสะอาด
อันนี้ก็เหมือนกัน เพราะมันมีความสะอาดอย่างนี้ เห็นไหม มันถึงว่าไม่มีตัวตน ไอ้ความสกปรกนั้นคือตัวตนไง ความสกปรก ความข้องของใจ ใจที่มันข้องนั่นคือตัวตน แล้วถ้าทำความสงบเข้ามา ไอ้ตัวตนนั้นมันลดน้อยลง พอลดน้อยลง ความสะอาดมันเกิดขึ้นบ้าง เห็นไหม แต่ไม่ได้ชำระเชื้อ
การชำระเชื้อคือการเห็นไง การจับต้องไง การจับต้องนี่ต้องกายหรือใจ ถ้าจับต้องกายหรือใจนั้นถึงงานชอบ งานชอบชอบในสติปัฏฐาน ๔ สติปัฏฐาน ๔ มันอยู่ตรงนี้ไง แต่สติปัฏฐาน ๔ ที่เราพิจารณาของเขาเข้ามา ๑ ถึง ๘ เห็นไหม พิจารณานามรูปๆ เข้ามา นามรูปใจมันเกาะเกี่ยว อย่างเช่นความโกรธ เมื่อวานเขาถามว่าโลภ โกรธ หลง อะไรเป็นตัวที่ว่ารุนแรงที่สุด?
ทุกคนบอกว่าความโกรธรุนแรงที่สุด ความโกรธนี่เป็น เห็นไหม แต่ความจริงแล้วเป็นความหลง เพราะความโกรธนี่มันโกรธขึ้นมาจากอะไร? โกรธจากความไม่รู้จริงใช่ไหม? เราจะโกรธขึ้นมาเพราะว่าเราหลง เราไม่เข้าใจ เพราะว่าเขาว่าเรา มันขัดข้องหมองใจไง
ความขัดข้องใจ สิ่งนั้นเกิดขึ้นมันต้องมีวัตถุ มันต้องมีสิ่งของเข้าไปขัดข้องใจ ความขัดข้องใจแล้วใจถึงมีความโกรธไป ความขัดข้องอันนั้นคือความหลงไง ถ้าความหลงไม่มี ความขัดข้องนั้น สิ่งใดขัดข้อง? ใจเราผิดหรือไม่เขาผิด มันต้องพิจารณา นี่ถ้าปัญญามันใคร่ครวญไป
ถ้าความหลงไม่มี ความโกรธไม่มีหรอก ความหลงผิด ความโกรธถึงเกิด เพราะเวลาเราโกรธ มันต้องมีเหตุผล เหตุผลเพราะอะไร? เพราะว่าเขาว่าเรา เขาอย่างนั้นๆ หรือสิ่งผิดปกติแล้วมันขัดข้องใจ เห็นไหม นี่มันหลงไปแล้ว ตรงนี้มันหลงแล้ว พอมันหลงไปมันก็โกรธไป
อันนี้เหมือนกัน ว่าเวลาทำความสงบของใจเข้ามา เมื่อก่อนเราเป็นคนขี้โกรธมาก เราเป็นคนที่โมโหมาก เราเป็นคนอะไรนี่ เดี๋ยวนี้มันชำระล้างได้ ใจมันสะอาดเข้ามา เดี๋ยวนี้มันเราพัฒนาขึ้นมา ใจมันพ้นจากโกรธขึ้นมา
นี่มันไม่ใช่! มันเป็นทำความร่มเย็นของใจ ความโกรธอันนี้มันระงับไว้เฉยๆ ถ้ามันจะชำระความโกรธได้ มันต้องไปชำระที่ว่าชำระที่ปฏิฆะ ปฏิฆะคือความผูกโกรธ ปฏิฆะ-กามราคะ ถ้าไปชำระล้างตรงนั้นได้ มันถึงจะชำระโกรธได้จริง
อันนี้ไม่ใช่ชำระโกรธ กดความโกรธไว้เฉยๆ กดความโกรธไว้ด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยความใคร่ครวญ กดเอาไว้ให้มันละเอียดเข้ามาๆ เห็นไหม นี้พูดถึงผลของโลกียะไง ผลของโลกียะกับผลของโลกุตตระ
ผลของโลกียะนี่มันจะเห็นความว่าเราร่มเย็นลง เราสงบเสงี่ยมลง เราสงบเสงี่ยมลงนี่มันควรแก่การงานเฉยๆ มันควรแก่การงาน ควรแก่การพัฒนาใจ นี่ควรแก่การงาน ถ้าควรแก่การงานเข้ามา แล้วมันยกขึ้นถึงวิปัสสนา
อันนี้มันไม่ยกขึ้นวิปัสสนานี่สิ ถ้าไม่ยกขึ้นวิปัสสนามันถึงจะไม่ได้ผล มันเพียงแต่ว่าทำแล้วไม่มีผล แล้วมันทำไม่มีผลเพราะอะไร? เพราะว่าถ้าเราไปหวังผลนี่เราเป็นหยาบ ถ้ามีความหยาบขึ้นมา อันนี้เป็นตัณหา เป็นความหยาบ ความหวังผลนี่มันถึงจะได้ผล ถ้าความไม่หวังผล มันปฏิเสธผล
เราบอกเลยว่า การทำงานของเราโดยจิตใต้สำนึก ทุกคนต้องหวังผลโดยธรรมชาติของมัน ผลต้องมีขึ้นมา แต่ถ้าเราไม่หวังผล นี่ก็ทำไปสักแต่ว่าทำไป ถึงว่าไม่มีผล ทำไปโดยไม่มีผลเลย เป็นสุตมยปัญญาอยู่อย่างนั้น วนอยู่ในสุตมยปัญญาอย่างนั้น จะเข้ามาถึงวิปัสสนา แล้วเข้ามาถึงโลกุตตระไม่ได้เลย
ถ้าเข้ามาถึงโลกุตตระ ถ้าวิปัสสนายกขึ้นกายกับจิตแล้ว วิปัสสนาไป วิปัสสนาไป...หลวงตาว่าไว้ เวลาถ้ามันขาด มันจะแยกออกจากกันนะ จิตเป็นส่วนหนึ่ง กายเป็นส่วนหนึ่ง ทุกข์เป็นส่วนหนึ่ง แยกออกไป เหมือนกับทวีปนี่แยกออกเป็น ๓ ทวีปเลย มันจะห่างกันมากเลย
พอห่างกัน ระยะห่างมันห่างออกไป แล้วอะไรมันหลุดออกไป?
สิ่งที่หลุดออกไปคือสังโยชน์ไง สังโยชน์หลุดออกไป พอสังโยชน์หลุดออกไป ความโกรธมันจะไม่มีเลย ความหลงความคิดมันจะไม่มี เพราะอะไร? เพราะมันขาดออกไป แล้วถ้าไม่มี เขาก็ย้อนกลับมา ถ้าไม่มีทำไมเวลาหลวงตาแสดงธรรม ทำไมมันออกอาการรุนแรงอย่างนั้นมาก?
อันนี้มันเป็นสัญชาตญาณ เห็นไหม สังโยชน์กับสัญชาตญาณมันต่างกัน สัญชาตญาณของคน เห็นไหม หลวงปู่ขาวนี่จะนิ่มนวลมาก หลวงปู่ฝั้นจะนิ่มนวลมาก ความนิ่มนวลมากแต่ก็เป็นความเข้มแข็งอยู่ภายใน เวลานี่ อ่อนนอกแข็งใน เห็นไหม อ่อนนอก ข้างนอกนี่นิ่มนวลเป็นสัญชาตญาณ เป็นกิริยา แต่ความเข้มแข็งต้องอยู่ข้างใน
การประพฤติปฏิบัติมันต้องมีความเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา ความเข้มแข็งอันนั้นมันเป็นความเริ่มต้นที่ว่าจะเริ่มไปชำระกิเลส การชำระกิเลสมันจะย้อนกลับมานะ มันจะหลอกลวงมาตลอดเลย ถ้าเราไม่เข้มแข็ง เราจะล้มลุกคลุกคลานไปตรงนั้น ถ้าเราเข้มแข็งขึ้นมา มันจะตรวจสอบไง เข้มแข็ง เวลาอะไรมันจะผ่านมา มันต้องจับใคร่ครวญแล้วตรวจสอบ ตรวจสอบจนกว่าสังโยชน์จะขาด
แต่ในการกระทำของเขา มันเป็นสัญญาอารมณ์ เห็นนามรูป เห็นความเห็นไป ถ้ามันจะไม่เป็นความผิดนะ มันไม่เป็นความผิด มันต้องตอกย้ำอยู่ตรงนั้น ตรงกายนะ ย้ำอยู่ตรงนั้น คือว่ามันต้องฝืนกับการก้าวเดินของเขา
การก้าวเดินของเขาคือว่ามันก้าวเดินขึ้นไปเลยใช่ไหม? ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ขึ้นไป พอสร้างสัญญาอารมณ์ขึ้นไป ๑ เหมือนนักเรียนผ่านชั้นๆๆ พอผ่านชั้นแล้วนะ ถึงเวลาแล้วก็ต้องมาทดสอบ ต้องมาตรวจสอบกันตลอดเวลา ต้องมาทดสอบ คือว่าเขาจะมีของเขา ถึงเวลาเขาต้องไปตรวจย้ำของเขาอีกทีหนึ่ง เห็นไหม มันไม่เป็นปัจจัตตัง มันไม่ขาดออกไปที่ว่าขาดแล้วขาดเลย
ถ้าอย่างวิปัสสนาเรา สังโยชน์มันขาด ขาดแล้วขาดเลย มันถึงเป็นผลขึ้นมา พอเป็นผลขึ้นมามันก็เป็นผลที่ว่าใจดวงนั้นรู้จริง รู้จริงตรงนี้ รู้จริงกลับมาตรงที่ว่าอันเก่านั้นเป็นสัญญาอารมณ์ สัญญาอารมณ์นี้มันสะสมลงที่ใจ แล้วมันสร้างอย่างนั้นได้จริงๆ แต่มันไม่เป็นความเป็นจริง
น่าสงสารเขามากนะ แล้วเวลาพูดนี่ เขาจะมีหลักเกณฑ์มาก เวลาพูดย้ำอยู่ นั่งฟังอยู่นาน จนบอกเลยอภิธรรมก็มีอยู่เหมือนกัน สมถะ ทีแรกบอกเลยว่าสมถะนี่จะเป็นของที่ว่าทำให้เนิ่นช้า ทำให้เสียเวลา ทำให้แบบว่าไม่มีปัญญา เราบอกเลยนะ ถ้าเป็นอภิธรรม เขาจะรู้เรื่องนี้เลย วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ นี่เป็นองค์ของฌาน องค์ของฌานต้องมี ๕ อย่างนี้
นี้ใจของคนก็เหมือนกัน เวลาเริ่มปฏิบัติ เห็นไหม พุทโธนะ วิตกยกขึ้น นึกพุทโธนี่วิตกยกขึ้น วิจาร...พุทกับโธนี่วิจาร เราทำไปเรื่อยๆ มันจะผ่าน มันเป็นธรรมชาติของมันต้องผ่านปีติ ฉะนั้นเวลาปีติเกิดขึ้น อาการไหว อาการคลอน ธรรมดาของเด็กมันไม่เคยเจออะไร พอเจอแล้วมันจะตื่นเต้น พอตื่นเต้นแล้ว ไปบอกเขาหรือไปรายงาน เขาบอกนี่หลง หลงผิดไปเพราะว่าอันนี่มันไม่ใช่ทาง
มันไม่ใช่ทางแต่มันเป็นทางผ่านของใจทุกๆ ดวงที่ต้องผ่านตรงนี้ มันเป็นทางผ่าน ในวิปัสสนาเราก็บอก ตรงนั้นก็ไม่ใช่ แต่มันเป็นทางผ่าน
แล้วเราจะปฏิเสธได้ไหมว่าอาหารที่เอามากินกัน ห้ามมีรสชาติ ให้มีแต่คุณค่าของอาหาร ไม่มีรสชาติ เป็นไปไม่ได้เลย รสชาติของอาหารเป็นรสชาติของอาหารใช่ไหม? คุณค่าของอาหารเป็นคุณค่าของอาหารใช่ไหม? ทุกคนหาคุณค่าของอาหาร แต่ทุกคนก็ติดในรสของอาหาร อันนี้ก็เหมือนกัน เราทำสมถะขึ้นไปเพื่อจะลดแรงตัวตนของตัวเอง แต่มันก็ผ่านไอ้ตัวพองตัวไหว มันต้องผ่านปีติ มันยังเป็นขั้นๆ ขั้นผ่าน มันไม่ใช่ขั้นถึงว่าเป็นผลที่เราต้องการ
นี้ขั้นผ่าน คนไปตื่นเต้นกับขั้นผ่านนี้เอง ถึงว่าผิดมันก็ยอมรับว่าผิด ผิดในการที่ว่าตรงนี้มันเป็นทางผ่าน มันไม่ใช่ผล พอผ่านปีติเข้าไปมันถึงสุข แล้วถึงเอกัคคตารมณ์ ถึงจะเป็นสัมมาสมาธิ
พอผ่านเข้าไป มันขั้นผ่านนี่นา นี้ขั้นผ่าน ไอ้คนที่ไปรายงาน คนที่ไปถามเขาว่าเป็นอย่างนั้น แล้วจะเอาตรงนี้มาเป็นจุดบอกว่าอันนี้เป็นความผิดตลอดเวลา เพราะอันนี้ผิดปั๊บ มันถึงปฏิเสธสมถะ แต่สมถะแล้วก็ไปอยู่ในญาณที่ ๙ พอญาณที่ ๙ ถึงเป็นสมถะ
พอสมถะแล้วเราบอก นั่นถ้าเป็นสมถะปั๊บ ตรงนั้นมันเป็นจุดเริ่มต้น ถ้าเกิดสมถะแล้วมันถึงจะแยกตัวตน แล้วมันจะเป็นออกไปได้ เขาก็บอก เราถึงว่า ๑ ถึง ๘ นี้เป็นโมฆะ ๙ นั้นเริ่มต้นเอามาเป็น ๑ ถ้าเป็น ๑ แล้วถึงเป็นไปได้ นี่เขาแน่นของเขา วิชาการเขาแน่นมาก คุยกันเมื่อวานคุยกันนาน คุยกันให้เป็นผลออกไป เอวัง