เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
วันนี้ วันเสาร์-อาทิตย์ ตรงกับวันพระ วันพระเห็นไหม วันพระ วันโกน คนที่มีปัญญาจะเห็นไง เวลาหลวงตาท่านสอน ให้ดูใจเรา สังคมของเราให้ดูใจเรา แต่เวลาสังคมกระทบสังคมให้ดูใจเรา เพื่อประโยชน์กับเรา
แต่ถ้าเป็นทางวิชาการ เขาบอกว่าปัจเจกชนเห็นแก่ตัว ต้องพหุชน ต้องเห็นแก่สังคม เพราะการเห็นแก่สังคม ต้องการยกย่องจากสังคม ถึงพยายามใส่หน้ากากเข้าหากัน
แต่ถ้าเป็นปัจเจกชนเห็นไหม ทำตัวเองให้ดีที่สุด นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแม้แต่พระองค์เดียวนะ ตรัสรู้อยู่ที่โคนต้นโพธิ์ นี่เป็นประโยชน์กับ ๓ โลกธาตุ ไอ้เรานี่เห็นแก่พหุสังคม พหุภาพ สังคมเพื่ออะไร เพื่อเป็นการส่งออกใช่ไหม แต่ถ้าเราเป็นคนดีของเรานี่ เราเป็นคนดีกับสังคม สังคมก็ดีกับเรา เราจะเข้าใจสังคมทั้งหมดเลย นั่นเป็นเรื่องของสังคมนะ
ถ้าเรื่องของตัวเราล่ะ ดูสิ ดูวัดเราเห็นไหม หัวหน้า ผู้ที่รักษาอาวาสนั้น ถ้าหัวหน้านั้นดี มันสมองนั้นดี จะควบคุมร่างกายทั้งร่างกายนั้นให้เจริญเติบโต ให้ร่างกายนั้นไม่พิการ แต่ถ้าสมองนั้นฝ่อ จะทำให้ร่างกายนั้นเสียหายหมดเลย นี่เริ่มตั้งแต่มนุษย์ มนุษย์ที่สมอง มนุษย์ที่ปัจเจกชน มนุษย์ที่รักษาตัวเองได้ดี มนุษย์คนนั้นจะเป็นประโยชน์กับสังคม
นี่ในวัดวาอาราม ถ้ามีพระเป็นหัวหน้าที่ดี หัวหน้าที่ดีจะควบคุมอวัยวะภายในวัดนั้น ก็เหมือนร่างกายนั้น ผู้ที่เข้ามาในสังคมในวัดนั้น ต่างคนต่างพัฒนาการของมันขึ้นมา พัฒนาการเห็นไหม นี่เราก็มาวัดมาวากัน เราก็มาทางไกล เรามาด้วยความลำบากนะ เรามาด้วยความศรัทธา มาด้วยความเชื่อ เราก็บอกว่าต้องสะดวกสบาย คำว่าสะดวกสบายเห็นไหม ต่างคนต่างสะดวกสบายนี่ มันก็จะกดถ่วงกันในสังคม
แต่ถ้าครูบาอาจารย์ของเรา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสรู้อยู่โคนต้นโพธิ์ในป่า ไม่มีใครรับรู้ได้เลย ครูบาอาจารย์ของเรา เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมาในป่าในเขา พยายามปฏิบัติมาด้วยตัวของท่านเอง ท่านจะไม่เป็นภาระของใครเลย
นี่ก็เหมือนกัน เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เหมือนกับเราปิดทองหลังพระ คำว่าปิดทองหลังพระ เราทำคุณงามความดี เรารู้ของเราอยู่แล้ว คุณงามความดีของเราๆ ตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้าง นั่นคือความดีของเรา ฉะนั้นมันต้องกระฉับกระเฉงไง ไม่เอ้อระเหยลอยชาย มันจะไม่กดถ่วงกัน
ความกดถ่วงกัน แต่เราดูของเรา ความกดถ่วงกัน เหมือนร่างกายเห็นไหม แม้แต่แค่หนามทิ่มนี่ เราเดินเข้ามามันก็ไม่สะดวกแล้ว สิ่งใดถ้าขัดแย้งกัน มันจะขัดแย้งกันไป อันนี้มันค่าของน้ำใจไง ถ้าค่าของน้ำใจ เราเห็นแก่ความสงบเรียบร้อย...เราเสียสละ...เราเสียสละ นั่นล่ะสังคมจะดีขึ้นมา
แต่ว่าเป็นห่วงสังคม ทุกคนมีความสำคัญขึ้นมาทั้งหมดเลย สังคมนั้นมันจะมีปัญหาไปทั้งนั้น เพราะทุกคนเป็นคนเก่งทั้งนั้นเลย นี่ คนเก่งเห็นไหม คนเก่งเขาพร้อมหรือยัง
ดูสิ เราดูเด็กของเรา เด็กมาวัด มันสนุกเพลิดเพลินของมัน เด็กมาวัดยิ้มแย้มแจ่มใสนะ เราให้ความเมตตาแก่เด็ก นี่เด็กก็พอใจแล้ว ความศรัทธาเริ่มต้น ศรัทธาของคนมันก็เหมือนเด็กน้อยนั่นแหละ พอศรัทธาขึ้นมาแล้วเราเสียสละของเราขึ้นมา นี่สิ่งนั้นเป็นความสำคัญ นี่มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด
ความที่เรากระทำอย่างนั้น ความสำคัญอย่างนั้น ถ้าเราไม่ละเอียดเข้ามา เราไม่ทิ้งความสำคัญนั้น เราก็มาเหมือนกัน เราก็ทำของเราเหมือนกัน แต่เราทำแบบไม่มีตัวตน ถ้าเราไม่มีตัวตนนะ สิ่งนั้นมันจะไม่ไปขัดแย้งกับใครเลย ถ้าเราไม่ขัดแย้งกับใคร แต่เวลาเรา ทาน ศีล ภาวนา เวลาเราภาวนาขึ้นมานี่ เราจะย้อนมาดูใจของเรานะ
เวลาเราปฏิบัติอยู่ในป่า เวลาฉันอาหารเสร็จแล้ว ศึกษามาตั้งแต่ปฏิปทาพระธุดงค์กรรมฐาน เวลาหลวงปู่มั่นท่านเอาบาตรเก็บแล้ว ท่านบอกไม่ให้ขึ้นกุฏิ ถ้าขึ้นกุฏิไปมันจะต่อรองให้พักก่อน ให้อะไรก่อน นี่เวลาถึงแล้วให้เอาบาตรผลักเข้าไปในกุฏิ แล้วพวกผ้าให้ผึ่งแดด ผึ่งแดดเสร็จแล้วเข้าทางจงกรมเลย พอเข้าทางจงกรมไปแล้วนี่ ไปเดินจงกรม พอเดินจงกรม... นี่ภัตกิจ เวลาเราอยู่ศาลา โรงฉันนี่ สิ่งนี้เป็นกิจวัตรของเรา
กิเลสของเราในปัจจุบัน มันก็พอใจตามอำนาจของมัน เวลาเสร็จกิจนั้นแล้ว ทาน ศีล ภาวนา เสร็จกิจนั้นแล้ว เราไปภาวนา นี่ระดับของทานเห็นไหม เราทำของเรา มีตัวตนแล้วมีกระทบกระเทือนกันมาแล้ว ได้สมความปรารถนาหรือไม่สมความปรารถนา พอกลับไปภาวนา สิ่งนั้นมันจะขึ้นทันทีเลย
เวลาเราฉันอาหาร ทำภัตกิจเสร็จแล้ว เราไปเดินจงกรม...มันจะเหนื่อยหน่าย มันจะอับเฉา มันจะมีสิ่งกระทบของหัวใจ นี่มันจะไปรื้อค้น ไปตรวจสอบเรา แล้วเราจะรื้อค้นตรวจสอบว่า มันกระทบกระเทือนสิ่งใดมา สิ่งนี้มันมีประโยชน์กับสิ่งใดมา
นี่ทาน ศีล ภาวนา ภาวนา พอภาวนาไปนี่ จะบอกว่าเรื่องภัตกิจ เรื่องวัด ในศาลามันก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนนี้มันเป็นส่วนเพื่อดำรงชีวิตเท่านั้น แต่ดำรงชีวิต ดำรงชีวิตเพื่อสิ่งใด
ถ้าดำรงชีวิตมาเห็นไหม ดูเรามีเงินสิ เงินนั้นไปซื้อยาเสพติดก็ได้ ไปจ้างคนทำร้ายใครก็ได้ เงินนั้นทำประโยชน์ก็ได้ นี่ก็เหมือนกัน อาหารจะทำร้ายเราก็ได้ ถ้าเราฉันของเรา เราไม่มีสติปัญญาของเรา เราฉันอาหารแต่สิ่งที่ทางโลกเขาว่ามีคุณภาพ แต่มีคุณภาพเพื่อประโยชน์กับร่างกาย เวลาไปนั่งภาวนา เดินจงกรมนี่ นั่งคอตกเลยนะ สัปหงกโงกง่วงเลย
นี่มันมีผล มรรคหยาบ มรรคละเอียด บุญของเรา เรื่องระดับของทานใช่ไหม เรื่องระดับของภาวนาใช่ไหม เรื่องระดับของปัญญาที่มันเกิดขึ้นมานี่ ปัญญาของใคร ถ้าปัญญาของโลกใครได้ประโยชน์ ใครได้วัตถุสิ่งนั้นมากขึ้นมา คนนั้นจะได้ประโยชน์ใช่ไหม
แต่ถ้าเราเสียสละ เราขาดทุนใช่ไหม แต่ถ้าเราไปภาวนานะเราได้บุญ เราได้ประโยชน์เพราะอะไร เพราะเราเสียสละ เราไม่ให้สิ่งนั้นเข้ามากดถ่วงร่างกายของเรา ทำให้ร่างกายของเราเป็นโรคภัยไข้เจ็บขึ้นมา
แต่ถ้าเราไม่ได้สิ่งนั้นขึ้นมา ร่างกายของเราปลอดโปร่ง พอร่างกายปลอดโปร่ง เราไปภาวนาจิตใจเราปลอดโปร่ง จิตใจเราไม่มีการขัดแย้งกับใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าจิตใจเราไม่มีการขัดแย้งกับใดๆ ทั้งสิ้น นี่ไง การเสียสละ มรรคหยาบ มรรคละเอียด
ถ้าเราเห็นแก่อนาคต เห็นแก่เป้าหมายของเรา ในสิ่งที่เป็นปัจจุบันที่มีปัญหาขัดแย้งนี่ มันจะไม่มีสิ่งใดๆ เลย แต่ถ้าเราไปยึดมั่นถือมั่นกับความเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เราไม่มีเป้าหมายของเรา ว่าเป้าหมายของเราจะทำสิ่งใดต่อไป นี่เราจะทำสิ่งใดต่อไปล่ะ นี่ชีวิตของเราเกิดมาเพื่อทำไม เราเกิดมาเพื่อเหตุใด
เวลาเรามาวัดมาวากัน เขาทำไมต้องไปวัดไปวา เรามีหน้าที่อยู่แล้ว เราก็เป็นคนดีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าสอนให้เป็นคนดี สอนให้เราปล่อยวาง เราก็ปล่อยวางหมดเลย นี่ไง ปล่อยวางแบบเราไง
ในการประพฤติปฏิบัติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเทศน์อนุบุพพิกถา พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกให้คนภาวนาหมดนะ บอกให้เสียสละ ให้ทำบุญกุศล พอทำบุญกุศลมันจะได้ไปสวรรค์ พอได้ไปสวรรค์ ให้ถือเนกขัมมะ พอได้สวรรค์แล้วก็เวียนตายเวียนเกิด เวียนตายเวียนเกิดแล้วถือเนกขัมมะ แล้วถือพรหมจรรย์ นี่ไง เป็นชั้นเป็นตอนขึ้นไป
แต่ในปัจจุบันนี้ เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมานะ นี่ปัญญาชน เราปฏิบัติปล่อยวางๆ พระพุทธเจ้าสอนให้ปล่อยวาง เราก็ปล่อยวางกันหมดแล้ว เป็นคนดีหมดแล้ว ทุกคนเป็นคนดีหมดเลย ดีของกิเลสไง ดีของภพของชาติ
ความดีอย่างนี้มันก็เป็น...เรากตัญญูกตเวที เราดูแลพ่อแม่ของเรา เรารักษา นั่นก็เป็นความดีอันหนึ่งนะ แต่ความดีอย่างนี้ มันก็เหมือนร่างกายนี่ล่ะ ใช้แล้วเห็นไหม ร่างกายดูดอาหารเข้าไป กินเข้าไปมันก็ขับถ่ายทิ้งหมด ความดีของเรา ผลของวัฏฏะ มันก็มันก็เวียนตายเวียนเกิด มันก็เหมือนกับการขับถ่าย การหมุนเวียนไป
แต่ถ้าเรามีหลักเกณฑ์ของเรา เรามีศีล มีสมาธิ มีปัญญา ไอ้หลักเกณฑ์อันนี้มันจะเข้ามาแก้ไข ความดีอย่างนี้ต่างหากล่ะ แล้วความดีอย่างนี้ ปัญญาชนๆ ปฏิบัตินี่ ว่างๆๆๆ เป็นคนดีหมดล่ะ มันดีของกิเลสไง ดีด้วยตรรกะ ดีด้วยความรู้ความเห็นของตัว ดีด้วยโลก มันไม่ใช่ดีด้วยธรรม
ถ้าดีด้วยธรรม สิ่งที่เราทำ ทำไมครูบาอาจารย์ของเรา ดูสิ คนจนผู้ยิ่งใหญ่!! หลวงตาเรานี่ คนจนผู้ยิ่งใหญ่ มีบริหาร ๘ แต่หาทรัพย์สมบัติไว้ให้โลกนี่เป็นหมื่นๆ ล้าน คนจนผู้ยิ่งใหญ่ แต่คนที่ทำงานขึ้นมาแล้วนี่ คนเรามีอุปสรรคทั้งนั้นล่ะ นี่ก็เหมือนกันเห็นไหม คนจนผู้ยิ่งใหญ่!! หาไว้ให้กับโลกเห็นไหม คนชื่นชมก็มี คนติฉินนินทาก็มี อันนั้นมันเรื่องของโลกเขา สิ่งนี้เราปฏิเสธไม่ได้
แต่ของเรานี่ เราหาของเราขึ้นมานี่ สิ่งที่ว่าเป็นวัฏฏะๆ ผลของวัฏฏะ ถ้าผลของวัฏฏะ สิ่งใดที่เป็นประโยชน์กับเรา อาหารมันเลี้ยงปากเลี้ยงท้องใช่ไหม แล้วหัวใจนี่มันจะเลี้ยงด้วยธรรม เลี้ยงด้วยธรรมคือปัญญา สิ่งที่เราว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับเรา ถ้าเราแสวงหา เรามากอดมันไว้ มันก็เกิดเป็นทิฐิมานะ มันเกิดเป็นโทษกับเรา
กุศลทำให้เกิดอกุศล กุศลทำให้เกิดอกุศลเห็นไหม กุศลความดีทั้งนั้น ทำความดีนะ แต่ไม่พอใจเลย สิ่งที่ทำแล้วไม่สมความปรารถนา ไม่สมใจดังที่เราต้องการเลย เราตั้งใจทำกุศล แต่ทำไมมันเกิดอกุศลในหัวใจ กลับไปบ้านก็ไปนั่งคิดนะ โน่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่ดี ผิดไปทุกอย่างเลย เอ๊ะ! แล้วไปทำบุญ ทำไมมันแผดเผาเราล่ะ
แต่ถ้ามันเป็นความดีของเรา อกุศลทำให้เกิดกุศล อกุศลไม่พอใจ ไม่ต้องการสิ่งใดเลย แต่พอไปทำนั้นมันมีปัญญาขึ้นมา นี่ไง ปัญญามันเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ ถ้าปัญญาเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้ นี่ธรรม ธรรมหมายถึงว่ามันเป็นอาหารของใจ กุศลทำให้เกิดอกุศล ตั้งใจไปทำคุณงามความดี แล้วนี่มันก็ขัดแย้งในหัวใจ ใจมีแต่ความขัดแย้งหมดเลย
แต่ถ้าเรามีแต่ความทุกข์ความยาก มีแต่ความฟุ้งซ่าน นี่อกุศล เวลาฟังธรรมขึ้นมาแล้วนี่ ฟังนี่มันตบนี้ลงไป!มันตบลงไป! มันตบหัวใจความคิดลงไป! อย่างนี้คิดไม่ได้! จับมือที่มันกำ ตบมันออก ไม่ให้มันจับ...ไม่ให้มันจับต้อง...ไม่ให้มันยึดมั่นถือมั่นของมัน แต่ธรรมชาติของมือ พอปล่อยแล้วมันก็ปล่อย
แต่ธรรมชาติของจิตมันเกิดดับ! เกิดดับ! มันไม่มีวันปล่อยหรอก... แต่มันปล่อย มันปล่อยได้ชั่วคราวใช่ไหม แต่ปล่อยได้ชั่วคราว ถ้ามันกลับมาทำความสงบของใจ ถ้าใจมันสงบเข้ามา แล้วมันมีปัญญาขึ้นมา มันจะทำถึงที่สุด มันจะปล่อยโดยสัจธรรม
พอมันปล่อยโดยสัจธรรม มันจะไม่เห็นโทษเลย เหมือนกับว่าเราเห็นว่าอาหารนี้เป็นพิษ เราไม่เอาใส่ปากเราแน่นอน แต่เพราะอาหารมันเป็นพิษ แต่เรามีความจำเป็น เราต้องดำรงชีวิตนะ เอาไว้ก่อน ดำรงชีวิตไปก่อน นี่มันต่อรองตลอดเห็นไหม
แต่เราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลามันมีสัจจะขึ้นมา มันไม่ต่อรอง ถ้าอาหารที่เป็นพิษ ไม่กิน พอไม่กินมันต้องตาย ตายให้มันตายไป เพราะทำไม เราอดอาหารกันเห็นไหม เราภาวนากันน่ะ อดอาหารขนาดไหน มันไม่มีวันตายหรอก แต่พวกเราอ่อนแอไง
โดยธรรมชาติ มนุษย์ต้องกินข้าว ๓ มื้อ เวลาจะปฏิบัติกินข้าวมื้อเดียวนี่ โอ้โฮ ! มันจะเป็นโรคเป็นภัยไปหมดเลย แต่ตามความเป็นจริงนะ มันจะเป็นประโยชน์หมดเลย หมดเลยเพราะอะไร เพราะสารพิษในร่างกายมันได้ขับถ่ายของมันออกไป อาหารที่มันสะสมในร่างกายมันดึงออกมาใช้ สิ่งต่างๆ มันจะไม่สะสมให้เป็นโรคเป็นภัยในร่างกายของเรา
แต่กิเลสมันเคย ๓ มื้อ พอมื้อเดียวมันรับไม่ได้! พอรับไม่ได้ นี่กิเลสรับไม่ได้นะ แต่ร่างกายมันรับได้ ร่างกายมันไม่เป็นอะไรเลย แต่หัวใจมันรับไม่ได้! หัวใจมันรับไม่ได้! นี่เป็นโทษกับมันเห็นไหม ถ้ามีปัญญาขึ้นมามันย้อนกลับมาที่นี่ ถ้าย้อนกลับมาที่นี่ นี่ไง มันชำระล้างที่ใจของเรา
ถ้าใจของเรามีประโยชน์ขึ้นมา เวลาทำนะ มันเป็นค่าของน้ำใจ ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นค่าของน้ำใจ แต่ค่าของน้ำใจนี่ มันแสดงออกมาไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีมนุษย์ ถ้าไม่มีคน
น้ำใจ ดูสิ ดูจิตวิญญาณที่เราเห็นว่ามีภูตผีปีศาจ เราเห็นเขาไหมล่ะ เราไม่เห็นเขานะ มันเป็นทิพย์ มีไหม...มี แต่เรามองไม่เห็นด้วยตาเนื้อ แต่เพราะเราเกิดเป็นมนุษย์ใช่ไหม เรามีร่างกายใช่ไหม ร่างกายเรานี่ เราจะมานี่ จิตใจนี่เอาร่างกายเรามาด้วย มันอยู่ในร่างกายนี่ แต่เราไปติดกันที่ร่างกายนี้ไง ร่างกายนี่ความจำเป็น ทุกอย่างจำเป็นไปหมดเลย...
แต่หัวใจล่ะ ถ้ามันพัฒนาขึ้นมาเห็นไหม มนุสสเปโต มนุษย์เปรต...มนุษย์เดรัจฉานโนมนุษย์สัตว์...มนุสสเทโว มนุษย์เทวดา...มนุษย์นี่แหละ จิตใจที่อยู่ในร่างกาย ค่าของน้ำใจที่อยู่ในร่างกาย ถ้าค่าของน้ำใจที่มันดีนี่ มันทำให้เป็นมนุสสเทโว เป็นมนุษย์นะ แต่มีค่าเท่ากับเทวดา
แต่ถ้าใจเราหยาบช้านะ เป็นมนุษย์นะ แต่ค่าเท่ากับสัตว์ มนุษย์เดรัจฉานโน ค่าของน้ำใจนี่มันมีค่า แล้วค่าของน้ำใจนี่เราวัดได้ของเราขึ้นมา เราทำของเราขึ้นมา แต่ถ้าว่าค่าของน้ำใจ ค่าของน้ำใจนี่ เวลาพูดถึงค่าของน้ำใจนี่ มันบอกว่ามันเป็นนามธรรมเกินไป พระพุทธศาสนาสอนเรื่องนามธรรมเกินไป
นามธรรมน่ะ เพราะเรื่องหัวใจ เรื่องความทุกข์ มันก็เป็นนามธรรม สิ่งที่เป็นนามธรรมกับนามธรรมจะเข้ากัน แต่ถ้าสิ่งที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่เป็นวัตถุ เราต้องการวัตถุกัน ร่างกายก็เป็นวัตถุ เครื่องใช้ไม้สอยก็เป็นวัตถุ มันต้องอาศัย มันเกื้อกัน มันเอื้ออำนวยต่อกัน เพราะมนุษย์ต้องมีหัวใจถึงเป็นมนุษย์ได้ ถ้าไม่มีหัวใจมันก็เป็นซากศพ มันก็เป็นวัตถุเท่านั้นเอง
เพียงแต่เรามาพัฒนาของเรา เราพัฒนาของเรา เราต้องบังคับเรา บังคับให้หัวใจเข้าสู่สัจธรรม เข้าสู่ความเป็นจริง มันจะเป็นประโยชน์กับเรานะ นี่มาทำบุญ เราทำบุญกุศลนะได้สัจธรรมอันนี้ หัวใจมันได้มีหลักมีเกณฑ์ สิ่งใด ๆ ทุกคนมีปัญหาไปหมด
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาของเรา เวลาเผยแผ่ธรรม ลัทธิต่างๆ เขาอิจฉาตาร้อน เขาจ้างคนมาด่านะ เขาจ้างคนมาฆ่า
เทวทัตให้คนแม่ธนู ๔ คนไปยิงพระพุทธเจ้า ให้อีก ๔ คนไปยิงคนที่ยิงพระพุทธเจ้า ให้อีก ๔ คนไปยิงตัดตอนถึง ๔ รอบ นี่พระพุทธเจ้าทำดีนะ พระพุทธเจ้าเผยแผ่ธรรมนะ เทวทัตให้นายแม่นธนูไปยิงทิ้งเลย แล้วก็เอาคนไปยิงตัดตอนถึง ๔ ชั้น
เวลาไปถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศนาว่าการ จนคนมายิงบวช จนเป็นพระอรหันต์ นี่บวชหมด ๑๖ คนนั้นเอามาบวชหมดเลย นี่ทั้งๆ ที่ตั้งใจมาฆ่า
เราจะบอกว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังมีอุปสรรค...ยังมีคนทำร้าย...ยังมีคนรังแก แล้วพวกเราเป็นใคร
ฉะนั้น มีอุปสรรคขึ้นมาบ้าง มีอะไรขึ้นมาบ้าง มันเป็นเวรเป็นกรรม เราต้องมีสติ ต้องมีปัญญา ทน!! ทนแล้วตั้งสติ แล้วฝ่าวิกฤติอันนี้ไป เราจะพ้นวิกฤติอันนี้ไป พอพ้นวิกฤติอันนี้ไปแล้ว ชีวิตเราก็จะพ้นไป! พ้นไป! เราทำคุณงามความดีของเราได้ เราตั้งใจของเรา ทำคุณงามความดีของเรา ทุกคนเกิดมามีเวรมีกรรม จะมีอุปสรรค มีคนเกื้อกูลกัน มันเป็นเวรเป็นกรรม
ฉะนั้น ทำดีถึงได้ดี ทำชั่วถึงได้ชั่ว เห็นไหม กลิ่นของศีล...หอมทวนลม... เราทำแต่คุณงามความดีของเรา ใครจะติฉินนินทา ใครจะกล่าวร้ายอย่างไร มันเรื่องของเขา เราทำความดีของเราเพื่อเรา เอวัง