เทศน์เช้า

จิตเสื่อม

๒๓ ธ.ค. ๒๕๔๓

 

จิตเสื่อม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

ศาสนามันเรื่องของหัวใจ แต่เดิมสมัยก่อน สมัยพระพุทธเจ้า เรื่องโลกยังไม่เจริญ เห็นไหม เขาก็หวังกัน หวังความสุขกัน เขาก็หาความสุขกัน พื้นฐานของใจสมัยโบราณนั้นจะมีสมาธิเป็นพื้นฐาน แล้วเขาไขว่คว้ากันน่ะ พยายามหาเพราะว่า มันเหมือนกับสูงสุดของสังคมสมัยนั้นเป็นแบบนั้นไง

สมัยนั้นสังคมแบบว่าเขาอิ่มตัวขนาดนั้น แล้วเขาไม่มีทางไปเขาก็แสวงหาความสุขในทางหัวใจกัน สมัยนี้เราคิดกันแต่ว่า เราจะอำนวยความสะดวก แล้วสิ่งโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ น่ะจะให้เราหาแต่สิ่งที่ว่าเอามาปรนเปรอเรา เพื่อจะหาความสุข แต่หาความสุขไม่เจอ

สมัยดั้งเดิม เห็นไหม จิตเขาพร้อมอยู่แล้ว พอพระพุทธเจ้าตรัสรู้ปั๊บนี่ เทศน์ให้ใครฟังใครก็สำเร็จตามไป ๆ แต่สมัยปัจจุบันนี้เพราะเรามีความคิดว่า ความที่พึ่งอย่างอื่นมีอยู่ ที่พึ่งทางหัวใจมันจะหาได้ยาก เห็นไหม นี่สมัยพุทธกาลเขาทำกันอย่างนั้น พอทำอย่างนั้นมันเลยทำสมาธิขึ้นมา ความทำสมาธิขึ้นมามันจะเสื่อมไป สมาธิจะเจริญหรือเสื่อมก็อยู่อย่างนั้น เป็นโดยธรรมชาติของเขา สมาธิของเขาเจริญขึ้นมาแล้วก็เสื่อมไป เพราะไม่มีอะไรเปรียบเทียบไง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนะ ออกไปศึกษากับอาฬารดาบสอุทกดาบส เห็นไหม ก็สำเร็จเป็นเหมือนเขาหมดเลย แล้วพอออกมาแล้วนี่ ออกมาหมายถึงว่า เวลาเราออกมาจากสมาธิสมาบัติมันก็เหมือนกับปกติเรานี่ อารมณ์เราไม่ได้แก้ไขไง

เรื่องของกิเลสภายในหัวใจเราเราไม่ได้แก้ไข มันก็สุมอยู่เต็มหัวใจ พอสุมอยู่เต็มหัวใจออกมามันก็เหมือนเก่า เห็นไหม แต่มันไม่มีอะไรเปรียบเทียบ มันเปรียบเทียบไม่ได้ คือถ้ามันเจริญแล้วเสื่อม ๆ นี่ เขาก็ไม่รู้ตัวเขา เพราะเวลาจิตมันสงบเข้าไปมันมีความสุขมาก พอออกมาแล้วมันก็เป็นปกติเก่า แต่มันทำได้กันแค่นั้นเพราะไม่มีใครชี้นำ

แต่เจ้าชายสิทธัตถะมาตรัสรู้ธรรมขึ้นมา เห็นไหม ตรัสรู้ธรรมขึ้นมาถึงบอกว่า “สรรพสิ่งในโลกนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด” หัวใจที่มันเป็นสมาธิขึ้นมานี่แล้วมันเสื่อมไป มันเป็นอนิจจังไง แต่มันไม่มีใครบอกว่าเป็นอนิจจังหรือไม่เป็นอนิจจัง เพราะสมัยนั้นธรรมะยังไม่มี มันก็พูดกันไปประสาโลกของเขาที่เขาคิดกัน เขาตรึกกัน ตรึกกันได้ขนาดไหนเขาก็ว่ากันขนาดนั้น มันก็เลยไม่มีอะไรเปรียบเทียบ

แต่พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบได้ว่า สิ่งนั้นสรรพสิ่งเกิดขึ้นมานี้เป็นอนิจจัง หัวใจที่เจริญขึ้นมานี้ก็ต้องเป็นอนิจจัง สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา เห็นไหม ธรรมทั้งหลายที่เจริญขึ้นในหัวใจของเรานี่เป็นอนัตตาทั้งหมด มันต้องแปรสภาพทั้งหมด สิ่งที่แปรสภาพไปนี่เราจับต้องไว้ไม่ได้เลย

แต่มันมีอีกอันหนึ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา เป็นอกุปปธรรมนี่ เวลามรรคสามัคคีกัน มรรคมันสมุจเฉทปหานกิเลส เห็นไหม อาสวักขยญาณเกิดขึ้นมานี่ มันถึงเอามาเทียบกันว่า สิ่งที่ว่าไปถึงที่สุดแล้วไม่เสื่อมอีก...มีอยู่ สิ่งที่ไม่เสื่อมอยู่ มันถึงมาเข้ากับสิ่งที่เสื่อมไป

สิ่งที่เสื่อมไปนี้มันเป็นธรรมชาติของมัน มันเป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติของมัน มันต้องเสื่อมสภาพไปโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว นี้เพียงแต่ว่าเรานี่มีอำนาจวาสนา อำนาจวาสนาเกิดขึ้นมาพบพุทธศาสนาไง ถ้าไม่มีวิชาการ ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่เป็นวิชาการที่ว่า เราเอามาเทียบกับหัวใจของเราได้ ถ้าไม่มีมามันก็เป็นแบบนั้น เราก็ไม่รู้ไง

นี่หัวใจมืดบอด มืดบอดว่ามันก็ทำของมันขึ้นไป เจริญขึ้นไปแล้วก็เสื่อมขึ้นไป เจริญไปแล้วก็เสื่อม แต่ก็ไม่มีอะไรเปรียบเทียบ แต่พอมีอะไรมาเปรียบเทียบขึ้นมานี่ มีอะไรเปรียบเทียบ มีธรรมะของพระพุทธเจ้าบอกว่า “สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลายมันเจริญแล้วเสื่อมไปหมด เว้นไว้แต่อกุปปธรรม”

อกุปปธรรมหมายถึงว่า มันเจริญแล้วเสื่อม มันเจริญแล้วเสื่อมต่อไป มันเป็นการสร้างรากฐาน สร้างพื้นฐานของใจขึ้นมาก่อน สร้างพื้นฐานของใจขึ้นมาเพราะว่า มันไม่เป็นขึ้นมานี่ มันสร้างขึ้นมา มันเจริญขึ้นมาแล้วก็ต้องเสื่อมไป เสื่อมไปเพราะอะไร? เพราะว่าไม่มีคนชี้นำไง ไม่มีคนชี้นำเดินขึ้นไปบนมรรคไง

ถ้าขึ้นไปบนมรรค เห็นไหม การงานชอบ งานชอบงานในหัวใจชอบ ถ้างานในหัวใจชอบ มันก็เข้าถึงปากทาง พอปากทางน่ะเดินไปถึงปลายทาง ปลายทางนั้นจบสิ้นกระบวนการของสิ้นทางนั้นเป็นอกุปปธรรม แต่เรายังไม่เดินเข้าไปในทางนั้น เรายกขึ้นทางไม่ได้เพราะอะไร? เพราะอำนาจวาสนาของเรา เห็นไหม

เราว่าเรามีวาสนามาก เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา แล้วยังมีหัวใจ เห็นไหม คนที่มีอำนาจวาสนาคือว่ามีหัวใจใฝ่อยากจะค้นหาหลักการของตัวเอง ใฝ่จะค้นหาหัวใจของตัวเองไง ค้นหารากฐานของความที่มันจะรับผลของสุขน่ะ ใจเท่านั้นสัมผัสธรรม ใจเท่านั้นเป็นภาชนะที่จะไปรองรับธรรมนั้น เราค้นคว้าหาภาชนะตัวนั้น คือทำความสงบของใจเข้ามาเป็นสัมมาสมาธิ เห็นไหม

แล้วอำนาจวาสนาอีกอันหนึ่ง ตรงนี้ ตรงที่ว่ายกขึ้นงานหรือไม่ยกขึ้นงาน? ถ้ายกขึ้นงาน เห็นไหม เป็นวิปัสสนา ถ้าไม่ยกขึ้นงานเป็นสมถะ สมถะมันมีมาอยู่แล้ว มันอยู่ในกฎของอนิจจัง ความเจริญแล้วเสื่อมนี้เป็นกฎของอนิจจังที่มันมีอยู่โดยธรรมชาติ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เห็นไหม อนัตตานี่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ตรงนี้ไง เหตุวิธีการที่ว่า นี่อัตตา ความเจริญแล้วเสื่อมมันเป็นอัตตาในหัวใจ มันเจริญแล้วเสื่อมในธรรมชาติของมัน

อนัตตานี่ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมา แล้วรู้วิธีการของมันขึ้นมา อนัตตานั้นคือกระบวนการที่จิตนั้นมันแปรสภาพไป แต่กระบวนการของจิตที่มันจะแปรสภาพไป มันเจริญขึ้นไป มันทำลายสิ่งที่ว่าเป็นอัตตาในหัวใจนั้น มันต้องใช้มรรค ตอนใช้มรรคนี่ ยกขึ้นวิปัสสนา ตรงนี้สำคัญ สำคัญที่ว่ามันเห็นกายหรือเห็นจิตไหม ถ้าเห็นกายหรือเห็นจิตมันก็เป็นวิปัสสนา

ถ้าเป็นวิปัสสนาไปนี่ เป็นงานภายในมันจะเหนื่อยมาก ความทำงานภายนอกนะ งานภายนอกอาบเหงื่อต่างน้ำขึ้นมาเพื่อหาเงินหาทองขึ้นมา อาบเหงื่อต่างน้ำขึ้นมามันก็ว่าเป็นความทุกข์อย่างหนึ่ง แต่เป็นความทุกข์ประจำธาตุขันธ์ที่เรามีหัวใจขึ้นมา เรามีร่างกายมีหัวใจขึ้นมาแล้วมันต้องอาศัยสิ่งนั้นเป็นเครื่องดำรงชีวิตไป มันเป็นความสุขความทุกข์นี้ มันเป็นธรรม เป็นธรรมชาติอันหนึ่งที่ว่ามันต้องทำ

แล้วมันก็มีกรรมอีกอันหนึ่งว่า ทำแล้วเจริญหรือว่าสมกับที่เราปรารถนาไหม อันนั้นเป็นอำนาจวาสนาที่เราสะสมมา นั้นเป็นงานภายนอก งานภายในก็ต้องอาศัยอำนาจวาสนาอันนี้ ว่าเราเจอคนชี้นำถูกต้องไหม คนที่บอกชี้นำว่างานชอบ ๆ อยู่ตรงไหน เราจับพลัดจับผลูไง เราจับพลัดจับผลูเวลามันเกิดขึ้น จิตมันสงบขึ้นไปแล้วเห็นสภาพนั้น แล้วเราไม่เอาตรงนั้นเป็นสมุฏฐาน เป็นที่ตั้งของการงานชอบ แล้วจิตนี้เดินขึ้นไป สัมมาสมาธิก่อน

เราต้องทำจิตของเราขึ้นมา เห็นไหม มันจะเจริญหรือเสื่อมก็แล้วแต่ มันเป็นเรื่องธรรมดาของจิตดวงนั้น แต่ในเมื่อเรามีการกระทำอยู่ ในสมัยพุทธกาลมีพระที่เจริญแล้วเสื่อมถึง ๗ หน เห็นไหม เจริญแล้วเสื่อม ๆ คนเจริญแล้วเสื่อม เหมือนกับเราสร้างประกอบธุรกิจขึ้นมาประสบความสำเร็จอย่างหนึ่ง แล้วมันก็ล้มละลายไป แล้วเราก็สร้างใหม่ อยู่ถึง ๗ หนนี่ คนเรามันจะทุกข์ขนาดไหน คิดดูสิ พอคิดขนาดนั้นนะ ทุกข์จนทนไม่ไหว เอามีดโกนเชือดคอตัวเอง แต่ขณะเชือดคอตัวเองนี่ ความเจ็บความสะดุดใจนี่ มรรคมันเดินเดี๋ยวนั้น ในตำราบอกว่าเชือดคอตายไปพร้อมกับเป็นพระอรหันต์นะ

แต่เจริญแล้วเสื่อม ๆ นี่ งานจับต้องไม่ได้ จับต้องคือหาหนทางที่จะปากทางเข้าไปเดินเข้าไปไม่ถูก พอมันเสื่อมขึ้นมามันก็ท้อใจ พอมันท้อใจมันก็ทุกข์มาก ความทุกข์น่ะ คนมีสมบัติมากแล้วหลุดจากมือไป แล้วต้องไปเตาะแตะขึ้นมาใหม่ นี่เวลาจิตเจริญแล้วเสื่อม ทุกข์...ทุกข์ตรงนี้ ทุกข์ตรงที่มันแปรสภาพไปแล้วมันไม่มีขึ้นไปแล้ว แล้วเราต้องไปหาใหม่ พอการหาใหม่มันต้องไปค้นคว้า ไปเริ่มต้นขึ้นมา มันก็เลยเป็นความทุกข์ขึ้นมา เป็นความท้อถอย เป็นความท้อแท้ของใจ

แต่เป็นความท้อแท้ของใจ อันนั้นถ้าพูดถึงเราพลิกใจ ใจนี่มันต้องพลิก หมายถึงว่าปัญญามันต้องพลิก ความคิดต้องคิดใหม่ คิดว่าสิ่งนั้นน่ะมันเป็นปัจจัตตัง เราเคยสงบ เราเคยเห็นสภาพอย่างนั้นน่ะ มันเป็นการการันตีของเราว่าสิ่งนั้นมีอยู่ไง ภาชนะคือหัวใจนี้มีอยู่ สามารถจะแก้ไขได้ สามารถจะพลิกแพลงใหม่ได้ ดูสิ ในพุทธกาลน่ะเจริญแล้วเสื่อมถึง ๗ หนนะ เขาเสื่อมอย่างนี้ไปถึง ๗ ครั้ง แล้วสุดท้ายแล้วมันก็ความน้อยเนื้อต่ำใจนี่ เขาทำลายตัวเขาเองเลย แต่อันนั้นถึงเขาทำลายเขาก็มีวาสนา เขาได้สำเร็จไป

แต่ถ้าคนที่ทำลายแล้วไม่สำเร็จนะ นี่การทำลายตน การฆ่าตัวตายนี่ มีกรรมถึง ๕๐๐ ชาติ จะต้องไปทำอย่างนั้นตลอดไป มันถึงไม่ควรทำ ไม่ให้ทำเลยในเรื่องการทำลายตัวเอง เพราะอะไร? เพราะว่าพื้นฐานของใจอยู่ในร่างกายเรานี่ มันเป็นการที่ว่ามันจะเป็นภาชนะที่ว่าไปรับธรรม แล้วเราทำลายโอกาสของเราไง เราทำลายความดีของเราทั้งหมด อำนาจวาสนาเกิดเป็นมนุษย์นี้เป็นอริยทรัพย์ มนุษย์นี้มีร่างกายและจิตใจที่เข้ารับศาสนา เห็นไหม

แล้วเราพบพุทธศาสนาด้วย แล้วเราพยายามจะประพฤติปฏิบัติด้วยนี่ อำนาจวาสนามากเลย มันด้อยหน่อยเดียว ด้อยที่ว่าคนชี้นำเราไม่เจอ เรายังไม่เจอครูบาอาจารย์ชี้นำที่ถูกต้อง ถ้าเราเจอครูบาอาจารย์ชี้นำที่ถูกต้อง เห็นไหม มันก็คบกัน ตบมือต้อง ๒ ข้างมันถึงจะดัง ครูบาอาจารย์มีอยู่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีอยู่นะ แต่คนไม่ศึกษา ไม่สนใจ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนั้น เราไม่ได้โอกาสอะไรเลย

เราอยากศึกษาจะเป็นจะตาย เราพยายามค้นคว้าหา แต่ไม่มีคนชี้นำ นี่มันก็ไม่พอดีกัน แต่ถ้ามันพอดีกันน่ะ เห็นไหม ลูกศิษย์ก็พร้อม ผู้ที่ขวนขวายก็พร้อม ครูบาอาจารย์ก็พร้อม พอมันพร้อมขึ้นมาหัวใจดวงนั้นน่ะ นี่อำนาจวาสนา นี่คำว่า “วาสนา ๆ” อยู่ตรงนี้ไง อยู่ตรงที่จังหวะและโอกาส

พุทธศาสนาเจริญขึ้นมา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมานี่ สหชาติ ใครที่เกิดพร้อมพระพุทธเจ้านั้นเป็นผู้ที่มีวาสนามาก เพราะว่าพระพุทธเจ้าจะรู้ถึงจริตนิสัย จะชี้ถึงว่าเรานี่เคยสะสมอะไรมา คือว่าเราชอบอะไร สิ่งใดที่ชี้ให้เราทำแล้ว มันจะประสบความสำเร็จหรือมันตรงกับจริตนิสัยนี่ มันจะผ่านไป ๆ

แต่เราตอนนี้เราเกิดมากึ่งพุทธกาล ไม่เจอพระพุทธเจ้า แต่เจอธรรมไง ธรรมที่ประกาศไว้ ในพระไตรปิฎกบอกว่า “กึ่งพุทธกาลศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองอีกหนหนึ่ง” เห็นไหม ปัจจุบันนี้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา มีครูมีอาจารย์ชี้นำเราไป แต่เรายังไม่เจอตรงนั้น ถ้าเราเจอแล้วนี่ เราก็ต้องพยายามปรับหัวใจของเราให้รับตรงนั้น แล้วเราสร้างพื้นฐานใหม่ของเราขึ้นมา เห็นไหม มันก็ตบมือ ๒ ข้าง

ถ้าเราน้อยเนื้อต่ำใจอยู่ตลอดเวลาว่า “จิตเราเสื่อม ๆ” แล้วเราไม่มีการก้าวเดินไปนี่ เห็นไหม อันนั้นกิเลส กิเลสกับธรรมอยู่ในหัวใจ กิเลสมีอยู่ในหัวใจโดยพื้นฐานเพราะกิเลสมันพาเราเกิดมา แต่ธรรมนี่เราต้องพยายามศึกษาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้ามาในหัวใจของเรา เอามาจากข้างนอก แต่ในหัวใจนี่มันผลักไสของเรา ให้เราน้อยเนื้อต่ำใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจมันก้าวเดินไปไม่ได้ เห็นไหม

แต่ถ้าเราเอาธรรมเข้ามาในหัวใจนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เป็นคน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปฝึกด้วยตนเอง ไปศึกษากับลัทธิต่าง ๆ ๖ ปี อดอาหารอยู่ขนาดนั้นนะ นี่เป็นครูของเรา เป็นศาสดาของเรายังทุกข์ขนาดนั้น เราไอ้ทุกข์แค่จิตเสื่อม จิตแค่เสื่อมไป มันทุกข์ขี้ผงไง ทุกข์ไม่ได้อย่างกับจิตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ต้องตรัสรู้เอง

แต่นี่มันมีของอยู่แล้วนี่ ถ้าอย่างนี้แล้วมันก็จะก้าวเดินไป จิตมันจะเริ่มออก เริ่มทำได้ มันสะสมได้ มันไม่ใช่มานั่งน้อยเนื้อต่ำใจของเราอยู่คนเดียว คนอื่นก็เป็นแบบนี้ ธรรมชาติของจิต เห็นไหม ธรรมชาติของมันมันเป็นอย่างนี้โดยธรรมชาติของมัน แต่เรารักษาไม่เป็น เวลาเจริญขึ้นมาแล้วรักษาไม่เป็น ถ้าเจริญขึ้นมาแล้ว ถ้าไปมัวแต่ดูจิตอยู่มันก็จะเสื่อมไป

แต่ถ้าจิตมันเจริญขึ้นมาแล้วนะ มันจะเป็นอย่างไรช่างหัวมัน คำบริกรรมของเราไง เราศึกษาของเรา สติเราพร้อมอยู่กับเรานี่ มันจะรักษาจิตไป มันรักษารักษาตรงนี้ ไม่ใช่ไปดูที่ผล ดูที่ผลมันก็จะเสื่อมของมันไป แต่ถ้าเราสร้างเหตุ เรารักษาไป อันนี้มันเจริญแล้วเสื่อม ๆ เห็นไหม เป็นอนิจจัง

แต่ถ้าวิปัสสนาแล้วมันจะไม่เสื่อมเลย มันขาดออกไป พอขาดออกไปเป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมคือไม่เสื่อม นี่เวลาพระพุทธเจ้าบอก “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหลายต้องแปรสภาพเป็นธรรมดา” พระอัญญาโกณฑัญญะรู้ทัน เห็นไหม พอรู้ทันตามไป พระพุทธเจ้าบอกว่า “อัญญาโกณฑัญญะรู้แล้วหนอ” เห็นไหม รู้แล้วหนอ ๆ นี่มันจะไม่เสื่อมจากตรงนี้ เพราะปัญญาความรู้นั้นมันชำระกิเลสออกทั้งหมด

แล้วมันรู้เท่าสมบูรณ์ในตัวมันเอง มันจะไม่เสื่อมลงมาข้างล่าง แต่มันสามารถเจริญขึ้นไปได้อีก อกุปปะคือไม่ต่ำลง ไม่มีการแปรสภาพเป็นอย่างอื่นไป แต่แปรสภาพได้อีก สูงขึ้น ๆ ไป จนถึงที่สุดได้ เห็นไหม จนถึงที่สุดถึงวิมุตติธรรม อันนั้นเป็นปรารถนาของใจดวงนั้น

ถึงว่าอำนาจวาสนาอยู่ตรงนี้ เราอย่าไปน้อยเนื้อต่ำใจเราไม่ได้ เราต้องพยายามสร้างใจของเราขึ้นมา มันเป็นไปหมด ทุกคนก็เป็น ไม่ใช่เราเป็นคนเดียว สมัยพุทธกาลอยู่พระพุทธเจ้าก็เป็น โดยธรรมชาติของมันมันยังเป็นอยู่

แต่ถ้าถึงที่สุดแล้วมันก็สามารถสร้างได้ เพราะหัวใจดวงนี้มันยังทำได้อยู่ ใจเราเท่านั้น ใจเท่านั้นเป็นภาชนะใส่ธรรม เห็นไหม ใจเท่านั้น หัวใจอยู่ในร่างกายของเรา ลมหายใจเข้าออกยังมีอยู่ กำหนดอานาปานสติก็ได้ กำหนดพุทโธก็ได้ กำหนดทุกอย่างเข้าไปก็ได้ แล้วตั้งสติให้พร้อมขึ้นไป เอาใหม่ มันต้องสามารถทำได้ เอวัง