เทศน์เช้า

สีลัพพตปรามาส

๒๕ ก.พ. ๒๕๔๔

 

สีลัพพตปรามาส
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราว่าศาสนาเรานี่ประเสริฐมากนะ ประเสริฐจริง ๆ สอนนะพระพุทธเจ้านี่สอนเทวดา สอนสัตว์โลกทั้งหมดเลย สอนทั้งหมดแล้วสอนได้หมด ขนาดเทวดามาฟังธรรมนะ มาฟังธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วในปัจจุบันนี้ก็มาฟังธรรมในครูบาอาจารย์เรา เทวดามาฟังธรรม พวกเรานี่เราอยากเป็นเทวดา เราคาดหมายเลยว่าเทวดาจะประเสริฐมาก จะมีความสุขมาก จะมีความสุขของเขา เพราะนี่เราทำกันอย่างนี้

เราสร้างบุญกุศลของเรา เวลาเราตายไปนี่ สะสมบุญกุศลนะ เวลาตายไปได้ไปเกิด เป็นบุญกุศลพาเกิดต้องเกิดในสิ่งที่ดี เกิดในเป็นเทวดา ในเป็นเทพบุตร แต่ถ้าเราทำกุศลไว้มากเหมือนกัน แต่เวลาเราออกจากบ้านน่ะ อาจารย์มหาบัวบอกว่า “วัวปากคอก” เวลาเราออกจากประตูบ้านน่ะ เราคิดถึงสิ่งไม่ดีนี่เราจะไปเกิดสิ่งนั้นก่อน เหมือนออกจากบ้านเราสวมชุดอะไรไป เราต้องได้ชุดนั้นไปทำงานก่อน

นี้ก็เหมือนกัน อารมณ์ที่มันอยู่กับใจ เห็นไหม เวลาออกจากบ้าน เวลาจิตมันจะออกจากร่างไป ถ้ามันคิดถึงสิ่งที่ว่าอกุศลก่อนนะ มันจะไปเสวยอกุศลก่อน ดูสัตว์สิ สัตว์บางตัวเกิดมานี่เป็นหัวหน้าสัตว์ สัตว์บางตัวเป็นสัตว์ดีมากเลย สัตว์บางตัวเก๊มากเลย ขนาดสัตว์ก็มีดีมีชั่วปนกัน

เทวดาก็ยังมี คนที่ว่าจิตใจเป็นคนพาลอยู่ แต่เขาทำคุณงามความดีไว้บ้าง แล้วเวลาเขาตาย วัวปากคอกเขาคิดคุณงามความดีเขาก่อน เขาไปเกิดเป็นเทวดา เห็นไหม ในเทวดาก็มีคนอย่างนั้น มีคนพาลแต่เป็นเทวดาเพราะสถานะเขาเป็นเทวดาไปก่อน สถานะเขาเป็นเทวดาไป แล้วเขามีนิสัยเป็นอย่างนั้น ในเทวดาในสัตว์โลกถึงมีคนดีและคนไม่ดีปนกัน มีอกุศลกับกุศลปนกันไปหมดเลย

แล้วการประพฤติปฏิบัติเราก็เหมือนกัน เราเกิดมาเป็นสัตว์ เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา ศาสนาสอนอย่างไร เวลาเราจะประพฤติปฏิบัตินี่ สิ่งที่มันหลอกใจเรา มันพยายามพลิกแพลงใจเรา ถ้าทำอะไรไปจะเป็นสีลัพพตปรามาส ทำอะไรไปเป็นการลูบคลำไง พอบอกว่าเป็นสีลัพพตปรามาส เป็นการลูบคลำแล้วเราไม่กล้าทำ สิ่งนั้นเป็นการลูบคลำ ๆ

มันไม่เป็นการลูบคลำหรอก เพราะว่ามันเป็นความสงสัย เรานี่เกิดมามีกิเลส กิเลสอยู่ในหัวใจ มันจะพาให้ลังเลสงสัยไปหมดเลย ความลังเลสงสัยนี่คือการลูบคลำ แล้วทุกคนจะมีความลังเลสงสัย ในการประพฤติปฏิบัติ ในการทำสมาธิ ในการหาทางเข้า เข้าไปหางานนี่มันต้องทำด้วยความมุมานะ เห็นไหม ความเพียรชอบ จะล่วงพ้นความทุกข์ได้ด้วยความเพียร ถ้าจะมีความเพียรนี่ กิเลสมันบอกว่าเป็นสีลัพพตปรามาส ทำอะไรไปนี่เป็นการลูบคลำ เป็นการว่ามันจะไม่ได้เข้าไปถึงหลักความจริงไง นี่สีลัพพตปรามาส

มันไม่ใช่หรอก มันไม่ใช่หมายถึงว่ากิเลสมันพยายามจะทำให้เราอ่อนตัวลง ให้ความจะชำระกิเลส จะเข้าไปเห็นหน้ามันน่ะเข้าไปไม่ได้ มันเลยบอกว่าเอาธรรมะนี่มาอ้าง เอาธรรมะของพระพุทธเจ้านี่มาอ้าง เอาสิ่งที่ว่ามันบังเงา เอาสิ่งที่ว่าเราควรจะเชื่อ เพราะเราจะแสวงหาธรรม เราจะเข้าไปหาความจริง แสวงหาธรรมก็ไปเอาสิ่งที่ว่าเป็นสีลัพพตปรามาส เป็นคำพูดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาพูดให้เราไม่ให้เข้าไปถึงตรงนั้น

มันจะเป็นสีลัพพตปรามาสไปที่ไหน ในเมื่อมันเป็นมรรค ความเพียร ความอยาก อยากในเหตุนี่เป็นมรรคนะ เขาว่าความอยากนี่เป็นตัณหา ความอยากในการประพฤติปฏิบัติ โยมจะมาวัดกันนี่โยมมีความอยากมาไหม? ถ้าไม่มีความอยากมาไม่มีการขับเคลื่อนเลย เราก็อยู่เฉย ๆ ไป ความอยากที่เป็นมรรคคือเป็นกุศล แล้วความอยากที่ว่าเราทำในความไม่ดีนี่เป็นอกุศล ความอยากนี่เป็นกลางไง เหมือนกับพวกขันธ์นี่มันเป็นกลาง เวทนานี่เป็นกลาง เห็นไหม มันบวกด้วยความดีหรือความชั่ว สุขหรือทุกข์บวกเข้าไป ถ้าเป็นทุกข์มันก็เป็นทุกข์ ถ้าเป็นสุขมันก็เป็นบวก บวกหรือลบ

นี่ก็เหมือนกัน ตัณหา วิภวตัณหา มันจะเป็นอย่างนั้นไปได้ ถ้ามันเป็นอย่างนั้นไปมันก็เรื่องของเขา มันเป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าเราสร้างของเราขึ้นมานี่ เราต้องเดินในตามหลักความเป็นจริง ทีนี้คำว่าสีลัพพตปรามาสนี่มันทำให้คนไม่กล้าทำ ถ้าเป็นสีลัพพตปรามาสนะ ดูอย่างอาจารย์จวนน่ะ อาจารย์จวนเวลาท่านจะแก้ความติดข้องของท่าน ท่านเอากระดูกช้างนี่แขวนคอนะ แล้วท่านฉันหมาก แล้วคายน้ำหมากออกมาเพื่อจะให้กระดูกช้างนั้นเป็นสิ่งที่คายความกำหนัด ไอ้อย่างนี้เป็นสีลัพพตปรามาสไหม?

ถ้าเป็นสีลัพพตปรามาส อันนี้เป็นกลอุบายจะชำระกิเลส เป็นกลอุบายวิธีการที่เราจะชำระกิเลส มันเป็นสีลัพพตปรามาสไปทำไม มันเป็นมรรคต่างหาก มันเป็นกลอุบายวิธีการ ผู้ที่ฉลาด ผู้ที่จะเอาตัวพ้นออกไปจากความยึดมั่นถือมั่นของตัว จะพ้นจากสีลัพพตปรามาสไปนะมันเป็นสังโยชน์ตัวหนึ่ง มันเป็นสังโยชน์ เห็นไหม สีลัพพตปรามาสเป็นการลูบคลำ

แต่ถือศีลน่ะเราถือศีล มันไม่ใช่สีลัพพตปรามาส ความถือศีลมันเป็นจริตนิสัย คนหนักไปทางไหนจะถือศีลไปทางนั้น โทสจริตเอาเมตตามา ถ้าโลภะนี่มันมีความหลงง่าย แล้วถือศีลมันก็ต้องอยู่ที่ตรงนั้น ตรงที่ว่าจริตของคน จะถือข้อไหน ถือแล้วจะเอาอย่างนั้นมาดัดแปลงตนได้อย่างไร ถ้าใครเข้มมันก็เข้มตามประสาของเราไป เข้มแล้วเราพลิกแพลงของเราไป อันนั้นมันเป็นประโยชน์หมด ถ้าเป็นสีลัพพตปรามาสนี่มันไม่มีทางก้าวเดิน ถ้าเป็นสีลัพพตปรามาสมันก็ก้าวเดินไปไม่ได้ แล้วทำก็ทำเป็นไปไม่ได้

แต่ถ้าทำไปแล้วนี่ สีลัพพตปรามาสจะไปขาด ขาดตรงที่ว่าคนที่พ้นจากความลังเลสงสัย เห็นไหม วิจิกิจฉาสีลัพพตปรามาส มันพ้นต่อเมื่อคนคนนั้นกิเลสขาดออกไปจากใจ สีลัพพตปรามาสคือความลังเลสงสัย พอความลังเลสงสัยเกิดขึ้นในใจ ความลังเลสงสัยนั้นก็ให้เราทำอะไรด้วยความไม่เต็มไม้เต็มมือ เป็นการลูบคลำ เป็นการทำด้วยความไม่มั่นอกมั่นใจ

แต่ถ้าเรามีความมั่นอกมั่นใจแล้วเรามั่นอกมั่นใจในศรัทธาของเรา มีความอยากเป็นมรรคของเรา แล้วเราเดินมรรคไปนั้นไม่เป็นสีลัพพตปรามาส เป็นกลอุบายวิธีการที่จะชำระกิเลส ถ้าเราบอกทุกอย่างนี้เป็นสีลัพพตปรามาส เราไม่สามารถจะทำชำระกิเลสเราได้เลย เพราะกิเลสเป็นเรา อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา อวิชชานี่เป็นความไม่รู้อยู่ในหัวใจ แล้วตัวไม่รู้นี่มันพาจิตดวงนี้มาเกิด มันฝังรากลึกอยู่ในหัวใจของเรา ความคิดนี้เป็นแค่สังขารปรุงแต่ง สังขารปรุงแต่งเป็นสภาวะที่เกิดดับออกมาจากใจ พลังงานของใจสร้างสภาวะนี้ขึ้นมา สภาวะตัวนี้ออกมาแล้วมันก็เป็นความคิดออกไป

แล้วสภาวะตัวนี้มันหยาบไหม? พอมันหยาบขึ้นมานี่ มันก็คิดออกมาว่าอันนี้เป็นสีลัพพตปรามาส แล้วเราก็หยุดไว้ตรงนั้น แล้วพอหยุดตรงนั้นนี่เราทำถูก เพราะอะไร? เพราะเมื่อก่อนเราทำแล้วเราไม่ได้ประโยชน์เนาะ เราประพฤติปฏิบัติแล้วเราก็ไม่ได้ผล เราทำสุดความสามารถของเราเลยแล้วไม่ได้ แล้วปัจจุบันนี้เราปล่อยวางหมดเลย พอปล่อยวางหมดเลยนี่ เมื่อก่อนเป็นสีลัพพตปรามาส มันเลยไม่เป็นผล ขณะนี้เป็นผลเพราะอะไร? เพราะมันว่างหมด มันปล่อยวาง

นี่มันหลอกอีกชั้นหนึ่ง เพราะสภาวะที่มันออกเป็นขันธ์นี่มันออกไปจากใจ แล้วสภาวะที่ขันธ์นี่มันเกิดดับ ๆ เพราะมันเกิดดับธรรมชาติของมัน แล้วพอมันบอกสีลัพพตปรามาส มันก็เข้าไปอยู่ตรงนั้น แล้วขันธ์ก็เกิดมันดับ พอมันดับมันก็ว่าง แต่ตัวพลังงานที่ออกไปเป็นขันธ์น่ะ มันยังไม่ได้ชำระกิเลสมันเลย พอมันเห็นว่าส่วนนั้นเป็นความว่าง มันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นผลของมัน นี่หลอก ๒ ชั้น ๓ ชั้น

เมื่อก่อนเราพยายามทำเข้มแข็ง แล้วเราไม่ได้ประโยชน์ เดี๋ยวนี้เราปล่อยเป็นมัชฌิมาปฏิปทาตามองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก ไม่ลูบคลำศีล ทำเป็นปกติ แล้วมันจะเป็นธรรมขึ้นมา มันก็ปล่อยวางประสาที่มันปล่อยวาง ปล่อยวางนี้เป็นสมถะ สิ่งนี้มีมาโดยดั้งเดิม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเรียนกับอาฬารดาบส อุทกดาบสก็เรียนอย่างนี้ เรียนเรื่องสมาธินี่ เรียนเรื่องความปล่อยวาง เรียนเรื่องความว่าง

ความว่างอันนี้มันเป็นจิตปกติของเรา มีอยู่โดยธรรมชาติของใจ ใจนี่ฟุ้งซ่านมากเลย แล้วมันก็บางทีพอฟุ้งซ่านไปถึงที่สุดของมันแล้วนี่ อย่างเช่นเราเคยมีความทุกข์มาก ๆ เลย ทุกข์ขนาดที่ว่าเราทนไม่ได้เลย แล้วเดี๋ยวนี้ความทุกข์นี้มันหายไปไหน มันถึงสภาวะนั้นความทุกข์นี้มันก็ต้องดับไป เห็นไหม ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ และทุกข์ดับไป

แต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ และทุกข์ดับไป ขณะนั้นเราไม่เห็นเพราะอะไร? เพราะเรากับทุกข์เป็นอันเดียวกัน เรากับทุกข์นี่ขับเคลื่อนไป เราถึงได้ทุกข์มาก เพราะความทุกข์น่ะเป็นเรา เราทุกข์มากแล้วเราก็ไม่รู้สภาวะนั้น มันก็เคลื่อนไป ขับเคลื่อนไปสู่พลังงานของขันธ์อันนั้นรอบหนึ่ง ถึงขันธ์สู่พลังงานของมัน ทุกข์นั้นก็ดับไป ทุกข์นั้นดับไปเราอยู่ในทุกข์นั้น เหลือแต่เรา

แล้วตอนนี้ทุกข์ไปไหนล่ะ? เห็นไหม เราถึงทนสภาวะนั้นได้ เราถึงทนทุกข์ได้ เราเห็นว่าทุกข์กับเราเป็นอันเดียวกัน เราถึงไม่เห็นสิ่งนั้น พอเราไม่เห็นสิ่งนั้นเราทำสิ่งนั้นไม่ได้ ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป แล้วพอมันดับไปแล้ว มันก็เป็นธรรมชาติของมันที่มันต้องดับไปโดยธรรมชาติของมัน แต่เราไม่เห็นตามความเป็นจริง ถ้าเราเห็นตามความเป็นจริงนี่ ทุกข์เกิดขึ้นเราต้องจับทุกข์ได้ สภาวะทุกข์นี้มันเกิดดับ มันเป็นอนัตตา เราเห็นอนัตตาไง เห็นขันธ์ เห็นอนัตตา

แต่เห็นนี่มันต้องใช้ความละเอียดอ่อนรอบคอบเข้าไป ความละเอียดรอบคอบนี่มันถึงต้องใช้ความเพียรมาก ความเพียรทะลุความเห็นของเรา ทะลุความคิดเดิมของเรา ความคิดเดิมของเราที่เราคิดกันอยู่นี่มันเป็นโลกียะ โลกียะหมายถึงว่าอวิชชามันพาคิดไง อวิชชานี่มันไม่รู้สึกตัว มันรู้เป็นพลังงานแต่มันไม่รู้สึกตัวมันเอง มันถึงพลังงานขับออกมาที่ขันธ์ ขันธ์ก็หมุนเป็นความคิดออกไป ความคิดนั้นก็คิดออกไปเป็นประสาโลกียะ

แล้วที่ว่าไม่สีลัพพตปรามาสนี่มันปล่อยวางตามนั้น จะบอกว่าความว่างนี่มันมีอยู่โดยธรรมชาติของปุถุชน ของมนุษย์เราก็มีอยู่โดยดั้งเดิม เพียงแต่เราไม่สามารถตั้งตรงนี้สืบต่อให้ยาวออกไป เราถึงต้องใช้สัมมาสมาธิ ใช้สติ ใช้ปัญญา เพื่อยับยั้งไอ้ความคิดนี่ให้มันหยุดนิ่งบ้าง ความหยุดนิ่งอันนี้จิตที่เคลื่อนที่โดยความเร็วมาก คิดถึงต่างประเทศ คิดถึงรอบโลก ปัจจุบันนี้คิดถึงมันจะไปทันที

แล้วความเร็วสิ่งนี้เราหยุดมันได้ ความเร็วที่มันหมุนไป มันไปได้เร็วนี่เราหยุดอยู่กับตัวเราเอง สิ่งที่อยู่กับตัวเองนี่พลังงานมันจะเกิดขึ้น พลังงานที่เกิดขึ้นนี่ถึงจะย้อนกลับเข้ามาดูตัวกิเลส พอดูตัวกิเลสนี่เป็นสัมมาสมาธิ เป็นมรรคที่เดิน นี่อยากเราอยากตรงนี้ไง ถึงไม่ใช่สีลัพพตปรามาส ความอยากของเรา ความมุมานะของเรา พยายามทำ พลังงานนี่มรรคเกิดที่ใจ มรรคของบุคคลอื่นเป็นมรรคของบุคคลอื่น มรรคของเราเป็นมรรคของเรา เราสร้างมรรคของเราขึ้นมาแล้วเราจะย้อนกลับเข้ามา เห็นไหม มันถึงไม่ใช่สีลัพพตปรามาส

มันเป็นการเริ่มต้นการก้าวเดินต่างหาก แล้วเข้าไปวิเคราะห์วิจัย พยายามค้นคว้าจนมันชำระ ขันธ์กับใจนี่ขาดออกจากกัน ความขาดออกจากกันนี่ พอสิ่งที่ขาดออกจากกัน เราเห็นสิ่งที่ว่ามันเป็นสิ่งเดียวกัน ความหลง ความคิดของเราว่าเป็นอันเดียวกัน หรือสิ่งที่พึ่งพาได้นี่ มันขาดออกไปจากใจ พอสิ่งนี้ขาดออกไปจากใจนี่มันเห็นกับตาไง เหมือนเรากินอาหาร ถ้าเราอิ่มแล้วเราจะสงสัยความอิ่มของเราไหม

นี่ก็เหมือนกัน พอมันขาดออกไปแล้วนี่ ความลังเลสงสัยสิ่งนั้นไม่มี สีลัพพตปรามาสขาด ขาดตรงนี้ไง สีลัพพตปรามาสจะขาดต่อเมื่อกิเลสมันขาดออกไปจากใจ ความลังเลสงสัยสิ่งนี้ไม่มีในหัวใจ เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงบอกว่า “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” อัญญาโกณฑัญญะนี่จะไม่ลูบคลำอีกแล้ว เพราะเข้าถึง อิ่มในรสอาหารครั้งหนึ่ง ถึงตรงนี้แล้วจะไม่มีเป็นการลูบคลำ จะเดินถูกต้องไปหมดเพราะความลังเลสงสัยในศาสนาไม่มี

ถ้าต่ำกว่านี้จะเป็นสีลัพพตปรามาสทั้งหมด เพราะสีลัพพตปรามาสคือความลังเลสงสัยของใจ ความลังเลสงสัยของใจมีขึ้นมันก็ต้องทำให้ลูบคลำไป มันไม่จริงจัง แต่ในเมื่อพอเห็นตามความเป็นจริงแล้วมันขาดออกไปจากใจ ความลังเลสงสัยนั้นขาดออกไป เห็นไหม สีลัพพตปรามาสถึงจะไม่มีกับพระโสดาบันขึ้นไปนั้นจะไม่มีสีลัพพตปรามาสเลย ทำด้วยความสัตย์ความจริงขึ้นไปโดยสัจจะ เพราะใจดวงนั้นเป็นความจริง

สีลัพพตปรามาสมันเกิดจากตรงนั้น มันไม่ใช่เกิดจากว่าเราจะเริ่มต้นทำแล้วนี่ อันนั้นก็เป็นสีลัพพตปรามาส อันนี้ก็เป็นสีลัพพตปรามาส มันจะทำให้เราไม่จริงจัง ไม่เข้มแข็ง แล้วเราจะไม่สามารถชำระใจเราได้เลย เราจะทำอะไรก็บอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นชาวพุทธว่านะ พระพุทธเจ้าบอกให้ปล่อยวาง ๆ มีมากเลย ทุกคนบอกให้ปล่อยวางแล้วจะว่าง พระพุทธเจ้าบอกให้ปล่อยวาง

เราเป็นชาวพุทธปล่อยวาง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอน พระพุทธเจ้าบอกว่า “ให้มีความเพียรชอบ ให้มีความเข้มแข็ง ให้มีศีล ให้มีทาน” พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าเริ่มต้นก็ให้ปล่อยวาง ไม่ได้บอก แต่เวลารู้สัจจะตามความเป็นจริงแล้วใจมันจะปล่อยวางโดยสัจจะของมัน อันนั้นมันเป็นผลไง แล้วเรามีผลกันหรือยัง เรามีเหตุไหม ถ้าเราไม่มีเหตุน่ะเราก็บอกว่าเราสมมุติผลขึ้นมา แล้วเราก็อยู่ในสมมุติของผลนั้น

แล้วเราว่าเราเป็นชาวพุทธไง ไม่ได้บอกอย่างนั้นนะ ให้บอกว่าให้มีความเข้มแข็ง ให้มีความอดทน ให้พยายามสร้างขึ้นมา ผู้ที่ทำได้ระดับทานก็ทาน ศีลก็ศีล วิปัสสนาก็วิปัสสนา เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา แล้วจะเกิดปัญญาชำระกิเลส ชำระกิเลสแล้วจะเห็นคุณค่านะ ทุกคนนี่จะน้อยเนื้อต่ำใจว่าคนอื่นนี่เป็นคนดี คนอื่นมีความสุข คนนั้นก็เป็นคนที่ว่ามีคุณค่า เราอยากจะเลียนแบบเขา ๆ แต่ไม่ได้มองตัวเองเลย สุขทุกข์มันอยู่ที่ใจนะ แล้วถ้าย้อนกลับมานี่แก้ที่ใจ

มนุษย์นี่สำคัญที่สุด ตัวเรานี่สำคัญที่สุด แล้วในตัวเราหัวใจสำคัญที่สุด เพราะสิ่งที่รับรู้ทุกข์สุขคือหัวใจ แล้วถ้าเราไปแก้ที่ตรงเริ่มต้นที่หัวใจว่ารับรู้ว่าทุกข์ว่าสุขนั้น ให้มันเป็นความสุขโดยธรรมชาติของมัน มันเต็มในใจของมันอันนั้นได้นี่ นี่มนุษย์สมบัติที่ว่าเทวดายังต้องมาฟังธรรมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เทวดายังต้องมาฟังธรรมกับครูบาอาจารย์ของเราในตำรา ในประวัติหลวงปู่มั่นก็มี เห็นไหม มาฟังธรรม

แม้แต่เทวดาเขายังไม่รู้เรื่องใจของเขา แต่สถานะของเทวดานั้นเขามีสถานะว่าเขาเป็นเทวดา ในทิพย์สมบัติของเขาเป็นความสุขอย่างนั้น นั่นเป็นเรื่องของเขา แต่เขาไม่รู้เรื่องใจของเขา ทีนี้ว่ามนุษย์นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ แล้วเรามาชำระเรื่องของใจก่อน เห็นการเกิดดับของใจ เห็นสภาวะที่มันแตกออกไป เห็นสภาวะที่ทำขึ้นมา เห็นสภาวะอันตามความเป็นจริงนี่ ทำไมมันจะอธิบายเรื่องของใจอันนี้ไม่ได้ เทวดาถึงต้องมาศึกษาเรื่องนี้ไง

แล้วสิ่งปัจจุบันนี้อยู่ที่ใคร? อยู่ในหัวใจของเรา อาการเกิดดับ อาการทุกข์ยากอยู่ในหัวใจของเรา แล้วเราสามารถสร้างขึ้นได้ ครูบาอาจารย์เป็นผู้ชี้นำ มันถึงต้องไม่ให้คำพูดว่า สีลัพพตปรามาสนี้มาทำให้เราไม่ก้าวเดิน ไม่ให้เราก้าวเดินออกไป มันเป็นการทำให้เราหมดกำลังใจ จะทำอะไรมันก็ลูบคลำ เห็นไหม สงสัย พอจะทำก็ลูบคลำ นี่สีลัพพตปรามาส เพราะมันลูบคลำแล้วมันจับไม่เต็มไม้เต็มมือ

แต่มันทำความเป็นจริงขึ้นไปแล้ว พอมันขาดออกไปแล้ว ความลังเลสงสัยมันไม่มี ต่อไปจะทำด้วยความจริงจัง คนเห็นผลแล้วคนจะเดินตามผลนั้น เราไม่เคยเห็นผลไง นี่มันเป็นสีลัพพตปรามาสโดยธรรมชาติของมัน แล้วเวลาทำนี่เอาอันนั้นมาอ้าง อ้างแล้วเราก็ก้าวเดินไม่ได้ เราถึงว่าไม่ต้องไปฟัง อันนี้เป็นมรรค อันนี้เป็นความเพียร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนอย่างนั้น

เราต้องก้าวเดินตามครูบาอาจารย์ของเรา ครูบาอาจารย์ของเราก้าวเดินไปแล้วถึงหลักชัยแล้ว ทำไมเราจะก้าวเดินไม่ได้ ในเมื่อเรายังมีหัวใจอยู่ มีหัวใจอยู่นะ จะเกิดจากความคิด พลังงานนี้เกิดจากความคิด สติปัญญามีขึ้นมาแล้วจับต้องได้ สร้างผลขึ้นมา แล้วจะก้าวเดินออกไปพัฒนาขึ้นไป จะเห็นว่าใจนี้พัฒนาขึ้นไป จะเห็นความมหัศจรรย์ของเรา มหัศจรรย์ของเรานะ

ดูอย่างเราท่องปาฏิโมกข์ได้สิ พระท่องปาฏิโมกข์ได้นี่ หยิบปาฏิโมกข์มานะ หนังสือเป็นเล่ม ๆ ทำไมมันท่องได้ คนคนนี้คงจะมหัศจรรย์ แต่เสร็จแล้วพระก็ทำกันได้นี่ เพราะอะไร? เพราะเขามีความวิริยอุตสาหะ เขาท่องปาฏิโมกข์เป็นเล่ม ๆ แล้วท่องภายใน ๑ ชั่วโมงจะจบ แล้วต้องถูกอักขระฐานกรณ์ด้วย นี่ถ้าคนมีความมุมานะมันทำอะไรก็ทำได้

หัวใจนี่ตั้งขึ้นมา ให้มีคุณค่า ให้เรานี่ให้มาที่เรา ให้เรามีคุณค่าก่อน พอเรามีคุณค่าขึ้นมานี่ใจมันก็มีคุณค่าขึ้นมา มันก็ก้าวเดินไปได้ นี่มันน้อยเนื้อต่ำใจ จะทำอะไรเราก็ไม่มีคุณค่าในตัวเราเอง แล้วกิเลสมันยังหลอกตัวเองอีก จะทำอย่างนั้นก็ว่าเป็นสีลัพพตปรามาส สีลัพพตปรามาสคือการไม่ยอมทำ การให้อยู่กับที่ การไม่ก้าวเดินออกไป ถ้าเราก้าวเดิน ผิดถูกครูบาอาจารย์สามารถชี้นำได้ แล้วจะก้าวถึงหลักความจริงของเราได้ เป็นผลขึ้นมาในหัวใจของเรา เอวัง