ผู้นำ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
เลือกตั้ง วันนี้วันเลือกผู้นำ ผู้นำท้องถิ่นไง ผู้นำจากข้างนอก ในศาสนาเรา ถ้าผู้นำข้างนอก ในพระไตรปิฎกเปรียบเหมือนวัวนำฝูง ถ้าวัวมันฉลาด มันก็จะพาฝูงข้ามพ้นจากห้วงของโอฆะ คือว่าแม่น้ำน้ำดูดนี่ พาข้ามพ้นไปได้ เห็นไหม วัวนำฝูง โคนำฝูงเป็นผู้นำนี่ เราเลือกผู้นำไง ถ้าผู้นำข้างนอกก็ไว้ข้างนอก นั้นเรื่องของโลก เรื่องของโลกมันมีผ่อนหนักผ่อนเบาได้ เรื่องของโลกเขามันเป็นกาลเทศะ บางอย่างมันไปด้วยความรุนแรงไม่ได้มันก็ต้องผ่อนไป เพราะมันเรื่องของกรรม กรรมมันให้ผลด้วย นั่นผู้นำข้างนอก
แต่ผู้นำของเราสิ ผู้นำของเราคือผู้นำในตัวของเราเอง ศรัทธาความเชื่อสำคัญที่สุด ในพระไตรปิฎกว่าไว้นะ ว่าสมบัติในโลกนี้ สมบัติที่มีคุณค่าที่สุดคือศรัทธา ศรัทธาเหมือนหัวรถจักร ถ้ามีศรัทธาแล้วจะดึงขบวนรถจักรทั้งขบวนนั้นไปได้ตลอดเลย ศรัทธาความเชื่อของเราไง ถ้าเรามีความเชื่อ เราสามารถมาได้ ถ้าความเชื่อของเรา เราจะสร้างความเชื่อของเราขึ้นมา ขนาดว่าเรามาวัดมาวานี่ เขายังติฉินนินทา เห็นไหม
นี่ความเชื่อของเราเกิดขึ้น ก็ยังมีมอดมาชอนมาไชความเชื่อของเรา ถ้ามีศรัทธา ศรัทธาถึงเป็นทรัพย์สมบัติที่ประเสริฐที่สุดที่จะชักให้เราเข้ามาในศาสนา นี้พอเข้ามาแล้ว เห็นไหม ผู้นำมันก็ละเอียดขึ้นไปเรื่อย ๆ จากสติสัมปชัญญะ ต้องมีสติสัมปชัญญะ มีการใคร่ครวญ ศรัทธาอย่างเดียวต้องมีปัญญานำไปด้วย ถ้ามีศรัทธาอย่างเดียว ความเชื่ออย่างเดียว ปัญญาไม่มี ไม่มีปัญญาไปด้วยมันก็ได้แต่เริ่มต้น
นี้ความเชื่อคือตัวจุดประกาย เห็นไหม ศรัทธาคือตัวจุดประกายเข้ามาก่อน พอเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปถึงฟังธรรมแล้ว เราถึงไปแยกแยะว่า ธรรมหรือว่าสิ่งที่เราเข้าไปนั้นถูกหรือผิด นี่ปัญญาเกิดขึ้น พอปัญญาเกิดขึ้นนี่ ศรัทธา แล้วมีปัญญา นี่ปัญญาทางโลกขึ้นมา แล้วก็มีสติ มีสัมปชัญญะ ยับยั้งของตัวเองให้ได้ ความคิดของตัวเองยับยั้งตัวเองให้ได้ ในธรรมะที่ว่ามีประเสริฐที่สุด เห็นไหม สติสัมปชัญญะ
สติคือเบรกห้ามล้อไง รถนะเรามองกันว่าเครื่องยนต์ต้องดี ทุกอย่างต้องดี แต่เบรกนี่ไม่มีใครคิดถึงเลย ถ้าไม่มีเบรกสักอย่าง รถนี่ขับไม่ได้เลย เพราะไม่มีเบรกเป็นตัวยับยั้งไว้ สติของเรา ความยับยั้งความทุกข์ของเรา เห็นไหม เวลาเราเจอสิ่งที่ประสบทุกข์ ความทุกข์ ตกทุกข์ได้ยากนี่ สติสัมปชัญญะทำให้เราได้สติขึ้นมา ยับยั้งความคิดนั้น นี่เบรกห้ามล้อสำคัญ รถเร็วขนาดไหนถ้ามีเบรกไปด้วยนี่ รถคันนั้นจะอยู่ในถนนไม่ประสบอุบัติเหตุ
นี่เบรกไง เบรกในหัวใจ เบรกความทุกข์ เบรกความคิดของเราต่าง ๆ นี่เบรกขึ้นมา เรามองแต่คันเร่ง เราจะเหยียบคันเร่งกัน เราไม่ได้มองดูเบรก นี่ความเจริญของหัวใจ ผู้นำของใจนี่ มันเป็นชั้นเป็นตอนเข้ามา ผู้นำของเราเองนี่แหละ ความคิดของเราเองนี่ พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ วุฒิภาวะของใจมันจะพัฒนาขึ้นไป ๆ ฉะนั้น ผู้นำของเราเราต้องสร้างขึ้นมาของเราเอง มีความเชื่อขึ้นมาก่อน ความเชื่อดึงเข้ามา แล้วก็มาแยกแยะความผิดความถูกเข้ามา
นี่มีเบรกมีอะไรยับยั้งไว้ เพราะเวลาเราเชื่อขึ้นมาใหม่ ๆ ศรัทธาใหม่ ๆ เจออะไรขึ้นมานี่ มันไม่ค่อยได้คิด มันจะไปตามนั้นเลย ๆ เพราะความเชื่อมันพร้อมอยู่แล้ว มันจะพุ่งไปตามกระแสนั้น นี่มีสติ มีสัมปชัญญะ มีการยับยั้งชั่งใจ แล้วมีก็เริ่มต้นขึ้นไป ดำริขึ้นมา ดำริเปลี่ยนขึ้นมา ในมรรค ๘ ไง ดำริชอบ ความดำริความเห็นชอบอันนั้น มันจะหมุนเข้ามาเป็นภายใน เป็นมรรคอริยสัจจังเกิดขึ้น มรรคเกิดขึ้น เห็นไหม มรรคหยาบ ๆ เกิดขึ้น
เราทำบุญทำกุศลนี่มันเป็นอามิสทาน เป็นสิ่งที่เป็นอามิสเกิดขึ้น เป็นอามิสเกิดขึ้นน่ะมันช่วยเหลือมันแทนกันได้ มันเจือจานกันได้ด้วยเป็นอามิสไง แต่เวลาเราทุกข์ขึ้นมาในหัวใจ มันช่วยกันไม่ได้นะ แม้แต่พ่อลูกกัน แม้แต่แม่ลูกกัน ยังช่วยกันไม่ได้เลย เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย พ่อแม่นี่อยากให้เจ็บไข้ได้ป่วยแทนลูกมากเลย เพราะไม่อยากให้ลูกทรมาน แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ เห็นไหม
นี่เวลาทุกข์ใจขึ้นมามันเป็นอย่างนั้น สิ่งที่จะทดแทนกันไม่ได้เลย มันเป็นสัจจะความจริงภายใน มันต้องเกิดขึ้นจากความยับยั้งของเรา นี่ผู้นำภายในสำคัญกว่าผู้นำภายนอก แล้วถ้าผู้นำภายใน เห็นไหม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมขึ้นมาองค์เดียว ทำไมสอนสัตว์โลกได้ขนาดนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปเอาเณรราหุลบวช ไปเอานางพิมพาได้ออกบวช ไปเอาพ่อแม่ เอาพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นกษัตริย์นะ ได้บรรลุธรรมในชาตินี้ แล้วสิ้นไปเลย พระเจ้าสุทโธทนะก็ถึงที่สุดแห่งธรรม เห็นไหม
ผู้นำคนเดียวนำหัวใจของเรา นำให้ได้ก่อน แล้วจะเป็นหลักขึ้นมา หลักของเรามันแบ่งผิดแบ่งถูกได้ อย่างที่อาจารย์ว่า ถ้าใจเป็นธรรมแล้วนี่มันจะมุ่งไปแต่ทางมีบุญกุศล ทางที่ดีไง ในทางที่บวกทั้งหมด ๆ แต่ในทางที่ว่าเป็นโดยทางลบเกิดขึ้นน่ะ มันต้องหลบหลีก เพราะเป็นเรื่องของกรรม โอกาสไง อำนาจวาสนา โอกาสความประสบพบเห็นนั่นคือกรรม กรรมจะไปประสบอะไร
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระอรหันต์นะ เป็นพระอรหันต์ด้วย เป็นศาสดาด้วย แต่ตอนไปอยู่เวรัญชา ไปอยู่กับพราหมณ์ อยู่ทั้งพรรษานะ กินข้าวนี่ฉันข้าวม้า ฉันข้าวกล้องนี่เอามาโขลกมาฉันกันเอง เวลากรรมมันให้ผล เห็นไหม นี่กรรมให้ผล แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไปประสบที่ว่าอัตคัดขาดแคลนก็ยังมีเลย
แล้วใครบ้างที่จะไม่เจอโลกธรรม ๘ ในโลกธรรม ๘ เห็นไหม ความกระทบกระทั่งกัน ความเสื่อมลาภ ความติฉินนินทา มันต้องมีโดยธรรมชาติของมัน พอมีโดยธรรมชาติของมัน ธรรมชาติของมัน การแปรสภาพไป เราต้องหมุนไปตามนั้น นี่กรรมให้ผลตรงนี้ เศษส่วนของกรรม เศษส่วนนะ สอุปาทิเสสนิพพาน สะนี่คือเศษส่วน เศษส่วนของกรรมคือร่างกายยังมีอยู่ ความคิดยังมีอยู่ ความกระทบกระทั่งยังมีอยู่ มันยังเวียนไปยังมีอยู่ นั้นคือเศษที่ยังกระทบกระทั่งกัน เศษคือเรื่องของโลกไง
นี่ผู้นำของโลกเขา เขาจะนำอย่างไรไปนี่ความคิดของเขา แต่ผู้นำทางธรรมนะ มองทะลุปรุโปร่งทางธรรมขึ้นมา แต่มันไม่สามารถจะชี้นำออกมาได้ เพราะมันไม่สามารถเอามาแบไง เวลาอาจารย์มหาบัวไปหาหลวงปู่มั่น ชี้ออกมาที่มือนะ นี่หน่า ๆ คือว่านี่ไง มรรคผลเป็นอย่างนี้ เหมือนกับเอามาไว้บนฝ่ามือ ให้เห็นว่านี่หน่า ๆ ก็พูดเรื่องนามธรรม เรื่องของภายใน แล้วผู้ที่ไปศึกษาธรรมนั้นก็ต้องการศึกษามาเพราะว่าเรียนมาแล้วอยากศึกษามาก พอเข้าไปนี่ พอพูดออกมาเป็นคำออกมา มันเข้าใจไง ความเข้าใจ เห็นไหม นี่หน่า ๆ มันก็ยังเป็นคำพูดเฉย ๆ
แต่ผู้ที่มีวุฒิภาวะเข้าไปจะรับได้ มันจะฟังกันได้ แต่เรื่องของโลกก็คลุกเคล้าอยู่กับโลกทั้งหมดเลย แล้วพอเรื่องของธรรม ออกมานี่เขาจะเชื่อ...เป็นไปไม่ได้ นี่ผู้นำทางธรรม องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับรู้ไปหมด แล้วก็ต้องวางไว้ วางบางอย่างไว้ว่ามันเป็นเหตุสุดวิสัย เรื่องของกรรมเป็นเรื่องสุดวิสัย มันก็วางไว้ แต่ถ้ามันเป็นวิสัยที่ทำได้ ท่านก็ทำ ๆ เห็นไหม
นี่ผู้นำธรรม ธรรมอันนี้คือหัวใจที่มันเข้ากับใจ ธรรมนี้ประสิทธิ์ประสาทมันเข้าเป็นเนื้อเดียวกับใจได้ ใจนี้กับธรรมนี้เป็นภาชนะที่ตอบสนองกัน ฉะนั้น ธรรมถึงสำคัญกว่าไง ธรรมกับโลก โลกเขาหาผู้นำกัน เราอยู่ในโลกเราก็ต้องไป ไปเพื่อว่าคะค้านกันไง ความดำริชอบ ความเห็นชอบ ทิฏฐิที่ถูกต้อง ความเห็นที่ถูกต้อง มันจะมีน้อย ความเห็นที่ถูกต้องมีน้อย แต่ส่วนที่ว่าความคิดตามกระแสโลกมันจะมีมาก
แต่เราก็ต้องไป ไปเพื่อจะเป็นสิ่งชี้นำสังคมไง ธรรมชี้นำสังคม ชี้ได้ไม่ได้ก็แล้วไป กาลเวลาจะหมุนเวียนไป ๆ สรรพสิ่งวันหนึ่งมันต้องหมุนมาดี หมุนมาดีถ้าเรามีกรรมดีอยู่ แต่ถ้าเราสุดวิสัย เราตายไป เราถึงโอกาสเราหมดอายุไป โลกเป็นไปอย่างนั้น มันเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน นี้ไง ศาสนาเสื่อม ความเป็นของโลกต้องเสื่อม มันหมุนไป แม่น้ำไหลลงที่ต่ำ โลกจะหมุนไปอย่างนั้น หมุนไป ถึงจนกว่ามันจะหมดไง หมดเรื่องศาสนา ๕,๐๐๐ ปีหมดไป ศาสนาหมดไป จนลืมไปเรื่องศาสนา เรื่องศาสนาคือความถูกต้องไง ความเห็นแก่ตัวนั่นมันเรื่องของเขา
แต่ความถูกต้อง ความเห็นดีนี่มันก็เรื่องของศาสนา ดึงขึ้นมา ๆ นี้ความดีนี่มันฝืนกิเลส ฝืนใจของตัวเอง พอฝืนใจของตัวเองมันไม่อยากทำ ความไม่อยากทำ เห็นไหม อยากจะสะดวก อยากจะสบาย แต่ความสะดวกสบายนั้นผจญเหตุให้ผลตอบแทนมาเป็นความทุกข์ทั้งหมดเลย ความลำบาก ความฝืนใจ เห็นไหม ความหาที่พึ่งของใจ มันเป็นการฝืนกิเลสเข้ามา
นี่เรื่องของธรรม ธรรมคือทวนกระแสของโลก ไม่เดินตามโลกเขาไป โลกคือหมุนไปเหมือนกับสวะลอยน้ำไป ธรรมนี้ทวนกระแสทั้งหมด ทวนกระแสคือทวนความคิดของเรา ความคิดมันไหลออกมาจากใจ นี่กระแสมันไหลออกไป แล้วเราอยากจะตามไปสะดวกสบายกับมัน แล้วเราฝืนกระแสเข้าไป ๆ ทวนกระแสเข้าไป มันถึงทำลำบาก
แต่ทำลำบากเราก็ต้องทำ มาฟังธรรมนี่มีศรัทธาเข้ามาก่อน ศรัทธาความเชื่อเข้ามาฟังธรรม แล้วมุ่งมั่นจะเอาความสุขอันนั้น เราถึงจะมีกำลังใจ มีการคิดแยกแยะแล้วหมุนขึ้นไป ทำขึ้นไป ๆ ทำจนเป็นความเคยชิน ทาน เห็นไหม ให้ทาน เพราะใจมันคิดอยากให้ทาน ทานถึงว่าศรัทธามาก่อน มีศีล พอมีศีล มีภาวนา ภาวนานี่สำคัญมาก ภาวนาคือการดัดตน เห็นไหม โยคะเขาดัดตน แต่การภาวนาคือดัดใจ สมาธิธรรมก็ดัดใจแล้ว
นี่ถ้าดัดใจ ดัดใจจนอยู่ในอำนาจของตน ใจนี่อ่อน อ่อนควรแก่การงาน อ่อนอยู่ในอำนาจของธรรม นี่ทำบุญกุศลมันจะสะดวกขึ้นไปบ้าง การทำบุญกุศลเราจะสะดวกขึ้น การทำภาวนาเราสะดวกขึ้น นี่กิเลสมันโดนควบคุมบ้าง กับที่ว่าถ้าอยู่ทางโลกแล้วมันเรื่องของไฟ มันไม่เคยควบคุมเลย มันปล่อยไปตามโลกเขาตลอด
นี่โลกเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะตามเขาไป มันก็เป็นอย่างนั้นโดยตลอด มันถึงว่าอยู่กับโลกก็เป็นโลก ถึงว่าลืมตา ๒ ตา โลกกับธรรมไม่เหมือนกัน อยู่กับโลกก็เป็นไปกระแสโลก แต่เรามีสติสัมปชัญญะ เรายืนอยู่ เราเป็นผู้นำเขาได้ ถ้าอยู่กับธรรม เห็นไหม ใจนั้นควรแก่การงาน ควรแก่การงานก็ทำงานเพิ่มมากขึ้น ควรแก่การงานเพราะว่าจิตนั้นสงบขึ้นมา สงบเข้ามา เพราะเราดัดตนด้วยภาวนา...
(เทปสิ้นสุดเพียงเท่านี้)