เทศน์เช้า

แก่นธรรม

๒๖ พ.ย. ๒๕๔๓

 

แก่นธรรม
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันฟังธรรม วันตั้งใจทำบุญกุศล วันพระ ถ้าพูดกันน่ะวันพระพูดถึงพระสงฆ์ เห็นไหม วันพระ พระสงฆ์ถือเป็นพระ เป็นวันของพระ แล้วถ้าพระสงฆ์อยู่ในป่า ถ้าวันพระ วันธรรมดา วันพระ ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ส่วนใหญ่จะนั่งเนสัชชิกกัน หรืออยู่สว่างเลย ทำความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ แล้วถ้าคนมีหัวใจยังถวายต่อให้กับครูบาอาจารย์องค์นั้น ๆ ด้วย เห็นไหม นี่วันพระ

ทีนี้ของเราถึงวันพระทีหนึ่งเราก็ทำบุญกุศลกันทีหนึ่ง ก็เพื่อเหตุนั้นเหมือนกัน เพราะพระนี้เป็นนักรบ พระนี้เป็นผู้ที่ค้นคว้า เป็นคนที่ออกหาค้นคว้าหลักความจริง ดูอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ พอออกบวชมานี่ พระเจ้าพิมพิสารคิดว่ามีปัญหาขึ้นมา บอกว่าแบ่งเมืองให้ครึ่งหนึ่ง ให้พระพุทธเจ้าเอาทหารนั้นไปยกเอาอันนั้นคืนมา พระพุทธเจ้าบอก “ไม่หรอก ออกบวชเอง ออกบวช ออกประพฤติปฏิบัติเพื่อแสวงหาโมกขธรรม”

พระเจ้าพิมพิสารขอร้องไว้ว่า “ถ้าออกประพฤติปฏิบัติแล้วสำเร็จแล้ว ให้กลับมาสอนด้วย”

ให้กลับมาบอก เห็นไหม นี่พระพุทธเจ้าออกค้นหาโมกขธรรม ออกค้นหาความเป็นจริง แล้วออกมาสอน พอสำเร็จแล้วก็มาสอนพระเจ้าพิมพิสาร ก็ได้เป็นพระโสดาบันจริง ๆ ด้วย นี่พระที่เป็นนักรบออกแสวงหาอย่างนั้น เวลาแก่นธรรมของพระ พระที่บวชแล้วปรารถนาถึงสิ้นกิเลสทั้งนั้น สิ้นถึงกิเลส ถึงวิมุตติธรรม อันนั้นธรรมสูงสุด แต่ธรรมของพวกเรา เห็นไหม ความศรัทธา ความเชื่อของเรานี่ก็สำคัญแล้ว ถ้ามีความเชื่อเราถึงออกมา นี่ความเชื่อความศรัทธา

แล้วถ้าแก่นของธรรมในหลักของเราคืออริยสัจ อริยสัจเพราะว่าทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มรรคเป็นเครื่องดำเนินของเรา เราต้องหาอันนี้ให้ได้ก่อน ถ้าหาอันนี้ได้นะ ไอ้เรื่องผลนั้นเป็นผล เวลาพูดถึงแก่นของธรรม นี่ไปพูดถึงผลไง แล้วเราจะเดินอย่างไร เพราะเราเดินไม่เป็นเลย แล้วอย่างหยาบ ๆ ขึ้นมามันก็ต้องหาตรงนี้ก่อน หาเหตุขึ้นมา ความศรัทธาขึ้นมา ความเชื่อขึ้นมา

ในครั้งพุทธกาล พระอรหันต์นะ พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอะไรหลายองค์ ถามกันว่า “สิ่งใดดีที่สุดในศาสนา?” ต่างคนต่างมีความเห็นว่าของตัว พระสารีบุตรบอกว่า “ปัญญาดีที่สุด” พระโมคคัลลานะบอก “ฤทธิ์ดีที่สุด” แต่ถ้าไปหาพระพุทธเจ้า ให้พระพุทธเจ้าตัดสินเพราะตัดสินกันไม่ได้ พระอรหันต์ เพราะว่าความถนัดของใครก็ว่าของตัวเอง ตัวเองนี่เป็นสิ่งที่ดีเพราะตัวเองผ่านทางนั้นมา ไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตัดสินว่า “อาสวักขยญาณ ญาณที่กำจัดกิเลสนั้นสำคัญที่สุด”

ถ้าเรายังมีกิเลสอยู่ เรายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ อาสวักขยญาณ ญาณที่เกิดขึ้นมาแล้วชำระกิเลสอันนั้นเยี่ยมที่สุด เพราะเปลี่ยนจากพระอนาคาเป็นพระอรหันต์เลย เปลี่ยนจากพระอนาคาเพราะว่าเริ่มขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป แต่ถ้าพูดถึงว่าเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นพระอรหันต์ก็ได้ ถ้าผู้ที่ปฏิบัติเร็วรู้เร็ว อันนั้นส่วนหนึ่ง เห็นไหม นี่ส่วนที่เป็นความจริงที่ปรารถนาเป็นอย่างนั้น

แต่สำหรับเราประพฤติปฏิบัติกันหรือเราเริ่มต้นขึ้นมานี่ เห็นข้าศึกสมมุติไหม ทหารออกสนามซ้อมรบนี่ มีข้าศึกสมมุติ ความที่ข้าศึกสมมุติขึ้นมา แล้วเราก็ต้องพยายามฝึกฝนเพื่อต่อสู้กับข้าศึกสมมุติ เป็นแพ้ชนะให้คะแนนกัน อันนั้นเป็นการฝึกของทหารที่จะออกรบ ไอ้เราปฏิบัติก็เหมือนกัน เริ่มต้นขึ้นมานี่เราจินตนาการขึ้นมา ความเห็นของเรามันเป็นจริงไหม

นี่ข้าศึกสมมุติไง ซ้อมในหัวใจของเรา ซ้อมไปเรื่อย ๆ ซ้อมจนเราชำนาญขึ้นไปเรื่อย ๆ มันจะเห็นจากสุตมยปัญญา ปัญญาการจำมา จินตมยปัญญา ฝึกซ้อมนี่จินตมยปัญญา มันจะฝึกซ้อมไปเรื่อย ๆ ปัญญามันต้องหมั่นฝึกหมั่นคราดหมั่นไถ พอไปแล้วมันจะเกิดภาวนามยปัญญา ผู้ที่เห็นภาวนามยปัญญาโดยสมบูรณ์อย่างน้อยต้องเป็นพระโสดาบันขึ้นไป เพราะขณะที่ว่าภาวนามยปัญญามันทำปฏิกิริยาทำงานของมันนี่ มันจะตัดกิเลสไปพร้อมกัน ความตัดกิเลสไปพร้อมกันกับอันนั้นน่ะ อันที่ว่ามันหมุนเคลื่อนออกไปนี่ ธรรมจักรมันเคลื่อนออกไปจากใจ นี่กิเลสมันขาดออกไป ขาด

การฆ่าที่ว่าพระพุทธเจ้าสรรเสริญ เห็นไหม การฆ่าของโลกนี่เป็นบาปเป็นกรรมทั้งหมดเลย แต่การฆ่ากิเลสนี้พระพุทธเจ้าบอกว่า “อันนี้ประเสริฐที่สุด” การฆ่ากิเลส การฆ่านามธรรม นามธรรมในหัวใจของเรา เราทำลายนามธรรม มันก็เป็นการฆ่า เห็นไหม นี่ฆ่ากิเลส กิเลสตายไปจากหัวใจ มันจะเห็นสภาพอย่างนั้นโดยความเป็นจริง ภาวนามยปัญญามันเกิดขึ้น มันจะรู้ตามความเป็นจริงไปหมดเลย

นี่ถึงว่าข้าศึกสมมุติ ก็คือว่าภาวนามยปัญญายังไม่เกิด กระสุนเป็นกระสุนจริงยังไม่เกิด สมมุติที่เขาซ้อมรบกันเขาใช้กระสุนยางใช่ไหม ญาณที่เกิดขึ้น ความที่เกิดขึ้นของเราก็เหมือนกัน มันเกิดขึ้นมาจากเรานี่ มันยังเป็นสิ่งที่เจือด้วยเรา พอเจือด้วยเรามันไม่มัชฌิมาปฏิปทา เราส่งเสริมขึ้นไปเป็นทางที่ถูกต้องนะ ต้องส่งเสริมขึ้นไป ๆ ส่งเสริมให้ปัญญานี้หมุนออกไป ๆ ปัญญาจะหมุนออกไป

สิ่งที่มันพิจารณาแล้วมันใคร่ครวญเข้ามาตัดนั่นล่ะคือภาวนามยปัญญา แต่มันยังไม่สามัคคี มันไม่รวมตัวสมบูรณ์ ถ้ารวมตัวสมบูรณ์แล้วมันจะ พั่บ! ขาดออกไป ความขาดออกไปนี่ออกสนามรบจริง แล้วเกิดความรู้ความเห็นจริงขึ้นมาในหัวใจของผู้ที่ปฏิบัตินั้น นี่แก่นของธรรมอยู่ที่ตรงนั้นไง

แก่นของธรรม ธรรมนี้มีอยู่โดยดั้งเดิม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสรู้ธรรมไม่ตรัสรู้ธรรม ธรรมก็มีอยู่ บริษัท ๔ ของเราจะทำดีหรือทำไม่ดีในศาสนา ธรรมอันนี้ยังมีอยู่ สัจจะความจริงอันนั้นมีอยู่ แต่หัวใจของเราห่างออกจากสัจจะไปเรื่อย ๆ ถ้าเราทำตัวเราไม่ดี จะห่างออกจากสัจจะอันนั้นไปเรื่อย ๆ ถ้าหัวใจเราเข้าไปสัมผัสสัจจะอันนั้น หัวใจนี่มันสัมผัสกับธรรม หัวใจนี้เป็นธรรมเสียเอง แก่นของธรรมก็คือใจของเราเพราะเราเป็นคนได้ ถ้าแก่นของธรรม ธรรมโดยธรรมชาติอยู่แล้ว อันนั้นเป็นสัจจะความจริงอันหนึ่ง เป็นสิ่งที่มีอยู่ดั้งเดิม นี่มีอยู่แล้ว อย่างนักวิทยาศาสตร์เขาวิเคราะห์วิจัยกัน อย่างยากำจัดโรคเอดส์ เห็นไหม ยังรักษาไม่ได้ ยังคิดไม่ได้ เขาคิดค้นไปต้องได้วันหนึ่ง

อันนี้ก็เหมือนกัน เราวิปัสสนาของเราไป ถ้าวันหนึ่งเราสัมผัสอันนั้นแล้ว มันก็จะเป็นแก่นของธรรมอันนั้น แก่นของธรรมคือใจสัมผัสกับธรรมมันก็จะเป็นแก่นของธรรมของบุคคลนั้น ใจดวงนั้นจะรู้ เห็นตามความเป็นจริง จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์ กายเป็นกาย แยกออกจากกัน

จิตตัวนั้น เห็นไหม มันเป็นอัตตาอยู่ จิตมันแยกออกมาก็แล้วแต่ มันไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข มันมีอยู่ แต่ยังมีอยู่ เห็นไหม อัตตาตัวนั้นก็ดำเนินต่อไป ๆ ก้าวเดินต่อไป ๆ ทำลายทั้งอัตตา ทำลายทั้งอนัตตาไปด้วย เพราะอัตตานี้เป็นตัวตั้ง เป็นตัวสมุฏฐาน เป็นตัวภวาสวะ เป็นตัวพื้นที่ทำงานของใจ เวลาใจเข้าไปสัมผัสใจมันจะเห็นของมันไป แล้วมันสัมผัสมันก็ชำระไปที่ใจนั้นๆ

นี่อัตตา ก็ทำลายอัตตาที่ใจนั้นน่ะ ทำลายด้วยอะไร? ด้วยไตรลักษณะ พระไตรลักษณะ ไตรลักษณะนี้จะเป็นไป ไตรลักษณ์ ๆ ความเห็นไตรลักษณ์ เห็นความแปรปรวน ไตรลักษณ์ก็ออกมาเป็นอนัตตาเหมือนกัน เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปนี่ ขณะที่เป็นปัจจุบันธรรมอนัตตานี่ ภาวนามยปัญญาก็เกิดพร้อมกัน อันนี้เหมือนกัน เพราะมันเคลื่อน เราสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาจากอะไร? สร้างขึ้นมาจากว่าจิตที่เป็นอัตตา จิตที่เป็นตัวตนนี่ มันอัตตาอยู่ แต่อัตตาเข้าหาธรรมไปเรื่อย ๆ แล้วก็ทำลาย ทำลายทั้งอัตตาทั้งอนัตตาพร้อมกัน จิตมันถึงหลุดออกไป สิ่งที่มีอยู่มีอยู่อย่างนั้น

นี่แก่นธรรมมันอยู่ตรงนั้น ถ้าเราสามารถทำของเราได้ เราจะเข้าใจแก่นธรรม แต่ถ้าแก่นธรรมพูดตรงนี้ปั๊บนี่ ผู้ที่อ่อนล่ะ? องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกเลย “สมบัติของปุถุชนเรานี่ สมบัติที่ประเสริฐที่สุดคือศรัทธาความเชื่อ” ถ้าไม่มีศรัทธาความเชื่อ ศรัทธาของปุถุชนเรานี่ ศรัทธานี่สำคัญที่สุด ศรัทธานี่เปรียบเหมือนหัวรถจักร ถ้ามีความศรัทธานี่ หัวรถจักรจะลากรถจักรมาทั้งขบวนเลย ถ้ามีศรัทธานี่จะลากให้ตัวเรามาเชื่อในศาสนา เชื่อในการประพฤติปฏิบัติ เราก็มาแล้วก็ยังชักลูก ชักเมีย ชักบริษัทบริวารมา นี่ความเชื่อเป็นหัวรถจักรชักมา อันนี้เป็นสมบัติของปุถุชนที่เริ่มความเชื่อขึ้นมา

แล้วพอละเอียดขึ้นไป วุฒิภาวะของใจเจริญขึ้นไป ๆ มันก็ว่า จริง ๆ แล้วความสำคัญที่สุดก็คือหัวใจนั่นล่ะ หัวใจดวงนั้นมันแก้ไขกันที่ใจนั้น จะอยู่ที่วัด อยู่ที่บ้าน อยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ เวลาประพฤติปฏิบัติมันก็ชำระที่ใจนั้น แต่อาศัยที่วัดมันเป็นสิ่งแวดล้อม อาศัยหมู่คณะชักนำกัน พระก็เหมือนกัน พระถ้ามีหมู่คณะดี หมู่คณะชักนำไปดีนี่ ดึงไปดี ถ้าไปเจอหมู่คณะไม่ดี เห็นไหม ลูกศิษย์ของพระเทวทัตนี่ ๕๐๐ ลามกทั้งหมด ลูกศิษย์ ๕๐๐ ของพระสารีบุตรปัญญาทั้งหมด ลูกศิษย์ของพระโมคคัลลานะฤทธิ์ทั้งหมด นี่มันเข้ากันไปได้โดยธาตุ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอก การคบสำคัญที่สุดคบมิตรดี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เป็นมิตรประเสริฐที่สุด เป็นมิตรไง เวลาคบพระพุทธเจ้าเป็นครูบาอาจารย์จะชักนำให้เราพ้นไปจากกิเลสเลย จากอ่อน เริ่มแต่อ่อน ๆ ขึ้นมา ให้เราเชื่อขึ้นมาก่อน เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ เชื่อเรื่องทำคุณงามความดี พอเริ่มความเชื่อนี่หัวใจมันก็เปิด หัวใจมันเริ่มเชื่อ

ถ้าไม่เชื่อมันปิดตาย ความปิดตายนี่แก่นของธรรมก็มีอยู่ ศาสนาพุทธเราก็มีอยู่ เขาสนใจไหม? เขาไม่สนใจใด ๆ เลย แก่นธรรมก็มีอยู่ ความเป็นไปอยู่ แต่กิเลสมันปิดหัวใจอันนั้น ถ้ากิเลสมันเริ่มเปิดขึ้นมานี่ แก่นของธรรมจะสำคัญตรงนั้น ถ้าแก่นของธรรมโดยวิมุตตินี่เยี่ยมที่สุด ยอดที่สุด แต่ขณะที่ว่าฝ่ายเหตุ ถ้าเหตุไม่มี แก่นของธรรมก็เป็นแก่นของธรรม เหตุไม่สร้างขึ้นมา ใจเราก็ไม่ถึงจุด ๆ นั้น

ถ้าเราสร้างเหตุขึ้นมา ในพระไตรปิฎกนี้ส่วนใหญ่แล้วจะพูดถึงธรรมฝ่ายเหตุ ธรรมฝ่ายประพฤติปฏิบัติ แต่ธรรมฝ่ายผลนี่ไม่ค่อยพูดถึง ให้สัมผัสเอง ให้รู้เอง ผู้ที่รู้เองแล้วอ๋อเอง ๆ แล้วมาเทียบที่เหตุ เหตุมันสมบูรณ์ เหตุสมบูรณ์แล้วผลจะเกิดทันที ๆ ธรรมฝ่ายเหตุสมบูรณ์ เห็นไหม นี่อริยสัจ ธรรมฝ่ายเหตุไง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่ธรรมฝ่ายเหตุ กลั่นออกมาจากอริยสัจ ใจนี้เข้าไปในอริยสัจ หมุนเวียนวงรอบในอริยสัจ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกปัญจวัคคีย์ เห็นไหม “ในเมื่อเราไม่เคยบอกว่าเป็นพระอรหันต์เลย ได้ยินไหม ให้ปัญจวัคคีย์เชื่อ เพราะว่ากิจในวงรอบ ๑๒ นี้เราได้ทำเสร็จสิ้นแล้ว กิจควรทำเราทำแล้ว ญาณที่เกิดขึ้นเกิดขึ้นแล้ว สมุจเฉทปหานในหัวใจสิ้นหมดแล้ว ถึงได้ปฏิญาณตนว่าเป็นพระอรหันต์”

นี่กลั่นออกมาจากอริยสัจก็เหมือนกัน ใจของเรานี่มีความสกปรกในหัวใจอยู่นี่แหละ เราสร้างมรรคขึ้นมานี่มันก็เป็นมรรคขึ้นมา เรากำหนดทุกข์แล้วตัดตัณหา นิโรธเกิดขึ้น ในความเกิดขึ้นพร้อมกัน เห็นไหม เวลาพูดอย่างนี้พูดถึงว่ามันเกิดเป็น ๔ ขั้นตอน แต่เวลามันเกิดขึ้นมัน พั่บเดียว ความปึ่บ! มันก็ขาดเลย พอขาดไปนี่ แล้วเราเข้าใจแล้ว แยกแล้วจะเห็นไง แต่เวลาเป็นมันเป็นทีเดียว พึ่บ ๆ ๆ หมดเลย เพราะมันเร็วมาก จิตนี้เร็วมาก ความเร็วของใจนี่มันจะสะสมไว้

แล้วมรรคนี่เราสร้างขึ้นมา แรงของใจมันเข้าไปสร้างขึ้นมาพร้อมกัน พอพร้อมขึ้นมานี่ ใจนี้มันเร็วอยู่แล้ว แล้วเราสร้างขึ้นมามันก็เร็ว มันถึงทันกันไง ความทันกันนั้นถึงว่าเหนี่ยวรั้งหัวใจให้หยุดนิ่งอยู่ แล้วค้นคว้าหากิเลส นี่คือวิปัสสนา งานชอบชอบในการชำระกิเลสในหัวใจของเรา คืองานชอบ ความสงบของใจมันก็เหนี่ยวรั้งให้ใจหยุดนิ่งใช่ไหม ใจดวงนี้มันคิดไปเร็วมากเลย พอมันหยุดขึ้นมานี่ เรามีโอกาสได้ทำงาน พิจารณากายและจิตนี่ ในสติปัฏฐาน ๔ ในอริยสัจ ๔ แล้วใจพ้นออกมา ใจสัมผัสอันนั้น อันนั้นเป็นแก่นธรรมของบุคคลนั้น

แก่นธรรมของพระพุทธเจ้านั้นอยู่ที่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสำเร็จนิพพานไปแล้วสิ้นไป ธรรมดั้งเดิมมีอยู่แล้วเพราะพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์สำเร็จไป รื้อสัตว์ขนสัตว์เป็นชั้น ๆ ไป มีอยู่โดยดั้งเดิม พระศรีอริยเมตไตรยก็มาตรัสธรรมอันนี้ เราถึงควรภูมิใจ เราคิดว่าเราทุกข์ยาก เราลำบากกัน เรารอพบพระศรีอริยเมตไตรยกัน คิดว่ามันจะง่าย จะง่ายจะยากมันก็อันนี้ เหมือนเรากินข้าววันนี้ก็อิ่มวันนี้ แล้วเราก็หิ้วท้องไว้จะไปรอกินพร้อมพระศรีอริยเมตไตรยนู่น หิ้วท้องไว้ให้มันทุกข์ไป เห็นไหม

ถ้าเราอิ่มวันนี้ ความทุกข์มันไม่มี พระศรีอริยเมตไตรยก็มาตรัสอริยสัจ ๔ อันนี้เหมือนกัน วิมุตติธรรมเหมือนกัน เหมือนกันหมดเลย ต่างกันแค่กาลเวลา กาลเวลาที่มันเป็นไป เวลาที่ว่าชีวิตของมนุษย์ต่างกันตรงนั้น มนุษย์สมัยนั้นจะมีอายุ ๘๐,๐๐๐ ปี มนุษย์สมัยเรานี่มีอายุ ๑๐๐ ปี อย่างนี้เราก็แทบจะไม่เชื่อกัน แต่เป็นไปเถอะ วัฏฏะมันจะวนไป เวียนไป สิ่งนั้นมีอยู่ สิ่งนั้นเป็นไป พระพุทธเจ้าพยากรณ์ไว้ไม่มีสองหรอก เป็นอันเดียวกันตลอด แต่กินข้าวอิ่มพ้นจากทุกข์วันนี้ก็เป็นวันนี้ ทุกข์คือความหิวกระหายในท้องนี่ แล้วมันก็ขับให้ร่างกายนี้วิการไปหมดเลย พอหิวขึ้นมาแล้วมันก็มีความรู้สึกไปหมดทั่วทั้งร่างกาย ถ้าอิ่มหมดมันก็จบ สงบหมด เห็นไหม

นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำเดี๋ยวนี้ ถึงว่าไม่ต้องไปคิดว่าจะไปเมื่อนั้นเมื่อนี้ มันพูดอย่างนี้เพราะว่ามันไม่มีกำลังใจ พอไม่มีกำลังใจนี่ กิเลสมันจะหลอก หลอกว่าเมื่อนั้นค่อยทำ เราสร้างบุญกุศลไว้จะไปพบพระศรีอริยเมตไตรย ถ้าเราทำเดี๋ยวนี้มันสิ้นกิเลสเดี๋ยวนี้มันก็จบที่เดี๋ยวนี้ อันเดียวกัน สุขทุกข์อันเดียวกัน ทุกข์ก็เหมือนกัน สมัยพุทธกาลก็ ๒,๕๐๐ กว่าปีก็ทุกข์อันนี้ ถึงแก้กิเลสได้ไง มัคคะนี้ชำระได้หมดเลย ความดำริชอบ ความเห็นชอบ ความดำริ...นี้เราไม่เคยดำริเรื่องอย่างนี้ เราดำริเรื่องแต่ความพอใจของเรา ดำริแต่เรื่องของวัตถุ เรื่องของร่างกายไง ปรนเปรอแต่ร่างกาย ร่างกายต้องอาศัยอย่างนั้น

แต่ถ้าเวลาเราเข้าป่าไป ผู้ที่ชาวป่าชาวเขานี่ เรื่องวัตถุเขาก็ไม่มีเหมือนเรา แต่เวลาเขาสุขเขาก็สุขของเขาได้นะ นั่นชาวป่าชาวเขา แต่ถ้าพระธุดงค์เข้าไปในป่าในเขา เห็นไหม คนเข้าป่าเข้าดงนี่ต้องมีอาวุธเข้าไปเพื่อป้องกันตัว พระเข้าป่าเข้าเขาไปมีแต่ศีลเข้าไปป้องกันตัว มีแต่ศีลของเราเข้าไปป้องกันตัวในป่าในเขานั้น มันมีแต่ความกังวล มีแต่ความกลัว นี่แล้วจะเกิดความสุขได้อย่างไร ความต่างกันในนั้น

นี่ความสุขมันเลยไปสุขอยู่ที่ใจ เรามองข้ามกันไป เราสุขที่นี่ เรารักษากันที่นี่ หัวใจเท่านั้นมันไม่พอใจ ถ้ามันพอใจขึ้นมาทุกข์ขนาดไหน ร่างกายมันจะเป็นอย่างไร หัวใจมันจะพอทนได้แล้วมันเป็นไป พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ ถึงว่าให้ย้อนกลับมาที่นี่ ให้ในปัจจุบันนี้สร้างกันที่นี่ ไม่ใช่เลื่อนไปเมื่อไหร่ เลื่อนไปข้างหน้านั้น ๆ มันไม่มีที่สิ้นสุด เอวัง