เทศน์เช้า วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม(วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
ไปวัด ไปทำบุญใส่บาตร แล้วฟังธรรม เวลาฟังธรรมในพระไตรปิฎก บอกกองทัพเดินด้วยท้อง บางทีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะเทศนาว่าการ คนเขาเหนื่อยมาไง ให้กินข้าว ให้พักผ่อน เสร็จแล้วค่อยแสดงธรรม ในพระไตรปิฎกก็มี
ฉะนั้นบอกกองทัพเดินด้วยท้องนี่ คนเราต้องหาปัจจัยเครื่องอาศัยใช่ไหม ปัจจัย ๔ เครื่องดำรงชีวิต แต่การดำรงชีวิตนี่ ดำรงชีวิตมา เราก็ดำรงชีวิตแล้ว เพราะการดำรงชีวิตแล้วมีกิเลส เพราะเราวิตก วิจารว่าชีวิตเราจะไม่ราบรื่น ชีวิตเราจะมีอุปสรรค เราก็พยายามจะหาปัจจัยเครื่องอาศัยให้ชีวิตมั่นคง แต่พอชีวิตมั่นคงเห็นไหม คนมีปัจจัย ๔ สมบูรณ์ และไม่สมบูรณ์ ถ้าจิตใจเขาทุกข์ จิตใจเขาว้าเหว่ นั่นมันทุกข์ที่นั่น มันไม่ได้ทุกข์ที่ปัจจัย ๔ นะ แต่เราว่าปัจจัย ๔ ทำให้เราทุกข์ แต่ความจริงแล้วมันทุกข์ที่หัวใจ ปัจจัยเครื่องอาศัยมันพออาศัยกันได้
ฉะนั้น เวลาเราไปสร้างวัดสร้างวา เราก็ห่วงว่าปัจจัยเครื่องอาศัยมันจะไม่สมบูรณ์ ถ้าเราสร้างวัดสร้างวา ปัจจัยเครื่องอาศัยจะสมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์ อันนั้นมันเป็นความวิตกกังวลของแต่ละบุคคล เห็นไหมโลกกับธรรม โลกต้องมีความมั่นคง ความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงในทางอธิปไตย มั่นคงทุกๆ อย่างเลย นี่ความมั่นคงของเขา แล้วมันเป็นตามความเป็นจริงไหม มันมีความเรรวน เขาต้องบริหารความมั่นคงของเขานะ ต้องบริหารความเสี่ยงของเขาในเรื่องของทางโลก นี่คือโลก
ธรรม เห็นไหม มันจะขาดแคลน มันจะขาดเขิน มันจะอุดมสมบูรณ์ มันจะอย่างไร ถ้าใจเป็นธรรมมันจะเจือจานกันได้ ความที่เจือจานนี่ โลกกับธรรม ฉะนั้นความที่เป็นโลกเห็นไหม เราเป็นสังคม เป็นมนุษย์นี่ หรือเกิดเป็นพระมานี่ ภิกษุบวชเป็นพระมาโดยสมมุติ สมมุติว่าเป็นพระ สมมุติเอา แต่มันจริงตามสมมุตินะ จริงตามสมมุติเพราะอะไร เพราะมันมีธรรมและวินัย ถ้าบวชเป็นพระแล้ว เวลาลงสังฆกรรม ทำสามีจิกรรมนี่มันต้องสมบูรณ์หมด มันจริงตามสมมุติไง ถ้ามันจริงตามสมมุติ โลกนี่ สังคมเป็นเรื่องของสมมุติ เวลาประชาชนมารวมกันมันก็เป็นสังคมขึ้นมา แยกออกไป แยกๆ ไป สังคมนั้นมันก็หายไป นี่ความจริงก็เป็นสมมุติใช่ไหม
แต่เรื่องความรู้สึกมันเป็นความจริง เวลาความทุกข์มันซ้ำอยู่ในหัวใจจริงๆ เราปรารถนาสิ่งนี้กัน เรามานี่เพื่อประพฤติปฏิบัตินะ เรามาทำบุญกุศล เรามาทำทาน นี่เป็นอามิส เป็นบุญกุศล ทำบุญตักบาตรแล้วได้ฟังเทศน์ ฟังเทศน์มันเป็นการเข้าไปถึงหัวใจ ให้หัวใจมันมีความเปลี่ยนแปลง ให้หัวใจมีความพัฒนา ให้หัวใจมันมีความองอาจกล้าหาญ มันรื่นเริง
พระอรหันต์เวลาแสดงธรรม ๑,๒๕๐ องค์ พระอรหันต์ทั้งนั้นเลย ทำไมองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงปาติโมกข์ล่ะ โอวาทปาติโมกข์เห็นไหม เราจะทำความดี ละความชั่ว เราจะไม่พูดจากระทบกระเทือนคนอื่น นี่พระอรหันต์นะ จะต้องสอนอีกเหรอ พระอรหันต์ไม่ต้องสอนแล้ว แต่นี่เป็นความรื่นเริงอาจหาญไง เป็นความรื่นเริงในธรรม
นี่เหมือนกัน ชีวิตของรานี่ เรามาเพื่อสิ่งใด ถ้าเราจะมารื่นเริงในธรรม ธรรมคืออะไร ธรรมคือความรู้สึก ภาชนะที่จะใส่ธรรมได้คือหัวใจของมนุษย์เท่านั้น ในตำรับตำรามันเป็นจารึกอักษรไว้เพื่อให้ศึกษา แต่ในตำรับตำรามันไม่มีชีวิต หนังสือไม่มีชีวิต แต่มนุษย์ไปศึกษามันนะ มนุษย์ไปอ่านตำรานั้นมา สิ่งต่างๆ อ่านขึ้นมาแล้วมันสะเทือนหัวใจไหม มันซาบซึ้งในหัวใจไหม
การซาบซึ้งใจอันนั้น นี่ภาชนะใส่ธรรมแท้ๆ สิ่งที่จะเป็นภาชนะที่จะสัมผัสธรรมได้นี่ มันเป็นสันทิฏฐิโก มันเป็นปัจจัตตังในหัวใจ ฉะนั้นเรามีเป้าหมายของเรา เราจะประพฤติปฏิบัติของเรามา มันก็เลยเป็นโลกไง เพราะเราเป็นสังคม มันเป็นโลก โลกเราก็ต้องบริหารเรื่องโลก
ธรรมถ้าเราจะพยายามบากบั่น เราจะวิริยะ มีอุตสาหะไป เพื่อเข้าสู่ธรรม เราจะต้องตั้งใจของเรา เพราะถ้าตั้งใจของเรา มรรคหยาบฆ่ามรรคละเอียด เราเห็นความสุขอันหยาบๆ นะ มีความอุดมสมบูรณ์ มีความสุข มันความสุขทางโลกๆ นะ
แต่ถ้าหัวใจมันเป็นความสุข นี่มีคนคิดบ่อยมาก ว่าเขาอยู่ทางโลกกัน เขากินอาหารกัน ๓ มื้อ ๔ มื้อ เขามีความสุขความสบายนี่ อย่างนั้นมันเป็นความสุขในความรู้สึกของเขา แล้วพระปฏิบัติ ฉันก็ฉันมื้อเดียว ยังอดนอนผ่อนอาหารนี่ มันจะเอาความสุขมาจากไหน มันมีแต่ความทุกข์ทั้งนั้น มันจะมีความสุขได้อย่างไร ในเมื่อคนขาดแคลนมันจะมีความสุขได้อย่างไร
มันขาดแคลนนี่ มันขาดแคลนเรื่องหยาบๆ เพราะความหยาบๆ ดูสิ สินค้าที่หยาบ สินค้าที่ชั้นต่ำมีเยอะมากเลย สินค้าที่มีคุณภาพ สินค้าที่มีประโยชน์มีน้อยมากเลย หัวใจของคนก็เหมือนกัน สิ่งนั้นเป็นเรื่องหยาบๆ เราก็แสวงหาในเรื่องหยาบๆ แล้วมันมีความสุข ๓ มื้อ ๔ มื้อ มันมีความสุขๆ แล้วไปอัตคัดขาดแคลนมันจะมีความสุขได้อย่างไร มันมีความสุขเพราะเราเห็นโทษของมันไง เวลาเราอดอาหารกัน เราผ่อนอาหารกัน เขาบอกว่า ไอ้พวกเห็นอาหารเป็นโทษนี่ พวกนี้ไม่มีปัญญา พวกนี้โง่เง่าเต่าตุ่นเลย
เราบอก ใช่! โง่จริงๆ.. เราก็โง่เหมือนกัน.. โง่เพราะอะไร? โง่เพราะเราไม่ทันตัณหาความทะยานอยากของเราไง เราต้องอดมันเพื่อให้มันทุกข์มันยาก แล้วเราหาเหตุหาผลของมัน ถ้าเราหาเหตุหาผลของมัน ๓ มื้อ ๔ มื้อ เขากินเข้าไปแล้วมันก็ดำรงชีวิต มื้อเดียวมันก็ดำรงชีวิต ไม่กินเลยชีวิตมันก็ยังอยู่ได้ แล้วทำไมจิตใจมันไปทุกข์ร้อนกับความมั่นคงอันนั้นนัก แล้วความมั่นคงในชีวิตล่ะ ความมั่นคงในการหายใจเห็นไหม หายใจเข้า ไม่หายใจออกก็ตายนะ คนเรานี่ตายได้ทุกวินาที แล้วเราประมาทอย่างนี้ได้อย่างไร
แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมานี่ มันจะย้อนกลับมาที่นี่ อาหารนี่เป็นโกดังๆ เลย ดูท่าเรือคลองเตยสิ เขาส่งออกน่ะ มันล้นไปหมดเลย แล้วใครไปกินมัน นี่มันเน่าเสียหายด้วย ถ้าไม่รู้จักบริหารจัดการมัน แต่หัวใจของเราล่ะ มันไม่เน่าเสียนะ มันสดๆ ร้อนๆ เวลาเราตั้งสติขึ้นมามันจะเป็นที่เราขึ้นมาทันที
ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมานี่ ของสดๆ ร้อนๆ นี่มันอยู่ในหัวใจของเรา ถ้ามันเป็นของสดๆ ร้อนๆ ขึ้นมา เราจะเห็นคุณค่าของหัวใจนี้ หัวใจนี้ถ้ามันหดตัวเข้ามา มันจะเป็นตัวของมันเอง แล้วมันแลบถ่วงความมั่นคงของอาหารไง มันแลบออกไปสู่ความมั่นคงของความเป็นอยู่ไง มันแลบออกไป มันออกจากปกติมาแล้วนะ พอขาดสติแล้วนะ แล้วมันแลบออกไปเห็นไหม แล้วมันเป็นเรื่องของโลกๆ สิ่งนี้เราจะบอกว่า โลกกับธรรม
วัดเราก็เหมือนกัน ในการประพฤติปฏิบัติ เขาว่าพระบวชใหม่ วัดสร้างใหม่อย่าไป มันจะมีหน้าที่การงาน นี่ก็เหมือนกัน ในวัดของเรา มันต้องมีการบริหารจัดการ มันต้องมีการดูแล
เราจะบอกว่า ถ้ากาลเทศะ ถ้ามาอย่างคณะที่เรามาปลูกป่ากันนี่ มาบำรุงรักษากันนี่ เราให้กิน ๓ มื้อ ๔ มื้อ ได้นะ เพราะเรามาพัฒนา แต่ถ้าเวลาเราจะมาประพฤติปฏิบัติ ควรกินอาหารมื้อเดียว ต้องกินอาหารมื้อเดียว ควรก่อน แล้วต้องเลย เว้นไว้แต่ผู้เจ็บไข้ได้ป่วย ผู้ที่มีความจำเป็น
เวลาหลวงตาท่านนั่งเนสัชชิ ท่านไม่นอน นั่งตลอดรุ่งเห็นไหม ท่านบอกเลยนะ ว่าไม่เว้นให้อะไรเลย เว้นไว้แต่หลวงปู่มั่นท่านเจ็บไข้ได้ป่วย เว้นไว้แต่พระในวัดมีปัญหา เห็นไหม เว้นไว้แต่ นี่ก็เหมือนกัน เราจะมุ่งมั่นของเรา จะเว้นไว้แต่ความจำเป็นของสังคม ไม่ใช่เว้นไว้แต่ของเรา ถ้าเว้นไว้แต่ของเรานะ มันมีการยกเว้นหมดล่ะ มันมีความจำเป็นทุกอย่างเลย เพราะปกติแล้วมันมีความจำเป็นทั้งนั้นล่ะ แล้วเราไม่ทันความรู้สึกเรา ไม่ทันความคิดเรา เพราะกิเลสตัณหาความทะยานอยาก มันถึงทำให้เราทุกข์ยากอยู่นี่ไง เพราะมันมีความจำเป็นทั้งนั้น
แต่ขณะที่เรามีศีลมีธรรมขึ้นมานี่ เราจะปิดกั้นมันด้วยข้อวัตรปฏิบัติ ด้วยศีล ด้วยธรรม พอปิดกั้นขึ้นมา แต่ปิดกั้นเพื่อกิเลสของเราใช่ไหม แต่เราอยู่กับครูบาอาจารย์ เราอยู่กับหมู่คณะ เว้นไว้แต่ประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เว้นไว้ประโยชน์ของเรา ถ้าเว้นประโยชน์ของเรานี่เราไม่เอา ถ้าเว้นประโยชน์สาธารณะ เว้นประโยชน์ของครูบาอาจารย์ เว้นประโยชน์ของหมู่คณะ พระมีปัญหาขึ้นมาเว้นไว้ แต่นี่เราจะไปจัดการ
นี่ก็เหมือนกัน ถ้าเรามีปัญหาของเราขึ้นมา เราจะบอกว่าเว้นไว้แต่คนที่เจ็บไข้ได้ป่วย คนที่มีปัญหาใช่ไหม มีปัญหาหมายถึงว่าเขาอยู่ของเขา มันมีปัญหาของเขา เราต้องอนุโลมไป นี่เห็นไหม ทางสายกลาง สายกลางของใคร ถ้าสายกลางของกิเลสนะ พอมันเว้นไว้แต่แล้วนี่ มันกลับไม่ได้เลย มันจะเว้นไว้แต่ตลอดไป เว้นไว้แต่จนติดกับปัจจัยเครื่องอาศัย ดีดกลับเข้ามาสู่หัวใจของตัวเองไม่ได้
แต่ถ้าเราจะประพฤติปฏิบัตินี่ เป้าหมายของเราคือเราต้องการธรรม เพราะธรรมคืออะไร ภาชนะที่จะทำคือหัวใจ มันจะดีดกลับเข้ามาสู่ใจ ถ้าดีดเข้ามาสู่ใจ สิ่งที่ปัจจัยเครื่องอาศัยนี้ มันทำให้หัวใจมันวิตกกังวล นิวรณธรรมเครื่องกังวลต่างๆ นี่ มันชักหัวใจนี้ไม่ให้มาเป็นของตัวมันเอง แต่ถ้าเรามีสติปัญญาขึ้นมานี่ เราจะดึงกลับมา
แต่เวลาเรามาพัฒนา เรามาปลูกป่าของเรานี่ เราให้โอกาสทั้งหมด เราจะบอกว่า เพราะเวลามาปลูกป่า เวลาทำอะไรนี่ มาโดยหมู่คณะนี่ มันก็เป็นกาลเทศะอันหนึ่ง เวลาเรามาปฏิบัติเป็นการส่วนตัว เรามาอยู่วัดของเรานี่ ตรงนี้เป็นเวลาที่เราจะเร่งความเพียร เราจะขวนขวายเพื่อเอาประโยชน์ของเรานี่ มันเป็นอีกกรณีหนึ่งนะ ถ้ากรณีหนึ่งนี่ เราควรจะเข้าสู่ระบบ
วัดป่าเห็นไหม ประเพณีของวัดป่าคนปฏิบัติมาบ่อยมาก เวลาเราปฏิบัติเราก็อยากปฏิบัติกับพระที่ดี วัดที่ดี พระที่ดี วัดที่ดี เราต้องรักษากฎระเบียบอันนั้น กฎระเบียบอันนั้นมันเป็นสาธารณะ มันเพื่อประโยชน์กับทุกๆ คน แต่ถ้าเราไปทำสิ่งใดก็แล้วแต่ ไปฝืนกฎระเบียบอันนั้น แล้วก็ทำตามๆ กันไป ด้วยความไว้วางใจ ด้วยความคิดถึงศรัทธา ด้วยความมุ่งมั่นของคนนะ เราก็ให้โอกาสทุกๆ คน
ที่นี้พอทำๆ ไปนะ คนโน้นก็เป็นอย่างนี้ คนนี้ก็เป็นอย่างนั้น แล้วมันมีเสียงกระทบมาไง เสียงกระทบมาว่ามันจะเหมือนวัดบ้านแล้ว ทำกันเอาแต่ใจของตัว ไปถือศีล ๘ ก็ถึงกลางวันไง มันถือตามใจตัว มันเป็นวัดบ้านไป คนที่เขาปรารถนาดี คนที่เขามุ่งมั่นเขาก็เสียใจเขา แต่คนที่ไม่เข้าใจก็บอกว่า อ้าว ก็เคยทำได้ ก็ทำได้ ทำได้มันเป็นกาลเทศะที่ว่านี่ไง
กาลเทศะ เมื่อมาทำงาน เมื่อมาอาบเหงื่อต่างน้ำ เราก็อนุโลม แต่ถ้าเรามาประพฤติปฏิบัติ เราจะเอาคุณธรรม เอาความจริงของหัวใจของเรานี่ ความสุขหยาบๆ สัตว์มันก็มีกินมีใช้นะ สัตว์มันก็มีอาหารของมัน มนุษย์ก็มีอาหารของมนุษย์ แล้วคุณธรรม สัตว์นะมันทำคุณงามความดีได้นะ แต่มันทำถึงมรรคผลไม่ได้
ดูสิ ท้าวโฆษกะ เป็นหมานะ... มันทำคุณงามความดีกับพระอรหันต์ มันไปเกิดเป็นเทวดา มันคอยคาบจีวรดึงพระให้มาฉันข้าว ด้วยบุญของมัน มันไปเกิดเป็นท้าวโฆษกะ เป็นเทวดาที่เสียงเพราะที่สุดเลย เขาถึงตั้งทับศัพท์มาว่าโฆษก ท้าวโฆษกะเห็นไหม
สัตว์มันทำคุณงามความดีของมันได้ แต่สัตว์มันไม่มีปัญญาเหมือนมนุษย์ มนุษย์มีปัญญา อริยสัจ สัจจะความจริง มรรคญาณ มันละเอียดกว่าความคิดที่เราพัฒนากัน เราพัฒนา เราจะทำคุณงามความดี เราจะส่งเสริมคนโน้น เราจะทำประโยชน์กับโลก นี่คือการพัฒนา แต่เพราะประโยชน์กับโลกมันส่งออกหมด เพราะอะไร มันเกิดจากพลังงาน เกิดจากจิต พอจิตมันพัฒนา เอื้ออาทร เอื้อกับสังคม ทุกคนก็เอื้อกับสังคม
แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ขึ้นมาองค์เดียว สัตถา เทวมนุสสานัง สอนทั้งเทวดา อินทร์ พรหม สอนทั้งมนุษย์ สอนได้หมดเลย นี่ก็เหมือนกัน เราสอนคนอื่นได้หมด เราพัฒนาคนอื่นได้หมด แต่เราพัฒนาตัวเราไม่ได้ เพราะเราไม่ทันความคิดเราไง ความคิดมันเกิดจากอะไร ไอ้พัฒนานี่มันเกิดจากอะไร เกิดจากพลังงาน แล้วพลังงานมันอยู่ไหน มันเคยสงบสักหนหนึ่งไหม มันไม่เคยสงบสักหนหนึ่งเลย มันไม่เคยเห็นตัวมันเองเลย ฉลาดพัฒนาทุกอย่าง ฉลาดบริหารจัดการโลกหมดเลย แต่โง่กับตัวเอง
พอโง่กับตัวเอง ธรรมะของพระพุทธเจ้า ลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้าไม่ใช่ลิขสิทธิ์ของเรานะ ลิขสิทธิ์ของคนอื่น เราใช้ปัญญาของคนอื่น เราจำธรรมะของพระพุทธเจ้า สิ่งที่ทำอยู่นี่ธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเลย อ้างนิพพานนี่ ว่างๆ ว่างๆ อวกาศมันว่าง อากาศมันว่าง มันเป็นนิพพานตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้แล้ว แล้วเราก็ไปอ้างไง นี่มันเป็นลิขสิทธิ์ของพระพุทธเจ้า แต่เราโง่กับตัวเราเองเห็นไหม
แต่ถ้าเราไม่โง่กับตัวเราเอง ถ้าใจเรามีคุณค่านะ สรรพสิ่งในโลกนี้ไร้ค่า สุขที่สุดของมนุษย์คืออะไร ความเป็นใจของจิตที่มันพัฒนาเข้ามาถึงตัวมันเอง แล้วเป็น คืออะไร ถ้ามันยังติดอยู่ มันติดตัวมันเอง มันติดทุกๆ อย่าง มันจะปล่อยวางอะไรเข้ามาได้ ถ้ามันจะปล่อยสิ่งใดก็ได้เห็นไหม นี่พูดถึงความหยาบความละเอียด กาลเทศะนะ นี่พูดเพราะว่าให้มันเป็นกิจจะลักษณะ
เวลามาทำงาน มาเหนื่อยยากนี่ โอกาสนี่เราให้เต็มที่ แต่เวลาภาวนา ผู้ที่ภาวนานี่ ต้องแบ่งแยกให้ถูกกาลเทศะ ว่าอะไรควรและไม่ควร
ภิกษุต้องอาบัติเพราะของไม่ควร แล้วเห็นว่าควรเห็นไหม ควรและไม่ควรนี่
ภิกษุต้องอาบัติเพราะความลังเลสงสัยทำไป ภิกษุที่ว่าสิ่งควรและไม่ควร เข้าใจผิดทำไป
ภิกษุต้องอาบัติเพราะเป็นอาบัติเห็นไหม ควรและไม่ควร
สิ่งที่ควรนะกาลเทศะ แล้วมันอยู่ที่ว่าถ้ากิเลสเราหยาบต่างๆ เราจะมองอย่างนี้ไม่ออก แล้วเราจะไม่เข้าใจสิ่งใดเลย แต่ถ้าเราเข้าใจแล้วนะ นี่เวลาถ้าเราไม่เข้าใจ อย่างเช่น เด็กๆ ทุกคนจะบอกพ่อแม่นี่ไม่รักเรา แต่พอโตขึ้นมาแล้วทุกคนคิดถึงพ่อแม่น้ำตาไหลนะ มันซาบซึ้งไง แต่ตอนเด็กๆ เราคิดอย่างนั้น
นี่ก็เหมือนกัน เวลาไปวัดไปวานี่ อูย... ลำบากไปหมดเลย ทุกข์ยากไปหมดเลย แต่ถ้ามันได้ธรรมขึ้นมานะ เวลาครูบาอาจารย์ท่านบรรลุธรรมขึ้นมาเห็นไหม กราบแล้วกราบอีก กราบแล้วกราบอีก เหมือนคนบ้าเลย มันซาบซึ้งเห็นบุญเห็นคุณนะ แต่ถ้ายังไม่เห็นบุญเห็นคุณนะ โอ้โฮ! ลำบากไปหมดเลย โอ้โฮ! บีบคั้นไปหมดเลย อะไรๆ ก็บีบคั้นไปหมดเลย มันบีบคั้นกิเลสเรา มันบีบคั้นไอ้ความไม่พอใจเรา
ไอ้ความพอใจ ไอ้ความถูกใจมันคืออะไรล่ะ ก็คือกิเลส แล้วไม่เคยมีใครไปบีบคั้นมัน ไม่เคยมีใครไปดูแลมัน มีแต่คนไปโอ๋มัน มีแต่คนไปส่งเสริมมัน แล้วกิเลสก็ตัวใหญ่ๆ ไปวัดก็ โอ้โฮ เจ้าแม่เจ้าพ่อเต็มวัดเลย ฉะนั้นมันกิเลสทั้งนั้น เราจะแก้ไขตรงนี้กันใช่ไหม เพื่อประโยชน์กับเรานะ
นี่พูดให้เข้าใจ เพราะเมื่อวานพูดแล้วหนหนึ่ง วันนี้ยังติดใจอยู่ เพราะว่าคณะพัฒนามา เราคิดของเราเองว่า เขาคงเห็นว่า ๓ มื้อ ๔ มื้อ แล้วเขาก็จะเอาแบบนั้น ทางนู้นก็ทำได้ ทางนี้ก็ทำได้ เวลามาพัฒนานี่ตากแดดตั้งแต่นี้ไปจนเย็นจนค่ำ ไปอยู่กลางแดดกลางฝน แล้วคนอย่างนั้นมันก็ต้องมีอาหารประทังชีวิต
แต่เราภาวนานี่ เดินจงกรมตากแดด กลางแดดกลางฝนเหมือนกัน แต่เราจะทรมานกิเลส นี่มันคนละกาลเทศะ กาลเทศะอันหนึ่งนะ ถ้าเราไปหวังของหยาบ ไปหวังของที่ความสุขหยาบ เราจะเข้าสู่ความละเอียดได้ยากมาก แต่ถ้าเราพร้อม เราเปิดโอกาสให้ตัวเราเอง โอกาสเราเองนะ
ถ้าอาหารกินแล้วมีความสุข นอนอยู่ดีนะ เราจะหาเงินมาติดแอร์ให้รอบนี่เลย ติดกระจกให้หมดเลย แล้วให้มันกินอิ่มนอนอุ่น เราจะป้อนเอง นอนดีๆ ป้อนให้เต็มที่เลย แล้วเดี๋ยวนอนในห้องแอร์นี่ แล้วถ้าเห็นคุณธรรมได้ เราจะจัดการให้หมดเลย มันไม่มี เราไม่ดัดแปลง เราไม่ทรมานเรา ไม่ทรมานกิเลส ไม่มีใครทรมานให้เรา แล้วอย่างนี้เวลาเราต่อสู้ คือการทรมานกิเลส แล้วอย่าไปโอ๋มัน อย่าไปห่วงว่ากิเลสมันจะทุกข์มันจะยาก
ครูบาอาจารย์ทำมาอย่างนี้หมดนะ ดูสิ ธรรมะของครูบาอาจารย์ฟากตายทั้งนั้น เอาชีวิตแลกมาทั้งนั้น แล้วเราจะมาสุขสบายกันนะ นี่ไง ศาสนาเสื่อม เสื่อมตั้งแต่ตรงนี้ เสื่อมตั้งแต่ทิฐิมานะ เสื่อมตั้งแต่ความเห็นผิด เสื่อมตั้งแต่เริ่มขบวนการของมันผิด แล้วพอเราจะทำความถูกนี่ มันเป็นชนกลุ่มน้อย ชนส่วนน้อย
คนปฏิบัติเขาเอาความจริงนี่ มันมีไม่ถึงเปอร์เซ็นต์เดียวในโลกนี้หรอก แล้วเราเป็นคนหนึ่งในเปอร์เซ็นต์ในโลกนี้ เขาจะดูว่า ไอ้พวกนี้บ้า ไอ้พวกนี้บ้า ใครจะว่าบ้า หรือจะว่าดี เรื่องของเขานะ แต่ถ้าเขาเข้าถึงธรรมนะ เขาจะกราบแล้วกราบอีก กราบแล้วกราบอีก แต่ถ้าเขาไม่ถึงธรรมนะ พวกเราจะเป็นคนบ้า เอวัง