เทศน์เช้า

ธรรมปฏิบัติ

๑o ธ.ค. ๒๕๔๓

 

ธรรมปฏิบัติ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

“ควรปฏิบัติก่อนค่อยสอนโลก หรือปฏิบัติไปพร้อมกับสอนโลกไปเลย” เห็นไหม แต่ตามในมุตโตทัยข้อแรกเลย ถ้าเปรียบเหมือนทองคำนะ ทองคำถ้าอยู่ในเหมืองนี่มันก็มีส่วนผสมของอย่างอื่น ถ้าทองคำในร้านทองคำที่เขาหลอมแล้วนั่นเป็นทองคำประเสริฐ

อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าจะให้สอนมันสอนได้ ถ้าจะรอให้พระปฏิบัติจนหมดสิ้นแล้วค่อยมาสอนมันก็ไม่มี แต่การสอนทางโลกเขานี่ การสอนของเขานี่ เขาสอนในตัวอักษร เห็นไหม ในตัวอักษรเขาก็สอนกันไป สอนในตัวอักษรมันก็สร้างความศรัทธาได้ ถ้าธรรมะอย่างนี้ สุตมยปัญญา จินตมยปัญญา ภาวนามยปัญญาที่ว่านี่ ถ้าสอนอย่างนี้มันก็สอนได้ แต่สอนไปมันก็สอนเพื่อความศรัทธา

แต่ถ้าเป็นธรรมะปฏิบัติ ต้องปฏิบัติให้พ้นก่อนถึงจะสอนได้ ถ้าไม่สอนน่ะ ดูสิ แผนที่เครื่องดำเนิน เราอ่านแผนที่แต่เราไม่เคยไปในพื้นที่นั้น เราจะรู้พื้นที่นั้นไม่ได้หรอก แผนที่น่ะเราอ่านแล้วเราก็ต้องกังวลต้องอะไร นี้ก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงที่ว่าปฏิบัติยังไม่ถึงที่นะ ปฏิบัติไปเวลาตอบปัญหานี่มันก็เอาตัวอักษรความคิดของตัวเองนี่มาตอบ มันเอาเงามาตอบ ไม่เอาความจริงมาตอบ เงาคือความคิดไง

ธรรมะนี้ใช้ตรรกะ พยายามจะเข้าถึงธรรมไม่ได้ ใช้ปรัชญาก็ไม่ได้ เป็นนึกเอาไม่ได้ คาดเดาไม่ได้เลย ไม่ได้ทั้งนั้นเลย ทีนี้สิ่งที่เราศึกษามา อย่างขันธ์ ๕ นี่มันเป็นคาดเดาไหม สิ่งนี้เราเอาขึ้นมาในหัวใจของเรา พอถ้าจำมาอย่างนี้ การจำมา การศึกษามา เวลาออกมามันเป็นไปไม่ได้ เขาเถียงกันไง มันเป็นมาแต่ไหนแต่ไร ดูอย่างสมัยพุทธกาลที่ว่า “คัมภีร์เปล่า ๆ” เห็นไหม นี่ถ้าพูดถึงจบ เรียนจบทุกอย่างพร้อมหมดแล้ว ๙ ประโยคนี่จบในทางศาสนา แต่จบแล้วมันก็แค่เป็นความจำ

ทีนี้ถ้าเอาความจำมาสอนน่ะ ฟังแล้วมันก็เข้ากันนะ โลกกับโลกเข้ากันได้ ภาษาพูดที่เป็นภาษาเดียวกันมันจะเข้ากัน มันจะไปด้วยกัน เราฟังแล้วมันจะซึ้งใจไป ๆ ความซึ้งใจไปนี่มันเพิ่มศรัทธาขึ้นมา อย่างนี้ได้ แต่ถ้าปฏิบัติมันไม่เคยไป ไม่เคยเข้าสงคราม มันต้องเข้าสงครามก่อน ขนาดฝึกขนาดไหนก็แล้วแต่ ถ้าไม่เข้าสงครามมันไม่รู้

อันนี้ก็เหมือนกัน เวลาจิตมันจะเข้ามานี่ ถ้าบอกผิดทาง เห็นไหม คนที่ภาวนาเป็นนะ ไปเจอครูบาอาจารย์ที่ไม่เป็น ครูบาอาจารย์บอกผิดทางมันก็ไม่เชื่ออยู่แล้ว นี่มันถึงไม่ลงกันตรงที่ไม่เชื่อ เพราะอะไร? เพราะเราสัมผัสเอง เรารู้เอง แต่คนสอนสอนชี้ออกไปทางอื่น มันจะเป็นไปได้อย่างไร คนสอนมันต้องสอนชี้เข้าทางนั้น พอชี้เข้าทางนั้นมันก็จะพุ่งไปตามนั้น ๆ ไม่ใช่ชี้เข้าทางนั้นนะ ยังบอกด้วยว่ามันไปแล้วนี่ ลำธารออกมาเป็นลำธาร เห็นไหม พอลงมารวมแล้วจะเป็นแม่น้ำ เป็นแม่น้ำออกไปจะลงทะเล เห็นไหม นี่มันมาเป็นสายธารมา

แล้วอย่างวิชาการเราจะรู้เลยปากอ่าวนี่ มันจะเป็นสันดอน ถ้าเป็นสันดอนนี่เรือมันจะออกอย่างไร การประพฤติปฏิบัติก็เหมือนกัน ถ้ามาอย่างนี้แล้วเดี๋ยวมันจะมาติดนะ พอมันจะติดมันจะมาคา อย่างเช่นเราทำสมาธินี่ เราพยายามจะสร้างสมาธิกันมากเลย เราพยายามสะสมเพื่อจะให้เกิดสมาธิขึ้นมา พอเกิดสมาธิขึ้นมานี่ เราก็ว่ามันเป็นความสุข แล้วเราคาดการณ์ได้ มันหมายได้ เห็นไหม มันติดมันติดตรงนั้นน่ะ

นี่มันติดสันดอน มันติดสันดอนเพราะมันเหมือนกับอันนี้มันเป็นความว่าง มันจะซึ้งใจมากเลย มันจะปล่อยวาง ปล่อยวางไปเรื่อย ปล่อยวางเข้าไป พอปล่อยวางเข้าไปนี่ สันดอนมันติดอยู่แต่เรือไม่รู้ว่าติดน่ะสิ ถ้าเรือมันติดนี่มันยังติดแล้วมันยังไปไม่ได้ใช่ไหม แต่ใจมันติดมันไม่ก้าวเดินแต่อาการมันมีอยู่ ความมีอยู่ในหัวใจอันนั้นน่ะมันติดอยู่ นี่สันดอนที่มันติดอยู่

นี้ว่ามันเป็นไปได้ไหม แต่ถ้าไม่เริ่มต้นมามันก็ทำไม่ได้ เริ่มต้นมามันก็ต้องศึกษามา ไม่มีปริยัติมันก็ไม่มีปฏิบัติ ไม่มีปฏิบัติมันไม่มีปฏิเวธ ฉะนั้นมันต้องปริยัติขึ้นมาก่อน ถึงว่าเวลาเขาว่า “ต้องสอนไปพร้อมกับการปฏิบัติ หรือต้องปฏิบัติให้ถึงที่สุดก่อน?”

ทีนี้มันก็เรียนมาก่อน แล้วปฏิบัติเอาตัวรอดให้ได้ก่อน การเรียนมาเพื่อสอนมันสอนได้ มันสร้างศรัทธาได้ สร้างศรัทธาให้คนเข้าใจไง เอาธรรมะมา เอาหัวข้อธรรมของพระพุทธเจ้ามานี่ มันเป็นอักษรมา เห็นไหม มันจำมาเป็นหัวข้อนี่ อธิบายได้ ๆ ทาน ศีล ภาวนา ศีลทำอย่างไรให้มันปกติขึ้นมา แล้วเราก็ข้องใจกัน ๆ ข้องใจคือว่า เวลามันทำไปแล้วมันสงสัย

ความสงสัยนี่ นั่นน่ะมันเริ่มต้นต้องรู้เองแล้ว ความรู้เองปัจจัตตังรู้เอง อันนั้นมันถึงจะเป็นเริ่มเข้าไป มันถึงต้องปฏิบัติ เห็นไหม ครูบาอาจารย์จะชี้นำในการปฏิบัติต้องถึงที่สุดก่อน ต้องผ่านก่อน ต้องรู้ก่อน พอรู้ก่อนผ่านก่อนนี่มันก็ชี้นำได้ ๆ มันก็เข้าถึงทางนั้น ถ้าไม่อย่างนั้นไปมันก็หลงกันไป ทำไมมันต้องมีล่ะ? เวลาโคต้องมีหัวหน้าฝูง เห็นไหม เวลาลงน้ำไปนี่ ถ้าหัวหน้าฝูงฉลาดมันจะนำฝูงโคนั้นออกจากวังน้ำวน

ย้อนกลับมาพวกเรานี่ ถ้าพวกเรามีครูมีอาจารย์นี่ มันพร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติ มันก็ต้องคิดตรงนั้น ให้เขาเถียงไป ให้เขาเถียงกันไปนะ เวลาเขาเถียงกันว่า “ควรจะประพฤติปฏิบัติก่อน” เขาจะอ้างว่าไง นี่มรรคหยาบ ๆ มันจะวิเคราะห์วิจารณ์ให้มรรคละเอียดนี่เป็นไปไม่ได้ไง ว่าเอาเปรียบ เอาตัวรอดคนเดียว พยายามจะเอาตัวรอดคนเดียว...

มันเอาตัวรอดคนเดียวอย่างไร ถ้าตัวเองยังพะรุงพะรังอยู่ไปสอนเขานี่ เวลาพูดผิดพูดถูกไปก็มาวิตกวิจารณ์ของเราเอง วิตกวิจารณ์ของเราเองนี่ จิตมันก็ฟุ้งซ่านขึ้นมา มันจะควบคุมจิตไว้ได้ยาก เห็นไหม แต่ถ้ามันผ่านแล้วนี่ มันฟันธงทุกอย่าง สิ่งนี้ต้องเป็นอย่างนั้น ๆ อาจารย์มหาบัวท่านพูดนะ เวลาอยู่กับหลวงปู่มั่น ไม่เคยจะ ไม่เคยหรือ ต้องอย่างเดียว ๆ เป็นอย่างนั้นแน่นอน เพียงแต่เราเข้าไม่ถึงตรงนั้น มันยังเป็นอย่างนั้นไปไม่ได้

ถ้าเป็นอย่างนั้นแน่นอนน่ะ เราก็ตั้งใจได้ เราทุ่มลงไปเลยได้ เพราะมันเชื่อกันมาตั้งแต่ทีแรกแล้ว แต่ถ้ามันยังหรือ ยังจะ อยู่นี่ คนตอบก็สงสัย คนฟังก็ต้องสงสัย พอสงสัยขึ้นไปนี่ มันก็ลังเล เห็นไหม คนพูดก็ลังเล คนฟังก็ลังเล การประพฤติปฏิบัติมันจะเข้าไปถึงได้อย่างไร เขาอ้างแต่ว่าเห็นแก่ตัวนี่ มรรคหยาบ ๆ พอชี้นำอย่างนั้นปั๊บ ผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติเอาตัวรอดก็บอก “ต้องทำอย่างนั้นก่อน” มันพะรุงพะรังทั้งอาจารย์ พะรุงพะรังทั้งลูกศิษย์ พอพะรุงพะรังทั้ง ๒ ฝ่าย มันก็พะรุงพะรังไปทั้งคู่

แต่ถ้ามันสะอาดไปเสียคนหนึ่ง เห็นไหม ข้างหน้ามันสะอาดไปเสียคนหนึ่ง มันก็ดึงขึ้นไปได้ ๆ แล้วมันก็ “ต้อง” อย่างเดียว ๆ ต้องทำอย่างนั้นอย่างเดียว ถึงที่สุดแล้วต้องเป็นอย่างนั้น มันถึงว่าเราถึงมีอำนาจวาสนา เราเจอครูอาจารย์มาแล้ว นี้ครูอาจารย์ก็สอนเราขึ้นไป มันถึงว่าเราพร้อมไง ทุกอย่างมันอยู่ที่เรา

นี่กิเลสมันอยู่ที่ใจ เวลาประพฤติปฏิบัติเราน้อยเนื้อต่ำใจว่าเราทำกันไม่ได้ ๆ เห็นไหม ทำไปแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย มันได้สิเพราะเราคาดหมายกันไปเอง ความที่จิตมันสงบ จิตมันปล่อยวางนั่นน่ะมันได้เข้ามาตลอด ๆ ได้เข้ามาคือว่ามันรู้จักตัวเองเข้ามา ๆ รู้จักตัวเองเข้ามาจนเป็นสัมมาสมาธิ จนมีพื้นฐาน เห็นไหม จนตั้งมั่นขึ้นมา อันนี้มันเริ่มจะเป็นการเป็นงานขึ้นมา พอเริ่มเป็นการเป็นงานขึ้นมา เราก็เป็นของเราขึ้นมา เราเป็นสมบัติของเรา

แต่เดิมปริยัตินี่ ยืมของพระพุทธเจ้ามา พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้ว เราไปศึกษาอย่างไรนี่ มันเป็นสมบัติของพระพุทธเจ้า สมบัติของเรายังไม่เกิด ถ้าเราทำใจของเราสงบขึ้นมานี่ สมบัติของเราเกิดขึ้นมาในใจของเราเอง สมบัติของเราเกิดขึ้นมา เห็นไหม นี่รู้จริงเห็นจริงตามความเป็นจริงขึ้นมา พอรู้จริงเห็นจริงมันเป็นสมบัติของเรา สมบัติของเราเราจะพลิกแพลงขนาดไหนมันก็เป็นสมบัติของเรา ถ้าสมบัติยืมมานี่ มันพลิกแพลงไม่ได้ มันเป็นหนี้เขาอยู่ มันต้องคืนเขา มันจำมานี่ มันมีสิ่งที่ปิดบังไว้

แต่ถ้าเป็นสมบัติของเรานี่เราพลิกแพลงได้ตลอด เราสอนเขาได้ตลอด เรารู้ได้ตลอด นี่ปัจจัตตังรู้จำเพาะตน ไม่มีกาล ไม่มีเวลา ไม่ปิดบังเฉพาะนะ ไม่เฉพาะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้ที่มีกายกับใจในหัวใจนี่มันทำได้หมด หัวใจที่ทุกข์ ๆ อยู่นี่ มันสามารถพลิกแพลงขึ้นมาเป็นหายทุกข์ได้ เพราะทุกข์ไม่ใช่ใจ ทุกข์เป็นอาการเกิดขึ้นจากใจ แต่อาศัยใจเกิดขึ้น เพราะมีใจเกิดขึ้นทุกข์นั้นถึงตั้งได้ เห็นไหม

ถ้าเรากำหนดรู้ทุกข์ แล้วเรากำจัดทุกข์ออกไป ทุกข์ต้องขาดออกไป ทุกข์ไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่ทุกข์ ถ้าใจมันเป็นทุกข์เวลาทุกข์มันหายไป เราสบายขึ้นมาเป็นบางครั้งบางคราวนี่ ทุกข์หายไปไหน? อาการทุกอย่างพร้อม กายกับใจอยู่กับเราพร้อมหมดเลย แต่ทุกข์มันหายไป

แต่เวลาทุกข์มันเกิดขึ้น มันกระวนกระวายเกือบเป็นเกือบตาย มันก็เกิดขึ้นจากใจนั่นแหละ แต่มันไม่ใช่อันเดียวกัน มันอาศัยสิ่งที่ใจมีอยู่แล้วเกิดขึ้น เห็นไหม อาศัยใจที่มีพื้นฐานนี่ แล้วเกิดขึ้นบนนี้ แล้วก็บีบบี้สีไฟกับใจดวงนั้นตลอดไป

มันต้องแก้ไขเข้ามาตรงที่ใจนั้น ทุกข์ถึงไม่ใช่ใจ ใจไม่ใช่ทุกข์ ฉะนั้นกำหนดทุกข์ก็กำหนดอาการของใจ มันเกิดจากใจอาการของใจ แล้วรู้เท่าทันมัน ปล่อยวางมันไปมันก็จบสิ้นกันได้