เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๓ ก.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาเราเกิดมาเป็นคน เราเกิดมาด้วยผลบุญผลกรรม เวลามาเกิดเป็นคน เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราเป็นคน เพราะเราเป็นคนมาแล้วเห็นไหม มันมาจากเวรจากกรรม แต่เวลาเราจะฝึกคนขึ้นมาล่ะ เราจะฝึกคนให้เป็นคนดีขึ้นมา มันยากกว่านั้น.. มันยากกว่านั้น

ดูนะ ดูเวลาเขาคัดเลือกทหารเกณฑ์นะ ดี ๑ ประเภท ๑ ดี ๑ ประเภท ๒ เห็นไหม เขายังต้องคัดต้องเลือก พอคัดเลือกเข้าไปแล้ว ดูสิ เขาไปฝึกนะ ฝึกแบบพลทหาร.. ถ้าเป็นชั้นประทวน เขาก็ฝึกเข้มข้นขึ้นไป.. แต่ถ้าเป็นนายทหาร ก็ฝึกเข้มข้นขึ้นไปอีก เพราะอะไร? ...เพราะจะเป็นผู้นำเขาใช่ไหม

นี่ก็เหมือนกัน เวลาคนเกิดมา เพราะเราเกิดมาด้วยเวรด้วยกรรม นี่เวรกรรม ! แต่เป็นกรรมดีนะ “มนุษย์สมบัติ” นี่สุดยอดมากเลย

สิ่งที่เราได้มา มันได้มาด้วยบุญกุศลที่มีค่ามหาศาล พอมีค่ามหาศาลนะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เกิดเป็นมนุษย์ใช่ไหม เราก็เกิดเป็นมนุษย์ใช่ไหม แต่เกิดมาแล้วทำไมมันทุกข์มันยากล่ะ มันทุกข์มันยากเพราะอะไร

เพราะมันเป็นความจริง มันเป็นอริยสัจ มันเป็นความจริงอย่างนี้ แต่ความทุกข์ความยากอันนี้เห็นไหม ถ้าเรายังทุกข์ยาก เราเห็นความทุกข์ยากกับโลก เราอยู่กับเขาไป มันก็เป็นความทุกข์ยากต่อเนื่องกันไป

แต่เวลาเราจะฝึกคน ดูสิ ทหารเกณฑ์ ทหารชั้นประทวน นายทหารเห็นไหม แล้วพอเป็นนายทหาร พอเราฝึกขึ้นมาแล้ว เขาต้องไปเรียนบริหารนะ วปอ.(วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) เขาต้องไปเรียนอีก เพื่ออะไร.. เพื่อเขาฝึกของเขา ในเมื่อเขาจะฝึกของเขา เขาเป็นผู้นำของเขา เขาต้องคัดเลือกของเขา เราก็ต้องคัดเลือกตัวเราเองนะ

เวลาเราทำของเรา เวลาเราประพฤติปฏิบัติ เราต้องคัดเลือก เราต้องกลั่นกรองของเรา ถ้าเรากลั่นกรองของเรา นี่เป็นธรรม ! “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ถ้าเป็นที่พึ่งแห่งตน หลวงตาท่านพูดประจำ “ให้ดูใจเรา.. ให้ดูใจเรา..” เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าเราแก้ไขใจของเราได้ เราจะเห็นเรื่องของเวรของกรรมนะ ดูสิ เรื่องของเวรของกรรม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะไม่มีขัดแย้งกัน เวลาเห็น.. พรหมวิหาร ๔ ถ้ามันเป็นเรื่องสุดวิสัยซึ่งเราไม่สามารถจะแก้ไขสิ่งนั้นได้ ให้วางอุเบกขา เป็นอุเบกขาไง ปลงธรรมสังเวช

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูสิ เวลาญาติ ๒ ข้าง ระหว่างข้างพ่อกับข้างแม่ แย่งน้ำกัน แย่งน้ำกันนะ.. เพราะเวลาหน้าแล้งไม่มีน้ำจะทำนา พอไม่มีน้ำทำนา ก็ยกกองทัพเข้าหากันเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปนั่งอยู่ตรงกลางนะ เวลาเข้ามาญาติทั้ง ๒ ฝ่ายก็เกรงใจองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ถาม..

“น้ำกับชีวิต อะไรมีค่ามากกว่ากัน”

“ชีวิตครับ”

“ถ้าอย่างนั้นให้ยกเลิกต่อกัน ให้อภัยต่อกัน”

ครั้งที่ ๒ ก็มาอีก เพราะคนมันมีชีวิตก็ต้องมีอาหารนะ ในเมื่อมันทำนาไม่ได้

พอครั้งที่ ๓ นะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มันเป็นเวรเป็นกรรมเห็นไหม เวรกรรมเขาสร้างของเขามา เขารบกันแหลกลาญเลย นี่ปลงธรรมสังเวชไง ดูด้วยความสลด ด้วยความสังเวช ห้ามครั้งที่ ๑ ได้ ห้ามครั้งที่ ๒ ได้ แต่ครั้งที่ ๓ เขามาอีกแล้ว

ถ้าห้ามเห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าห้ามญาตินะ.. ห้ามญาติไม่ให้รบกัน ไม่ให้ทำศึกกัน ไม่ให้ทำสงครามต่อกัน ห้ามแล้วห้ามอีก ! แต่เขาก็ทำ ถึงเป็นเวรกรรมต่อกันเขาก็ทำ

นี่ก็เหมือนกัน เรามองสังคม เรารู้ว่าผิดหรือถูกอย่างไร ถ้าเรามีวุฒิภาวะ เราจะเข้าใจว่าสังคมมันถูกหรือผิดอย่างไร แต่เราชี้นำเขาไม่ได้ เขาฝืนของเขา เขาจะทำของเขา นี่ไง..ปลงธรรมสังเวชเห็นไหม

ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาเราประพฤติปฏิบัติกัน มันแก้ไขอุดมคติ มันแก้ไขความรู้สึก แก้ไขความนึกคิด ถ้ามันแก้ไขความนึกคิด เราจะไม่ทำสิ่งนั้นเลย สิ่งที่ผิดพลาด สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม เพราะอะไร?...เพราะมันไปจากความคิดเราใช่ไหม ไปจากจินตนาการ ไปจากความคิด ไปจากการแสวงหา มันถึงมีการกระทำไง

วจีกรรม กายกรรม มันเกิดมาจากไหนล่ะ ถ้าเราไม่คิด ใจเราไม่สั่ง มันทำได้ไหม.. สิ่งที่เราทำอยู่ เพราะใจมันสั่งทั้งนั้น แต่เราจะบังคับใจเรา.. เราบังคับใจเรา เราต้องตั้งสติ ทหารเกณฑ์เขายังต้องมีการฝึกฝนของเขานะ

แล้วในการประพฤติปฏิบัติ เราจะชำระกิเลสนะ ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ ก็เป็นพระอรหันต์ .. ถ้าอย่างนั้นคนเกิดมาก็เป็นพระอรหันต์หมดแล้วล่ะ เพราะมันเกิดมาจากเวรจากกรรม มันเกิดมามันก็มีธรรมอยู่แล้ว มันเกิดมาเพราะสัจธรรม

คนเกิดมา.. การเกิดและการตายมันเป็นสัจธรรมอันหนึ่ง เวลาเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา การเกิดและการตายเป็นสมมุติ เป็นสมมุติแล้วบัญญัติ บัญญัติเพราะคนเกิดมามีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ คนเกิดมาเป็นญาติกันโดยธรรม เพราะมีปากมีท้อง มีสุขมีทุกข์ มีความรู้สึก มีความกระทบกระเทือนในหัวใจ เป็นญาติกัน เสมอภาคกันด้วยสิทธิของความเป็นมนุษย์

แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันเป็นสิทธิของมนุษย์ มันก็เป็นธรรมอยู่แล้ว ทำไมไม่เป็นธรรมล่ะ...เห็นไหม

แม้แต่เขาทำวิชาชีพ เด็กมันต้องมีการศึกษา มันต้องมีประสบการณ์ของมัน มันถึงจะพัฒนาของมัน มันถึงจะเป็นคนดีขึ้นมาได้ เราจะเป็นคนดีขึ้นมานะ โอ...ไม่ต้องทำอะไรเลย ไม่ต้องทำอะไรเลยนะ มันเป็นสัจธรรม ธรรมะเป็นธรรมชาติ

เราพูดบ่อยว่า เป็นการตัดรากถอนโคนคุณงามความดีของเรา ถ้าเราไม่ตัดรากถอนโคนคุณงามความดีของเรานะ ชาวไร่ชาวนาเขาก็ต้องถากหญ้า ต้องขุดดินทำไร่ทำนาของเขา เขายังต้องเหงื่อไหลไคลย้อยเลย แม้แต่หาอาหารมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เราปลูกข้าว เราทำไร่ไถนา มันเหนื่อยไหมล่ะ.. มันเหนื่อยทั้งนั้น

แล้วนี่...เราจะปลูกธรรม !! เราจะสร้างสัจธรรมขึ้นมา !! มันจะได้มาโดยง่ายๆ มันเป็นไปไม่ได้เลย !

ไปนั่งมองดูเขาทำนา แล้วบอกเรามีข้าว มีนา มันเป็นข้าวนาของชาวนาเขา มันไม่ใช่ข้าวนาของเรา แล้วข้าวนาของเรา ถ้าข้าวนาของเราๆ ทำลงที่ไหนล่ะ ถ้าเราจะทำลงที่ไหน.. เราทำลงที่ใจของเรา แล้วใจเราอยู่ไหน

เราเกิดเป็นมนุษย์นะ สัจธรรม ! สัจธรรม ! แล้วสัจธรรมมันอยู่ไหน? นั้นมันสัจธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็เหมือนเราเกิดมาเป็นพ่อเป็นแม่เป็นลูกกันเห็นไหม สมบัติของปู่ย่าตายายของเราก็เป็นมรดกของเรา สมบัติของท่านก็คือสมบัติของเรา

นี่ก็เหมือนกัน สมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ว่าเป็นสมบัติของเรา ถ้าสมบัติของพ่อแม่ เรายังได้เงินได้ทองนั้นมาใช้ประโยชน์นะ พ่อแม่...เห็นไหม เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย มีความเมตตาต่อกัน มีความเอื้ออาทรต่อกัน

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเราว่าเป็นของเรา แล้วมันแก้ทุกข์ได้ไหมล่ะ ถ้ามันเป็นความจริงของเราเห็นไหม นั่น..สักแต่ว่า เวลาเราพูด..สักแต่ว่า เวลาของรักของหวง แล้วมันสักแต่ว่าไหมล่ะ..

เพราะฉะนั้น มันสักแต่ว่าเวลามันจะอวดกันไง อารมณ์โน้นก็เป็นสักแต่ว่า .. อันนี้ก็เป็นสักแต่ว่า.. แล้วหัวใจที่เป็นสักแต่ว่าไม่พูดถึงล่ะ หัวใจเป็นสักแต่ว่า สิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นเป็นสักแต่ว่า ทำไมไม่พูดถึงล่ะ มันสักแต่ว่า.. สักแต่ว่า.. สักแต่ว่า...พูดได้ต้องมีสติ เวลามันมีสติ มันเป็นสัญญาอารมณ์ที่มันมีความสุข มีความปรารถนา มีความพอใจ มันก็สักแต่ว่า

แต่เวลามันทุกข์มันยากขึ้นมาน่ะ มันสักแต่ว่าไหม !! เวลามันเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา มันจะตายมันสักแต่ว่าไหม ! มันสักแต่ว่าได้หรือเปล่า? มันสักแต่ว่าไม่ได้ เพราะอะไร?...เพราะมันไม่มีการฝึกฝนขึ้นมา มันไม่เป็นความจริงขึ้นมา มันต้องฝึกต้องฝนขึ้นมา อริยสัจมันจะเกิดมาจากไหน เกิดมาจากการกระทำของเรานะ นี่เห็นไหม กิจจญาณ !!

ปัญจวัคคีย์ “ เธอจงเงี่ยหูลงฟัง เมื่อก่อนเราไม่เป็นพระอรหันต์ เราก็บอกว่าไม่เป็น” ไม่เป็นเพราะมันไม่มีเหตุมีผล ไม่มีกิจจญาณ คือไม่มีการกระทำของใจ ดูสิ ทำสมาธิกำปั้นทุบดินนะ ควบคุมสติ ควบคุมความรู้สึก มันก็สงบตัวลง มันก็เป็นสมาธิ นี่กิจจญาณมันไม่มี

“กิจจญาณ” คือ การกระทำของจิตมันไม่มี

“เราอยู่กันมา ๖ ปี เราไม่เคยบอกว่าเราเป็นพระอรหันต์เลย” นี่อุปัฏฐากกันอยู่ คนอยู่ด้วยกันมา ๖ ปีนะ ปัญจวัคคีย์ ๕ องค์ อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี คนอยู่ด้วยกันมา ๖ ปี ตลอดเวลาทุกวินาทีเลย มันเห็นกำพืดกันหมด “ในเมื่อถ้าเราไม่เป็น เราก็บอกว่าเราไม่เป็น” ..

พอปัญจวัคคีย์ทิ้งไปแล้วสิ พอทิ้งไปแล้ว..ในเมื่อไม่มีใครมาอุปัฏฐาก ต้องพยายามค้นคว้าของตัวเอง นั่งอยู่โคนต้นโพธิ์นั้น เวลาเกิดบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณ อาสวักขยญาณ สำเร็จเป็นพระอรหันต์ขึ้นมา ไม่มีใครรู้เห็นด้วย

พอไม่มีใครรู้เห็นด้วยเห็นไหม.. ธรรมะเป็นธรรมชาติ ! ธรรมะเป็นธรรมชาติ !

ถ้าธรรมะเป็นธรรมชาติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่งอยู่โคนต้นโพธิ์ มันก็สำเร็จไปแล้วสิ นี่นั่งอยู่โคนต้นโพธิ์มันมีบุพเพนิวาสานุสติญาณ มีจุตูปปาตญาณ นี่บุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตญาณเห็นไหม นี่ “วิชชา ๓” ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอาสวักขยญาณ อาสวักขยญาณ...ยานรถยนต์ใช่ไหม.. ยานคือยานอวกาศหรือ?

ความรู้สึกเห็นไหม ญาณหยั่งรู้ ความรู้สึกที่มัน.. สมาธิเป็นอีกอย่างหนึ่งนะ สมาธิคือสมาธิ แต่ถ้ามันมีญาณหยั่งรู้ มันมีมรรค มันมีปัญญาชอบ งานชอบ เพียรชอบ

คำว่าญาณเห็นไหม ธรรมจักร กงจักร ไอ้พวกเรานะ..ธรรมะเป็นธรรมชาติ มันเป็นกงจักร กงจักรมันทำลายไปหมดนะ ความคิดของเรา ด้วยตัวตนของเรา ด้วยความคิดเห็นของเรา อ้างธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กงจักรมันทำลายทั่วไปหมดเลย

แต่ธรรมจักรได้เคลื่อนแล้ว ธรรมะนี้ได้เคลื่อนแล้ว เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมจักร จักรนี้ได้เคลื่อนแล้ว ไม่มีใครย้อนกลับได้ มันย้อนกลับไม่ได้ เพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าชำระกิเลสแล้ว ย้อนกลับไม่ได้ มารตายหมดแล้ว มันจะย้อนอะไรกลับ มันกลับไม่ได้

แต่ของเราเป็นกงจักร... แล้วมันมีกิจจญาณ พอกิจจญาณกระทำอย่างนี้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถึงตรัสรู้ขึ้นมาเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “เธอจงเงี่ยหูฟัง” เห็นไหม “เงี่ยหูลงฟัง” แล้วพวกนั้นก็มีทิฏฐิมานะเป็นธรรมดา เพราะคนมีกิเลสเห็นไหม

แต่เวลาคนเป็นสุภาพบุรุษ เวลาแสดงธรรมจักร มันค้านไม่ได้ พอมันค้านไม่ได้ เหตุผลมันเหนือกว่าทิฏฐิมานะอันนั้น พอเหตุผลมันเหนือทิฏฐิมานะ เพราะอะไร? ....เพราะไม่เคยได้ยินได้ฟัง.. ไม่เคยได้ยินได้ฟังอย่างนี้.. พอได้ยินได้ฟังเห็นไหม

ปัญจวัคคีย์เวลาได้ยิน “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นต้องดับเป็นธรรมดา” เราก็เปิดไฟไง.. เปิดไฟปิดไฟมันก็ธรรมดาน่ะ.. พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก มันก็ธรรมดา.. เราเห็นเป็นธรรมดา โดยที่มันไม่สะเทือนหัวใจของเรา

แต่ปัญจวัคคีย์ อุปัฏฐากองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ๖ ปี จิตมันพร้อมจะรับ เหมือนคนหิวกระหายมาก เหมือนคนที่บกพร่องมาก มันต้องการสิ่งใดที่ไปเติมเต็มมัน มันรอ.. รออยู่เห็นไหม

แต่พวกเราพูดกันแต่ปาก โน่น..ก็บกพร่อง นี่...ก็บกพร่อง มันสักแต่ว่าบกพร่อง แต่ใจมันไม่ยอมรับสิ่งใด

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องมีการดับเป็นธรรมดา” ความเห็นจริงเห็นไหม เพราะความเห็นจริงเกิดจากใจของพระอัญญาโกณฑัญญะ

นี่ไง...สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นการกระทำ กิจจญาณเหมือนกัน “ถ้าเราไม่มีกิจจญาณ ไม่มีการกระทำ เราจะไม่ปฏิญาณตนเป็นพระอรหันต์” เวลาปัญจวัคคีย์เห็นไหม ดูสิ...เวลาพระอัญญาโกณฑัญญะมีดวงตาเห็นธรรม แล้วพระอัสสชิ พระมหานามะ ทำไมไม่เห็นธรรมล่ะ ทำไมเห็นองค์เดียวล่ะ เพราะอะไร?..

เพราะ ๔ องค์นั้นไม่มีกิจจญาณ ไม่มีการกระทำ หัวใจไม่เป็นไปเห็นไหม หัวใจไม่เป็นไปจึงเทศน์ซ้ำ เทศน์ซ้ำขึ้นมาให้ ๔ องค์นั้นได้พัฒนาการ พอพัฒนาการมันมีกิจจญาณ มีการกระทำขึ้นมา ๔ องค์นั้นก็เลยเป็นพระโสดาบันทั้งหมด

พอเป็นพระโสดาบันทั้งหมดแล้ว พระพุทธเจ้าจึงจะได้เทศน์อนัตตลักขณสูตร แล้วเป็นพระอรหันต์หมดเห็นไหม

“เวทนาเป็นเราหรือไม่เป็นเรา.. สัญญาเป็นเราหรือไม่เป็นเรา.. สังขารเป็นเราหรือไม่เป็นเรา วิญญาณเป็นเราหรือไม่เป็นเรา.. ไม่เป็นเรานี่ มันเป็นสุขหรือมันเป็นทุกข์..”

“มันเป็นทุกข์พระเจ้าค่ะ”

“เป็นทุกข์แล้วยึดไว้ทำไม”

สิ่งที่มันเป็นทุกข์ยึดไว้ทำไม เพราะอะไร?...เพราะมันของต่อหน้า เหมือนเด็กเลย เด็กมันเล่นตุ๊กตาอยู่ เราเอาไม้ตีตุ๊กตานั้นแตกเลย เด็กมันจะไม่มีอะไรถือไว้ในมือเลย มันถือตุ๊กตาไว้ตัวหนึ่งใช่ไหม เป็นเราหรือไม่เป็นเรา.. แล้วมันสุขหรือมันทุกข์

สิ่งที่มันจะเป็นไป กิจจญาณคือการเผชิญหน้า จิตที่มันเข้าไปประสบ มันเข้าไปกระทำ การกระทำมันเกิดขึ้นมา พอการกระทำมันเกิดขึ้นมา มันทิ้งเดี๋ยวนั้น มันทำลายเดี๋ยวนั้น นี่..กิจจญาณมันเป็นอย่างนี้.. ไม่ใช่ไม่มีสิ่งใดเลย

การฝึกของคนนะ คนเราต้องฝึก.. ต้องคัด.. ต้องเลือก.. ธรรมะเราก็คัดเราก็เลือกของเรา ทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา โลกเขาว่ากันไปอย่างนั้นล่ะ เวลาโลกของเราเห็นไหม พูดธรรมะในทางโลกไง โลกกับธรรมอยู่ด้วยกัน พูดธรรมะทางโลก คือพูดแบบวิทยาศาสตร์ พูดเป็นกรอบ แล้วพูดอย่างนั้นหยิบจับต้องได้ จับต้องได้สิ่งนี้เป็นสัจธรรม

แล้วหนีไง...คนเราหนีเงาตัวเองไม่ได้ แต่ถ้าหนีสิ่งใดมานะ ไปพักอยู่สิ่งใด มันก็ว่าสิ่งนั้นเป็นธรรม.. เป็นธรรม แต่เงาตัวเองมันมีอยู่นะ เพราะอะไร?...เพราะว่าประพฤติปฏิบัติแล้วมีความสุข.. ความสุข นะ ถามจริงๆ เถอะ สุขจริงหรือเปล่า.. สุขเพราะอะไร.. สุขเพราะซุกไว้ใต้พรม สุขเพราะไม่ยอมรับความจริง

แต่ถ้าเป็นความจริงขึ้นมาล่ะ ในเมื่อมันมีนะ... อย่างคนมีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย มันต้องแสดงออกด้วยความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา จิตมันมีของมันอยู่ ในเมื่อมันมีเชื้อไขของมัน แล้วมันจะเกลื่อนโดยไม่รับรู้ แล้วมันจะหายไป มันเป็นไปไม่ได้หรอก ! มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ทั้งนั้น

แต่ถ้าสิ่งที่เป็นไปเห็นไหม ดูสิ... สิ่งนั้นมันต้องมีการกระทำ พวกเรานี่ฝึกฝน เราต้องคัดเลือก เราคัดของเรา ตั้งสติของเรา พิจารณาของเรา ประพฤติปฏิบัติของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าเราทำกับเราเป็นประโยชน์กับเรานะ

นี่ แม้แต่สังคม.. ทหารเขาต้องคัดเลือกของเขา เอาคนที่แข็งแรง เอาคนที่สุขภาพดี แต่สุขภาพใจนั่นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ที่บริหารขึ้นไป ผู้ที่จะปกครองเขา เป็นผู้นำเขา ก็ต้องฝึกต้องรับรู้มากกว่าเขา ต้องบริหารจัดการเขาได้

จิตใจของเรานะ เราจะมีธรรมะเห็นไหม ธรรมะที่จะเข้ามาชำระกิเลสของเรา เราต้องมีสติปัญญาของเรา ถ้าเรามีสติปัญญาเห็นไหม “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

ถ้าตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ตนพึ่งตัวเองได้แล้ว เราจะเป็นที่พึ่งอาศัยของคนอื่นได้นะ เราบอกเขาได้ เราเจือจานเขาได้ เราชี้ทางเขาได้ แต่มันก็ต้องเป็นการประพฤติปฏิบัติขึ้นมาโดยปัจจัตตังทั้งหมด คือเขาต้องรู้ขึ้นมาเองทั้งหมด

เราได้กินอาหารอยู่คนเดียว แล้วบอกว่า “รสชาติดี.. รสชาติดี..” เราพูดอยู่คนเดียวนี่ คนอื่นเขาไม่รับรู้กับเราหรอก เราจะอธิบายขนาดไหน เขาก็นั่งฟัง แต่ถ้าเขาได้รับรู้รสชาติอันนั้นนะ ไม่ต้องบอก! ไม่ต้องบอก! รู้เหมือนกันเห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติของเรา ครูบาอาจารย์ก็มีการชี้นำอย่างนั้น ครูบาอาจารย์ปกป้องเรา ครูบาอาจารย์มีข้อปฏิบัติขึ้นมาให้เรามีโอกาสนะ เปิดทางกว้างไว้ให้เรามีโอกาสประพฤติปฏิบัติ เพื่อประโยชน์กับเราเห็นไหม

ครูบาอาจารย์ท่านพยายามปกป้องเรา เราต่างหากต้องขยันหมั่นเพียร อย่าน้อยเนื้อต่ำใจ อย่าน้อยเนื้อต่ำใจนะ โน่น..ก็เอ็ด นี่..ก็เอ็ด ไอ้เรื่องเอ็ดนะ...หลวงตาท่านบอกเลยนะ “เด็ก! มือมันจะหยิบไฟ ตบมือมันออก ! ตบมือมันออก ! ”

จิตมันจะยึด จิตมันจะคิด จิตมันจะทำ แล้วก็บอกอย่า ! อย่า ! ตบมือออก.. ตบมือออก..

แต่ถ้าเป็นเด็กมันก็งอแงเห็นไหม โน่น...ก็เอ็ด นี่...ก็ว่า โน่น..ก็ไม่พอใจสักอย่างหนึ่ง “ทำไมต้องมาเอ็ดด้วยล่ะ” เอ็ดก็เพราะเดี๋ยวมือมันพอง หยิบความร้อนนั้นเดี๋ยวมือก็พอง.. เดี๋ยวก็ร้องไห้.. นี่ก็เหมือนกัน เวลามันทุกข์ก็คอตกเห็นไหม

ครูบาอาจารย์ท่านคอยเตือนเรา ท่านคอยบอกเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ แต่เราจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราโตขึ้นมา เหมือนพ่อแม่เลย ลูกก็บอกว่า “พ่อแม่ไม่รัก พ่อแม่ไม่รัก” เวลาพอลูกโตขึ้นมา แล้วมีลูกของมัน มันก็เหมือนกัน เห็นไหม...กงกรรมกงเกวียน มันจะทับไปทางเดียวกัน

นี่เป็นเรื่องของกิเลส เรื่องของวัฏฏะ มันจะหมุนไปตามสัจธรรมอย่างนี้ ฉะนั้น เราถึงต้องมีจุดยืนของเรา เราต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเรา เพื่อประโยชน์กับเรานะ อย่าเชื่อตามกระแส “กาลามสูตร” ไม่เชื่อใครทั้งสิ้น เชื่อผลการประพฤติปฏิบัติของเรา เชื่อสัจธรรม เชื่อความจริงของเรา เอวัง...