ปัญหาภาวนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๔
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
กำหนดนะ อภิธรรมสอนให้กำหนดนามรูปภายใน ให้กำหนดกระทบแล้วรู้ตลอดไป ถ้าพูดถึงอาจารย์มหาบัวสอนเรื่องปัญญาอบรมสมาธิก็สอนอย่างนี้ แต่ท่านไม่ได้บอกว่าให้กำหนดกระทบภายในอย่างนั้น ท่านบอกว่า ให้ใช้ปัญญาตามรู้ตามความเข้าใจไป เหมือนกันไหม? เห็นไหม ใช้ปัญญาตามความเข้าใจนี่เหมือนกัน
ถึงบอกว่าถูกครึ่งหนึ่ง ครึ่งหนึ่งคือว่าเริ่มต้นตรงนี้มันเป็นการใช้ปัญญาหมุนไป หมุนไปควบคุมใจไง เราเรียกว่าคนภาคกลางนี่มันจะเป็นพุทธจริต เห็นไหม พุทธะนี่มันเป็นผู้ที่ใช้ปัญญามาก จะไม่ค่อยกำหนดพุทโธ พุทโธนี่ไม่ค่อยลงหรอก มันกำหนดแล้วมันจะเครียดด้วย ต้องใช้ปัญญาคิดไง
ความคิดอย่างนี้หลวงปู่มั่นไปบอกสมเด็จฯ ไง อาจารย์หรือสมเด็จฯ จำไม่ได้ว่า สมเด็จฯ ถามหลวงปู่มั่น ทำไมเราชอบคิด?
หลวงปู่มั่นบอกที่วัดบรมฯ นะ ให้คิดมากๆ พระเดชพระคุณ ให้คิดไปเลย ให้คิดมากๆ ครับ ให้คิดมากๆ ท่านไม่ได้บอกให้กำหนดพุทโธเลย
วิธีการนี่มันมีมากเลย การจะเดินเข้าทาง ทุกคนบอกว่าการจะเดินเข้ากรุงเทพฯ มันมีทางเหนือเข้าได้ ทางใต้เข้าได้ ทางตะวันออกเข้าได้ เข้าได้หมด สมถะทุกอย่างนี่เข้าได้หมด เข้าได้ กำหนดพุทโธเข้ามา กำหนดใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา กำหนดนามรูปเข้ามา มันเข้าไปหาถึงความเป็นสมถะทั้งหมด มันเข้าไปเป็นความสงบทั้งหมด
แต่ถ้าอย่างนี้ ถ้าพูดถึงของเรา กำหนดใช้ปัญญา กำหนดตามนามรูปก็ได้ เป็นปัญญาอบรมสมาธิให้มันเป็นความสงบเข้ามา ถ้าเราทำอย่างนี้บางทีมันก็ทำได้ บางทีมันก็ไม่สะดวก เห็นไหม กำหนดพุทโธบ้างก็ได้ กำหนดลมหายใจเข้าออก พุทโธ พุทโธนี่ มันอันเดียวกับกำหนดนามรูป อันเดียวกัน เพียงแต่วิธีการต่างกัน มันอันเดียวกันเลย กำหนดนามรูป กำหนดอะไรนี่ กับกำหนดพุทโธ เพราะนามรูปคือสร้างสติ สร้างขึ้นมา
แต่ขณะที่ว่ากระทบนี่เป็นนามรูปไหม? เป็น ชัดเจนเลย นี่กำหนดตรงนี้ไง กำหนดพุทโธนี่มันก็รู้เท่า อันเดียวกัน แต่เรามาแบ่งกันเองว่าทางโน้นถูกทางนี้ผิด
ทีนี้ที่ว่าเราบอกว่าอภิธรรมนี่ถูกครึ่งหนึ่งก็ตรงนี้ไง สำคัญมากเลย ตรงที่กำหนดเข้ามา กำหนดนามรูปกระทบเข้ามาแล้วมันจะปล่อยวาง พอมันปล่อยวาง เขาก็เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนาแล้วใช่ไหม? ถ้าเป็นวิปัสสนา มันถึงพอปล่อยวางเสร็จแล้ว ตรงนี้ต้องเป็นผลของวิปัสสนา คือว่าเป็นมรรคเป็นผล
แต่ถ้าสำหรับครูบาอาจารย์เราบอกว่า ถ้ากำหนดสมถะเข้ามา มันเป็นทำความสงบเข้ามาเฉยๆ ความสงบเข้ามานี่เป็นผลส่วนหนึ่ง เป็นผลในสัมมาสมาธิ ทำสมาธิเข้ามาเพื่อหาสัมมาสมาธิ สัมมาสมาธินี่เป็นมรรคตัวเดียว แล้วมรรคอีก ๗ ตัว นี่การงานชอบชอบตรงนี้
พอมันสงบเข้ามาใช่ไหม เรากำหนดนามรูปนี่สงบเข้ามา แต่สงบแล้วเขาจะปล่อยวาง พอปล่อยวางเขาว่าอันนี้เป็นผลแล้ว แล้วค่อยกำหนดปล่อยวางเข้าไปเรื่อยๆ ปล่อยวางเข้าไปเรื่อย มันก็จะหมุนวนอยู่ตรงนั้น มันไม่ก้าวเดิน แต่ถ้าเป็นครูบาอาจารย์เรา พอปัญญาอบรมสมาธิ พอจิตมันสงบขึ้นมา จะเป็นปัญญาใช้ความคิด ปัญญาอบรมสมาธิก็แล้วแต่ จะกำหนดพุทโธก็แล้วแต่ นี่มันเป็นสัมมาสมาธิ
พอสัมมาสมาธิ งานชอบชอบตรงไหน ที่เราเน้นตลอดนี่งานชอบ ชอบที่ว่าพิจารณากายกับใจ ใจที่ว่าเขาบอกอารมณ์กระทบนามรูปเมื่อกี้ที่เขาพิจารณากัน มันพิจารณาที่เงา ที่เงาไง อารมณ์ที่เกิดขึ้นมันจับต้องได้ เห็นไหม มันก็จะพิจารณาที่เงา
พอพิจารณาเท่าทันเงา เงานี่มันมีชีวิต เพราะมันเป็นนามธรรม มันรู้เท่าทันเข้ามันก็ปล่อยวาง พอปล่อยวางเงาขึ้นมาก็เข้าถึงตัวของจิต เห็นไหม แต่ตรงนี้คนหาไม่เจอ มันจะว่างหมด พอมันปล่อยเงา คิดดูสิ สมมุติเราปล่อยเงาปั๊บ ไอ้เราปล่อยแล้วเราก็ปล่อยหมด เราก็ต้องว่างหมดใช่ไหม? แต่จริงๆ พอปล่อยหมดแล้ว ตัวพลังงานคือตัวที่มันปล่อยมันยังอยู่
นี่หาตัวพลังงานตัวนี้ ตัวที่มันปล่อยเขา ตัวนี้คือตัวจิตแท้ ถ้าเจอตัวนี้ได้นี่งานชอบ แต่เขาไม่หาตรงนี้ไง เขาปล่อยวางเข้ามาเรื่อยๆ ปล่อยวางเข้ามาเรื่อย เขาไม่ค้นคว้าตรงนี้ไง ถ้าค้นคว้า เทคนิคมันอยู่ตรงนี้ สำคัญที่สุดตรงนี้ ตรงที่ว่าถ้ามันคุ้ยขึ้นมาไง มันคุ้ยขึ้นมา มันพยายามค้นขึ้นมา ถ้ามันเจอพลังงานตัวนี้ขึ้นมา นั่นคือพิจารณาความจริงของมัน
แล้วมันจะไปกระทบเอาภายใน มันเป็นความจริงของมันปั๊บ เวลาเราไล่เข้าไปนะ ไล่เข้าไป ถ้าจับต้องได้ไล่เข้าไป นี่ถึงจะเป็นภาวนามยปัญญาไง เวลาพูดถึงภาวนามยปัญญา พูดไปใครฟังไม่รู้เรื่องหรอก เขาว่าใช้ปัญญาตรึกตรองนี่เป็นวิปัสสนา..
ไม่ใช่! มันเป็นโลกชัดๆ เลย เราคิดขึ้นมาจากเราทั้งหมด เราคิดขึ้นมาจากเรา ความคิดนี่เป็นเรา เราเป็นตัวคิดขึ้นมา มันไม่ใช่ว่าถ้าภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้น มันจะไม่ใช่เราคิด มันจะมีความคิดที่ว่ามันคิดขึ้นมาได้อย่างไรก็ไม่รู้ บางทีมันแปลก ความคิดของเรานี่บางทีมันขึ้นมา กิเลสมันขึ้นมา มันคิด เราจะรู้ตัวเราเอง เราคิดขึ้นมา มันคิดขึ้นมาโดยที่เราไม่รู้สึกตัวเลย บางอย่างนี่ไม่รู้สึกตัวขึ้นมาเลย มันคิดขึ้นมาแบบกระทุ้งขึ้นมาโดยที่ว่าสมุฏฐานอยู่ที่ไหนเราก็ไม่เห็น
แต่ไอ้ความคิดที่มันจะทันตรงนี้ มันคิดขึ้นมาได้อย่างไร มันทันกัน เอ้า..ฟังสิ! แล้วเป็นเราได้อย่างไร? มันยังไม่เป็นเราเลย ถ้าเป็นเรา มรรคเราไม่สามัคคีไง มรรค ๘ นี่ไม่สามัคคี ถ้ามันหมุนไปเพราะอะไร เพราะมีสมถะ ความที่เป็นสมถะนี่สำคัญที่สุด สำคัญตรงที่ว่ามันจะได้รื้อค้นเข้ามาหาตัวใจ ถ้าหาตัวใจเจอ มันถึงบอกมันจะเป็นวิปัสสนา ถ้าเป็นวิปัสสนามันจะก้าวเดินไป
อันนี้เป็นเหตุผลนะ แต่ถ้าเรายังทำไม่ถึง ตัวนี้วางไว้ก่อน เรายังทำไม่ถึงหรอก เราต้องการความสงบก่อนแล้วต้องการพื้นฐาน ถ้าต้องการพื้นฐาน เราอยากให้กำหนดลมหายใจเข้าออก แล้วพุทโธ พุทโธพร้อมกับลมหายใจเข้าออก แล้วถ้ามันผิดพลาดเราค่อยแก้ไขกันไป มันจะมีความลังเลสงสัย มีความผิดพลาด
แล้วอีกอย่างหนึ่ง คนเรามันยังไม่อยากทำเพราะ! เพราะทำแล้วไม่ค่อยได้ผลไง เวลาทำแล้วไม่ได้ผลแล้วมันก็ท้อใจ มันสำคัญตรงที่มันจะท้อใจ ถ้าเราไม่ท้อใจ เราทำของเราไปเรื่อยๆ ทำของเราไปเรื่อยๆ มันเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
แต่ถ้ากำหนดอภิธรรมนามรูป มันมีสิ่งที่จับต้องได้ มันเห็นผลไง มันจะเห็นผลเลยนะ เห็นผลที่มันปล่อยวางๆๆ นี่ปัญญาอบรมสมาธิมันก็ดีอย่างนี้ ดีที่ว่าอย่างพวกเรามีปัญญาไง เวลามันคิดขึ้นมามีประเด็นขึ้นมาแล้ว เราก็คิดย้อนประเด็นนั้นเข้าไป มันจะปล่อยวางอารมณ์นั้น พอมันปล่อยวาง นี่เป็นสมาธิโดยพื้นฐาน สมาธิของปัญญานะ
ต้นไม้ถ้าเราโค่นต้นไม้ ต้นไม้นี่นะถ้าเราฟันโคนมัน เวลาล้มๆ ทั้งต้นเลย ครืนเลยนะ เวลาครืนลงไปนี่นะ สมาธิเรากำหนดพุทโธ พุทโธ พุทโธ เวลามันลงไปมันจะลงวูบอย่างนี้ คนถึงว่า โอ้.. สมาธินี้มีความสุขมาก
แล้วเวลาเรากำหนดปัญญาอบรมสมาธิ มันเหมือนกับต้นไม้มันปลูกอยู่ข้างติดกับสิ่งก่อสร้าง เราจะโค่นล้มไม่ได้ เราต้องขึ้นไปข้างบนนะ เราไปตัดทีละกิ่ง แล้วเราก็ต้องทอนมันลงมาทีละกิ่ง ทอนลงมาทีละกิ่ง ลงมาทีละกิ่งจนเหลือโคนต้น เราตัดโคนต้น มันนิดเดียว เห็นไหม มันก็ล้มเบาๆ
มันถึงว่าสมาธิมันถึงไม่เหมือนกันไง เราเทียบถึงความเป็นสมาธิ เทียบถึงใจ ถ้าสมาธิลงประจำ (เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)