เทศน์เช้า

ทางจิตพระอริยะ

๑๑ มิ.ย. ๒๕๔๓

 

ทางจิตพระอริยะ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เป็นวันฟังธรรม แต่เดี๋ยวนี้วันพระมันเป็นไปไม่ได้เพราะราชการมันเจริญ ทางโลกเขาว่าเสาร์อาทิตย์เป็นวันหยุด วันเสาร์อาทิตย์ก็เลยเป็นวันคนมาก เป็นวันมาวัดแทนไง มาวัดไง ๑ อาทิตย์มาวัด ๑ หน เวลาทำบุญกุศล เวลาบุญกุศลเข้ามานี่ ความร่มเย็น เห็นไหม เวลาอยู่กับโลกร้อนอยู่ ๕ วัน เสาร์อาทิตย์ก็มาวัดทีหนึ่ง ๆ ก็เหมือนเราอาบน้ำอาบท่านี่ ความร่มเย็นของใจ ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติก็ยังว่า ถ้าจิตความร่มเย็นของใจมันก็อยู่ในโลก เห็นไหม ความร่มเย็นทำความสงบเข้ามา ๆ นี่ จิตมันเย็นเข้าไป ๆ อันนี้ก็แปลกประหลาดมหัศจรรย์อยู่แล้ว

แต่ครูบาอาจารย์บอกว่า “คุณวิเศษ” ผู้วิเศษกับจิตของพระอริยเจ้าไม่เหมือนกัน จิตของพระอริยเจ้าไม่ใช่ว่าความร่มเย็นถอยเข้ามา ๆ นี่ นักหลบเฉย ๆ ไง พอนักหลบ เราหลบเข้ามา หลบสิ่งต่าง ๆ เข้ามา มันก็มาพักอยู่ หินทับหญ้าไว้มีความเย็นใจ อันนี้พอความเย็นใจนี่มันมีความดูดดื่ม มีความติดใจมาก ว่าอันนี้เป็นคุณวิเศษ...เป็นผู้วิเศษต่างหาก ไม่ใช่คุณวิเศษ เพราะอะไร?

เพราะว่ามันต่างจากโลกเขา โลกเขานี่หมกมุ่นอยู่ในอารมณ์ อยู่ในความทุกข์ความยาก อยู่ในอารมณ์ของเราไง เวลาจิตขึ้นมา ปกคลุมใจเข้ามานี่ เราไม่รู้จักใจของเรา เราก็อยู่ในใจของเราตลอดไป นี่คลุมอยู่อย่างนั้นไป พอเราถอยเข้ามา เรื่องความสงบนี่มันต่างจากโลกเขา มันวิเศษกว่าเขาใช่ไหม เพราะอย่างที่ว่าพายุเกิดขึ้น แล้วสงบตัวลงไปนี่ พายุเกิดขึ้นมา

แล้วทีนี้พายุของความคิดนี่ พายุมันเกิดตลอดเวลา แล้วมันไม่เคยสงบให้เห็นขึ้นมา นี่มันก็เลยว่า เป็นพายุของความคิด ความคิดกับเรานี่เป็นพายุ หมุนเวียนกันไปตลอดเวลา มันเกิดดับ ๆ อยู่ในใจตลอดเวลานะ พายุเกิดมันก็ทำให้เราตกใจ น่าตื่นเต้น น่าตกใจมาก เพราะพายุมันเกิดขึ้นมานี่ มันจะทำให้เราเป็นอันตรายได้ นี่มันเห็นขึ้นมา

แล้วพอจิตมันสงบ เวลาพายุมันสงบขึ้นไป เวลาพายุเกิดขึ้น มีความตกใจน่าสะพรึงกลัว แต่เวลาสงบลงไปนี่ จิตเราถ้าสงบลงไปเป็นแบบนั้น พอมันต่างจากสิ่งที่เกิดพายุบุแคมขึ้นมาในหัวใจ แล้วโลกเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา อารมณ์ของโลกเขาอยู่กับพายุอารมณ์อยู่ตลอดเวลา มันเกิดขึ้นมา มันเป็นเนื้อเดียวกัน มันแยกไม่ออก แต่เวลามันทำความสงบเข้ามานี่ นักหลบ พอหลบเข้ามานี่มันมหัศจรรย์ ความมหัศจรรย์อันนี้มันเป็นแค่ความหลบเข้ามาเฉย ๆ มันไม่ใช่จิตของพระอริยเจ้า

จิตของพระอริยเจ้านี่มีความสงบเข้ามาอันนั้นก่อน มีความสงบเข้ามานี่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิขึ้นมาแล้ว ค่อยไปเดินสติปัฏฐาน ๔ ต้องก้าวเดินไปในสติปัฏฐาน ๔ ในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในสติปัฏฐาน ๔ อันนั้น นั่นน่ะจิตของพระอริยเจ้าจะเกิดตรงนั้นไง จิตของพระอริยเจ้าจะเกิดเกิดเพราะการแยกแยะออกมาจากกาย เวทนา จิต ธรรม มันต้องผ่านเข้ามาก่อน ถ้าไม่ได้ก้าวเดินตรงนี้ มันก็ไปอยู่ในความสงบของอารมณ์ของใจ

นี่มันก็แปลกประหลาดจากโลกเขา โลกเขานี่พายุมันปั่นป่วนตลอดเวลา แล้วปั่นป่วนไม่ใช่ปั่นป่วนธรรมดา ปั่นป่วนโดยไม่รู้สึกตัว เพราะอะไร? เพราะมันเป็นเนื้อเดียวกันใช่ไหม ความคิดกับเรานี่เป็นอันเดียวกัน เพราะเราเป็นคนคิด เราเป็นเนื้อเดียวกัน แต่ในหลักธรรมว่า “ความคิดนี้เป็นแขกจรมา” เวลาความคิดเกิดขึ้นมา มันมีความคิดได้อย่างไร? ความคิดนี่ก่อนหน้านี้เราไม่ได้คิดความคิดก็ไม่เกิดขึ้น ไม่เห็นมีเลย แต่เวลาเกิดขึ้นมานี่ มันเป็นเราคิดขึ้นมา

นี่พายุมันเกิดขึ้นตรงนี้ไง ตรงที่มันเป็นเนื้อเดียวกัน มันกระชากเราไปด้วย กระชากความรู้สึกเราไปทั้งหมดเลย ถ้าเราโกรธ เราเกลียด หรือว่าเรามีความทุกข์ร้อนใจนี่ มันกระชากเราไปด้วย เห็นไหม เราก็ต้องปั่นป่วนไปในพายุนั้น เราปั่นป่วนไปในพายุนั้นตลอดเวลา แล้วเราไม่รู้สึกตัวเลย เพราะอะไร? เพราะมันเป็นเรา เพราะอะไร? เพราะเราพอใจ เราพอใจด้วย เราไม่รู้สึก เราไม่รู้เรื่องด้วย

นี่ที่มาวัดก็มาเพื่อตรงนี้ไง มาเพื่อฟังธรรมให้เข้าใจว่าสิ่งนี้เป็นแขกจรมา มาชั่วครั้งชั่วคราว แต่เราไม่สามารถสงบ เราไม่สามารถยับยั้งได้ ไม่สามารถยับยั้งได้เพราะอะไร? เพราะเราไม่มีการฝึกฝน เราไม่เข้าใจ สิ่งที่เป็นเนื้อเดียวกัน อย่างเด็กเห็นไหม จะศึกษาเล่าเรียนมานี่ หัดเขียน ก.ไก่ ก.กา ทีแรกเขียนแสนยากเลย เขียนไม่เป็น พอเขียนไป ๆ จะคล่องขึ้นไป ๆ

อันนี้ก็เหมือนกัน จิตเราไม่เคยแยกแยะออกมาจากความคิดอันนี้ มันเป็นเนื้อเดียวกันมาตลอด แล้วมันจะแยกแยะได้อย่างไร พอมันแยกแยะไม่ได้ มันก็เป็นอันเดียวกัน ๆ มันเป็นความเคยชินออกไป นี่ไม่ได้ฝึกฝน พอเราฟังธรรมนะ เราเข้าใจ ฟังธรรมว่า ต้องทำใจให้สงบ ความสงบเป็นความสุขอย่างยิ่ง แล้วเราทำไม่ได้ ๆ ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ก็ทำไม่ได้

ในหลักธรรม เห็นไหม จะล่วงพ้นจากทุกข์ได้ด้วยความเพียร ความเพียรประพฤติปฏิบัติ ความเพียรฝึกตน ความเพียรพยายามดัดตนนี่ มันไม่มี เราศึกษามาเฉย ๆ เราก็รู้ ทุกคนจะบอกว่ารู้ เข้าใจในธรรม แต่ทุกคนก็บอกว่าทำไม่ได้ แพ้อารมณ์ตัวเองตลอด เพราะขาดการฝึกฝนตรงนี้ไง ถ้าการฝึกฝนตรงนี้ขึ้นมา เราฝึกฝนขึ้นมาแล้ว พอจิตมันเริ่มสงบเข้าไปนี่ เราก็จะเคลิบเคลิ้มไป

อันนี้ เห็นไหม มันถึงได้ย้อนกลับไปที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปศึกษาเล่าเรียนกับลัทธิต่าง ๆ มีความสงบอย่างนี้ทำไมท่านไม่หลงใหล ท่านไม่ตื่นเต้นไป เราพอมีความสงบเข้ามา เราก็ว่าอันนี้เป็นผล พอเป็นผลขึ้นมา มันเวิ้งว้างจริง ๆ พายุมันเกิดขึ้น แล้วพายุมันสงบไปนี่ มันต่างกัน ความให้ค่ากันระหว่างพายุเกิดขึ้น กับความสงบของใจมันต่างกันมาก พอต่างกันมาก เราว่าอันนี้เป็นผล เห็นไหม คุณวิเศษน่ะ ผู้วิเศษ

นี่คุณวิเศษเกิดขึ้น สัมมาสมาธิเกิดขึ้น ผู้วิเศษเกิดขึ้น วิเศษจริง ๆ เพราะอะไร? เพราะอันนี้มันจะไปทำประโยชน์อะไรก็ได้ เพราะเริ่มต้นทำเป็นมนต์ดำไง เป็นทำสิ่งอะไรที่ว่าเกิดขึ้นไปนี่ อันนี้มันจะเป็นไปได้ แต่ถ้าเราแยกออกไป ๆ นี่มันจะแยกออกไปเพราะอะไร? เพราะเวลาเราทำสมาธิ เราต้องมีศีลก่อน เห็นไหม ในหลักของศาสนาพุทธต้องว่า ทาน ศีล ภาวนา เพราะมีศีลนี่ มันไม่เบียดเบียนตน ความไม่เบียดเบียนตนขึ้นมา มันก็ไม่คิดออกไปข้างนอก

นี่ศีลอันนี้มันทำให้สัมมาสมาธิเกิดขึ้น ศีลที่บริสุทธิ์ทำให้สมาธิเกิดขึ้นง่ายหนึ่ง สมาธิเกิดขึ้นแล้วจะทำให้เป็นการงานนี่ มันควรแก่การงานอีกหนึ่ง พอความสงบเกิดขึ้นนี่ มันมีเราไง สัมมาสมาธิจะมีสติพร้อมอยู่ตลอดเวลา สติมันจะระลึกรู้อยู่ มันไม่เคลิบเคลิ้มไปกับความตื่นเต้นของเรา เราตื่นเต้นออกไปนี่ ถ้าเทียบออกมาคนมีสติหน่อยเดียวมันจะเปรียบเหมือนกับอารมณ์ที่เวลาพายุเกิดขึ้นนี่ เราก็ไปกับพายุ

จิตนี้สงบก็เหมือนกัน มันสงบมันสงบชั่วคราวนะ เดี๋ยวมันก็คลายออกมา สงบเข้าไปแล้วมันจะเห็นต่าง ๆ นี่อุปจารสมาธิ สงบเข้าไปแล้วจะเห็น เห็นความเห็นของใจไง เห็นภาพนิมิต เห็นต่าง ๆ อันนั้นก็เป็นอารมณ์ใหม่เกิดขึ้น วูบวาบตื่นเต้นไปกับสิ่งที่เห็นนั้น ถ้ามีสติสัมปชัญญะอยู่ จะจับอันนั้นได้เลยว่าอันนี้เป็นนิมิต เป็นความเห็น

พอจิตเราสงบเกิดขึ้น เพราะเรื่องของจิตของคนนะ จิตเรามาเกิดมาตายอยู่นี่ มนุษย์ทุกคนเกิดตาย ๆ มาไม่เหมือนกัน แม้แต่เกิดมาเป็นพ่อแม่เดียวกัน วาสนาบารมีก็ไม่เหมือนกัน เพราะเวลาเกิดในพ่อแม่ที่เจริญรุ่งเรือง เห็นไหม ลูกคนนั้นจะมีความสุขสบายมากเลย ถ้าพ่อแม่นั้นยุบยอบลง ฐานะต่ำต้อยลง เด็กมาเกิดในพ่อแม่เดียวกันก็ต่างกัน

นี่เหมือนกัน เกิดในพ่อแม่เดียวกันก็ยังต่างกันในจริตนิสัย จิตที่จะทำสมาธิก็เป็นแบบนั้น วาสนาของจิตไม่เหมือนกัน จิตแต่ละดวงจะเห็นไม่เหมือนกัน ความเห็นไม่เหมือนกัน ความเห็นอันนั้นมันต่างกัน ถ้าเห็นออกไปแล้วนี่มันจะตื่นเต้นไป ความตื่นเต้นไป เห็นไหม ความตื่นเต้นกระชากอารมณ์ให้ออกมาจากสมาธิได้ เพราะมันตื่นออกไปจากสมาธิ ถ้ามีสติสัมปชัญญะมันจะเลือกตรงนี้ได้ไง

นี่จิตสงบเข้าไป ความเห็นอันนั้น แล้วก็ไปตื่นเต้นว่าเรารู้เราเห็นไง สิ่งที่รู้ที่เห็นนั้นของจริง เพราะเรารู้เราเห็นจริง ๆ นี่ความมหัศจรรย์ของใจ มันถึงว่าเข้าไปในอวกาศ เราขึ้นไปในอวกาศมันเวิ้งว้างไปหมดเลย จิตเหมือนกัน เวลาทำความสงบเข้าไป มันจะมีอะไรต่าง ๆ เกิดขึ้น มันเวิ้งว้างออกไป มันถึงต้องมีครูอาจารย์ไง เขาบอกว่าไม่ให้ติดครูไม่ให้ติดอาจารย์ ให้ติดในธรรม เราก็ติดในธรรมโดยธรรมชาติ เราต้องพึ่งธรรมอยู่แล้ว ธรรมนี่เข้ากับใจ ใจกับธรรมนี่จะเป็นสิ่งที่ว่าเป็นเนื้อเดียวกัน เป็นเนื้อเดียวกันหมายถึงว่ามันสัมผัสกัน จนเอโก ธัมโม ใจเป็นธรรมทั้งหมด ธรรมทั้งแท่งแบบครูบาอาจารย์ที่ล่วงพ้นไป นั้นใจเป็นธรรม

เราต้องติดธรรม เราติดธรรมเพราะธรรมอันนั้นเป็นผล แต่เหตุที่จะเข้าไปหาธรรมนี่ ต้องติดครูบาอาจารย์ไง ครูอาจารย์จะชี้ตรงนี้ไง ชี้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกที่ผิด เหมือนกับพ่อแม่สอนลูก เหมือนกันเลย พ่อแม่นี่ผ่านชีวิตของการเป็นวัยรุ่นมาก่อน ผ่านชีวิตขึ้นมาก่อน ว่าอาบน้ำร้อนมาก่อน จะสอนลูกว่าสิ่งนั้นจะควรหรือไม่ควร ๆ แต่เด็กจะเถียงทุกคนเลย เพราะอะไร? เพราะเขาอยู่ในสภาวะนั้น

ในสมาธิ ในนิมิตก็เหมือนกัน เราจะเห็นในสภาวะนั้น แล้วเราก็จะว่าเราเห็นจริง ถึงว่าเห็นจริง ความรู้ความเห็นนั้นจริง เห็นจริง ๆ แต่ความเห็นนั้นมันแบบว่าเหมือนวัยรุ่น มันเป็นของชั่วคราว มันเป็นของชั่วคราวว่าเราจะต้องผ่านอันนี้ขึ้นไป เราจะมีสิ่งที่ว่าต้องผจญสิ่งที่หนักหน่วงกว่านั้น ชีวิตนี้ยังต้องไปผจญกับการประกอบอาชีพต่าง ๆ ยังจะต้องไปผจญกับสังคม เห็นไหม

นี้ก็เหมือนกัน ถ้าทิ้งนิมิตนี้เข้าไปนี่ ไปสติปัฏฐาน ๔ นี่ กิเลสมันอยู่ในตัวเรา กิเลสคือความคิดที่ว่าเราเกิด สิ่งที่เกิดมากับเรานี่ เราเกิดมาในโลกนี้กิเลสพาเกิด สิ่งนั้นจะต่อต้านกับความคิดความเห็นของเราทั้งหมด มันจะแปรสภาพไง ให้ความคิดความเห็นเรานี่ เห็นยึดมั่นถือมั่นเป็นความเห็นของเรา ในเดินสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ก็จะมีสิ่งนี้ต่อต้านไปตลอด เรายังต้องไปผจญภัยข้างหน้าอีกมหาศาลเลย

แต่การผจญภัยนั้นคือเดินมรรคไง เดินโสดาปัตติมรรค เดินสกิทาคามิมรรค เดินอนาคามิมรรค นี่มรรคฝ่ายเหตุ ถ้ามีเหตุนั้นจิตของพระอริยเจ้าเกิดจากตรงนี้ไง เกิดจากมรรค ๔ แล้วผล ๔ จะตามมา แต่ถ้าทำความสงบเข้ามาเริ่มต้นอย่างนั้น มันเป็นเริ่มต้นของการจะแสวงหามรรคเฉย ๆ ถึงว่าเป็นผู้วิเศษ ผู้วิเศษมันวิเศษต่างจากปุถุชนธรรมดา เป็นกัลยาณปุถุชน

ปุถุชนธรรมดานี่มันอยู่ในอารมณ์ของเรา โดยเป็นโลกทั้งหมด กัลยาณปุถุชนนี่ควบคุมความคิดนั้นได้ มันสงบเสงี่ยม สงบเข้ามา ใจนี่จะอยู่ในควบคุมของเรา เราทำสงบเข้ามาได้ มันตัดรูป รส กลิ่น เสียงได้ แต่สิ่งที่เจริญถึงสูงสุดแล้วต้องแปรสภาพโดยธรรมดา สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา ธรรมทั้งหลาย สิ่งที่เกิดขึ้นต่าง ๆ นี้ถึงจุดอิ่มตัวแล้วต้องแปรสภาพทั้งหมด ความสงบตัวอันนี้ถึงจุดอิ่มตัวแล้วต้องแปรสภาพเหมือนกัน

แต่ถ้าเดินขึ้นไปถึงมรรคนี้ แล้วก้าวเดินขึ้นไปมันจะไม่แปรสภาพ เพราะว่ามันเป็นอกุปปธรรม จิตของพระอริยเจ้าเกิดจากตรงนี้ไง เกิดจากสิ่งที่ไม่แปรสภาพอีก มันก็ถึงเกาะติด ถึงเป็นช่วง ๆ ไป ฉะนั้นถึงว่าจะเป็นพระอริยเจ้าขึ้นมา จิตของพระอริยเจ้าต้องเดินในกาย เวทนา จิต ธรรม ไม่ใช่นิมิตธรรมดาทั่วไป นิมิตก็เป็นนิมิตในกายนั้น แล้ววิปัสสนากายนั้นจนปล่อยวางไป

ต้องมีการใคร่ครวญไง จิตนี้ต้องขึ้นไปแล้วใคร่ครวญในสถานะของความไม่ใช่ปุถุชนใคร่ครวญ ปุถุชนใคร่ครวญนี่ คนที่เรียนปรัชญามานี่จะใคร่ครวญมาก ใคร่ครวญขนาดไหนก็เป็นโลกียะ มันไม่ตัดตอนเป็นโลกุตตระ โลกุตตระต้องทำความสงบเข้าไปเหมือนที่ว่าเป็นผู้วิเศษนั้นก่อน เป็นผู้วิเศษแต่ไม่ใช่อริยเจ้า เป็นผู้วิเศษ ผู้วิเศษนั้นวิเศษเดี๋ยวเดียว วิเศษจากมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาแล้วต้องเสื่อมสภาพไป

แต่พระอริยเจ้านี้เป็นพระอริยเจ้า ไม่เสื่อมจากสภาวะนั้น เป็นของสภาวะนั้นจริง ติดอยู่ตรงนั้นจริง แต่ต้องก้าวเดินเข้าไปอีกหนึ่งเปาะ ทำความสงบเข้ามาเป็นสมถกรรมฐาน ในสมถกรรมฐานนี่ เราใช้ปัญญาอยู่ เราว่าอันนี้เป็นภาวนามยปัญญา มันเป็นปัญญาอบรมสมาธิเข้ามา ปัญญาควบคุมใจ เห็นไหม ใช้เลาะความคิด ตะล่อมความคิดเข้ามา ให้สงบตัวเข้ามา อันนั้นเป็นปัญญาอันหนึ่ง เป็นปัญญาอบรมสมาธิ พอสมาธิเข้ามานี่ ไปถึงตอนหนึ่งที่จะยกขึ้น ความยกขึ้นในกาย เวทนา จิต ธรรม ถึงสติปัฏฐาน ๔ อันนั้นเป็นงานที่จะพ้นออกไปในอริยมรรคนั้น

นี่ฟังธรรม ในศาสนาเราประเสริฐมาก มีทาน มีศีล มีภาวนา เราก็ว่าให้เข้าใจตรงนี้ไง ตรงที่ว่าถ้าความสงบเกิดขึ้นนี้มันเป็นพื้นฐาน โดยธรรมชาติที่ว่ามันมีอยู่แล้ว เราถึงว่าน่าจะคิดว่าพวกเรานี่เป็นชาวพุทธ

แต่ความสงบใจของเราไม่มีไง ถ้าความสงบใจของเรามีนี่ มันก็จะไม่ตื่นเต้นกับพื้นฐานความสงบของใจ แต่ถ้าเราอยู่แต่ในพายุอารมณ์ตลอดเวลา พอสงบเข้ามา ๆ นี่มันจะตื่นเต้นอันนี้ แล้วจะยึดอันนี้เป็นผล พอยึดอันนี้เป็นผลแล้วมันไม่ใช่ในหลักการของศาสนา มันเป็นพื้นฐานของชาวพุทธควรมีโดยพื้นฐานเลย พื้นฐานความสงบของใจโดยโลกีย์อารมณ์อันนี้ที่มันสงบตัวลงไป แล้วขึ้นโลกุตตระ อันนั้นจะเป็นผลของเรา

นั้นธรรมเป็นอย่างนั้น ธรรมถึงเป็นที่ปรารถนาของทุก ๆ คน หัวใจนี่เรียกร้องนะ อยากจะมีความสุขทั้งนั้นเลยล่ะ แต่ความสุขที่เราแสวงหานี้เป็นอามิส สิ่งที่เกิดขึ้นมา เราแสวงหาสุขมาเป็นอามิสไง ต้องสละออกไป เพื่อจะเข้ามา จนจิตใจจะมีพื้นฐานแน่น พอแน่นขึ้นมาแล้วยกขึ้นไปเรื่อย ๆ ทีนี้ไม่เป็นอามิส เป็นเนื้อเดียวไง เป็นสิ่งที่ว่าไม่ต้องเป็นอามิส ปฏิบัติบูชานี้ เห็นไหม

“อานนท์ เธอจงบอกเขา บุญกุศลด้วยอามิสบูชา การถวายดอกไม้ธูปเทียน มันก็เป็นบาทฐานทางจะเดินเข้าไป แต่ควรจะปฏิบัติบูชา ชาวพุทธควรจะปฏิบัติบูชา” ผู้ที่ไปปฏิบัติบูชา ผู้นั้นใจดวงนั้นเป็นผู้ถึงทั้งหมด ใจดวงที่ปฏิบัตินั้นเป็นผู้รับผล ปฏิบัติบูชาพระพุทธเจ้า แต่ดวงใจที่มีพุทธะอยู่ในหัวใจนั้น ดวงใจนั้นต่างหากเป็นผู้รับผลทั้งหมด เอวัง