ถาม-ตอบปัญหาธรรมะ

หลักภาวนา

๒๘ พ.ย. ๒๕๕๒

 

หลักภาวนา
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เราจะพูดถึงคนปฏิบัติ เวลาปฏิบัตินี่ เวลาปฏิบัติของเรานะถ้ามันสมดุล อย่างเช่นทานอาหาร บางวันทานอาหารจะกลมกล่อมมาก ในการปฏิบัติแต่ละวันบางทีมันลงได้ มันมีหลักของมันได้ มีความสุขได้ พอมีความสุขปั๊บเราจะฝังใจ พอฝังใจอันนี้ เราจะต้องการรสชาติอย่างนี้อีก เราพยายามจะปฏิบัติให้ได้อย่างนี้อีก พอปฏิบัติได้อย่างนี้อีก อันนี้จะเป็นความทุกข์อันหนึ่ง แล้วพอปฏิบัติแล้วมันจะไม่ได้ไง

หลวงตาท่านบวชใหม่ๆ ท่านบอกว่าอุปัชฌาย์ ท่านกำหนด พุทโธ พุทโธ ท่านอยากภาวนาบ้าง ไปหาอุปัชฌาย์ใช่ไหม ที่วัดโยธาพิทักษ์ ไปถึงก็บอกว่าท่านทำอย่างไร ท่านก็บอกกำหนด พุทโธ พุทโธ พุทโธ ท่านกำหนดพุทโธตามไป พุทโธ พุทโธ พุทโธ เหมือนกับเราทอดแห เราดึงสาวแหเข้ามา มันจะรวมตัวเข้ามา จิตของคนเวลา พุทโธ พุทโธ มันจะสงบเข้ามา ท่านบอกเวลามันสงบเข้ามา โอ้โฮ...มีความสุขมาก เหมือนถอดเสี้ยน ถอดหนามเลย แล้วก็อยากได้อย่างนั้นอีก

พออยากได้อย่างนั้นอีก พยายามด้วยความอยากได้นะ พอความอยากได้มันทำแล้วไม่ได้ พอทำไม่ได้มันก็มีความทุกข์อยู่ชั่วคราว ความทุกข์อยู่ชั่วคราวนะ ความทุกข์อยู่ชั่วคราว แต่ความจริงอันนั้นไม่ใช่ความทุกข์หรอก ความจริงอันนั้น เช่น เวลาเราตักอาหารใส่ปาก อันนี้เป็นความทุกข์ไหม มันไม่ใช่เป็นความทุกข์หรอก เพราะเราทานอาหาร ไอ้กำหนดพุทโธก็เหมือนกัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ จิตมันกินพุทโธอยู่ จิตมันกินพุทโธอยู่ มันเป็นกิริยาไง

แต่พวกเราเพราะความอยากได้ พวกเราอยากได้ความสงบนั้น เราถึงบอกทำไมมันไม่สงบ ทำไมมันมีความทุกข์ แล้วพอพูดอย่างนี้ปั๊บเวลาปฏิบัติมันบอกทำไมมันทุกข์ แล้วพอทุกข์ปั๊บ ถ้าเราตั้งตรงนี้เป็นประเด็นนะ เราจะแฉลบออกไปทางอื่นเลย ถ้าใครมาเสนอว่าทางนี้เป็นความสุข ฟังนะ ทางนี้เป็นความสุข ทางนี้เป็นทางเรียบง่าย ไปทางนี้จะปฏิบัติได้ง่าย เราก็จะเชื่อสภาวะแบบนั้น

แล้วทีนี้คนเรา มันแบบว่าเขาเรียกว่ามันกดดัน เราพุทโธ พุทโธ มันกดดัน พอมันกดดัน พอเราเปลี่ยนอารมณ์ พอเปลี่ยนอารมณ์ปั๊บ มันก็...เฮ้อ... ทุกคนบอกโอ้ยมันดีเว้ย มันดี ดีจริงหรือเปล่า มันดีแค่เราเปลี่ยนอารมณ์เท่านั้นเอง พอเดี๋ยวเราไปคุ้นชินปั๊บ มันก็มีความกดดันอย่างนี้อีก เป็นธรรมชาติของกิเลสไง ตรงนี้ ที่บอกเวลาพอเราไปกำหนดอย่างอื่นปั๊บมันจะดี ทุกคนจะบอกว่า ก็มันดี ก็มันดีสิ มันดีเพราะอะไร ความกดดัน คือจิตมันพุทโธ พุทโธ มันมีความกดดันของมันอยู่ พอเราเปลี่ยนปั๊บมันก็จะดีพักหนึ่ง

อันนี้มุมกลับกัน ในมุมกลับ เราจะปฏิบัติทางอื่นมา เราบอกว่ามันก็ว่างๆ มันก็สบายๆ แล้วมันจะทำอย่างไรต่อไป อันนี้ก็กดดันนะ คำว่าว่างๆ แล้วจะทำอย่างไรต่อไป ก็มันว่างๆ อยู่อย่างนี้ แต่ไหนแต่ไรมา แล้วปัจจุบันก็ยังว่างๆ อยู่นะ อนาคตมันก็จะว่างๆ อยู่อย่างนี้ เราจะทำอย่างไรต่อไป ก็บอกว่าเปลี่ยนมาพุทโธสิ เพราะว่ามันกดดันอยู่ใช่ไหม พอเปลี่ยนมาพุทโธปั๊บ เราก็พุทโธ พุทโธแล้ว มันก็ดีอยู่พักหนึ่ง พอมันดีปั๊บ มันดีเพราะมันเปลี่ยนมา พอมันเปลี่ยนมาเหมือนกับเรา เปลี่ยนงานเปลี่ยนอะไร ใหม่ๆ มันก็ตื่นเต้น มันก็ดูมันแปลกอยู่ แต่พอทำคุ้นชินเข้าไปปั๊บ มันก็มีความกดดันแล้ว นี่ความกดดันอันนี้นี่ไง

เราจะบอกว่า ในทางตะวันตก เขามองทางตะวันออกเรา เขาบอกว่าเป็นทุกข์นิยม แต่ความจริงในพุทธศาสนานี้ไม่ใช่ เป็นสัจจะนิยม ทุกข์นะ ทุกข์มันเป็นความคับข้องใจ ทุกข์ความจริงมันคืออะไร ทุกข์ควรกำหนด สมุทัยควรละ ถ้าไม่มีสมุทัย ไม่มีตัณหาความทะยานอยาก ไม่มีความกดดัน ไม่มีความต้องการปรารถนา ไม่ต้องมีการผลักไส สิ่งใดที่ไม่พอใจ พยายามผลักไสก็เป็นทุกข์อันหนึ่ง

สิ่งใดที่มีแรงปรารถนาอยากจะได้มันมา แล้วไม่ได้ดั่งใจก็เป็นทุกข์อันหนึ่ง อัพยากฤตเห็นไหม อยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร อยู่เฉยๆนี่รำคาญไหม ทุกคนบอกอยากนอน อยากพักผ่อน อ้าว...นอนสักครึ่งวันก็นอนไม่ได้แล้ว กิริยามันต้องเปลี่ยนอยู่แล้วเห็นไหม อยู่เฉยๆ ก็เป็นความทุกข์อันหนึ่ง เพราะมันเป็นความไม่พอใจ เห็นไหมจะบอกว่า สิ่งนี้เป็นทุกข์ๆ ทุกข์ สัจจะความจริงมันเป็นของมันอย่างนี้ ถ้าสัจจะมันเป็นอย่างนี้ เราเข้าไปสู่สัจจะความจริง นี่พอเข้าไปสู่สัจจะความจริง สัจจะความจริง ถ้าเราเข้าใจกิริยาของมัน เราเข้าใจหมดเห็นไหม เราจะไม่มีความทุกข์ ไม่มีความกดดันในหัวใจเลย ถ้ามีความกดดันในหัวใจนะ เห็นไหม สัจจะนิยม เข้าไปสู่สัจจะความจริง พุทโธ พุทโธ พุทโธ ตั้งสติแล้วกำหนดบริกรรม หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ต้องต่อสู้ไง ที่พูดนี่พูดเพื่อให้กำลังใจ ปฏิบัติแล้วทำไมมันทุกข์ ปฏิบัติแล้วทำไมไม่ได้ผลดั่งใจ เพราะคำว่าได้ผลดั่งใจ คำนี้แหละ คำว่าได้ผลดั่งใจ อันนี้มันจะมาล่อหลอกเรา

ทีนี้การปฏิบัติเห็นไหม เราปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่เจี๊ยะ หลวงปู่เจี๊ยะพูดกับเราเอง “เอ็งปฏิบัติโดยไม่ต้องการผลนะ ไม่ต้องการความสงบนะ พุทโธไปเรื่อยๆ ” แล้วท่านย้ำคำนี้กับเรา ถ้าพุทโธ ๓ ชั่วโมง ถ้ามันเป็นสมาธิมันมีความสงบมันจะได้แค่ ๕ นาที ถ้าเป็น ๖ ชั่วโมง มันจะได้สัก ๑๐ นาที ถ้าเป็น ๑๒ ชั่วโมงเห็นไหม คือกำหนดมันประสาเราว่ามันมีเหตุมากขนาดไหน ผลมันก็จะมีมากขนาดนั้น แต่ถ้าเหตุมันน้อย เหตุมันไม่มีไง เหตุมันน้อยมันก็ได้ผลน้อย ถ้าเหตุมันมากมันก็ได้ผลมาก

นี่ถ้าเรา พุทโธ พุทโธ พุทโธไปโดยที่เราไม่ปรารถนา ไม่ต้องการหวังผลเลย มันโดยข้อเท็จจริงไง ยืนอยู่กลางแดดก็ต้องร้อน น้ำหยดลงหิน หินมันต้องกร่อนเป็นธรรมดา พุทโธ พุทโธ พุทโธ พุทโธ เราตั้งใจทำความจริงไป มันจะไม่สงบ มันเป็นไปไม่ได้หรอก มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่นี่เรากำหนดพุทโธ พุทโธ แล้วไม่สงบล่ะ ไม่สงบก็นี่ไง มันมีแรงปรารถนาไง มันมีแรงปรารถนาก็เหมือนของเห็นไหม ของถ้าวางอยู่ไม่มีใครสนใจนะ ของมันอยู่ก็อย่างนั้น

แต่ถ้ามีใครมาหยิบคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็อยากได้ แย่งกัน นี่แรงปรารถนามันอยู่ตรงนี้ไง แรงปรารถนากิเลสมันมีของมันอยู่แล้วใช่ไหม แล้วแรงปรารถนา พอแรงปรารถนามันมาอย่างนี้ มันก็ต้องพุทโธมากขึ้นไป คือน้ำหยดลงหิน หินมันต้องกร่อน แล้วนี่น้ำหยดลงหิน แล้วมันมีการเคลื่อนย้าย มันมีสิ่งต่างๆ มันมีตัวแปรมหาศาลเลย มันก็ต้องหยดมากกว่านั้น มันถึงจะเห็นรอยกดรอยกร่อนของน้ำนั้น พุทโธ พุทโธ พุทโธเข้าไปเรื่อยๆ พุทโธเข้าไปเห็นไหม

ถ้าพุทโธเข้าไป แล้วเราก็ย้อนกลับมาที่เรา สิ่งนี้มันเป็นประสบการณ์ ถ้าเราปฏิบัติไปแล้วนะ พุทโธ พุทโธ มันยับยั้งบ้าง มันไม่ได้ผลบ้าง สิ่งใดบ้าง ย้อนกลับทันทีเลยนะ ย้อนกลับมาที่เหตุ มันเป็นเพราะเหตุใด เราทำขึ้นมา มันถึงไม่ได้ผล อันหนึ่ง อันแรกเลย คืออำนาจวาสนาของคน เพราะคำว่าอำนาจวาสนาของคน เขาเรียกว่าบัว ๔ เหล่า บัว ๔ เหล่าเห็นไหม บัว ๔ เหล่า อำนาจวาสนาของคน มันไม่เหมือนกัน

ถ้าอำนาจวาสนาของคนที่ปฏิบัติง่ายรู้ง่ายเห็นไหม ยกตัวอย่าง พูดบ่อยมากเลย อย่างเช่นอาจารย์สิงห์ทอง อาจารย์สิงห์ทองท่านบอกว่าท่านปฏิบัติครั้งแรก บวชครั้งแรกเห็นไหม บวชแค่พรรษาเดียว กะบวชแค่พรรษาเดียวเท่านั้น เพราะพ่อแม่อยากให้บวช แล้วก็คิดว่าลูกเรามันจะบวชไปไม่ได้หรอก ก็ขอให้บวชให้พรรษาหนึ่ง ถ้าบวชได้พรรษาหนึ่งถือว่าเก่งมาก นี่พอบวชมาพรรษาหนึ่ง คนมีอำนาจวาสนา จะสวดมนต์ จะนั่งสมาธิ มันลงได้ง่ายมาก ทุกอย่างทำได้ง่ายมาก มีความสุขนะ

ความสุขเห็นไหม ดูสิ มีความสุขขนาดนี้ พอมีความสุข มันก็คิดว่า ถ้าเราบวชตลอดชีวิต มันจะดีขนาดไหน ก็เลยตั้งแรงปรารถนาว่า จะไม่สึก จะบวชตลอดชีวิตเลย เท่านั้นนะหมดเลยเห็นไหม ดูสิ ก่อนที่จะมีแรงปรารถนา ถ้านั่งที่ไหนก็เป็นสมาธิ ถ้านั่งที่ไหนก็สงบหมด ง่ายๆ ทำอะไรมันง่ายหมดเลย เพราะไม่มีข้อผูกมัด ไม่มีแรงกดดันเห็นไหม ตามสบาย แต่ถ้าอย่างนี้มีความสุข อย่างนี้ดีมาก ตั้งอธิษฐานเลยว่าจะบวชตลอดชีวิตจะไม่สึก พอบวชตลอดชีวิตจะไม่สึก สิ่งที่ทำได้ง่ายหายหมดเลย พอหายหมดเลย แต่ก็ต้องมาเร่ง มาฟื้น มาตั้งใจของท่านเอง

สุดท้ายแล้วนะ เพราะเราอยู่กับหลวงตา กับหลวงปู่เจี๊ยะ ท่านจะชมอาจารย์สิงห์ทองมาก ว่าอาจารย์สิงห์ทองนิสัยเปลือกนอกเป็นคนขี้เล่น คนขี้เล่นมาก แต่นิสัยข้างในเป็นคนเอาจริงเอาจังมาก เดินจงกรม ใครจะรู้หรือไม่รู้ก็แล้วแต่ จนทางจงกรมนี่เป็นร่องเลย เป็นร่องนี่หมายถึงว่าเดินทั้งวันทั้งคืน หลวงปู่เจี๊ยะนะชมคนยาก แต่หลวงปู่เจี๊ยะชมอาจารย์สิงห์ทองให้เราได้ยินหลายรอบ ว่าอาจารย์สิงห์ทองเป็นคนที่เอาจริงเอาจัง ภาวนานี่ตั้งใจจริงมาก

ทีนี้เริ่มต้นตั้งแต่ภาวนานะ พอกำหนดบวชพรรษาแรก บวชครั้งแรก พอสวดมนต์ก็ลง ทำอะไรก็ลง มันอยู่ที่อำนาจวาสนา แล้วพอถึงที่สุดแล้ว พอปฏิบัติไปถึงที่สุดเห็นไหม ตอนนี้ท่านเผาแล้วเป็นพระธาตุ คือว่าคนที่มันมีอำนาจวาสนามาเห็นไหม บัว ๔ เหล่า ทีนี้ถ้าบัว ๔เหล่าขึ้นมาแล้ว เริ่มต้นจากตรงนี้ด้วย จากพื้นฐานของจิต พื้นฐานของจิต แล้วพื้นฐานของจิตแล้วจะไปทำสิ่งใดต่างๆ มันก็อยู่ที่ว่าใครทำได้มากได้น้อยแค่ไหน สังเกตเด็กๆ เด็กๆ บางคนจะตั้งใจทำอะไรดีมากเลย เด็กบางคนเห็นไหม อยู่ที่จริตนิสัยของเขา

นี่การภาวนาของเราก็เหมือนกัน พอการภาวนาของเรา เราตั้งใจจริงแค่ไหน พอเราตั้งใจจริงแค่ไหน เริ่มต้นพื้นฐานจริตนิสัย คืออำนาจวาสนาของคนก่อน พออำนาจวาสนาของคน เรามุมานะแล้ว พอมุมานะแล้ว มันได้ผล ไม่ได้ผล เราก็ต้องกลับมาทบทวนแล้วว่า วันนี้ศีลของเรา สิ่งกระทบของเรา ใจกระทบมากกระทบน้อย เพราะในการปฏิบัตินะ เราปฏิบัติมาตลอดชีวิต เวลาเราอยู่ในวงการพระ ตั้งแต่เช้าเลย เช้าขึ้นมาหงุดหงิดไหม ทำสิ่งใดแล้วมันขัดข้องหมองใจไหม

สิ่งต่างๆ ออกบิณฑบาตแล้วกระทบสิ่งใดบ้าง ตรวจสอบหมดนะ เห็นโทษของมันนะ ถ้าเห็นโทษของมันปั๊บ พอเห็นโทษปั๊บ วันต่อไปเห็นไหม ออกบิณฑบาตนะ จะทอดสายตาเลย จะรักษาสำรวมตลอดเวลา สำรวมระวังอินทรีย์เห็นไหม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราควบคุมมัน เราควบคุมมันจะไม่ให้กระทบสิ่งใดเลย ถ้ากระทบก็กระทบแต่น้อย มันต้องรับรู้บ้าง แต่กระทบแต่น้อย กระทบแล้วมีสติอยู่ มันกระทบอยู่

เหมือนเรารู้ว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งมีพิษ เราจะไม่ไปจับด้วยความเต็มไม้เต็มมือ เราต้องประสบ เราจะต้องกันไว้เห็นไหม เราไม่ไปผูกมัดจนเกินไป เราดูแลรักษาจิตตลอดเวลา แล้วมาภาวนา วันนี้เป็นอย่างไร แล้ววันต่อไปรักษามันจะเป็นอย่างไร แล้วเป็นอย่างนั้นปั๊บ เริ่มเข้มงวดขึ้น เข้มงวดขึ้น จากฉันอาหารเป็นปกติเห็นไหม ก่อนอิ่มกี่คำดื่มน้ำ แล้วถึงเวลาแล้ว เริ่มผ่อนอาหาร การผ่อนอาหารแล้ว เวลาปฏิบัติมันจะเทียบเคียงเข้ามา

พอเทียบเคียงเข้ามา จิตมันจะรักษาได้มั่นคงแค่ไหน เราจะเปรียบเทียบให้เห็นไง ว่าตอนที่เราภาวนาไม่ได้ เราก็จับต้นชนปลายอะไรไม่ถูกเลย แต่พอเรากำหนดพุทโธ พุทโธ แล้วเราพยายามหาความสมดุลของใจของเราเห็นไหม เราพยายามหาความสมดุล ว่ามันกระทบสิ่งใดบ้าง ถ้าเรารักษาอาการกระทบอย่างนี้แล้ว จิตของเราจะคุมได้ง่ายขึ้นมาไหม รักษาการกระทบเห็นไหม แล้วพอรักษาการกระทบแล้ว ไม่มีอะไรกระทบแล้ว มันยังดื้อ มันยังลงไม่ได้เห็นไหม เราก็ต้องผ่อนอาหารเห็นไหม

เราก็จะผ่อนอาหารมัน การผ่อนอาหารมันไม่ถึงกับหิวโหย ไม่ถึงกับทำให้เราทุกข์มากหรอก เพราะถ้าเราพอจิตมันลงขึ้นมา เราก็เทียบเคียงเข้ามาแล้ว ถ้าทำอย่างนี้ลง แล้วถ้าทำคราวหน้ามันไม่ลงอีกแล้ว มันก็เปลี่ยนอุบายไปเรื่อย การเปลี่ยนอุบายไปเรื่อย แล้วการกระทำอย่างนี้ เราเป็นคนกระทำเอง เรามีอุบาย เวลาเราไปถามครูบาอาจารย์นะ ครูบาอาจารย์ท่านจะสอนเราวิธีการทำต่างๆ

แต่นี้เราปฏิบัติโดยประสบการณ์ของเรา เราเป็นคนคัดเลือกเองเห็นไหม พอเราคัดเลือกเอง ผิดถูกเราเป็นคนทดสอบเอง พอทดสอบเอง เราเปลี่ยนแปลงของเรามาตลอด เราควบคุมใจของเรามาตลอด พอควบคุมใจของเราเข้ามาตลอดเห็นไหม เราควบคุมได้ เหตุและปัจจัย ธรรมทั้งหลายมาแต่เหตุ สมาธิก็มาจากสติ มาจากปัญญา

เวลาใช้ปัญญา เวลาเขาว่าใช้ปัญญาเห็นไหม ในการประพฤติปฏิบัติเขาว่าการใช้ปัญญา ถ้าใครจะวิปัสสนา อย่าไปควบคุมความคิด ไม่มีทาง ต้องควบคุมความคิดก่อน เพราะความคิดเป็นปัญญาโลก พอจิตมันสงบแล้ว ปัญญาธรรมเห็นไหม โลกียปัญญา โลกุตตรปัญญา คำอย่างนี้ ถ้าคนไม่เคยปฏิบัติ หรือปฏิบัติไปไม่ไปถึงเนื้อหาสาระข้อเท็จจริง มันแยกไม่ออกหรอก มันแยกไม่ออก แยกไม่ได้ แล้วเวลาแยกออกแล้ว เวลาผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ ก็ให้อาจารย์ชี้มาสิว่าอะไรเป็นโลกียปัญญา

โลกียปัญญาคือปัญญาของกิเลส โลก โลกคือหมู่สัตว์ โลกคือจิต โลก คือปฏิสนธิจิต โลก คือสิ่งที่เกิดขึ้นมา แล้วความรู้สึกความนึกคิด มันเกิดขึ้นบนโลกนี้ เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความคิด ภวาสวะจากจิตนี้ เห็นไหมสิ่งนื้คือโลกียปัญญา เพราะความคิดเกิดจากเรา ทุกคนจะบอกว่าความคิดอย่างนี้ถูกต้องหมด เพราะอะไร เพราะมันคิดจากเรา เห็นไหม เวลาไปศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า เราก็ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าต้องเป็นอย่างที่เราคาดหมาย ต้องเป็นอย่างที่เราปรารถนา เราพอใจ เห็นไหม มันเป็นโลก เป็นโลกเพราะอะไร เพราะมันคิดบนฐานที่ตั้งของจิตนี้

นี้เรา พุทโธ พุทโธไป หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิ มันจะต้องสงบเข้ามา พอมันสงบเข้ามา ความที่สงบเข้ามา มันจะเห็นความแตกต่าง คนที่มีความสงบนะ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร สิ่งนี้กระทบแล้ว มันจะเกิดความคิดอย่างไร แล้วถ้าเราควบคุมสิ่งนี้ได้ เราควบคุมสิ่งนี้ เราเห็น รูป รส กลิ่น เสียง กระทบ มันจะเร้าอย่างไรกับจิตเรา พอมันเห็นว่ามันเร้าใช่ไหม

เหมือนเราเลย เหมือนเด็กๆ ขนมที่เอาไว้ให้เด็กกิน เด็กจะเงื้อมมือไปหยิบเลย แล้วเด็กมันนั่งมองขนมที่มันไม่ได้ยื่นมือไปหยิบ มันไม่กินขนม ขนมก็ตั้งอยู่ข้างหน้านั้น แล้วเด็กมันก็นั่งอยู่นั่นล่ะ ความคิดกับจิตก็เหมือนกัน รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร ถ้าจิตนี้มันไม่ไปจับต้อง มันไม่ไปยึด รูป รส กลิ่น เสียง มันก็อยู่อย่างนั้น แต่นี้เด็กมันโดยประสาเด็กมันไร้เดียงสาใช่ไหม เอาของไปวางต่อหน้ามัน มันจะมีวุฒิภาวะ จะนั่งมองขนมที่ไม่อยากกินไหม มันก็ธรรมดาของเด็กใช่ไหม

จิตที่ยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติ เรายังไม่ได้เห็นเหตุเห็นผล มันก็เป็นอย่างนั้น อารมณ์ความรู้สึกมันเป็นอาหารของจิต มันโฉบมานะ มันมาล่อนะ จิตกินหมดล่ะ ทีนี้พอเราตั้งสติเห็นไหม พอเราตั้งสติ แล้วพอจิตมันสงบ พอจิตมันเห็นคุณค่าของมัน มันจะเห็นเลยว่า ถ้าไม่หยิบมัน ถ้าไม่เสวยอารมณ์ มันก็หยุดของมันเห็นไหม หยุดนิ่ง คือสมาธิ ถ้ามันหยุดนิ่งขึ้นมา มันหยุดนิ่งแล้วมันทรงตัวได้ไหม

แต่เดิมมันเหมือนเด็กอ่อนเห็นไหม มันเหมือนทารก มันทรงตัวไม่ได้เห็นไหม เอาขนมไปวางไว้ต่อหน้ามันเห็นไหม ทารกไร้เดียงสาหยิบกินขนม พ่อแม่กลับดีใจชอบใจว่า เด็กมันเอาตัวรอดได้ละ เพราะมันกินเองเป็นละ นี่กลับชมมันนะ แต่ถ้าเวลาจิตมันเสวยอารมณ์ แล้วมันไปกินอย่างนั้น มันจะเป็นโลกุตตระไหมล่ะ มันก็เป็นโลกียะเห็นไหม แต่ถ้ามันหยุดของมัน เด็กไม่หยิบอาหารนั้นมากิน ขนมก็ตั้งอยู่ข้างหน้า เด็กก็ส่วนเด็ก มันทรงตัวของมันได้ มันยับยั้งของมันได้ เพราะมีสติ มีความรู้ความเห็น พอเราพุทโธ พุทโธ อ๋อ มันจะเห็นชัดเจนอย่างนี้นะ มันเห็นชัดเจนเลยว่าความคิดกับพลังงาน มันไม่ใช่อันเดียวกัน เพราะความคิดมันทำให้เราทุกข์

ความคิดเรานี่ทำให้เราทุกข์ ถ้าเราปล่อยความคิดความคิดมีไหม ความคิดมันก็มีอยู่นะ แต่จิตมันไม่เสวย ความคิดนี้เป็นธรรมชาตินะ มันเป็นสัญชาตญาณเห็นไหม อย่างเช่นเราเห็นภาพ เวลาตาเราเห็นภาพ แต่จิตมันไม่รับรู้เห็นไหม มันไม่เสวยอารมณ์เห็นไหม ภาพที่ผ่านหน้าเราไป เราไม่รู้ว่าภาพอะไรนะ แต่เห็นภาพ แต่ไม่ได้แบ่งแยกว่ามันเป็นภาพอะไร เห็นไหม มันไม่เสวยอารมณ์เห็นไหม มันเป็นไปได้ แม้แต่ว่าจิตมันไม่ออกมารับรู้ ภาพหรือเสียง ได้ยินเสียงอยู่ แต่ไม่รู้ว่าพูดเรื่องอะไร มันแยกได้ พอมันแยกได้ ถ้ามันกำหนดพุทโธ พุทโธ หรือใช้ปัญญาอบรมสมาธิเข้าไป มันหยุดได้ มันหยุดได้ หยุดพลังงานไปเฉยๆ สมาธิ พอสมาธิมันตั้งมั่นเห็นไหม เด็กมันหยิบขนมกินโดยธรรมชาติ แต่พอเด็กมันโตขึ้นมา ขนมนั้นเขาไว้ทำประโยชน์อะไร เขาควรทำอย่างใด จะเก็บเอาไว้ในตู้เย็น จะเก็บเอาไว้กินเมื่อวันอื่น หรือจะกินในมื้อนี้ เด็ก เด็กมันคิดเป็นเห็นไหม

จิต พอมัน พุทโธ พุทโธ พุทโธ โดยใช้ปัญญา หรือใช้คำบริกรรม มันหยุดของมันได้เห็นไหม พอมันหยุดของมันได้ หยุดของมันได้ มันเป็นสัมมาสมาธิ มันเป็นจิตตั้งมั่น จิตที่เป็นสากล แล้วถ้ามันออกไปรู้เห็นไหม แต่เดิมจิตมันเสวยอารมณ์ จิตกับความคิดมันเป็นอาหารโดยธรรมชาติของมนุษย์ หรือของเทวดา อินทร์ พรหม มันเป็นอย่างนั้น ทีนี้พอเราปฏิบัติธรรมเห็นไหม พอมันปล่อยได้ มันปล่อยได้ของมันเห็นไหม พอมันปล่อยได้ ถ้ามันจะเสวยอารมณ์ ก็เหมือนเด็ก เด็กมันเอาขนมนั้นไปเก็บไว้กินวันหลัง ขนมนั้นเอาไปให้ผู้ใหญ่ ขนมนั้นมันใช้ประโยชน์ได้หมด มันรู้จักเอาขนมไปทำประโยชน์

จิต ถ้ามันสงบของมันแล้ว มันมีกำลังของมัน มันจะเสวยอารมณ์เห็นไหม พอมันเสวยอารมณ์เข้าไป มันเสวยอารมณ์ อารมณ์นั้นเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นความดีหรือความชั่ว แล้วเสวยไปแล้ว มันคิดเป็นไง มันเสวยอารมณ์ มันแบ่งแยกเป็น นี่ วิปัสสนามันเกิดอย่างนี้ไง ถ้าวิปัสสนามันเกิด แต่เดิมที่จิต ความคิดเป็นเรา มันเป็นสัญชาตญาณ มันเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง ที่ไม่มีใครมาควบคุมดูแล

แต่พอจิตสงบขึ้นมา มีสติขึ้นมาเห็นไหม ตัวจิตเห็นไหม ตัวจิตออกรับรู้ ออกแก้ไขเห็นไหม เพราะอะไร เพราะกิเลสมันอยู่ที่จิต กิเลสมันอยู่ที่เรา กิเลสอยู่ในหัวใจ อยู่ในจิตที่ว่า มันสิ่งที่มันรู้ไม่ได้ มันรู้สิ่งนี้ไม่ได้ มันรู้โดยสัญชาตญาณ แต่เวลาเรารู้อย่างนี้ปั๊บ เรามาเปรียบเทียบกันไง เราเอามาเปรียบเทียบกับธรรมะพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าพูดถึงธรรมะ พูดถึงสุตมยปัญญา จินตามยปัญญา ภาวนามยปัญญา เราก็มาเคลมเอาว่าปัญญาก็คือการใช้ความคิด พอใช้ความคิดมันเป็นความคิดกิเลสเห็นไหม เราเทียบเคียงเอง เราถึงไม่เห็นแบ่งแยกเหมือนกับตอนที่เราทำความสงบ ถ้าเราทำความสงบเห็นไหม เราเห็นว่าจิตสงบเป็นอย่างหนึ่ง จิตไม่สงบเป็นอย่างหนึ่ง จิตสงบกับจิตไม่สงบ มันมีเหตุผลอย่างไรมันถึงสงบและไม่สงบ

เวลาจิตมันออกวิปัสสนานะ พอจิตมันตั้งมั่นของมัน ถ้ามันคิดโดยสัญญาอารมณ์ มันก็เป็นสามัญสำนึก มันเป็นเรื่องโลกๆ มันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์อยู่แล้ว แต่ถ้าจิตมันสงบขึ้นมาเป็นสากล แล้วมันออกเสวยอารมณ์โดยธรรมะ มันเห็นโทษนะ เห็นโทษนะ เพราะมันเห็นไง เหมือนเรา เราปกติ เราไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เราก็ไม่รู้ว่าการเจ็บไข้ได้ป่วย กับการรักษาไข้ให้หายมันแตกต่างกันอย่างใด

แต่พอเราเคยเจ็บไข้ได้ป่วย แล้วรักษาโรคนี้หายเห็นไหม พอเรารักษาโรคนี้หาย หายกลับมาเป็นปกติ จิตมันเคยเสวยอารมณ์ มันมีความคิดของมันโดยธรรมชาติ มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่อย่างนั้น เพราะมันไม่มีกำลัง แต่พอมันสงบขึ้นมา มันออกใช้ความคิด สติมันทัน มันเห็นการเข้าไปพัวพัน เห็นว่าจิตนี้ออกไปยึด แล้วสิ่งนี้กลับมาให้โทษกับมันเห็นไหม แล้วมันใช้ปัญญาแยกแยะออกไปเห็นไหม

ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ เพราะในความคิดนั้นมันเป็นรูป รูปเห็นไหม เป็นเวทนา เป็นเวทนาสุขหรือทุกข์ สัญญาคือข้อมูลของมัน สังขารคือสิ่งที่ปรุงแต่ง วิญญาณคือรับรู้อารมณ์ในนั้น ฟังสิ ขันธ์ ๕ มันมีวิญญาณ อารมณ์ความรู้สึกนั้นมันเป็นอารมณ์อันหนึ่งเห็นไหม แล้วตัวจิตเป็นอีกตัวหนึ่ง ตัวจิตคือตัวพลังงานนะ ตัวพลังงานเห็นไหม

แต่เวลาเป็นขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ความรู้สึกไปแล้ว ในอารมณ์ความรู้สึกนั้น มันมีรูปคืออารมณ์ความรู้สึก มันมีเวทนา ดีหรือชั่ว พอใจและไม่พอใจ มีสัญญา คือสิ่งเปรียบเทียบข้อมูล มีสังขารที่ปรุงแต่ง และมีวิญญาณที่รับรู้ เปรียบเทียบย้อนกลับมาที่ว่า เวลาเรานั่งปกติ เวลารูปผ่านไป จิตไม่ออกรับรู้เห็นไหม เห็นรูปเฉยๆ แต่เราไม่รู้ว่ารูปอะไร

นี่ก็เหมือนกัน แต่ขณะที่จิตสงบแล้ว จิตที่มันจับความคิด จับอารมณ์ความรู้สึกนี้ได้ ในอารมณ์ความรู้สึกนั้นเห็นไหม มันมีวิญญาณ วิญญาณในอายตนะ วิญญาณใน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันไม่ใช่ อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา วิญญาณัง วิญญาณปฏิสนธิ วิญญาณต้นเหตุ วิญญาณตัวจิต แต่วิญญาณรับรู้ เป็นวิญญาณในสามัญสำนึกของมนุษย์

สิ่งที่เป็นสามัญสำนึกของมนุษย์ มนุษย์จึงคิดว่าสิ่งนั้นเป็นเรา สิ่งนี้อารมณ์ความรู้สึกความคิดเรากับจิตนี้เป็นอันเดียวกัน เพราะมันเป็นสามัญสำนึกที่มันมีอยู่ พอจิตมันสงบเข้ามามันเห็นสามัญสำนึกอันนี้ แล้วมันจับสามัญสำนึกได้ เพราะจิตมันสงบ สามัญสำนึกความคิดโดยปกติ มันเป็นส่วนหนึ่ง พลังงานของจิตนี้มันเป็นอีกส่วนหนึ่ง

ทีนี้เป็นส่วนหนึ่งเพราะอะไร เพราะเรามีสติสัมปชัญญะ เรามีจิตสงบที่มันมองเห็น มันจับต้องได้ พอมันจับต้องได้ มันก็มาแยกแยะให้เห็นไง ให้เห็นข้อเท็จจริงของมัน ที่มันทำงานกันอย่างไร ของทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าสอนให้วิปัสสนานี้ คือของที่มันมีอยู่แล้ว เหมือนกับเสื้อผ้า เห็นไหม เสื้อเป็นตัวเสื้อ ลองแกะสิ เสื้อมันประกอบไปด้วยผ้าหลายชิ้น แล้วมาเย็บตัดทอขึ้นมากลายเป็นเสื้อ

ความสามัญสำนึกของคน ความคิดของคน มันก็เหมือนสิ่งส่วนประกอบที่มันมีอยู่แล้ว ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จับให้มันได้ เหมือนจับเสื้อผ้า แล้วเลาะออกว่ามันมีส่วนประกอบของสิ่งใดที่มันเย็บรวมกัน แล้วมันกลับมาเป็นเสื้อ อารมณ์ความรู้สึกความคิดเห็นไหม อาการของใจเห็นไหม ส้มกับเปลือกส้มเห็นไหม เปลือกส้มเป็นเปลือกส้ม

มันเป็นส่วนประกอบของเสื้อ เราใส่เสื้อผ้า มนุษย์ใส่เสื้อผ้าใช่ไหม จิตมันใส่อารมณ์ความรู้สึกใช่ไหม อารมณ์ความรู้สึกนี่ก็เป็นเสื้อผ้าอันหนึ่งใช่ไหม มันก็คิดว่าเป็นของมัน เป็นอันเดียวกันเห็นไหม พอจิตมันสงบขึ้นมา เราจับสิ่งนี้ออกมาแยกแยะ จับสิ่งนี้ได้ เราถอดเสื้อเราออก เราจะเลาะเสื้อผ้า เลาะในตัวเรา หรือจะถอดออกมาแล้วเลาะมัน

จิตสงบแล้ว พอจิตมันตั้งพุทโธ พุทโธ พุทโธเห็นไหม จิตกับเสื้อผ้า เสื้อผ้าที่เป็นของเรา เราไม่ได้ใช้สอย เราเก็บไว้ในตู้ เราเก็บไว้ที่ตากผ้าเห็นไหม มันก็เป็นเสื้อผ้ากับเรา มันคนละส่วนกันใช่ไหม ความคิดของมนุษย์ปกติมันก็เป็นอย่างนั้นเห็นไหม มันเป็นอย่างนั้นของมันอยู่แล้ว แต่เวลาเราเอามาใส่ในตัวเรา มันก็เป็นเราใช่ไหม ความคิดมันเกิดดับ

เสื้อผ้าที่แขวนไว้ต่างๆ มันเป็นประโยชน์อะไรกับใครล่ะ เสื้อผ้าที่แขวนไว้ แต่เสื้อผ้าที่อยู่ในตัวเรา เราแบ่งแยกมัน เราเอามันออกมาไม่ได้เห็นไหม พอจิตมันสงบเข้ามา จิตกับอาการของจิต เห็นไหมเสื้อผ้าที่อยู่ในตัวเรา เราสามารถแยกออกจากตัวเราได้ พอแยกออกจากตัวเราแล้ว เราจะเอามันมาใคร่ครวญ เอามาแยกแยะอย่างไร ว่าส่วนประกอบของมัน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

เราเลาะออกมา ส่วนประกอบของมัน แล้วสิ่งที่ร้อยรัดมันไว้ ด้ายที่เย็บมันไว้ มันเกิดจากอะไร มันแยกแยะด้วยปัญญานะ แล้วปัญญาอย่างนี้ ปัญญาอย่างนี้ ปัญญาเกิดจากวิปัสสนา ปัญญาเกิดจากการกระทำ ปัญญาเกิดจากจิต มันเห็นเป็นความมหัศจรรย์นะ สิ่งที่ทำมันมหัศจรรย์มาก เพราะมันปล่อย เวลามันปล่อย ความปล่อยอย่างนี้

การประพฤติปฏิบัตินะ คนที่จะทำได้ขนาดนี้ คนที่จะวิปัสสนาขึ้นมาได้ ถ้าเป็นข้อเท็จจริงนะ มันเป็นเรื่องที่มหัศจรรย์พอสมควรเลยล่ะ แต่ในปัจจุบันนี้ ทางวิชาการเจริญใช่ไหม เวลาเราพูดกัน เพราะสิ่งนี้มันมีอยู่แล้ว เราฟังได้อยู่แล้ว เวลาหลวงปู่มั่น สมัยเวลาท่านเทศนาว่าการนะ ท่านจะไม่พูดออกบอกหมด เพราะกลัวว่าลูกศิษย์ลูกหา จะจำเป็นสัญญา จำเป็นข้อมูล

แล้วจิตมันเป็นความที่มหัศจรรย์ มันเกิดเป็นวิปัสสนึกได้ มันสร้างภาพได้ พอสร้างภาพขึ้นมาแล้ว พูดเหมือนกัน พูดแล้วเหมือนกันเลย แต่ข้อเท็จจริงไม่เหมือนกัน ไม่เหมือนกัน คนที่เป็นนี่จะรู้ คนที่ไม่เป็นไม่เข้าใจ แล้วพูดเหมือนกัน ทำไมคนหนึ่งถึงพูดถูก ทำไมคนหนึ่งถึงพูดผิด เพราะคำพูดคำเดียวกัน ดูสิ กิริยาของการรับประทานเห็นไหม กิน รับประทาน เสวยเห็นไหม กิริยาอันเดียวกัน แต่ทำไมพูดแตกต่างกัน

มันแตกต่างกันจากสถานะของคน สถานะของคนอยู่ในสถานะอันไหน ควรใช้สถานะอันนั้น สถานะของจิต ถ้าจิตมันยังเป็นปุถุชน จิตนี้มันยังเป็นปุถุชน กัลยาณปุถุชน โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามรรค สกิทาคาผล อนาคามรรค อนาคาผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล สถานะของจิตมันหลากหลายมาก แล้วสถานะของจิตอยู่ในตำแหน่งใด คนเรามันจะพูดได้ต่อเมื่อมันรู้ตามข้อเท็จจริงนั้น

แต่นี้ในการกระทำของเราเห็นไหม ในการศึกษาของเรามันเป็นความจำ ความจำเห็นไหม ศึกษาธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ธรรมะที่เป็นสาธารณะ ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราจำได้หมด เหมือนเราศึกษาทำธุรกิจทำโครงการต่างๆ เราเข้าใจได้หมด แต่เราไม่เคยทำโครงการนั้นสำเร็จขึ้นมาเลย การทำโครงการนั้นสำเร็จขึ้นมา กับการศึกษาโครงการต่างกันนะ การศึกษาจากความจำ ความจำมันจำได้ ความจำมันคลาดเคลื่อน เพราะเป็นความจำเห็นไหม

แต่ถ้าเป็นความจริงตามข้อเท็จจริง เราเป็นคนทำขึ้นมาเห็นไหม เราต้องมีการหาทุน เราต้องหาบุคคลากร เราต้องบริหารจัดการ แล้วการบริหารจัดการ การบริหารจัดการมนุษย์ มนุษย์ที่ลงไปทำงาน มนุษย์ มันมีอารมณ์ความรู้สึกหลากหลายขนาดไหน เราจะบริหารจัดการมันอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ให้โครงการนั้นเคลื่อนไปโดยที่ไม่มีการทุจริต ไม่มีการเสียหาย

ในการวิปัสสนาเห็นไหม มันจะเกิดกรณีอย่างนี้ ถ้าเกิดกรณีอย่างนี้แล้ว กรณีที่ขันธ์ จิตกับกิเลส กิเลสอย่างหยาบกิเลสอย่างละเอียด กิเลสที่มีมันมีความเข้าใจผิด มันคิดเรียกรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มันคิดไม่ถึง มันคิดว่าพระพุทธเจ้าพูดไว้อย่างนั้น มันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น พอเข้าไปถึงความจริงนะ โอ้โฮ โอ้โฮเลยนะ พอโอ้โฮ คำว่าโอ้โฮ มันรู้จริงเห็นจริงตามข้อเท็จจริงนั้น

ถ้าตามข้อเท็จจริงนั้นเห็นไหม ในวิชาช่างหรือในวิชาทางการแพทย์ต่างๆ เขาเห็นนะเห็นผู้ฝึกงาน ผู้ทำงานเขาจะมองได้ทันทีเลยว่า คนนั้นทำงานเป็นหรือไม่เป็น แล้วทำงานอย่างไร มันมีข้อบกพร่องอย่างไร การทำงานนั้นถึงเป็นผลงานขึ้นมาไม่ได้ แค่จับเครื่องมือก็รู้แล้ว หมอนะ แค่จับมีดจับไซริงค์ รู้เลยว่าคนนี้เป็นหมอ หรือไม่เป็นหมอ

ทีนี้การเทศนาว่าการก็เหมือนกัน ถ้าพูดถึงมันไม่เป็นความจริง มันจะขัดแย้งไปหมด ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านะ จะไม่มีข้อขัดแย้งเลย มันจะขัดแย้งกันในตัวมันเองไม่ได้ เพียงแต่ว่ามันมีขั้นหยาบ ขั้นกลาง ขั้นละเอียด ขั้นละเอียดสุด ทีนี้คำว่าหยาบ กลาง ละเอียดสุด มันจะไม่ขัดแย้งกัน มันจะรวมตัว หรือมันจะเข้าไปเฉพาะโครงการนั้น หรือเฉพาะเหตุการณ์นั้น แล้วเหตุการณ์นั้น มรรคหยาบ มรรคละเอียดไง

เห็นไหม ดูสิ เวลาหลวงตาท่านพูดถึง เวลาท่านอยู่ในป่าเห็นไหม ท่านกลัวเสือมาก ท่านก็ถามตัวเองขึ้นมา เพราะจิตท่านสงบใช่ไหม เสือมีกระดูกไหม เสือก็มีกระดูก เราก็มีกระดูก เสือมีหนัง เราก็มีหนัง เสือมีขน เราก็มีขน เสือมีอะไร เรามีทุกอย่างหมดเลย ปัญญามันไล่กัน ไล่กันไปเห็นไหม จนถึงที่สุดเห็นไหม ท่านสามารถเอาชนะความกลัวในหัวใจของท่านได้

แล้วเวลาท่านไปคุยกับหลวงปู่คำดีเห็นไหม หลวงปู่คำดีท่านก็เคยใช้กรณีอย่างนี้เหมือนกัน หลวงปู่คำดีท่านอยู่ในป่า แต่หลวงปู่คำดีท่านทำมาก่อนเห็นไหม อยู่ในป่าคนเดียวนะ เพราะเราจะเอาชนะตนเอง การปฏิบัติคือจะต้องเอาชนะตนเอง เอาจิตเราไว้ในอำนาจของเรา แล้วจิตของเรานี่มันดื้อ จิตของเรานี่มันดื้อ พอมันดื้อนะ ยิ่งเราประคับประคองมัน ยิ่งตามใจมันขนาดไหน มันยิ่งงอแง มันยิ่งเรียกร้องเอาความเห็นใจ

ปฏิบัติเห็นไหม จะต้องเอากระติกน้ำร้อนมาด้วย จะต้องเอาไฟฉายอย่างดีมา ต้องมีเครื่องกันหนาว เอาใจมันเต็มที่เลยเห็นไหม แล้วมันจะฟังเราไหม ครูบาอาจารย์ของเราถึงเข้าป่า ไปอยู่คนเดียว ไปอยู่ที่มันไม่มีอะไรเลย เห็นไหม ไม่มีขนาดไหนก็จะสู้กับมัน แล้วพอไม่มี พอเข้าป่าไป หนึ่ง ความมืดก็กลัว กลัวผีสาง เทวดา กลัวทุกอย่างเลย แล้วพอมันไปเจอเสือ มันจะสร้างภาพ

อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด พอไปอยู่คนเดียว ความคิดมันจะเกิดเต็มที่เลย ถ้าไปสองคนนะ พอมันคิดขึ้นมา ไม่เป็นไร มีเพื่อนช่วย ไม่เป็นไร ยังมีคนนั้นคอยดูแลเรา ถ้าไม่สบายตายไป เพื่อนมันจะอุ้มศพนี้กลับไปบ้าน มันคิดไปหมด แต่ถ้าอยู่คนเดียว เอ้า เจ็บไข้ได้ป่วยจะยุ่งกับใคร แล้วขึ้นมาใครดูแลรักษา แล้วถ้ามันอยู่คนเดียวอย่างนี้ เดี๋ยวเสือมันมาเป็นอย่างไร เห็นไหม มันจะเกิดปัญญา ไล่เข้าไป ไล่เข้าไปเห็นไหม

เราจะบอกว่าหลวงตาท่านเล่าให้ฟังประจำว่า ท่านใช้ปัญญาอย่างนี้เอาชนะตนเอง ทีแรกกลัวจนตัวสั่น พอใช้ปัญญาไล่เข้าไปแล้ว มันเกิดความกล้าหาญมาก เสือตัวไหนตัวใหญ่ที่สุด แล้วมันหมอบอยู่ที่จะกินเรา จะเดินเข้าไปให้เสือตัวนั้นกินก่อน พอเดินเข้าไปนะ ใจ กิเลสมันสร้างภาพ ว่าเสือนอนอยู่นั่นตัวใหญ่มากยังกับสิบล้อเลย พอเดินเข้าไป ไม่มี เดินเข้าไปไม่มี เดินเข้าไปไม่มี

จนมันกล้าหาญมากนะ มันจะลุยเลยไปหาเสือ แล้วพอมันได้สติขึ้นมานะ อันนี้ก็บ้าอันหนึ่งนะ เวลากลัวก็กลัวจนตัวสั่น เวลากล้า ก็กล้าจนไม่มีขอบมีเขต อันนี้ก็ไม่ถูกเห็นไหม ทำให้เตือนสติ สติมันทันปุ๊บ จะกลับมาทางจงกรมของตัว แล้วเดินจงกรมด้วยความปลอดโปร่ง โล่งไปหมดเลย หลวงปู่คำดีท่านก็ใช้อย่างนี้ แต่ท่านใช้คนละวาระกัน

นี่เวลามันเกิดในปัจจุบันธรรม ปัญญามันจะเกิดอย่างนี้ แล้วถ้าปัญญามันเกิดเห็นไหม เอาจิตของเราไว้ในอำนาจของเรา ถ้าจะเอาจิตของเราไว้ในอำนาจของเรา เราจะพยายามพูดให้โยมฟังว่า มันทุกข์ไหม ทุกข์ ทุกข์เพราะอะไร ทุกข์เพราะเราอยากได้ อยากให้มันสงบ อยากให้มีปัญญา แล้วเราก็จะมาประพฤติปฏิบัติกัน มันก็ต้องเป็นข้อเท็จจริงอย่างนี้ ทุกข์ ทุกข์จนมันคลาย ทุกข์จนมันปล่อย พอมันปล่อยแล้ว มันจะเป็นตามข้อเท็จจริง

ถ้าสติเราดี คำบริกรรมเราบริสุทธิ์ คำบริกรรมมันเพียวๆ ไง ไม่มีเราให้ค่า ไม่มีเราบอกว่านี่พุทโธมาเป็นหมื่นครั้งแล้วนะ นี่พุทโธมาเป็นแสนครั้งแล้วนะ เมื่อไรจะสงบสักทีเห็นไหม เราไปรอมันอยู่ เราไปอ้อนวอนมันอยู่ มันก็จะวิ่งเตลิดหนีเราไปไกลที่สุดเลย สมาธิ แต่ถ้าเรามันแบบว่าปฏิบัติแล้ว มันจะทุกข์ จะยากขนาดไหน แล้วเราทำตามข้อเท็จจริง วางไว้ตามความเป็นจริง แล้วพุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธจนมันเข็ดนะ พุทโธจนไม่หวังอะไรแล้ว พุทโธไปเรื่อยๆ พุทโธเห็นไหม พุทโธนี้ค่าของมัน ก็ค่าของพุทโธ สุดท้ายแล้วนะ ตามสติไปมันต้องให้ความสงบกับเรา

ผู้ที่ประพฤติปฏิบัตินะ ทุกคนปฏิบัติขึ้นมาแล้ว จิตดีขึ้นมาแล้วต้องเสื่อม เป็นธรรมชาติของมัน จิตนี้เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มันจะเป็นอย่างนี้ กินข้าวแล้วก็กินข้าวอีก กินข้าวแล้วก็กินข้าวอีก กินข้าวแล้วมื้อเดียวแล้วอิ่มตลอดชาติ ไม่มี การกำหนดพุทโธ พุทโธ จิตมันดีขึ้นมาแล้ว ถ้าเราคุ้นชินกับมัน โดยที่เราไม่เปลี่ยนสถานที่ ไม่มีสติปัญญา เดี๋ยวมันก็เสื่อม ผลของมัน สมาธิเกิดแล้วเสื่อม เกิดแล้วนะ ทรงตัวอยู่พักหนึ่ง แล้วมันเป็นอนิจจัง

สรรพสิ่งในโลกนี้มันเป็นอนิจจังทั้งหมด เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป เป็นชั่วคราว ชั่วคราว แล้วพอเราประพฤติปฏิบัติขึ้นมา จนบ่อยครั้งเข้า เห็นโทษของมันในการที่ไม่รักษา ไม่ดูแล ไม่รู้จักถนอมหัวใจของตัว มันก็จะเสื่อมอย่างนี้ แล้วถ้าเราถนอมดูแลเห็นไหม เราจะตั้งสติของเรา เรื่องของหมู่คณะ เรื่องของคนที่ปฏิบัติด้วยกัน มันเป็นสิทธิและหน้าที่ของเขา หน้าที่ของเรา เราจะต้องรักษาใจของเรา ถ้ารักษาใจของเราเห็นไหม มันจะตั้งใจ พอมันตั้งใจ มันเห็นโทษนะ

เหมือนกับเรามีแผลนี่ เรากลัวบาดทะยักไหม เราจะรักษาแผลของเราให้สะอาดไหม ถ้าเรามีแผลนะ ที่ไหนสกปรกก็นั่งแฉะ นั่งแฉะนะ ประเดี๋ยวมันเป็นบาดทะยักขึ้นมา ก็จะมาเสียใจทีหลัง จิตเราก็เหมือนกัน เราจะต้องมีสติดูแลรักษามัน มันจะเป็นอย่างไรก็ดูแลรักษา ดูแลรักษาไว้ รักษาไว้ตลอด เหมือนแผลที่มันจะเป็นบาดทะยัก ถ้าเป็นบาดทะยักนะ มันถึงตายนะ

จิตก็เหมือนกัน รักษาให้มันดี ตั้งใจให้มันดี คอยดูแลดีๆ รักษาไป นี่คือการรักษาจิต การรักษาจิต คนต้องมีสติ คนต้องเข้าใจมันถ้าคนเข้าใจมัน แต่นี่ส่วนใหญ่แล้วคนที่ประพฤติปฏิบัติ คิดว่าจิตมันเหมือนวัตถุ วัตถุเห็นไหม ดูสิ เราสร้างบ้านเสร็จแล้วก็คือบ้าน เราทำสิ่งใดเสร็จแล้วซื้อรถมาคันหนึ่ง ก็คือรถคันหนึ่ง รถคันหนึ่งคือรถคันหนึ่ง รอเสื่อมสภาพนะ

จิตมันยิ่งกว่านั้น มันไหว มันไปเร็วกว่าวัตถุ เวลามันเสื่อมมันเสื่อมหมดเลย เวลาเสื่อม เสื่อมหมดเลย แล้วเวลามาพุทโธ พุทโธใหม่ สมาธิมาใหม่ มาจากไหน ก็จิตตัวเก่า จิตดวงเก่า เป็นสมาธิขึ้นมา จิตเป็นสมาธิ แล้วเวลาจิตเสื่อมไป จิตอยู่ที่ไหน จิตก็จิตดวงเก่า แต่สมาธิเสื่อมไปแล้ว มีแต่ความเร่าร้อนของจิต แล้วเวลาจิตพุทโธ พุทโธ พุทโธจนจิตเป็นสมาธิ ก็จิตดวงเก่า สมาธิมาอยู่กับจิต แล้วสุขมาก

โอ้โฮ ถ้าจิตเป็นสมาธิอย่างนี้ อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ จะอยู่อีกสิบปีก็อยู่ได้ แต่เดี๋ยวมันก็เสื่อม นี้เป็นข้อเท็จจริงของสมาธิ สมาธิมันแก้กิเลสไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีสมาธิ โลกุตตรปัญญาเกิดไม่ได้ สิ่งที่บอกว่าต้องมีปัญญาต้องมีความคิดนั้น มันเป็นโลกียปัญญา ปัญญาเกิดจากจิต เพราะจิตนี้เป็นโลก จิตนี้เวลาเกิดมา สิ่งที่ในปัจจุบัน เราสร้างกรรมดีกรรมชั่วมา

กรรมดีทำให้เราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วเราก็มีกรรมดีกรรมชั่วสืบต่อไป แล้วเวลาคนบอกว่าเวลาทำกรรมชั่วแล้ว ทำไมคนนี้ทำกรรมชั่วแล้ว ทำไมกรรมชั่วยังไม่เห็นผล ไม่เห็นผลเพราะสถานะของมนุษย์ สถานะของมนุษย์ เราได้บุญกุศล มันสร้างบุญกุศลมา ถึงมาเกิดเป็นมนุษย์ มันก็เป็นวาระ ถ้าหมดจากชีวิตของมนุษย์ เวลาจิตที่ออกจากร่างไป นั่นแหละ ผลของกรรม มันจะให้ผลตอนนั้น ให้ผล เห็นผลตามจริงที่ว่า มันจะไปอยู่ในสถานะไหน เห็นไหม มันให้ผลตามความเป็นจริง

แต่ในปัจจุบัน เรามีบุญกุศลที่เกิดเป็นมนุษย์ อายุขัยของมันนี่ไง ถึงจิตมันสร้างความชั่วไว้ในหัวใจ มันจะมีความเร่าร้อนนะ แต่ก็สถานะของมนุษย์มันยังรับไว้ ร้อนก็ยังมีโอกาสแก้ไข แต่ถ้ามันเป็นจิต จิตที่มันเป็นในวัฏฏะ มันมีบุญกุศลมันไปตามนั้นเลย ไปตามนั้นเลย แต่นี้เพราะความเป็นมนุษย์ สถานะของมนุษย์มันรองรับไว้

ถ้ารองรับไว้แล้ว ในปัจจุบันนี้ถ้ามันรองรับไว้ขนาดนี้ ถ้ามีสติสัมปชัญญะนะ ก็อายุขัยของเรา เราจะเอามาทำคุณงามความดีไหม เราจะมาสร้างประโยชน์กับเราไหม ถ้าสร้างประโยชน์กับเราขึ้นมา สร้างประโยชน์นะ ประโยชน์อย่างที่ตอนเช้าพูดเห็นไหม ประโยชน์อย่างหยาบๆ ประโยชน์ทางโลก ประกอบสัมมาอาชีวะ ใครมีเชาวน์ปัญญา สมบัติผลัดกันชม โลกนี้เห็นไหม เงินทองมันไหลถ่ายโอนเห็นไหม ถ่ายโอนจากกระเป๋าหนึ่งไปสู่กระเป๋าหนึ่ง ถ่ายโอนมันไปตามแต่ปัญญาของคนที่แสวงหามัน นี่แสวงหาสิ่งนี้มาเป็นปัจจัยเครื่องอาศัยนะ

แต่ถ้าความสุขความทุกข์ของใจล่ะ คนร่ำรวยคนมีเงินทองมหาศาล ใจเขาเป็นธรรม เขาก็มีความสุขของเขา คนร่ำรวยมหาศาล แต่ใจของเขาเป็นทุกข์ ใจของเขาไม่มีคุณธรรม เขาก็เป็นทุกข์ของเขา คนจะทุกข์จนเข็ญใจ แต่ถ้าใจเป็นธรรมขึ้นมาเห็นไหม เขาก็มีความสุขของเขา ถ้าเขาคนทุกข์จนเข็ญใจ ถ้าใจเขาเป็นโลก ใจเขาเป็นทุกข์ เขาก็ยิ่งทุกข์หนักหนาสาหัสเข้าไปใหญ่เลย

แต่ถ้าเราทำใจของเราเป็นธรรมขึ้นมาเห็นไหม สิ่งที่ทำใจขึ้นมา เพราะเงินทองสิ่งต่างๆ ข้าวของต่างๆ ซื้อแลกเปลี่ยนมันมาไม่ได้ มันเกิดมาจากความเพียรของเรา มันเกิดจากความวิริยะอุตสาหะของเราเห็นไหม ชีวิตนี้นะมีความพลัดพรากเป็นที่สุดนะ จิตนี้จะต้องพลัดพรากจากกายนี้เป็นธรรมดา แล้วถึงวันที่มันพลัดพราก จิตนี้เคลื่อนออกไปจากกายนี้ไปแล้ว จะไปเสียใจตอนนั้นหรือ

ในเมื่อตอนนี้จิตมันอยู่ในร่างกายของเรา เหมือนกับผลไม้อยู่ในกำมือของเรา ผลไม้ที่เราจับมันอยู่ได้ เราปอกเปลือกได้ เราเอาผลไม้มากินได้ เราทำประโยชน์ได้หมดเลย ถ้าผลไม้นี้มันร่วงหล่นไปจากมือเรา มือแต่มือเปล่าๆ เราจะทำประโยชน์อะไร ในปัจจุบันนี้จิตอยู่กับเรา มีร่างกายที่ห่อหุ้มมันอยู่ ถ้าเราจงใจ เราตั้งใจทำของเราเห็นไหม

เรานั่งสมาธิ ใครเป็นคนนั่ง ร่างกายเป็นคนนั่งนะ แต่จิตมันอยู่ในกลางหัวอก มันโดนบังคับให้นั่งไปด้วย เราไม่ใช่นั่งเอาร่างกาย บางคนนั่งแล้ว มันจะคลอนแคลนอย่างไร ก็ไม่ได้นั่งเอากายนะ เรานั่งเอาใจนะ เพราะใจมีความคิดนามธรรม มันคิดใฝ่ดีเห็นไหม มันก็คิดเจตนาจะทำเห็นไหม ก็เอาร่างกายนี้นั่ง พอนั่งขึ้นมา หัวใจเราดิ้นรนขนาดไหนล่ะ มันก็ตั้งสติสิ ตั้งสติ แล้วใช้สติ ใช้ปัญญาใคร่ครวญหาเหตุหาผล

เกิดมาตั้งแต่เด็กจนป่านนี้ มันมีสิ่งใดเป็นสมบัติของเรา เกิดมาแล้วเป็นปัจจุบันนี้ สิ่งที่ได้มาเห็นไหม ถ้าจิตออกจากร่างเดี๋ยวนี้นะ สมบัติที่มีอยู่นี้เป็นของชาติ เป็นของญาติตระกูลของเรานะ เขาจะเอาไปแบ่งกัน เราจะได้อะไรเป็นของเรา สมบัติที่เราหามา นั่งอยู่นี่ บัญชีของเราทั้งหมด ตายเดี๋ยวนี้ บัญชี เขาเอาไปขอมรดกนะ เราจะไม่ได้อะไรไปเลย

ถ้าในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่ เราจะตั้งใจทำของเรา แล้วพอทำแล้วมันทุกข์ไหม ทุกข์ ทุกข์เพราะจิตเรานี่มันไม่เป็นกลาง จิตเรามันดิ้นรนแส่ส่าย มันจะเอาตามแรงปรารถนา แล้วเวลาฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า โห วิมุตติสุข สุขมาก ทุกอย่างสุขมาก แล้วมันสุขอย่างไร แล้วทำไงมันถึงจะสุขอย่างนั้น มันคิดเปรียบเทียบไง เย็นๆๆ เย็นๆ ก็ติดแอร์สิ ติดแอร์ก็เย็น แล้วติดแอร์แล้วมันเย็นไหม มันเย็นแต่กายไง แต่หัวใจมันก็เร่าร้อนไง

แต่ถ้าหัวใจของมันนะ เวลามันสุขของมัน คำว่าเย็น ว่าร้อน ว่าว่างนี่มันเป็นคำสมมุติ มันเป็นคำสมมุติเทียบเคียงให้เราเห็นว่า มันจะมีอาการอย่างนั้น คล้ายกับอย่างนั้น แต่ความจริงแล้วมันเป็นมากกว่าอย่างนั้นหลายเท่านัก มันเป็นมากกว่าที่เราคาดหมาย เราจินตนาการอีกมากมายมหาศาล เพราะสิ่งนี้เป็นสมมุติที่บัญญัติขึ้นมาเห็นไหม บัญญัติศัพท์ขึ้นมา อย่างเห็นว่า ภาพสวยมาก ภาพเขียนสวยของใคร เด็กๆ มันวาด มันวาดแบบไร้เดียงสานะ มันสวยแบบการ์ตูน เด็กมันสวยนะ ผู้ใหญ่มันดูแล้ว มันเด็กเกินไป

นี่ไง วุฒิภาวะของจิต มันสูงส่งแค่ไหน มันรับรู้ได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ามันรับรู้ได้มากขนาดไหน ภาพนะมองครั้งแรกไม่สวยเลย แต่เราใช้สติดู เราใช้สติ แล้วใช้ปัญญาเราใคร่ครวญดู ยิ่งดูยิ่งสวย ยิ่งดูยิ่งงาม ยิ่งดูยิ่งดี ดูทีแรกดูไม่ได้เลย แต่ภาพมันต้องดูด้วยจิตใต้สำนึก พอมันเห็นเข้าไป มันจะเห็นว่ามันสวยมาก มันมองถึงวุฒิภาวะของใจไง ใจมันจะดีขึ้นมาหรือไม่ดีขึ้นมา มันมองกันที่ไหนล่ะ

ถ้าทุกข์ไหม การปฏิบัติมันทุกข์ไหม ทุกข์ ที่พูดนี้เพราะเห็นว่าทุกคนว่าทุกข์ แล้วตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามา ก็แลกมาด้วยทุกข์ หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ท่านบอกแลกมาด้วยชีวิต เวลามันอดอาหาร เวลามันพิจารณาเข้าไป เวลามันทุกข์มันยาก เวลาภาวนาแล้วจิตไม่ลง เราต้องสู้กับมัน ทุ่มเทกันขนาดไหน

วันนี้ลงมันก็ลงได้ วันต่อๆ ไปมันจะลงไม่ได้ลึกเท่านั้น เราเคยกินอาหารที่ละเอียดแล้ว พออาหารที่หยาบมันก็ต่อต้าน ทั้งๆ ที่มีอยู่นะ แต่มันก็ไม่พอใจ มันจะให้ลึกกว่านั้น มันจะให้สุขกว่านั้น แล้วสุขกว่านั้นมันจะทำอย่างไร มันจะตั้งใจอย่างไร แล้วมันจะต่อสู้อย่างไรกับหัวใจของเรา เราถึงจะต้องสู้ ต้องมีการกระทำ จะบอกว่าแลกมาด้วยชีวิต

แล้วเวลาบอกว่าปฏิบัติเรียบง่าย เรียบง่ายนะถ้าเป็นขิปปาภิญญา คือเขาสร้างบุญญาธิการของเขามา เราก็สาธุ สาธุ มันไม่ใช่มันไม่มีหรอก แต่มันน้อยมาก มันน้อยมากเพราะอะไร เพราะเวลาจิตคึกคะนอง ครูบาอาจารย์ท่านบอกนะ จิตคึกคะนอง มันมีอยู่ ใน ๑๐๐% มีอยู่แค่ ๕% ที่จิตมันคึกคะนองหมายถึงว่าพอจิตสงบแล้ว มันจะรู้เห็นสิ่งแปลกๆ

แต่ส่วนใหญ่แล้ว จิตสงบคือสงบปกติ สงบเฉยๆ แค่จิตสงบรับรู้รสชาติของมัน รสของธรรมชนะทุกรสทั้งปวงเท่านั้น แต่พอเท่านั้นแล้ว พอจิตสงบแล้ว ออกรู้ออกเห็น ออกไปรู้ต่างๆ อุปจารสมาธิ ออกรู้ ออกรู้คือผลไม้กับเปลือกผลไม้มันกระทบกัน ออกรู้สิ่งต่างๆ ที่จิตมันกระทบกับความรู้สึก จิตกับความคิดมันกระทบกัน ความคิดคือขันธ์ ๕ จิตคือพลังงาน มันกระทบกัน

พอกระทบกัน สิ่งนั้น เอามาใคร่ครวญ เห็นไหมเวลาจิตสงบขึ้นมา ครูบาอาจารย์บอกว่า ตะกร้า ในตะกร้านั้นมีไข่ ในจานนั้นมีไข่ ไข่กับจานมันคนละส่วนกัน ไข่คือไข่ จานคือจาน จิตคือจิต กายคือกาย ความคิดคือความคิด พลังงานคือพลังงาน มันอยู่ในนั้นนะ มันอยู่ในนั้น แต่เราจับไม่ได้ คำว่าจับไม่ได้ เราจับไม่ได้ เราก็บริหารจัดการไม่ได้

แต่ถ้าเราจับได้ เราบริหารจัดการได้เห็นไหม นั่นคือวิปัสสนา แล้วมันจะใคร่ครวญกันไป ธรรมะจะเกิดอย่างนี้ โลกุตตรธรรมจะเกิดอย่างนี้ เกิดจากปัญญาญาณของเรา การกระทำของเรา มันจะเกิดขึ้นมา แล้วใคร่ครวญมันขึ้นมา มันปล่อยวางขนาดไหน มันเป็นตทังคปหาน การทำงานของเรา พอมันปล่อยวาง ปล่อยๆๆๆ ตทังคปหาน มันไม่ถึงที่สิ้นสุด

แต่เวลามันสมุจเฉทปหาน เวลามันขาดเลย ขันธ์ ๕ เป็น ขันธ์ ๕ จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์เห็นไหม ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ทุกข์ ทุกข์ไม่ใช่ขันธ์ ๕ พอมันขาดออกไป จิตมันรวมลง สังโยชน์มันขาดออกไป สังโยชน์คือความลังเลสงสัย ความร้อยรัดอยู่ ว่าสิ่งนั้นเราหรือไม่เรา จริงหรือไม่จริง ใช่หรือไม่ใช่ พอมันขาดแล้ว คำว่าใช่หรือไม่ใช่ ไม่มี มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนั้น แล้วมันเป็นอย่างนั้นตลอดไป

มันจะไม่มีโอกาสเข้ามากลับมารวมตัวกันได้อีกเลย มันจะไม่มีการกลับมากลบอีก ไม่มีอะไรจะมาต่อเนื่องกันอีก มันขาดเด็ดขาดเลย ขาดมี เหมือนตัดน้ำ พอตัดน้ำนั้นก็บรรจบกันเห็นไหม ขาดมีหมายถึงว่า ขันธ์กับจิตนี่ขาดจากกันเลย แต่ความรับรู้ เพราะผลไม้กับเปลือกผลไม้ใช่ไหม เปลือกผลไม้กับผลไม้ ถ้าเราไม่ได้ปอก มันก็อยู่แนบแน่นใช่ไหม พอเราปอกออกไปแล้วเห็นไหม พอเราปอกออกไปแล้วมันขาดออกไปเลย ผลไม้กับเปลือกผลไม้มันออกจากกันแล้ว

แต่โดยธรรมชาติของผลไม้กับเปลือกผลไม้มันอยู่ด้วยกัน เวลาเราปอกไปแล้วเป็นรูปธรรม มันก็ออกไปเลย ออกไปเลยนี่มันให้เห็นภาพชัดเจน แต่ออกไปแล้ว สิ่งที่ว่าเป็นคำว่าเป็นนามธรรม ออกไปแล้วขาดเหมือนผลไม้ที่เราปอกออกไปแล้ว แต่! แต่มันก็มีเหมือนผลไม้ที่มีเปลือกผลไม้อย่างนั้นแหละ แต่มันขาดโดยสังโยชน์ที่ขาดออกไปแล้ว เพราะมันเป็นนามธรรม มันไม่เป็นรูปธรรม ถ้าอธิบายเป็นรูปธรรม มันจะขัดแย้งกันเองไง ธรรมะพระพุทธเจ้าไม่มีขัดแย้งกัน

เพียงแต่ว่าบุคคลาธิษฐาน เวลาอธิบายพูดธรรมะ พูดให้เห็นภาพชัด ให้เราจับต้องได้ แล้วเวลาปฏิบัติไป มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ เห็นไหม สังโยชน์ขาด สังโยชน์ขาดโดยการกระทำของเรา เริ่มต้นตั้งแต่ทุกข์แต่ยาก จะทุกข์ยากขนาดไหนนะ ทุกข์ก็คือทุกข์ ทุกข์เป็นสัจจะ ทุกข์เป็นความจริง อริยสัจไง

เห็นไหมคำว่าอริยสัจ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง มรรคญาณก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง เวลาเราพ้นออกไปแล้วนะ วิมุตติ คำว่าวิมุตติก็เป็นสมมุติอันหนึ่ง เพราะสมมุติว่ามันเป็นวิมุตติ แต่ในเนื้อหาสาระของวิมุตติ มันมีจริงๆ มันเป็นได้จริงๆ เป็นได้จากหัวใจของเรา เป็นได้จากการกระทำของเรา เราต้องตั้งใจทำตรงนี้ ทุกข์ก็คือทุกข์

พระโสณะเดินจนฝ่าเท้าแตก ครูบาอาจารย์ของเราประพฤติปฏิบัติมา ลงทุนลงแรงมาขนาดไหน แล้วให้มันต่อเนื่อง แล้วนี่เหมือนทำวิทยานิพนธ์นะ ปฏิบัติวันสองวัน หรืออาทิตย์หนึ่ง เอาในเวลาอาทิตย์นั้นมาใคร่ครวญว่า หนึ่งอาทิตย์นี้เราทำอย่างไรบ้าง ได้ผลอย่างใดบ้าง แล้วเราจะแก้ไขอย่างไรบ้าง แล้วเราพยายามจะแก้ไขสิ่งที่มันด้อยค่า แล้วเพิ่มสิ่งที่ดีขึ้นมา ทำอยู่อย่างนี้ ค้นหาตัวเอง ค้นหาการกระทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเราในการประพฤติปฏิบัติ เอวัง