เทศน์เช้า

โทษของบังเงา

๑๑ มี.ค. ๒๕๔๔

 

โทษของบังเงา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

กิเลสบังเงา บังเงามันเหตุอย่างนั้น เวลาเทศน์เรื่องกิเลสบังเงามันมี ๒ ประเด็น ประเด็นหนึ่งเวลากิเลสบังเงาแล้ว เวลาออกมาสอนเป็นธรรมะมันสอนไม่ถึงตรงนั้นไง เป้าหมายแรกคือเป้าหมายเรื่องของความลึกซึ้ง กิเลสมันอยู่ที่ใจใช่ไหม? ต้องชำระที่ใจ แต่เมื่อเข้าไม่ถึงใจ เข้าถึงอาการของใจ เวลาสอนเป้าหมายมันก็ผิดไปแล้ว

เป้าหมายมันผิดไปหมายถึงว่าออกมาสอน มันก็ไม่ได้สอนไปชำระกิเลสใช่ไหม? คนทำเรื่องธรรมะมันก็เสียโอกาส เสียโอกาสคือว่าตัวเองเข้าไม่ถึงจุดเป้าหมาย เข้าไปถึงอันดับรองไง เป้าหมายรองคือเป้าหมาย คืออาการของใจไม่ใช่ตัวใจ พอไม่ใช่ตัวใจ คนทำประพฤติปฏิบัติก็เสียเวลาหนึ่ง เสียเวลา เห็นไหม เพราะว่าเข้าไม่ถึง พอเข้าไม่ถึงมันต้องลูบคลำไปตรงนั้น แล้วก็อยู่ตรงนั้นก็เข้าใจว่าเป็นความจริง นี่เป้าหมายถ้าเป็นธรรมก็เสียตรงนั้น

แล้วพอออกมาเป็นปัจจุบันไง ออกมาเป็นอารมณ์ธรรมดาก็ตรงนี้ ตรงที่ว่าพอเป้าหมายมันผิด มันไม่มีเครื่องอยู่อาศัย ครูบาอาจารย์ท่านมีเป้าหมายนะ ใจมีเครื่องอยู่ ถ้าใจมีเครื่องอยู่ ใจจะมีอยู่กับธรรม พออยู่กับธรรมจะไม่ไปเอาวัตถุเป็นเครื่องอยู่ของใจไง

เครื่องอยู่ของใจ อย่างเช่นเราอยู่วันๆ เราเหงา เราว้าเหว่ เราไม่มีที่อาศัย เราก็เบื่อหน่าย เราต้องมีอะไรทำ ใจก็เหมือนกัน มันต้องมีอะไรเกาะของมัน ถ้าใจมันไม่อิ่มเต็มของมัน คือว่ามันหิวกระหายอยู่ มันต้องหาที่เกาะ พอหาที่เกาะมันก็มาตรงนี้ มาตรงที่ว่าหาเครื่องปัจจัยเป็นที่อยู่อาศัย เครื่องอาศัย เครื่องต่างๆ ที่ว่ามันจะเป็นกิจกรรมเป็นอะไรไป นี่ออกไป

ถ้าเรามองว่าอันนี้เป็นประโยชน์ของโลกนะ วัดนี่สร้างเป็นประโยชน์ของโลก เพื่อประโยชน์ของโลก เราก็คิดกันไป เป็นประโยชน์ของโลกมันก็เหมือนกับกรมประชาสงเคราะห์ กรมประชาสงเคราะห์ก็เพื่อประโยชน์ของโลกเขา แต่วัดนี่ถ้าอย่างนั้นมันก็เป็นการหยาบไป นี่มันบังเงาไง

บังเงาคือเข้าไม่ถึงตัวจริงแล้วอาศัยอย่างนั้น ตัวผู้ที่เป็นอย่างนั้นแล้วไม่เห็นไม่รู้ตัว คำว่า “ไม่รู้ตัว” ก็เลยทำออกไปข้างนอก พอทำออกไปข้างนอกมันก็รับสิ่งข้างนอกไป มันเข้าไม่ถึงที่สุด คนที่ไม่เห็นเข้าถึงจุดเป้าหมายได้อย่างไร? ถ้าเข้าไม่ถึงจุดเป้าหมายก็อาศัยสิ่งนั้นเป็นเครื่องอยู่ แล้วสอนเขา

มันถึงเป็น ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเรื่องของธรรมเข้าไม่ถึงจุดนั้นหนึ่ง สอง..เรื่องของกิเลสพาไป เพราะเราไม่เข้าใจ แต่มันเข้าใจว่าเป็นธรรม มันถึงบังเงา ถ้ามันเข้าใจว่ามันไปเห็นตัวจริงปั๊บ มันจะไม่บังเงาเพราะมันเห็นตัวจริง เห็นตัวจริงมันก็ชำระตัวจริงได้

เพราะไม่เห็นตัวจริง เห็นไหม ถ้าไม่เห็นตัวจริง มันเป็นการสวมรอย ไม่เห็นตัวจริงมันจะอยู่กับศีลธรรมจริยธรรมเลย กดไว้เฉยๆ ถึงวันไหนที่มันคลายตัวออกมา มันก็ยุ่งวุ่นวายไปหมดเลย แต่ถ้ามันคลายตัวออกมา เราพยายามรักษาไว้ มันเหมือนกับเราเข็นครกขึ้นภูเขา เราต้องรักษาไว้

การรักษาใจไว้เป็นอย่างนั้น เหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขาแล้วยันไว้ตลอดเวลา เพื่อจะรักษาใจของตัวเอง ไม่ให้ใจตัวเองตกต่ำไปทำนองนั้น นั่นน่ะสวมรอย สวมรอยอย่างหนึ่งเพราะมันไม่รู้สิ่งไหนเป็นของบนโต๊ะ ถ้ามันทำความสะอาดได้ บนโต๊ะนี่สะอาดหมด เห็นไหม นี่บนโต๊ะ

แต่ถ้ามันสวมรอย ถ้ามันบังเงา บังเงามันต้องไปเห็นกิเลสแต่ชำระไม่ได้ แต่ก็บอกได้ พูดได้ไง ว่ากิเลสอยู่ที่ใจ กิเลสอยู่ที่ใจ ต้องเห็น เพราะเห็นอย่างนั้นมันถึงจะอธิบายได้ การอธิบายธรรม เวลาอธิบายธรรมเวลาออกมาข้างนอก มันเป็นความประพฤติ

ถ้าอธิบายธรรม คนไม่เคยเห็นอธิบายไม่ได้ ถ้าอธิบาย ถ้าบังเงานะ อธิบายว่าเห็นตัวมัน แต่เข้าใจว่าอันที่ว่ามันปล่อยวางชั่วคราวนี่เป็นการชำระกิเลสแล้ว แล้วพอมันชำระกิเลสแล้ว นี่กิเลสมันตีกลับไง ตีกลับก็อาศัยเครื่องอยู่อย่างนี้ออกมาเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้

มันเสียหาย ๒ อย่างนะ อย่างหนึ่งคือว่ามันให้เสียโอกาส เข้าไม่ถึงหนึ่ง แล้วตัวเองก็มีความทุกข์อยู่ในหัวใจ มันเผาลนใจโดยธรรมชาติ ตัวเองจะรู้ไม่รู้มันเผาลน ก็คือคิดว่า เอ๊..ทำไมเป็นอย่างนี้? ธรรมะเป็นอย่างนี้เหรอ? มีความสุขอยู่มันเป็นอย่างนี้เหรอ?

มันเป็นได้.. เหมือนกับเราประคองตัวเราอยู่ในน้ำตลอดเวลา ถ้าเราไม่ประคองตัวเรา เราจะจมน้ำ ถ้าเราอยู่ในน้ำถ้าไม่ประคองตัวนะ อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราประคองใจไว้ มันก็ยังว่า เอ้อ.. เป็นอย่างนี้ แต่ถ้าไม่ประคองใจไว้มันเสื่อม เพราะมันเป็นกุปปธรรม มันเจริญแล้วเสื่อม

แต่ถ้าเป็นพิจารณากิเลสจนชำระกิเลส กิเลสไม่บังเงา กิเลสขาดออกไป มันไม่ใช่อยู่ในน้ำ มันเหมือนกับเท้าของเรายืนอยู่บนดินไง เหมือนที่ว่าเวลาเราอยู่ในกระแสวังวน เราเหมือนอยู่ในกลางทะเล แต่ถ้าเป็นอกุปปธรรม โสดาบันขึ้นมา เท้านี่หยั่งถึงพื้นแล้ว เดินถึงพื้นตลอด เข้ากระแสของนิพพานไง

ถ้าเข้ากระแสของนิพพาน เท้านี่เข้าไปหยั่งถึงพื้น แล้วจะเดินนั้นขึ้นบกไป การเท้าหยั่งถึงพื้นกับเท้าไม่ได้หยั่งถึงพื้นต่างกันไหม? นี่บังเงาเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่บังเงา กิเลสขาด เท้าถึงพื้นเลย พอเท้าถึงพื้นเลย ความผิดพลาดไม่มี หัวใจมันยืนอยู่ได้ มันไม่ต้องประคองตัวเอง

การประคองตัวเองเป็นการใช้พลังงานที่เหนื่อยมาก ต้องประคองตัวเองตลอดเวลา ปล่อยมันก็เสื่อมสภาพ พอปล่อยเสื่อมสภาพแล้วตัวเองก็ว้าเหว่ ตัวเองก็สงสัยตัวเองหนึ่ง ตัวเองไม่มีที่พึ่งอาศัยหนึ่ง เวลาพูดออกมาข้างนอก เวลามาสอนเป็นอย่างนั้นหนึ่ง แล้วเป้าหมายผิดหมดเลย

นี่ถ้าบังเงามันจะเป็นแบบนั้น ถ้าไม่บังเงามันจะเป็นประโยชน์กับหัวใจดวงนั้น แล้วหัวใจดวงนั้นพูดออกมาเป็นสัจจะ เป็นธรรมหมด เห็นไหม ความสงบมันสงบอย่างไร? ความสงบก็สงบจริง ถ้าสงบไม่จริงเป็นมิจฉาสมาธิ

สัมมาสมาธิ-มิจฉาสมาธิ ถ้ามิจฉาสมาธิ มันจะเป็นพลังงานที่จะส่งออก มันจะรับรู้สิ่งต่างๆ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิ มันสงบตัวลงธรรมดา สงบตัวโดยธรรมชาติของมัน อย่างอานาปานสติที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทำอยู่ เห็นไหม นี่สัมมาสมาธิ

พอมันเป็นสัมมาสมาธิมันยกขึ้นวิปัสสนาได้ ถ้ามิจฉาสมาธิมันส่งออกไป เราจับต้องไม่ได้เลย เป็นพลังงาน เหมือนเด็กเกเรที่ไม่อยู่กับบ้าน ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ มันหนีออกไปข้างนอก เราจะทำอย่างไรกับมัน? จิตนี้มันเหมือนอย่างนั้นเลย มันออกตลอด มันออกตลอด จะดึงไว้อย่างไร?

นี่มิจฉาสมาธิอย่างน้อยเป็นอย่างนั้นนะ ถ้าอย่างมากนี่มันเป็นมนต์ดำไปเลย เป็นมนต์ดำออกไป

นี่ถึงว่าถ้าสัมมาสมาธิมันจะย้อนกลับเข้ามา พอย้อนกลับเข้ามาถึงจะเป็นพื้นฐาน แล้วมันจะยืนอยู่ได้โดยตัวของมันเอง โดยสัมมาสมาธิ นั้นมันเจริญแล้วเสื่อม เจริญแล้วเสื่อมเพราะมันยังอยู่ในการสวมรอย ถ้ามันสวมรอยว่าอันนี้เป็นธรรมนะ อันนี้หยาบมาก

เขาถึงว่าหาเงินกันไง ๑๐๐-๒๐๐ ล้าน ถ้าเอามาเป็นประโยชน์โลก มันจะเป็นประโยชน์โลก ถ้าไม่เป็นประโยชน์โลก เห็นไหม มันเป็นโทษ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเก็บรักษาไว้ เห็นไหม ถ้าใช้โดยผิดพลาดไป นี่อสรพิษ

เงิน.. ถ้าคนเป็นคนดีใช้เงินนั้นจะเป็นประโยชน์มาก ถ้าคนเราไม่ดี เงินนั้นวิ่งเต้นซื้อตำแหน่งก็ได้ ทำอะไรได้หมด เงินนะ ถ้าใจมันสะอาดแล้วเงินนั้นจะเป็นประโยชน์มาก ถ้าใจไม่สะอาดนะ เงินนั้นมันจะย้อนกลับมาให้ทำลายคนๆ นั้นได้ ถ้าใจมันสะอาดมันก็จบไป ถ้าใจไม่สะอาดก็..

หาเงินมา ถ้าเป็นดูอย่างครูบาอาจารย์เราสิ มีเงินมาเท่าไหร่ออกหมดๆ มันจะเป็นประโยชน์โลกไปเลย เพราะมันจะหมุนออกไป มันจะไม่สะสมไว้ พระพุทธเจ้าสอนไม่ให้สะสมอยู่แล้ว การสะสมนี่มันบอกอะไรหลายอย่างนะ ถ้าสะสมไว้มันบอกอยู่แล้วว่า ทำไมถึงสะสม? อย่างน้อยๆ ก็หวงแหนมันนะ ต้องหวงแหนมัน ต้องถนอมต้องดูแลมัน ถ้าเราไม่สะสมมันจะเป็นประโยชน์อย่างไรให้มันออกไป

พอออกไปเป็นประโยชน์แล้ว เห็นไหม สมบัติประจำโลก ข้างในมันอิ่มแล้ว ไอ้นี่มันเป็นกาก ถ้าข้างในไม่อิ่ม อันนี้มันจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากเลย มันจะเหยียบย่ำหัวใจ แต่ถ้าหัวใจมันมีธรรมอยู่แล้ว ไอ้พวกนี้เป็นปัจจัยเครื่องอยู่อาศัย แต่ถ้าหัวใจมันไม่มีหลัก อันนั้นเป็นสิ่งที่สุดยอดปรารถนา เพราะใจเกาะเกี่ยวกับมัน ใจอาศัยมันเป็นที่อยู่อาศัย

พอที่อยู่อาศัยก็เกาะมันไว้ พอเกาะมันไว้เหมือนกับเป็นขี้ข้ามัน ต้องเก็บบำรุงรักษา โตเทยยพราหมณ์นะมีขนาดไหน เวลาตายไปแล้วยังต้องเกิดเป็นสุนัขมาเฝ้า มันให้โทษอย่างนั้นเลย ให้โทษก็ต้องกลับมา ถ้าเราไม่รักษาอย่างนั้น

ถ้าเป็นบังเงาหรือสวมรอย แล้วมันจะมีผลอย่างนี้ ถ้าไม่บังเงาไม่สวมรอย จะไม่มีผลอย่างนี้ เว้นไว้แต่! เว้นไว้แต่เป็นจริตนิสัย เป็นสันดานที่ว่าเป็นคนตระหนี่ไปรักษาไว้ นั่นก็มีเหมือนกัน แต่ไม่ให้โทษกับใจตัวนั้น

ฉะนั้น ถึงว่ามีผล ๒ อย่าง ให้โทษกับใจดวงนั้นหนึ่ง เพราะดวงนั้นติดข้องอยู่ แล้วก็ให้โทษที่ว่าเราต้องไปเก็บรักษามัน เห็นไหม อันนี้ให้โทษโดยธรรมชาตินะ เป็นกังวลต้องคอยรักษา อันนี้เป็นงานอันหนึ่ง แล้วก็ติดข้องมันอีกงานอันหนึ่ง นี่โทษ ๒ อย่าง ถ้าเป็นประโยชน์กับโลกไป ทิ้งไป สละไป เป็นประโยชน์โลกไป ต้องใจมีพอสมควร ใจไม่มีมันก็ทำไม่ได้ เอวัง