เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑๑ ธ.ค. ๒๕๕๒

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๒
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

เวลาพูดถึงธรรมะ เวลาพูดถึงคนทำประโยชน์ เขาบอกว่าคนนี่เขาทำประโยชน์ได้มาก เพราะเขาชักคนให้เข้ามาปฏิบัติธรรมมหาศาลเลย เราบอก.. ใช่ ! ถ้าพูดถึงเอาคนทำประโยชน์มหาศาล เขาชักเข้ามาสู่ธรรมะ แต่ให้มันเป็นสุจริต ถ้ามันเป็นสุจริต เราพยายามชักคนให้เป็นคนดี สิ่งนั้นเป็นความดีมากเลย

แต่ถ้าทำให้คนเป็นคนไม่มีความสุจริต เห็นไหม คนๆ นั้นชักเข้ามาเพื่ออะไร เพื่อทิฏฐิมานะอันนั้น เราบอกว่ามันน่าเสียใจตรงนี้ไง พอน่าเสียใจตรงนี้ปั๊บ เขาทำความดีมาก แล้วเวลาเราบอกว่าที่เราพูดก็เพราะว่าเราสงสารเขา..

เราสงสารเขา เพราะเขาทำความความดีแล้วอยากให้มันสุจริต เห็นไหม

ถ้าเป็นสุจริต เวลาเราประพฤติปฏิบัติ ทำศีล สมาธิ ปัญญา มันต้องเป็นความชอบ มันเป็นสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ เห็นไหม สิ่งนี้มันก็หนุนเกื้อไป เหมือนเช่นคนมีอำนาจ ใครมีอำนาจแล้วทำคุณงามความดีนะ อำนาจนั้นจะส่งให้คนความดีมหาศาลเลย ถ้ามีอำนาจแล้วเอาอำนาจนั้นไปใช้ในทางที่ผิดนะ เอาอำนาจนั้นไปใช้แสวงหาผลประโยชน์นะ

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราจะชักคนเข้ามาในศาสนา ถ้ามันเป็นสุจริต เป็นคุณงามความดี มันดีมหาศาล แต่ถ้าเป็นทุจริต ! ทุจริตเพราะอะไร ? ทุจริต.. เวลาเขาประพฤติปฏิบัติ เขาก็ดูจิตมาตลอด แล้วพอมาดูจิต พอเขาดูไปแล้วมันไปตันไง

การดูจิตนี่นะ พูดถึงถ้าใครปฏิบัติไปแล้ว มันจะรู้ถูกรู้ผิดของมันในตัวมันเอง

เพราะถ้าผู้ปฏิบัตินะมันจะไปตัน ! ไปตันคือว่ามันว่างๆ ว่างๆ อยู่อย่างนั้น คือเราทำให้มันเกิดว่างขึ้นมา มันไม่มีข้อเท็จจริงในผลงานอันนั้น มันจะไปตันอยู่อย่างนั้น มันไปไหนไม่รอดหรอก แต่นี่พอไปไหนไม่รอด เห็นไหม

แต่ถ้าไม่ปฏิบัติ.. คนไม่ปฏิบัติมันก็ว่า เออ.. สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดี มันเป็นสังคมๆ หนึ่ง สังคมที่มีความร่มเย็นเป็นสุข ก็สังคมแบบบัณฑิตเจือจานกัน.. เจือจานมันก็บอกว่า ถ้าคนจะเห็นถูกเห็นผิดมันต้องคนภาวนา แล้วถ้าภาวนา แต่พอใจเห็นถูกเห็นผิดขึ้นมา เขาก็ไปสร้างสมมุติฐานของเขาขึ้นมาว่าความโสดาบันคือความเบื่อๆ เบื่อเฉยๆ ใช่ไหม แล้วเราบอกว่าถ้าทำอย่างนั้นไป มันก็จะไปจนตรอกอยู่อย่างนั้น

ในเมื่อเขากลับมาประพฤติปฏิบัติตามความเป็นจริง เราบอกให้พุทโธๆ เขาบอกเขาเคยพุทโธๆ ลงไปนะ แล้วพุทโธลงไปมันเห็นกายไง พอเห็นกาย จิตนี้มันเห็นกาย มันเห็นอาการต่าง แต่มันทำไม่ค่อยได้มาก แล้วพอบอกว่ากลับไปพุทโธใหม่ พอพุทโธใหม่ พอพุทโธๆ แล้วมันจะแวบออก

พอพุทโธๆๆ ทำทีแรกมันจะดี ทำทีแรกเขาบอกจิตสงบถึง ๓ ถึง ๔ หน นี่พอทำไปๆ พอกิเลสมันรู้ทันแล้ว มันเริ่มขัดขืนดื้อดึง นี่ เวลาทำตามข้อเท็จจริง เหมือนเราทำความดี กว่าเราจะเป็นคนดีขึ้นมา แต่ละเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมาจะเป็นคนดีขึ้นมาได้ มันต้องอาศัยกาลเวลาใช่ไหม “เราไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง.. ดีชั่ววูบชั่ววาบ มันดีไปไม่ตลอด”

นี่ก็เหมือนกัน การประพฤติปฏิบัติ มันต้องมีหลักมีเกณฑ์ มีหลักมีฐานของมัน เราจะรักษาใจให้สงบแล้วมีพื้นฐาน อันนี้มันยาก ! ยากตรงนี้ไง เวลาเราพุทโธในการประพฤติปฏิบัติมันยาก ! มันยากเพราะอะไร ?

ความว่ายาก.. กิเลสเราทำให้ยาก ธรรมะไม่เคยทำให้ใครได้ยากหรอก แต่ถ้าเราทำของเรา พอเราประพฤติปฏิบัติไป จิตเราได้สัมผัส ! ได้สัมผัสความสงบอันแท้จริง มันมีสติ เพราะความสงบ ความว่างมันมีเจ้าของ มีสติสัมปชัญญะควบคุมตลอดเวลา

แต่ถ้ามันเป็น.. ธรรมะเป็นธรรมชาติ อากาศก็เป็นความว่าง ทุกอย่างเป็นความว่าง จิตมันมีอยู่แล้วมันก็เป็นความว่าง อย่างนี้วัตถุมันก็ว่าง เพราะวัตถุมันไม่มีชีวิต มันไม่รับรู้สิ่งใดเลย

จิตของเรามันชีวิต มันมีกิเลส มันเหมือนสิ่งที่มีชีวิต มันรับรู้ของมันได้

นี่พอมากำหนดพุทโธๆๆ ขึ้นมา ถ้ามันโดยที่ไม่มีกิเลสเข้าไป เพราะขนาดพุทโธที่ว่าเราทำโดยใสซื่อ เราทำด้วยความสุจริตใจ มันมีความสงบได้

แต่พอเราได้แล้ว ! พอเราได้แล้ว เราได้สัมผัสแล้วมันมีความต้องการ มีความอยากได้ ไอ้ความต้องการความอยากได้อันนั้น นี่ตัณหามันทำให้เบี่ยงเบนแล้ว มันยาก !มันยาก เพราะกิเลสของเรา เวลาทำความสงบมันจะเบียดเบียนกิเลสของเรา ถ้ากิเลสของเรา.. ต้องตั้งตรงนี้ ต้องพยายามต่อสู้ ! ต่อสู้กับใคร ?

นี่ไง ! การฆ่าที่ประเสริฐที่สุด คือการฆ่ากิเลสตัณหาความทะยานอยาก แล้วกิเลสตัณหาความทะยานอยากนี่มันเป็นเรา มันทำให้เราพอใจในสิ่งที่เราประสบพบเห็น.. มันต้องการสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่มันไม่เป็นความจริง

แต่เราพุทโธๆ.. มันเป็นความจริง มันเป็นข้อเท็จจริง พอข้อเท็จจริงขึ้นไป ถ้าจิตสงบ “มัน.. โอ้โฮ.. มันตื่นเต้น” แล้วพอตื่นเต้นนี่ทำ เขาพูดอยู่ว่าเขาอยากบวชมาก เขาอยากประพฤติปฏิบัติมาก เราก็บอกว่า “ถ้าอยากบวชนะ เวลาว่าจิตมันดีมันก็เป็นอย่างนี้ เวลาถ้าจิตมันเสื่อม จิตมันถอยล่ะ” อืม.. เขาก็จริงของเขา

แล้วก็ทุกคนจะเรียกร้องว่า “เราไม่ได้เป็นนักบวช” นักบวชในพระไตรปิฎก นักบวช เห็นไหม พระนี่ทางกว้างขวาง คฤหัสถ์ทางคับแคบ.. คับแคบตรงนี้ ! คับแคบตรงกาลเวลาของเรา คับแคบเพราะเราต้องมีสัมมาอาชีวะ คับแคบเราต้องทำมาหากิน คับแคบเพราะมันดึงเวลาของเราไป

แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัตินี่ทางกว้างขวาง แต่ทางกว้างขวาง.. มีรถเดินไหม ? ทางกว้างขวาง.. คนทำแล้วได้ประโยชน์ไหม ? ถ้าทางกว้างขวางแล้วมีรถวิ่งด้วย ทางนั้นเป็นประโยชน์มากเลย

.. นี่ทางอันเอกเห็นไหม เราถึงต้องพยายามทำของเรา

รถ คือจิตของเราไง ให้มันขับเคลื่อนไป ให้มันเป็นไป.. ถ้าเป็นไป มันเป็นไปตามข้อเท็จจริง มันจะมีการต่อสู้ นี่ ข้อเท็จจริงมันเป็นอย่างนี้ พอข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้.. นี่เขาบอกว่าพอเขาเชื่อว่าจิตมันสงบ “มันว่างๆ ว่าง ๆ” แล้วนี่ พอจิตมันเป็นอัตโนมัติ เขาบอกว่า “ดูไปจนจิตอัตโนมัติ.. แล้วมันตัดได้” มันตัดอารมณ์ เพราะว่างตลอดเวลาเลย พอจิตเขาเป็นอัตโนมัติแล้ว เขาบอกว่า “แล้วเมื่อไรมันจะเป็นโสดาบัน เมื่อไรจะเป็นสกิทาคามีเสียที”.. ก็รอ เขาบอกเขารอส่วนมาก

เราถึงบอกว่า “อัตโนมัติ คือไม่มี”

แต่คำว่าอัตโนมัติของหลวงตา.. อัตโนมัติที่มี “อัตโนมัติ คือกิริยา คือความชำนาญ”

คำว่าอัตโนมัติ.. คิดดูสิ นาฬิกาอัตโนมัติ ทุกอย่างที่เป็นอัตโนมัติ.. ดูอย่างไอ้คอมพิวเตอร์.. ดูไฟ เห็นไหม ไฟที่มันติดมันดับเอง เขาต้องสร้างเทคโนโลยีขึ้นมาใช่ไหม เขา.. ด้วยแสง ด้วยระบบของมัน ไอทีของมัน เวลาแสงมันสลัวขึ้นมาไฟมันจะติดเอง

คำว่าอัตโนมัติ มันต้องมีข้อมูลของมัน คำว่าอัตโนมัติ มันต้องมีข้อเท็จจริง มันต้องมีสื่อสารให้มันเป็นอัตโนมัติ แล้วสร้างให้มันเป็นอัตโนมัติ สร้างขบวนการมัน จนมันมี.. พอแสงเริ่มสลัวลง ไฟจะติดเอง เราเกิดเวลาดูเราจะกลับบ้าน เดี๋ยวนี้เขากด เปิดประตูเอง อะไรเอง มันคืออะไร ? ก็มันคอมพิวเตอร์ มันเป็นเทคนิคของมัน มันมีสมองกล มันมีต่างๆ

แล้วอัตโนมัติ ! อัตโนมัติลอยมาจากเมฆ จากหมอก จากฟ้ามันเป็นไปไม่ได้หรอก.. ฉะนั้นคำว่าอัตโนมัติที่เป็นผลมันไม่มี แต่คำว่าอัตโนมัติ กว่าจะเป็นอัตโนมัติ.. ดูสิ ดูอย่างระบบไฟ เราต้องลงทุนขนาดไหน เราหาเงินเท่าไรถึงจะซื้อมันมา แล้วนักวิทยาศาสตร์ที่เขาคิดค้นขึ้นมา เขาเอามาเป็นผลงานของเขา เอามาเป็นสินค้าของเขา เขาคิดกันมาหัวแทบแตกกว่าจะเป็นอัตโนมัติ

คำว่าอัตโนมัติของหลวงตา “อัตโนมัติ คือความชำนาญของจิต จิตมันใคร่ครวญจนชำนาญเป็นอัตโนมัติ” คือมันชำนาญมาก ! ชำนาญมาก อัตโนมัติไปเรื่อย มันจะมีขบวนการของมันไป

แต่ว่าจิตมันดูไปๆ แล้วเดี๋ยวมันจะเป็นอัตโนมัติ ! เดี๋ยวจะเป็นอัตโนมัติ !

เมื่อวานเขาพูดตรงนี้ไง ว่าพอจิตเป็นอัตโนมัติ แล้วทำได้จริงๆ ทำได้หมายถึงเรากำหนดได้ เราตัดมันจนชำนาญ เพราะมันเป็นอัตโนมัติแล้ว.. อย่างเรารู้ว่าอะไรผิดหรืออะไรถูก.. เราเดินบนถนน.. ที่ไหนมันมีเสี้ยนมีหนามเราจะหลบหลีกไป.. จิต.. ถ้ามันเป็นอย่างนี้ มันจะหลบหลีกไป มันก็หลบไป

อันนี้กิเลสบังเงา.. กิเลสมันเห็นด้วยไง

เพราะอะไร ? เพราะไม่ได้ฆ่ามัน..

เหมือนกับเรา นี่เราทำความผิด แล้วเราเอาตำรวจมาบอก “โน่น.. คนทำผิดอยู่โน่น” เราไสให้คนผิดไปอยู่ข้างนอกเลย เราก็ไม่ผิดใช่ไหม

นี่เหมือนกัน กิเลสมันอยู่กับใจใช่ไหม.. อัตโนมัติ ? อัตโนมัติคือไม่มี.. ไม่มี.. กิเลสมันก็หัวเราะ มันก็พอใจใช่ไหม มันก็อัตโนมัติง่ายๆ ไง แต่ของเรา เราพุทโธๆๆ เข้าไปเผชิญหน้ากับมัน เข้า.. จะไปจับมันมาแก้.. มันยาก !

มันยากเพราะอะไร ?

เพราะกิเลสเป็นเรา ทุกอย่างเป็นเรา

เพราะมันสิ่งที่กิเลสมันเกิดกับเรามามากน้อยขนาดไหน มันจะให้เราจับมันง่ายๆ ไหม ถ้าจับง่ายๆ มันต้องคุ้ย ขุดคุ้ย จับได้แล้ว จับได้คือจับได้เพราะอะไร ? เพราะกิเลสมันเป็นนามธรรม มันอาศัยความยึดมั่นถือมั่นในเรื่องจิตของเรา คือความคิดความปรุงความแต่ง อาศัยร่างกายที่เป็นเรา มันอาศัยสิ่งนั้น เราถึงต้องจับสิ่งนั้นขึ้นมาขึงพรืดมัน แล้วดูกาย ดูจิต แล้วพิจารณาแยกแยะของมัน มันต้องชำนาญ กว่าจะเป็นอัตโนมัติ กว่าจะชำนาญขึ้นมา

คำว่าอัตโนมัติของครูบาอาจารย์ คือความชำนาญในการกระทำ มีข้อเท็จจริง มีมรรค ๘ มีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ มีความเชื่อ ความชอบทั้งหมด “ไม่ได้อัตโนมัตินั่งรอ.. มันจะเป็นอัตโนมัติเองไง”

เมื่อวานเขาพูดเอง เขาบอกว่า “นี่ ผมทำได้หมดเลย แล้วผมก็ดีใจด้วยว่ามันเป็นอัตโนมัติแล้ว แล้วผมก็นั่งรอว่าแล้วเมื่อไหร่มันจะเป็นโสดาบันซะทีล่ะ” ก็เป็นอัตโนมัติใช่ไหม เพราะมันตัดได้ อารมณ์ควบคุมได้หมด มันจบขบวนการแล้ว

อย่างเช่น เราเป็นเด็ก เราไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยี เราไปเห็นไฟมันติดตรงตามถนน พอมันสลัวมันติด.. เราก็คิดว่ามันติดเองนะ ! แต่ถ้าเป็นวิศวะ.. เขาหัวเราะ.. มันจะติดเองได้อย่างไร ไฟนั้น ระบบมันจะติดเอง เขาต้องมีแผงของมันนะ เขาต้องมีมันถึงจะติดเองของมันนะ

ไฟติดเองไม่ได้หรอก ! อัตโนมัติมันไม่มี !

แต่เพราะนักวิทยาศาสตร์เขาคิดค้นขึ้นมา เขาทำระบบของมันขึ้นมา แล้วเอาไปติดตั้งไว้ พอแสงมันสลัวมันก็ติดขึ้นมา..

นี่ก็เหมือนกัน มรรคที่การกระทำมันอยู่ตรงไหนไง เขาบอก เขาพูด “ผมทำอัตโนมัติ พอจิตผมมันเป็นอัตโนมัติแล้ว เพราะตามทฤษฎีมันเป็นอย่างนั้น ที่สูตรที่เขาสร้างขึ้นมา แล้วผมก็นั่งรอนะ นั่งรอแล้วเมื่อไรจะเป็นอัตโนมัติ แล้วเมื่อไรจะได้โสดาบันล่ะ”

ถ้าเมื่อไรเป็นโสดาบัน ?

ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติ อาจารย์เขาบอกว่า “ไม่ได้หรอก”

“เพราะอะไร”

“เพราะเอ็งอยาก.. ถ้าเอ็งลืมนะ เอ็งลืมไปเดี๋ยวเอ็งจะได้ ถ้าเอ็งอยากนะ เพราะความอยากมันเป็นกิเลสใช่ไหม ถ้าเอ็งอยากได้โสดาบันอีกชาติหนึ่งก็ไม่ได้ เอ็งเป็นอัตโนมัติแล้วนั่งเฉยๆ นะ เดี๋ยวโสดาบันจะหล่นทับเท้าเอ็ง” เพราะมันไม่มี มันเป็นสิ่งที่มันไม่มี

แต่พอเรามี เราจะบอกว่า เราจะให้กำลังใจว่า “เวลาเรามีขึ้นมา กว่าเราจะรักษาของเรานะ เราจะทำของเรานะ มันมีตามข้อเท็จจริง” เพราะอะไร เพราะหลวงปู่มั่นบอกว่า “ปลาในสุ่ม” จิตใจมันอยู่ในร่างกายของเรา เราตั้งสติแล้วค้นหา สุ่มนี้เราครอบจิตเราไว้แล้ว แล้วสติปัญญาเราจะค้นหาอย่างไร ? .. เราจับของเรา แล้วดูแลของเรา

นี่ ปลาในสุ่ม.. ร่างกายเหมือนสุ่ม จิตใจอยู่ในร่างกายนี้ แล้วเราทำไมหาปลาในตัวนี้ไม่เจอ แล้วถ้าหาตัวนี้ เราจะทำอย่างไร ?

อุบาย วิธีการ พุทโธๆ ว่าปัญญาอบรบสมาธิ.. ใช้ปัญญา ปลาในสุ่มที่มันจับแล้วมันก็ดิ้นไปดิ้นมาจับไม่ได้ เราก็ใช้ข่าย ใช้อะไรต่างๆ พยายามเข้าไป.. ความใช้ปัญญาอบรบสมาธิบ้าง ใช้ปัญญาแก้ไข ใช้ปัญญาหาทาง แล้วถ้ามันพอมันเหนื่อยก็กลับมาพุทโธๆๆ พุทโธนี่มันส่งเสริมกัน.. ใช้ปัญญาได้ แต่ปัญญาอย่างนี้ก็คือปัญญาหาความชำนาญในการจะจับปลาตัวนั้น

ถ้าได้ปลาตัวนั้นขึ้นมา.. ปลาอะไร ? ปลาอะไร ? นี่ปลาชนิดไหน ? มันเป็นพันธุ์อะไร ? พอจับจิตได้.. เราก็ค้นว่านี่ปลาอะไร ? มันชอบอะไร ? ปลานี้มันกินอาหารอะไร ? ปลากินพืช ปลากินปลา ปลากินเนื้อ ปลากินสัตว์..

ปลามันกินอะไร ? แล้วกิน.. กินเข้าไปอย่างไร ?

นี่เหมือนกัน จิตมันชอบอะไร ? จิตทำไมมันเป็นอย่างนี้ จิตเราทำไมดิ้นรนขนาดนี้ จิตเราทำไมมันให้ความทุกข์ขนาดนี้.. จิตก็เป็นเรา เราก็เป็นจิต แล้วจิตก็อยากมีความสุข แล้วเราก็อยากได้มรรคได้ผล แล้วจิตมันทำไมมันทำร้ายเรา ทำไมจิตมันทำลาย

นี่ ! แยกแยะดูปลา ! วิปัสสนาเกิดอย่างนี้ !

ถ้าจับปลาได้.. วิปัสสนาเกิดจนมีความชำนาญนะ จนมีความชำนาญ

ปลาทุกอย่างที่เวลาครูบาอาจารย์ท่านพูดออกมาเป็นบุคคลาธิษฐาน คือเป็นตัวอย่างทั้งหมดเลย แต่เวลาปฏิบัติขึ้นไปเป็นความจริงของเรา เราจับต้องเอง ทำเอง แล้วพอเราจับต้องเอง.. ปลา.. เพราะปลาจับแล้ว จับๆๆ เดี๋ยวมันตายนะ ปลามันตายขึ้นมานี่ยุ่ง ไม่ได้วิปัสสนาอีก..

แต่จิตมันไม่เคยตายนะ..

บุคคลาธิษฐานปั๊บ เราเปรียบเทียบ คำว่าเปรียบเทียบ พระพุทธเจ้าเทศน์ออกมาทั้งหมดมันเป็นบุคคลาธิษฐานทั้งหมด เป็นสิ่งที่เปรียบเทียบทั้งหมด

แต่ใครประพฤติปฏิบัติเข้าไปเห็นตามความจริงนั้นนะ “อ๋อ ! อ๋อ ! พระพุทธเจ้าหมายความว่าอย่างนี้เอง ! พระพุทธเจ้าหมายความว่า..” นี่ไง มันรู้จริงขึ้นมา นี่มันจะได้โสดาบัน ได้สกิทาคามี อนาคามี มันจริงตามการกระทำนั้น

มันไม่ใช่ว่า “โอ๊ย.. จิตอัตโนมัตินะ..” แล้วเขาเป็นคนปฏิบัติมา เขามีความคิดอย่างนี้จริงๆ แล้วเขาก็รอจริงๆ..

ตอนนี้เรามาคิดถึงว่าคนที่ทำอย่างนี้ แล้วนั่งรอโสดาบัน นั่งรอสกิทาคามี นั่งรออนาคามี เพราะจิตมันเป็นอัตโนมัติแล้ว แล้วเขาพูดเองเมื่อวาน เขาบอกว่า “พอจิตเป็นอัตโนมัติอย่างนี้ อาจารย์บอกว่านั่งรอได้”

การสอนของเขา “พอเราทำจิตเป็นอัตโนมัติ แล้วพิจารณาดูไป จนจิตมันรู้สามัญลักษณะทั้งหมดแล้ว แล้วมันเป็นอัตโนมัติแล้ว มันจะเกิดผลเอง มันจะเกิดผลเอง”..

เราถึงบอกว่า “อัตโนมัติคือไม่มี” เพราะพอเราอ่านแล้วเรารู้ๆ ถ้าเขาเทศน์อย่างนี้ เขาต้องมีมุมมองอย่างนี้ เวลาเขาเทศน์ เราถึงว่าคำพูดของคน เวลาเขาพูดกับเรา เขาต้องการอะไร ? เขาสื่ออะไร ? เขาหมายอะไร ? นี่คำพูดอย่างนี้ปั๊บ มันก็สื่อว่า “นี่ถ้าจิตเป็นอัตโนมัติแล้ว มันจะเป็นเองอย่างนี้”

.. มันคือมันไม่มี !

แต่ถ้าของหลวงตาท่าน ท่านบอกว่า “มันหมุนติ้วๆๆๆ เป็นอัตโนมัตินะ พอรวมลงแล้ว มันรวมลงมันสมุจเฉทปหาน.. กายเป็นกาย จิตเป็นจิต ทุกข์เป็นทุกข์นะ มันแยกเป็น ๓ ทวีปเลย ทุกข์เป็นทุกข์กัน” อัตโนมัติแล้วมันยังมีผล สมุจเฉทปหานแล้วมีการกระทำ

ยถา ภูตัง เกิดญาณทัศนะ เกิดความรู้ เกิดการกระทำ เกิดเห็นมรรค เห็นผล เกิดการว่า.. โอ้โฮ.. อัตโนมัติแล้วจะเป็นเอง

แต่ก็ได้ผลประโยชน์มาก เขาได้ผลประโยชน์ แต่ผลประโยชน์ก็อย่างที่เราว่ามันก็ได้ ๕ เปอร์เซ็นต์ของสังคมไทย เพราะมันต้องเป็นวุฒิภาวะ เป็นคนที่มีปัญญา แล้วค่อยๆ ใคร่ครวญ นี่เป็นบุญของเขา นี่เราทำของเราเพื่อประโยชน์กับเรา สิ่งที่เราทำไปมันก็ได้เห็นผลงาน เราเป็นประโยชน์ทำแล้วไม่สูญเปล่า เอวัง