เทศน์เช้า

หาที่พึ่งใจ

๒ ม.ค. ๒๕๔๓

 

หาที่พึ่งใจ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต

เทศน์เช้า วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๓
ณ วัดสันติธรรมาราม ต.คลองตาคต อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันที่ ๒ แล้วนะ เมื่อวานวันที่ ๑ พุทธศักราช ๒๕๔๓ พระพุทธเจ้าพาฉลาดมาไง แต่ถ้าเป็นวันเราขึ้นปีใหม่เราก็ต้องมีหลักใจเนาะ ไม่ว้าเหว่ไง ความว้าเหว่ไม่มีหลักใจ ใจไม่มีหลักนะ เราคิดกันแต่เรื่องหาที่พึ่งข้างนอกกันน่ะ

ฟังนะ พระสารีบุตรเป็นมาณพ อุปติสสะ มาณพ เป็นผู้ที่มีฐานะมาก ไปเที่ยวนะ ไปดูการเล่นละคร ไปตบรางวัลเขา ไปให้รางวัลเขา ไปจนแบบว่ามีการเล่นที่ไหนไปหมดๆ มีความสุขมาก แล้วไปไม่ใช่ไปธรรมดา จะมีบริษัทบริวารพาส่ง พาไปดู แล้วพอไปดูการละเล่น ที่ไหนมีการละเล่นไปได้หมด เพราะเป็นเศรษฐีมาก เป็นคนมีฐานะมาก

แต่เสร็จแล้วก็ไปกับพระโมคคัลลานะ นี่สัญญากันไว้ไง ไปก็เป็นเพื่อนคู่หูกันหมด พอไปถึงแล้วมันสลดใจ มันไม่มีที่พึ่งได้ เขามีฐานะจนแบบว่า ไปจนไม่มีที่จะไปว่าอย่างนั้นเถอะ จนหมดที่จะไป แต่มันก็ยังพึ่งไม่ได้ จนได้สัญญาว่าออกบวช ไปอยู่กับสัญชัย เห็นไหม

นั่นน่ะ เขาหาที่พึ่งด้วยสิ่งข้างนอก ปัจจัย ๔ ที่พึ่งอาศัย หาที่พึ่ง พึ่งไม่ได้ไง แล้วมาอยู่กับสัญชัย ไปอยู่กับสัญชัยก็ศึกษากับสัญชัยจนหมดนะ ไปถามสัญชัยว่าวิชาการหมดหรือยัง? มีเท่านี้ ก็อยู่กัน แต่ตัวเองรู้นี่เพราะเป็นนักปราชญ์ แล้วสร้างบุญบารมีมาก อธิษฐานว่าจะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

จนไปเจอพระอัสสชิไง เห็นพระอัสสชินี้สวยงามมาก เดินบิณฑบาตนิ่มนวลมาก กิริยาที่ว่านิ่มนวลอย่างนี้ หัวใจนั้นต้องมีธรรมในหัวใจ ถามว่าใครเป็นคนสอน ถามว่าศาสดาเป็นใคร

“อย่าเพิ่งถามให้มากไปเลย เพราะกำลังบิณฑบาตอยู่”

“ไม่ได้หรอก ควรจะบอกก่อนนะ”

“เราเป็นผู้ที่บวชใหม่...ธรรม ผลมาจากเหตุ ให้สาวไปหาเหตุ ดับที่เหตุ”

นั่นน่ะ พระสารีบุตรเป็นพระโสดาบันขึ้นมา แล้วเอาคำนี้ไปบอกพระโมคคัลลานะก็เป็นโสดาบันขึ้นมาทั้งคู่เลย นั่นน่ะ ถึงจะเริ่มมีที่พึ่งไง แล้วชวนกันออกมาหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อจะบวช ชวนอาจารย์มาด้วย อาจารย์ไม่มา นี่คนมันลังเล ลังเลตรงนี้ไง ชวนอาจารย์ให้อาจารย์มาด้วย อาจารย์ไม่มาเพราะอะไร

โลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก ถ้าคนโง่มากนะ คนโง่มากกว่าคนฉลาด เขาอยู่กับคนโง่ คนโง่มันหลอกลวงได้ง่ายไง คนฉลาดหลอกลวงได้ยาก นี่ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล ต้องคนฉลาดเท่านั้นถึงจะเข้าถึงหลักของศาสนาได้ ถ้าคนไม่ฉลาดเข้าแล้วมันงง เข้าไปแล้วอย่างไรมันก็งง

ถึงบอกว่า ๒๕๔๓ ปี องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ก่อน อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนชำระตนเองได้หมดก่อน เสวยวิมุตติสุขก่อนแล้ววางไว้เป็นหลักฐานมา แล้วก็คลุมเครือไปๆ เพราะนานเข้าประเพณีวัฒนธรรมคลุมเครือไป จนหลวงปู่มั่นมารู้ธรรมเข้า แล้วนิพพานไปแล้ว ๕๐ ปี ครบ ๕๐ ปีพอดี เห็นไหม แล้วหลวงปู่มั่นเป็นผู้ที่ชี้นำเบิกทางใหม่ไง

เราเป็นวิชาการไปแล้วมันเพี้ยนไปๆ ประเพณีวัฒนธรรมมันก็เพี้ยนไปๆ นี่หลักที่จะหาที่พึ่งมันหาที่พึ่งไม่ได้ แต่หลวงปู่มั่นมาก็มาเรื่องประเพณีนี่ มาแก้ไขประเพณีจนเข้าถึงหลักของธรรม แล้วถึงชี้นำไง คนที่เข้าถึงหลักความจริงได้ถึงจะชี้นำได้ถูกต้อง ชี้ให้เข้าถึงตรงนั้นไง

นี่เราถึงว่า กึ่งพุทธกาลนะ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้มาแล้วนิพพานไป ๒๕๔๓ ปี หลวงปู่มั่น กึ่งพุทธกาลก็ได้ ๕๐ ปีไง แล้วชี้ทาง เห็นไหม ไฟที่ว่ามันอยู่ตามทั่วไป ไฟที่เขาใช้งานอยู่เราก็เห็นปกติ แต่เวลามันมาช็อตเรา ทำไมมันให้ความเจ็บปวดแสบร้อนกับเราล่ะ จนถึงตายได้ เห็นไหม

อันนี้ก็เหมือนกัน เรามองแต่คนอื่น มองแต่ข้างนอก มองว่าศาสนาจะเป็นไป จะเป็นอย่างนั้น แล้วเราก็ทำไป มันก็ไฟไง มันอยู่ในสาย มันไม่ได้ให้ผลกับเรา แต่ถ้าเราประพฤติปฏิบัติ นี่เอาไฟมาช็อตเรา ช็อตถึงตัวเราเองเลย ไฟมันโดนถึงเรา นี่ธรรม มันกระเทือนถึงใจไง แล้วคนที่จะชี้ได้ ใครจะกล้าชี้ว่าสิ่งนั้นออกจากสายไฟนั้นมาถึงเราได้ ประเพณีวัฒนธรรมมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นทั่วไปๆ แต่คนที่จะมาสอนอย่างนั้นต้องสอนในหลักการนั้น เห็นไหม แล้วไม่รู้จริงไง

แต่องค์หลวงปู่มั่นนี่รู้จริงก่อน รู้จริงแล้วถึงชี้ออกมา นี่ที่พึ่งจริงของเราชาวพุทธไง นี่ผู้ที่ฉลาด ฉลาดตรงนั้น

ว่าคนที่ฉลาดมีน้อย คนโง่มีมาก สัญชัยบอกกับพระสารีบุตรไว้อย่างนั้นเลย แล้วถึงไม่ยอมมา อยู่อย่างนั้น แต่พระสารีบุตรยอมทิ้งอันนั้นมา ยอมทิ้งความเห็นส่วนใหญ่ เห็นไหม พวกหมู่มาก เวลาลงเสียงโหวตเสียง เขาต้องชนะมากกว่า เราคนหมู่น้อย ผู้ที่หมู่น้อยหมายถึงผู้ที่มีปัญญาหมู่น้อย พูดกับเขานี่สู้เขาไม่ได้ แต่หลักการดีกว่าเขา นี่หลักที่พึ่ง

โลก ถ้าโลกของเขาอยู่กับโลกของเขา อาศัยสิ่งที่ว่าอุปติสสะทิ้งมาตั้งแต่สถานะของเศรษฐีมาก่อน ทิ้งสถานะของผู้ที่ไปเที่ยว อาศัยสิ่งที่ว่าเป็นโลก อาศัยไม่ได้ ทิ้งมา เห็นไหม แล้วเข้ามาศึกษาหลักของศาสนา ไปหาสัญชัยก่อน ว่าจะเอาที่พึ่งของใจได้ อันนั้นเป็นที่พึ่งของกาย

กาย เห็นไหม หาที่พึ่งของกาย กายอาศัยปัจจัย ๔ เครื่องอยู่อาศัยของกาย แต่หัวใจมันไม่พอหรอก หัวใจมันไม่พอ เพราะว่าอาศัยกาย สุขขนาดไหน ถึงที่สุด เจ้าชายสิทธัตถะอยู่ในปราสาท ๓ หลัง มันก็ยังมีความรู้สึกว่ามีการเกิดและการตาย การเสียชีวิตไปชาติหนึ่งๆ เป็นการเสียโอกาสเป็นอย่างยิ่ง จะแสวงหาอย่างไร หาทางออกให้ได้ เห็นไหม ปัจจัย ๔ คือว่าในเครื่องอยู่อาศัยมีปราสาท ๓ หลัง มีทุกอย่างพร้อมหมด บำรุงบำเรอไปหมด แต่มันก็ยังหาความสุขให้ใจไม่ได้ ต้องออกแสวงหา

อุปติสสะก็ออกแสวงหา ไปอยู่กับสัญชัย แสวงหาในทางที่ผิด เจ้าชายสิทธัตถะออกไปถึง ๖ ปี...๖ ปี แสวงหาทางที่ผิดมาเรื่อยๆ ทางที่ผิดหมายถึงว่าอย่างไร ทางที่ผิดหมายถึงว่าไปศึกษากับลัทธิใด ลัทธิใดก็สอนของเขาขนาดนั้น แต่มันยังไม่มีไง

นี่ผู้ที่มีปัญญามาก เห็นไหม ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา เพราะว่าภาวนามยปัญญา คือว่ามันเป็นปัญญาเหมือนกัน แต่ปัญญามันไม่มีปัญญาในโลกไง ความปัญญาในโลกเขาเป็นจินตมยปัญญา นี่นักวิทยาศาสตร์เป็นจินตมยปัญญา สุตมยปัญญา การศึกษามา ภาวนามยปัญญาเกิดขึ้นมาจากการที่ว่าเราดันของเราขึ้นไป ภาวนามยปัญญาดันขึ้นไปถึง แล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไรล่ะ

มันเป็นที่ว่าอธิบายทางโลกเขาไม่ได้เลย ทางโลกเขาอธิบายไม่ได้เลย เพราะว่ามันพูดออกไป คำพูดอ้าปากออกมา ที่ว่าอธิบายไม่ได้ เพราะว่าเริ่มพูดออกมานั่นก็คือสมมุติทั้งหมดแล้ว ภาวนานี่มันเข้าไปอ๋อกันไง มองตาสบตาแล้วรู้กันแล้วเฉยไง แต่ถึงจริง รู้จริง จะรู้แล้วเฉยเพราะอะไร เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ว่าธาตุรู้ ธาตุรู้ว่ามีหรือไม่มี เวลาบอกนิพพานมีหรือไม่มี ไม่มีแล้วที่รู้อยู่นี่รู้อะไร

แต่รู้ภายใน เห็นไหม รู้ไม่ใช่รู้ของขันธ์นี่

รู้ของขันธ์ ขันธ์คือสังขารขันธ์ ความจำได้หมายรู้ นี่ขันธ์ มันหมุนไป รู้ของขันธ์แล้วใครเป็นคน...นี่พลังงานไฟฟ้าที่ว่าอยู่ในสายไฟมันใช้อยู่ทุกวัน ความคิดเกิดขึ้นทุกวัน ดับทุกวัน แล้วมันมีเราอยู่ตลอดเวลา นี่ความคิดของโลกเขา นี่จินตมยปัญญาอยู่ในขันธ์ ๕ สุตมยปัญญาศึกษาออกมาจากข้างนอกนะ ศึกษาตามตำราเข้ามา ศึกษาเข้ามาๆ ภาวนามยปัญญามันเกิดจาก...

ถ้ายังเป็นเราอยู่ เห็นไหม เราคิดอยู่นี่เป็นจินตมยปัญญา พอจินตมยปัญญา มรรคอริยสัจจังนี้มันถึงหมุน...มรรคมันหมุนไม่เป็นธรรมจักร คือว่าไม่เป็นกลาง ไม่เป็นกลางเพราะว่ามีเรา มีความคิดเรา ความคิดคืออุปาทาน เห็นไหม อุปาทานจิตใต้สำนึกมันจะผูกพันกับเราไปตลอดเวลา ผูกพันกับความคิดนี่ เวลาพลังงานมันส่งออกมาแล้วอยู่ในขันธ์ ขันธ์นี้หมุนไปเพราะเราสั่งให้ขันธ์นี้หมุนไป

แต่ถ้าเราไม่มีเรามันก็หมุนในธรรมชาติมันเอง ธรรมชาติมันเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว ความคิดมันหมุนมาๆ ตลอด มันเกิดดับๆ เราบังคับไม่ได้ จะหยุดคิดบางทีก็หยุดได้ถ้าสติเราดี แต่เวลาภาวนาเข้าไปๆ นะ ความคิดมันก็เกิดขึ้นเหมือนกัน นี่ความคิดเกิดขึ้นก็ยังมีเราอยู่ เพราะเราอันนี้ เราเห็นแล้ว เรายับยั้งได้ แล้วเราก็คิดได้ เพราะว่าจิตกับขันธ์มันแยกออกจากกัน

เห็นไหม ระหว่างจิตกับขันธ์ ระหว่างจิตน่ะ หัวใจกับขันธ์ ๕ มันทำงานอย่างไร ระหว่างจิตกับกิเลสมันทำงานอย่างใด กิเลสมันตัวผูกมัดให้มันทำงานไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัว เวลามันไม่รู้สึกตัวมันก็หมุนไปๆ

แต่พอเวลาสมาธิ มรรคอริยสัจจังที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้นี่ อันนี้ต่างหาก อันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้นี่มันไม่มีในโลกนี้เลยในสมัยนั้นนะ เพราะพระพุทธเจ้าต้องมาตรัสเป็นหนึ่งเดียว พระพุทธเจ้ามีองค์เดียว จะไม่มีใครรู้อันนี้มาก่อน ถึงไปศึกษากับใครมา ผู้นั้นถึงไม่รู้

ผู้ที่ไม่รู้แล้วก็พูดกันไป ประสาที่ว่าไม่รู้ นี่พวกหมู่ใหญ่ คนที่เข้าไม่ถึง คนเข้าถึงเข้าไม่ถึงมันมีน้อยมาก พอมีน้อยมาก มันไม่มีเลยด้วย แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ก่อน ถึงได้บอกเป็นวิชาการไว้ เป็นมรรคไว้ให้เราเดินตาม

พอเราเดินตาม เราเดินตามเข้าไป เราจะเดินตามเข้าไป สิ่งที่ต่อต้านออกมามันก็เป็นจินตมยปัญญาไปก่อน มรรคนี้มันถึงว่าไม่เป็นภาวนามยปัญญา จนกว่ามันจะเป็นกลางขึ้นมา เป็นภาวนามยปัญญาขึ้นมา มันจะปล่อยวางขึ้นมาเรื่อยๆ มันจะวิปัสสนาเข้าไปไง ให้ระหว่างกิเลสกับจิตกับขันธ์กับจิตนี่แยกตัวออกจากกัน แยกตัวออกจากกัน เห็นไหม กิเลสมันซ้อนอยู่ตรงกลาง

ขันธ์กับจิต กิเลสมันผูกมัดไว้อยู่ แยกออกจากกันด้วยจิตแก้จิต ด้วยความคิดแก้ความคิด ด้วยภาวนาจากข้างใน ไม่ใช่ความคิดจากข้างนอก ถ้าเป็นความคิดขันธ์ ความคิดรวบยอด แต่ถ้าเป็นความคิดด้วยภาวนามยปัญญา นี่ความคิดแยกออก แยกออกจากตรงกลางนั้นน่ะ แยกออกระหว่างขันธ์กับจิตนี้แยกออกจากกัน แล้วกิเลสอยู่ตรงกลางนั้นหลุดออกไป นี่มันปล่อยวางไปชั่วคราวๆ เข้าไป เห็นไหม นี้คือที่พึ่งของหัวใจไง

เราไปหาที่พึ่งภายนอกกัน เราว่าเราจะหาที่พึ่งภายนอกกัน เราเกิดมามีวาสนานะเราเกิดมา เราเกิดขึ้นมาแล้วเราเกิดมาพบพระพุทธศาสนา ทีนี้ ศาสนาคำสอนนั้นน่ะ เพราะสอนไว้ตั้งแต่หยาบๆ ถึงละเอียดขึ้นมา เห็นไหม จากหยาบที่สุด แล้วเราเข้าไปเราก็เอาทาน ศีล ภาวนา

ทาน ศีล ภาวนา ศีล สมาธิ ปัญญา...ทาน เห็นไหม ทำทานเหมือนกับพลังงานขับเคลื่อนที่ว่าใช้หมดไปเรื่อยๆ แต่เราก็สะสมได้ตลอดเวลา พลังงานขับเคลื่อน ทาน ทานทำให้มีโภคทรัพย์ ศีล ศีลทำให้เราปกติสุขของเรา แล้วสมาธิทำให้ใจตั้งมั่น พอใจตั้งมั่นขึ้นมา ปัญญามันเกิด...ปัญญามันเกิด มันจะเห็นคุณค่าของใจไง

คุณค่าของใจกับคุณค่าของกาย เราเกิดเป็นชาวพุทธ เรามีกายอยู่แล้ว เราก็อาศัยหาสิ่งต่างๆ มาเพื่อกายๆๆๆ แต่เราไม่ได้หาเพื่อใจ หาเพื่อใจก็หาแต่เปลือกๆ เห็นไหม หาเปลือกๆ หมายถึงว่า ลูบคลำๆ เข้าไม่ถึงภายในของใจ พอเข้าไม่ถึงภายในของใจมันก็ไม่เห็นผลน่ะสิ ความไม่เห็นผลก็คิดว่า อ๋อ! มันหมดกาลหมดเวลา เราทำไปก็ไม่ได้ผล นี่พอหมดกาลหมดเวลา

ความเพียรอยู่กับเรานะ กิเลสอยู่กับเรา ถ้าเรามีความเพียรอยู่นี่ อะไรมันจะหมดกาลหมดเวลา มันจะหมดกาลหมดเวลาไปที่ไหน ในเมื่อเรายังมีความทุกข์อยู่ เราจับต้องทุกข์ได้อยู่ ทุกข์มีจริงอยู่ เห็นไหม แล้วเราจับต้องทุกข์ได้ในกำมือของเรา แล้วเรามีความร้อน พลังงานมันถึงมีความร้อน อันนี้เราจับต้องได้ มันต้องแก้ไขได้

นี่สิ่งใดทุกข์มีอยู่ แก้ทุกข์ได้ มันไม่มีกาลไม่มีเวลา อกาลิโกแน่นอน แต่เพราะความไม่เชื่อของเรา ทีแรกไม่เชื่อของเราก่อน พอต่อไปก็เริ่มสงสัย ความไม่เชื่อของกิเลสไม่ใช่เราแล้ว เพราะเราเชื่อในธรรม เราเชื่อในธรรมว่ามันต้องมีจริง แต่ความลังเลสงสัยอันนั้นคือกิเลส เห็นไหม ถ้าเราเริ่มปักใจเต็มที่เข้าไป ปักใจเต็มที่เข้าไป ปักใจหมายถึงว่าเต็มที่เข้าไปเลย ความเชื่ออันนั้นมันยุบยอบกิเลสลง อันนั้นเป็นความเชื่อข้างนอก แต่ถ้าพอวิปัสสนาเข้าไป มันไม่ใช่ความเชื่อ มันเป็นความเห็นโทษ

ความเชื่อนี้เกิดขึ้นมาจากเรารับมาจากภายนอก แต่ความเห็นโทษของเรา ถ้าเราเห็นโทษของมัน เราจะสลัดออก นี่คือการแก้ไขใจ ถ้าแก้ไข กายนี้ก็ว่ามันดำรงอยู่นี่มันเป็นบุญกุศลที่เราเกิดกายขึ้นมาเท่านั้นเอง เราเกิดกายขึ้นมา แล้วเพราะบุญกุศลนี้เกิดกาย พอกายขึ้นมาเราพบพระพุทธศาสนา แต่มันต้องตายไปไง กายนี้ถึงเป็นสมบัติชั่วคราว

แต่หัวใจนี่มันแปลกประหลาดนะ มันไม่ใช่สมบัติชั่วคราว เกิดเป็นเรานี้ก็เป็นเรานะ แล้วก่อนจะเป็นเรานี้มาจากไหนมันถึงมาเป็นเรา ตายแล้วก็ยังไปเกิดต่อไปอีก นี่หัวใจถึงว่า ไม่ใช่ของชั่วคราว ของจริง แต่โดนสถานะของมนุษย์นี้ปกคลุมไว้ชั่วคราว ฐานะของผู้มีบุญกุศลปกครองไว้ชั่วคราว นี่ความอาศัยกายนี้มันถึงอาศัยได้ชั่วคราวไง แล้วเราเอาของที่เป็นชั่วคราวนี้ปรนเปรอกับของชั่วคราว หาปัจจัย ๔ มาปรนเปรอของชั่วคราวได้อย่างไร นี่หลักที่ว่าเราผิดพลาดตรงนี้ไง

ถึงว่า ผู้ที่มีปัญญา เราเป็นชาวพุทธนะ พุทธศาสนาสอนเรื่องใจนี่มันสัมผัสกับธรรมได้ แต่หัวใจ ร่างกายนี่อาศัยกันอยู่ มันกระเทือนได้อยู่ เวลาพระพุทธเจ้าเปิดโลก เวลาโลกธาตุหวั่นไหว ธาตุ ๔ ของเรานี้หวั่นไหว ขนพองสยองเกล้า นี่โลกธาตุหวั่นไหว

เวลาเราตกใจ เรากลัวอะไร เราจะขนพองสยองเกล้า นี่ก็โลกธาตุหวั่นไหว แต่หวั่นไหวด้วยความตกใจ ด้วยความกลัวไง แต่ทำคุณงามความดีเข้าไปนะ ถึงที่สุดนะ ขนพองสยองเกล้า โลกธาตุนี้หวั่นไหวไปหมดเลย

เวลาโลกธาตุมันหวั่นไหวภายนอก เห็นไหม พายุฝนเกิดขึ้น โลกนี้มันหมุนไป มันหวั่นไหวไป แต่ธาตุ ๔ ของเราไม่เคยหวั่นไหวเลย ไม่เคยรู้สึกตัวเองไง แต่พอมันสะเทือนขึ้นมานี่มันจะรู้สึกตัวเอง มันจะสลดสังเวชไง นี่โลกธาตุหวั่นไหว หวั่นไหวไปทางไหน

ถ้าเราไปตกใจกับสิ่งที่ว่าเป็นโลก นี่เราตกใจไป หวั่นไหวไปในทางที่ผูกมัดไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเป็นธรรมขึ้นมา มันละเอียดอ่อนขึ้นมา ใจสงบเข้าไปๆ แล้วมันไปเห็นภายในเข้าไป มันจะสะเทือนหัวใจนะ โลกธาตุหวั่นไหวนะ จนน้ำตาไหลออกมาโดยธรรมชาติของมันเอง เห็นไหม นี่คือน้ำตาที่ผูกมัดมันพลัดพราก มันไหลออกมาเพื่อจะชำระล้างไง

มันจะหลุดออกไปได้ ความหวั่นไหวอันนี้ โลกธาตุหวั่นไหว โลกธาตุหวั่นไหวก็โลกของกายหวั่นไหว มันจะต้องสลัดทิ้งกันไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง เวลามา เห็นไหม เวลาเกิดขึ้นมา นกมันลงเกาะสู่ต้นไม้ ลงไปนิ่มนวลมาก เกาะต้นไม้ แล้วมันก็มีความสุขในต้นไม้อยู่พักหนึ่ง เวลามันจะบินจากต้นไม้นั้นไปนะ มันต้องบินกระพือปีกออกไป ต้นไม้นั้นก็ไหวไปหมด ตัวมันเองก็ไหวไปหมด

นี่ก็เหมือนกัน เวลาเราเกิดมาเป็นมนุษย์ เวลามาเกิดนี่มาด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส แต่เวลาจะไป นี่ต่างคนต่างต้องไป ต่างคนต่างต้องหาที่พึ่งไง ที่พึ่งของกายมันมีอยู่แล้ว เราก็หา นี่ที่พึ่งของกาย มันอย่างไรก็ช่วยเหลือกันได้ แต่ที่พึ่งของใจต้องของใครของมันนะ ที่พึ่งของใจ ใจนั้นมีที่พึ่ง มันก็ไปดี ใจไม่มีที่พึ่ง เห็นไหม ใจว้าเหว่ ใจไม่มีที่พึ่ง ถ้าใจว้าเหว่มันก็ให้ความทุกข์ตั้งแต่ปัจจุบัน

จะไปสุคโตต้องหาใจที่มันจะมีที่พึ่งได้ นี่ต้องศีล สมาธิ ปัญญาไง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นรัตนตรัย เป็นแก้วสารพัดนึก แต่เรานึกไม่ออกเพราะว่าเราไปนึกแต่ว่ามันจะนึกอย่างไร พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นแก้วสารพัดนึก เพราะว่าพอใจนี้มันนึกถึงพระพุทธ พระธรรม คำสั่งสอนพระพุทธเจ้า แล้วฝึกปรือไป ใจนี้มันจะเป็นธรรมโดยธรรมชาติไง นั้นคือนึกเป็นแก้วสารพัดนึก ใจมันจะเป็นไปเอง พอใจเป็นไปเอง นั่นน่ะ มันนึกได้ตลอด

แต่ใหม่ๆ ยังนึกไม่ออก พอนึกไม่ออกน่ะ ทำไมพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมลงเป็นที่ใจ ใจนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมลงที่ใจ ใจนี้เป็นเอกเทศขึ้นไปเลย เอกเทศเพราะอะไร

เพราะนิพพานเป็นส่วนบุคคล นิพพานเป็นของใครของมัน นิพพานของพระพุทธเจ้าเป็นของพระพุทธเจ้า นิพพานของพระสารีบุตรเป็นของพระสารีบุตร นิพพานของหลวงปู่มั่นเป็นของหลวงปู่มั่น นิพพานเป็นของแต่ละบุคคล เห็นไหม เป็นของส่วนบุคคล สมบัติส่วนตน เป็นของคนคนนั้นไง แต่เสมอกันด้วยความเสมอกันอันเดียวกัน

ถึงว่า ใจนี้เป็นเอกเทศ ใจถึงมีที่พึ่งได้ไง ใจมีที่พึ่งได้เพราะเราหามา แล้วพอเป็นที่พึ่งได้มันก็เป็นที่พึ่งของคนอื่นต่อๆ ไป

อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนได้ เห็นไหม ไม่เบียดเบียนตนและไม่เบียดเบียนผู้อื่น มันจะเบียดเบียนตนไปได้อย่างไรเพราะมันเห็นโทษ อันนี้เป็นโทษ ไม่เบียดเบียนตน พอไม่เบียดเบียนตน ผู้อื่นก็พึ่งได้สิ ถ้าเบียดเบียนตนอยู่ ตนยังเอนเอียงอยู่ มันเป็นที่พึ่งเขาไม่ได้ ตัวเองก็พึ่งตัวเองไม่ได้ ให้คนอื่นพึ่งมันก็พึ่ง เขายิ่งไม่อยากจะพึ่งใหญ่ เพราะอะไร เพราะมันต้องไปพึ่งเขาไง ถ้าหลักใจมันตั้งอยู่ได้ นี่มันไม่ต้อง...

ต้นไม้ใหญ่ นกกาเข้าไปอาศัย ต้นไม้นั้นน่ะอาศัยอยู่ เกาะเกี่ยวอยู่ มันพึ่งตัวเองไม่ได้ เห็นไหม นี่มันถึงว่าสำคัญตรงนี้ไง สำคัญใจพึ่งได้แล้ว ใจพึ่งได้แล้วถึงให้ผู้อื่น ถึงเป็นสมบัติส่วนบุคคล แต่มันก็เป็นกลาง เป็นธรรมสมบัติ เป็นของกลางไปหมด นั่นน่ะ มันถึงว่า กลางมันก็กลางโดยมีผู้รับ ว่าอย่างนั้นเลยนะ

ถึงว่า ทำไปแล้ว ยิ่งสละออกเท่าไรยิ่งได้มากเท่านั้น ยิ่งไม่สละออกยิ่งไม่ได้

นี่ก็เหมือนกัน เราทำบุญเราสละออกไปนี่ เราสละออกไปเราถึงได้มา เราทำบุญกุศล เห็นไหม ไม่สละออกไปจะได้มาอย่างไร ความสละออกไปนี้เป็นวัตถุ ความพอใจ ความอิ่มใจ อันนี้เป็นเริ่มต้น เขาบอก อันนี้เป็นเป็นความโกหกกัน...โกหกไม่ได้ ถ้าเป็นการโกหกกันเราต้องนึกเองโดยที่เราไม่สละออกได้สิ แต่ถ้าเราเคยสละออก ประสบการณ์ตรงไง ใจนี้มันเคยสัมผัสมันถึงจะรู้ ถ้าใจนี้ไม่สัมผัสโดยตรง แล้วมันจะเอาอะไรนึก นึกอย่างไรก็นึกไม่ออก

มันถึงว่า เดาไม่ได้ ธรรมะนี้เดาไม่ได้ด้นไม่ได้ มันจะเป็นปัจจัตตังรู้จำเพาะตน แล้วกิเลสมันจะหลุดไปเป็นขั้นๆ ตอนๆ

แต่สมัยพุทธกาลนี่ผู้ที่สร้างมา ผู้ที่ปฏิบัติรู้เร็วเห็นเร็ว อาสนะเดียวนี่รู้เลย มี มีอยู่เหมือนกันที่ว่ารู้เลย แต่รู้แล้วมันก็รู้เป็นขั้นตอนเหมือนกัน เพราะว่าจิตมันปกคลุมไว้เป็นขั้นเป็นตอนขึ้นมา เห็นไหม บุคคล ๘ จำพวก โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล เดินอย่างไร มรรคเดินอย่างไร ไม่อย่างนั้นครูบาอาจารย์สอนได้อย่างไร องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนลูกศิษย์ได้อย่างไร

สอนหมด ต้องรู้เท่ารู้ทัน รู้หมด มันถึงจะเป็นปัจจัตตัง แล้วมันเป็นธรรมอันเดียวกันไง

ถ้ารู้ต่างกัน ผู้ที่ปฏิบัติเร็วกับปฏิบัติช้านี่รู้ต่างกัน มันต้องมาเถียงกันในขั้นของธรรมะสิ...ธรรมะจะเถียงกันได้อย่างไรในเรื่องของธรรมะนะ แต่จะเถียงกันด้วยความชอบ จะเถียงกันด้วยจริตนิสัย จริตนิสัยนี่มีการแตกต่างกัน