เทศน์เช้า

กุศล

๓๑ มี.ค. ๒๕๔๔

 

กุศล
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

การให้ทาน ทานนี่เป็นพื้นฐาน เห็นไหม ทานเป็นพื้นฐาน แต่เวลาฟังธรรม ธรรมนี่มันไปแก้ไขความคิดความเห็นของตัวเอง ฟังธรรมถึงได้ประโยชน์ตรงนั้นไง การฟังธรรมไง

ดูอย่างของเราสิ เริ่มต้นกว่าจะมาทำบุญทำกุศลได้นะ เหมือนคนหลับจริงๆ นะ เหมือนคนไม่รู้สึกอะไรจริงๆ ไม่รับรู้อะไรเลย เหมือนมันไม่มีในโลกนี้ถ้าเราไม่รับรู้ แต่พอรับรู้ขึ้นมาแล้ว มันทำมาได้ มันก็คิดถึงอดีต ว่าตอนนั้นทำไมเราไม่เห็นถึงตรงนี้

คนถ้ามันยังไม่เห็นมันก็ยังไม่เข้าใจ พอไม่เข้าใจมันก็ไม่ยอมรับรู้อะไรทั้งสิ้น มันก็เหมือนกับไม่มี แต่พอมีขึ้นมาแล้ว ทำขึ้นไปแล้ว มันจะเป็นอย่างไรขึ้นมา เหมือนกับเราทำบุญกุศล เราเริ่มทำบุญกุศลขึ้นมา มันเป็นความพอใจของเรา

แต่เวลาทำไปๆ แล้วมันก็เฉื่อยชา มันก็เหนื่อยหน่าย ความเหนื่อยหน่าย นี่ธรรมตอกย้ำตรงนี้ ธรรมะคือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า สั่งสอนให้เราเข้าใจเรื่องการกระทำของเรา ให้มันละเอียดขึ้นไปเรื่อยๆ ไง

เวลาสวดมนต์ สิ่งที่ละเอียดกว่านี้ที่เราจะทำอีกยังไม่มี เห็นไหม วันหนึ่งๆ เราทำอะไรบ้าง? มันจะมีกุศลอะไรที่เราจะก้าวเดินขึ้นไปอีก ถ้าเราก้าวเดินขึ้นไปมันก็เป็นกุศลของเรา ความละเอียดอ่อนของใจมันถึงจะเป็นความเห็นตรงนั้น ถ้ามันไม่มีความละเอียดอ่อนของใจ ความคิดของใจไง

กุศลทำให้เกิดอกุศล ทีแรกเป็นกุศลอยู่ เห็นไหม ทำคุณงามความดีนี่ทำให้เกิดกุศลอยู่ เป็นกุศลขึ้นมา พอมันเบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายขึ้นมากิเลสมันแทรกตรงนั้น สำคัญมากเลยนะ กุศลถ้ามันเป็นกุศลอยู่แล้ว ทำไมกุศลทำให้เกิดอกุศล?

อกุศลคือว่ามันไม่พอใจไง มันไม่พอใจ มันจะแข่งขัน มันจะทำให้ความว่าตัวเรามันมีอะไรขึ้นมา อกุศลมันแทรกเข้าไปตรงนั้น นี่กุศลทำให้เกิดอกุศลเลย ทำแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย เห็นไหม เราทำแล้วไม่เห็นได้อะไร ไม่ทำดีกว่า เขาอยู่สุขสบายทำไมเขาอยู่ของเขาได้ ทำไมเราต้องมาเดือดร้อนของเรา

ความเดือดร้อนของเรา คิดดูสิ เวลาเราทำงานขึ้นมา เราได้ขึ้นมา เราทำงานของเราขึ้นมา เห็นไหม เราได้เงินได้ทองมา บุญกุศลก็เหมือนกัน เราทำมาเราถึงจะได้ ถ้าเราไม่ทำ เราจะเอาอะไรมาได้? พอเราได้ของเราเข้ามา มันเป็นความสุขใจของเรา เขาไม่สุขใจ เขาไม่เคยเห็น เขาไม่เคยทำ ความสุขใจคือความอิ่มใจ ความสุขใจภายนอกนี่มันพอใจ มันเหมือนกับความเข้าใจเฉยๆ แต่ถ้าทำความสงบเข้ามา เห็นไหม ปลงภาระของใจลงไป

ใจถ้าปลงภาระของใจขึ้นไป อันนี้มันเป็นปัจจัตตัง ความที่เป็นอามิสทานมันเป็นเปลือกภายนอก เป็นอามิส ความเป็นอามิสนี่มันเป็นวัตถุที่สละออกไป แต่ถ้ามันเป็นปัจจัตตัง รู้จำเพาะตนขึ้นมา มันเป็นอาการของใจ สัมผัสที่ใจ ใจมันเวิ้งว้าง มันปล่อยวางขึ้นมาเป็นความสุขอันนั้น อันนี้มันเป็นการยืนยันไง

นี่ปัจจัตตัง รู้จำเพาะตน พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “มันเป็นปัจจัตตัง ให้ผู้นั้นรู้ด้วยตนเอง” แต่ผู้นั้นจะรู้ด้วยตนเอง มันละเอียดอ่อนมากจนเราจับต้องไม่ได้ อะไรเป็นใจ? อะไรเป็นใจล่ะ? ทุกอย่างมันจับต้องมันเป็นร่างกายหมด จับไปที่ไหนก็เป็นตัวเรา เป็นความรู้สึกทั้งหมด เห็นไหม มันรวมตัวเราไม่ได้

แล้วเวลากำหนดพุทโธ พุทโธขึ้นมา มันกำหนดที่ปลายจมูก กำหนดที่ตรงไหนก็แล้วแต่ กำหนดพุทโธ พุทโธ มันเป็นว่ากำหนดแล้วมันเป็นรวมตัวได้อย่างไร นี่มันจะรวมตัวขึ้นมาได้เพราะกำหนดพุทโธ พุทโธ มันจดจ่อขึ้นไป เห็นไหม นี่มันจดจ่อ

เวลาวัตถุขึ้นมา เวลาร่างกายเรายังจับต้องได้ แต่หัวใจมันจับต้องๆ อย่างไร? มันรวมตัวขึ้นมาเอง พอรวมตัวขึ้นมาเอง ปัจจัตตังมันจะเกิดจากตรงนั้น สิ่งที่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่มันลึกมันกว้างจนที่ขอบข่ายของใจขอบข่ายของความรู้สึกเราจับต้องไม่ได้ เราบังคับไม่ได้เลย แต่กำหนดพุทโธขึ้นมา ขอบข่ายของมันมีขึ้นมาแล้ว เห็นไหม ขอบข่ายของหัวใจมีขึ้นมาตรงปลายจมูกนั้น ตรงจับต้องได้ เป็นปลายจมูกจับต้องได้ขึ้นมา แล้วก็ละเอียดเข้าไปๆ มันสัมผัส มันปล่อยวางเข้ามา นี่ปัจจัตตังสัมผัสตรงนั้น

อันนี้มันถึงว่ามันเป็นเรื่องของนามธรรม แล้วมันจะซึ้งใจ แล้วมันจะเข้าใจเรื่องของพระพุทธเจ้าไง จะยอมรับพระพุทธเจ้าว่าโอ้โฮ...พระพุทธเจ้านี่พูดไว้ถูกต้องทั้งหมด เราเองต่างหากเข้าไม่ถึง แล้วที่ว่าสิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้ สิ่งที่จะเป็นไปได้ สิ่งที่ว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมมันจะเป็นความสุขได้อย่างไร มันต้องเป็นวัตถุสิถึงจะเป็นความสุขได้ วัตถุมันถึงจะให้เราความพอใจได้

แต่วัตถุให้มาแล้วมันพอใจตรงไหน? หัวใจมันพอใจตรงไหน? มันต้องการมากขึ้นไป ต้องการมากขึ้นไป...ตัณหาความทะยานอยาก เห็นไหม มันถึงแก้กันไม่ได้ไง เราไปแก้ไขที่เรื่องของผิดพลาดไป เราไปเข้าใจผิดว่าสิ่งนั้นจะให้เป็นความสุขแล้วมันให้เป็นความสุขไม่ได้ พอเราเข้าใจผิด เราจับต้องตรงนั้นแล้วมันก็ไม่ได้ผลตรงนั้น แล้วเราก็แสวงหาไป พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า “แก้ไขที่จะแก้ไขได้ มันต้องแก้ไขที่หัวใจ” ถ้าหัวใจมันพอใจตรงนั้นแล้ว ไอ้วัตถุนั้นมันแค่ปัจจัยเครื่องอยู่อาศัย

ปัจจัยเครื่องอยู่อาศัยกับความเป็นจริงต่างกัน ความเป็นจริงต้องแก้ไขลงไปที่หัวใจนั้น ถ้าหัวใจแก้ไขได้ไง หัวใจแก้ไขได้ก็เป็นใจดวงนั้นๆ พอใจดวงนั้นขึ้นมา เห็นไหม “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” ถ้าใจดวงนั้นเห็นตถาคต เห็นธรรม เห็นธรรมมันก็เข้าใจ พระพุทธเจ้าเห็นธรรมก่อน พระพุทธเจ้าเข้าใจไปแล้ว เรามันยังไม่เห็นธรรม พอเห็นธรรมก็เห็นแต่...เห็นธรรม ความเข้าใจนั้น เห็นตถาคต ตถาคตรู้อย่างนี้เหมือนกัน เราก็รู้อย่างนี้ขึ้นมา หัวใจมันเป็นธรรมขึ้นมา

ถึงว่าหลวงตาบอก “เวลาคิดถึงพุทโธนะ สะเทือนถึงพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ไม่ใช่พระองค์เดียว” สะเทือนถึงพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เพราะมีมากมายมหาศาลเลย แล้วสำเร็จไปเป็นล่วงไป ล่วงพ้นไปๆ เราก้าวเดินตามนะ พอใจมันเห็นธรรมก็เห็นตถาคตเหมือนกัน มันก็เป็นธรรมอันนั้นเหมือนกัน แต่ธรรมตรงนั้นจะเกิดขึ้นมา มันต้องเกิดขึ้นมาจากการฟังธรรม

การฟังธรรมมันเป็นเรื่องของยืมมา แต่เวลาเราสัมผัสธรรมขึ้นมา มันเป็นความรู้ของเราเอง มันจะปล่อยวางจากภายใน เห็นไหม มันปล่อยวางจากภายในมันก็มีความสุขของมันเป็นไปได้ นี้สำคัญตรงเหตุนี่ ถึงว่าเป็นธรรมๆๆ ใครก็พูดเรื่องธรรม ดูสิ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้ เห็นไหม ไปศึกษาเล่าเรียนกับลัทธิต่างๆ เขาก็ว่าเขามีธรรมแล้ว เขาเข้าใจธรรมแล้ว เขาว่าเขาเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดนะ

นี่มันเป็นที่เขาว่า ถ้าเขาว่านี่มันเป็นอย่างหนึ่ง เป็นความร่ำลืออย่างหนึ่ง แล้วไม่เป็นจริง แต่ถ้ามันเป็นความจริงเขาไม่ว่า เขาไม่ว่าแต่เรารู้เอง เราสัมผัสเอง เขาว่านั่นเป็นเขาว่า แต่เราสัมผัสเอง เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าศึกษาเขาแล้วออกมาปฏิบัติ มันไม่ใช่ พอออกมาแล้วกิเลสมันก็เกิดอย่างเก่า กิเลสก็ยังเกิดอย่างเก่า

แต่พอมาตรัสรู้ธรรมเข้าไป กิเลสมันดับหมด เห็นไหม พอกิเลสมันดับหมด ไม่เคยเปล่งเลย ไม่เคยบอกว่าตัวเองเห็นธรรม ธรรมอันนี้ต่างหากถึงว่าเป็นประโยชน์จริง ธรรมอันนี้มันถึงสัมผัสลงที่ใจ แล้วใจเราเข้าไปสัมผัสเองของใจดวงนั้น เราเข้าไปสัมผัสเอง

แต่มันสำคัญที่เหตุที่เราจะเข้ามา สำคัญที่เหตุ เราถึงย้อนมาที่เหตุนี้ก่อน ทาน ศีล ภาวนานี่แหละ เห็นมีทานก่อน ถ้าเรามีทานก็มีศีล เห็นไหม มีศีลก็มีภาวนาขึ้นไป ภาวนาขึ้นไปก็จับต้องขยับขึ้นไปเรื่อยๆ ขยับขึ้นไปเรื่อยๆ

ถ้าไม่มีทานก่อน มันจะเริ่มทำตรงไหน? มันไม่มีทานก่อน มันก็เหมือนกับคนเราอินทรีย์ไม่แก่กล้า เราประพฤติปฏิบัติไป เห็นไหม มันยังทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะว่ามันไม่รู้ เหมือนเด็กๆ นี่ฟังอะไรก็ไม่เข้าใจ ฟังอะไรก็ไม่เข้าใจ.. แต่พออินทรีย์มันแก่กล้าขึ้นมา เห็นไหม ฟังก็เข้าใจ ไม่ฟังขึ้นมามันธรรมก็จะกังวานกลางหัวใจ เวลาปฏิบัติไปมันจะมีการสืบต่อ มีการแก้ไขในหัวใจ มันจะมาบอกมาสอนในหัวใจของเราเลยนะ เราสงสัยสิ่งใดๆ อยู่ เวลาพิจารณาไปๆ การแปรสภาพไป เห็นไหม ธรรมเกิดจากเราเอง ธรรมเกิดจากภายในหัวใจเราเอง

เราพยายามถากหญ้าให้วัชพืชนี้ให้ออกหมด พอมีพื้นดินขึ้นมา ต้นไม้มันจะเกิดจากพื้นดินนั้น หัวใจก็เหมือนกัน ในเมื่อมันข้องเกี่ยวอยู่กับอารมณ์ต่างๆ มันเหมือนกับหญ้าปกคลุมหัวใจทั้งหมดเลย เวลาเราถากออกไปด้วยพุทโธ พุทโธ ถากออกไป เห็นไหม ที่ดินมันจะเปิดขึ้นมา แล้วพอฝนตกขึ้นมา สิ่งที่ต้นไม้มันจะงอกขึ้นมาจากนั้น นี่ธรรมงอกออกมาจากใจ ความคิดไง

ธรรมอันนี้เป็นธรรมเกิดๆ ธรรมเกิดอันนี้ไม่ใช่ธรรมเป็นความจริงนะ เพราะมันเกิดขึ้นมา มันเป็นสิ่งที่เกิดมาจากหัวใจ แต่วิปัสสนามันเป็นอีกอันหนึ่ง ธรรมเกิดอันนี้เป็นธรรมเริ่มต้นเกิดขึ้นมา แต่เวลาวิปัสสนาเกิดขึ้นมา มันจะรวมตัวเข้าไปอีก

ถึงธรรมเกิดนี้เป็นจินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญาจะเกิดขึ้นมาอีกถ้าเราทำของเราเข้าไป เราเวียนใจของเราเข้าไป วนเข้าไปข้างใน สิ่งที่มันออกมานั้นมันแก้ไขมันปลดเปลื้องเข้าไป ให้ละเอียดอ่อนเข้าไปไง ให้ใจนี้ละเอียดอ่อนเข้าไป ความละเอียดอ่อนเข้าไปของใจ ความคิดละเอียดอ่อน มันถึงว่าเข้าไปชำระสัญชาตญาณของใจได้

ไอ้ความคิดนี่มันเป็นความคิดแบบเรื่องของเปลือกของใจต่างหากล่ะ มันละเอียดอ่อนเข้ามา มันก็ละเอียดอ่อนเข้าไปเรื่อยๆ จริงอยู่ ถ้าความคิดอันนี้มันเป็นปัญญา เราคิดว่าเราแก้ไขกิเลสได้ พอแก้ไขกิเลสได้ เห็นไหม เราเข้าใจมันก็ปล่อยวาง พอธรรมมันเกิด มันโล่ง มันพอใจ เข้าใจว่าอันนี้เป็นธรรม เป็นธรรมมันเกิด ในตำราว่าอย่างนั้น

แต่อาจารย์บอกว่า “เป็นกิเลสมันเกิด” กิเลสมันเกิดเพราะอะไร? เพราะมันเกิดขึ้นมาแล้ว สิ่งที่มันแก้ไขๆ ได้ช่วงหนึ่ง แต่ความคิดความอยากข้องอยู่ตรงนั้น เห็นไหม เป็นตัณหาความทะยานอยาก พอไอ้นั้นมันเข้ามา มันเกิดขึ้นมาเราก็ดีใจ เราอยากได้อีก นี่กิเลสมันเกิดๆ ตรงนี้ กิเลสมันสวมรอยนะ นี่กุศลทำให้เกิดอกุศลไง มันเป็นกุศลเป็นความถูกต้อง แต่อกุศลคืออยากให้เกิดอีก อยากให้เป็นอีก แต่ไม่ได้สร้างเหตุ

เหมือนกับเรานี่ เราจะสร้างเหตุขึ้นมามันจะเป็นบุญกุศล ถ้าเราไม่สร้างเหตุขึ้นมามันจะเป็นอย่างนั้น มันพอใจนะ มันมีวันแต่รอเสื่อมไป สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายต้องแปรสภาพทั้งหมด ความจริงใจ ความตั้งใจ เจตนาของเรานี่ตั้งใจดีขึ้นหมด แต่มันก็แปรสภาพไปตลอดเวลา เห็นไหม ถึงต้องสืบต่อตลอดเวลา สืบต่อๆ

พลังงานตัวนี้เป็นพลังงานตัวบริสุทธิ์ แต่กิเลสที่มันอยู่ในพลังงานนั้นมันทำให้เราเฉไฉออกไป นี่พลังงานบริสุทธิ์มันปกคลุมด้วยกิเลส กิเลสมันปกคุลมพลังงานตัวนี้ไว้ มันทำให้เฉไฉออกไป มันถึงไม่ได้ประโยชน์จริง

แต่การประพฤติปฏิบัติ เราต้องไปทำลายไอ้พลังงานทำให้เฉไฉอันนั้นให้มันออกไป พอกิเลสที่มันควบคุมพลังงานที่มันทำให้เปลี่ยนแปลงให้เฉไฉออกไป มันจบสิ้นไป พลังงานตัวนี้เป็นพลังงานบริสุทธิ์ เห็นไหม จิตตัวนี้บริสุทธิ์ จิตตัวนี้เป็นผู้ผ่องใส จิตตัวนี้เป็นผู้ก้าวพ้นไป จิตตัวนี้คือมันเป็นเป้าหมายของชาวพุทธที่เราปรารถนา

อันนี้คือธรรม ธรรมแท้ๆ อยู่ที่ใจ ใจสัมผัส ใจเป็นธรรมขึ้นมาทั้งแท่ง ใจทั้งแท่ง ใจเริ่มต้น ใจที่กิเลสปกคลุมอยู่ แล้วประพฤติปฏิบัติไปจนใจนี้กิเลสหลุดออกไปเป็นใจทั้งแท่ง เป็นธรรมทั้งแท่งในหัวใจนั้น มันก็เป็นเป้าหมาย เห็นธรรมแท้ตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทัน อันนั้นก็เป็นบุญกุศลของใจดวงนั้น เอวัง