เทศน์เช้า

ทอดกฐิน

๑๔ ต.ค. ๒๕๔๓

 

ทอดกฐิน
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เดี๋ยวจะมีการทอดกฐิน เราต้องตั้งใจฟังก่อนว่ากฐินเกิดเพราะอะไร? กฐินเกิดเพราะธรรมวินัย เราเป็นชาวพุทธใช่ไหม ชาวพุทธมีหัวใจกับมีร่างกาย พุทธศาสนาสอนไง ธรรมและวินัย กฐินนี้เกิดขึ้นมา เกิดจากธรรมและวินัย การทำบุญทำกุศลนี้เกิดจากธรรมวินัย คือธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ทั้งหมด

แต่การทำบุญต่าง ๆ ทำได้ตลอดเวลา เพราะว่าในเวลาที่ทำบุญ เรามีโอกาสทำบุญเมื่อไรก็ทำได้ แต่กฐินไม่ได้ กฐินนี้ทำได้แค่ตั้งแต่ออกพรรษาไป ๑ เดือน ใน ๑ เดือนนั้น แล้วจะทำกฐินมันก็ต้องมีความพร้อมของโยมด้วย ถ้าโยมพร้อมถึงจะได้มีโอกาสจะทำ ถ้าโยมไม่พร้อมนะ ใครก็บังคับไม่ได้ ถ้าเขามาทำกฐินหรือว่ามาขอกฐินเรานี่ ถ้าโยมไม่พร้อมได้มา สิ่งนั้นเป็นอันว่าไม่กรานไง กฐินไม่เป็นกฐิน

ถ้ากฐินจะเป็นกฐิน เราต้องเกิดขึ้นมาตามความสมัครใจของเรา เรามีความสมัครใจ เรามีความเชื่อ บุญกุศลเกิดขึ้นมาจากเจตนาอันนั้น อันที่เรามีความพร้อม แล้วมีความพร้อมแล้วต้องมีโอกาสด้วย โอกาสที่ว่าภายใน ๑ เดือนนั้นน่ะ เราไปพร้อมเดือนอื่นมันก็ไม่มีโอกาส โอกาสในเดือนนั้นไปทำบุญอย่างอื่น ทำกับปัจเจกบุคคล

บุญกุศลนะ ผ้าป่าสามัคคีทุกอย่างน่ะชักด้วยบุคคลเป็นคนชัก แต่ถ้ากฐินนี้เป็นสังฆะ เป็นสงฆ์ สงฆ์ต้องจำพรรษา ต้อง ๕ องค์ขึ้นไป ต่ำกว่า ๕ องค์เป็นองค์กฐินขึ้นมาไม่ได้ โยมจะทำกับคนอื่นก็ทำไม่ได้ โยมจะทำเองก็ทำไม่ได้ พระจะทำเองก็ทำไม่ได้ พระจะมีกฐินขึ้นมาได้ต้องสงฆ์ครบ ๕ องค์ สงฆ์ครบ ๕ องค์แล้วสงฆ์นั้นต้องฉลาดด้วย ถ้าสงฆ์ไม่ฉลาด สงฆ์นั้นไม่มีมาติกา ๘ ไม่มีมาติกา ๘ คือการไม่มีการกะ การเนา การเย็บ การย้อมผ้านั้น จะไม่เป็นกฐิน ไม่มีมาติกาอานิสงส์ไม่เกิด

อานิสงส์เกิดขึ้นมา เห็นไหม บุญกุศลเป็นบุญกุศล ถ้าโยมทำบุญเป็นบุญของโยม แต่อานิสงส์ที่ว่าธรรมและวินัย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระอานนท์ถามว่า

“ต่อไปนี้พระเรา ชาวพุทธเราจะพึ่งอะไร ชาวพุทธเราจะเอาอะไรเป็นที่พึ่ง?”

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบอกพระอานนท์ “อานนท์ ธรรมและวินัยที่เราตรัสดีแล้วจะเป็นศาสดาของพวกเราชาวพุทธตลอดไป”

ธรรมและวินัยอันนี้จะเป็นศาสดาของเรา ถ้าธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา เราทำบุญกุศลอันนี้ บุญเป็นบุญ แต่ถ้าไม่มีการตัด เนา เย็บ ย้อม ไม่มีมาติกา ๘ เป็นบุญกุศล แต่ไม่เข้าถึงธรรมและวินัย เข้าถึงธรรมและวินัยเพราะอะไร? เพราะสงฆ์ในหมู่นั้นได้ยกเว้นวินัย ๕ ข้อ ธรรมและวินัย วินัยนี้เหมือนกับองค์ศาสดาของเรา

เราเข้าไปจับถึงกระดูกของศาสนา จับถึงไขกระดูกของศาสนาคือธรรมและวินัย แล้วยกเว้นน่ะ เกิดขึ้นเพราะโยมเป็นคนถวายทาน ทานที่เป็นองค์กฐินนี่ โยมถวายทานมา แล้วพระก็พร้อมด้วยนะ ต้องมีพระพร้อมด้วย พระพร้อมแล้วพระต้องทำเป็นด้วย ต้องรับแล้วกรานไง ไม่ใช่กฐินเดาะ กฐินเดาะเหมือนกฐินที่ว่าเป็นองค์กฐิน มาถวายผ้ากฐิน ๆ ถวายแล้วก็รับ

นี่มันเป็นเรื่องของบริวารกฐิน แต่ตัวสัจจะ ตัวเนื้อหาสาระของการตัด เนา เย็บ ย้อม เพื่อจรรโลงศาสนา ศาสนาที่เราจรรโลงต่อไป ทำเป็นไง ทุกคนถ้าเราเป็นชาวพุทธ หรือว่าเราเป็นแม่บ้าน เราทำอาหารเป็นเราจะสบายใจ ไปที่ไหนเราก็ประกอบอาหารกินได้ เราไปอยู่ในป่าที่ไหนเราก็สามารถหากินเองได้ แต่ถ้าเราทำไม่เป็น เดี๋ยวนี้ทำไม่เป็น เช้าขึ้นมาก็ซื้อถุง เย็นขึ้นมาก็ซื้อถุง ถ้าไม่มีถุงขายก็อดตาย

พระก็เหมือนกัน ถ้าไม่ทรงธรรมทรงวินัยไว้ ทำไม่เป็น ตัดไม่เป็น เย็บไม่เป็น ย้อมไม่เป็นในเรื่องบริขาร ๘ พอตกเวลาขาดขึ้นมาก็พึ่งแต่ร้านอัฐบริขาร ธรรมและวินัยนี้ภิกษุไม่ทรงไว้ ธรรมและวินัยนี้ฝากไว้กับคนอื่น ธรรมและวินัยนี้ต้องภิกษุทรงไว้ เห็นไหม ถ้าภิกษุทรงไว้ ภิกษุรักษาไว้ รักษาเองก็ไม่ได้เพราะปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยต้องอาศัยโยม โยมนี้เป็นคนให้ เป็นคนเกื้อกูลไง เกื้อกูลขึ้นมา องค์กฐินมันถึงสมบูรณ์อย่างนั้น

ถ้าองค์กฐินสมบูรณ์ขึ้นมา อานิสงส์เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเกิดขึ้นกับเรา เห็นไหม เรารักษาธรรมและวินัย ทำบุญทอดกฐินถูกต้องตามหลักแล้ว มันเข้าถึงหัวใจของเรา นี่อานิสงส์อยู่ตรงนั้น บุญเป็นบุญนะ เราสละให้ทานนี้เป็นบุญหมด ในศาสนาสละให้ทานมันก็เป็นบุญ แต่ถ้าสละนั้นเป็นบุญ แล้วอานิสงส์ขององค์กฐินมันต่างกันตรงนั้น ต่างที่ว่าเราศึกษาขึ้นมา แล้วต้องทำตามให้มันถูกต้องขึ้นมา

เราเข้าใจของเรา เราทำของเราได้ พอเราทำของเราได้ มันถึงว่าเรารักษาศาสนา ธรรมและวินัยเป็นศาสดาของเรา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่าง ๆ ได้ เวลาพระพุทธเจ้าจะปรินิพพานนะ มารมาดลใจตลอดเวลา พระพุทธเจ้าเลื่อนมา ๆ ๆ จนมาถึงวันมาฆะ เห็นไหม มารดลใจหนึ่ง แล้วก็พยายามบอกให้พระอานนท์เข้าใจ พระอานนท์ก็โดนมารดลใจอยู่ “มารเอย ตราบใดภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ไม่สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่าง ๆ ได้ เมื่อนั้นเราจะไม่ปรินิพพาน”

แต่พอถึงวันมาฆะคืนนั้น “ต่อไปนี้ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทรงธรรม ทรงวินัย สามารถกล่าวแก้คำจาบจ้วงของลัทธิต่าง ๆ ได้ ในอีก ๓ เดือนข้างหน้า เราจะปรินิพพาน” นี้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานไว้ อยู่ในพระไตรปิฎก นี่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ใจพวกเรา ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แล้วเดี๋ยวนี้ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ทำตัวอย่างไร เห็นไหม เรารักษาบ้านเมืองไว้ก็ชั่วชีวิตเรา

ดูสิ ๒,๕๐๐ ปี ศาสนานี้ตลอดมาไม่เคยขาดพระภิกษุสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์นี้ทรงธรรมทรงวินัยตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมา เวลาบวชพระขึ้นมาต้อง ๕ องค์อย่างน้อยขึ้นไป ๑๐ องค์ขึ้นไป จรรโลงศาสนาขึ้นมาให้เป็นที่พึ่งของพวกเรา เวลาหิวโหยแล้วเราหาอาหารกินได้ เวลาเราทุกข์ร้อนนะ ใครจะมาเอาน้ำแข็งทับเรามันก็ร้อน ความร้อนในใจไม่มีใครสามารถเข้าไปดับได้ ต้องอาศัยธรรม เห็นไหม ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าไปชำระในหัวใจของเรา

แล้วอยู่ที่ไหนล่ะ? พิธีกรรมอันนี้มันก็เป็นส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งที่ทรงธรรมทรงวินัยไว้ ให้อนุชนรุ่นหลังได้เห็นต่อไป ได้การทำต่อไป เราอาศัยความมักง่าย ความมักง่ายมันก็เป็นการทำให้เราเสียโอกาส เสียทุกอย่างไปหมด แต่ถ้ามันยากขึ้นมาหน่อยหนึ่ง ยากขนาดไหน เห็นไหม แต่เดิมพระไตรปิฎกไม่มี ภิกษุท่องจำกันมาหมด พอมีพระไตรปิฎกเป็นหนังสือจารึกมา เดี๋ยวนี้การท่องจำก็น้อยไป เราจะเอาแต่สิ่งที่ว่ามันจะคงเส้นคงวาอย่างนั้นกลับผิดพลาด พระไตรปิฎกพิมพ์ผิดหน่อยเดียวนะ เถียงกันไม่มีวันที่สิ้นสุด ขนาดว่าสังคายนามาถูกต้อง ถ้าเรียงตัวผิดมันก็ผิด

แต่ถ้าเป็นการจำกันมานี่ เวลาสวดมนต์เย็น ถ้าผิดคนหนึ่งมันจะค้านกัน ๆ คนที่ผิดจะรู้ว่าเริ่มผิดแล้ว ต้องแปลกลับมาให้ถูก นี่การท่องจำมา เราถึงว่าเป็นของยากไง สิ่งที่ยากมันบริสุทธิ์ เรามองข้ามกันไป เรามองข้ามความสะดวกสบาย เราอยากสะดวก อยากจะสบาย อยากจะคิดของเรา สะดวกสบายนั้นคือกิเลส สะดวกสบายแล้วทำให้เราพอใจ เรานอนเนื่อง

ดูอย่างชาติตะวันตก เห็นไหม เขาอยู่กับความหนาว คืออยู่กับหิมะ เขาพยายามหาหนทางออก เราอยู่ในประเทศอันเจริญ เกิดในประเทศอันสมควร เกิดในอู่ข้าวอู่น้ำ พอเกิดในอู่ข้าวอู่น้ำก็นอนใจ เพราะว่ามันมีอยู่แล้ว มีกินอยู่แล้ว ความนอนใจ อันนี้บุญพาเกิด เกิดเป็นมนุษย์นี่บุญพาเกิด ถ้าไม่มีบุญพาเกิด เกิดเป็นต่าง ๆ เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดทุกอย่าง บุญนี้พาเกิด พอบุญพาเกิดขึ้นมาแล้วลืมบุญตัวเอง อยู่กับศาสนาก็ลืมศาสนา ลืมไปหมดเลย เห็นไหม ความลืมของเรา เราไม่ปกป้อง เราไม่รักษาของเรา แล้วใครจะรักษา

แต่คนถ้ารักษานี่ คนดีกับคนชั่ว ในสังคมก็รู้ ๆ อยู่ คนดีทำอะไรไปมันต้องมีโดนกระทบกระทั่งเป็นธรรมดา แต่กาลเวลาพิสูจน์ได้นะ “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” ธรรมก็เหมือนกัน ถ้าหัวใจนั้นบริสุทธิ์ หัวใจดวงนั้นเป็นธรรมนะ เราอยู่ที่ไหนเป็นธรรม ใจที่เป็นธรรม สิ่งที่มีหัวใจที่เข้มแข็งเป็นเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ถ้าใจเป็นธรรมอีก มันอยู่กับสิ่งนั้น มันหล่อเลี้ยงในใจดวงนั้น ใจดวงนั้นสามารถยืนอยู่ได้ นี่ “อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” แล้วยังเป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์โลกไปทั้งหมด

นี่ศาสนาสอนอย่างนั้น นี้มันเป็นเรื่องของธรรมและวินัย เป็นเรื่องของพิธีกรรม พิธีกรรมนี้เข้าถึงความที่ว่าหัวใจเราถึงจะมีที่พึ่งไง เราคิด...อบอุ่นใจ ความอบอุ่นนั้นเป็นความคิดใช่ไหม แล้วถ้าไม่มีบุญกุศลมาเป็นเชื้อประกอบ เราเอาอะไรเป็นคนคิด เราคิดไปเถอะ ไม่มีโอกาสจะคิดได้ แต่ถ้าบุญกุศลสละออกไปนี่ มันคิดได้เพราะมันมีเชื้อ เชื้ออันนั้นเป็นบุญ บุญอันนั้นคือสละออกไป สิ่งที่แสวงหามานี้เป็นแสนทุกข์แสนยาก แต่สละออกไปแล้วมันเป็นทิพย์ ของที่หาไว้ขโมยก็ลักได้ มันชำรุดเสื่อมแปรสภาพไปได้

แต่ของที่สละออกไปแล้ว คิดถึงแล้ว แม้แต่อาหาร ๑๐ ปีก็ยังสด ๆ ร้อน ๆ อยู่ ไม่เคยบูดไม่เคยเน่า อาหารของเราจะรักษาอย่างนั้นรักษาไม่ได้ แต่อาหารที่เราสละออกไป ทำบุญกุศลออกไป เมื่อไหร่ก็คิดได้ มันเป็นทิพย์ ทิพย์เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่สะสมเข้าไปที่ใจ สะสมเข้าไปจนพอแรงแล้ว เกิดในที่ดี เห็นไหม เช่น เกิดมาเป็นมนุษย์นี่ บุญพาเกิด บาปพาเกิด เห็นไหม เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน แสนทุกข์แสนยาก เกิดเป็นมนุษย์เหมือนกัน มีแต่ประสบความสำเร็จ อันนั้นบุญของเขา

นี่กรรมคือการกระทำ ศาสนาพุทธสอนเรื่องบุญกุศล เรื่องการกระทำ เรากระทำของเรา เรากระทำอย่างไรถึงจะพบบุญกุศล พบบุญกุศลแล้ว ถ้าไม่มีเหตุทำ เห็นไหม คนมีความดีอยู่แล้วเขาทำได้ คนที่ไม่มีเชื้อไขของหัวใจ คือเป็นสิ่งที่ดี มันจะคิดทำแต่ความพอใจของมัน ต้องอาศัยธรรมวินัยมาบังคับ ดี...ดีของใคร? ดีของเรา ดีความพอใจ ดีของบุญกุศล ศีล ๕ เห็นไหม ห้ามอะไร นี่บุญกุศลบังคับอยู่ ดี...ดีเข้าหลักของบุญด้วย แล้วจะถึงที่สุดได้

ฉะนั้นเราตั้งใจนะ ทำอย่างนี้ทำเพื่อเรา เราไม่ได้ทำเพื่อใครเลย ทำเพื่อคนที่ทำนั่นแหละ ใจดวงไหนแสดงออกไป ใจดวงใดเจตนาสละออกไป ใจดวงนั้นได้ ใจดวงใดไม่สละออกไป ใจดวงนั้นมีแต่ติเตียนเขา ใจดวงนั้นมีแต่ไฟ ใจดวงนั้นมีแต่ความทุกข์ร้อนมาอยู่ในใจดวงนั้น ใครจะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ใจของเราเราสละออกไป เพราะใจตัวนี้ไปเกิดไปตาย ใจตัวนี้ไม่มีที่สิ้นสุด เวียนตายเวียนเกิดในวัฏฏะตลอดเวลา

แล้วก็ดับ ดับกิเลสได้ทั้งหมด ใจไม่มีวันดับสลาย ใจนี้ถึงเข้ากับนิพพานได้ไง นิพพานกับใจดวงนี้ถึงเข้าเป็นเนื้อเดียวกันได้ เรามีอยู่ในหัวใจทุกดวง แต่ทุกคนมองข้าม สิ่งที่มองข้ามไปเอาสิ่งไร้สาระ สิ่งที่ไร้สาระถึงเข้าไม่ถึงเป็นประโยชน์กับเรา ถ้าจะเป็นประโยชน์กับเรา นี่อย่างนี้เป็นประโยชน์กับเรา แต่เขาบอกว่ามันเป็นสิ่งที่ว่าเกินกว่าเหตุ ทำง่าย ๆ ก็ได้ ที่ไหนก็ทำได้ ก็ทำแบบนั้นมันเดาะ สิ่งที่เดาะคือไม่มีผล มันไม่มีผลเพราะมันเดาะไง มันไม่ได้กรานไง

มันไม่มีพระ พระนี้ต้องมีความสามัคคี ประเดี๋ยวพอถวายเสร็จแล้วนี่ พระต้องตัดผ้า ย้อมผ้าให้เสร็จภายในวันนี้ ในเรื่องของจีวรนี่ต้องให้เสร็จภายในวันเดียว ถ้าไม่มีความสามัคคี ศาสนาเจริญเจริญตรงความสามัคคีของสงฆ์ สงฆ์ถ้ามีความสามัคคีกัน มีความโอบอ้อมอารีต่อกัน สงฆ์นั้นก็จะจรรโลงสงฆ์นั้นได้ “ภิกษุทั้งหลาย เธอบวชมา สละพ่อ สละแม่มา เธอไม่มีพ่อแม่เป็นผู้ดูแล แล้วใครจะดูพวกเธอ ถ้าเธอไม่ดูแลกัน”

“ภิกษุทั้งหลาย ใครอยากอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า ให้อุปัฏฐากภิกษุไข้เถิด ถ้าอุปัฏฐากภิกษุไข้เหมือนกับอุปัฏฐากพระพุทธเจ้า” เห็นไหม ในหมู่สงฆ์นั้นถึงจะอยู่ด้วยกันได้ ในหมู่สงฆ์นั้นถึงจะจรรโลงศาสนา จรรโลงอาหารไว้ให้หัวใจของเราได้ดื่มกินไง จรรโลงอาหารให้หัวใจที่เราทุก ๆ ดวงนี่ได้อาศัยเกาะเกี่ยวไปไง หัวใจนี่มีที่อยู่อาศัย มีที่พึ่งไป

ฉะนั้นเราตั้งใจ ต่อไปจะให้ทอดกฐินนะ ให้อาราธนาศีลก่อน แล้วเราถึงจะให้ศีลก่อน แล้วค่อยกล่าวคำ เป็นกฐินทั้งหมดนะ อะไรรวมมานั้นเป็นกฐินทั้งหมด เพราะกฐินนี้เป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว จะว่ามีพระป่ามีอะไรไหมไม่เอา เพราะว่ากฐินเป็นหลัก แล้วเรามีหลักอยู่แล้ว เราไปเอาสิ่งที่เป็นรองอีกทำไม จะมีอะไรมาก็แล้วแต่เป็นบริวารไปทั้งหมด เดี๋ยวกล่าวคำถวายกฐินนี่ แล้ววิธีอุปโลกน์กฐินในสังฆกรรมนี่มันสูงส่งอยู่แล้ว มันเป็นบุญกุศลที่สุดยอดอยู่แล้ว เอาเฉพาะกฐินอย่างเดียว เอวัง