เทศน์เช้า

ฝึกใจ

๓๑ พ.ค. ๒๕๔๓

 

ฝึกใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

มันลงที่ใจไง เรื่องของศาสนาเป็นเรื่องของนามธรรม เรื่องของหัวใจนะ ศาสนาสอนคน ใจเรานี่รับรู้เรื่องของศาสนา ทุกข์สุขมันอยู่ที่ใจทั้งหมด แต่สิ่งปลูกสร้างข้างนอกมันเป็นสิ่งปลูกสร้างข้างนอก ดูอย่างพวกโบราณวัตถุต่างๆ สิ เพราะคนเราศรัทธามาก แล้วพวกพระมหากษัตริย์ต่างๆ สร้างไว้นี่ ดูอย่างเจาะภูเขาเป็นลูกๆ เลยบูชา บูชาอันนั้นหัวใจเป็นบูชาใช่ไหม ฉะนั้น หัวใจดวงนั้น ดวงที่ผู้มีอำนาจสั่ง หัวใจดวงนั้นเป็นบุญกุศล

นี่เหมือนกัน เวลาอาจารย์มหาบัวท่านพูดนะ โบสถ์ วิหารต่างๆ นี้ไม่ได้ไปสวรรค์นะ คนสร้างต่างหาก หัวใจที่สร้าง หัวใจที่สร้างโบสถ์สร้างวิหารนั้นไปสวรรค์ สิ่งที่ปลูกสร้างนั้นเป็นแค่เครื่องแสดงออกของใจเท่านั้น นี่เครื่องแสดงออกมันแสดงออกเป็นทางวัตถุใช่ไหม นี่ศาสนาของเรานี่ เราทำกันเห็นไหม มาทำบุญทำกุศลนี่เพื่อจะให้เข้าถึงหัวใจเลย หัวใจเป็นผู้ปฏิบัติ แต่หัวใจปฏิบัตินี่อาศัยอามิสทานไง ทานนี้เป็นอามิส เห็นไหม สิ่งปลูกสร้างนี้เป็นอามิส สร้างโบสถ์ สร้างวิหาร สร้างวัตถุขึ้นมานี่เป็นอามิส เพราะเราไม่สามารถเข้าถึงจุดศูนย์กลางของความรู้จริงได้ เห็นไหม ต้องศึกษาไง บวชเป็นพระต้องศึกษา

ศึกษาในอะไร? ในมรรคญาณ ในมรรควิถีเข้าไปถึงดวงจิตของเรา นี้ดวงจิตมันละเอียดอ่อนมาก หัวใจเราละเอียดอ่อนมาก ต้องอาศัยสิ่งที่จับต้องได้ ถึงต้องมีอามิสก่อน พอมีอามิสเห็นไหม มีทาน มีศีล มีภาวนา เรื่องของทานนี่เรื่องของอามิสทั้งหมดเลย แต่อามิสนี้ก็เพื่อความสุขของเรา เพื่อเจตนา เจตนาของทานออกไปขึ้นมานี่ พอมีทานออกไปขึ้นมา ทานอันนั้นเป็นบุญกุศลอันนั้น หลักเข้ามาสนองให้ใจนี้เบิกบานขึ้นมา กิเลสมันจะยุบยอบตัวลง

กิเลสนี้ศีลได้เริ่มปกป้องตั้งแต่ทีแรก เรื่องเราจะออกมาทำนี่ ที่ไหนก็ที่นั่นเลยล่ะ เวลาโยมมากันอย่างนี้ เขาจะบอกว่า ทำไมต้องไปที่ไกลๆ ทำไมต้องแสวงหา ทำไมไม่ทำบุญที่เราควรทำ สิ่งนั้นจริงอยู่นะ พระพุทธเจ้าบอกว่า ทำบุญที่ไหน บุญควรที่เราพอใจ เราพอใจที่ไหนก็ทำที่นั้น พระเจ้าพิมพิสารเป็นผู้ที่ถามพระพุทธเจ้าเองว่า

“บุญควรทำที่ไหน”

“ทำที่พอใจ”

แต่เวลาเอาผลกันล่ะ? ถ้าผลต้องพูดอีกอย่างหนึ่งแล้ว ผลนี้อยู่ที่เนื้อนาบุญไง เนื้อนาดีหว่านดี เห็นไหม เราถึงแสวงหากัน เพราะเราเชื่อใจลงใจที่ไหน เราทำบุญที่นั่นเราได้ผลบุญมาก ผลบุญมาก กิเลสมันก็โดนรังแกมาก ถ้าผลบุญน้อย กิเลสมันก็มีอำนาจมากกว่า เห็นไหม กิเลสหมายถึงว่า บุญกุศลนั้นย้อนกลับมาๆ พอย้อนกลับมาปั๊บกิเลสมันเบาบางลง ความทำของเราพอใจขึ้นไป

อย่างเช่นไปหาครูบาอาจารย์นี่ เราไปหาครูบาอาจารย์ เราชื่นใจ เราพอใจนี่ มันอยากไปอีก เห็นไหม ความอยากไปซ้ำสองซ้ำสามซ้ำสี่นี่บุญกุศลได้กว้างขึ้นๆ พอกว้างขึ้นกิเลสมันก็ต้องยุบยอบตัวลง นี่อามิสทาน แต่อามิสนี้ก็เป็นที่ว่าเป็นเครื่องใช้สอยบุญกุศลที่ว่า บุญกุศล เห็นไหม บุญกุศล บุญและบาปติดดวงใจไปทุกดวง ตายเกิดในวัฏฏะนี้บุญพาเกิด ได้มีโอกาสมีความทุกข์แต่ก็ยังพอประทัง แต่ถ้าคนทุกข์จัดๆ เห็นไหม นี่บุญพาเกิด บาปพาเกิด บุญพาเกิดเป็นกุศล บาปพาเกิดแต่ต้องเกิดอีก การเกิดการตายนี่ บุญกุศลบุญและบาปพาไป พาไปนี่ บุญเป็นอามิสที่ว่ามันขับเคลื่อนไปตลอด

แต่ทำสมาธิ เห็นไหม ทาน ศีล ภาวนา ถ้าทำสมาธินี่บุญนี้แนบเข้าไปที่ใจ เวลาพระพุทธเจ้าจะนิพพาน เห็นไหม “อานนท์ บอกเขาเถิดการปฏิบัติบูชาสำคัญกว่า” การปฏิบัตินี่เรายกร่างกายเลย อย่างเช่นเราปฏิบัตินี่เรายกร่างกายนี้ถวายพระพุทธเจ้านะ อย่างเช่นเราจะอยู่ปกตินี่ เราจะอยู่กิริยาอะไรก็ได้ แต่เวลาเรานั่งประพฤติปฏิบัติเราต้องขัดสมาธิ เห็นไหม เพื่อทำให้จิตนี้สงบ ร่างกายนี้สงบก่อนจิตสงบ นี่สละการเสียโอกาส โอกาสการเป็นอิสระของเราเพื่อถวายองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นี่เอากายนี้ถวายแล้ว

เริ่มต้นภาวนานี่ บุญกุศลนี่คนมองไม่เห็นว่าเรายกกายนี้ถวายพระพุทธเจ้าก่อนชั้นหนึ่ง แต่ผลที่ได้มานั้นอีกชั้นหนึ่งนะ ถ้าได้เข้ามาถึงใจนี่ได้อีกชั้นหนึ่ง พอใจนี้เข้าเป็นเนื้อนี่สุขที่ไม่ต้องเกิดจากอามิส สุขที่เป็นสุขความจริง พอจิตมันสงบขึ้นมานี่มันจะเวิ้งว้าง มันจะแปลกประหลาดมหัศจรรย์นี่ ของใดๆ ในโลกนี้ไม่มี เวลาจิตเป็นความสงบ มันเวิ้งว้างเข้าไป ไม่มีสิ่งที่โลกนี้จะเปรียบเทียบ อันนี้ไม่มี มันเป็นสัมผัสธรรม

นี่จิตเป็นสมาธิ พอจิตเป็นสมาธิก็เป็นพื้นฐานของใจ เราต้องพัฒนาปัญญาขึ้นไป ถ้าไม่พัฒนาปัญญาขึ้นไปนี่ อาจารย์บอกว่า น้ำเต็มแก้ว จิตเป็นสมาธิจะเป็นสมาธิอยู่อย่างนั้น ใส่น้ำลงไปเต็มแก้วแล้วเต็มแก้วอยู่อย่างนั้น ถ้าสมาธินี้เป็นปัญญาโดยธรรมชาติของมันเองนี่ ไม่มีใครติดอยู่เวลาในการประพฤติปฏิบัติมันจะเป็นไปอัตโนมัติ เราวิปัสสนากัน พระที่บวชเข้ามาแล้วทำความเพียรกันจะเจริญรุกหน้าไปตลอดเลย ไม่เสื่อมถอยหลังลงออกมา แต่นี่ทำไมเวลาเจริญรุกหน้าไปๆ บทเวลามันเสื่อมลงมา ทำไมมันเสื่อมลงมา

เห็นไหม เพราะน้ำเต็มแก้วแล้ว พอเต็มแก้วกักไว้นี่ น้ำมันต้องระเหยไป มันต้องมอดไป นี่เหมือนกัน สมาธิธรรมนี่มันต้องแปรสภาพโดยธรรมดาของมัน มันเป็นอนิจจัง สรรพสิ่งนี้เป็นอนิจจังทั้งหมด ทั้งที่สมาธิก็มีอยู่ บางทีเราก็มีอยู่ จิตเราสบายนี่มันเหมือนกับเป็นสมาธิ แต่เป็นสมาธิของปุถุชนธรรมดา เป็นสมาธิของมนุษย์โลกเรา เห็นไหม แต่สมาธิที่ทำสมถะเข้าไปให้เป็นสมาธิอันนั้น มันเป็นใจที่แยกออกไปจากโลกียะ เป็นโลกุตตระ

โลกียะหมายถึงว่า ความสงบสุขในโลกนี้ โลกุตตระความสงบสุขอันนี้มันแบ่งแยกออกไป มันจะยกขึ้นวิปัสสนา พอยกขึ้นวิปัสสนาออกไป อันนั้นน่ะ นี่พัฒนาปัญญาขึ้นมา ศีล สมาธิ ปัญญา ถึงเปิดพร้อมไง ปัญญาอันนี้ปัญญาในอะไร? ปัญญานั้น เห็นไหม เวลาเกิดปัญญาขึ้นมานี่ เกิดสมาธิหรือเกิดปัญญานี่ มีสัมมากับมีมิจฉา ปัญญาถูก ปัญญาผิด ปัญญาเห็นแก่ตัว เราว่าเป็นปัญญานะ ปัญญาคิดว่าเราต้องควรทำอย่างนั้น นี่อันนี้ว่าเป็นปัญญาไหม? เป็นปัญญา แต่มันไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ การงานไม่ชอบ การงานชอบ งานนี่ถ้าปัญญาชอบ ปัญญานั้นต้องเป็นกาย เวทนา จิต ธรรม ปัญญาพิจารณาคลี่คลายในกาย เวทนา จิต ธรรม นี่ถึงว่างานชอบไง

งานชอบ เห็นไหม ในมรรค ๘ เห็นไหม มรรค ๘ เกิดสมาธิ เกิดปัญญา แต่ใช้ในทางที่ผิดมันก็ยังมรรคไม่สามัคคี มรรคไม่สามัคคี มัคโคยังไม่เกิด ญาณอันนี้ไม่เกิด เห็นไหม มันเป็นปัญญานอกไง ถ้าปัญญานี่ ปัญญาในปัญญาต้องเกิด ในกาย เวทนา จิต ธรรม ขุดคุ้ยแยกแยะลงที่นี่ นี่ปัญญาย้อนกลับมา พอปัญญามันย้อนกลับมานี่ เห็นไหม นี่งานชอบ พองานชอบปัญญานั้นชอบอยู่แล้ว พองานชอบ ปัญญาชอบแต่งานไม่ชอบ ปัญญาชอบหมายถึง เราคิดถูกต้อง เราคิดอยู่ แต่งานผิดนี่ งานผิดเป้าหมายผิด พอเป้าหมายผิดเบี่ยงเบนประเด็นออกไป นี่อุตส่าห์สร้างสมขึ้นมา

นี่อาจารย์ว่าไว้ เห็นไหม เราหามา เครื่องทำอาหารเครื่องปรุงอาหารนี่เอามาเต็มเลย แล้วเรามากองไว้ เราไม่ลงหม้อ แกงขึ้นมาให้เป็นแกง นี่ก็เหมือนกัน เราอุตส่าห์สร้างบุญกุศลขึ้นมาเพื่อพัฒนาขึ้นมา เพื่อทำใจให้เป็นสมาธิขึ้นมา เกิดปัญญาขึ้นมา งานไม่ชอบ นี่มันยากมันยากตรงนี้ มันถึงต้องมีครูบาอาจารย์ไง ต้องมีครูบาอาจารย์คอยชี้คอยเปรียบ ครูบาอาจารย์ก็เคยผ่านไปแล้ว

นี่ถึงบอกว่า ในสมัยก่อนพุทธกาลนะ พระพุทธเจ้าไม่มีตำราเลย ต้องค้นคว้าเอง สิ่งนี้ไม่มี แต่นี้มีตำราอยู่ เราเดินตามตำรากัน เราเดินตามแผนที่กัน เราก็ยังตกหลุมตกร่องกันนะ เราไปไม่ถึงทาง เราเข้าไม่ถึงเพราะอะไร นี่เพราะความไม่รู้ เพราะกิเลสมันอยู่ในตัวของเราเอง ความเคยใจของเรา เราคิดว่าเราคิดแล้วถูกต้อง ความถูกต้องนี่มันคิดตลอด แต่ความถูกต้องของเรา เห็นไหม อาจารย์ถึงบอกว่า ให้ถามตัวเองก่อน ให้ตั้งประเด็นขึ้นมาเพื่อแยกออกว่า อันนี้จริงหรือ เห็นไหม มรรคผลนี้มีจริงหรือไม่มีจริง เราทำถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง นี่ให้ถามตัวเองขึ้นมา

พอถามตัวเองขึ้นมานี่ มันจะมีทาง ๒ แพร่งให้เราแยกออกไป อันนี้ผิดหรือถูก อันนี้ผิดหรือถูก พอทาง ๒ แพร่งขึ้นไปแล้ว พิจารณาซ้อนขึ้นไปเลย ซ้อนหมายถึงว่า พิจารณาตามขึ้นไป ถ้าถูกต้องมันจะเวิกเข้าไป เวิกเข้าไปหมายถึงมันเพิกออก เพิกออก ความเพิกออกจะเบาขึ้นมา เพิกออกจะเบาขึ้นมา แต่ถ้าผิดขึ้นมานะ มันเวิ้งว้างอยู่ แต่มันไม่เพิกออก พอมันเวิ้งว้างแล้วมันถึงทางตัน พอทางตันแล้วมันจะถอยลงมา นี่มันเป็นอนิจจังไง พอเราขึ้นไปถึงที่สุดแล้วนี่ พลังงานทุกอย่างใช้ออกไปแล้วนี่ มันจะมดมอดไปโดยธรรมชาติของมัน

พอจิตมันพัฒนาขึ้นไปแล้วนี่ มันจะถอยลงมาๆ ความถอยลงมาอันนี้ เห็นไหม นี่สัพเพ ธัมมา อนัตตา มันหมุนไปออกไปตลอดไป นี่ปัญญามันถึงว่าปัญญาในงานที่ชอบ งานที่ชอบนี่ถึงว่าเป็นงานเราคิดว่าเป็นงานที่ชอบเฉยๆ มันเป็นมรรคตัวหนึ่งเห็นไหม ในมรรค ๘ งานชอบ ความเพียบชอบ ความดำริชอบ ปัญญาชอบ สมาธิชอบ สติชอบไง สติระลึกชอบอยู่ สติระลึกอยู่แต่ทำงานอื่น เห็นไหม นี่ต้องรวมตัวกัน เกิดขึ้นแล้วหาขึ้นมาเป็นเครื่องมือขึ้นมาหาใช้แล้วยังต้องให้มันพอดีกัน พอดีกันหมายถึงว่า มันรวมกันเป็นมรรคสามัคคี มรรคสามัคคีถึงชำระกิเลสได้

นี่เริ่มต้นจากทาน เห็นไหม จากทานนี่ จากอามิสยกขึ้นมา พัฒนาขึ้นมา นี่ศาสนาเราประเสริฐตรงนั้น ถึงว่าถ้าจะสร้างวัตถุมันก็สร้างวัตถุไป แต่ถ้าจะสร้างคน เห็นไหม คน เรื่องนี้มันเกิดที่ใจ นี่อาการของใจทั้งหมดนะ สร้างคน ศาสนานี้สร้างคน คนนี้ถึงไปสร้างวัตถุ เห็นไหม ถ้าเราสร้างคนขึ้นมาเราก็ต้องไปตามประสานี่ อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับสิ่งที่ว่าให้ใจนี้ควรแก่การงาน แต่ถ้าลองไปสร้างวัตถุขึ้นมา มันก็ได้ประโยชน์กับคนสร้าง คนที่สร้างนั้นได้ประโยชน์ แล้วคนอื่นก็มาใช้ประโยชน์

อาจารย์มหาบัวบอกว่า ท่านสร้างเจดีย์ของครูบาอาจารย์นี่ จะกี่ล้านก็แล้วแต่ ใครกราบเท่าไหร่มันก็เข้าถึงใจดวงนั้น ถ้ากราบถึงตรงนั้นนะ เรากราบถึงคุณงามความดีของครูบาอาจารย์ พอกราบขึ้นไปนี่ ดวงใจนั้นมันจะสุขขึ้นมา การกราบนั้นเป็นประโยชน์ทั้งหมด นี่ท่านสร้างขึ้นมา ท่านเป็นบุญกุศลอยู่แล้วด้วย แล้วสร้างขึ้นมานี่บุกุศลจะตกกับผู้สร้างไง ผู้ที่ไปกราบก็ได้บุญกุศลตลอดไปๆ

นี่เหมือนกัน ถ้าสร้างวัตถุใช่ไหม แต่ถ้าสร้างใจขึ้นมา ใจเป็นผู้สร้าง ใจนี้ประเสริฐขึ้นมาเป็นผู้สร้าง นี่ใจอาจารย์มหาบัวประเสริฐแล้วถึงออกมาสร้างสิ่งที่ให้เรากราบไหว้บูชากัน ถ้าใจประเสริฐแล้วมันเห็นคุณประโยชน์ของการก่อสร้าง สร้างมาเพื่อเป็นประโยชน์นะ ถ้าใจยังเห็นว่าเป็นประโยชน์ของตัวเอง มันสร้างขึ้นมาเป็นประโยชน์ของตัวเอง แต่สร้างขึ้นมาเป็นประโยชน์ของตัวเองแล้วนี่ ตัวเองสร้างขึ้นมาแล้วก็ต้องหาขึ้นมาสร้าง

นี่ท่านถึงบอกว่า ถ้าอิฐ หิน ทราย ปูน มันเป็นวัตถุ อิฐ หิน ทราย ปูน เห็นไหม ใครสร้างก็สร้างได้ แต่เราต้องสร้างใจเราก่อน เราถึงย้อนกลับมาตรงนี้ไง ใครจะสร้างวัตถุก็สร้างวัตถุไป เราจะสร้างใจของคน เอวัง