หมาไล่เนื้อ
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
เทศน์พระ วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๓
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม(วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ตั้งใจฟังธรรม เราเป็นพระ เราบวชมามีเป้าหมาย วันนี้วันสำคัญ พรุ่งนี้วันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษาคือวันอธิษฐานพรรษา การอธิษฐานพรรษาเห็นไหม เราอยู่มากัน ๑ ปี พ้นไป ๑ ปี เวลาฤดูกาลผ่านพ้นไป นี่เข้าฤดูฝน เราจะอธิษฐานพรรษาวันพรุ่งนี้
ดูสิ ดูพระจักขุบาลอธิษฐานพรรษา ถือธุดงควัตร ถือเนสัชชิก ไม่ยอมนอน ถึงเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยขึ้นมา ถ้าไม่นอนนี่ตาบอดนะ ตาบอดให้มันบอดไป นี่ด้วยความเข้มแข็งเห็นไหม ถึงเวลาตาจะบอดขึ้นมานี่ เพราะการวิกฤตในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมา ในการวิกฤตคือว่าปัญญามันหมุนของมันขึ้นไป แต่สภาพร่างกายมันวิกฤตมาก แต่เพราะความเข้มแข็ง จิตใจมันจะผ่านพ้นไปได้ แต่ทางการแพทย์ ทางโลก ถ้าเราไม่พักผ่อนตาบอดนะ หมอเขาเตือนขนาดนั้นนะ
แต่พระจักขุบาลก็ยังเข้มแข็ง ตาบอดให้มันบอดไป เวลาตาบอดขึ้นมา แต่ความคุ้มค่าของจิตที่มันผ่องแพร้ว ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ถ้าถึงที่สุดแห่งทุกข์นะ ตาบอดพร้อมกับจิตที่มันสว่างไสวขึ้นมา จิตที่มันพ้นจากกิเลสขึ้นมา
นี่เหมือนกัน ในวันเข้าพรรษานี่ เป็นคติให้พวกเราระลึกว่า พระจักขุบาลอธิษฐานพรรษา ถือเนสัชชิก ถือธุดงควัตร เราก็เหมือนกัน ถ้าเรามีเป้าหมายขึ้นมานะ ถ้าบวชมาเป็นประเพณี บวชมาเพื่อแทนคุณพ่อแม่นั้นอีกกรณีหนึ่ง บวชมาเป็นครั้งเป็นคราวก็อีกกรณีหนึ่ง แต่บวชด้วยความมุ่งหมาย บวชด้วยเป้าหมาย บวชด้วยการที่จะพ้นจากทุกข์ ถ้าพ้นจากทุกข์ เราจะต้องมีความเข้มแข็ง เราต้องมีสัจจะ พอมีสัจจะ มีการตั้งเป้า แล้วเราจะทำสู่เป้านั้น
ถ้าทำสู่เป้านั้น เวลาประพฤติปฏิบัติขึ้นมา เวลาปัญญามันก้าวเดินออกไป ถ้ามีปัญญาก้าวเดินออกไป มันจะเห็นระหว่างจิตที่มันเปลี่ยนแปลงจากปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน ปุถุชนคนหนาด้วยกิเลส จะทำสิ่งใดมีแต่ความขาดตกบกพร่อง แต่ถ้ามันมีความเข้มแข็ง มีสติ มีปัญญา มีการใคร่ครวญ มีการพิจารณา มีการกระทำ จากปุถุชนมันจะเป็นกัลยาณปุถุชน
กัลยาณปุถุชนหมายถึงว่าจิตนี้มันพัฒนาขึ้นไป ด้วยสติและปัญญารักษา ถ้าสติและปัญญารักษา มันจะรักษาให้จิตนี้เข้มแข็งขึ้นมา มันมีการเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงนี้มันเป็นปัจจัตตัง มันเป็นความรู้จริงของจิตดวงนั้น ถ้าจิตดวงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้ จิตดวงนั้นจะมีการกระทำ มันเห็นการกระทำ ขณะที่ปัญญาก้าวเดินออกไป เวลาก้าวเดินออกไปมันเห็น พอเห็นผลขึ้นมา คนเรามันจะมีใจ มีหัวใจ มีกำลังใจ มีการกระทำ
มันเหมือนกับทางโลก อาชีพของทางโลกเขา ดูสิ นักกีฬานี่ หมาไล่เนื้อ ขณะที่จิตใจ ร่างกายเข้มแข็ง ทักษะกำลังดี อายุกำลังใช้งานได้ มันจะแข่งขัน จะทำสิ่งใดขึ้นมา จะประสบความสำเร็จ จะชนะคู่แข่งตลอดเวลา แต่เวลามันร่วงโรยไป พอเวลามันล่วงลงไป มันก็มีคลื่นลูกใหม่ขึ้นมาแทนคลื่นลูกเก่า
นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อปัญญามันเกิดขึ้นมานี่ มันเห็นสภาวะของปัญญาที่มันไล่ต้อนกิเลส มันเห็นปัญญาที่ไล่ต้อนกิเลสในหัวใจของเรา เห็นโอกาสของเรา เห็นความดำรงชีวิตของมนุษย์ เห็นความที่มนุษย์เห็นโทษของมัน แล้วออกแสวงหาเป็นสมณะ เพื่อจะพ้นจากกิเลส นี่เห็นโอกาสของมนุษย์ ที่จากมนุษย์แล้วออกไปเป็นเพศนักบวช เพศสมณะ เราเห็นโอกาสในเพศสมณะ เห็นโอกาสของการนั่งสมาธิ เห็นโอกาสของการประพฤติปฏิบัติ
เวลาเราบวชขึ้นมา สังคมทางโลก ดูสิ เวลาบวชวัดทั่วๆ ไป เขาก็อยู่เพื่อให้มันหมดเวลาไป หมาไล่เนื้อ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นหมาไล่เนื้อ ตัวเองเพลิดเพลินกับชีวิตของตัว นักกีฬาขณะที่เขามีโอกาสของเขา เขาได้รับรางวัลของเขา เขาได้รับผลตอบแทนของเขา เขาใช้ชีวิตของเขาด้วยการปรนเปรอความสุข ความเสพสุขในชีวิตของเขา แล้วเวลาหมดกาลเวลาของเขา ที่เขาหมดเวลาในการที่เขาจะแข่งขัน หมดเวลาที่เขาจะได้ผลตอบแทน เขาจะเป็นหมาแก่ๆ หมาที่ไม่มีใครต้องการ หมาที่สังคมปฏิเสธ
ชีวิตเราเป็นอย่างไร โอกาสของเรานี่ ใน ๑ พรรษา ๓ เดือนนี่ เราจะเป็นหมาไล่เนื้อ หรือเราจะเห็นผลของมัน ถ้าเราเห็นผลของมัน เรามีความตั้งใจของมัน เรามีความตั้งใจขึ้นมา เราจะไม่เป็นหมาไล่เนื้อ ความที่เป็นหมาไล่เนื้อ เราก็เห็น สังคมนี่เขาก็สั่งสอนกันมา เขาก็เตือนกันมา นี่ชีวิตของเรามันเป็นหมาไล่เนื้อ เวลามีโอกาสใช้ประโยชน์ เขาก็ใช้เรา เวลาเราหมดประโยชน์ไปแล้วเขาก็ถีบส่ง ชีวิตเรา ขณะที่เรามีกำลังอยู่นี่ ขณะที่เรามีสติปัญญาอยู่นี่ เราจะปล่อยให้เราเป็นหมาไล่เนื้อ หรือเราจะมีสติปัญญาเพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
วันจะเข้าพรรษาวันพรุ่งนี้ มันต้องตั้งสติขึ้นมา แล้วถามตัวเอง ถ้าการถามตัวเอง มีประโยชน์คุณค่าที่สุด ถ้าเราถามตัวเองว่าเราจะเป็นอะไร เราจะเป็นหมาไล่เนื้อ หรือเราจะทรงธรรม หรือเราจะมีสติปัญญา หรือเราจะต่อสู้กับกิเลสของเรา ถ้าเราจะต่อสู้กับกิเลสของเรา ดูสิ นักกีฬา อะไรทุกอย่างก็แล้วแต่ เขาก็ต้องมีการฝึกฝนของเขา เขาต้องมีโค้ชของเขา เขาต้องมีผู้แนะนำของเขา ไอ้นี่เราพร้อมไหม สถานที่เรามีไหม สถานที่เราก็แสวงหาของเราแล้ว นี่แม้แต่เพศที่ได้มานี่เราก็แสวงหาเห็นไหม
ดูสิ มนุษย์เขาอยู่กับทางโลก เราเห็นภัยในวัฏสงสารใช่ไหม เราถึงหลีกเร้นมา เรามาเป็นนักรบเพื่อจะรบกับกิเลส ถ้ารบกับกิเลส เราบวชแล้วนี่ วันเข้าพรรษา ครูบาอาจารย์ท่านทำมาได้นะ พระจักขุบาลเห็นไหม ตั้งสัจจะอธิษฐาน เรานี่อธิษฐานธุดงค์ ธุดงค์ของเรานี่ใครทำได้ก็อธิษฐานธุดงค์ ถ้าเราทำของเราได้ อธิษฐานธุดงค์นี่ มันก็มีขอบเขตไม่ให้ความคิดมันฟุ้งซ่านไปตามแต่จินตนาการของมัน มันต้องการตามแรงปรารถนาของมัน เรามีขอบเขตเห็นไหม
ศีลในศีล ศีล ๒๒๗ ธุดงควัตร ๑๓ นี่ เป็นศีลในศีล นี่จะถือหรือไม่ถือไม่ปรับอาบัติ ศีล ๒๒๗ จะถือหรือไม่ถือ ในเมื่อบวชเป็นพระแล้ว ศีล ๒๒๗ ผิดคือผิด ผิดด้วยความไม่รู้ ผิดด้วยความลังเลสงสัย ผิดด้วยความผิด ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นี่อาบัติเป็นได้ ๓ อย่าง
แต่ถ้าธุดงควัตรไม่เป็น ถ้าเราไม่ถือไม่เป็น ไม่ถือธุดงควัตรไม่เป็นอาบัติ แต่ถ้าเราถือธุดงควัตรขึ้นมาแล้ว นี่สัจจะ ตั้งสัจจะแล้วเสียสัจจะเห็นไหม นี่หมาไล่เนื้อ เห็นตั้งใจว่าจะตะครุบให้ได้ แต่ทำตัวเองไม่ได้ เราจะไม่ทำชีวิตอย่างนั้น ถ้าเราไม่ทำชีวิตอย่างนั้นเราต้องตั้งสตินะ นี่มันต้องมีหนักมีเบา
ชีวิตของเรา เราบวชมาแล้ว เราตั้งใจของเรามาแล้ว มันจะระโหยโรยแรงนะ เวลาเดินจงกรมนี่มันอ่อนเพลีย มันธรรมดา คนที่ภาวนามาแล้วนี่ ผู้ที่ผ่านประสบการณ์มาแล้ว จะเป็นผู้มาสั่งสอนนักกีฬานี่ เขาต้องรู้ของเขา รู้แล้วต้องใช้คนเป็นด้วย
นี่ก็เหมือนกัน เรามีสติปัญญานี่ เราจะใช้จิตของเรา เราจะทำของเรานี่ มันควรอย่างใด มันควรทำสงบสุขขนาดไหน มันจะควรใช้ปัญญาอย่างใด มันควรจะต่อสู้ มีสัจจะ มีความจริงกับตัวเองแค่ไหน ขณะที่เวลามันอ่อนแอนี่ จะลุกจากหมอนก็ลุกไม่ไหวนะ วันนี้ไม่กินข้าว... ไม่กินข้าวจะภาวนาเหรอ... หึ.. ขี้เกียจ เห็นไหม เวลามันอ่อนแอนะ จะยกหัวขึ้นจากหมอนมันยังยกไม่ไหวเลย ถ้ามันอ่อนแอ
แต่ถ้ามันเข้มแข็งนะ มันจะอดอาหาร ๑๐ วัน ๒๐ วัน จะอดอย่างไร อดอาหารทำไม อดอาหารเพื่อจะสู้กับกิเลสไง กิเลสมันบอกมึงจะตายนะ คนเราเกิดมาต้องมีอาหาร ไอ้เห็นอาหารเป็นโทษนี่ ไอ้พวกนี้พวกที่ไม่มีปัญญา พวกนี้ไม่รู้จักอะไรเป็นคุณเป็นโทษ นี่เวลาโลกเขามองกันอย่างนั้นนะ
แต่ถ้ามันมีความเข้มแข็งใช่ไหม อ้าว เราเป็นคนปัญญาน้อย ปัญญาน้อยกับอะไร ปัญญาน้อยกับกิเลสไง กิเลสมันต้องการแสวงหา กิเลสมันต้องการอิ่มหนำสำราญ กิเลสมันต้องการความสะดวกสบาย กิเลสมันต้องการทุกๆ อย่างเลย แล้วเราสู้กับกิเลสเราไม่ได้ เมื่อเราสู้กับกิเลสเราไม่ได้ เราจะอดนอนผ่อนอาหารสู้กับมันไง
ในเมื่อเราปัญญามันด้อย เรามันด้อยค่า ชีวิตเรามันไม่มีค่า กิเลสมันขี่หัวอยู่นี่ เราจะอดอาหารก็อดอาหารไป กิเลสมันไม่ได้ดังใจ มันไม่ได้อะไรสมความปรารถนามัน มันก็ดิ้นรนไง พอมันดิ้นรน มันก็มีทางออก ไอ้พวกนี้พวกโง่ พวกนี้เห็นอาหารเป็นโทษ นี่เวลากิเลสมันพูดขึ้นมาอย่างนี้ เราก็เชื่อมัน ฮื่อ! จริงอ่ะ คนเกิดมาก็ต้องมีอาหาร ใช่! คนเกิดมาก็ต้องมีอาหาร คนเรามันทุกข์มันยากทางโลกนะ เขาทุกข์ยากจนไม่มีอะไรจะกิน
แต่ของเรานี่นะ ถ้าเช้าขึ้นมาสะพายบาตรออกไป เลี้ยงชีพด้วยปลีแข้ง อย่างน้อยมันก็มีอาหารตกบาตรอยู่แล้ว มันรับประกันเลยว่าชีวิตของเรานี่ มีผู้ส่งเสริมอยู่แล้ว มันไม่ใช่ว่ามันต้องปากกัดตีนถีบว่าจะต้องแสวงหาสิ่งนั้นมา มันเพียงแต่บิณฑบาตมา ได้อาหารตกบาตรมานี่ มันประกันอยู่แล้วว่ามันได้
ถ้ามันได้นี่ อดอาหารไม่ใช่ว่าเห็นเป็นโทษ อดอาหารเพราะว่ามันโง่ มันโง่เพราะว่าจะกินอิ่มนอนอุ่น แล้วมันจะเอาหัวฝังอยู่ที่หมอนนั่นไง แต่ถ้าเราจะอดอาหารเพื่อจะต่อสู้กับกิเลสไง มึงอยากได้ อยากกินมาเพื่อจะนอนจมอยู่กับกิเลสใช่ไหม แต่ถ้ามันผ่อนขึ้นมานี่ มันอดอาหาร ผ่อนอาหารมา เพื่อจะให้จิตใจนี่มันไม่มีธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ทับจิต เวลาคนวิตกกังวล เวลาเกิดมีความทุกข์นี่ขันธ์ ๕ คิดๆๆๆๆ ความเครียดนี่มันทับจิต
ธาตุ ๔ กินบำรุงบำเรอมันไป มันมีแต่แข็งแรง ธาตุ ๔ มีกำลัง ร่างกายมีกำลัง ธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ทับจิต ถ้าธาตุ ๔ และขันธ์ ๕ ทับจิต มันทับ มันกดถ่วงไว้ นั่งก็สัปหงกโงกง่วง หัวนี่ตั้งไม่ได้เลย หัวนี่จะพับอยู่อย่างเดียวเลยล่ะ แต่อดอาหารมาเพื่อให้ธาตุ ๔ มันอ่อนลงไง เราไม่ได้อดอาหารมาฆ่าตัวเอง
ทางโลกเขา ที่เขาทุกข์เขาจน เขาไม่มีจะกิน เพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องเวรเรื่องกรรมของเขา ไอ้นี่ของเรามันมีพร้อมนะ นี่บิณฑบาตออกไป สะพายบาตรออกไปมันก็ได้ จะทำอย่างไรมันก็ได้ แต่นี่ไม่ไป ไม่ใช่เห็นโทษ เราไม่ใช่เห็นโทษมัน เราเป็นคนปัญญาน้อย เราเป็นหมาไล่เนื้อ ไม่สู้ สู้กิเลสไม่ทันใช่ไหม เราเอาปัญญาอะไรสู้มันไม่ได้ก็กำปั้นทุบดินนี่แหละ มึงอยากกิน... กูไม่ให้กิน.. มึงอยากได้... กูไม่เอา.. นี่ไง แต่พอมันไม่เอา มันเห็นคุณประโยชน์ คุณประโยชน์ที่ไหน คุณประโยชน์ที่มันชนะตนเองไง ถ้าใครเขาบอกว่าไอ้นี่มันไม่ดี ไอ้นี่ไม่สมควรจะทำนี่ มัน ฮื่อ! เขาว่า.. เขาว่า..
แต่ถ้าเราเห็นโทษเอง เห็นโทษตอนไหน ถ้าจิตเวลาอดนอนผ่อนอาหาร แล้วนั่งสมาธิไป พอจิตมันนั่งสมาธินี่ มันเห็นผลตอบแทนขึ้นมา พอเห็นผลตอบแทนขึ้นมา ผลตอบแทนจากการกินอิ่มนอนอุ่น มันมีความสุขอย่างหนึ่ง เพราะมันได้สนองกิเลส ผลของการประพฤติปฏิบัติ ผลของการต่อสู้ด้วยสติปัญญา แล้วถ้าจิตมันลงขึ้นมา จิตมันได้รับรสไง นี่สัมมาอาชีวะ สัมมาอาชีวะทางร่างกาย สัมมาอาชีวะทางจิตใจ
สัมมาอาชีวะนี่ มันเคยคิด เคยหมักหมม เคยอยู่กับความเศร้าหมอง เคยอยู่กับอารมณ์ปกติ อารมณ์เดิมๆ เสียดายสัญญาอารมณ์ของตัว นี่สภาพมันอย่างนั้น มันคุ้นชินกับอารมณ์ความรู้สึก แต่พอจิตมันอดนอนผ่อนอาหาร แล้วใช้สติปัญญาไล่จิตเข้าไป พอจิตมันสงบเข้ามา สงบจากสัญญาอารมณ์ มันปล่อยสัญญาอารมณ์มาเป็นข้อเท็จจริงของจิตที่มันสงบ
ไม่ใช่ว่าว่างๆ ว่างๆ ว่างๆ นั่นสัญญาอารมณ์นะ เพราะใครเป็นคนพูดว่าว่าง นี่ความว่างเราคิดขึ้นมา เราจับต้องขึ้นมาด้วยสัญญา แต่พอมันทิ้งสัญญา แต่พอมันทิ้งสัญญาอารมณ์ต่างๆ แล้วมันหดตัวมันเข้ามา ด้วยสติ ด้วยคำบริกรรม ด้วยต่างๆ เห็นไหม สิ่งที่สัมผัสอย่างนี้มันมาเทียบเคียง
จะบอกว่าเวลากินอิ่มนอนอุ่น มันก็มีความสุขอย่างหนึ่ง อดนอนผ่อนอาหาร ทุกข์มาก เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา คอพับคออ่อน มีแต่ความทุกข์มาก แต่เวลาจิตมันลงอ่ะ เวลาผลที่มันตอบแทนมาล่ะ ผลที่ตอบแทนจากการประพฤติปฏิบัติมันมีความสุขมาก มันมีความลึกลับ มันมีความมหัศจรรย์ขึ้นมา นี่ไง ถ้าเป็นทางโลกเขาบอก เห็นภัย เห็นโทษ เห็นโทษของการปฏิบัติ เห็นโทษของการอดนอนผ่อนอาหาร เป็นโทษไปหมดเลย พวกนี้คนโง่ พวกนี้ไม่รู้จักอะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ ทำไมบวชมาแล้วพระพุทธเจ้าสอนให้ฉลาด ทำไมพวกนี้มันโง่นัก
แต่เวลาประพฤติปฏิบัติเข้าไป ใครโง่ เพราะจิตมันสัมผัสแล้วใครโง่ เพราะจิตมันสัมผัสขึ้นมา จิตมันเป็นของมันขึ้นมาเห็นไหม จิตมันเป็นขึ้นมา เราจะรู้นะ ใครถ้าจิตสงบจะเข้าใจว่า ความสงบโดยแท้จริงมันเป็นอย่างไร แต่ความสงบอยู่กับสัญญาอารมณ์มันเป็นอย่างใด สัญญาอารมณ์ว่าว่าง ความสงบโดยสัญญา ความสงบโดยจินตนาการ ความสงบโดยการนึกคิด กับความสงบโดยเนื้อแท้ พอความเนื้อแท้อย่างนี้ขึ้นมา ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติมันรู้มันสัมผัสของมันเอง
ความสัมผัส สิ่งที่รู้ สิ่งที่จิตมันเป็นนะ จากหมาไล่เนื้อนี่ เพราะอะไร หมาไล่เนื้อเพราะไม่มีสติปัญญา ไม่มีความระลึกของตัวว่าตัวเองมีสถานะอะไร หมาไล่เนื้อหาผลประโยชน์ให้กับกิเลสมัน แต่พอมันได้สัมผัสขึ้นมานี่ มันไม่ใช่หมาไล่เนื้อ มันเป็นอาชีพ
อาชีพของนักกีฬา อาชีพอะไร ถ้าเขาทำอาชีพของเขา มันเป็นอาชีพของเขา แล้วเขารู้จักเก็บหอมรอมริบ เขารู้จักสงวนรักษา เขารู้ต่อไปว่าอาชีพของเขา เขาจะเก็บทุนรอนของเขา ไว้ดำรงชีวิตของเขาตลอดไป จิตในการประพฤติปฏิบัติขึ้นมานี่ เวลามันปฏิบัติมันได้ผลของมันขึ้นมานี่ มันเห็นคุณนะ มันเห็นคุณของสติ มันเห็นคุณของความเพียร มันเห็นคุณของสถานที่ มันเห็นคุณสัปปายะ ๔
หมู่คณะเป็นสัปปายะ สถานที่เป็นสัปปายะ อาหารการกิน บิณฑบาตมากินจนท้องแตก กับที่อดอาหารนี่เป็นสัปปายะ กินเพื่ออยู่ ความรู้สึก อาหารที่เป็นสัปปายะ นี่กินอิ่มนอนอุ่น นั่นก็สัปปายะ สัปปายะกินอร่อย ไม่ใช่!
สัปปายะคือดำรงชีวิต ดำรงชีวิตเพื่อเอาผลประโยชน์อันนี้ ถ้ามันดำรงชีวิต ครูบาอาจารย์เป็นสัปปายะ สัปปายะ ๔ มันจะเห็นคุณหมดเลยนะ เพราะอะไร เพราะเราปฏิบัติขึ้นมา เพราะเราได้มาจากที่นั่น
ครูบาอาจารย์ท่านได้มาจากที่ไหน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ที่โคนต้นโพธิ์ ครูบาอาจารย์เราได้ที่ไหนนี่ มันฝังใจนะ มันฝังว่าเราได้จากที่ไหน เราได้หมายถึงว่าอารมณ์ ความรู้สึกมันเกิดตรงนั้น แล้วอารมณ์ความรู้สึกมันเป็นอย่างนั้น มันเปลี่ยนขนาดนั้น มันเปลี่ยนขณะจิตที่เป็นปุถุชนเป็นกัลยาณปุถุชน
กัลยาณปุถุชนเพราะอะไร เพราะรูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร รูป รส กลิ่น เสียง เห็นไหม ดูไฟฟ้าสิ กดสวิทซ์มันก็ติด ไฟฟ้านี่กดสวิทซ์มันก็สว่าง นี่ความคิดมันเกิดจากจิต พอความคิดมันเกิดจากจิต นี่สวิทซ์มันเปิดอยู่ตลอดเวลา นี่เวลาเราใช้ปัญญาไล่เข้าไป หรือใช้คำบริกรรมเข้าไปนี่ มันมีสวิทซ์ของมัน มันปิดสวิทซ์ไฟก็ดับ สติมันทันจิตมันก็ไม่คิด นี่ไง บ่วงของมาร รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร
ความคิดโดยอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย รูป รส กลิ่น เสียง มันสัมผัสกัน มันล่อไปหมด แต่เวลาสติมันทัน สวิทซ์ สวิทซ์ นี่ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร เป็นพวงดอกไม้แห่งมาร เสียงมากระทบ มันก็มีสติทัน รูปกระทบ มันทันหมดล่ะ พอมันทันหมด มันก็คุมจิตได้ง่ายเห็นไหม ปุถุชน กัลยาณปุถุชน กัลยาณปุถุชนแล้ว จิตสงบแล้วนิพพาน โอ่... มีความสุขมาก พุทธศาสนาสอนถึงความว่าง ว่างหมดเลย เพราะรูป รส กลิ่น เสียง เป็นบ่วงของมาร วางให้หมดแล้ว
นี่ปุถุชน กัลยาณปุถุชน มันก็คือปุถุชน แต่ถ้าจิตสงบแล้วยกขึ้นสติปัฏฐาน ๔ พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม นั่นนะโสดาปัตติมรรค บุคคล ๘ จำพวก เราเกิดมาเป็นมนุษย์ สามัญสำนึกคือมนุษย์นะ สามัญสำนึกของมนุษย์ มนุษย์ก็คือมนุษย์ ปุถุชน กัลยาณปุถุชน แล้วยกขึ้นโสดาปัตติมรรค นั่นนะมีโอกาส โอกาสที่อะไร นี่สังฆคุณ เราสวดเป็นสังฆคุณ ตอนนี้เราบวชเป็นพระนะ เราเป็นสมมุติสงฆ์ ถ้าเราเป็นอริยสงฆ์ขึ้นมา สงฆ์นี่สังฆคุณมันเกิดตรงนี้ นี่บุคคล ๘ จำพวก ถ้ามันขึ้นโสดาปัตติมรรค ขณะที่ขึ้นโสดาปัตติมรรค มันจะเจริญแล้วเสื่อมได้ เจริญแล้วเสื่อมได้ เพราะเป็นโสดาปัตติมรรค
แต่ถ้าพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ด้วยสัมมาสมาธิ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น มันเกิดมีการแยกแยะ มีการกระทำของมันขึ้นมา จิตมันจะปล่อย มันจะวางขึ้นมา ที่ว่าเป็นไตรลักษณ์ๆ นั่นล่ะ ไตรลักษณ์มันเป็นอย่างไร อะไรมันเป็นไตรลักษณ์ แล้วใครเห็นไตรลักษณ์ ไตรลักษณ์ในหนังสือใช่ไหม หรือไตรลักษณ์จากครูบาอาจารย์ ไตรลักษณ์สักไว้หน้าผากเลยนะ ไตรลักษณ์ มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไป มันเป็นวิชาการ มันเป็นทฤษฎีของครูบาอาจารย์ มันเป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า
นี่เวลาสัจธรรมนี่ สติปัฏฐาน ๔ มรรค ๘ ต่างๆ มันเป็นธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบัญญัติไว้ แล้วเราศึกษามา เหมือนกับเราศึกษาทางวิชาการมา แต่เรายังทำขึ้นมาเป็นเนื้อแท้ของเราขึ้นมาไม่ได้ ปริยัติ ปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติขึ้นมามันจะแก้ไข มันจะเปลี่ยนแปลงของมัน มันจะกระทำของมัน มันจะปล่อยวาง ถ้าจิตมันเป็นตามความเป็นจริงไป
ดูสิ จากหมาไล่เนื้อนะ หมาไล่เนื้อมันใช้ชีวิตไปวันๆ หนึ่งนะ เรานี่พรรษาแก่เข้ามาเรื่อยๆ มีพรรษาเข้าไปเรื่อยๆ มันชราภาพเรื่อยนะ ฟันมันเริ่มจะคลอนแล้ว เดี๋ยวมันจะฟันหัก เดี๋ยวเขี้ยวเล็บมันจะบิ่นไป นี่ก็เหมือนกัน วันเวลามันกินกลืนเราไปตลอดนะ เวลาถ้ามันมีสติ มีปัญญาขึ้นมานี่ เราต้องกระทำ ชีวิตเรานี่มันก็หมาไล่เนื้อ วันคืนล่วงไปๆ แก่เฒ่าไปโดยธรรมชาติ ในโลกมันก็เป็นไปโดยหมาไล่เนื้อ
กาลเวลามันกลืนกินทุกๆ คน ความมืดและสว่างมันกลืนกินสัตว์โลกไปทั้งหมด นี่มันไล่มา ชีวิตมันไล่เรามา เรามีสติปัญญาไหม ถ้ามีสติปัญญา มันระลึกรู้ เตือนสติเรานี่แหละ มันเป็นประโยชน์กับเรา เราเตือนเรา เป็นประโยชน์กับเรา ฟันเราจะบิ่นไปเรื่อยๆ มันจะกัดกร่อนไปเรื่อย มันจะกัดกร่อนชีวิตเราไปนี่ มันไล่หลังเรามาแล้ว ถ้าเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญา
มันจะเข้าพรรษาพรุ่งนี้ไง ถ้ามันจะเข้าพรรษาเห็นไหม โลกเขาตื่นกัน ตื่นในการประพฤติปฏิบัติ เขาจะตื่นขนาดไหนเป็นเรื่องของโลก แต่เราเป็นนักรบ เราเป็นผู้ปฏิบัติ เราต้องมีหลักมีเกณฑ์ของเรา เราจะเอาหลักเกณฑ์ของเรา ในเมื่ออยู่กับโลก โลกนะเหมือนกายกับใจ ในเมื่อมีหัวใจ มีความรู้สึก มีร่างกาย โลกก็เหมือนร่างกาย มันมีเรื่องของมนุษย์ มนุษย์มันเอาสังคมของมนุษย์นะ
แต่พระเหมือนกับวิญญาณ จิตวิญญาณของสังคม ถ้าจิตวิญญาณของสังคม จิตวิญญาณเป็นสิ่งรับรู้ สังคมจะเป็นแบบไหน เพราะจิตวิญญาณนั้นเป็นคนคิด เป็นคนทำ นี่สังคมของเรา ถ้าเราเป็นจิตวิญญาณ เราเป็นผู้ที่มีความรับรู้ รู้สึกอย่างนี้ เราจะต้องตั้งตัวเราให้ได้ อยู่กับโลกก็โลก อยู่กับโลกฝนตกแดดออก ฤดูกาลมันก็เปลี่ยนแปรไปเป็นอย่างนี้ เราก็ต้องร้อนหนาวไปกับเขา เรารับรู้ได้ ความร้อนความหนาวไปกับโลก
แต่หัวใจของเรานี่ เราต้องรักษาดูแล ถ้ารักษาดูแล พอมีการทำขึ้นมานี่ มันจะหดตัวเข้ามา พอมันออกวิปัสสนาของมัน มันพิจารณาขนาดไหนมันปล่อย ปล่อยขนาดไหน นี่โสดาปัตติมรรค ถ้าโสดาปัตติมรรค เจริญแล้วเสื่อม เสื่อมแล้วเจริญ มีการกระทำ สิ่งที่มีการกระทำตรงนี้มันจะเป็นสิ่งที่ลำบากที่สุด เพราะอะไร
ดูสิ นักกีฬาที่จะเข้าไปสู่ในวงการกีฬานั้น เขาคัดเลือกแล้วคัดเลือกอีก เขาทดสอบฝีเท้าแล้ว ทดสอบฝีเท้าอีก เขาไม่รับอ่ะ เพราะเขาไม่ไว้ใจว่าจะสร้างประโยชน์ให้เขาได้หรือไม่ได้ นี่ก็เหมือนกัน จิตของเรานี่ มันจะเปลี่ยนแปลงเข้าไปสู่สังฆคุณ บุคคล ๘ จำพวก โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกิทาคามิมรรค สกิทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตตมรรค อรหัตตผล บุคคล ๘ จำพวกคือสภาวะจิตที่มันจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่กระแสนิพพาน กระแสแห่งพุทธศาสนา จิตนี้มันจะเปลี่ยนแปลงไป สิ่งที่ต้องต่อสู้ ต้องพลิกแพลง ตรงนี่ต้องต่อสู้เหมือนนักกีฬาที่เขาไปทดสอบฝีเท้า ว่าเขาจะรับเราเป็นนักกีฬาไหม ถ้าจะเซ็นสัญญาขึ้นมานี่ เราจะได้โอกาส นี่ถึงทดสอบฝีเท้า
นี่พิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณาแล้วพิจารณาเล่า มันจะปล่อยวางขนาดไหน การปล่อยวาง เราก็รู้ของเรานะ การทดสอบฝีเท้านี่ เราจะบอกว่าเราเก่ง ทุกอย่างเราพร้อมเลย เขาไม่รับเราเพราะเขาอิจฉาเรา เขารังเกียจเรา เขาไม่ต้องการเรา นี่เราคิดไปหมดเลย
แต่ในทางธรรม ไม่มีใครอิจฉา กิเลสมันอิจฉา กิเลสมันไม่ให้เป็นไป ไอ้เราก็โดนกิเลสครอบงำอยู่ เราก็ว่า แหม! ทำไมปฏิบัติมาขนาดนี้ ปฏิบัติแล้วคอตกนะ คอพับคออ่อน จะคอพับคออ่อน มันก็เป็นจริต มันก็เป็นนิสัย อำนาจวาสนาของคนมันแตกต่างหลากหลาย ใครจะมีสุขมีทุกข์ ใครจะปฏิบัติง่ายรู้ง่าย ใครจะมีโอกาสขนาดไหน มันก็เป็นสิ่งที่เขาทำมา
ดูสิ ดูพืชแต่ละชนิดเห็นไหม มันจะงอกงามมาจากเม็ดพันธุ์ของมัน จิตของเราเกิดมาเป็นมนุษย์ ทุกอย่างก็มาเกิดจากฐีติจิต ทุกอย่างปฏิสนธิจิต จิตเกิดมาเป็นเรา เราเกิดมาแล้ว มันก็เกิดมาจากรากเหง้า เกิดมาจากเม็ดพันธุ์ของเรา ถ้าเกิดมาจากเม็ดพันธุ์ของเรา มันจะเป็นพืชชนิดไหน จะมีคุณค่าในทางตลาดแค่ไหน มันก็ชีวิตของเรา ถ้าชีวิตของเรา เราก็แก้ไขของเรา ใครจะอิจฉาล่ะ
ในทางตลาดเห็นไหม พืชพันธุ์อะไรที่มันมีคุณค่า มีราคา เขาว่าสิ่งนั้นดี สิ่งใดที่ไม่มีคุณค่าทางตลาด เขาว่าสิ่งนั้นไม่ดี สิ่งนั้นมีราคาต่ำ นั่นมันเรื่องของตลาด เรื่องของโลกนะ
แต่นี้มันเรื่องของจิต ในการปฏิบัติเขาจะบอกว่า เขาอิจฉาเรา... เขาอิจฉาเรา... ไม่มี! ไม่มี! ธรรมะคือธรรมะ สัจธรรมเสมอภาค มันเป็นการกระทำของเราเท่านั้น มันเป็นเรื่องหัวใจ มันเป็นเรื่องระหว่างเรากับกิเลส ระหว่างที่จะเป็นธรรมคือเราทำสมาธิได้ไหม เรามีสติไหม เรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มันของเรา แล้วกิเลสของเรา เราก็ต้องต่อสู้กับกิเลสของเรา เราจะเทียบเคียงกับคนอื่น
ดูสิ เวลาฟังธรรม ดูในพระไตรปิฎก เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแก้พระสารีบุตร แก้พระโมคคัลลานะ แก้คนละอย่างทั้งนั้นเลย พระโมคคัลลานะง่วงเหงาหาวนอน เป็นพระโสดาบันยังนั่งสัปหงกเลย นี่พระพุทธเจ้ามาโดยฤทธิ์เห็นไหม ตรึกในธรรมสิ... เอาน้ำลูบหน้า... ดูดาว... นี่พระโมคคัลลานะพยายามต่อสู้กับกิเลสของตัว
แล้วพระสารีบุตรล่ะ พูดขนาดไหนก็ไม่เชื่อ พูดขนาดไหนพระสารีบุตรมีปัญญามากกว่า แต่พูดกับคนอื่นฟังนะ พูดกับหลานเห็นไหม เธอไม่พอใจสิ่งใดๆ เธอไม่พอใจอารมณ์สิ่งต่างๆ เธอต้องไม่พอใจอารมณ์ของเธอด้วย อารมณ์ที่ความคิดนี่ไง พืชพันธุ์ในหัวใจของเธอนั่นล่ะ พืชพันธุ์เห็นไหม เราไม่พอใจอะไร เรื่องสิ่งใดถ้ามันไม่พอใจเรา เราก็ว่าสิ่งนั้นไม่ดี ถ้าว่าไม่ดีอารมณ์ที่คิดก็ไม่ดีด้วย อารมณ์ที่คิดขึ้นมาว่าเขาไม่ดี เอ็งก็คิดเอ็งไม่ดีด้วย พระสารีบุตรถวายการพัดอยู่นะ เป็นพระอรหันต์เลย
สอนแต่ละบุคคลมันเป็นพัน มันเป็นจริตนิสัย จิตใจที่มา ฉะนั้นย้อนกลับมาที่เรา ถ้าย้อนกลับมาที่เรา ในการปฏิบัติของเราก็ระหว่างเรากับกิเลส ระหว่างใจของเรากับกิเลสมันจะสู้กัน มันจะต่อสู้กัน นี่มันจะเป็นราวนั้น เหมือนตกปลานะ ตกปลานี่ดูปลามันจะกินเหยื่อเราไหม ทำไมมันกินเบ็ดคนอื่น กินแล้วกินอีก คนนั้นได้ปลาเยอะแยะเลย ทำไมเราปลามันไม่ได้กินเหยื่อเลย
นี่ก็เหมือนกัน เวลาพิจารณาไป ทำไมมันไม่เป็นอย่างที่เราตั้งใจเลย ทำไมปลามันไปกินเบ็ดคนอื่นนะ ทำไมเบ็ดเราปลาไม่กินเลย มันอยู่ที่ความชำนาญของเขา อยู่ที่วาสนาของเขา อยู่ที่การกระทำของเขา ไอ้เราก็ทำของเรา
ฉะนั้นเวลาที่ว่าฟังธรรมๆ นี่น้อมเข้ามาสู่ตัว โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม เวลาฟังธรรมแล้วมันสะเทือนใจ มันขนพองสยองเกล้า ขนลุกขนพองนี่ เอ๊! คนฟังคนอื่นจะเหมือนเราไหม ร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ดูสิ มันสะเทือนหัวใจ ดูสิ ขนลุกหมดเลย ดูสิ มันกระเทือนขนาดนี้ นี่เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม
แต่ถ้ามันด้าน โอ่.. ไม่ได้ว่ากู ว่าคนอื่นนะ โอ๊ย.. อาจารย์ว่าคนโน้นนะ ไอ้เรามันวิเศษ ไอ้เราเป็นคนดี ไม่ใช่เรียกร้องสัตว์ต้องมาดูธรรม มันผลักธรรมะออกไปเลยนะ สิ่งที่จะเป็นสัจจะ สิ่งที่จะเป็นความจริงนี่ พอเข้ามาใกล้เรา เราโดดหนีเลยนะ แล้วกันไม่ให้เข้า ไม่ได้ว่ากู ว่านู่น แต่ถ้ามันน้อมมา น้อมเรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ถ้ามันสะเทือนหัวใจนะ มันจะขนพอง มันจะเกิดสะเทือนหัวใจ หัวใจมันจะมีการเปลี่ยนแปลง มีความคิด นี่ไง จิตวิญญาณของสังคม
สังคมคือร่างกาย สังคมคือโลก จิตวิญญาณมันได้เปลี่ยนแปลง ได้มีการกระทำ วิปัสสนาก็เหมือนกัน มีปัญญาขึ้นมาใคร่ครวญ กาย เวทนา จิต ธรรม พิจารณากายก็ได้ เวทนาก็ได้ จิตก็ได้ ธรรมก็ได้ มันจะปล่อยวางขนาดไหน เราต้องมีความขยันหมั่นเพียร ซ้ำแล้วซ้ำเล่า สิ่งต่างๆ ที่ทำมาแล้วนี่ เอามาใคร่ครวญแล้วใคร่ครวญอีก
หน้าที่ของสัจธรรม สัจธรรมเหมือนตาชั่ง ตาชั่งถ้าเราวางน้ำหนักขึ้นไปขนาดไหนนี่ ตาชั่งมันก็ให้ค่าออกมาตามน้ำหนักนั้น นี่ก็เหมือนกัน ในเมื่อเราปฏิบัติเข้าไปขนาดไหนนี่ ความรู้ความเห็นของเรานี่ มันเหมือนน้ำหนักเห็นไหม ถ้ามันกิเลส กิเลสคือต่อต้าน ตาชั่งมันมีสปริงของมัน มันมีแรงโน้มถ่วงของมัน ว่าน้ำหนักมีแค่ไหนใช่ไหม
นี่ก็เหมือนกัน สัจธรรมถ้าเราใส่เข้าไป ใส่เข้าไป ใส่เข้าไป น้ำหนักที่มันมากกว่า รสของธรรมชนะซึ่งรสทั้งปวง รสของการกระทำ รสของการที่มันปล่อยวางขนาดไหน พอปล่อยวาง โอ้โหย! มันว่าง อู๊ย! มันสุขนะ นี่คือโสดาบัน นี่คือสกิทาคามี ให้ค่าไปแล้วว่านี่คือนิพพานเชียวล่ะ นี่เราให้ค่า
ตาชั่งใส่ไป ๑ ขีด มันบอก ๒ กิโล มันจะกดไปโน่นนะ มันให้ค่ามากเกินไปเห็นไหม ๑ ขีดก็คือ ๑ ขีดอ่ะ... ๑ ขีดเป็น ๒ กิโล ได้อย่างไรล่ะ.. ๒ กิโลก็กูให้ค่าเองอ่ะ.. นี่ก็เหมือนกัน มันไม่ซ้ำไง ๑ ขีด ใส่ไปก็ ๒ ขีดอ่ะ.. ใส่ไปอีกทีก็ ๓ ขีดอ่ะ.. ใส่ไปอีกทีก็ ๔ ๕ ๖ ๗... เดี๋ยวมันก็ครบกิโล หน้าที่ของเราไม่ใช่ว่าเราจะเอาตาชั่งได้แค่ไหน หน้าที่ของเราไม่ใช่ปฏิบัติแล้วมันจะปล่อยวาง มันจะเป็นโสดาบัน สกิทาคามี เราไม่มีหน้าที่
หน้าที่ของเรามีสติปัญญา หน้าที่ของเรามีการกระทำ โอปนยิโก เรียกร้องสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม มันปล่อยอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นธรรมอย่างนี้ มันกระทำอย่างนี้ มันความสุขอย่างนี้ แต่ไม่มีหน้าที่ ให้คะแนนไม่ได้ นี่พอมันให้คะแนนไปเห็นไหม นักกีฬาอาชีพ ที่เราจะไปเซ็นสัญญา เขาจะรับเราหรือไม่รับเรา ถ้าเขาเห็นว่ามีคุณประโยชน์ในทีมของเขา เขาก็จะรับเราเข้าไปเป็นนักกีฬาในทีมของเขา
ในการประพฤติปฏิบัติ ในเมื่อเราพิจารณาของเรามากน้อยแค่ไหน สัจธรรม เราพูดบ่อยมาก ว่าหน่วยกิตส่งไม่ครบ หรือคะแนนไม่ถึง มันสอบผ่านไม่ได้หรอก การวิปัสสนา การกระทำของเรานี่ เราจะพูดอย่างไรมันเป็นคำพูดนะ คำพูดคือคำพูด ผลของวัฏฏะ ดูจิตสิ ปฏิสนธิจิตไปเกิดเป็นเทวดา เป็นอินทร์ เป็นพรหม
ดูสิ พระอริยบุคคล เป็นโสดาบันยังไปเกิดเป็นเทวดา สกิทาคามีไปเกิดเป็นเทวดา เวลาพระอนาคามีไปเกิดบนพรหม นี่พระอรหันต์นี่ จิตมันมีไปเกิดอย่างไร นี่มันเป็นค่า เป็นผลของวัฏฏะ มันเป็นผลของจิต มันเหมือนกับค่าน้ำหนักนี่ มันไม่มีใครที่จะไปให้ค่า เปลี่ยนค่ามันหรอก มันผลตามน้ำหนัก ผลของกรรมนั่นนะ นั่นผลของกรรมนะ
แต่นี่ผลของอริยสัจ ผลของการปฏิบัติ ผลที่มันเกิดขึ้นมาในหัวใจ ผลที่ว่ามันเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี สิ่งนี้เป็นอกุปปธรรม อกุปปธรรมเพราะมันไม่มีผลตามวัฏฏะนั้น วัฏฏะ ผลของวัฏฏะ คือจิตนี้ไม่มีเว้นวรรค มันต้องหมุนไปตามนี้ตามแต่เวรแต่กรรม แต่เป็นโสดาบันอีก ๗ ชาติเท่านั้นแล้ว เป็นสกิทาคามี ๓ ชาติ เป็นอนาคามีไม่มาเกิดในกามภพ ถึงที่สุดแล้วมันมีของมัน แต่ไม่มีผลตามวัฏฏะ เป็นวิวัฏฏะ มันพ้นออกจากวัฏฏะไป นี่ความเป็นไปของมัน
นี่พูดถึงความเป็นไปของวัฏฏะ คือความเป็นไปของบุญของกุศล แต่ความเป็นไปของภาคปฏิบัติเรานี่ พระเรานี่ พระไม่ทรงศีลทรงธรรม ใครจะทรง พระไม่ทรงมรรคทรงผล ใครจะทรง สิ่งที่ทรงขึ้นมามันเป็นวิวัฏฏะ มันมีค่าเหนือกว่าวัฏฏะ มันไม่หมุนไปตามวัฏฏะ เพราะค่ามันแตกต่างกัน ค่าของโลกเห็นไหม ค่าของน้ำหนัก ค่าของการชั่งตวงวัด กับค่าของคุณธรรม อกุปปธรรม กุปปธรรม
อกุปปธรรม กุปปธรรม สัพเพ ธัมมา อนัตตา สภาวะที่เป็นอนัตตา สภาวะที่เป็นสมมุติ สมมุติบัญญัติเห็นไหม สิ่งสมมุติบัญญัติ นี่กุปปธรรม อกุปปธรรม นี่พ้นจากสมมุติบัญญัติทั้งหมด อกุปปธรรม โสดาบันก็พ้นจากวัฏฏะไปตามขั้นของโสดาบัน นี่สกิทาคามีก็พ้นไปจากสกิทาคามี อนาคามี พระอรหันต์พ้นของมันเป็นขั้นเป็นตอนของมันขึ้นไป
การพ้นเป็นขั้นเป็นตอนขึ้นไป มันพ้นจากการกระทำ พ้นจากสัจธรรม พ้นจากโอปนยิโก พ้นจากการกระทำ ไม่ใช่พ้นจากการให้คะแนน ไม่ใช่พ้นจากการศึกษา ไม่ใช่พ้นจากการกระทำ ไม่ใช่พ้นจากสิ่งที่ให้ค่ากัน ฉะนั้นสิ่งนี้มันเป็นสิทธิพิเศษ มันเป็นสิทธิของเรา เรื่องความรู้สึกลึกในใจใครจะมาบังคับ ใครจะเอาปืนมาจ่อหัว
แต่ถ้าใจมันลงเห็นไหม เราลงครูบาอาจารย์ของเราเอง ด้วยหัวใจ ด้วยความเชื่อมั่น ด้วยความซาบซึ้ง ด้วยความพอใจ ด้วยอารมณ์เคารพ ความเคาพรมันเหมือนสิ่งนั้นมันกดกิเลสเราไว้นะ ถ้ามันไม่เคารพ มันก็จะย้อนศร มันก็จะแทงข้างหลัง มันก็จะตีเสมอ เห็นไหม เห็นกิเลสไหม แต่ไม่มีใครเห็นมันอ่ะ ถ้ามันไม่ลง มันก็เทียบค่า ยืนอยู่วัดรอยเท้า แต่ถ้ามันลงนะ
ครูบาอาจารย์ท่านพูดบ่อย เวลาพูดถึงใช่ไหม เพราะอะไร กงกรรมกงเกวียน เวลาครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ถึงหลวงปู่มั่นนะ ท่านบอกไม่ใช่วัดรอยเท้านะ นี่มันละอายใจไง มันจะพูดคำที่เหมือนกัน คำที่มีคุณค่าเหมือนกัน เพราะหลวงปู่มั่นท่านสอนมา แล้วก็ฟังท่านมา แล้วปฏิบัติมาได้ดังนั้น แล้วจะสอนลูกศิษย์ต่อไปนี่ จะพูดอย่างนั้นก็หาว่าวัดรอยเท้า ไอ้ด้วยความละอายว่าวัดรอยเท้า มันก็ออกตัว
อันนี้ไม่ใช่วัดรอยเท้านะ อันนี้เป็นธรรมาวุฒิ อันนี้เป็นอาวุธที่เราเคยใช้ฆ่ากิเลสมา อาวุธนี้ลองเอาไปใช้ดู ว่ามันฆ่ากิเลสได้ไหม เพราะคำนี้ครูบาอาจารย์ท่านได้พูดมา เราจะพูดซ้ำนี่มันก็ละอายใจ ถึงบอกไม่ใช่วัดรอยเท้านะ แต่ถ้ามันลงใจนี่ มันไม่มีการวัดรอยเท้า เพียงแต่ว่ามันเป็นอาวุธ มันเป็นคุณสมบัติ มันเป็นคุณงามความดี มันเป็นสิ่งที่คนฟังแล้วเอาไปใช้มันจะได้ประโยชน์
ฉะนั้นสิ่งนี้มันถึงจากใจดวงหนึ่งสู่ใจดวงหนึ่ง จึงส่งต่อกันไง แต่ถ้ามันไม่ลงนี่ มันเป็นอย่างนั้นแหละ มันไม่ใช่วัดรอยเท้า มันยิ่งกว่าวัดรอยเท้า นั่นเป็นเรื่องของกิเลส แต่เรามาประพฤติปฏิบัติเพื่อจะชำระกิเลส เพื่อจะฆ่ากิเลสนะ เราจะฆ่ากิเลส เราต้องตั้งสติของเรา มีสติ มีปัญญา สิ่งนี้เป็นคติธรรม
หมาไล่เนื้อ ชีวิตเราก็หมาไล่เนื้อ ตั้งแต่เกิดมามันก็ตายไป วันเวลามันกินมาตลอด กิเลสมันก็หมาไล่เนื้อ การประพฤติปฏิบัติเราก็หมาไล่เนื้อ มันเป็นชั้นๆๆ เข้าไป แล้วเราจะเป็นหมาไล่เนื้อ หรือเราจะเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส หรือเราจะเป็นหมาไล่เนื้อ เตือนสติตัว เตือนสติไว้ เตือนสติเพราะมันจะเป็นคุณงามความดีของเรา มันจะเป็นประโยชน์ของเรา เพื่อชีวิตของเรา เอวัง