พึ่งตนเอง
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เวลาอยู่ทางโลกเราพยายามหาที่พึ่งกัน หาความมั่นคงของชีวิตไง เวลาว่ามันความมั่นคงของชีวิตแล้วมันก็เป็นไป ไม่แน่นอน ความไม่แน่นอนเป็นความจริง ความจริงเอาความแน่นอนนั้นหาไม่ได้ หามันไม่มีเลย มันหมุนเวียนไปตามธรรมชาติของมัน ก็หาที่พึ่งกันไง หาที่พึ่งหาที่อาศัยกัน
แล้วเวลาจะไปเกาะทางวัตถุ คิดว่าวัตถุนี่เป็นของที่พึ่งได้ ของที่เป็นวัตถุที่มั่นคงแข็งแรงจะเป็นที่พึ่งของเราได้ กลับไม่ใช่เลย เพราะว่าสิ่งนั้นมันอยู่คงทนขนาดไหนก็แล้วแต่นะ แต่ความพลัดพรากมันต้องมีจากกันไป เราต้องพลัดพรากจากเขาหรือเขาพลัดพรากจากเรา เราหาที่พึ่งไว้ให้มันมั่นคงเพื่อเราจะอยู่อาศัยกับเขา แต่เราก็อาศัยเขาไม่ได้เลย อาศัยเขาไม่ได้ เห็นไหม
ในศาสนาต่าง ๆ สอนน่ะ อย่างศาสนาฮินดูสอนอาตมัน สอนที่อยู่อาศัย เห็นไหม สอนอาตมัน เรานี่เป็นส่วนหนึ่งของอาตมัน เสร็จแล้วต้องกลับไปอยู่ตรงนั้นไง ลัทธิต่าง ๆ สอนอย่างนั้นหมดเลย สอนว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของอาตมัน ของสิ่งนั้น แล้วเราจะกลับไปหาพระเจ้า กลับไปหาสิ่งนั้น เราต้องอาศัยสิ่งนั้น มันไม่เป็นอิสระ
แต่ในศาสนาพุทธของเราสอนให้พึ่งตนเอง จงหาที่พึ่งของตัวเอง หาที่พึ่งของตัวเอง ที่พึ่งของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ ในหลักใจนั้นมีที่พึ่งจริง พระอัครสาวกต่าง ๆ ก็เป็นพระอรหันต์ขึ้นมา นี่เป็นที่พึ่ง เป็นอิสระตั้งแต่ตอนนั้นไง เป็นอิสระตั้งแต่ตอนประพฤติปฏิบัติ ไม่บังคับให้เชื่อ
แต่ถ้าไม่เชื่อเราจะเอาทางไหนเดินทางเข้าไป เราต้องเชื่อ เชื่อนี่ไม่ใช่ว่าเชื่อด้วยความงมงาย เชื่อแล้วต้องวิเคราะห์วิจัยว่าจริงหรือไม่จริง พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าแม้แต่ในกาลามสูตร เห็นไหม ไม่ให้เชื่อแม้แต่พระพุทธเจ้าพูด ถ้าอย่างนั้นเราไม่ให้เชื่ออะไรเลยเหรอ? เชื่อในความศรัทธา เชื่อในผล เชื่อในความหวังว่าเราอยากจะมีที่พึ่ง
แต่คำสอนนั้นมันยังเป็นประโยชน์กับเราไม่ได้ คือยังไม่ให้เชื่อ นี่ถ้าไม่ให้เชื่อไม่ให้เชื่อตรงนั้นไง ไม่ให้เชื่อว่าสิ่งนั้นจะเป็นสูตรสำเร็จ คือว่าเราเชื่อแล้วจะมีที่พึ่งเลย...ยังไม่ใช่ เชื่อแล้วต้องอาศัยสิ่งนั้นก้าวเดินเข้าไป นี่ถึงว่าให้เป็นอิสระ ให้พึ่งตนเองตั้งแต่เริ่มต้น แล้วเวลาเข้าไปถึงที่สุดแล้วก็ไปเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ เป็นที่พึ่งของตนเอง ไม่ใช่เข้าไปหาสิ่งที่ว่ามีอยู่แล้วหรือเราเข้าไปขออ้อนวอนสิ่งใด คือว่าไม่เป็นอิสระตั้งแต่ทีแรก แล้วก็หวังว่าจะพึ่งคนอื่น หวังว่าจะพึ่งพระเจ้า หวังว่าจะพึ่งสิ่งนั้น ๆ สิ่งนั้นจะอำนวยความสะดวกให้เรา แล้วเราเข้าไปแล้วก็เข้าไปไม่เป็นอิสระ เข้าไปแล้วก็ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขา มันไม่เป็นอิสระกับเรา
แต่ในความเป็นจริงของศาสนาพุทธเรานี่ให้พึ่งตนเอง สิ่งนั้นพึ่งไม่ได้ สิ่งที่ว่าเป็นวัตถุน่ะ เรามั่นใจว่าจะพึ่งได้ แต่พอจะพึ่งได้แล้วมันต้องพลัดพราก สิ่งนั้นคงที่อยู่เราก็ต้องพลัดพรากจากเขา เขาไม่พลัดพรากจากเราเราต้องพลัดพรากจากเขาเพราะชีวิตเราไม่แน่นอน
มันก็เปรียบเหมือนร่างกายกับจิตใจนี่ ร่างกายนี่สิ่งที่จับต้องได้ ว่าเราจะถนอมให้เราอยู่ได้นานที่สุด อยู่กับมันดีที่สุด แต่แล้วมันก็สิ่งที่ว่าเป็นวัตถุมันเป็นของชั่วคราว แต่หัวใจสิ่งที่ว่าจะเป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้เลย เรามันฝ่ายตรงข้ามไง ถ้าเป็นโลกเรานี่ เราจะมองไม่เห็นสิ่งนามธรรมที่มีคุณค่า แต่ถ้าเป็นทางธรรมนะ สิ่งที่เป็นนามธรรมนี่เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก
สิ่งที่เป็นนามธรรม แล้วเวลามันจับต้องได้ หรือว่ามันทำให้เป็นสิ่งที่ว่าเป็นที่พึ่งของเราจริงนี่ มันอยู่กับเราตลอดไป มันกลับเป็นคงทนถาวรยิ่งกว่าวัตถุต่าง ๆ ที่ว่าโลกนี้หาที่พึ่งกัน โลกนี้หาที่พึ่งเป็นวัตถุเพื่อจะพึ่งแล้วมันก็แปรสภาพ แต่หัวใจนี่มันแปรสภาพยิ่งกว่า เพราะมันกลอกกลิ้งยิ่งกว่า เวลามันปัจจุบันนี่มันกลอกกลิ้งยิ่งกว่าสิ่งต่าง ๆ นะ วัตถุมันจะเคลื่อนตัวไปมันยังต้องอาศัยแรงผลักดัน อาศัยพื้นที่ที่มันจะเคลื่อนตัวไป แต่หัวใจเวลามันปลิ้นปล้อนหลอกเราเอง มันจะพลิกตลอดเวลาเลย เวลามันปลิ้นปล้อนมันปลิ้นปล้อนกว่านะ
แต่ถ้าทำความสงบแล้วจับให้มันอยู่นิ่งได้ สัมมาสมาธิจิตสงบนี่มันมีที่พึ่งแล้ว มันแตกต่างกับความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านนี่มันโดนจากกิเลสมันขับไสมาให้เป็นความฟุ้งซ่าน ให้มันพุ่งออกไป แล้วมันก็หมุนออกไป คว้าสิ่งต่าง ๆ ว่าสิ่งนั้นจะเป็นที่พึ่ง มันเป็นความคิดความหมาย ความคิดความหมายแล้วให้เราอยากกระทำสิ่งนั้น มันหลอกให้เราเชื่อก่อน กิเลสหลอกให้เชื่ออย่างหนึ่ง แต่ศรัทธาความเชื่อในธรรมอีกอย่างหนึ่ง
นี่กิเลสหลอกให้เชื่อว่าสิ่งนั้นจะพึ่งได้ สิ่งนั้นจะพึ่งได้ แล้วหมุนออกไป นี่กิเลสหลอกให้เชื่อ มันเชื่อง่ายเพราะความเชื่อมันเป็นกิเลสอยู่แล้ว แล้วกิเลสหลอกอีก แต่ความเชื่อในทางธรรม กิเลสมันไม่เคยเห็นไง กิเลสไม่เคยเห็นสิ่งที่เป็นนามธรรมแล้วจะพึ่งได้ วัตถุนี่มันเป็นอามิส อามิสที่ว่าจับต้องแล้วมันเพิ่มคุณค่ามันฟูขึ้นไป มันก็วิ่งกันไป มันทำให้เคลื่อนออกไปจากฐาน เคลื่อนออกไปจากเรา มันก็เป็นไปออกไปข้างนอก เป็นความสมประโยชน์ของกิเลสด้วย เป็นความอยากของเราเองด้วย นี่มันก็เคลื่อนออกไปทางโลกเขา
แต่ศรัทธาในทางธรรมนี่ ทางธรรมคือว่าให้จำกัด ให้งดเว้นไง งดเว้นในอะไร? งดเว้นในความอยาก แต่ไม่ได้งดเว้นในการสิ่งที่มันได้มาด้วยสิ่งที่เป็นความจริง บุญกุศลไปงดเว้นมันได้อย่างไร คนที่มีบุญกุศลมีอำนาจวาสนาบารมีมันเป็นสิ่งนั้นมา เราก็ยอมรับสิ่งนั้นแต่ไม่ตื่นเต้นไปกับสิ่งนั้น เห็นไหม ความเชื่อในศาสนา มันไม่ใช่ให้งดเว้นในสิ่งที่ว่าเป็นกิเลส แต่ไม่งดเว้นในสิ่งที่ว่าเป็นประโยชน์กับเรา ไม่งดเว้นแล้วแถมมีคันเร่งอีกด้วย
สิ่งที่จะเป็นประโยชน์กับเรา เราต้องมีคันเร่งเหยียบ เหยียบคันเร่งของเราขึ้นไปเลย พอเหยียบคันเร่งก็พยายามแสวงหาสิ่งที่ว่าจับต้องไม่ได้ แต่คนที่ฉลาดนะนามธรรมนี้จับต้องได้ สมาธิธรรมนี่มันจะรู้ คนที่เป็นสมาธิจริง ๆ ส่วนใหญ่จะบอกว่าสักแต่ว่า พูดนี่มองตากันแล้ว เอ๊อะ! น่ะอันนั้นเป็นความจริงไง แต่ถ้ายังเป็นความว่าเป็นอย่างนั้น ๆ อยู่นี่มันเทียบเคียงอยู่ เห็นไหม สิ่งที่จะพูดแทบไม่ได้เลย แต่กลับเป็นหลักความจริง
พอความสงบของใจมันเป็นหลัก หลักที่ว่าเริ่มจะมีที่พึ่ง ถ้าเราอยู่ตรงนี้นะ อยู่ตรงความสงบนี่เวลาตายไปมันเป็นพรหม พรหมแน่นอนเลย เพราะว่าสิ่งที่ว่าเป็นที่พึ่งของใจนี่ เวลาเราเป็นหนี้เป็นสินเขา หรือเข้าไปในที่อันตรายเราจะหาที่พึ่ง จิตนี้เหมือนกัน ถ้ามันมีหลักของใจ มันเข้าสู่วงอันตรายคือจิตนี้จะดับขันธ์ออกไปนี่ มันจะวิ่งเข้าหาตรงนั้นไง มันจะวิ่งหาที่พึ่งตรงว่าจิตนี้เคยสงบอยู่
มันย้อนกลับมา มันประกันถึงความว่านี่ที่พึ่งของเรา แล้วชำระกิเลสเข้าไป ชำระกิเลสเพราะกิเลสนี่มันเป็นสิ่งที่ขับไส มันเป็นสิ่งที่ว่าหลอกลวงใจออกมา มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันไม่มีตัวตนไง เราถึงว่าต้องใคร่ครวญค้นคว้าเข้าไป ทำเข้าไป ทำเข้าไปเจอตัวมันแล้วพยายามพลิกแพลงเพื่อจะชำระของเราออกไป
พอชำระออกไป สิ้นไปเป็นชั้น ๆ ขาดออกไป กิเลสขาดออกไปเป็นชั้น ๆ เข้าไปนี่มันเป็นอะไรขึ้นมาล่ะ? ต้องไปพึ่งพระเจ้าที่ไหนล่ะ? ตัวเองนี่เป็นเสียเอง ตัวเองเป็นขึ้นมาเองไง ใจนี่เป็นที่พึ่งของใจตัวเอง นี่ถึงว่าเป็นสิ่งที่พึ่ง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสรู้ธรรมขึ้นมา แล้วสอนพระอัครสาวกต่าง ๆ เพื่อเป็นขึ้นมา มันเสมอภาคกันไง มันไม่ใช่ว่าต้องไปอยู่กับพระเจ้า อ้อนวอนถึงพระเจ้า
แม้แต่พระสารีบุตร เห็นไหม ที่พูดว่า แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็ไม่เชื่อ นี่ความเชื่อทีแรกเป็นเครื่องดำเนินมา แต่ความเชื่อนั้นไม่ใช่ความจริง พอใจเข้าไปประสบความจริงขึ้นมานะ ไม่เชื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะอะไร? เพราะความเห็นนั้นความรู้นั้นเสมอกัน ความเสมอกันหมายถึงว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นพระอรหันต์ พระสารีบุตร อัครสาวกต่าง ๆ ที่สำเร็จขึ้นไปก็เป็นพระอรหันต์ ถึงไม่ใช่ว่าเข้าไปอยู่ในส่วนหนึ่งของพระเจ้าไง ไม่ใช่กลับไปอยู่กับเป็นส่วนหนึ่งของอาตมันนั้นไง
ส่วนหนึ่งของอาตมันนั้นมันก็ยังเป็นที่พึ่งอาศัยกัน มันก็เป็นสิ่งที่ไม่จริง ยังเป็นที่ต้องเกาะเกี่ยว ที่ว่าอาศัยเขา ให้เขาเป็นผู้คุ้มครองเรา จิตนี้มันก็ไม่เป็นอิสระโดยสมบูรณ์สิ ไปอยู่กับพระเจ้ามันก็ไม่สมบูรณ์หรอก เพราะมันเป็นความคาดความมั่นหมายว่าเราไปอยู่กับพระเจ้า ไปอยู่กันอย่างไรไปอยู่กับสิ่งนั้น กับใจนี้ดับแล้วไปอยู่กับสิ่งนั้นอ้อนวอนสิ่งนั้น มันเลยเป็นว่าผู้ที่ต้องอาศัยคนอื่นตลอดไป ไม่เป็นอิสระของเราขึ้นมา
แต่ในศาสนาของเรานี่ที่พึ่งจริง ๆ ของเรา ถ้าเราทำของเราขึ้นมาแล้ว เห็นไหม พึ่งได้จริง ๆ แล้วสัมผัสได้จริง ๆ มันถึงว่าเป็นปัจจัตตังไง ไม่คลอนแคลน ไม่วอกแวก ไม่ต้องอาศัยใคร ความลังเลสงสัยในใจมันไม่มี แล้วมันจะสุขขนาดไหนน่ะ อาลัยอาวรณ์นี้เป็นกิเลสตัวสุดท้ายนะ เราว่าอยากได้สิ่งนั้นตัณหาความทะยานอยากนี่เป็นสิ่งที่ว่าเป็นกิเลส ๆ มันจะหยาบ ๆ นี่ตัดเข้ามาเรื่อย ๆ
ความอาลัยอาวรณ์ ความหงอยเหงา ความเศร้าใจ ความใจที่มันโหยหาตัวมันเองนั่นน่ะ ตัวนั้นน่ะถ้ามันขาดออกไป นี่ความลังเลสงสัย พูดถึงความลังเลสงสัยขาดออกไปจากใจ มันไม่มีสิ่งใด ๆ เลยที่จะเข้าไปให้ใจนี้ลังเลสงสัยได้ ไม่มีความลังเลสงสัยก็ไม่มีความเคลือบแคลงใด ๆ เลย ตัวเองไม่ลังเลสงสัยตัวเองแล้วมันจะสงสัยสิ่งใด ๆ ในโลกนี้ล่ะ
ในโลกนี้ว่าหวังจะพึ่งสิ่งใด ๆ นี่มันเห็นสัจจะความจริงไง สิ่งนั้นพึ่งไม่ได้ แต่ก่อนเราโง่อยู่ เราหมุนเวียน เราวุ่นวายไปกับเขา แล้วเราจะหาที่พึ่งของเรา เราก็โง่อยู่เพราะเอาแต่สิ่งข้างนอกไง แต่ย้อนกลับมาแล้วที่พึ่งของเราอยู่ภายในหัวใจของเรานี่ บุญกุศลมันถึงเป็นที่พึ่งของเราไง เรามาวัดมาวากันนี่เพื่อจะสะสมสิ่งนั้นขึ้นมา เห็นไหม คิดถึงความ...
(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)