เทศน์เช้า

คุณของศีล

๑o มี.ค. ๒๕๔๔

 

คุณของศีล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

พระที่บวชมาในศาสนาต้องมีดีสิเพราะอะไร? เพราะเรื่องของศาสนธรรมคำสั่งสอนพระพุทธเจ้านี้เยี่ยมมากเลย ทำไมคนที่บวชพระแล้วทำไมต้องดีหมด? ทำไมบวชพระแล้วถึงทำตัวกันเหลวไหลก็มี?

ผู้ที่บวชพระแล้วทำตัวเหลวไหล มันไม่เข้าถึงธรรม ทำไมว่าอย่างนั้น มันเป็นการยืนยันกันว่าพวกเรานี่ไม่เชื่อในศาสนาไง ถ้าเชื่อศาสนาพระต้องดีก่อน พระนี่ต้องไม่มีเสียเลย พระต้องดีก่อน

ทีนี้ถ้าพระดีก่อน มันก็เป็นไปได้ ถ้าพระเข้าใจเรื่องอย่างนี้นะ พระเข้าใจแล้วพยายามทำ ก็ดูใจนี่ ย้อนกลับมาดูที่ว่าหัวอกเขาหัวอกเรา เวลาประพฤติปฏิบัติใหม่ๆ พอบวชมาแล้ว อาจารย์มหาบัวท่านเทศน์ “เวลาบวชเราบวชแต่ร่างกาย เราไม่ได้บวชหัวใจ พอเราไม่ได้บวชหัวใจมันก็เหมือนโดนขังคุก มันจะขังไว้เลยนะ มันจะขังไว้เพราะมันออกไม่ได้ ขังด้วยศีลด้วยธรรม เห็นไหม กรอบวินัยนี่ไปไหนไม่ได้แล้ว”

มีนะ มีนายพลที่เขามาบวช เขาบอกว่าเวลาบวชเสร็จนะ เวลาบวชออกจากโบสถ์มาเขาจะร้องไห้โฮเลยนะ เข้าไปถามเป็นเพราะอะไรล่ะ? มันเหมือนกับตายจากมนุษย์ ตายจากคนๆ หนึ่งมาเกิดใหม่เป็นพระไง เหมือนกับสิทธิต่างๆ ในสมบัติของเขาที่เขาหาไว้ หลุดจากมือเขาไป เหมือนเขาตายไปเลย เขาตายจากโลกมนุษย์แล้วมาเกิดเป็นเพศอีกเพศหนึ่ง เป็นเพศของพระสงฆ์ นั่นน่ะหัวใจเขาใฝ่ดี แล้วเขาก็มาประพฤติปฏิบัติไง ตอนนี้ตายไปแล้ว แต่ถึงไม่ถึงเขาก็พยายามของเขาอยู่

ไอ้นี่ก็เหมือนกัน เราคิดมา ดูอย่างนี้ ดูอย่างชีวิตของสัตว์สิ ดูอย่างคางคก อึ่งอ่าง เห็นไหม เวลามันพยายามหาอยู่หากินของมัน เวลาแมงเม่ามันออก มันไปเที่ยวหาอยู่เพื่อชีวิตมัน แล้วมันก็โดนรถทับตาย เห็นไหม ด้วยความไม่รู้เรื่องอะไรของมันเลย มันโดนรถทับตาย ชีวิตมันก็ต้องหมดไป

แล้วชีวิตเรานี่เราหาอะไร? ถ้าเราหาคุณงามความดี คุณงามความดีมันคืออะไร? คุณงามความดีอยู่ที่ไหน? แล้วสิ่งใดที่มันจะเป็นสมบัติของเราไป? ถ้าหาคุณงามความดีอย่างนั้น ชีวิตนี่มีค่า ถ้าชีวิตนี้มีค่า มันก็เริ่มทำ

มันก็เหมือนพระนี่แหละ พระถ้าลองคิดถึงว่ามรรคผลนิพพานหรือสิ่งที่เป็นเป้าหมาย ไอ้ความที่ว่าเป็นทุกข์เป็นยากนี่มันจะเป็นเรื่องปัญหารอง ถ้าไม่คิดถึงตรงนี้มันเป็นปัญหาใหญ่ มันเป็นปัญหาใหญ่เรื่องที่ว่ามันห่วงร่างกายไปหมดไง มันห่วงว่าเราถ้าวันนี้กินข้าวมื้อเดียว ถ้าเราไม่กินให้อิ่มขึ้นไป เดี๋ยวมันตอนบ่ายแล้วมันจะไม่มี มันเป็นห่วงตรงนั้นไง

แต่มันไม่คิดมุมกลับนะ ฉันข้าวมื้อเดียว โลกทั่วไปเห็นว่าทำได้ยากนะ แต่ลองประพฤติปฏิบัติสิ ทำไมเวลากลางคืนเรานั่งแล้วยังง่วงเหงาหาวนอน? ยังหลับสัปหงกอยู่? แม้แต่ฉันมื้อเดียว ธาตุขันธ์มันก็ได้อาหารมากเกินไป พอได้อาหารมากเกินไป นี่ธาตุมันทับขันธ์ ธาตุคือร่างกายมันแข็งแรงไง พอมันแข็งแรง ความแข็งแรงของมัน พลังงานมันเหลือใช้ไง พลังงานมันเหลือใช้ เวลาเรานั่งขึ้นไปพลังงานมันไม่พอดีกัน อำนาจมันเหนือกว่า มันกดหัวใจให้นั่นน่ะ

ถึงต้องผ่อนอาหารไง นอนน้อย ฉันแต่น้อย ฉันน้อยนอนน้อยนี่เพื่อให้ภาวนามากนะ

เวลาเราคิดเป็นห่วงมัน แต่ความที่เราคิดว่าเป็นห่วง มันมาฆ่าตัวเองโดยไม่รู้สึกตัวเลย เวลานั่งไปแล้วมันจะห่วงเหงาหาวนอน มันจะอะไร มันจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราผ่อนอาหารขึ้นไป มันเป็นนะ เป็นเหมือนกับคนเรานี่เหมือนกับคนไข้ ถ้าฟื้นจากไข้ขึ้นมา ร่างกายมันจะเบามาก มันจะฟื้นไข้ พอเราอดอาหารผ่อนอาหารแล้วมันจะเป็นอย่างนั้น มันเบาจริงๆ พอเบาขึ้นมา นี่ความคิดของเราเองฆ่าเราเอง

แต่ถ้าความคิดของเรา พอปฏิบัติเข้าไป อย่างที่ว่าชีวิตนี้คืออะไร เราพยายามค้นหาประโยชน์ พระก็เหมือนกัน บวชมาแล้วมันมีเครื่องมือแล้ว มันเป็นเพศเลย เพศ เห็นไหม ธงชัยของพระอรหันต์ ผู้มีกาลเวลามาก เป็นผู้ที่ความเปิดกว้าง มันก็พยายามจะฝึกของตัวเองขึ้นมาไง พอฝึกตัวเองขึ้นมา พอฝึกขึ้นไปแล้วมันไม่ได้ ถ้าเราทำอะไรแล้วไม่สมประโยชน์ เราก็ต้องเสียใจใช่ไหม? นี้พอทำอะไรไม่ได้ขึ้นมามันก็จะย้อนกลับมาสิ ไม่ได้เพราะเหตุไร? มันก็ย้อนมาที่อาหาร ย้อนมาดูที่ศีล

เวลาอยู่ป่า พระอยู่ป่านี่ศีลบริสุทธิ์อยู่ป่าได้ เห็นไหม นี่เพราะศีลคุ้มครอง เพราะมาดูที่ศีล ถ้าดูที่ศีลปั๊บ ความกังวลก็ไม่มี นิวรณธรรมก็ไม่มี พอมันทำไปใจมันจะเปิดไปเองๆ เพราะว่าเราสนใจแล้วเราพยายามเข้าไป มันจะย้อนกลับมาดูว่าสิ่งที่เราห่วงอาลัยอาวรณ์ สิ่งที่เรากลัวว่าเราจะทุกข์จะยาก มันกลับเป็นม่านกั้นเราเองเลยนะ

เราทำไปไม่ได้ เพราะเราไปห่วงตรงนี้ก่อน แล้วสิ่งที่มันจะมาแล้วไม่ได้ ถ้าเราไม่ห่วงตรงนี้ เราทำประสามันไป พอละเอียดอ่อนเข้าไปเรื่อยๆ มันจะเห็นโทษของตรงนี้ โทษของตรงนี้ก็ทำเข้าไปเรื่อยๆ ใจมันถึงจะเข้าถึงธรรม พอเข้าถึงธรรม มันจะเข้าถึงสมาธิธรรม มันจะเห็นโทษของศีลไง ไม่อย่างนั้นถ้ามันไม่เห็นโทษของศีลมันทำผิดได้ มันทำผิดศีลทำผิดอะไรไป มันก็ไม่มีอะไรเพราะอะไร? เพราะเราอยู่ในเมือง ไม่เคยอยู่ในป่า

ในประวัติหลวงปู่มั่น ที่ว่าพระไปอยู่ในถ้ำแล้วตายไป ๒ องค์ หลวงปู่มั่นเป็นองค์ที่ ๓ ไปอยู่อดอาหารเข้า เขานึกว่าหลวงปู่มั่นตายแล้ว เขาก็ขึ้นไปดู.. ไม่ใช่ หลวงปู่มั่นบอก “อดอาหารอยู่” อดอาหารเพื่อจะไม่ฉันข้าว ไม่ใช่ว่าเป็นเจ็บไข้ได้ป่วย

แล้วท่านก็ทำใจของท่านสงบของท่านนะ ท่านกำหนดดูนะ มันก็ผิดศีลแบบที่พระทำกันในวัด บิณฑบาตมา ทางมันไกล ฉันข้าวมื้อนี้ไปก่อน อาหารอะไรที่มันเก็บไว้ได้เก็บไว้ฉันพรุ่งนี้ไง คือว่าเอาไว้พรุ่งนี้ไม่ต้องบิณฑบาต ฉันพรุ่งนี้ด้วย นี่สันนิธิไง สันนิธิคือเก็บอาหารไว้แรมคืน ถ้าของที่เป็นวัตถุนี่เป็นสันนิธิ ภิกษุเอาอาหารนั้นใส่ปากเป็นอาบัติปาจิตตีย์ทุกคำกลืน อาหารวันนี้ให้ใช้วันนี้ หมดกาลวันนี้แล้วหมดเวลา ต้องสละทิ้งออกหมดเลย ถ้าเก็บไว้ฉันพรุ่งนี้เป็นสันนิธิ

นี่ขนาดถูกต้องนะ เป็นสันนิธิ แล้วเขาไปกินตอนเย็นตอนอะไรกัน มันก็อันเดียวกัน ก็อาบัติปาจิตตีย์เหมือนกัน นี่เป็นอาบัติปาจิตตีย์ ผิดแค่นี้อยู่ที่ถ้ำนั้นโดนหักคอตาย ๒ องค์ เพราะที่มันไกล หลวงปู่มั่นย้อนจิตกลับไปดูไงว่าที่ตายนี่เป็นเพราะอะไร? เพราะเท่านี้ไปอยู่ป่านะ ถึงกับชีวิตนี้เสียไปเลยนะ เขาหักคอตายเลย เวลามันเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นไปแล้วมันหักคอตาย ตายไป ๒ องค์ที่ถ้ำสาริกา ในประวัติหลวงปู่มั่นไปดูสิ

นี่เพราะเราทำกันแล้วอยู่ในเมือง เราอยู่ในเมืองกันเราถึงไม่เห็นโทษของการทุศีล การผิดศีลไง ถ้าไปอยู่ในป่า.. เราไปเที่ยววิเวกอยู่ในป่านะ ไปกับพระมีพรรษามาก เราพรรษาเดียว ตกเย็นมามาปลงอาบัติทุกเย็นเลย เราก็งงนะ เอ๊.. ทำไมตกเย็นเขามาปลงอาบัติ? เขาอยู่ในป่าทำอะไรผิด? อยู่ในป่าไม่ทำอะไรผิดหรอก พอตกเย็นมาแล้ว ห่มผ้ามา ขอปลงอาบัติหน่อยๆ ไอ้เราก็แปลกใจ ปลงอาบัติอะไร

พอนานไปๆ ถึงเข้าใจ อ๋อ.. เขาห่วงไง เขาทำเพื่อเขาทำความผิดในศีลของเขา ถ้าเขาทำผิดศีล พอตกกลางคืนเข้าไปสัตว์เสือมันมา แล้วอย่างพวกเปรตพวกผีมันมา เขากลัวว่าเขาจะโดนพวกนั้นทำร้ายเอาไง ตกเย็นเขาจะต้องมาปลงอาบัติ แสดงว่าใจเขานี่ไม่มั่นคงเลย ใจเขาวอกแวกมาก ตกเย็นนั้นต้องปลงอาบัติ

เราบวชพรรษาแรกนะ พระพรรษาแรกเข้าไปอยู่ในป่า กลางคืนมันน่ากลัวมาก อยู่กลางวันเป็นอย่างนี้ พอกลางคืนขึ้นมา เสียงจักจั่นมันออกมันหากินนะ แล้วไอ้พวกชะมดพวกอะไร มันขึ้นไปตามยอดไม้แล้วมันโดดไปข้ามกิ่ง แล้วเสียงมันจะดังมาก แล้วพออยู่ไปๆ มันมีสัตว์อย่างนั้น เสือมันก็มา พอมีอาหารของมัน เสือมันมา

เสือมันมาเราก็ไม่รู้จักเสือนะ แปลกใจมาก ตี ๒ ตี ๓ เสียงไก่มันขัน อ้อกอี้อ้อกๆ อ้อกอี้อ้อกๆ เสือมันล้อเลียนเสียงไก่ไง มันจะเรียกให้ไก่ไปเป็นอาหารมัน แล้วมันนอนอยู่นะ มันนอนอยู่ มันเอาหางตีพื้น นี่ป้อกๆ มันล่อสัตว์ให้มาหามันแล้วมันกิน อยู่ข้างๆ ที่เราอยู่นั่นน่ะ

ไอ้เราทีแรกก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าเสือก็ไม่กลัว พอไอ้พระองค์นั้นเขารู้ เขาเก่าแก่ เขามาสอน นี่เสือมาๆ แล้วก็พาเราไปดูด้วยนะ ไปดูรอยมัน ไปดูรอยมันหนึ่ง ไปเก็บขี้มัน มันจะมีพวกเล็บสัตว์ เล็บเก้งเล็บกวาง มันขี้ออกมา มันจะมีเล็บอย่างนั้น ไปเจอนะ พอเริ่มรู้ว่าเสือ อ้าว.. ก็รู้นะ รู้ก็กลัวสิ (หัวเราะ) พอเริ่มรู้ว่าเสือก็เริ่มกลัวเสือ พอเริ่มกลัวมันก็รู้ อ๋อ.. เขาห่วงอย่างนี้

พอเริ่มกลัวเสือ กลัวเสือมันก็ย้อนกลับมา เพราะเราอยากดี เราบวชแล้วเราอยากได้ดีมาก พอบวชอยากจะได้ดี มันก็คิดย้อนกลับมา “ถ้ามีเวรมีกรรมต่อกัน ให้เขาเอาไปเลย ถ้ามีเวรต่อกัน มันหนีไปไหนได้ เราเดินไปหาเขาเอง เดินไปอยู่กับเขาเอง ถ้าเขาตะปบเมื่อไหร่ก็เสร็จ”

สุดท้ายมันมานอนอยู่ข้างๆ เลยนะ มันมานอนอยู่ที่ข้างๆ ที่กลด ไปกางกลดอยู่ ไปอยู่ในป่า กางกลดอยู่กับพื้น ทีนี้พอตกประมาณตี ๕ เราต้องลุกขึ้นมาก่อน เราต้องออกไปจัดพื้นที่เพื่อจะออกไปบิณฑบาต ต้องจัดที่อาสน์สงฆ์ พอจุดไฟเพื่อจะจุดเทียนแล้วจะเก็บกลด มันเห็นแสงไฟ มันตกใจแสงไฟ มันกระโชกร้องฮ้ม.. แล้ววิ่งไปนะ มันก็โดดหนีไป เรานี่ขนหัวนี้ตั้งเลยนะ เพราะเสียงเสือ อยู่ในป่าตัวต่อตัวใครจะไม่กลัว

นี่ด้วยความคิด เรายังแปลกใจจนเดี๋ยวนี้นะ เห็นเสือกลัวเสือ เอาไฟฉายยกมุ้งขึ้น แล้วก็ส่องดูว่าเสือมันไปไหน มุ้งมันจะไปป้องกันอะไรได้ แต่ในตอนนั้นมันคิดว่ามุ้งนี่ยังป้องกันตัวเองได้นะ ถลกมุ้งขึ้นมาดูนะ แล้วเอาไฟฉายส่อง มันไปไหนแล้ว? มันไปไหนแล้ว?

มันห่วง ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเราเป็นพระพรรษาเดียว ถ้าเราไม่ไปจัดที่ มันเป็นการผิดระเบียบของสงฆ์ หน้าที่ของเราเราต้องออกไปจัดที่ไว้ก่อนนะ วัตรในโรงฉันต้องไปจัดพื้นที่แล้วจะออกไปบิณฑบาต เราต้องไปจัดอาสน์สงฆ์ก่อน ถ้าเราไม่ไปมันก็เป็นความผิด ไอ้เราจะออกไปมันก็กลัวเสือ แล้วเสือมันมาอยู่ที่ไหนวะ? ทำใจอยู่พักใหญ่ ตั้งใจแล้วออกไป

พอออกไปตอนเช้าขึ้นมา บิณฑบาตกลับมา บอกพวกกำนัน กำนันเขามา บอก “เมื่อคืน โอ้โฮ.. เสือมันกระโชกใส่นะ”

“ไม่ต้องกลัวครูบา แสดงว่ามันตกใจแล้วมันต่างคนต่างเอาหลังชนกันแล้วโดดหนีไป มันโดดหนีออกไป”

แล้วตั้งแต่นั้นมาก็มาบ่อยๆ นี่พอมันมาบ่อย แต่! เรื่องมันมาส่วนมันมา เราทำใจของเราไง เราทำใจของเราได้ เราอยู่กับใจของเราได้ อยู่นะมันก็ทำให้นี่ ถึงว่ากลัวๆ เวลากลัว เวลาพระนะ พระเวลาหลวงปู่มั่นให้ไปอยู่ในที่กลัวๆ พอที่กลัวๆ ปั๊บ ไอ้ความคิดฟุ้งซ่าน ความคิดที่มันอิสระ ความคิดที่มันจะคิดว็อบแวบ มันคิดไม่ได้หรอก เพราะด้วยความกลัว ไอ้ตรงนี้มันจะควบคุมเข้ามา พอควบคุมเข้ามา มันสงบง่ายขึ้น

แล้วถ้ามันอีกอย่างหนึ่ง พอมันกลัวขึ้นมา มันก็ย้อนกลับมาดูชีวิตไง แต่เก่ามันก็ว่าไม่ทุกข์ไม่ยาก ไม่อดไม่อยาก เวลามันทุกข์มันก็ยาก เห็นไหม เวลามันกลัวขึ้นมามันรักษาตัวมันเอง เวลามันไม่กลัว มันประมาทเลินเล่อไง ความประมาทของมัน มันคลุ้งออกไปข้างนอก

ชีวิตถ้าอยากจะหวังดี มันได้อย่างนั้นมา พอได้อย่างนั้นมาก็คิดย้อนกลับมาๆ ย้อนกลับมาดูว่ามันมาได้อย่างไร? แล้วพระที่มันขึ้นมาได้อย่างไร? มันถึงย้อนว่าเราเอาพระไปอยู่ที่นั่นๆ เพื่อเหตุนี้ ให้เขาออกไปฝึก ให้เขาไปรับรู้ของเขา มันต้องประสบการณ์ตรง ให้พูดจนปากฉีกนะ ไอ้คนฟังก็เท่านั้น มันไม่ได้พบเอง ถ้าพบเองนี่มันซึ้งใจมาก

ถึงต้องออกไปนะ ธุดงค์ออกไปเพื่อจะให้ตัวเราทุกข์เรายากนะ ทุกข์ยากเพื่ออะไร? ทุกข์ยากเพื่อหาไอ้ต้นเหตุของความทุกข์ยากมันอยู่ที่ไหน สุดท้ายแล้วธุดงค์ไปที่ป่าก็เพื่อหาใจของตัวเอง หาตัวเอง แต่ต้องอาศัยความข้างนอกดึงออกไป ดึงออกมาแล้วหาออกมา ดึงนิสัยใจคอเราออกมาไง มันขี้เกียจมันขี้คร้าน มันไม่อยากทำก็ต้องฝืนทำ ถ้าไม่ทำมันเป็นอาบัติ มันเป็นความผิด เพราะความผิดอยู่นี้มันก็แก้ไขช่วยเหลือกันได้

ความผิดอยู่ในป่านะ พระอยู่ด้วยกัน พอตกเช้าขึ้นมา เขามาปลงอาบัติ บอก “เหตุไรล่ะ?”

บอก “เดินจงกรมอยู่ แล้วไม้มันเกี่ยวก็คิดว่าไม้แห้ง ก็เอามือไปเด็ดมัน พอเช้าขึ้นมา โอ้โฮ.. มันเป็นไม้สด มันเป็นพรากของเขียว” ห่มผ้าปลงอาบัติเลย

นั่นเห็นไหม เขาก็ห่วงศีลของเขา เพราะถ้าศีลของเขาไม่ดี ทำให้ใจสงบไม่ได้ นี่ฟังดู ฟังว่าถ้าศาสนานี่ประเสริฐมาก ถ้าคนมั่นใจแล้วทำตามนั้น แต่ถ้าศาสนามันจะไม่ประเสริฐ พระที่บวชแล้วไม่ได้ผลออกมาเพราะว่าไม่อยู่ในศีลในธรรม ศีลธรรมมันเป็นขอบของใจ แล้วทำใจเข้ามาให้ได้

ถ้าเราเชื่อเรื่องศีลเรื่องธรรม มันจะเป็นคนดีขึ้นมาได้ ถ้าเราไม่เชื่อเรื่องศีลเรื่องธรรม เราก็นี่กิเลสมันพาสอน กิเลสมันพยายามสอนใจแต่มันไม่เชื่อหรอก เขียนเสือให้วัวกลัว เขาว่าอย่างนั้นนะ เขียนเสือให้วัวกลัว ไม่มีหรอก นรกสวรรค์ไม่มี เขียนเสือให้วัวกลัว..

ไอ้นั่นมันพูดนะ แต่เวลาปฏิบัติไปๆ เพราะว่าใจนี่มันเกิดมันตายใช่ไหม? มันต้องไปเกิดในนรกสวรรค์ใช่ไหม เวลามันจะมีเหตุไป? แล้วเราทำลายเหตุมัน ทำไมเราไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์? มันต้องเชื่อสิ เพราะทีนี้มันหลุดออกไปจากใจ เหตุนี่มันพาไปได้ๆ แล้วเวลานี่เชื่อตน เหตุปัจจุบันนี้เวลาตายไปเราไปเจอเอง จิตนี้มันไม่มีที่สิ้นสุด มันวนไปได้ มันจะเห็นสภาพแบบนั้น เห็นจริงอย่างนั้น มันก็เข้าใจจริง

พอเข้าใจจริงมันถึงว่าเห็นคุณไง เห็นคุณของใจ เห็นคุณของศาสนาที่ย้อนกลับมาที่เราเห็นผลอันนั้น ใจเราเห็นด้วย แล้วเราชำระได้ด้วย แล้วสิ่งที่ว่าถ้าเราไม่ชำระอย่างนี้ เราก็ต้องเป็นไปตามอำนาจอันนี้ไง อำนาจนี้จะพาไป พอพาไปก็ต้องเป็นอย่างนั้น นี่เห็นซะก่อน แก้ไขซะก่อน ศาสนามีประโยชน์ตรงนั้น

นี้เหมือนกัน ชีวิตเราจะทำอย่างไร เราต้องทำอย่างนั้นได้ ถ้าเราทำของเราได้แล้วมันก็จะจบ ถ้าเราทำไม่ได้มันเป็นไปเพราะอะไร เพราะไอ้ตัวนี้พลังงานขับไส ไอ้ตัวที่อยู่ในหัวใจนี่พลังงานขับไสไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าเราทำตัวพลังงานนี้หมดไปได้ มันก็จะหมดไป แล้วพอพลังงานนี้หมดไปแล้ว มันจะมีแต่ความสุขเฉยๆ สิ ความสุขที่เกิดขึ้นจากของเราเอง เอวัง