เทศน์เช้า

เทศน์เช้า

๑o ส.ค. ๒๕๕๓

 

เทศน์เช้า วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๓
พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต
ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี

 

วันนี้วันพระ... วันพระเราแสวงหาบุญกัน เราแสวงหาบุญกุศลนะ แล้วทำไมต้องแสวงหาบุญกุศลไกลขนาดนี้... ทำไมเราต้องไปกันสุดหล้าฟ้าเขียว... เพราะความลงใจ

เวลาหลวงตาท่านพูด ท่านบอกเลย เวลาท่านอยู่ป่าอยู่เขานะ “ในเมื่อไม่มีรูปเคารพ ผมก็นึกเอา นึกว่ากราบพระพุทธเจ้า นึกว่ากราบหลวงปู่มั่น นึกรูปเคารพนั้น แล้วกราบลงไปที่หัวใจ” เพราะหัวใจเราลงใจใช่ไหม เรานึกขึ้นมาเลยว่าครูบาอาจารย์ที่เราเคารพ นี่มันลงใจ...

นี่ก็เหมือนกัน เราจะแสวงหาที่เราเชื่อมั่นในหัวใจ เราถึงต้องทำบุญที่มันลงใจ ลงใจมันซาบซึ้งหัวใจนะ ถ้าการซาบซึ้งหัวใจ ดูสิ เรามีชีวิตนะ ทุกคนต้องประสบความสำเร็จในชีวิต ถูกต้อง! ทุกคนต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ทุกคนต้องการให้ชีวิตนี้มั่นคง ชีวิตนี้มั่นคง... ถ้าเรามีสติปัญญา ชีวิตนี้มั่นคงนะ มั่นคงเพราะอะไร... เพราะว่ามันเหลือ มันอิ่มเต็มมาตั้งแต่เราเกิดแล้ว มันคุ้มค่ามาตั้งแต่เราเกิดเป็นมนุษย์สมบัติแล้ว

“มนุษย์สมบัตินี้มีค่าที่สุด” แต่เวลาเกิดมาแล้วนี่ มันทุกข์ๆ ยากๆ นี่ มันทุกข์ๆ ยากๆ เพราะเวรกรรม เราทำเวรสร้างกรรมมา ทำไมคนเกิดมาคาบช้อนเงินช้อนทองมา มีแต่ความสุขของเขานะ นั่นนะเขาสร้างของเขามา แต่เราสร้างของเรามานี่ ครึ่งๆ กลางๆ ดิบๆ สุขๆ ความสุขเราก็มีได้สัมผัส... ความทุกข์เราก็เต็มหัวใจ... นี่มันมีเวรมีกรรม เพราะเราเชื่อมั่นในพุทธศาสนา เราถึงได้แสวงหาของเรานี่ไง ทำบุญกุศลมาเพื่อให้หัวใจมันมีที่พึ่งที่อาศัย “อามิส”

รถจะมาได้ด้วยการเติมน้ำมันนะ น้ำมันเต็มถังไปได้สุดหล้าฟ้าเขียว... น้ำมันมีอยู่ครึ่งถังค่อนถัง มีอยู่นิดเดียว รถมันก็ไปได้มากได้น้อย... ชีวิตเราก็เหมือนกัน ต้นทุนของชีวิตคือหัวใจของเรา หัวใจของเราเกิดขึ้นมา เรามีโอกาสได้แสวงหา ได้การคัดเลือก ได้การคัดแยก

พระในสมัยพุทธกาลไปเกิดเป็นเลนเห็นไหม ไปเกิดเป็นเลนในผ้าจีวร นี่เวลาเกิดเป็นพระ เราเกิดเป็นมนุษย์ แล้วบวชพระด้วย ได้ทำคุณงามความดีด้วย แต่หัวใจไปเกาะเกี่ยวกับจีวรนั้น ไปเกิดเป็นเลนเห็นไหม จิตมันเกิดได้หมดล่ะ ไปเกิดเป็นเลน เป็นไร เป็นสัตว์ต่างๆ

ถ้าเกิดเป็นเลน เป็นไรนี่ ชีวิตมีค่าขนาดไหนล่ะ เป็นเลน เป็นไร ดูสิ มด ปลวก เราเดินไป เราไม่มีเจตนาเลย เราเหยียบมันตายไปเห็นไหม มันตายโดยที่ว่าเราก็ไม่เจตนา มันก็ไม่เจตนา แต่มันมีเวรมีกรรมต่อกัน มันถึงอยู่ในสภาวะแบบนั้น

แต่นี้มาเกิดเป็นมนุษย์ มนุษย์ใครทำร้ายไม่ได้นะ ทำร้ายร่างกายนี่ ฆ่ามนุษย์นี่ติดคุกนะ มันมีกฎหมายรองรับเรา ต้นทุนมนุษย์สมบัติ คุณค่ามันเต็ม มันพอตัวมันแล้ว แต่พอเกิดมาแล้วเราต้องการความมั่นคงในชีวิต พอเกิดความมั่นคงในชีวิต เราก็ต้องแสวงหา การแสวงหามันมีเวรมีกรรมเข้ามาเป็นตัวแปร

ถ้ามีเวรมีกรรม กรรมเราดีเห็นไหม ทำบุญ เวลาเราทำบุญ เราทิ้งเหวเลยนะ เราทำบุญกุศล ได้บุญกุศล เราไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ ดูสิ ถ้าเราหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ที่ทำบุญหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น มันก็เหมือนกับว่าเราทำแล้วไม่ได้...

นี่ทุกคนบอกเลย ตักบาตรทุกวันเลย ทำบุญทุกวันเลย ทำไมชีวิตมันทุกข์ยากขนาดนี้ล่ะ แล้วถ้าไม่ทำมันจะไปไหน นี่ตักบาตรทุกวันเลย สิ่งนี้ทำให้เรามั่นใจของเรา สวดมนต์ สวดพรเห็นไหม เรานอนหลับด้วยความสบายใจนะ ตื่นขึ้นมาเราก็ได้ทำแล้วนะ

นี่ก็เหมือนกัน เราทำบุญกุศลของเราเพื่อชีวิต เพื่อความเป็นมงคลในชีวิตของเรา นี่มันไม่ประสบความสำเร็จ มันมีตัวแปร เวลาโจรมันจะปล้น เราไปบอกมัน “อย่าทำเลย สิ่งนี้ไม่ดี” เราไปรู้ความลับเขานะ เขาจะทำร้ายเราก่อนเลย กาลเทศะไง

ทำบุญทำกับใคร ทำเสร็จแล้วนะ ให้เรามั่นใจในตัวของเราเอง ถ้าเรามั่นใจในตัวของเราเอง เรามีความพอใจในตัวของเราเอง เราทำสิ่งใดมันจะมั่นคง แต่ถ้าเราทำด้วยความไม่มั่นใจ เราทำอะไรเราทุกข์อยู่แล้วนะ แล้วยังโลเลอะไรอีกนะ ด้วยความไม่มั่นคงในชีวิต มันทุกข์ไปหมดเลย แต่ถ้าเรามั่นคงในชีวิตเรานะ เราเชื่อมั่นในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า “ทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว” เราทำคุณงามความดี แล้วความดียังไม่ตอบสนองเรา มันเป็นเวรกรรม ยังไม่ถึงกรรมไม่ถึงวาระ ช่างหัวมัน!

ดูพระเราสิ เวลาพระเราปฏิบัติง่ายรู้ง่าย... ปฏิบัติยากรู้ยาก... นั่งสมาธิเหมือนกัน บางคนนั่งสมาธิ ๒ ชั่วโมง ๓ ชั่วโมง จิตลงสมาธิแล้ว บางคนนั่ง ๗ วัน ๘ คืนนี่ มันยังไม่ลงเลยเห็นไหม ทำเหมือนกัน กิริยาเหมือนกัน

นี่ก็เหมือนกัน ตักบาตรเหมือนกัน ทุกคนก็ตักบาตร ทำบุญเหมือนกัน ทำไมมันทุกข์ ทุกคนบ่นตรงนี้นะ ทำบุญกุศลตลอดเลย ทำไมมันทุกข์มันร้อนขนาดนี้ล่ะ มันทุกข์มันร้อนนะ เพราะแรงของกิเลส แรงของความตัณหาทะยานอยาก

แต่ถ้ามันเป็นตามสัจธรรม เราทำดีแล้ว...มันจบแล้ว... เราทำแล้ว... เราได้ใส่บาตรเห็นไหม เราให้ชีวิตพระนะ พระนี่เลี้ยงชีวิตด้วยปลีแข้ง ท่านบิณฑบาตมานี่ อาหารนั้นนะดำรงชีวิตของท่าน เราให้ชีวิตของภิกษุ เราให้ชีวิตครูอาจารย์เรา เราต่อชีวิตของครูบาอาจารย์ของเรา แล้วบุญกุศลมันจะไม่มีให้มันรู้ไป เราต่อชีวิตของท่าน แล้วเราเชื่อมั่น เราได้ทำคุณงามความดีของเราแล้ว

สิ่งที่มันเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ มันเป็นกรรมเก่ากรรมใหม่ เวรเก่าเวรใหม่ มันมีของมันทั้งนั้นนะ ทำคุณงามความดีขนาดไหน ไปทำคุณงามความดีกับคนที่จิตใจเขาเป็นพาล เขาเห็นแล้วเขาไม่ชอบใจ เขาขัดขวางด้วย ไปขวางตาเขาด้วย เราก็ต้องหลบๆ หลีกๆ เห็นไหม ทำดียังต้องหลบๆ หลีกๆ เราเป็นคนดีเห็นไหม คนดีของเรานี่ ดีประสาโลก นี่พูดถึงความดีทางโลกนะ

ความดีทางธรรม เวลาประพฤติปฏิบัติไป พอจิตมันสงบเข้าไป จิตมันรู้โน่นรู้นี่ มันอยากรู้ นี่ไง ต้นทุนของชีวิตคือชีวิตของเรานะ เราเกิดเป็นมนุษย์ เพราะเรามีปฏิสนธิจิตไปเกิดในไข่ของมารดา ไปเกิดในโอปปาติกะ ไปเกิดในน้ำคร่ำ ไปเกิดในครรภ์ การกำเนิด ๔ พอเกิดไปแล้วนี่มันทุกข์มันยากออกไป ความกำเนิดไม่รู้ เวลาจุติลงครรภ์ไม่รู้ ทุกอย่างไม่รู้ รู้ต่อเมื่อมีชีวิตขึ้นมาแล้ว แล้วก็ดิ้นรนขลุกขลิกๆ อยู่อย่างนี้

เวลาปฏิบัติ คือจิตมันรู้มันเห็นของมัน พอรู้พอเห็นนี่ มันไปติดสิ่งที่รู้ที่เห็น พอติดที่รู้ที่เห็น มันออกไปรู้เห็นจากภายนอก มันลืมตัวมันเอง แต่ถ้าเราตั้งสติของเรา อยู่กับพุทโธของเรา ให้เติมเต็มในชีวิตเรา เติมเต็มในสมาธิของเรา เติมเต็มในสติปัญญาของเรา สิ่งที่รู้เดี๋ยวรู้ทีหลัง ถ้ามันมั่นคงขึ้นมา

เรามาที่นี่... เราจะกลับบ้านได้สบายเลย... ถ้าเราเอาเด็กมา เราหลงทิ้งเด็กไว้ที่นี่ เรากลับไปโดยที่เด็กไม่ได้กลับไป เด็กกลับบ้านไม่ถูกนะ มันกลับไม่ได้

จิตถ้ามันมีหลักมีเกณฑ์ของมัน มันรู้สิ่งใด มันอยากรู้อยากเห็น มันรู้ข้องของมัน มันออก มันยึดไง อยากรู้อยากเห็น พออยากรู้อยากเห็น ยิ่งรู้ไปๆ มันจะจางไปเรื่อยๆ เพราะอะไร

เพราะเราใช้พลังงานไปมากขึ้น เราทำงานแล้วเหนื่อยไหม... เราบริหารจัดการ เราบริหารต่อเนื่องอยู่ตลอด เราเครียดไหม... เราเครียดเพราะอะไร... เพราะเราใช้แล้วไม่ได้พักผ่อน เวลาเราบริหารจัดการนี่ โอ๊ย! มันเป็นภาระไปหมดเลย... มันทุกข์ยากไหม... มันทุกข์ยาก!

จิตก็เหมือนกัน จิตถ้ามันรู้มันเห็นของมันนี่ รู้เห็นโดยสามัญสำนึก รู้เห็นโดยปกตินี่ รู้เห็นโดยสามัญสำนึกของมนุษย์ พอจิตมันสงบเข้ามานี่ อวดอุตริมนุสสธรรม ธรรมที่เหนือมนุษย์ จิตที่มันสงบ จิตที่เป็นสัมมาสมาธินี่มันเหนือมนุษย์ เพราะมนุษย์นี่เป็นสามัญสำนึก มันเป็นสมาธิของปุถุชน

สมาธิของปุถุชนคือมันพัก เวลาเราทำงานเราเหนื่อยนัก เราได้นอนพักผ่อน มันก็สดชื่นขึ้นมา พอจิตใจมีสมาธิ นี่สมาธิของมนุษย์ สมาธิของสามัญสำนึกนี่ มันได้พักของมัน ว่างๆ สบายๆ มันก็รู้เห็นเป็นปกติ แต่ถ้าจิตมันลงขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ จิตมันมีสมาธิ มันแยกพักเป็นส่วนตัวของมัน เวลามันออกรู้เหนือมนุษย์มันก็รู้สิ่งที่มนุษย์ไม่รู้ไง

ถ้าเราดูหนังสือ ดูตำรานี่ เราเห็นภาพนี่เรารู้ได้หมดล่ะ แต่ถ้าจิตมันไม่รู้ของมัน งง! ยิ่งงงยิ่งอยากรู้.. ยิ่งงงยิ่งพิสูจน์ใหญ่เลยนะ.. โอ่.. ยิ่งออกไปใหญ่เลยนะ มันก็เสื่อมไปไหม... กลับมาที่พุทโธ กลับมาที่คำบริกรรม มันเป็นดีขึ้นมาได้อย่างไร... เราจะได้พักผ่อนเพราะอะไร... เพราะเรานอนหลับใช่ไหม... เพราะเรานอนหลับพักผ่อน มันก็แจ่มใสขึ้นมาใช่ไหม... แล้วเรานอนหลับเพราะอะไร... เพราะเรากำหนดจิตให้มันพักผ่อน จนมันหลับไป

นี่เหมือนกัน จิตที่มันเป็นสัมมาสมาธิ มันรู้ๆ ของมันนี่ มันออกไปรับรู้นี่ แล้วมันจะพักได้อย่างไรถ้าไม่มีคำบริกรรม บริกรรมคือพุทโธๆๆ เหมือนกำหนดจิตให้มันพักผ่อนของมัน ให้มันเข้าสัมมาสมาธิคือมันพักผ่อน พอมันได้พักผ่อนมากขึ้น มันแข็งแรงมากขึ้น สิ่งที่ไม่รู้ไม่เห็น สิ่งที่งงๆ นี่มันเข้าใจหมดเลยนะ มันเข้าใจ มันรู้มันเห็นของมัน ฉะนั้นเรายิ่งอยากรู้ ยิ่งขวนขวาย ยิ่งพยายามให้มันรู้ มันก็เลยยิ่งงง!

ไม่รู้หมดเลยนะ วางให้หมด แล้วกลับมาพุทโธๆ นี่ รู้ชัดเจนแจ่มแจ้ง แล้วพอรู้ชัดเจนแจ่มแจ้งนะ “ไม่ต้องบอก.. อาจารย์ไม่ต้องบอก.. เสียเวลา.. ไม่ต้องบอก.. หนูรู้แล้ว.. ไม่ต้องบอก” แต่ถ้าไม่รู้นะ “เป็นอะไร.. เป็นอะไรนะ..”

เห็นไหม เวลาอยู่ทางโลก เราก็กระเสือกกระสนกัน เพื่อความมั่นคงในชีวิต ชีวิตนี้นะ มันมีอาหารปัจจัยเครื่องอาศัยนี่มันอยู่ของมันได้ ความมั่นคงของชีวิตนี่ การทำหน้าที่การงาน หาปัจจัยเครื่องอาศัยนี้ อันนี้เป็นหน้าที่การงาน คนเราจะดีเพราะมีหน้าที่การงาน ดีตามความรับผิดชอบนั้น ไม่เป็นกิเลส

แต่ถ้ามันคิดเกินเลยไป นี่ตัณหาความทะยานอยากมันเติมความคิดจนลอยฟ่องไปบนอากาศ นั่นคือตัณหาความทะยานอยาก นั่นเป็นกิเลส นี่เวลาจิตเราสงบ เราพยายามรักษาตัวของเรา ถ้าจิตมันสงบ ได้พักผ่อนขึ้นมานี่ โดยสัจธรรม โดยความเป็นจริง ไม่ใช่กิเลส แต่สิ่งที่ไปรู้ไปเห็นแล้วมันปลุกเร้านะ อยากรู้อยากเห็น อยากเข้าใจ อยากเห็นต่างๆ สิ่งนี้มันดึงออกไป

ต้นทุนของชีวิตก็คือจิตของเรา ต้นทุนของการภาวนาก็ความมีสัมมาสมาธิ คือจิตมันสงบเข้ามา จิตมันสงบหรือยังไม่สงบ ไม่ถึงที่ของมัน สงบโดยที่มันออกไปรับรู้ด้วยความสงสัย มันยิ่งสงสัย ยิ่งทะยานอยาก ยิ่งอยากรู้อยากเห็น ยิ่งส่งออกไปเรื่อยๆ มันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ฉะนั้นเราต้องพุทโธๆ กลับมา กลับมาสู่ต้นทุนของเรา กลับมาสู่สัมมาสมาธิ กลับมาสู่จิตของเรา สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดคือหัวใจ สิ่งที่มีคุณค่าที่สุดคือความรู้สึกเห็นไหม

มนุษย์ก็มีจิตวิญญาณถึงเป็นมนุษย์ จิตวิญญาณออกจากร่างก็เป็นซากศพ การภาวนา สัมมาสมาธิ ฐีติจิต จิตเดิมแท้ มันก็เป็นต้นทุนของการภาวนา มันเป็นต้นทุนนะ มีค่าหมดเลยนะ ถ้าเราบริหารจัดการถูกต้อง มันมีค่าและมีค่าต่อเนื่องไป แต่ถ้าเราบริหารจัดการไม่เป็นนะ ต้องการอยากรู้อยากเห็น อยากรู้โดยสามัญสำนึก โดยความเป็นไปของเรา แต่ถ้ามันรู้สัจธรรม สัจธรรมมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปศึกษากับเจ้าลัทธิต่างๆ ๖ ปี ศึกษาขนาดไหน ก็ศึกษาแล้วไม่รู้ แต่เวลาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามานั่งอยู่โคนต้นโพธิ์ นึกถึงโคนต้นหว้า อานาปานสติ ทำความสงบของใจเข้ามานี่ มันรู้ พอมันรู้ขึ้นมา... รู้โดยที่ยังไม่เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า... รู้โดยบุพเพนิวาสานุสติญาณ... รู้โดยข้อมูลในหัวใจ... รู้โดยสิ่งที่สะสม... รู้โดยในสิ่งที่เป็นพระโพธิสัตว์ที่ศึกษามา ๔ อสงไขย แสนมหากัป สิ่งนี้มันสะสมมา ไปรู้ข้อมูลหมดเลย โอ้โฮ! ไม่มีต้นไม่มีปลายเลย...

รู้อย่างนี้รู้แบบผู้วิเศษ.. รู้อย่างนี้มันไม่ใช่อริยสัจ.. จุตูปปาตญาณ ก็ยังไม่รู้การเกิด ก็ยังไม่รู้อริยสัจ แต่ความรู้อาสวักขยญาณทำลายหัวใจให้หมดสิ้นไป ทำลายหัวใจๆ ทำลายสิ่งต่างๆ ที่มันหมักหมมในหัวใจ

นี่ก็เหมือนกัน เราทำสัมมาสมาธิ มันต้องมีฐาน กรรมฐาน ฐานที่ตั้ง ต้นไม้ ทุกอย่าง สิ่งปลูกสร้าง ปลูกอยู่บนดิน คุณงามความดีทั้งหมด เกิดขึ้นโดยภวาสวะ เกิดขึ้นบนภพ เกิดขึ้นบนภพก่อน ทำลายชำระล้างให้สะอาดเข้ามาเป็นชั้นเป็นตอนขึ้นมา ถึงต้องทำลายภพ ถ้าไม่ทำลายภพมันยังมีภวาสวะ มันยังมีที่ตั้งอยู่ มันยังมีกำเนิดอยู่เห็นไหม พระอนาคามีไปเกิดบนพรหมนะ สิ่งต่างๆ มันต้องมีการกระทำขึ้นมาเห็นไหม

เราทำบุญกุศลของเรา ถ้าทำบุญของเรา ต้นทุนของเรา ต้นทุนความเป็นมนุษย์นี่สำคัญมาก ชีวิตมีคุณค่ามาก ถ้าชีวิตมีคุณค่ามากนะ ทรัพย์สมบัติมีเพราะมีเรา เห็นไหม ทั้งทางโลกนะ เรามีเงินมีทองขึ้นมา เพราะเราเปิดบัญชี เราแสวงหา เราเป็นผู้รักษา เราเป็นเจ้าของ เป็นลิขสิทธิ์ของเราหมดเลย

เวลาเราภาวนาไป “ปัจจัตตัง สันทิฏฐิโก” เป็นสมบัติส่วนตน สมบัติส่วนบุคคล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาสมบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไป พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ ปรินิพพานไปแล้วก็เอาสมบัติของพระสารีบุตร ของพระโมคคัลลานะไป

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวางธรรมและวินัยไว้แล้วนี่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว แล้วธรรมและวินัยนี้มันบกพร่องไปที่ไหนล่ะ มันก็ไม่บกพร่องไป นี่ธรรมสาธารณะ เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสร้างบุญญาธิการเป็นพระโพธิสัตว์ เป็นพระพุทธเจ้า ถึงวางธรรมและวินัยนี้ไว้ แล้วเราเกิดมาพบธรรมและวินัยนี้ เราเกิดมาพบพระพุทธศาสนานี่ เราจะแสวงหาของเรา เราจะทำเพื่อประโยชน์ของเรา

แล้วถ้ามันรู้ขึ้นมา สมบัติทางโลกคือแสวงหาเพื่อให้ได้สมบัติมา สมบัติทางธรรม พระนี่มีสมบัติทางธรรม มีศีล มีธรรมในหัวใจ สมบัติต่างๆ สมบัติเป็นอริยทรัพย์ เราแสวงหาสิ่งนี้เพื่อประโยชน์กับเรา ถ้าประโยชน์มันเกิดขึ้นมา มันจะเป็นประโยชน์กับเรา มันเป็นคุณงามความดีของเรา

ฉะนั้นถ้ามันจะขาดตกบกพร่อง มันยังทำสิ่งใดไม่ได้ อย่าไปกระวนกระวาย อย่าไปทำร้ายตัวเอง ทำความเพียรชอบ ตั้งสติ ทำสมาธิ เดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนา ทางโลกเราทำหน้าที่การงานของเรา ถ้ายังไม่ประสบความสำเร็จ เราก็ทำของเรา เรามีความหมั่นเพียร มีความวิริยะ มีความอุตสาหะ

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าจะตรัสรู้ได้ ๔ อสงไขย แสนมหากัป ชีวิตนี้วนเวียนมาขนาดไหน สร้างความพร้อมมาขนาดไหน เราเกิดมาพร้อมได้พบสิ่งนี้แล้ว เราอย่าไปกระวนกระวาย เราทำของเราโดยสัจจะ โดยปัจจุบัน โดยความเป็นไป ทำของเรา ขยันหมั่นเพียรของเรา ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ทำมันไปอย่างนี้ ตั้งสติดีๆ มีเป้าหมายของเรา ทำของเรา อย่าไปกังวล

เราสงสารนะ เวลาประพฤติปฏิบัติกัน กังวลกันนะ นู่นก็จะไม่ได้ นี่ก็จะไม่ได้ เราจะตายแล้ว เดี๋ยวก็ไม่ได้มรรคผลนิพพาน... ไม่ได้เลย! ตั้งสติปกติ แล้วทำของเราไปๆ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๔ อสงไขยนะ เราตั้งใจของเรา ทำของเราไป อย่ากระวนกระวาย ตั้งสติให้เป็นปัจจุบันนี้

ปัจจุบันนี้เราทำสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว... เราได้ตั้งสติแล้ว... เราได้กำหนดพุทโธแล้ว... เราได้ปฏิบัติบูชาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว... เราได้ทำคุณงามความดีแล้ว... เราพยายามสะสมคุณงามความดีของเรา อย่าไปเอาสิ่งในอนาคตที่ยังไม่เห็นมาเติมให้เรา อยากได้ อยากดี อยากเป็น แล้วมันก็จะไม่ได้ ทำของเราในปัจจุบันนี้ ตั้งใจ ตั้งใจทำให้มั่นคง ตั้งใจทำจริงๆ ทำไป...ทำไป...

น้ำหยดลงหินทุกวันหินมันยังกร่อน แล้วเรากำหนดพุทโธ เราทำของเรา มันจะไม่ได้เป็นไป องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพุทธภาษิตสอนไว้ในพระไตรปิฎก พุทโธๆๆ นี่ ไม่มีใครอุตริมาบอกหรอก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้ เราเชื่อมั่น แล้วเราทำของเรา เพื่อประโยชน์กับเรา เพื่อชีวิตกับเรานะ เอวัง